การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

ภาคกลาง   คนภาคกลางส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ศิลปะการแสดงจึงมีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตและเพื่อความสนุกสนาน เป็นการพักผ่อนหย่อนใจจากการทำงาน เช่น การเล่นเพลงเกี่ยวข้าว เต้นกำรำเคียว รำเถิดเทิง รำโทนหรือรำวง รำกลองยาว เป็นต้น

     การแสดงพื้นเมืองภาคอีสาน แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมของชนพื้นเมืองกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่  การแสดงพื้นเมืองภาคอีสานจะมีทั้งการแสดงที่เป็นแบบดั่งเดิมที่มีการสืบทอดกันมา และการแสดงที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องถิ่นเป็นไปตามความถนัดหรือความสามารถของแต่ละคน โดยไม่มีระเบียบแบบแผน
                   ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของลาว ซึ่งมักเรียกการละเล่นว่า "เซิ้ง ฟ้อน และหมอลำ" เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งแหย่ไข่มดแดง ฟ้อนภูไท เซิ้งสวิง เซิ้งบ้องไฟ เซิ้งกะหยัง เซิ้งตังหวาย ฯลฯ ใช้เครื่องดนตรีพื้นบ้านประกอบด้วย แคน พิณ ซอ กลองยาวอีสาน โปงลาง โหวด ฉิ่ง ฉาบ ฆ้อง และ กรับ ส่วนกลุ่มอีสานใต้ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะของเขมร มีการละเล่นที่เรียกว่า "เรือม หรือ เร็อม" เช่น เรือมลูดอันเร (รำกระทบสาก) รำกระโน็บติงต็อง (ระบำตั๊กแตนตำข้าว) รำอาไย (รำตัด) วงดนตรีที่ใช้บรรเลงคือวงมโหรีอีสานใต้ มีเครื่องดนตรี เช่น ซอด้วง ซอตรัวเอก กลองกันตรึม พิณ ระนาดเอกไม้ ปี่สไล กลองรำมะนา และเครื่องประกอบจังหวะ การแต่งกายประกอบการแสดงแต่งแบบวัฒนธรรม ของพื้นบ้านอีสาน มีลักษณะลีลาท่ารำและท่วงทำนองดนตรีในการแสดงค่อนข้างกระชับ กระฉับกระเฉง รวดเร็ว และสนุกสนาน

          โดยทั่วไปภาคใต้มีอาณาเขตติดกับทะเลฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทางด้านใต้ติดกับมลายู ทำให้รับวัฒนธรรมของมลายูมาบ้าง ประชากรจึงมีชีวิตความเป็นอยู่ ขนบธรรมเนียมประเพณีและบุคลิกบางอย่างที่คล้ายคลึงกันคือ พูดเร็ว อุปนิสัยว่องไว ตัดสินใจ รวดเร็ว เด็ดขาด มีอุปนิสัยรักพวกพ้อง รักถิ่นที่อยู่อาศัย และศิลปวัฒนธรรมของตนเอง จึงมีความพยายามที่จะช่วยกันอนุรักษ์ไว้จนสืบมาจนถึงทุกวันนี้

การแสดงของภาคใต้มีลีลาท่ารำคล้ายกับการเคลื่อนไหวของร่างกายมากกว่าการฟ้อนรำ ซึ่งจะออกมาในลักษณะกระตุ้นอารมณ์ให้มีชีวิตชีวาและสนุกสนาน เช่น โนรา หนังตะลุง รองเง็ง ตารีกีปัส เป็นต้น

โนรา

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

หรือบางคนเรียกว่า มโนห์รา เป็นศิลปะการแสดงที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในภาคใต้ ลักษณะการเดินเรื่อง และรูปแบบของการแสดงคล้ายละครชาตรีที่นิยมเล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง เดิมการแสดงโนราจะใช้เนื้อเรื่องจากวรรณคดีเรื่องพระสุธน-มโนห์รา
โดยตัดตอนแต่ละตอนตั้งแต่ต้นจนจบมาแสดง เช่น ตอนกินรีทั้งเจ็ดเล่นน้ำในสระ ตอนพรานบุญจับนางมโนห์รา ตอนพรานบุญจับนาง
มโนห์ราไปถวายพระสุธน ฯ ปกติการแสดงโนราจะเริ่มจากนายโรงหรือโนราใหญ่ซึ่งเป็นตัวเอกหรือหัวหน้าคณะอออกมารำ “จับบทสิบสอง” คือ การรำเรื่องย่อต่าง ๆ สิบสองเรื่อง เช่น พระสุธน-มโนห์ราพระรถ-เมรี ลักษณวงศ์ เป็นต้น แต่หากผู้ว่าจ้างไปแสดงขอให้จับตอนใดให้จบเป็นเรื่องยาว ๆ ก็จะแสดงตามนั้น

ผู้แสดง เป็นชายล้วน คณะหนึ่ง ๆ จะมีประมาณ ๑๕-๒๐ คน แล้วแต่ขนาดของคณะ อาจมีถึง ๒๕ คน ก็ได้ ประกอบด้วย หัวหน้าคณะหรือนายโรงหรือโนราใหญ่ ๑ คน หมอไสยศาสตร์ ๑ คน ผู้รำอย่างน้อย ๖ คน อย่างมาก ๑๐ คน นายพราน (พรานบุญ) ๑ ทาสี (คนใช้ ตัวประกอบ ตัวตลก) ๑ คน นักดนตรี และลูกคู่จำนวน ๕-๖ คน ตาเสือ (ผู้ช่วยขนเครื่องและช่วยดูแลทั่วไป) ๑-๒ คน

เครื่องดนตรี วงโนรา ประกอบด้วย กลองโนรา หรือทับโนรา โหม่ง ฉิ่ง ฉาบการแสดง โนราแต่เดิมจะแสดงบนพื้นดิน โดยใช้เสื่อปู ตัวโรงเป็นสี่เหลี่ยม มีหลังคามุงด้วยจาก มีเสากลาง ๑ ต้น มีแต่ไม้ไผ่สูงราว ๕๐ เซนติเมตร
สำหรับตัวแสดงนั้น เรียกว่า “นัก” ด้านซ้ายและขวาของนักเป็นที่สำหรับดนตรีและลูกคู่นั่ง

การแต่งกาย แบบดั้งเดิมจะแต่งกายเลียนแบบเครื่องทรงของกษัตริย์ ประกอบด้วย เทริด (ชฎา) สังวาล ปีกนกแอ่น หางหงส์ ทับทรวง สนับเพลา ชาวไหว ผ้าห้อยข้าง กำไลต้นแขน กำไลข้อมือ และสวมเล็บยาวไม่สวมเสื้อ เทริดจะสวมเฉพาะตัวนายโรงหรือโนราใหญ่เท่านั้น ส่วนนายพรานจะสวมหน้ากากเปิดคาง หน้ากากสีแดงสำหรับใช้ “ออกพราน” ส่วนหน้ากากพรานสีขาว จะใช้สำหรับนายพรานทาสี ตามความเชื่อและพิธีกรรมในการแสดง ถือว่าเป็นหน้าศักดิ์สิทธิ์

แต่เดิมการเดินทางไปแสดงที่ต่าง ๆ จะต้องเดินทางเท้า จึงเรียกว่า “โนราเดินโรง” ก่อนจะออกเดินทางนายโรงจะช่วยกันขนเครื่องที่จะใชแสดงมาวางไว้กลางบ้าน และหมอไสยศาสตร์จะทำพิธีพร้อมกับบรรเลงดนตรี เพื่อขอความเป็นสิริมงคล ระหว่างเดินทางผ่านสถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะบรรเลงดนตรีเป็นการแสดงคารวะและอาจมีการำถวายมือด้วย เมื่อถึงสถานที่ที่จะแสดงจะนำเอาอุปกรณ์ต่าง ๆ กองไว้กลางโรง เมื่อจะถึงเวลาแสดง หมอไสย
ศาสตร์มาปกปักรักษา อย่าให้มีอันตรายใด ๆ
จากนั้นลูกคู่ก็จะลงโรง (โหมโรง) สักพักหนึ่งเมื่อคนดูหนาตาแล้ว นายโรงก็จะขับบทบูชาครู และผู้แสดงออกรำ โดยเริ่มจากผู้แสดงที่ยังไม่ค่อยเก่งไปจนถึงคนเก่ง ๆ และสุดท้ายก่อนนายโรงจะออก ตัวนายพรานหรือตัวทาสีหรือตัวตลก จะออกมาร้องตลก ๆ
จากนั้นนายโรงหรือโนราใหญ่จะออกรำ ซึ่งทุกคนจะคอยดูโนราใหญ่ เพราะถือว่าเป็นผู้ที่รำสวยที่สุดเมื่อนายโรงรำจบ ก็อาจจะเลิกการแสดงหรืออาจแสดงต่อด้วยเรื่องสุธน มโนห์รา พระรถเมรี ฯลฯ หรือที่เรียกว่า “จับบทสิบสอง” จนดึก เมื่อโนราใหญ่หรือนายโรงถอดเทริดออก ก็เป็นอันจบการแสดง

