ชาติใดในทศชาติ

                                                                                    พิพิธภัณฑ์โฮงหลวงแสงแก้ว

                                                                                                                วัดพระแก้ว เชียงราย

พระเจ้าสิบชาติ

พระเจ้าสิบชาติ หรือ ทศชาติชาดก เป็นชาดกสำคัญจำนวน ๑๐ เรื่องซึ่งแสดงถึงการบำเพ็ญบารมีของพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะมาถือกำเนิดเจ้าชายสิตทัตถะ แล้วตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ชาดกทั้ง 10 เรื่อง เพื่อให้จำง่าย มักนิยมท่องโดยใช้พยางค์แรกของแต่ละชาติ คือ เต ช สุ เน ม ภู จ นา วิ เว

เตมีย์ชาดก              ชาติที่ 1 ในครั้งที่พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเตมีย์ โอรสของพระญากาสิกราชแห่งเมืองพาราณสีนั้น วันหนึ่งขณะที่มีวัยเยาว์ ได้นั่งบนตักของพระบิดา และได้ยอนคำที่ทรงพิพากษาให้ประหารและจำคุกแก่โจรก็เกิดสลดใจว่าราชสมบัติทำให้เกิดเหตุร้ายต่างๆ อันเป็นเหตุที่จะให้ไปเกิดในนรก จึงแสร้งทำเป็นง่อยเปลี้ย เป็นใบ้และหูหนวก เพราะไม่ประสงค์ราชสมบัติ แม้จะถูกทรมานอย่างหนักเพื่อให้เลิกแสร้งทำเช่นนั้นก็ตาม และยืนยันที่จะออกบวช จัดเป็นพระชาติที่แสดงถึง “เนกขัมมบารมีขั้นสูงสุด” 

ชนกชาดก               ชาติที่ 2พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระชนกกุมาร โอรสพระเจ้าอริฏฐชนก กษัตริย์เมืองมิถิลา ขณะที่เสด็จลงสำเภาไปค้าขาย เกิดพายุใหญ่เรือแตกกลางมหาสมุทร พระมหาชนกทรงเพียรว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ในมหาสมุทรถึง 7 วัน นางเมขลาเห็น จึงพูดลองใจว่าให้พระองค์ยอมตายเสียตามบุญตามกรรม แต่พระองค์ก็ไม่ทรงฟัง ยังพยายามว่ายน้ำโต้คลื่นอยู่ตามเดิม โดยมีปณิธานว่า “คนที่ทำความเพียรนั้น แม้ตายไปก็พ้นคำติเตียนทั้งปวง”  นางเมขลาเห็นเลื่อมใสในความพยายาม จึงอุ้มพระองค์เหาะไปส่งที่ฝั่ง เป็นพระชาติที่แสดงถึง “วิริยบารมีขั้นสูงสุด”

สุวัณณสามชาดก    ชาติที่ 3  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นสุวัณณสาม ต้องรับภาระเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ตาบอด วันหนึ่งกบิลยักษ์แผลงศรมาถูกได้รับบาดเจ็บแสนสาหัส แต่ก็ไม่ได้โกรธ กลับเรียกพญายักษ์ไปสนทนาเพื่อขอทราบเหตุที่ยิงตนเช่นนั้น พญายักษ์รู้สึกสะเทือนใจในความผิดของตน จึงได้พยายามปฏิบัติหน้าที่ดุแลบิดามารดาของสุวรรณสามแทน เป็นพระชาติที่บำเพ็ญเมตตาบารมี

เนมิราชชาดก         ชาติที่ 4พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระเนมิราช พระองค์สงสัยว่าทานกับศีล อย่างใดจะให้อานิสงส์มากกว่ากัน ซึ่งพระอินทร์ก็ตอบว่าศีลประเสริฐกว่ามาก ในครั้งนั้นพระอินทร์ทรงให้พระมาตุลีนำทิพยรถมารับไปเที่ยวเมืองสวรรค์และเมืองนรก แล้วเชิญให้ครองเมืองสวรรค์ พระเนมิราชไม่ทรงรับและเสด็จกลับไปครองราชที่บ้านเมืองของพระองค์ ครั้นพบว่าพระเกศาหงอกแล้วก็มอบราชสมบัติให้แก่พระโอรส ส่วนพระองค์ก็เสด็จออกบวชเป็นพระชาติที่บำเพ็ญอธิษฐานบารมี

มโหสถชาดก           ชาติที่ 5  พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นมโหสถบัณฑิต ที่ปรึกษาหนุ่มของพระเจ้าวิเทหะแห่งกรุงมิถิลา ท่านมีความฉลาดรู้ สามารถแนะนำในปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องรอบคอบ เอาชนะที่ปรึกษาอื่นๆ ที่ริษยาใส่ความ ด้วยความดี ไม่พยาบาทอาฆาต ครั้งหลังใช้อุบายป้องกันพระราชาจากราชศัตรู เป็นพระชาติที่บำเพ็ญปัญญาบารมี

