แมวตัวผู้ทำหมันกินข้าวได้ตอนไหน

การดูแลแมวหลังทำหมัน

การทำหมันแมวทั้งแมวเพศผู้และเพศเมีย จะทำให้ฮอร์โมนเพศลดลง ส่งผลให้การทำงานของร่างกาย รวมทั้งพฤติกรรมต่าง ๆ ของแมวเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้นการดูแลแมวที่ทำหมันแล้วให้มีสุขภาพดีในระยะยาว เจ้าของแมวจึงจำเป็นจะต้องเข้าใจหลักในการดูแลแมวหลังทำหมันในด้านต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

• จำกัดบริเวณ

ในช่วงสัปดาห์แรกหลังการผ่าตัดทำหมันแมว เจ้าของควรจำกัดบริเวณ เพื่อให้แมวมีการเคลื่อนไหวน้อยที่สุด และต้องคอยสังเกตพฤติกรรมของแมวอย่างใกล้ชิด ไม่ควรให้แมววิ่ง กระโดด หรือปีนป่ายอย่างผาดโผน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อแผลผ่าตัด ทำให้แผลแตกหรือแผลหายช้าได้ โดยควรให้แมวพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพื่อรอให้แผลผ่าตัดได้รับการฟื้นฟูอย่างสมบูรณ์

• เข้าใจพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

อันดับแรกคุณต้องเข้าใจว่าแมวที่ทำหมันแล้วอาจมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปได้ เช่น อาจพบว่าแมวหลังทำหมันซึมลง มีพฤติกรรมเฉื่อยชา ไม่ชอบทำกิจกรรม ไม่ชอบออกไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน แต่ถึงแม้ว่าเราจะสามารถพบพฤติกรรมเหล่านี้ได้ปกติ แต่อย่างไรก็ตามหากเจ้าของไม่สนใจหรือไม่รีบจัดการ อาจส่งผลให้แมวมีภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งจะโน้มนำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาได้ เช่น โรคเบาหวาน ปัญหากระดูกและข้อ นอกจากนี้ยังอาจพบปัญหาที่ระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น โรคนิ่ว หรือกระเพาะปัสสาวะอักเสบได้อีกด้วย

• สังเกตโรคหรือความผิดปกติ

อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่า ในแมวที่ทำหมันแล้วอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมาได้ ดังนั้นเจ้าของแมวจึงต้องคอยสังเกตอาการผิดปกติของแมวตลอดเวลา โดยหากพบอาการผิดปกติ เช่น ซึม อาเจียน ดื่มน้ำบ่อย ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะกระปริดกระปรอย ฯลฯ ควรรีบพาแมวไปตรวจวินิจฉัยกับสัตวแพทย์ทันที

• กระตุ้นให้แมวออกกำลังกาย

การออกกำลังกายมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แมวที่ทำหมันแล้วมีสุขภาพที่แข็งแรง และสามารถเผาผลาญพลังงานได้ดียิ่งขึ้น โดยวิธีออกกำลังกายของแมวนั้นอาจไม่ใช่การพาจูงเดิน หรือพาไปวิ่งเล่นเหมือนกับการออกกำลังกายในสุนัข เนื่องจากแมวเป็นสัตว์นักล่า แต่สิ่งที่จะทำให้แมวหันมาสนใจได้ มักจะเป็นของเล่นหรือวัตถุเคลื่อนไหวได้ที่สามารถกระตุ้นให้แมววิ่งไล่ ยกตัวอย่างเช่น คุณอาจลองใช้เชือกมัดกับตุ๊กตาหนู แล้วสะบัดไปมาให้ดูคล้ายกับว่าหนูกำลังหลอกล่ออยู่ อาจใช้ไฟฉายหรือเลเซอร์ส่องไปที่พื้นเพื่อให้แมววิ่งตาม อาจติดตั้งกล่องของเล่นปริศนาที่มีเหยื่อล่อให้แมวตะปบ หรือมีคอนโดแมวให้แมวได้ปีนป่าย เป็นต้น และสิ่งที่เจ้าของควรคำนึงอีกอย่างหนึ่งคือวัสดุที่ใช้ในการทำของเล่นต่าง ๆ ของแมว ควรเป็นวัสดุที่ไม่เป็นอันตรายกับแมว เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของแมว

• เลือกอาหารที่เหมาะสม

นอกจากการออกกำลังกายแล้ว อาหารยังถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยไม่ให้แมวที่ทำหมันแล้วมีภาวะน้ำหนักเกิน โดยการเลือกให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับแมวทำหมันโดยเฉพาะอย่าง PRO PLAN®STERILISED/WEIGHT LOSS with OPTIRENAL® ที่นอกจากจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วและความผิดปกติในระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ยังช่วยในเรื่องการควบคุมน้ำหนักของแมวหลังทำหมันอีกด้วย

ข้อควรปฎิบัติก่อนการทำหมันสัตว์

ข้อควรปฎิบัติก่อนการทำหมันสัตว์

1. งดน้ำงดอาหารสัตว์ อย่างน้อย 12 ชั่วโมง ก่อนทำหมัน

2. สัตว์ที่นำมาทำหมันต้องมีอาการปกติ ไม่ป่วย

3. อายุสัตว์ที่สามารถทำหมันได้ ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป

4. สัตว์ที่นำมาทำหมัน(สุนัข) ไม่ควรมีประจำเดือน เพราะจะทำให้สัตว์เสียเลือดมาก

5. สุนัขหรือแมว แม่ลูกอ่อนเมื่อลูกอายุ 2 เดือน เหมาะที่จะทำหมัน

6. สัตว์ที่รู้ว่าท้องไม่ควรนำมาทำหมัน

ข้อควรปฎิบัติหลังการทำหมันสัตว์

1. สัตว์ที่ทำหมันเสร็จเรียบร้อยแล้วจะยังไม่ฟื้นจากยาสลบ ควรให้สัตว์นอนตะแคง ลักษณะคอไม่พับ

2. ชักลิ้นสัตว์ที่ยังสลบให้ออกจากปากทางด้านข้าง

3. ยาแก้อักเสบที่ให้กิน ต้องให้กินหลัง 2 วันที่ทำหมันสัตว์

4. ห้ามให้แผลผ่าตัดของสัตว์โดนน้ำเป็นเวลา 1 สัปดาห์

5. ทายา เบตาดีน ที่แผลทุกวัน

6. 1 สัปดาห์ ตัดไหมที่แผลถ้าแผลปิดสนิท

หมายเหตุ : สามารถตัดเองได้

ข้อควรทราบก่อนนำสุนัข-แมวมาทำหมัน

เป็นที่ทราบกันดีว่าวิธีการคุมกำเนิดสุนัขและแมวอย่างถาวรที่ดีที่สุดคือการผ่าตัดทำหมัน (Neutering) และอาจเป็นเพราะว่าเราคุ้นเคยกับคำว่า “ทำหมัน” กันมานานจนทุกวันนี้ดูเหมือนว่าการพาเจ้าตูบหรือน้องเหมียวไปทำหมันที่คลินิกหรือโรงพยาบาลสัตว์จะฟังดูเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างไรก็ตามมีข้อควรรู้บางอย่างที่เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึง

1. การทำหมันที่ถูกต้องและเหมาะสมคือการตัดรังไข่และมดลูกออกทั้งสองข้างในสัตว์เพศเมีย และตัดอัณฑะรวมถึงท่อนำอสุจิออกทั้งสองข้างในสัตว์เพศผู้ ซึ่งวิธีและขั้นตอนการผ่าตัดอาจต่างกันเล็กน้อยในสุนัขและแมว

2. การผ่าตัดจำเป็นต้องมีการวางยาสลบ ดังนั้นสุนัขหรือแมวที่จะรับการผ่าตัดทำหมันต้องได้รับการตรวจสุขภาพร่างกายว่าแข็งแรงดี จากนั้นสัตวแพทย์จะทำการนัดวันผ่าตัด ซึ่งเจ้าตูบและน้องเหมียวจะต้องงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด

3. การดูแลแผลหลังผ่าตัดเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขและแมวเพศเมีย เนื่องจากการตัดรังไข่และมดลูกออกจะต้องมีการเปิดผ่าช่องท้องซึ่งนับได้ว่าเป็นการผ่าตัดใหญ่ เจ้าของสัตว์จึงมีความจำเป็นที่จะต้องพาสุนัขหรือแมวไปรับการทำแผลทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน สัตวแพทย์อาจให้ยาลดปวดหลังผ่าตัดในระยะนี้เพื่อทำให้สัตว์สบายขึ้น ไม่ควรปล่อยสัตว์ออกไปวิ่งเล่นนอกบ้านเนื่องจากแผลอาจมีการติดเชื้อและเกิดแผลแตกตามมา

4. ถ้าแผลดีและไม่มีปัญหาแทรกซ้อน หมอจะนัดตัดไหมประมาณ 7 วันหลังผ่าตัด การทิ้งไหมผ่าตัดไว้นานเกินไป จะทำให้ไหมบาดแผลเกิดการอักเสบของแผลตามมาได้

อายุเท่าไรจึงทำหมันได้
เคยมีความเชื่อว่าต้องรอให้สัตว์เป็นหนุ่มเป็นสาวเต็มที่เสียก่อนจึงทำหมันได้ คืออายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป หรือสุนัขและแมวเพศเมียผ่านการแสดงอาการเป็นสัดไปแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง แต่ในปัจจุบันได้มีการศึกษารายงานแล้วว่าสามารถทำหมันสุนัขและแมวได้ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป ซึ่งจะเป็นข้อดีในกรณีที่ต้องการควบคุมจำนวนสัตว์เลี้ยง เพราะถ้ารอจนสัตว์แสดงอาการเป็นสัดไปแล้ว สัตว์อาจบังเอิญได้รับการผสมและตั้งท้องคลอดลูกออกมาเป็นภาระให้เจ้าของได้ โดยเฉพาะแมวเพศเมียบางตัวอาจแสดงอาการการเป็นสัดที่ไม่ชัดเจนซึ่งจะสังเกตได้ยาก ส่วนกรณีสุนัขและแมวที่เลี้ยงตัวเดียวในบ้านและเจ้าของสามารถดูแลได้เป็นอย่างดี อาจพิจารณาทำหมันเมื่อสัตว์โตเต็มที่แล้ว


ผลดีจากการทำหมัน
นอกจากการผ่าตัดทำหมันจะเป็นการคุมกำเนิดถาวรที่ให้ผลดีที่สุดแล้ว ยังเป็นการลดโอกาสการเกิดโรคทางระบบสืบพันธุ์ได้อีกด้วย โดยเฉพาะเนื้องอกเต้านมในสุนัขและแมว อุบัติการณ์ลดลงได้ถึงเกือบ 100% หากมีการทำหมันก่อนสัตว์แสดงอาการเป็นสัดครั้งแรก นอกจากนี้โรคต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hypertrophy; BPH) ในสุนัขเพศผู้ก็ลดลงอย่างมากเช่นกันหลังทำหมัน การตัดรังไข่ มดลูก และอัณฑะออกจะเป็นการกำจัดโอกาสการเกิดความผิดปกติและเนื้องอกของอวัยวะเหล่านี้ออกไปอย่างถาวรอีกด้วย

พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปหลังทำหมัน
ที่เห็นได้ชัดคือพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องจากฮอร์โมนเพศจะลดลงมาก การผ่าตัดทำหมันเป็นการตัดเอาแหล่งผลิตฮอร์โมนเพศที่สำคัญออก ดังนั้นพฤติกรรมการขึ้นขี่ (Mounting) ชอบหนีเที่ยว ติดสัตว์เพศเมีย หรือการยกขาปัสสาวะเพื่อบอกขอบเขตอาณาบริเวณความเป็นเจ้าของ (Urine Spraying and Marking) จะลดลงอย่างเห็นได้ชัดในสุนัขและแมวเพศผู้ พฤติกรรมก้าวร้าว ดุหรือกัดสัตว์ตัวอื่นหรือสมาชิกของบ้านจะลดลงแต่ไม่มีผลกับความก้าวร้าวต่อคนแปลกหน้า ดังนั้นสุนัขที่เลี้ยงไว้เฝ้าบ้านก็ยังคงเห่า หรือขู่คนแปลกหน้าได้เหมือนเดิม นอกจากนั้นความซุกซน ชอบเล่น และการเห่าไม่มีผลเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดหลังทำหมัน


ความอ้วนกับการทำหมัน
นอกจากสายพันธุ์ เพศ อายุ และอาหารการกินจะเป็นปัจจัยของโรคอ้วนในสุนัขและแมวแล้ว ผลการศึกษาหลายฉบับรายงานยืนยันว่าการทำหมันก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้สุนัขและแมวมีแนวโน้มที่จะมีน้ำหนักเพิ่ม (Overweight) และเป็นโรคอ้วน (Obesity) ซึ่งสามารถอธิบายได้จากการเผาผลาญพลังงานที่ลดลง ความอยากอาหารมากขึ้นโดยในเฉพาะสุนัขเพศเมีย นอกจากนี้สัตว์ที่เป็นโรคอ้วนยังมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคต่างๆ ตามมาได้ง่าย เช่น โรคเบาหวาน โรคของต่อมไทรอยด์ชนิด Hypothyroidism และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าและเอ็นข้อเข่าฉีกขาด ดังนั้นภายหลังการทำหมัน เจ้าของสัตว์ควรคำนึงถึงเรื่องของอาหารและการออกกำลังกายของสัตว์ด้วย อาจค่อยๆมีการปรับเปลี่ยนอาหารและเพิ่มการออกกำลังกาย อาหารสำเร็จรูปเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการคุมน้ำหนักที่ดีเนื่องจากเจ้าของจะทราบปริมาณแน่นอนที่ให้สัตว์กิน ในปัจจุบันมีอาหารสุนัขและแมวสำเร็จรูปชนิดที่ให้พลังงานต่ำ (Light Formula) และเฉพาะสำหรับสัตว์ที่ทำหมันจำหน่าย โดยอาหารดังกล่าวจะมีสูตรอาหารที่ให้พลังงานน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับอาหารของสุนัขก่อนทำหมัน มีการเพิ่มกากใยมากขึ้น อีกทั้งยังมีการเติมสารที่เร่งการเผาผลาญไขมัน (Fat Burner) เช่น L-Carnitine ซึ่งเหมือนกับอาหารลดน้ำหนักของคน


ภาวะปัสสาวะเล็ดหลังทำหมัน (Urinary Incontinence)
การเก็บข้อมูลในต่างประเทศรายงานโอกาสการเกิดปัญหาปัสสาวะเล็ดที่เพิ่มสูงขึ้นในสุนัขกลุ่มที่ได้รับการทำหมัน ซึ่งพบได้มากในสุนัขเพศเมีย (4-20%) โดยสุนัขจะมีปัสสาวะไหลออกมาเองเมื่อนอนหลับหรือนอนตะแคง ปัญหาสุขภาพต่างๆที่อาจพบตามมาได้ เช่น ผิวหนังอักเสบ การติดเชื้อของกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น เช่นเดียวกับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน (Post-Menopausal Women) สุนัขเพศเมียที่ได้รับการผ่าตัดเอารังไข่ออก จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผนังกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ ทำให้มีแนวโน้มที่การควบคุมปัสสาวะจะทำได้ไม่ดีเหมือนปกติ และเมื่อร่วมกับปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความอ้วน สายพันธุ์ และขนาดตัว สุนัขส่วนหนึ่งก็จะแสดงอาการปัสสาวะเล็ด อย่างไรก็ตามการรักษาทางยาสามารถลดอาการได้ดี

ถึงแม้การทำหมันอาจจะมีผลเสียอยู่บ้าง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนหลังผ่าตัดแต่ก็ไม่ได้มีอุบัติการณ์ของโรคที่สูงมากนัก อย่างไรก็ตามการทำหมันก็มีผลดีต่อสุขภาพในด้านอื่นๆดังกล่าวข้างต้นและมีประสิทธิภาพอย่างสูงในแง่ของการคุมกำเนิด เนื่องจากปัญหาการเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมากของสุนัขและแมวจรจัดในประเทศไทยยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง การรณรงค์ให้เจ้าของสุนัขและแมวนำสัตว์ไปรับการคุมกำเนิดอย่างถูกวิธียังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องกระทำ สิ่งต่างๆเหล่านี้สัตวแพทย์ยินดีที่จะให้คำปรึกษาเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมเป็นกรณีไป