ความยาวของการแสดงชุดนี้ ใช้เวลาแสดงประมาณ ๒-๓ ชั่วโมง


หนังตะลุง 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ ที่มีมานานจนยังหาต้นตอดั้งเดิมไม่ได้ว่าเริ่มมาตั้งแต่ยุคใด สมัยใด คงมีการบันทึกไว้ในระยะหลังที่เป็นหลักฐานแต่ เท่าที่มีการจดบันทึกได้ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีการนำหนังตะลุงจากภาคใต้มาแสดงถวายทอดพระเนตรที่พระราชวังบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๙

การแสดงหนังตะลุง แต่เดิมจะเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น ต่อมาการติดต่อสื่อสารก้าวหน้าขึ้น เริ่มนำเรื่องในวรรณคดีต่าง ๆ มาแสดง ปัจจุบันหนังตะลุงนำนวนิยายรักโศก เหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบันมาแสดง บางคณะก็แต่งบทนวนิยายเอง มีพระเอก นางเอก ตัวโกง ตัวอิจฉา การเล่นหรือเชิดหนังตะลุงในช่วงหัวค่ำ ในสมัยก่อนจะเริ่มจากการออกลิงขาว ลิงดำ หรือที่เรียกว่าจับลิงหัวค่ำซึ่งปัจจุบันนี้ก็ไม่มีแล้ว

คณะหนังตะลุง ประกอบด้วย นายหนัง ๑ คน ซึ่งมีเป็นเจ้าคณะเป็นผู้เชิดตัวหนัง พากย์และเจรจา ร้องรับและเล่นดนตรีด้วย ชื่อคณะมักจะใช้ชื่อของนายหนังเป็นชื่อคณะ เช่น หนังจูเลี่ยม กิ่งทอง ลูกคู่ ๕-๖ คน

โรงหนังตะลุง จะปลูกเป็นเพิงหมาแหงน ฝาและหลังคามุงด้วยจากหรือทางมะพร้าว สูงจากพื้นดินราว ๑๕๐-๑๗๐ เซนติเมตร เป็นโรงสี่เหลี่ยม มีบันไดขึ้นด้านหลัง ใช้พื้นที่ราว ๘-๙ ตารางเมตร ด้านหน้าโรงจะมีจอผ้าขาวขอบสีน้ำเงินขึงเต็มหน้าโรง มีไฟส่องตัวหนังให้เกิดภาพ หน้าจอมีหยวกกล้วยทั้งต้น สำหรับปักตัวหนังวางอยู่ขอบล่างของจอด้านใน ลูกคู่และดนตรีจะนั่งอยู่ถัดจากนายโรง

ตัวหนัง ทำจากหนังวัวแกะและฉลุ ขนาดจะต่างกันไปตามบทบาทของหนัง เช่น รูปเจ้าเมือง รูปยักษ์ รูปฤาษีจะมีขนาดใหญ่กว่ารูปอื่น คณะหนึ่ง ๆ จะมีตัวหนังราว ๑๕๐-๒๐๐ ตัว เวลาเก็บหนังจะแยกกันเก็บ เช่น ยักษ์ พระ นาง จะแยกกัน รูปฤาษี เทวดา ตัวตลกจะเก็บไว้บนสุด เก็บเป็นแผงซ้อน ๆ กัน มีไม้ไผ่สานเป็นเสื่อลำแพนหนีบอยู่ทั้งบนและล่าง และใช้เชือกผูกเก็บเป็นแผง ๆ

ดนตรีประกอบการแสดง ประกอบด้วยโหม่ง ๒ ใบ ทับโนรา ๒ ใบ กลองโนรา ๒ ใบ ปี่ ๑ เลา
ความยาวของการแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๒-๖ ชั่วโมง


ระบำตารีกีปัส

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นระบำที่ต้องอาศัยพัดเป็นองค์ประกอบสำคัญ คำว่าตารี แปลว่า รำ คำว่า กีปัส แปลว่า พัด เป็นการแสดงที่แพร่หลายในหมู่ชาวไทยมุสลิม โดยเฉพาะในจังหวัดปัตตานี และได้ทำชื่อเสียงให้กับจังหวัดปัตตานี เมื่อคัดเลือกการแสดงชุดนี้ใช้แสดงในงานเปิดกีฬาเขต ครั้งที่ ๑๔ ซึ่งจังหวัดปัตตานีเป็นเจ้าภาพ ลีลาของการแสดง อาจจะมีพลิกแพลงแตกต่างกันไป สำหรับการแสดงชุดนี้ ได้ปรับปรุงท่ารำ เพื่อให้เหมาะสมกับการแสดงที่เป็นหญิงล้วน

เครื่องดนตรีประกอบการแสดง ได้แก่ ไวโอลิน แมนตาลิน ขลุ่ย รำมะนา ฆ้อง มาลากัส
บทเพลงที่ใช้ประกอบการแสดง เพลงตารีกีปัส เป็นเพลงที่ไม่มีเนื้อร้อง บรรเลงดนตรีล้วนๆ มีท่วงทำนองไพเราะอ่อนหวาน สนุกสนานเร้าใจ ความไพเราะของเพลงตารีกีปัส อยู่ที่การโซโล่ เสียงดนตรีทีละชิ้น


รองเง็ง

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

การแสดงรองเง็ง เป็นการแสดงที่นิยมอยู่ในแถบสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เข้าใจว่าจะเป็นการแสดงที่ได้รับอิทธิพลมาจากชาวตะวันตก ในยุคของการเริ่มติดต่อการค้าขายกับชาวสเปนหรือชาวโปรตุเกสที่มาติดต่อค้าขายกับชาวมาลายู

แต่ดั้งเดิมการแสดงรองเง็งจัดแสดงเฉพาะในบ้านของขุนนางหรือเจ้าผู้ครองเมืองเท่านั้น โดยฝึกหัดข้าทาสบริวารเอาไว้อวดหรือเอาไว้ต้อนรับแขกเมือง ต่อมาค่อย ๆ แพร่หลายออกไปสู่ชาวบ้านโดยผ่านทางการแสดงมะโย่งของชาวบ้าน เมื่อหยุดพักก็นำการเต้นรองเง็งออกมาแสดงคั่นเวลา ผู้แสดงมะโย่งก็อาจมาร่วมเต้นด้วย ทำให้การแสดงรองเง็งแพร่หลายขึ้น
ต่อมาการเต้นและธรรมเนียมก็เปลี่ยนไปเปิดโอกาสให้ผู้ชมที่เป็นผู้ชายขึ้นไปเต้นคู่ด้วยได้เช่นเดียวกับรำวงของภาคกลาง เป็นต้น

จำนวนผู้แสดงแต่ละคนไม่จำกัดผู้เต้น แต่นักดนตรีจะมี ๔-๕ คนผู้แสดงอาจจะมากกว่า ๔ คู่ก็ได้

เครื่องดนตรี ประกอบด้วยรำมะนา ๑-๒ ลูก ฆ้อง ๑ ลูก ไวโอลิน ๑ ตัว

โอกาสที่ใช้แสดง ไม่จำกัด ใช้เฉพาะงานมงคลเท่านั้น สถานที่อาจ
จะเป็นลานกว้าง บริเวณบ้าน หรือบนเวที ตามแต่ความเหมาะสมการแต่งกาย เหมือนกับการแสดงซัมเปง แต่อาจจะประณีตบรรจงและใช้ผ้าที่ดูจะมีราคาและสวยงามมากกว่าการแต่งกายของซัมเปง
ท่าเต้นรองเง็ง แต่เดิมมีลีลาค่อนข้างปานกลาง ต่อมานำเอาจังหวะเต้นรำเข้าไปปะปน เช่น รุมบ้า แซมบ้า กัวลาซ่า เป็นต้น และใช้เครื่องดนตรีสากลเข้าไปผสมด้วยเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

