ประเพณี ใด เกี่ยว กับ พระพุทธ ศาสนา ที่ ปรากฏ ใน เมือง สุโขทัย

เกี่ยวกับสุโขทัย

"มรดกล้ำเลิศ กำเนิดลายสือไทย เล่นไฟลอยกระทง มั่งคงพระพุทธศาสนา งานตาผ้าตีนจก สังคโลกทองโบราณ สักการเเม่ย่าพ่อขุน รุ่งอรุณเเห่งความสุข" 

สุโขทัย ในอดีตเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของชาติไทย เมื่อ 700 ปีมาแล้ว ปัจจุบันเป็นจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่รวมประมาณ 6,596 ตารางกิโลเมตร อยู่ห่างกรุงเทพฯ 427 กิโลเมตรและห่างจากเชียงใหม่ 298 กิโลเมตร โดยสุโขทัยปัจจุบันแบ่งการปกครองออกเป็น 9 อำเภอ คือ อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีสำโรง  อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีนคร  

คำว่า สุโขทัย มาจากคำสองคำคือ สุข+อุทัย หมายความว่า  รุ่งอรุณแห่งความสุข สุโขทัยได้เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ. ศ. 1800 มีการสถาปนาราชวงศ์พระร่วงขึ้นปกครองสุโขทัย โดยมี พ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นปฐมกษัตริย์ ตลอดระยะเวลา 120 ปี  ราชวงศ์สุโขทัย มีกษัตริย์ปกครองหลายพระองค์ ที่สำคัญคือ  "พ่อขุนรามคำแหงมหาราช" ผู้ทรงประดิษฐ์อักษรไทย และ  วางรากฐานการเมือง การปกครอง ศาสนา ตลอดจนขยาย  อาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง และด้วยความสำคัญในฐานะ ที่เป็นเอกลักษณ์ทางศิลปะของไทยในสมัยเริ่มสร้าง อาณาจักร ที่ยังหลงเหลืออยู่ในอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ได้รับการ ยกย่องให้เป็น มรดกโลก โดยองค์การ UNESCO เมื่อเดือน ธันวาคม พ.ศ. 2534 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย  อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยครอบคลุมพื้นที่โบราณสถานกรุงสุโขทัย ศูนย์กลางการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยซึ่งมีอำนาจ อยู่บริเวณภาคเหนือตอนล่างของประเทศไทยในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18-19 ตั้งอยู่ที่ตำบลเมืองเก่า (เขตเทศบาลตำบลเมืองเก่า)  อำเภอเมืองสุโขทัย จังหวัดสุโขทัย ห่างจากตัวเมืองสุโขทัยปัจจุบัน (เขตเทศบาลเมืองสุโขทัยธานี) ไปทางทิศตะวันตกประมาณ 12  กิโลเมตร ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (ถนนจรดวิถีถ่อง) 

ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลาง กำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวังและวัดอีก 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานแห่งนี้ได้รับ การบูรณปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากรด้วยความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี ซึ่งสามารถเดินเท้า หรือขี่จักรยานเที่ยวชมได้ 

อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัยได้รับการประกาศคุ้มครองครั้งแรกตามประกาศราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 92 ตอนที่ 112 ลงวันที่ 2  สิงหาคม พ.ศ. 2504 ต่อมาในปี พ.ศ. 2519 โครงการฟื้นฟูอุทยานแห่งนี้ก็ได้รับการอนุมัติ และเปิดอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2531 โดยในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูเนสโกได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกร่วมกับ อุทยานประวัติศาสตร์ที่กำแพงเพชรและศรีสัชนาลัยภายใต้ชื่อว่า "เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร" (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns)

