ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

     สอนออนไลน์ทีไรคุณครูมักจะเจอปัญหาผู้เรียนไม่สนใจเรื่องที่สอน หรือผู้เรียนมักจะบ่นว่าเรียนไม่เข้าใจอยู่บ่อยครั้งใช่ไหมครับ? แล้วจะเลือกใช้วิธีไหนที่ดึงความสนใจจากผู้เรียน ให้เขาได้รับความรู้และรู้สึกสนุกกับการเรียนออนไลน์ไปด้วย และเพื่อให้การศึกษาของนักเรียนไม่มีขาดตอน การเรียนออนไลน์จึงเข้ามามีบทบาทให้ครูไทยได้ท้าทายมากยิ่งขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทำให้เข้าถึงความรู้ได้มากมาย และทำให้คุณครูสามารถออกแบบการสอนได้หลากหลายอีกด้วย แต่จะดึงความสนใจจากผู้เรียนได้อย่างไรบ้าง? สิ่งเหล่านี้เริ่มต้นได้ที่คุณครูเอง ไปติดตามกันครับ

ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

เผยตัวตนของครูออกมา
ครูชอบอะไร ถนัดด้านไหน และมีความเชี่ยวชาญเรื่องอะไร

สิ่งแรกที่คุณครูต้องทำเลยนั่นก็คือ ปลุกความมั่นใจของตนเองครับ การสอนออนไลน์ให้น่าสนใจนั้น ผู้สอนจะต้องทราบความถนัดของตนเอง เพราะการถ่ายทอดความรู้ หากครูไม่มั่นใจในองค์ความรู้เรื่องนั้น ๆ อาจจะก่อให้เกิดความสับสนระหว่างผู้เรียนและผู้สอนได้นั่นเองครับ และหนึ่งในการสอนออนไลน์นั้น ผู้สอนสามารถคัดเลือกความถนัดด้านใดด้านหนึ่งมาสอนได้ เช่น คุณครูภาษาอังกฤษที่ชอบฟังเพลง ก็จะขลุกอยู่กับเพลงได้ทั้งวัน แล้วก็จะเข้าถึงการสอนภาษาอังกฤษผ่านบทเพลงได้ดี ก็จะช่วยให้ผู้เรียนสนุกกับการฟังเพลงและเพิ่มความจำให้ผู้เรียนได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย

รับบทเป็นครูสายย่อ  ยิ่งสรุปและย่อบทเรียนให้เข้าใจง่ายมากเท่าไหร่ ยิ่งได้ประโยชน์ดี

สิ่งที่สำคัญสำหรับการสอนออนไลน์ ก็คือ การสอนที่ไม่น่าเบื่อ แตกต่างจากในห้องเรียน คุณครูจะต้องมีวิธีการพูดและสรุปบทเรียนให้น่าสนใจ กระชับ และที่สำคัญบทเรียนนั้นจะต้องเข้าใจง่าย คุณครูจะต้องเน้นไปที่การพูดคุยแบบไม่ท่องตามหนังสือเรียน เพราะการพูดด้วยสไตล์ของตนเองจะทำให้การสอนมีความน่าสนใจขึ้น เพราะผู้เรียนจะรู้สึกได้ถึงความแตกต่างระหว่างการอ่านหนังสือเอง การเรียนในห้องเรียน และความรู้สึกแปลกใหม่จะช่วยทำให้ห้องเรียนออนไลน์ของคุณครูนั้นสนุกจนไม่อยากจบคาบเลยครับ

ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

เรียนรู้แบบผ่อนคลาย
จัดลำดับเนื้อหา พร้อมสอดแทรกความรู้เล็ก ๆ ในบทเรียน

การเรียนรู้ควรเริ่มต้นด้วยความผ่อนคลาย ให้ผู้เรียนค่อย ๆ ปรับตัวและคิดตามสิ่งที่ผู้สอนต้องการจะสื่อ แล้วจึงนำเข้าสู่บทเรียนอย่างชาญฉลาด เริ่มต้นคาบเรียนจึงไม่ควรเข้าสู่ใจความหลักในทันทีที่เริ่มสอน เพราะผู้เรียนอาจตั้งตัวไม่ทันและยังสับสน ดังนั้นคุณครูจึงต้องวางแผนการสอนมาเป็นอย่างดี พร้อมทั้งแทรกเกร็ดความรู้ หรือเทคนิคการจำต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเนื้อหาไม่ซับซ้อนจนหมดกำลังใจที่จะเรียนต่อ รวมไปถึงการมีมุกตลก หรือเรื่องเล่าที่ช่วยดึงความสนใจของผู้เรียน ก็มีส่วนช่วยเป็นอย่างมากที่ทำให้การเรียนนั้นมีความสนุกได้ตลอดคาบ

ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

ดึงความสนใจด้วยภาพ
หาสื่อการสอนที่น่าสนใจ มีสีสันและภาพประกอบ

สื่อประกอบการเรียนการสอน เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่คุณครูสามารถดึงความสนใจของผู้เรียนได้ โดยสื่อประกอบการสอนที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจและสามารถจำเนื้อหาได้ง่าย พร้อมสรุปเนื้อหาออกเป็นประเด็นย่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น สีสันของภาพ ภาพกราฟิกประกอบต่าง ๆ หรือคลิปวิดีโอที่อธิบายเนื้อหามีความสวยงาม ครบถ้วน ก็ช่วยให้การสอนง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจดจำบทเรียนให้ผู้เรียนด้วย เนื่องจากภาพและสีต่าง ๆ จะกระตุ้นกระบวนการทำงานของสมอง เร้าความสนใจ และทำให้เกิดการจดจำภาพและสีได้ดีกว่าตัวอักษรนั่นเอง

ครูควรเน้นเรื่องใดในการจัดการสอนออนไลน์

พาครูเสียงสองมาด้วย
ฝึกทักษะการพูดให้ลื่นไหล รู้จักใช้น้ำเสียง

การสอนออนไลน์มักจะเป็นการสื่อสารทางเดียว คือ ทำให้การวางแผนการสอนอาจจะลำบากขึ้น เพราะฉะนั้นคุณครูควรเตรียมการพูดให้น่าฟัง มีความตื่นเต้น ใช้โทนเสียงสูงต่ำเหมาะสม หลีกเลี่ยงการอ่าน หรือการท่องด้วยน้ำเสียงโทนเดียว เพราะนั่นทำให้ผู้เรียนอาจจะละความสนใจไปจากคุณครูได้ ฉะนั้นการฝึกซ้อมพูดเป็นประจำจะช่วยให้คุณครูมั่นใจ กล้าที่จะถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียน และคุณครูต้องสามารถคาดเดาปฏิกิริยาของผู้เรียนได้ ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมวางแผนแก้ไขสถานการณ์ในการสอนออนไลน์ได้ด้วย

สอนจนใช้ได้ในชีวิตจริง
พยายามโยงบทเรียนเข้าสู่ประสบการณ์ชีวิต

การสอนแบบเล่าเรื่องนั้นช่วยกระตุ้นความสนใจได้ดีเสมอ เพราะการเล่าเรื่องช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกผ่อนคลาย ซึ่งคุณครูควรเลือกเรื่องเล่าให้สอดคล้อง และเชื่อมโยงเรื่องนั้นเข้าสู่บทเรียนให้ได้ เพื่อสะท้อนให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญและนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง การเล่าเรื่องเป็นอีกหนึ่งวิธี ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนสามารถจดจำบทเรียนได้นานขึ้น และเป็นวิธีที่นิยมในการสอนทั่วไปและเห็นผลจริง

ในสถานการณ์โควิด-19 ระบาด เราควรเปลี่ยนให้ทุกๆที่กลายเป็นโรงเรียน เพราะการเรียนรู้ยังต้องดำเนินอยู่แม้นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนตามปกติ  ในหลายประเทศที่ประกาศมาตรการปิดโรงเรียน รัฐบาลมักจะออกมาตรการด้านการเรียนรู้มารองรับ ด้วยการเรียนทางไกลรูปแบบต่างๆ โดยพิจารณาจากเงื่อนไขความพร้อมด้านอุปกรณ์ ความพร้อมของพ่อแม่ และความพร้อมตามช่วงวัยของเด็ก

สำหรับประเทศไทย ความท้าทายในการเปลี่ยนครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในสถานการณ์โควิด-19 เท่านั้น แต่ควรเป็นการ “เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส” ในการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนให้ดีกว่าเดิม ดังนั้นมาตรการการเรียนรู้ของไทยจึงไม่ควรปรับแค่กระบวนการเรียนรู้ในห้องเรียน แต่ต้องปรับใหญ่ทั้งระบบการเรียนรู้ที่ต้องสอดคล้องกันและเชื่อมโยงกับการเรียนรู้ของเด็ก โดยควรดำเนินการดังนี้