การเต้นหรือแสดงรองเง็ง จะไม่มีพิธีหรือขนบธรรมเนียมอื่น ๆ แต่จะเริ่มเมื่อดนตรีบรรเลงฝ่ายชายจะเข้าไปโค้งฝ่ายหญิง เพื่อเชื้อเชิญให้ออกเต้น ไม่มีการจับมือกัน เมื่อจบเพลงหนึ่ง ๆ ก็จะโค้งให้กัน ฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะยืนคนละฝั่งของเวที หันหน้าเข้าหากัน ทั้ง ๒ ฝ่ายจะรักษาแถวให้ขึ้นลงอย่างมีจังหวะและลีลาที่นุ่มนวลเหมือนเต้นลอยอยู่บนอากาศอย่างแผ่วเบา
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๒๐-๓๐ นาที


ระบำร่อนแร่ 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นระบำที่ปรับปรุงขึ้นตามลีลาท่าทางในการประกอบอาชีพของชาวไทยภาคใต้ เป็นการแสดงนาฎลีลาที่ถ่ายทอดวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในท้องถิ่น ถ่ายทอดการทำมาหากินที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น คือการร่อนแร่ดีบุก ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม และสร้างรายได้ให้แก่จังหวัดอย่างมหาศาลในอดีต วัสดุในการร่อนแร่ที่เรียกว่า “เลียง” ซึ่งมีลักษณะกลมคล้ายกระทะ หรือตะแกรง ก้นแหลม สามารถเจาะรูสำหรับร่อนแร่ได้

จัดแสดงถวายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือนภาคใต้เป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ. ๒๕๐๒

ต่อมานักศึกษาระดับปริญญา วิทยาลัยนาฏศิลปสมทบในคณะนาฏศิลปและดุริยางค์ วิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวะศึกษา พ.ศ. ๒๕๒๑ ได้นำระบำร่อนแร่มาปรับปรุง และเรียบเรียงท่าขึ้นใหม่ โดยใช้เพลง “ตลุงราษฎร์” ซึ่งนายประสิทธิ์ ถาวร ผู้เชี่ยวชาญดนตรีไทยและศิลปินแห่งชาติ เป็นผู้แต่งทำนองเพลง ทั้งนี้อยู่ในความควบคุมของนางสาวปราณี สำราญวงศ์ หัวหน้าภาควิชานาฏดุริยางค์ คีตศิลปศึกษา

การแต่งกายในการแสดงใช้ชุดย่าหยา ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองของท้องถิ่น


ระบำพัดใบพ้อ

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นระบำที่วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราชได้คิดประดิษฐ์ขึ้นโดยการนำเอาผลิตภัณฑ์หัตถกรรมพื้นบ้าน การจักสานพัดใบกะพ้อของชาวบ้านโคกยาง อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช มาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดงในลีลาท่ารำต่างๆ ตามรูปแบบของนาฏศิลป์ ตลอดจนการนำพัดใบกะพ้อขนาดต่างๆ มาสร้างสรรค์ประยุกต์เป็นเครื่องประดับในการแต่งกายของนักแสดง

อีกทั้งเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ส่งเสริมและอนุรักษ์ สืบทอดอาชีพหัตถกรรมพื้นบ้านที่ทรงคุณค่าในภูมิปัญญาของท้องถิ่น โดยใช้นาฏศิลป์เป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย


ระบำทักษิณาภัตราภรณ์ 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

ระบำชุดนี้วิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช ได้นำเอาศิลปะการทอผ้าของชาวภาคใต้มารวบรวมเป็นระบำ โดยเริ่มตั้งแต่การฟอกไหม การตากไหม การกรอไหม ตลอดจนขั้นตอนสุดท้ายคือ การทอผ้า

ผู้แสดงระบำชุดนี้จะนุ่งผ้าหลายชนิด ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของชาวพื้นเมืองภาคใต้ทั้งสิ้น ได้แก่
ผ้าไหมภุมเรียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี
ผ้านาหมื่นศรีของชาวจังหวัดตรัง
ผ้าเกาะยอของชาวจังหวัดสงขลา
ผ้าปาเต๊ะของชาวจังหวัดปัตตานี
และสุดท้ายคือ
ผ้ายกเมืองคอนของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปของภาคอีสานเป็นที่ราบสูง มีแหล่งน้ำจากแม่น้ำโขง แบ่งตามลักษณะของสภาพความเป็นอยู่ ภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีที่แตกต่างกัน ประชาชนมีความเชื่อในทางไสยศาสตร์มีพิธีกรรมบูชาภูติผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การแสดงจึงเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน และสะท้อนให้เห็นถึงการประกอบอาชีพและความเป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี

การแสดงของภาคอีสานเรียกว่า เซิ้ง เป็นการแสดงที่ค่อนข้างเร็ว กระฉับกระเฉง สนุกสนาน เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งโปงลาง เซิ้งกระหยัง เซิ้งสวิง เซิ้งดึงครกดึงสาก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี ฟ้อนที่เป็นการแสดงคล้ายกับภาคเหนือ เช่น ฟ้อนภูไท (ผู้ไท) เป็นต้น

เซิ้งสวิง 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการละเล่นพื้นเมืองของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในท้องถิ่นอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นการละเล่นเพื่อส่งเสริมด้านจิตใจของประชาชนในท้องถิ่น ซึ่งมีอาชีพในการจับสัตว์น้ำ โดยมีสวิงเป็นเครื่องมือหลัก ในปี พ.ศ. ๒๕๑๕ ท่านผู้เชี่ยวชาญนาฎศิลป์ไทย กรมศิลปากร จึงได้นำท่าเซิ้งศิลปะท้องถิ่นมาปรับปรุงให้เป็นท่าที่กระฉับกระเฉงขึ้น โดยสอดคล้องกับท่วงทำนองดนตรี ที่มีลักษณะสนุกสนานร่าเริง เครื่องดนตรี ที่ใช้บรรเลงประกอบการแสดงชุดเซิ้งสวิง ได้แก่ กลองยาว กลองแต๊ะ แคน ฆ้องโหม่ง กั๊บแก๊บ ฉิ่ง ฉาบ กรับ

การแต่งกาย
ชาย สวมเสื้อม่อฮ่อม นุ่งกางเกงขาก๊วย มีผ้าขาวม้าโพกศีรษะและคาดเอว มือถือตะข้อง
หญิง นุ่งผ้าซิ่นพื้นบ้านอีสาน ผ้ามัดหมี่มีเชิงยาวคลุมเข่า สวมเสื้อตามลักษณะผู้หญิงชาวภูไท คือสวมเสื้อแขนกระบอกคอปิด ผ่าอก ประดับเหรียญโลหะสีเงิน ปัจจุบันใช้กระดุมพลาสติกสีขาวแทน ขลิบชายเสื้อ คอ ปลายแขน และขลิบผ่าอกตลอดแนวด้วยผ้าสีตัดกัน เช่น สีเขียวขลิบแดง หรือสวมเสื้อกระบอกคอปิด ผ่าอก ห่มสไบเฉียงทับตัวเสื้อ สวมสร้อยคอโลหะทำด้วยเงิน ใส่กำไลข้อมือและกำไลข้อเท้า ผมเกล้ามวยสูงไว้กลางศีรษะ ทัดดอกไม้ มือถือสวิง


เซิ้งโปงลาง

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

โปงลางเดิมเป็นชื่อของโปงที่แขวนอยู่ที่คอของวัวต่าง โปงทำด้วยไม้หรือโลหะ ที่เรียกว่าโปงเพราะส่วนล่างปากของมันโตหรือพองออก ในสมัยโบราณชาวอีสานเวลาเดินทางไปค้าขายยังต่างแดน โดยใช้บรรทุกสินค้าบนหลังวัว ยกเว้นวัวต่างเพราะเป็นวัวที่ใช้นำหน้าขบวนผูกโปงลางไว้ตรงกลางส่วนบนของต่าง เวลาเดินจะเอียงซ้ายทีขวาทีสลับกันไป ทำให้เกิดเสียงดัง ซึ่งเป็นสัญญาณบอกให้ทราบว่าหัวหน้าขบวนอยู่ที่ใด และกำลังมุ่งหน้าไปทางไหนเพื่อป้องกันมิให้หลงทาง

