ใคร ที่ รัชกาลที่ 5 ต้องการ พึ่งพา เพื่อ หวัง ถ่วงดุล อำนาจ ระหว่าง ฝรั่งเศส และ อังกฤษ

ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เป็นยุคที่ราชอาณาจักรสยามต้องเผชิญวิกฤตการณ์อย่างหนัก จากการล่าอาณานิคมของชาติมหาอำนาจจากยุโรป นั่นก็คืออังกฤษและฝรั่งเศส ที่เข้ายึดประเทศเพื่อนบ้านไปโดยรอบ

โดยอังกฤษได้รุกรานเข้ามาทางอินเดียและพม่า รวมถึงทางตอนใต้คือมลายูเข้าสู่ใจกลางสยาม ส่วนฝรั่งเศสถึงกับตั้ง “พรรคอาณานิคม” มีนโยบายสนับสนุนการล่าเมืองขึ้น และจ้องมาที่ดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ทางฝั่งอินโดจีน จากนั้นก็ใช้เล่ห์เพทุบายและกำลังอาวุธเชือดเฉือนดินแดนเข้ามา ซึ่งสยามทำได้แค่ยอมสละดินแดนบางส่วนไป เพื่อรักษาพื้นที่ส่วนใหญ่เอาไว้

เหตุการณ์ที่สะเทือนพระราชหฤทัยในหลวงรัชกาลที่ 5 เป็นอย่างมาก คือเหตุการณ์ในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2436 หรือ ร.ศ. 112 ฝรั่งเศสส่งเรือรบ 2 ลำฝ่าแนวป้องกันของป้อมพระจุลฯ เข้ามาจอดที่หน้าสถานทูตฝรั่งเศสในกรุงเทพฯ แล้วขู่ว่าจะจมเรือพระที่นั่งมหาจักรีที่จอดอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และจะระดมยิงพระบรมมหาราชวัง หากไทยไม่ยอมเพิกถอนสิทธิเหนือดินแดนฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงและเกาะต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคเหนือของลาวไปจนถึงพรมแดนเขมร รวมถึงจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้แก่ฝรั่งเศส เป็นเงิน 2 ล้านฟรังก์ อีกทั้งยังยึดเมืองจันทบุรีและตราดไว้เป็นประกันจนกว่าสยามจะทำตามเงื่อนไขได้ทั้งหมด

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ทรงพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่ ทั้งโดยวิธีทางการทูต การทหาร และการแสวงหาความช่วยเหลือจากมหาอำนาจอื่นอย่างอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลใด ๆ เลย อังกฤษเพียงแต่บอกว่า ให้สยามยอมตามฝรั่งเศสไปเพราะไม่ใช่ผลประโยชน์ของตน

การเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงในวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเสียพระราชหฤทัยอย่างสุดซึ้ง ถึงกับทรงประชวรและไม่ยอมเสวยพระโอสถ

ในที่สุดก็ทรงตระหนักว่า การยอมเสียดินแดนเพื่อรักษาส่วนใหญ่ไว้ อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง เพราะนักล่าอาณานิคมจะย่ามใจเรียกร้องเอาไม่สิ้นสุด ด้วยการอ้างว่าสยามเป็นประเทศล้าหลัง ชาติที่เจริญกว่าจึงต้องเข้ามาช่วยพัฒนาให้เจริญเท่าเทียมกัน

ดังนั้น การจะปกป้องตัวเองจากข้ออ้างของหมาป่านักล่าอาณานิคมได้ สยามจะต้องพัฒนาตัวเองให้มีความเจริญทัดเทียมกับชาติในยุโรป ไม่ต้องให้มีใครมาช่วยพัฒนา ในหลวงรัชกาลที่ 5 จึงทรงดำเนินการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูประบบราชการ มีการพัฒนาบ้านเมืองในแนวทางของยุโรปอย่างรวดเร็ว ทรงจ้างฝรั่งเข้ามารับราชการ รวมถึงส่งคนไทยไปศึกษาในยุโรปเป็นจำนวนมาก

และสิ่งสำคัญอีกประการคือ ต้องทำให้นานาประเทศรับรู้และประจักษ์ว่า สยามไม่ใช่ประเทศบ้านป่าเมืองเถื่อนอย่างที่นักล่าอาณานิคมประโคมข่าว

หลังจากทรงได้ไตร่ตรองแนวทางดำเนินนโยบายต่างประเทศอย่างถ้วนถี่ กับบรรดาข้าราชบริพารแล้วนั้น การดำเนินการทางการทูตครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยการ “เสด็จประพาสยุโรป” ก็เริ่มต้นขึ้น

วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2440 การเสด็จพระราชดำเนินไปยุโรป เริ่มขึ้นโดยเรือพระที่นั่งมหาจักรี มีเป้าหมายที่จะเยือน 12 ประเทศ คือ อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย-ฮังการี รัสเซีย สวีเดน เดนมาร์ค อังกฤษ เบลเยี่ยม เยอรมัน ฮอลแลนด์ ฝรั่งเศส และสเปน มีกำหนดเวลาประมาณ 9 เดือน

ประเทศที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงมุ่งหวังมากที่สุดคือ รัสเซีย ซึ่งพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์มา 3 ปีแล้ว โดยพระเจ้าซาร์เคยมีความสัมพันธ์สนิทสนมกับพระองค์มาก่อน เมื่อครั้งเสด็จมาเยือนสยามในปี พ.ศ. 2436 ขณะที่ยังดำรงพระยศเป็นมกุฎราชกุมาร และในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้ทรงจัดการต้อนรับอย่างสมพระเกียรติ ซึ่งมกุฎราชกุมารแห่งรัสเซียประทับพระราชหฤทัยมาก

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว เสด็จฯ โดยรถไฟจากกรุงเบอร์ลินถึงกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม เวลา 21.30 น. พระเจ้าซาร์เสด็จฯ มารับที่สถานีรถไฟ ทั้งสองพระองค์ประทับรถพระที่นั่งไปสู่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟซึ่งจัดเป็นที่ประทับ และในการเสวยพระกระยาหารค่ำร่วมกันในวันที่ 4 กรกฎาคม ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงถือโอกาสปรับทุกข์ถึงการรุกรานของมหาอำนาจจากยุโรป

ต่อมาในเช้าวันรุ่งขึ้น พระเจ้าซาร์จึงจัดให้มีการฉายพระรูปร่วมกันที่พระราชวังปีเตอร์ฮอฟ อีกทั้งยังทรงรับสั่งให้ราชสำนักรัสเซีย นำภาพที่คิงจุฬาลงกรณ์จากสยามประทับคู่กับพระเจ้าซาร์แห่งรัสเซีย ส่งไปยังหนังสือพิมพ์ที่ออกในเมืองหลวงของทุกประเทศในยุโรปทุกฉบับ ทั้งยังทรงเขียนคำอธิบายภาพด้วยพระองค์เองว่า

“สยามเป็นประเทศที่กำลังพัฒนา หาใช่ประเทศล้าหลังซึ่งมหาประเทศจะอาศัยเป็นมูลเหตุเข้ายึดครองมิได้”

ภาพนี้กลายเป็นภาพที่เปลี่ยนโฉมหน้าประวัติศาสตร์ ช่วยให้สยามเป็นที่รู้จักทั่วโลก ทำให้ชาวยุโรปใคร่จะได้เห็นพระองค์จริงของ “คิงจุฬาลงกรณ์แห่งสยาม” การเสด็จพระราชดำเนินประเทศในยุโรปในช่วงต่อจากนั้น จึงมีผู้เฝ้าชมพระบารมีอย่างเนืองแน่น

จากผลสำเร็จในการเสด็จประพาสยุโรปครั้งนั้น และการดำเนินนโยบาย “เป็นมิตรรอบทิศทาง” กับบรรดาชาติมหาอำนาจที่กำลังมีบทบาทในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย เยอรมนี และญี่ปุ่น รวมไปถึงการเร่งพัฒนาปฏิรูปประเทศในด้านต่าง ๆ ทำให้อังกฤษและฝรั่งเศสยอมหยุดยั้งพฤติกรรมรุกรานดินแดน และเริ่มเกิดความเกรงใจสยามมากขึ้น

นับเป็นความสำเร็จทางการทูตอย่างงดงาม และเป็นการตัดสินพระราชหฤทัยที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัว ที่ทำให้สยามเป็นที่รู้จักของชาวยุโรป เมื่อบวกรวมเข้ากับการปฏิรูปประเทศในทุก ๆ ด้านของพระองค์ สยามจึงพัฒนาก้าวหน้าทัดเทียมกับชาติมหาอำนาจอื่น ๆ รอดพ้นจากการถูกล่าอาณานิคม และมีเอกราชมาจนถึงทุกวันนี้ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ได้ทรงทุ่มเทพระวรกายเพื่อประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

การเสด็จประพาสยุโรปครั้งแรกของในหลวงรัชกาลที่ 5 อันเป็นดินแดนต่างทวีปซึ่งอยู่อีกซีกโลก เป็นเวลานานถึง 9 เดือน (เมษายน – ธันวาคม พ.ศ. 2440) นับได้ว่าเป็นการปฏิบัติพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญในการดำเนินกุศโลบายป้องกันไม่ให้สยามตกเป็นเมืองขึ้นของเหล่ามหาอำนาจตะวันตกในขณะนั้น