1. กระชับหลักสูตร ปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์โควิด-19 และสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทราบ หลักสูตรการศึกษาพื้นฐานของไทยในปัจจุบัน เน้นเนื้อหามาก ครูจำเป็นต้องใช้เวลาเยอะเพื่อสอนได้ครบถ้วน และไม่เอื้อให้นักเรียนมีส่วนร่วม (Active Learning) เท่าที่ควร และหากยังใช้หลักสูตรเดิมในการเรียนการสอนภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ครูจะต้องใช้เวลาสอนมากขึ้นเพื่อสอนให้ครบถ้วน  การปรับหลักสูตรให้กระชับควบคู่ไปกับจัดลำดับความสำคัญ รวมทั้งผ่อนคลายตัวชี้วัดเรื่องโครงสร้างเวลาเรียนจะสามารถช่วยลดความกดดัน โดยยังคงคุณภาพขั้นต่ำไว้ได้ ตัวอย่างของ มลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ได้กระชับหลักสูตรโดยเน้นเนื้อหาจำเป็นตามมาตรฐานของแต่ละช่วงวัย เพื่อให้ครูสามารถนำไปวางแผนการสอนและใช้เวลาได้อย่างเหมาะสม รวมทั้งออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อสื่อสารให้เข้าใจถึงหลักสูตรที่เปลี่ยนแปลงไป  

หลักสูตรแกนกลางไทยจัดประเภทตัวชี้วัดแล้ว แต่ต้องเพิ่มความชัดเจนในการสื่อสารแก่ครูและผู้ปกครอง หลักสูตรแกนกลางของไทยกำหนดตัวชี้วัด “ต้องรู้” และ “ควรรู้” ในแต่ละสาระวิชาแล้ว แต่ต้องเพิ่มความชัดเจน โดยระบุเนื้อหาจำเป็นของแต่ละช่วงวัย และเปิดให้ครูมีอิสระในการจัดการเรียนรู้เนื้อหาส่วนอื่นๆ ตามความเหมาะสม ในขณะเดียวกันกระทรวงศึกษาธิการควรให้ศึกษานิเทศก์ทำหน้าที่เป็นโค้ชให้แก่ครู โดยให้คำแนะนำในการเลือกตัวชี้วัดและเนื้อหานอกเหนือจากส่วนที่จำเป็นเพื่อให้เหมาะกับบริบทและสถานการณ์ของพื้นที่  อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการควรออกคู่มือหลักสูตรฉบับย่อสำหรับผู้ปกครอง เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจบทบาทใหม่ และสามารถติดตามการเรียนรู้ของเด็กได้

นอกจากนี้ โรงเรียนต้องไม่ละเลยการให้ความรู้แก่นักเรียนแต่ละช่วงวัยในการป้องกันตนเองจากโรคระบาด ซึ่งองค์กรอนามัยโลกได้จัดทำคู่มือไว้แล้ว

2. เพิ่มความยืดหยุ่นของโครงสร้างเวลาเรียนและความหลากหลายของรูปแบบการเรียนรู้ ความยืดหยุ่นในการใช้เวลาและการเลือกรูปแบบการเรียนจะทำให้ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้ที่เหมาะสมและส่งเสริมการเรียนรู้รายบุคคล (personalized learning) ได้ ดังตัวอย่างของมลรัฐ Alberta ประเทศแคนาดา ซึ่งมีแนวทางสนับสนุนให้ครูจัดการเรียนรู้ด้วยแบบผสมผสาน (blended learning) โดยแนะนำการกำหนดจำนวนชั่วโมงการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ ได้แก่

  • ชั่วโมงเรียนรู้ผ่านจอสำหรับเด็กแต่ละช่วงวัย โดยคำนึงถึงพัฒนาการด้านร่างกาย (ปัญหาด้านสายตา) และพัฒนาการด้านสังคม (ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น)
  • ชั่วโมงการเรียนรู้ด้วยตนเองที่บ้านจากการทำใบงาน ชิ้นงาน ค้นคว้าด้วยตัวเอง และ
  • ชั่วโมงที่ครูและนักเรียนทำกิจกรรมเรียนรู้ร่วมกัน