ส่วนระนาดโปงลางที่ใช้เป็นดนตรีปัจจุบันนี้ พบมากที่จังหวัดกาฬสินธุ์ เรียกว่า “ขอลอ” หรือ “เกาะลอ” ดังเพลงล้อสำหรับเด็กว่า “หัวโปก กระโหลกแขวนคอ ตีขอลอดังไปหม่องๆ” ชื่อ “ขอลอ” ไม่ค่อยไพเราะจึงมีคนตั้งชื่อใหม่ว่า “โปงลาง” และนิยมเรียกกันมาจนถึงปัจจุบัน ไม้ที่นำมาทำเป็นโปงลางที่นิยมกันได้แก่ ไม้มะหาด และไม้หมากเหลื่อม
การเล่นทำนองดนตรีของโปงลางจะใช้ลายเดียวกันกับ แคน และพิณ ลายที่นิยมนำมาจัดท่าประกอบการฟ้อน เช่น ลายลมพัดพร้าว ลายช้างขึ้นภู ลายแม่ฮ้างกล่อมลูก ลายนกไซบินข้ามทุ่ง ลายแมงภู่ตอมดอก ลายกาเต้นก้อน เป็นต้น

เครื่องแต่งกาย ใช้ผู้แสดงหญิงล้วนสวมเสื้อแขนกระบอกสีพื้น นุ่งผ้ามัดหมี่ใช้ผ้าสไบเฉียงไหล่ ผูกโบว์ตรงเอว ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ลายโปงลางหรือลายอื่นๆ


เซิ้งตังหวาย 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เซิ้งตังหวาย เป็นการรำเพื่อบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในพิธีขอขมาของชาวจังหวัดอุบลราชธานี ภายหลังนิยมแสดงในงานนักขัตฤษ์และต้อนรับแขกผู้มีเกียรติของภาคอีสาน ครูนาฏศิลป์พื้นเมือง วิทยาลัยนาฏศิลปร้อยเอ็ด กรมศิลปากร ได้ประยุกต์และจัดกระบวนรำขึ้นใหม่ รวม 12 ท่า จากท่ารำแม่บทอีสาน

โดยผู้แสดงแต่งกายห่มผ้าคาดอก นุ่งซิ่นฝ้ายมัดหมี่มีเชิง เกล้าผมสูง
เครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ใช้บรรเลงประกอบ คือ โปงลาง แคน พิณ ซอ กั๊บแก๊บ ฉิ่ง และฉาบ


เซิ้งกระหยัง 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นชุดฟ้อนที่ได้แบบอย่างมาจากเซิ้งกระติบข้าว โดยเปลี่ยนจากกระติบข้าวมาเป็นกระหยัง ซึ่งเป็นภาชนะทำด้วยไม้ไผ่ มีลักษณะคล้ายกระบุงแต่มีขนาดเล็กกว่า เซิ้งกระหยัง เป็นการแสดงอย่างหนึ่งของชาวกาฬสินธุ์ โดยอำเภอกุฉินารายณ์ได้ประดิษฐ์ขึ้น โดยดัดแปลงและนำเอาท่าฟ้อนจากเซิ้งอื่นๆ เช่น เซิ้งกระติบข้าว เซิ้งสาละวัน ฯลฯ เข้าผสมผสานกันแล้วมาจัดกระบวนขึ้นใหม่มีอยู่ 19 ท่า ซึ่งมีชื่อเรียกต่างๆ กัน เช่น ท่าไหว้ ท่าไท ท่าโปรยดอกไม้ ท่าขยับสะโพก ท่าจับคู่ถือกะหยัง ท่านั่งเกี้ยว ท่าสับหน่อไม้ ท่ายืนเกี้ยว ท่ารำส่าย ท่าเก็บผักหวาน ท่ากระหยังตั้งวง ท่าตัดหน้า ท่าสาละวัน ท่ากลองยาว ท่ารำวง ท่าชวนกลับ ท่าแยกวง ท่านั่ง
ที่ได้ชื่อว่าเซิ้งกระหยังเพราะผู้ฟ้อนจะถือกระหยังเป็นส่วนประกอบในการแสดง

เครื่องแต่งกาย ฝ่ายหญิงสวมเสื้อแขนกระบอกสีดำ หรือน้ำเงินขลิบขาว นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ ฝ่ายชายสวมเสื้อม่อฮ่อมกางเกงขาก๊วย ใช้ผ้าขาวม้าคาดเอว และโพกศีรษะ
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสานซึ่งประกอบด้วย กลองยาว ฉาบ และฉิ่ง ซึ่งเป็นเครื่องกำกับจังหวะ ใช้แคน พิณ ปี่แอ้ เป็นเครื่องดำเนินทำนอง
อุปกรณ์การแสดง กระหยัง


เซิ้งกะโป๋ 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการละเล่นที่เน้นความสนุกสนานเป็นหลักโดยใช้กะโป๋ หรือ กะลามะพร้าว เป็นอุปกรณ์ที่สำคัญในการเล่น เป็นที่น่าสังเกตว่าประเทศต่างๆ ในแถบเอชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ฟิลิปปิน อินโดนีเซีย โดยเฉพาะมาเลเซีย มีการละเล่นซึ่งใช้กะลาประกอบอยู่ ซึ่งเมื่อเสร็จจากการเก็บเกี่ยวชาวมาเลย์ก็จะมีการรื่นเริงและฉลองกัน บ้างก็ช่วยกันขูดมะพร้าวและตำน้ำพริก จึงได้นำเอากะลามะพร้าวมาเคาะประกอบจังหวะกันเป็นที่สนุกสนาน

ระบำกะลาของมาเลเซียมีชื่อเป็นภาษามาเลย์ว่า “เดมปุรง” หรือแม้แต่ประเทศกัมพูชาก็มีการละเล่นที่ใช้กะลาเป็นอุปกรณ์เช่นเดียวกัน เซิ้งกะโป๋คงได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาที่นิยมเล่นกันในกัมพูชาและแถบอีสานใต้ ระบำกะลามีจังหวะเนิบนาบ จึงมีการปรับปรุงใหม่โดยใช้เพลงพื้นเมืองอีสาน และยังนำเอาเพลงพื้นเมืองของอีสานใต้มาใช้ประกอบอยู่คือเพลง เจรียงซันตรูจ

เครื่องแต่งกาย เซิ้งกะโป๋จะแบ่งผู้แสดงออกเป็น 2 ฝ่าย คือ หญิงและชาย ฝ่ายหญิงนุ่งซิ่นพื้นเมืองอีสาน สวมเสื้อแขนกระบอก เกล้าผมมวยใช้แพรมนรัดมวย ฝ่ายชายนุ่งกางเกงขาก๊วย สวมเสื้อคอกลม มีผ้าขาวม้าผูกเอว
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน แต่เล่นลายพื้นเมืองของอีสานใต้คือ เจรียงซันตรูจ

เซิ้งกะโป๋ หรือ เซิ้งกะลา นี้มีผู้ประดิษฐ์จัดทำเป็นชุดฟ้อนที่แตกต่างกันออกไป เช่น
• วิทยาลัยนาฏศิลป์กาฬสินธุ์ จะใช้ลีลาการกระทบกะลาที่ไม่คล้ายกับระบำกะลาของอีสานใต้มากนัก และนำการละเล่นของพื้นเมืองของเด็กอีสานมาประกอบ เช่น การเดินกะโป๋ หรือ หมากกุ๊บกั๊บ ฯลฯ
• วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด จะใช้ลีลาการกระทบกะลา ซึ่งพอจะเห็นเค้าว่าได้แบบอย่างมาจากระบำกะลาของอีสานใต้ แต่งกายเช่นเดียวกับระบำกะลา คือฝ่ายหญิงนุ่งโจงกระเบน สวมเสื้อแขนกระบอก คล้องสไบผูกชายที่เอว ฝ่ายชายนุ่งโจงกระเบนสวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าพับทบด้านหน้า ทิ้งชายด้านหลัง


ฟ้อนผู้ไท(ภูไท) 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ

ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง
ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง
ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ

เครื่องแต่งกาย จะใส่เสื้อสีดำ ผ้าถุงดำขลิบแดง สวมเล็บทำด้วยโลหะหรือบางแห่งใช้กระดาษทำเป็นเส้นมีพู่ตรงปลายสีแดง ห่มผ้าเบี่ยงสีแดง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้สีขาว บางครั้งผูกด้วยผ้าสีแดงแทน ในปัจจุบันพบว่า เสื้อผ้าชุดฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครได้เปลี่ยนไปบ้าง คือ ใช้เสื้อสีแดงขลิบสีดำ ผ้าถุงสีดำมีเชิง ผ้าเบี่ยงอาจใช้เชิงผ้าตีนซิ่นมาห่มแทน
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน เพลงผู้ไท เพลงเต้ยโขง เพลงแมงตับเต่า เพลงบ้งไต่ขอน เพลงลำเพลินและเพลงลำยาว


เซิ้งกระติบข้าว 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการแสดงของภาคอีสานที่เป็นที่รู้จักกันดี และแพร่หลายที่สุดชุดหนึ่ง จนทำให้คนทั่วไปเข้าใจว่า การแสดงของภาคอีสานมีลักษณะเป็นการรำเซิ้งเพียงอย่างเดียว เซิ้งกระติบข้าวได้แบบอย่างมาจากการเซิ้งบั้งไฟ ซึ่งแต่เดิมเซิ้งอีสานจริงๆ ไม่มีท่าทางอะไร มีแต่กินเหล้ายกมือไม้สะเปะสะปะให้เข้ากับจังหวะเสียงกลองไปตามใจ (มีผู้นิยามว่า ฟ้อนตามแบบกรมสรรพสามิต) โดยไม่ได้คำนึงถึงความสวยงาม นอกจากให้เข้าจังหวะกลอง ตบมือไปตามเรื่องตามฤทธิ์เหล้า

ในราว พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชินีนาถต้องการการแสดงของภาคอีสาน เพื่อต้อนรับสมเด็จพระนางเจ้าอะเลียนา และเจ้าหญิงบีทริกซ์ แห่งประเทศเนเธอแลนด์ จึงมีการนำเอาเพลงอีสานคือ หมอลำจังหวะช้าเร็ว โดยมีท่าถวายบังคม ท่านกบิน ท่าเดิน ท่าดูดาว ท่าม้วนตัว ท่าสนุกสนาน ท่าปั้นข้าวเหนียว ท่าโปรยดอกไม้ ท่าบังแสงอาทิตย์ ท่าเตี้ย (รำเตี้ย) และในการแต่งกายครั้งแรกนั้นจะนุ่งผ้าซิ่นห่มผ้าสไบ เกล้าผมสูง แต่ไม่มีใครยอมห้อยกระติบข้าวเพราะเห็นว่ารุงรัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จทอดพระเนตร พระองค์จึงรับสั่งให้ใครสักคนหนึ่งลองรำดูว่า ถ้าไม่ห้อยกระติบข้าว หรือห้อยกระติบข้าวแล้วจะเป็นอย่างไร ? คุณหญิงเบญจวรรณ อรวรรณ เป็นผู้ทดลองรำดู ครั้งแรกไม่ห้อยกระติบข้าวก็น่ารักดี ครั้งที่สองรำโดยห้อยกระติบข้าวทุกคนก็คิดว่ากำลังน่ารัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งคำเดียวว่า “น่าเอ็นดูดีนี่” ผู้รำทุกคนก็พากันรีบห้อยกระติบข้าวกันใหญ่ทางไหล่ขวาทุกคน การเซิ้งครั้งนั้น ท่านผู้หญิงมณีรัตน์ บุนนาค เรียกชื่อว่า “เซิ้งอีสาน” ต่อมามีผู้นำเซิ้งอีสานไปแสดงกันทั่วไปแต่เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า “เซิ้งกระติบข้าว”

เครื่องแต่งกาย ผู้แสดงใช้ผู้หญิงล้วน สวมเสื้อแขนกระบอกคอกลมสีพื้น นุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ ห่มผ้าสไบเฉียง ผมเกล้ามวยทัดดอกไม้ห้อยกระติบข้าวทางไหล่ขวา
เครื่องดนตรี ใช้ดนตรีพื้นเมืองอีสาน ทำนองเซิ้ง
อุปกรณ์การแสดง กระติบข้าว


หมากกั๊บแก๊บลำเพลิน

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

การเล่นหมากกั๊บแก๊บ เป็นการเล่นที่ไม่มีขนบตายตัว สุดแท้แต่ผู้แสดงจะมีความสามารถ แสดงออกลีลา ท่าทางที่โลดโผน เป็นที่ประทับใจสาว ๆ ได้มากน้อยเพียงใด ถ้าเล่นกันเป็นคู่ ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นฝ่ายรุก อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องรับ แล้วผลัดเปลี่ยนกันไป ตามแต่โอกาสและปฏิภาณไหวพริบของผู้เล่น โดยอาจารย์ชุมเดช เดชภิมล แห่งวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ผสมผสานการเล่นหมากกั๊บแก๊บ เข้ากับการเล่นลำเพลินของชาวอีสาน ที่ยังคงลีลาการเล่นหมากกั๊บแก๊บและลีลาของการฟ้อนลำเพลินได้อย่างสมบูรณ์แบบ
จุดเด่นของการแสดงอยู่ที่จังหวะ ลีลาและท่วงทำนอง ของดนตรี อันสนุกสนานเร้าใจ

          จากสภาพภูมิประเทศที่อุดมไปด้วยป่า มีทรัพยากรมากมาย มีอากาศหนาวเย็น ประชากรมีอุปนิสัยเยือกเย็น นุ่มนวล งดงาม รวมทั้งกิริยา การพูดจา มีสำเนียงน่าฟัง จึงมีอิทธิพลทำให้เพลงดนตรีและการแสดง มีท่วงทำนองช้า เนิบนาบ นุ่มนวล ตามไปด้วย การแสดงของภาคเหนือเรียกว่า ฟ้อน เช่น ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียน ฟ้อนเงี้ยว ฟ้อนสาวไหม เป็นต้น ภาคเหนือนี้มีการแสดงหรือการร่ายรำที่มีจังหวะช้า ท่ารำที่อ่อนช้อย นุ่มนวล เพราะมีอากาศเย็นสบาย ทำให้จิตใจของผู้คนมีความนุ่มนวล อ่อนโยน ภาษาพูดก็นุ่มนวลไปด้วย เพลงมีความไพเราะ อ่อนหวาน ผู้คนไม่ต้องรีบร้อนในการทำมาหากิน สิ่งต่างๆ เหล่านั้นมีอิทธิพลต่อการแสดงนาฏศิลป์ของภาคเหนือ

นาฏศิลป์ของภาคเหนือเช่น ฟ้อนเทียน ฟ้อนเล็บ ฟ้อนมาลัย ฟ้อนสาวไหม ฟ้อนดาบ ฟ้อนเชิง(ฟ้อนเจิง) ตีกลองสะบัดไชย ซอ ค่าว นอกจากนี้ นาฏศิลป์ของภาคเหนือยังได้รับอิทธิพลจากประเทศใกล้เคียง ได้แก่ พม่า ลาว จีน และวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อย เช่น ไทยใหญ่ เงี้ยว ชาวไทยภูเขา ยอง เป็นต้น

ดังนั้น นาฏศิลป์พื้นเมืองของภาคเหนือ นอกจากมีของที่เป็น “คนเมือง” แท้ๆ แล้วยังมีนาฏศิลป์ที่ผสมกลมกลืนกับชนชาติต่างๆ และของชนเผ่าต่างๆ อีกหลายอย่าง เช่น อิทธิพลจากพม่า เช่น ฟ้อนม่านมงคล ฟ้อนม่านมุ้ยเชียงตา นาฏศิลป์ของชนเผ่าต่างๆ เช่น ฟ้อนนก(กิงกาหล่า – ไทยใหญ่) ฟ้อนเงี้ยว (เงี้ยว) ระบำเก็บใบชา(ชาวไทยภูเขา)เป็นต้น

ฟ้อนสาวไหม

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

ฟ้อนสาวไหม เป็นการฟ้อนพื้นเมืองที่เลียนแบบมาจากการทอผ้าไหมของชาวบ้าน การฟ้อนสาวไหมเป็นการฟ้อนรำแบบเก่า เป็นท่าหนึ่งของฟ้อนเจิงซึ่งอยู่ในชุดเดียวกับการฟ้อนดาบ ลีลาการฟ้อนเป็นจังหวะที่คล่องแคล่วและรวดเร็ว (สะดุดเป็นช่วง ๆ เหมือนการทอผ้าด้วยกี่กระตุก)