สถานที่เที่ยวที่ต้องมาเมื่อมาเที่ยวสุโขทัย

 อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย

            อาณาจักรสุโขทัยเริ่มต้นประวัติศาสตร์โดยมีหลักฐานชัดเจนในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์(พ่อขุนบางกลางหาว พ.ศ.1781 - 1822) ต่อมาอาณาจักรสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองสูงสุดในรัชสมัยของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยในช่วงรัชสมัยของพระองค์มีความมั่นคงจาก ทรงแผ่อาณาเขตออกไปโดยรอบ วัฒนธรรมไทยได้เจริญขึ้นทุกสาขา ดังปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 1 ซึ่งเจริญ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ การสงคราม ภูมิศาสตร์ กฎหมาย ประเพณี การปกครอง การเศรษฐกิจ การสังคม ปรัชญา พระพุทธศาสนา การประดิษฐ์อักษรไทย ราชวงศ์พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ (พระร่วง หรือ สุโขทัย) ได้ปกครองอาณาจักรสุโขทัยสืบต่อมาเป็นเวลา 200 ปี ก็ถูกรวมเข้ากับ อาณาจักรอยุธยา

            ผังเมืองสุโขทัยมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร กว้างประมาณ 1.6 กิโลเมตร มีประตูเมืองอยู่ตรงกลางกำแพงเมืองแต่ละด้าน ภายในยังเหลือร่องรอยพระราชวัง และวัดมากถึง 26 แห่ง วัดที่ใหญ่ที่สุดคือวัดมหาธาตุ อุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้ ได้รับการบูรรปฏิสังขรณ์โดยกรมศิลปากร ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากองค์การยูเนสโก มีผู้เยี่ยมชมหลายแสนคนต่อปี นักท่องเที่ยวสามารถเดินเท้า นั่งรถราง หรือ ขี่จักรยาน เที่ยวชมได้อย่างสะดวกปลอดภัย

            ในวันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ.2534 องค์การยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลก ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร และ อุทยานประวัติศาตร์ศรีสัชนาลัย ภายใต้ชื่อว่า “เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร” (Historic Town of Sukhothai and Associated Historic Towns) เนื่องจากหลักฐานที่ปรากฎแสดงให้เห็นถึงผลงานทางสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นนับเป็น ตัวแทนของศิลปกรรมไทยยุคแรก และเป็นต้นกำเนิดของการสร้างประเทศไทย

.....................................................

อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย 

            เมืองศรีสัชนาลัยมีฐานะเป็นเมืองลูกหลวงของเมืองสุโขทัย ต่อมาเมืองสุโขทัยตกอยู่ภายใต้อำนาจของกรุงศรีอยุธยา จึงได้เปลี่ยนชื่อเรียกว่า เมืองสวรรคโลก

            ภายหลังเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่า ครั้งที่ 2 (พ.ศ.2310) เมืองศรีสัชนาลัย หรือ สวรรคโลก ถูกปล่อยทิ้งร้าง ต่อมาเมืองสวรรคโลกได้จัดตั้งขึ้นใหม่ที่บ้านท่าชัยอยู่ด้านทิศใต้ของเมืองเดิม และในสมัยรัตนโกสินทร์ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านวังไม้ขอน ซึ่งคือที่ตั้งของอำเภอสวรรคโลกในปัจจุบัน ส่วนชื่อเมืองศรีสัชนาลัย ถูกนำไปตั้งเป็นชื่อของอำเภอศรีสัชนาลัยโดยได้รวมเอาเขตพื้นที่เมืองศรีสัชนาลัยโบราณไว้ด้วย

            เมืองโบราณศรีสัชนาลัย มีขอบเขตของผังเมืองที่ก่อสร้างทับซ้อนอยู่บนบริเวณเมืองเชลียงเดิม คือ แนวกำแพงเมืองเชลียงเดิมทำเป็นคันดินยาวขนานไปตามลำน้ำยม ซึ่งยังคงปรากฎหลักฐานคันดินให้เห็นอยู่เป็นระยะๆ ต่อมาเมื่อมีการก่อสร้างเมืองศรีสัชนาลัยขึ้น  จึงได้พิจารณาเลือกบริเวณที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นที่ราบเชิงเขากำหนดขอบเขต การก่อสร้างกำแพงเมืองจากศิลาแดง ลักษณะผังเมืองเป็นรูปหลายเหลี่ยม ไม่สม่ำเสมอตามทิศทางของแม่น้ำยม ในช่วงนี้ลักษณะของกำแพงเมืองศรีสัชนาลัยมีหลายแนว เพราะมีการผสมผสานเอาแนวกำแพงคันดินในสมัยที่เป็นเมืองเชลียงเข้ามาใช้ประโยชน์ด้วย

            โบราณสถานในอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย มีทั้งภายใน และภายนอกกำแพงเมือง ซึ่งรวมทั้งหมดมีไม่น้อยกว่า 215 แห่ง รวมทั้งสุสานวัดชมชื่น และเตาสังคโลกโบราณ

            อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ถือได้ว่าเป็นโบราณสถานแหล่งเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นมาของบรรพชนชาวไทยที่สำคัญมากอีกแห่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวควรเดินทางไปเที่ยวชมเมื่อเดินทางมาเยือนจังหวัดสุโขทัย 

งานประเพณีที่สุโขทัย 

ประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ

เมื่อถึงฤดูน้ำหลากเดือนสิบสอง วิถีซีวิตไทยริมสองฟากฝั่งแม่น้ำ ลำคลองต่างเฝ้ารอคอยคืนวันจันทร์เต็มดวง หรือที่เรียกกันว่าคืนเดือนเพ็ญ เพราะแสงนวลของดวงจันทร์จะส่องประกายลงมาบนผิวน้ำอันใสสะอาด สร้างบรรยากาศสวยงามสชื่นเยือกเย็น กลายมาเป็นประเพณีลอบกระทงบูชาขอขมาพระแม่คงคา บ้างเป็นการสะเดาะเคราะห์ตามคติความเชื่อของศาสนาพราหมณ์

            จังหวัดสุโขทัย ถือเป็นต้นกำเนิดของประเพณีลอยกระทง เนื่องจากมีการจัดงานประเพณีสือทอดติดต่อกันมาหลายสิบปี จนกลายเป็นประเพณีระดับประเทศ และสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันไปทั่วโลกในชื่อ “งานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย”

            ในทุกปีจังหวัดสุโขทัยได้จัดงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ แบบโบราณ ขึ้นบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย เอกลักษณ์ประเพณีนี้เป็นที่เลื่องลือโดยมีทั้งกระทงทรงพุ่มข้าวบิณฑ์งานฝีมืออันวิจิตรที่สะท้อนความประณีตของช่างศิลป์เมืองสุโขทัย ตลาดโบราณ หรือ ตลาดแลกเบี้ย การจำลองบรรยากาศการซื้อขายแบบโบราณ ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นอายวัฒนธรรม ด้วยการแลหอยเบี้ยแทนเงินสด เพื่อใช้ซื้อขายอาหารพื้นเมือง และการแสดงแสงสี เสียง สัมผัสเรื่องราว ประวัติศาสตร์มนต์เสน่ห์แห่งอารยธรรมเมืองมรดกโลก

            กิจกรรมในภาคกลางวันจะมีขบวนแห่นางนพมาศ และการออกร้าน การจัดนิทรรศการต่างๆ ส่วนในเวลากลางคืนจะมีการประดับไฟจุดเที่ยนตามโบราณสถานต่างๆ ซึ่งมีความสวยงาม และเป็นเอกลักษณ์ของงานประเพณีลอยกระทง เผาเทียน เล่นไฟ จังหวัดสุโขทัย การจัดประกวดกระทง การประกวดโคมชักโคมแขวน พนมหมาก พนมดอกไม้ การแสดงแสงเสียงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัย ณ บริเวณวัดมหาธาตุ ตลอดจนการแสดงนาฏศิลป์ และ มหรสพต่างๆ ที่บ่งบอกถึงความละเอียดอ่อนของความเป็นไทยอีกมากมายน่าเดินทางไปสัมผัสเที่ยวชม โดยกำหนดจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 

..............................................