ส่วนในกรณีของสหรัฐอเมริกา พบว่า ให้ความสำคัญต่อการตอบสนองของผู้เรียนแต่ละคนแตกต่างกัน โดยจัดทำฐานข้อมูลของสื่อการเรียนรู้ต่างๆ ที่ครูและนักเรียนสามารถเข้าถึงได้อย่างอิสระโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  นอกจากนี้ ยังเปิดช่องให้หน่วยงานอื่นๆ และแหล่งเรียนรู้ในพื้นที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุดชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเรียนรู้ของเด็ก ในขณะที่นิวซีแลนด์เตรียมชุดการเรียนรู้พื้นฐานให้นักเรียน ซึ่งประกอบด้วยคู่มือออนไลน์ และชุดการเรียนรู้ (สื่อแห้ง) เพื่อให้นักเรียนทุกคนทั้งที่สามารถเข้าถึงและไม่สามารถเข้าถึงระบบเรียนออนไลน์สามารถใช้เรียนรู้ได้

ในกรณีของไทย แม้หลักสูตรแกนกลางของไทยเปิดให้มีความยืดหยุ่นในการกำหนดชั่วโมงเรียน แต่ก็ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับโครงสร้างเวลาเรียนที่ค่อนข้างแข็งตัว ดังนั้นหากกระทรวงศึกษาธิการช่วยผ่อนคลายโครงสร้างเวลาเรียนลง และเปิดช่องทางการสื่อสารให้ครูได้สอบถามข้อสงสัย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ครูออกแบบการเรียนรู้อย่างยืดหยุ่น  นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการยังสามารถเปิดให้เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนา แลกเปลี่ยนเครื่องมือและเทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มทางเลือกที่หลากหลายและเหมาะสมกับเด็กมากขึ้น

3. ออกแบบหน่วยการเรียนรู้ และสอนอย่างมีแผนที่เหมาะสม  ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ครูจะต้องเตรียมความพร้อมก่อนการสอนแบบใหม่  วิธีการหนึ่งคือ การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะนำไปสู่การจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะหลังการระบาดของโควิดสิ้นสุดลง  ทั้งนี้ควรเริ่มต้นโดยการจัดกลุ่มตัวชี้วัดให้เป็นหน่วยการเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้แผนการเรียนรู้มีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์การระบาด เช่น ครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้หน่วยละ 2 สัปดาห์ เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาการประเมินสถานการณ์การระบาด  ทั้งนี้ หากครูสามารถออกแบบหน่วยการเรียนรู้แต่ละหน่วยให้ร้อยเรียงกันอย่างเป็นระบบทั้งเทอมหรือทั้งปี ก็จะช่วยให้นักเรียนสามารถพัฒนาตนเองตามศักยภาพได้ดียิ่งขึ้น และได้พัฒนาทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งเป็นทักษะจำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในอนาคต

ในทางปฏิบัติ การจัดหน่วยการเรียนรู้สามารถจัดตามเนื้อหาหรือตามประเด็นที่น่าสนใจ และยังสามารถบูรณาการข้ามวิชาหรือในวิชาเดียวกัน หลังจากนั้นครูควรกำหนดคำถามสำคัญของแต่ละหน่วย และวางแผนการติดตามการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดด้านความรู้ ทักษะ และเจตคติอย่างชัดเจน  เลือกสื่อการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็ก และสื่อสารกับพ่อแม่ให้ทราบถึงบทบาทที่จะเปลี่ยนไป   

เนื่องจาก การเสริมทักษะออกแบบหน่วยการเรียนรู้ ตั้งคำถาม เลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสมจะทำให้ครูออกแบบหน่วยการเรียนรู้ได้มีคุณภาพมากขึ้น ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการควรจะสนับสนุนการเพิ่มทักษะเหล่านี้ตามความต้องการของครูในแต่ละพื้นที่ โดยอาจจะเปิดให้ผู้เชี่ยวชาญในภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาสังคม ช่วยพัฒนาศักยภาพครูให้ตรงกับทักษะที่ต้องการ และสนับสนุนให้มีการเพิ่มทักษะให้แก่ศึกษานิเทศก์ เพื่อเป็น “โค้ชหน้างาน” ให้แก่ครูต่อไป