ประมาณปี พ.ศ. 2500 คุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ ได้คิดท่ารำขึ้นมาโดยอยู่ภายใต้การแนะนำของบิดา ท่ารำนี้ได้เน้นถึงการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและนุ่มนวล ซึ่งเป็นท่าที่เหมาะสมในการป้องกันไม่ให้เส้นไหมพันกัน
ในปี พ.ศ. 2507 คุณพลอยศรี สรรพศรี ช่างฟ้อนเก่าในวังของเจ้าเชียงใหม่องค์สุดท้าย (เจ้าแก้วนวรัฐ) ได้ร่วมกับคุณบัวเรียว รัตนมณีกรณ์ได้ขัดเกลาท่ารำขึ้นใหม่

ต่อมาในปี พ.ศ. 2520 คณะอาจารย์วิทยาลัยนาฏศิลป์เชียงใหม่ ได้คิดท่ารำขึ้นมาเป็นแบบฉบับของวิทยาลัยเอง

ดนตรีที่ใช้ประกอบการฟ้อน จะใช้วงดนตรีพื้นเมืองซึ่งมีสะล้อ ซอ ซึง เพลงร้องมักไม่นิยมนำมาแสดง จะมีแต่เพลงที่ใช้บรรเลงประกอบ แต่เดิมที่บิดาของคุณบัวเรียวใช้นั้นเป็นเพลงปราสาทไหว ส่วนคุณบัวเรียวจะใช้เพลงลาวสมเด็จ เมื่อมีการถ่ายทอดมา คณะครูนาฎศิลป์จึงได้เลือกสรรโดยใช้เพลง “ซอปั่นฝ้าย” ซึ่งมีท่วงทำนองเป็นเพลงซอทำนองหนึ่งที่นิยมกันในจังหวัดน่าน และมีลีลาที่สอดคล้องกับท่ารำ การแต่งกาย แต่งกายแบบพื้นเมือง คือนุ่งผ้าถุง ใส่เสื้อแขนกระบอกห่มสไบทับ เกล้าผมมวยประดับดอกไม้


ฟ้อนผาง 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นศิลปะการฟ้อนที่มีมาแต่โบราณ เป็นการฟ้อนเพื่อบูชาองค์สัมมาสัมพุทธเจ้า ลีลาการฟ้อนดำเนินไปตามจังหวะของการตีกลองสะบัดชัย มือทั้งสองจะถือประทีปหรือผางผะตี้บ แต่เดิมใช้ผู้ชายแสดง ต่อมานายเจริญ จันทร์เพื่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ ดำริให้คณะครูอาจารย์หมวดวิชานาฏศิลป์พื้นเมืองเป็นผู้ประดิษฐ์ท่ารำให้เหมาะสมกับผู้หญิงแสดง โดยได้รับความอนุเคราะห์จากนายมานพ ยาระณะ ศิลปินพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดท่าฟ้อนและให้คำแนะนำเกี่ยวกับท่ารำโดยมีนายปรีชา งามระเบียบอาจารย์ 2 ระดับ 7รักษาการในตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่(ฝ่ายกิจกรรม) เป็นผู้ควบคุมการประดิษฐ์ท่ารำ

การแต่งกายและทำนองเพลง
ลักษณะการแต่งกายแต่งแบบชาวไทยลื้อ สวมเสื้อป้ายทับข้าง เรียกว่า “เสื้อปั๊ด” หรือ “เสื้อปั๊ดข้าง” ขลิบริมด้วยผ้าหลากสีเป็นริ้ว นุ่งผ้าซิ่นเป็นริ้วลายขวาง ประดับด้วยแผ่นเงิน รัดเข็มขัดเงินเส้นใหญ่ ติดพู่แผงเงิน ใส่ต่างหูเงินและสวมกำไลข้อมือเงิน
สำหรับทำนองเพลงที่ใช้ประกอบการแสดงชุดฟ้อนผางให้ชื่อว่า “เพลงฟ้อนผาง” แต่งโดยนายรักเกียรติ ปัญญายศ อาจารย์ 3 ระดับ 8 หมวดวิชาเครื่องสายไทย
วิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่


ฟ้อนแพน

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

ฟ้อนแฟนหรือลาวแพนซึ่งเป็นชื่อเพลงดนตรีไทยในจำพวกเพลงเดี่ยว ซึ่งนักดนตรีใช้เป็นเพลงสำหรับเดี่ยวอวดฝีมือในทางดุริยางคศิลป์เช่นเดียวกับเพลงเดี่ยวอื่นๆ แต่เดี่ยวลาวแพนนี้มีเครื่องดนตรีเหมาะสมแก่ทำนองจริง ๆ อยู่เพียง 2 อย่างคือจะเข้และปี่ในเท่านั้น ส่วนเครื่องดนตรีอื่นก็ทำได้น่าฟังเหมือนกัน แต่ก็ไม่มีเสน่ห์เท่าจะเข้และปี่ใน เพลงนี้บางทีเรียกกันว่า “ลาวแคน”

การประดิษฐ์ท่ารำที่พบหลักฐานนำมาใช้ในละคร เรื่อง พระลอ พระราชนิพนธ์ของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ตอนพระลอลงสรงในแม่น้ำกาหลง ท่ารำได้ประดิษฐ์ขึ้นโดยอาศัยเค้าท่าฟ้อนของภาคเหนือและภาคอีสานเป็นแบบอย่าง และดัดแปลงให้เหมาะสมกลมกลืนกับทำนองเพลง การฟ้อนลาวแพนในละครเรื่องพระลอเป็นการฟ้อนเดี่ยว ต่อมาจึงมีผู้นำเอาไปใช้ในการฟ้อนหมู่ โดยเอาท่าฟ้อนเดี่ยวมาดัดแปลงเพิ่มเติมแก้ไขให้เหมาะสมกับการรำหลาย ๆ คน ปัจจุบันการฟ้อนลาวแพนมีทั้งการแสดงที่เป็นหญิงล้วนและชายหญิง บางโอกาสยังเพิ่มเติมแต่งบทร้องประกอบการแสดงได้อีกด้วย


ระบำซอ

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นฟ้อนประดิษฐ์ของ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี พระราชชายาของรัชกาลที่ 5 เป็นการผสมผสานการแสดงบัลเล่ต์ของทางตะวันตกกับการฟ้อนแบบพื้นเมือง ใช้การแต่งกายแบบหญิงชาวกะเหรี่ยง โดยมีความหมายว่า ชาวเขาก็มีความจงรักภักดี

ต่อพระมหากษัตริย์ไทย ใช้เพลงทางดนตรีไทย หลายเพลงประกอบการแสดง เช่น เพลงลาวจ้อย ต้อยตลิ่ง ลาวกระแต ลาวดวงดอกไม้ ลาวกระแซ มีคำร้องทำนองซอยิ้นที่แต่งเป็นคำสรรเสริญ ใช้แสดงในการสมโภชช้างเผือกของรัชกาลที่ 7ครั้งเมื่อเสด็จเลียบมณฑลพายัพ ปัจจุบันได้มีการลดจำนวนนักแสดงลงและตัดเพลงบางท่อนออกเพื่อให้เหมาะสมในการแสดงในโอกาสต่างๆ


ระบำชาวเขา

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการแสดงของชาวเขาเผ่าลิซู หรือลีซอโดยเป็นระบำชุดที่ใช้แสดงในงานรื่นเริงต่าง ๆ ชุดที่ใช้ได้รับการประยุกต์มาจากเครื่องแต่งกายที่ชาวเผ่าลิซูใช้ในชีวิตประจำวัน
เครื่องดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดงคือ ขลุ่ยไม้ไผ่ สะล้อ และพิณ


ฟ้อนขันดอก

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นฟ้อนประดิษฐ์ใหม่ มีลีลาท่าฟ้อนได้มาจากการใส่ขันดอกบูชาเสาอินทขิล ซึ่งเป็นเสาหลักเมืองเชียงใหม่ ช่วงเดือนพฤษภาคมของทุกปี ปัจจุบันฟ้อนชนิดนี้ใช้ฟ้อนในงานพิธีมงคล เพลงที่ใช้ในการประกอบการแสดงใช้เพลงกุหลาบเชียงใหม่ ลีลาท่าฟ้อนอ่อนช้อยเข้ากับความอ่อนหวานของท่วงทำนองเพลง