ประเพณีสงกรานต์สุโขทัยเที่ยวได้ครึ่งเดือน

วันสงกรานต์ ถือเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยมาตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย แต่เดิมแล้ววันสงกรานต์มีชื่อเรียกว่า “ตรุษสงกรานต์” ซึ่งคำว่าตรุษนั้นเป้นภาษาทมิฬแปลว่า ตัด หรือ การสิ้นไป วันตรุษจึงถือเป็น วันสิ้นปีของคนไทยมาแต่โบราณ โดยมีกิจกรรมประเพณีสือทอดมาตั้งแต่สมัยสุโขทัยคู่กับประเพณีสงกรานต์ จึงมักเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์

            ประเพณีตรุษสงกรานต์ มีกำหนดคือ วันแรม 14-15 ค่ำ เดือน 4 ถือว่าเป็นวันสิ้นปี และวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 5 เป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย ทั้งนี้คนไทยแต่โบราณมีความเชื่อว่าในวันนี้ประตูนรก และสวรรค์จะเปิดให้บรรพบุรุษออกมารับส่วนบุญได้ จึงมีการจัดกิจกรรมทำบุญตักบาตร เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับในวันดังกล่าว

                  ปัจจุบันจังหวัดสุโขทัย ได้ทำการจัดงานประเพณีสงกรานต์เพื่อสือสานวัฒนธรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี และถือได้ว่าจังหวัดสุโขทัยนั้นเป็นต้นแบบของประเพณีสงกรานต์อันงดงามทุกปีเมื่อถึงช่วงเวลาของการจัดงาน เช่น “ประเพณีสรงน้ำโอยทานสงกรานต์ศรีสัชนาลัย” จัดขึ้นบริเวณอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ พิธีบวงสรวงพระมหาธรรมราชาที่ 1 และบูรพกษัตริย์ การประกวดสาวเทพีสรงน้ำโอยทาน ขบวนแห่ช้างพ่อเมือง และขบวนวัฒนธรรมการออกร้านเทศกาลอาหารพื้นเมือง และงานประเพณีสงกรานต์เมืองสุโขทัย “สงกรานต์เสื้อลายดอกถนนข้าวตอกสุโขทัย” จัดขึ้นบริเวณสวนสาธรารณะเฉลิมพระเกียรติฯ ริมแม่น้ำยม อำเภอเมือง เป็นกิจกรรมสงกรานต์ที่สนุกสนาน ผู้ร่วมกิจกรรมทุกคนจะสวมเสื้อลายดอกเข้าร่วมงาน เป็นภาพที่สวยงาม แสดงออกถึงวิถีชีวิตของชาวไทย ร่วมสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์ และรูปหล่อพระแม่ย่าองค์จำลอง ชมขบวนแห่สืบสานวัฒนธรรมที่ยิ่งใหญ่สวยงามของตำนานนางสงกรานต์ สนุกสนานกับรำวงย้อนยุค และชมการแสดงดนตรีที่สนุกสนาน งานย้อนอดีตมหาสงกรานต์กรุงสุโขทัย ณ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ชมการแข่งขันก่อกองทราย ขบวนแห่ล้อเกวียนโบราณ งานประเพณีแห่น้ำขึ้นโฮ้ง สรงน้ำเจ้าหมื่นด้ง ชมขบวนแห่วัฒนธรรม และบายศรีสู่ขวัญช้าง และเลี้ยงอาหารช้าง เรียกได้ว่า สงกรานต์สุโขทัย เที่ยวได้ครึ่งเดือน

            หากท่านเป็นนักท่องเที่ยวที่สนใจชื่นชมความงดงามของวัฒนธรรมประเพณีสงกรานต์ ตามแบบฉบับดั้งเดิมของวิถีไทย เมื่อถึงช่วงเทศกาลประเพณีวันสงกรานต์ครั้งต่อไป ขอเชิญท่านเดินทางมายังจังสุโขทัย แล้วท่านจะพบกับความสุขประทับใจดินแดนแห่งรุ่งอรุณ

........................................................