4. ยกระดับการประเมินเพื่อการพัฒนา (formative assessment) เพื่อไม่ให้เด็กเสียโอกาสพัฒนาความรู้และทักษะ เมื่อนักเรียนไปโรงเรียนตามปกติไม่ได้ ครูกับนักเรียนก็จะมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันลดลง ทำให้ครูไม่สามารถติดตามพัฒนาการของนักเรียนได้เต็มที่ อาจทำให้ไม่สามารถรู้ปัญหาของนักเรียนได้ทันเวลา โดยเฉพาะความรู้ด้านภาษาและการคำนวณ ซึ่งอาจจะส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ระยะยาว  การประเมินเพื่อพัฒนาจึงไม่สามารถลดหรือละทิ้งไปได้ทั้งการประเมินเพื่อการเรียนรู้ (assessment for learning) ของเด็ก เพื่อให้ครูทราบถึงกระบวนการเรียนรู้ของเด็ก โดยจะสามารถให้ feedback กับเด็กและปรับแผนการเรียนรู้ได้ตรงตามสถานการณ์ และการประเมินซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้​ (assessment as learning) ของเด็ก โดยครูเปิดโอกาสให้เด็กย้อนคิดถึงกระบวนการเรียนของตนเอง กระบวนการนี้จะทำให้เด็กมีความรับผิดชอบและเป็นเจ้าของการเรียนรู้ของตนเองมากขึ้น รวมถึงเมื่อเด็กเข้าใจตนเองก็จะเป็นโอกาสที่จะวางแผนการเรียนรู้ของตนเองร่วมกับผู้ปกครองและครูได้

การประเมินเพื่อพัฒนาทั้ง 2 ลักษณะจึงต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างเด็ก ผู้ปกครองและครูมากขึ้น วิธีหนึ่งที่ทำได้คือ การประเมินเพื่อพัฒนาอย่างไม่เป็นทางการรายบุคคล (personalized check-ins) เพื่อติดตามการเรียนรู้ สุขภาพกายและสุขภาพจิตของนักเรียน โดยให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมด้วย  ในกรณีของเด็กโต อาจจะเพิ่มการประเมินตนเองและการประเมินเพื่อน (self & peer assessment) เข้าไปด้วย ซึ่งจะมีประโยชน์ในการช่วยฝึกทักษะการสะท้อนคิดให้เด็กได้อีกทางหนึ่งด้วย

การประเมินเพื่อพัฒนาจะประสบความสำเร็จก็ต่อเมื่อมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม คือ (1) มีการเสริมศักยภาพครูในการใช้และออกแบบเครื่องมือประเมิน (2) มีการให้เอกชน และภาคประชาสังคม ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการประเมินเข้ามาร่วมพัฒนาเครื่องมือการประเมินใหม่ๆ และ (3) มีการเปิดเวที (platform) การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เชี่ยวชาญ

5. การประเมินเพื่อรับผิดรับชอบ (assessment for accountability) ยังคงควรไว้ แต่ควรให้น้ำหนักการประเมินโอกาสทางการเรียนของเด็ก มากกว่าการวัดความรู้ด้วยคะแนนสอบ   สถานการณ์โรคระบาดในปัจจุบันทำให้ต้องใช้รูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย ดังนั้น คุณภาพการศึกษาที่เด็กจะได้รับในแต่ละพื้นที่จะไม่เหมือนกัน จึงไม่สามารถใช้คะแนนวัดความรู้หรือทักษะแบบเดียวกันเพื่อให้เกิดความรับผิดรับชอบได้  มิฉะนั้นก็อาจส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น กระทรวงศึกษาธิการจึงควรปรับเกณฑ์ข้อสอบวัดความรู้ (test-based) มาสู่การให้น้ำหนักกับตัวชี้วัดที่ไม่ใช่ด้านวิชาการ (non-academic measure) มากขึ้น เช่น อัตราการเข้าเรียน (attendance rate) หรืออัตราการออกกลางคัน (drop-out rate) เป็นต้น  โดยการเก็บข้อมูลตัวชี้วัดเหล่านี้ที่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อลดภาระครู เช่น ใช้ระบบ Google Classroom บันทึกการใช้งาน ซึ่งจะช่วยทำให้เขตพื้นที่สามารถติดตามและให้การสนับสนุนโรงเรียนได้ตรงกับความต้องการมากขึ้นด้วย