การเตรียมการเสด็จอย่างเป็นทางการเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ ต้นปี ร.ศ. 115 (พ.ศ. 2439) โดยเสนาบดีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ พระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทวะวงษ์วโรปการ มีหนังสือแจ้งไปยังราชทูตประเทศต่างๆ 12 ประเทศ หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ว่า มีพระราชประสงค์จะเสด็จพระราชดำเนินประเทศยุโรปในเดือนเมษายน ร.ศ. 116 (พ.ศ. 2440) สามารถสรุปประเทศและจำนวนวันที่เสด็จประพาส ได้ดังนี้

1. ประเทศอิตาลี วันที่ 14 – 16 พฤษภาคม ครั้งที่ 2 วันที่ 1 มิถุนายน และวันที่ 27 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน
2. ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 16 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน
3. ประเทศออสเตรีย-ฮังการี วันที่ 22 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม
4. ประเทศรุสเซีย วันที่ 1 กรกฎาคม – 11 กรกฎาคม
5. ประเทศสวีเดน วันที่ 12 กรกฎาคม – 20 กรกฎาคม
6. ประเทศเดนมาร์ค วันที่ 21 กรกฎาคม – 26 กรกฎาคม
7. ประเทศอังกฤษ วันที่ 29 กรกฎาคม – 21 สิงหาคมและวันที่ 17 กันยายน – 2 ตุลาคม
8. ประเทศเยอรมัน วันที่ 22 สิงหาคม – 6 กันยายนและวันที่ 4 – 9 ตุลาคม
9. ประเทศฮอลแลนด์ วันที่ 6 กันยายน – 11 กันยายน
10. ประเทศฝรั่งเศส วันที่ 11 กันยายน – 17 กันยายนและวันที่ 10 – 14 ตุลาคม
11. ประเทศสเปน วันที่ 15 ตุลาคม – 20 ตุลาคม
12. ประเทศโปรตุเกส วันที่ 21 ตุลาคม – 25 ตุลาคม

หากพิจารณาวัตถุประสงค์หลักของการเสด็จประพาสยุโรปในปี พ.ศ. 2440 จะพบว่า เหตุผลหลักในการปฏิบัติพระราชกรณียกิจในครั้งนั้นคือ ความอยู่รอดของประเทศ การเสด็จประพาสในครั้งนั้นเป็นการไปเพื่อเจรจากับฝรั่งเศสบอกให้รู้ว่าสยามต้องการมีไมตรีด้วยอย่างยิ่ง และเพื่อให้ใกล้ชิดกับอังกฤษมากขึ้น

อีกทั้งยังเป็นการผูกไมตรีกับมหามิตรใหม่อย่างรัสเซียและเยอรมนี เพื่อดำเนินนโยบายถ่วงดุลอำนาจ “cauchemar des coalitions” (เป็นศัพท์ที่สมัยผู้นำรัสเซียใช้ ตอนกอบกู้อิสรภาพและสามารถนำประเทศมาอยู่แนวหน้าของโลกได้) และเพื่อกระชับสานสัมพันธไมตรีกับราชสำนักยุโรปอื่นๆ ที่เคยติดต่อกันมาช้านานตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่พระมหากษัตริย์สยามยังไม่เคยเสด็จพระราชดำเนินเยือน เช่น โปรตุเกส

ผลจากการเสด็จประพาสในครั้งนั้น ทำให้เกิดการผูกมิตรแน่นแฟ้นขึ้นระหว่างสยามกับมหาอำนาจอย่างรัสเซีย ส่งผลให้ฝรั่งเศสและอังกฤษเกิดความเกรงใจที่จะรุกรานล่าอาณานิคมประเทศสยาม

อย่างไรก็ตาม ในขณะนั้นก็ได้เกิด “ข่าวลือ” ทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศขึ้นมาว่า ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปเพื่อ “ไปเที่ยว” แต่จากหลักฐานในหนังสือของนักเดินทางชาวเชค-อเมริกัน นามว่า เอนริค สตังโก วราส (Enrique Stanko Vraz) ที่บังเอิญอยู่ในราชอาณาจักรสยามในขณะนั้น ได้บันทึกพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 5 ที่มีต่อบรรดาทูตานุทูตยุโรปในวันก่อนเดินทางเสด็จฯ หนึ่งวัน ความว่า …

“การเดินทางของข้าพเจ้า ไม่ใช่เรื่องสนุก ข้าพเจ้าเสด็จไปยุโรปเพื่อรับทราบข้อดีทั้งหมดจากประเทศตะวันตก และเลือกสิ่งที่เหมาะสมกับประเทศของข้าพเจ้า”