อาหารพื้นถิ่นสุโขทัย

 ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย

            “ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย”อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของวิถีสุโขทัยความอร่อยทำให้มีชื่อเสียงโดดเด่นคุณสามารถเลือกหารับประทานได้ทั่วไปในจังหวัดสุโขทัย ความพิเศษตามแบบฉบับดั้งเดิม ของก๋วยเตี๋ยวสุโขทัยนั้นอยู่ที่การใช้เส้นเล็กเหนียวเนื้อแป้งนุ่ม ใส่เนื้อหมู และเครื่องในหัวไชโป๊วหั่นชิ้นเล็ก ใช้มะนาวแทนการใช้น้ำส้มสายชูที่สำคัญต้องใส่ถั่วฝักยาวหั่นเฉียงเป็นชิ้นบางๆ รวมรสแล้วออกเปรี้ยวหวานจะเค็มหรือเผ็ดบ้างเพียงเล็กน้อย ถือเป็นเมนูอาหารที่ไม่ควรพลาดเมื่อเดินทางมาเยือนจังหวัดสุโขทัย

            อาหารการกินของชาวสุโขทัย ถือได้ว่ามีความเป็นเอกลักษณ์โดดเด่น ทั้งวัตถุดิบที่ใช้นั้นมีความสดสะอาดมีคุณค่าทางโภชนาการ รูปแบบการผลิตพิถีพิถันใส่ใจในทุกขั้นตอนการปรุง รสอร่อยจนส่งกลิ่นหอมหวนชวนรับประทาน นับเป้นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของวิถีชีวิตของชาวสุโขทัย

......................................................

            ขนมผิง / ทองม้วน

            อำเภอกงไกรลาสตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของจังหวัดสุโขทัย อยู่ในเขตพื้นที่ราบลุ่มน้ำยมตอนล่างที่มีความคดเคี้ยวของสายน้ำเป็นธรรมชาติน่าชื่นชม วิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน (แต้จิ๋ว และไหหลำ) และลาวโซ่งที่เข้ามาค้าขาย มีการก่อสร้างท่าเรือขนส่งสินค้า ปัจจุบัน ยังคงดำเนินไปด้วยความสุขสงบบนความเรียบง่าย ตามแบบฉบับของชนบทไทยหาปลาการทำปลาแดดเดียว ปราร้า ปลาจ่อม จนเป็นโรงงานผลิตปลาร้าแห่งใหญ่ในจังหวัดสุโขทัย ด้วยจุดเด่นดังกล่าวปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ได้ทำการเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ถวิลหาบรรยากาศสงบเรียบง่าย โดย เทศบาลตำบลกงไกรลาศได้เปิดตลาด “ริมยม 2437” ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสอาหารหลากชนิดทั้งอาหารพื้นบ้านโบราณ อาหารท้องถิ่นในทุกวันเสาร์แรกของเดือน

            เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของชุมชนแห่งนี้ที่ส่งต่ออาชีพที่สืบทอดกันมาเป็นอุตสาหกรรมเล็กๆ และสร้างชื่อเสียงให้กับคนกงไกรลาส คือ การทำขนมทองม้วน ทองพัก ส่งขายไปยังแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในละแวกใกล้เคียง โดยเฉพาะขนมผิงที่ผลิตส่งขายกันแทบไม่พอขายในแต่ละวัน ด้วยความอร่อยแบบโบราณ ใช้เตาถ่านในการผลิต ทำให้มีกลิ่น และรสชาติหวาน หอม กรอบ อร่อยแบบเดิมตามสูตรโบราณ ซึ่งมีอยู่ด้วยกันหลายร้าน เช่น ร้านทองม้วนแม่สงวน ร้านป้ามาลี ร้านแม่ติ๋ม(ขนมผิงแง้มประตูขาย) ฯลฯ

...........................................................