ฟ้อนที

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

คำว่า “ที” หมายถึง “ร่ม” เป็นคำภาษา “ไต” ใช้เรียกในจังหวัดแม่ฮ่องสอน “ที” ทางภาคเหนือมีลักษณะและรูปทรงแตกต่างกันไปแต่ละจังหวัด “ที” ที่ชาวแม่ฮ่องสอนนิยมใช้มีรูปทรงสวยนำมาใช้เป็นอุปกรณ์ประกอบการรำได้ฟ้อนทีเป็นผลงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ของวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่ จัดแสดงในงานนิทรรศการและการแสดงศิลปวัฒนธรรมของสถานศึกษาในสังกัดกองศิลปศึกษา กรมศิลปากร เพื่อเทิดพระเกียติมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา ณ โรงละครแห่งชาติ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ การแสดงชุดนี้นำร่มมาใช้ประกอบลีลานาฎศิลป์โดยมีท่าฟ้อนเหนือของเชียงใหม่ผสมกับท่ารำไตของแม่ฮ่องสอน มีการแปรแถว และลีลาการใช้ร่มในลักษณะต่าง ๆ ที่งดงาม เช่น การถือร่ม การกางร่ม การหุบร่ม เป็นต้น

ดนตรีที่ใช้ประกอบการแสดง ใช้ดนตรีพื้นเมืองภาคเหนือประสมวง ได้แก่ สะล้อกลาง สะล้อเล็ก ซึ่งใหญ่ ซึงกลาง ซึงเล็ก ขลุ่ย กรับคู่ กลองพื้นเมือง

การแต่งกาย มุ่งเน้นความสวยงามของเครื่องแต่งกายตามประเพณีนิยมภาคเหนือ แบ่งเป็น ๒ แบบ คือ แบบหญิงไทลื้อ และแบบหญิงล้านนาแบบไทลื้อ นุ่งซิ่นลายขวาง เสื้อปั๊ด เกล้าผมสูงประดับดอกไม้เงิน ผ้าเคียนศีรษะประดับกำไลข้อมือ ต่างหูแบบล้านนา นุ่งซิ่นตีนจก ผ้าคาดเอว เสื้อเข้ารูปแขนยาว เกล้าผมมวยตั้งกระบังผมหน้าสูง ประดับดอกไม้เงิน เครื่องประดับมีเข็มขัด กำไลข้อมือ สร้อยคอ ต่างหู
การแสดงชุดนี้ใช้เวลาประมาณ ๑๐ นาที


กลองสะบัดชัย

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

การตีกลองสะบัดชัยเป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านล้านนาอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะพบเห็นในขบวนแห่หรืองานแสดงศิลปะพื้นบ้านในระยะหลังโดยทั่วไป ลีลาในการตีมีลักษณะโลดโผนเร้าใจมีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่นศอก เข่า ศรีษะ ประกอบในการตีด้วย ทำให้การแสดงการตีกลองสะบัดชัยเป็นที่ประทับใจของผู้ที่ได้ชม จนเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

          ภาคกลางได้ชื่อว่าอู่ข้าวอู่น้ำของไทย มีภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่ม มีแม่น้ำหลายสาย เหมาะแก่การกสิกรรม ทำนา ทำสวน ผู้คนมีความเป็นอยู่ที่สุขสบาย จึงมีเวลาที่จะคิดประดิษฐ์หรือสร้างสรรค์สิ่งที่สวยงามได้มาก และมีการเล่นรื่นเริงในโอกาสต่างๆ มากมาย ทั้งตามฤดูกาล ตามเทศกาลและตามโอกาสที่มีงานรื่นเริง

ภาคกลางเป็นที่รวมของศิลปวัฒนธรรม การแสดงจึงมีการถ่ายทอดสืบต่อกันและพัฒนาดัดแปลงขึ้นเรื่อยๆและออกมาในรูปแบบของขนบธรรมเนียมประเพณี และการประกอบอาชีพ เช่น เต้นกำรำเคียว เพลงเกี่ยวข้าว เพลงเรือ เพลงฉ่อย เพลงอีแซว ลิเก ลำตัด กลองยาว เถิดเทิง เป็นต้น บางอย่างกลายเป็นการแสดงนาฏศิลป์แบบฉบับไปก็มี เช่น รำวง และเนื่องจากเป็นที่รวมของศิลปะนี้เอง ทำให้คนภาคกลางรับการแสดงของท้องถิ่นใกล้เคียงเข้าไว้หมด แล้วปรุงแต่งตามเอกลักษณ์ของภาคกลาง คือการร่ายรำที่ใช้มือ แขนและลำตัว
เช่น โขน ละครชาตรี ละครนอก ละครใน ลิเก หุ่น หนังใหญ่ เป็นต้น

เต้นกำรำเคียว 

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นการแสดงพื้นเมืองที่เก่าเเก่ของชาวชนบทในภาคกลาง แถบจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งชาวชนบทส่วนมากมีอาชีพการทำนาเป็นหลัก เเละด้วยนิสัยรักสนุกกับการเป็นเจ้าบทเจ้ากลอน จึงได้เกิดการเต้นกำรำเคียวขึ้น ในเนื้อเพลงจะสะท้อนให้เห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวบ้าน

ลักษณะการรำ จะเน้นความสนุก เป็นใหญ่ มีทั้งเต้นและรำควบคู่กันไป ในมือของผู้รำข้างหนึ่งจะถือเคียว อีกข้างหนึ่งถือข้าวที่เกี่ยวเเล้ววิธีเล่น จะมีผู้เล่นประมาณ 5 คู่ แบ่งผู้เล่นเป็นสองฝ่าย ฝ่ายชายเรียกว่า พ่อเพลง ฝ่ายหญิงเรียกว่าแม่เพลง เริ่มด้วยพ่อเพลงร้องชักชวนเเม่เพลงให้ออกมา เต้นกำรำเคียว โดยร้องเพลงเเละเต้นออกไปรำล่อฝ่ายหญิงและแม่เพลงก็ร้องเเละ รำแก้กันไป ซึ่งพ่อเพลงแม่เพลงนี้อาจเปลี่ยนไปหลาย ๆ คน ช่วยกันร้องจนจบเพลง ผู้ที่ไม่ได้เป็นพ่อเพลงแม่เพลงก็จะเป็นลูกคู่ ปรบมือและร้องเฮ้ เฮ้วให้จังหวะ

เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ ศิลปินของกรมศิลปากรได้ไปฝึกหัดการเล่นเต้นกำรำเคียวจากชาวบ้านตำบลย่านมัทรี อำเภอพยุหคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ต่อมากรมศิลปากรได้ปรับปรุงการเล่นเพื่อให้เหมาะกับการนำออกแสดงในงานบันเทิง โดยให้ นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญนาฏดุริยางค์ไทย กรมศิลปากร และศิลปินแห่งชาติแต่งทำนองเพลงประกอบการแสดงตอนเริ่มต้นก่อนร้องบทโต้ตอบและตอนจบบทร้อง

ผู้แสดงทั้งชายและหญิงมือขวาถือเคียว มือซ้ายถือกำรวงข้าว ทำท่าตามกระบวนเพลงร้องเย้าหยอกเกี้ยวพาราสีกัน
บทร้องมีอยู่ ๑๑ บท คือ บทมา ไป เดิน รำ ร่อน บิน ยัก ย่อง ย่าง แถ ถอง และ
เพลงในกระบวนนี้ผู้เล่นอาจด้นกลอนพลิกแพลงบทร้องสลับรับกันด้วยความสนุกสนาน บางครั้ง ในการแสดงอาจตัดบทร้องบางบทเพื่อความกระชับ ใช้วงปี่พาทย์บรรเลงเพลงนำและตอนจบ

ผู้แสดงแต่งกายพื้นบ้านภาคกลาง ชาวนาชาย นุ่งกางเกงขายาว เสื้อคอกลมผ่าอกแขนสั้นเหนือศอก สีน้ำเงินคราม ผ้าขาวม้าคาดเอว สวมหมวกปีก ชาวนาหญิง นุ่งผ้าพื้นดำ โจงกระเบน เสื้อคอกลมผ่าอกแขนยาวสีน้ำเงินหรือต่างสี สวมงอบ การแสดงชุดนี้สามารถแสดงได้โดยไม่จำกัดเวลา