ภูริทัตชาดก            ชาติที่ 6 พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น ภูริฑัตนาคราช ครั้งนั้นพระองค์ขึ้นมาจากเมืองนาคเพื่อรักษาศีลอยู่ที่ต้นไทรใหญ่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา พระองค์ถูกหมองูจับไปทุบตีทรมาน บังคับให้แสดงต่างๆให้คนดู แม้พญาภูริทัตนาคราชจะมีพิษกล้า สามารถทำร้ายหมองูได้โดยง่าย แต่ก็มิได้กระทำ เพราะเกรงจะเสียศีลที่ตนพยายามรักษาอยู่ ในชาตินี้ทรง บำเพ็ญศีลบารมี

จันทกุมารชาดก                 ชาติที่ 7 พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น จันทกุมารเป็นโอรสของพระเจ้าเอกราช เคยช่วยประชาชนให้พ้นจากคดีที่กัณฑหาลพราหมณ์ ราชปุโรหิตาจารย์ ตัดสินไม่เป็นธรรมด้วยรับสินบนไว้ ทำให้กัณฑหาลพราหมณ์ผูกอาฆาต เมื่อพระเจ้าเอกราชทรงราชสุบินเห็นดาวดึงส์ เทวโลก เมื่อตื่นจากบรรทมทรงใคร่จะทราบทางไปสู่เทวโลก ตรัสถามกัณฑหาลพราหมณ์ พราหมณ์จึงแก้แค้น ด้วยการกราบทูลแนะนำให้ตัดพระเศียรพระโอรส พระธิดา บูชายัญ พระเจ้าเอกราชเป็นคนเขลา ก็สั่งจับพระราชโอรส พระราชธิดา พระมเหสี ไปที่พระลานหลวง เพื่อเตรียมประหารบูชายัญ แม้ใครจะทัดทานขอร้องก็ไม่เป็นผล ร้อนถึงท้าวสักกะ (พระอินทร์) ต้องมาข่มขู่และชี้แจงให้หายเข้าในผิดว่า วิธีนี้ไม่ใช่ทางไปสวรรค์ มหาชนจึงรุมฆ่าพราหมณ์ปุโรหิตนั้น และเนรเทศพระเจ้าเอกราช แล้วกราบทูลเชิญจันทกุมารขึ้นครองราชย์ ชาตินี้ทรงบำเพ็ญ ขันติบารมี

นารทชาดก             ชาติที่ 8 พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพรหมนารทะช่วยเปลื้องความเข้าใจผิดของพระญาอังคติ ซึ่งเกิดมิจฉาทิฐิเพราะหลงเชื่อคุณาชีวกะ โดยเฉพาะที่ว่าผลของบาปหรือบุญไม่มี สวรรค์ไม่มี นรกไม่มี การแก้ไขทัศนะของพระญาอังคติครั้งนั้น ต้องใช้ทั้งปัญญาและโวหารวาทศิลป์อย่างละเอียดรอบคอบ ซึ่งจัดได้ว่าในพระชาตินั้นแสดงถึงการบำเพ็ญ อุเบกขาบารมีสูงสุด

วิธูรชาดก            ชาติที่ 9 พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นวิธูรบัณฑิต ซึ่งเป็นผู้ถวายคำแนะนำประจำราชสำนักพระญาธนัญชัยโกรพยราช ครั้งหนึ่งปุณณกยักษ์มาท้าพระญาธนัญชัยโกรพยราชเล่นสกา ถ้าตนแพ้จักถวายมณีรัตนะอันวิเศษ ถ้าพระราชาแพ้ ก็จะพระราชทานทุกสิ่งที่ต้องการ ปรากฏว่าพระราชาแพ้ ปุณณกยักษ์จึงทูลขอตัววิธูรบัณฑิต พระราชาจะไม่พระราชทานก็เกรงเสียสัตย์ ทรงหน่วงเหนี่ยวด้วยประการต่างๆ ในที่สุดก็ตกลงกันไปไต่ถามให้วิธูรบัณฑิตตัดสิน วิธูรบัณฑิตก็ตัดสินให้รักษาสัตย์ คือตนเองยอมไปกับยักษ์ ซึ่งต้องการนำหัวใจของวิธูรบัณฑิตไปแลกกับธิดาพญานาค ซึ่งความจริงเป็นอุบายของภริยาพญานาคผู้ใคร่จะได้สดับธรรมของวิธูรบัณฑิต จึงตกลงกับสามีว่าถ้าปุณณกยักษ์ต้องการธิดาของตน ก็ขอให้นำหัวใจของวิธูรบัณฑิตมา  เมื่อวิธูรบัณฑิตแสดงสาธุนรธรรม (ธรรมของคนดี) แก่พญานาคและมเหสีแล้ว พระมเหสีจึงตรัสว่า ธรรมที่วิธูรบัณฑิตแสดงนั้นก็คือหัวใจของวิธูรบัณฑิต ในที่สุดก็ได้กลับสู่กรุงอินทปัตถ์ เป็นชาติที่ทรงบำเพ็ญสัจจบารมี

เวสสันดรชาดก      ชาติที่ 10 พระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็น พระเวสสันดรผู้ใจดีบริจาคทุกอย่างที่มีคนขอ ถือว่าเป็น “มหาชาติ” เพราะเป็นชาติที่ได้บำเพ็ญบารมีต่างๆ อย่างครบถ้วน โดยเฉพาะได้บริจาคทรัพย์ ช้างสำคัญ แม้ลูกและเมีย เพื่อเป็นทาน จัดได้ว่าเป็นพระชาติที่แสดงถึงการบำเพ็ญ ทานบารมีขั้นสูงสุด