ข้าวเปิ๊ป สุโขทัย

            “ข้าวเปิ๊ป” เชื่อว่าหลายท่านคงไม่คุ้นกับชื่อนี้นัก เพราะข้าวเปิ๊ป เป็นเมนูอาหารที่มีการผลิต และจำหน่ายแบบดั้งเดิมอยู่แค่เพียงในพื้นที่บ้านนาต้นจั่น อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย เท่านั้น  ข้าวเปิ๊ป ก็คืออาหารที่มีลักษณะคล้ายกับก๋วยเตี๋ยว มีกรรมวิธีการผลิตเส้นคล้ายคลึงกับข้าวเกรียบปากหม้อ โดยใช้ผ้าขาวบางขึงตึงบนปากหม้อดิน ภายในหม้อมีน้ำต้มจนเดือด จากนั้นละเลงแป้งข้าวเจ้าลงบนปากหม้อ ไอน้ำเดือดจะทำให้แป้งสุกอย่างรวดเร็ว ขั้นต่อไปใส่วุ้นเส้น ผักบุ้ง กะหล่ำปลี ถั่วงอก หรือผักอื่น ตามฤดูกาลลงไปบนผ่านแป้ง ปิดฝาอีกครั้งกะเวลาจนผักสุก เมื่อได้ที่ ใช้ตะหลิวพลิกพับแป้งไปมาเพื่อห่อหุ้มไส้ผักไว้ข้างใน เสร็จแล้วตักใส่ชาม ตามด้วยไข่ไก่ที่ใช้วิธีนึ่งบนปากหม้อดินจนสุก ใส่รวมลงในถ้วยพร้อมกับแป้งที่ห่อผัก วางหน้าด้วยหมูแดงหมูสับ ราดน้ำซุป กระดูกหมูร้อนๆ โรยกากหมู และผักชี เป็นข้าวเปิ๊ปหน้าตาดี รสชาติอร่อย ส่วนที่มาของคำว่า “เปิ๊ป” นั้นเป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง การพับไปมานั่นเอง 

ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น

ผ้าหมักโคลน บ้านนาต้นจั่น

            นอกจากอาชีพเกษตรกรรมแบบโบราณที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิตไทยในจังหวัดสุโขทัยแล้ว ณ ดินแดน รุ่งอรุณแห่งความสุขนี้ยังมีหลายสิ่งอย่างที่บ่งบอกถึงความเป็นเอกลักษณ์งดงามน่าอัศจรรย์อย่างเช่น การผลิตผ้าฝ้ายหมักโคลน ที่บ้านนาต้นจั่น ตำบลบ้านตึก อำเภอศรีสัชนาลัย 

            แม้ว่าผ้าฝ้ายทอมือกรรมวิธีผลิตแบบโบราณจะมีการสร้างสรรค์ผลงานอยู่ในหลายพื้นที่ ซึ่งแต่ละแห่งก็จะมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป แต่ผ้าฝ้ายทอมือที่บ้านนาต้นจั่น มีจุดเด่นเหนือกว่า ตรงที่ความนุ่นละมุนของเนื้อผ้า เมื่อนำมาสวมใส่จะรู้สึกเย็นสบายในยามร้อน และอบอุ่นกายในเวลาหนาว

            เคล็บลับความนุ่มของเนื้อผ้าถูกค้นพบโดยบังเอิญจากวิถีชีวิตของชาวนาต้นจั่น ที่นุ่งซิ่นเดินผ่านปลักโคลนออกไร่นา เมื่อชายผ้าซิ่นเปื้อนโคลน กลับมาถึงเรือนจึงซัก ผ้าอันเป็นที่รักส่วนที่เปื้อนกลับสัมผัสนุ่มทั้งมีสีละมุนตากว่า จึงเป็นที่มาของผ้าหมักโคลน

            ลวดลายบนผืนผ้าน่าอัศจรรย์ ถูกรังสรรค์กลั่นกรองจากมุมมองในธรรมชาติรอบตัว ดอกพิกุล ดอกสารภี ดอกแก้ว ดอกหมอน ผ่านขั้นตอนพินิจสะกิดเส้นใยใส่ใจความละเอียด ด้วยวิริยะ มานะ พยายามออกมาเป้นผ้าทอผืนงามในนาม “ผ้าทอบ้านนาต้นจั่น” จังหวัดสุโขทัย

.............................................................