ตัวอย่างเพลงที่ใช้ร้อง เช่น
เพลงมา

ชาย 

มากันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่มามารึมา แม่มา (ซ้ำ) มาเถิดเเม่นุชน้อง พี่จะเป็นฆ้องให้น้องเป็นปี่ ต้อยตะริดติ๊ดตอด น้ำเเห้งน้ำหยอดที่ตรงลิ้นปี่ มาเถิดนะ แม่มา มารึมาแม่มา มาเต้นกำย่ำหญ้ากันในนานี้เอย
หญิง
มากันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อมามารึมา พ่อมา ฝนกระจายปลายนา แล้วน้องจะมาอย่างไรเอย
เพลงรำ

ชาย 

รำกันเถิดนางเอย เอ๋ยรา แม่รำรำรึรำ แม่รำ ใส่เสื้อดี แม่ห่มแต่สีดอกขำ น้อยหรือแน่แม่ช่างรำ แม่เชื้อระบำเก่าเอย
หญิง
รำกันเถิดนายเอย เอ๋ยรา พ่อรำรำรึรำ พ่อรำ มหาหงส์ลงต่ำ ต่างคนต่างรำไปเอย


รำกลองยาว

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

รำกลองยาวหรือบางครั้งเรียกว่ารำเถิดเทิง สาเหตุที่มีชื่อเรียกว่ารำเถิดเทิงก็เนื่องมาจากเสียงกลองยาวที่เวลาตีมีเสียงคล้าย ๆ คำว่าเถิดเทิงนั่นเอง การแสดงชุดนี้ใช้แสดงเนื่องในโอกาสวันขึ้นปีใหม่ หรือในงานบวช

เครื่องแต่งกายแสดงถึงวัฒนธรรมการแต่งกายของภาคกลาง
รำกลองยาว สันนิษฐานว่าเป็นของพม่านิยมเล่นกันมาก่อน เมื่อครั้งพม่าทำสงครามกับไทยในสมัยกรุงธนบุรีในเวลาพักรบ พวกทหารพม่าก็เล่นสนุกสนานกันด้วยการเล่นต่าง ๆ ซึ่งทหารพม่าบางพวกก็เล่น “กลองยาว” พวกไทยเราได้เห็นก็จำมาเล่นกันบ้าง ยังมีเพลงดนตรีเพลงหนึ่งซึ่งดนตรีไทยนำมาใช้บรรเลง มีทำนองพม่า เรียกกันแต่เดิมว่า “เพลงพม่ากลองยาว”

ต่อมาได้มีผู้ปรับเป็นเพลงระบำ กำหนดให้ผู้รำแต่งตัวใส่เสื้อนุ่งโสร่งตา ศีรษะโพกผ้าสีชมพู มือถือขวานออกมาร่ายรำเข้ากับจังหวะเพลงที่กล่าวนี้ จึงเรียกเพลงนี้กันอีกชื่อหนึ่งว่า “เพลงพม่ารำขวาน”
ต่อมาการแสดงเถิดเทิงได้มีการพัฒนารูปแบบให้มีความสวยงามมากขึ้น โดยมีการแต่งกายที่เป็นแบบอย่างไทย กำหนดท่ารำใหัมีความเป็นมาตรฐานยิ่งขึ้น และมีกลองยาวเป็นอุปกรณ์ประกอบการแสดง


รําสีนวล

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นชื่อของเพลงหน้าพาทย์ที่ใช้ประกอบการแสดงละคร ประกอบกิริยาไปมาของสตรีที่มารยาทกระชดกระช้อย ทำนองเพลงมีท่วงทีซ่อนความพริ้งเพราไว้ในตัว ต่อมามีผู้ประดิษฐ์ทำนองร้องขึ้นประกอบการรำซึ่งทำให้ความหมายของเพลงเด่นชัด ปรากฏเป็นภาพงดงามเมื่อมีผู้ร่ายรำประกอบ

แต่เดิมการรำเพลงสีนวลมีอยู่แต่ในเรื่องละคร ภายหลังจึงแยกออกมาใช้เป็นระบำเบ็ดเตล็ด เพราะมีความงดงามไพเราะทั้งในชั้นเชิงของทำนองเพลง และท่ารำความหมายของการรำสีนวล เป็นไปในการบันเทิงรื่นรมย์ของหญิงสาวแรกรุ่นที่มีจริตกิริยางดงามตามลักษณะกุลสตรีไทย

ด้วยความที่ทำนองเพลง บทขับร้อง และท่ารำที่เรียบง่ายงดงาม จึงเป็นชุดนาฏศิลป์ชุดหนึ่งที่ได้รับความนิยมแพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วไปจำนวนผู้แสดง ใช้แสดงเป็นหมู่ หรือแสดงเดี่ยวก็ได้ ตามโอกาสที่เหมาะสม
ดนตรีประกอบการแสดง ใช้วงปี่พาทย์

บทร้องที่ใช้แสดงมีอยู่ ๓ รูปแบบ
แบบที่ ๑
… ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล

สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
… ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา
แบบที่ ๒ ประพันธ์บทร้องโดย นายมนตรี ตราโมท ผู้เชี่ยวชาญทาง
ด้านดุริยางค์ไทย กรมศิลปากรและศิลปินแห่งชาติ
…ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล

อันการรำสีนวลกระบวนนี้ เป็นแบบที่ร้องรับไม่จับเรื่อง
เป็นการรำเริงรื่นของพื้นเมือง เพื่อเป็นเครื่องพักผ่อนหย่อนอารมณ์
ได้ปลดทุกข์สุขใจเมื่อไร้กิจ เข้ารำชิดเคียงคู่ดูเหมาะสม
ขอเชิญชวนมวลบรรดาท่านมาชม รื่นอารมณ์ยามที่รำสีนวล
…ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา
แบบที่ ๓
… ปี่พาทย์ทำเพลงสีนวล
ร้องสีนวล

สีนวลชวนชื่นเมื่อยามเช้า รักเจ้าสาวสีนวลหวนคิดถึง
แม้ไม่แลเห็นเจ้าเฝ้าคำนึง อยากให้ถึงวันที่รำสีนวล
ร้องอาหนู

เจ้าสาวสาวสาวสาวสะเทิ้น
เจ้าค่อยเดินค่อยเดินเดินตามทาง
ฝูงอนงค์ทรงสำอาง
นางสาวศรีห่มสี (ซ้ำ)
ใส่กำไลแลวิลัย ทองใบอย่างดี ทองก็ดี
ประดับสีเพชรพลอยพลอยงามดูงาม
ใส่ต่างหูสองหู หูทัดดอกไม้
สตรีใดชนใดในสยาม
จะหางามงามกว่า
มาเคียง ไม่เคียง (ซ้ำ)
ชวนกันเดิน พากันเดิน รีบเดินมา รีบเดินมา
ร่ายรำทำท่าน่ารักเอย
…ปี่พาทย์ทำเพลงเร็ว – ลา

หมายเหตุ บทร้องอาหนู เป็นบทพระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ท่อนสุดท้ายปรับปรุงขึ้นใหม่แตกต่างจากบทพระนิพนธ์) ผู้แสดงนุ่งผ้าโจง ห่มสไบจีบ สยายผมทัดดอกไม้ ใส่เครื่องประดับ (เข็มขัด กำไลมือ กำไลเท้า)
ความยาวของชุดการแสดงจะแตกต่างกันคือรำสีนวล ออกเพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๕ นาทีรำสีนวล ออกเพลงอาหนู เพลงเร็ว-ลา ใช้เวลาแสดงประมาณ ๘ นาที


ระบำวิชนี

การแสดงภาคใดที่มีจังหวะเร็ว สนุกสนาน

เป็นระบำชุดหนึ่งที่ประดิษฐ์ขึ้นใหม่ โดยใช้ทำนองเพลงจีนดาวดวงเดียว ซึ่งเป็นเพลงที่มีอยู่ มาประดิษฐ์เป็นท่ารำ โดยผู้แสดงจะแต่งกายแบบนางใน ในมือถือพัดมีด้ามประกอบการรำซึ่งมีศัพท์เรียกว่า วิชนี หรือ พัชนี ออกมาร่ายรําด้วยท่วงทํานองเพลงและบทร้องอันไพเราะ