“May the purpose of my voyage is not amusement, I go to Europe to get known all advantages of the West and choose the ones suitable to my country”

ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นจากการเสด็จประพาสในครั้งนี้ ปรากฏในหนังสือกราบบังคมทูลจากกรุงลอนดอนของพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ที่กล่าวว่า การที่จะได้รับการยอมรับว่า “ศิวิไลซ์” อย่างผู้เท่าเทียมและเป็นส่วนหนึ่งของมหาสมาคมยุโรป ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยบุคลิก การปฏิบัติตน ตลอดจนสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดในการวางตนและเจรจาโต้ตอบด้วยไหวพริบให้ทันกันด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำสำเร็จได้ด้วยพระปรีชาสามารถ เช่น การที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามทรงตรัสภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงความรู้รอบตัวในวัฒนธรรมและกิจการของยุโรปเป็นอย่างดี จึงเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการได้มาซึ่งการยอมรับจากบรรดาชาติตะวันตก

ข้อความต่างๆ ที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาส่วนพระองค์นั้น ยังแสดงให้เห็นว่า ความสนพระทัยของในหลวงรัชกาลที่ 5 ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่เรื่องการเมือง แต่ยังครอบคลุมไปถึงสิ่งที่จะสามารถนำกลับมาพัฒนาบ้านเมืองได้ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านการเกษตรในสวิตเซอร์แลนด์ การชลประทานและเรื่องพลังงานที่เมืองเวนิส การป่าไม้และกิจการไม้ที่สวีเดน และการทหารในเยอรมนี

ความสนพระทัยและรอบรู้ของในหลวงรัชกาลที่ 5 ยังกว้างขวางไปถึงการ “ดูคน” “อ่านคน” และ “ผูกน้ำใจคน” รวมทั้ง “อ่านกิจการบ้านเมือง” ของยุโรปและราชสำนักยุโรปได้อย่างทะลุปรุโปร่ง

และการเสด็จประพาสของพระองค์ในครั้งนั้น ก็เป็นไปด้วยท่าทีของ “เจ้าแผ่นดิน” ที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรปและเจรจาการเมืองอย่าง “เท่าเทียม” ซึ่งเรื่องนี้ได้ปรากฏชัดเจนในเอกสารเรื่องการเสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 1 พ.ศ. 2440 อยู่ตลอดว่า …

“เจ้าแผ่นดินสยาม มิได้เสด็จมาอย่างกษัตริย์ผู้น่าสงสารที่มาขอความช่วยเหลือจากมหาอำนาจประเทศหนึ่ง เพื่อให้เข้ามาจัดการเรื่องระงับเหตุทะเลาะกับมหาอำนาจอีกประเทศหนึ่ง”

จะเห็นได้ว่า การที่พระมหากษัตริย์แห่งสยามและประเทศสยามได้รับการยอมรับจากชาวยุโรปในขณะนั้น เป็นเพราะในหลวงรัชกาลที่ 5 ท่านได้ทรงรับแนวคิดตะวันตก มีความรู้แบบตะวันตก เข้าใจวิธีคิดของชาวตะวันตกและ “พูด” กับฝรั่งตะวันตกรู้เรื่อง เหล่านี้เป็นคุณสมบัติที่แม้แต่ในปัจจุบันก็หาได้ยากยิ่ง สิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดในขณะนั้นที่ว่า ชาวตะวันตกจะยอมรับ “ผู้อื่น” เฉพาะที่มีคุณสมบัติสอดคล้องไม่ขัดแย้งกับตนเอง เป็นการยืนยันความภาคภูมิใจในวัฒนธรรมตะวันตกของตนเอง

การยอมรับนี้ได้เกิดผลที่ดีในทางจิตวิทยา ควบคู่ไปกับความสำเร็จของนโยบายถ่วงดุลอำนาจของมหาประเทศ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ช่วยเผยแพร่พระเกียรติคุณแห่งองค์พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามไปทั่วโลก

และพระเกียรติคุณนี้เองได้กลายเป็นเกราะกำบังภัยอย่างสำคัญ ที่ช่วยให้สยามประเทศรอดพ้นจากอิทธิพลของลัทธิล่าอาณานิคมในเวลาต่อมา และความสำเร็จในครั้งนั้น ทำให้ในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสยามที่ได้รับการยกย่องว่าทรงเป็น “The Civilizer of the East” หรือ “ผู้สร้างความศิวิไลซ์แห่งดินแดนตะวันออก

ตอนที่ 1 : กลยุทธถ่วงดุลชาติอาณานิคม กับการเดินทางครึ่งโลกของ รัชกาลที่ 5