ผ้าทอ หาดเสี้ยว

            หากย้อนกลับไปประมาณร้อยปี ที่ตำบลหาดเสี้ยว อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย นั้นคือแดนดินถิ่นพำนักของชาวลาวพวน ที่ถูกกวาดต้อนมาจากเมืองพวนซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของ เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว วันเวลาเนิ่นนานผ่านพ้น จากชาวลาวพวนได้กลายมาเป็นไทยพวน ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี โดยเฉพาะการทอผ้าที่มีชื่อเสียงโด่งดังในนามว่า “ผ้าทอหาดเสี้ยว”

            การทอผ้าของบ้านหาดเสี้ยวเป็นวัฒนธรรมสือทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นหญิงสาวชาวไทยพวน ก่อนออกเรือนจำเป็นต้องทอผ้าให้เป็น โดยเฉพาะการทอผ้าซิ่นตีนจกซึ่งถือว่าเป็นผ้าทอที่ยากที่สุด เพราะผ้าซิ่นตีนจกเป็นผ้าสำคัญใช้สำหรับนุ่งไปในงานพิธีต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการทอผ้าชนิดอื่น ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดหน้า ย่าม เป็นต้น

            ผ้าซิ่นหาดเสี้ยวมีอยู่ด้วยกัน 2 ชนิดคือ ผ้าซิ่นธรรมดา ที่ใช้ใส่อยู่กับบ้านหรือทำงาน และผ้าซิ่นตีนจก ที่ใช้ใส่ในโอกาสพิเศษ เช่น งานบุญ งานเทศกาลสำคัญ

            “ตีนจก”  คือส่วนล่างของผืนผ้า มีลวดลายพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นรูปทรงเรขาคณิตคว่ำหน้าลายลง ตั่นเป็นเชิงชั้นสลับสี แดง ส้ม น้ำตาลสอดไส้เหลือง เขียว ชมพู หรือ คราม รังสรรค์เป็นผลงานอันวิจิตร บ่งบอกถึงความละเอียดละออของการดำเนินวิถีชีวิตชาวไทยพวนชวนให้พิศมัยน่าไปชื่นชม และยังเห็นถึงวิถีชีวิตของชาวไทยพวนที่สืบทอดกันรุ่นต่อรุ่น

..............................................

ทำทอง-เงิน โบราณ

            ทองสุโขทัย หรือ ที่ทั่วไปเรียกกันว่า “ทองโบราณ” นั้นก็คือ ทองดำที่ทำลวดลายตามแบบทองโบราณ โดยมีการใช้ทองคำที่มีเปอร์เซ็นต์สูงถึง 99.99% มาผลิตเป็นชิ้นงาน เป็นงานหัตถกรรมอันวิจิตรโดยอาศัยเครื่องมือที่ผลิตขึ้นมาใช้เองอย่างง่ายซึ่งง่ายส่วนใหญ่เป็นคนในท้องถิ่นอำเภอศรีสัชนาลัย

            ความเป็นมาของทองสุโขทัยนั้นเล่ากันว่า ในสมัยก่อนมีช่างชาวจีนสองคนมาจากกรุงเทพฯ ชื่อ พ้ง กับ ขุ่ย ลงเรือมาเพื่อหาพื้นที่ตั้งหลักฐานทำมาหากิน โดยใช้ฝีมือการทำทองทำมาหาเลี้ยงชีพ ในที่สุดก็ตกลงใจ ตั้งหลักปักฐานอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย โดยมี นายเชื้อ วงศ์ใหญ่ (เจ้าของร้านทองสมสมัย) เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล ต่อมานายเชื้อได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างทองจากช่างชาวจีนสองท่านนั้นจนกระทั่งสามารถทำได้ด้วยตนเองและได้รับความสนใจจากลูกค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะทองสุโขทัยเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้มือทำขึ้นมาล้วนๆ ต้องใช้เวลาในการผลิตนาน อีกทั้งยังใช้ทองคำคุณภาพ 99.99% เพื่อสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพดีให้แก่ลูกค้าที่นิยมสะสมของเก่า และชื่นชอบในงานศิลปะ

            เมื่อทองสุโขทัยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมากขึ้น จากเดิมที่จำกัดอยู่ในวงแคบเฉพาะลูกค้าที่มีรายได้สูง ก็ได้ขยายวงกว้างออกไป มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวหลากหลายรูปแบบ แต่ละชิ้นล้วนถูกบรรจงประดิดประดอยจากฝีมือช่างในท้องถิ่น จนสามารถพูดได้ว่า ทองสุโขทัยทุกชิ้นงานเป็นวิญญาณของชาวศรีสัชนาลัยโดยแท้จริง จากช่างรุ่นแรกถ่ายทอดสู่คนรุ่นหลัง เป็นสุดยอดผลงานประณีตศิลป์ และถือเป็นมรดกอันทรงคุณค่าของชาวสุโขทัย

................................................

สังคโลก เครื่องปั้นดินเผา

            จากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน “เครื่องสังคโลก” ถือว่าเป็นวัฒนธรรมเชิงหัตถศิลป์ที่มีการสืบทอดตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี ให้เราผู้เป็นอนุชนคนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้า และภาคภูมิใจในความเป็นวิถีไทยของบรรพบุรุษ จนกระทั่งในปัจจุบัน “สุโขทัย” ยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ยังทรงคุณค่า บ่งบอกถึงอดีตกาลความรุ่งเรือง ซึ่งถ่ายทอดผ่านโบราณสถานโบราณวัตถุ อาทิ เครื่องสังคโลก และเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งเป็นฝีมือจากภูมิปัญญาของชาวสุโขทัย

            “เครื่องสังคโลก” คือ เครื่องปั้นดินเผาที่ผลิตขึ้นในรูปแบบภาชนะเครื่องใช้ เช่น ถ้วย ชาม จาน ไหดิน โอ่งน้ำ ขวด กระปุก ป้านน้ำชา กาน้ำร้อน ช้อน และเครื่องประดับอาคาร ตลอดจน ตุ๊กตารูปคน รูปสัตว์ เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการผลิตเครื่องสังคโลกนั้น จะมีการเขียนลาย และเคลือบน้ำยา ซึ่งเป็นลักษณะของทางสุโขทัย จากนั้นจึงนำไปเผาใน “เตาทุเรียง” ซึ่งปรากฎหลักฐานให้เห็นได้ในปัจจุบัน เช่น ที่อำเภอเมืองสุโขทัย และที่อำเภอศรีสัชนาลัย

            ลวดลายที่ปรากฎในเครื่องสังคโลกส่วนใหญ่เป็นลวดลายเฉพาะ ที่พบมากในถ้วนชาม คือ รูปปลากงจักร ดอกไม้ โดยเฉพาะรูป “ปลากา” ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง รูปร่างคล้ายปลาตะเพียนมีอยู่ 2 ชนิด คือ ปลากาดำ และปลากาทรงเครื่องในอดีตจะพบมากในแม่น้ำยม

            จากความงดงามโดดเด่นของเครื่องสังคโลกสุโขทัย ทำให้การผลิตเครื่องสังคโลกขยายสภาพ จากฝีมือภูมิปัญญาเป็นกิจการธุรกิจขนาดย่อม รวมกลุ่มเป็นชุมชนสร้างรายได้ให้กับชาวบ้าน และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมบ่งบอกถึงวิถีชีวิตไทยวิถีของชาวสุโขทัย สืบทอดต่อกันมาจากบรรพชน เป็นเวลากว่า 700 ปี นับเป็นอีกหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาว จังหวัดสุโขทัย 

..................................................