แคว้นใหญ่ๆในสมัยชมพูทวีปมักจะใช้การปกครองแบบใด

ลักษณะของสังคมชมพูทวีปฯ

สาระสำคัญ
สังคมชมพูทวีปสมัยก่อนพระพุทธเจ้ามีคติความเชื่อทางศาสนาที่มุ่งแสวงหาทางหลุดพ้นอย่างหลากหลาย

จุดประสงค์เชิงพฤติกรรม
1. วิเคราะห์ลักษณะสังคมของชมพูทวีปสมัยพุทธกาลได้
2.ใฝ่เรียนรู้ มั่งมั่นในการทำงาน
ลักษณะสังคมของชมพูทวีป
สังคมชมพูทวีปสมัยพุทธกาลมีลักษณะดังต่อไปนี้
1. ด้านการเมือง
ชมพูทวีป หมายถึงประเทศอินเดียในปัจจุบัน สมัยพุทธกาลมีชนชาติมิลักขะเป็นเจ้าถิ่นเดิม ต่อมาได้ถูกชนชาติอริยกะเข้าปกครอง มีการแบ่งเป็นแว่นแคว้นต่าง ๆ แต่ละแคว้นเรียกว่า ชนบท เฉพาะเขตที่มีอาณากว้างขวางเรียกว่า มหาชนบท ชนบทเหล่านี้แบ่งเป็น 2 ส่วน1 คือ
(1) ส่วนกลางเรียกว่า มัชฌิมชนบทหรือมัธยมประเทศ เป็นเขตที่อยู่ของชนชาติ อาริยกะ
(2) ส่วนที่อยู่ภายนอก เป็นหัวเมืองชั้นนอกหรือปัจจันตประเทศ เป็นเขตที่อยู่ของชนชาติ มิลักขะ
แคว้นในสมัยพุทธกาล
แคว้นต่าง ๆ ที่ประกอบเป็นมัชฌิมชนบท เป็นเขตที่มีความรุ่งเรืองในสมัยนั้น ประกอบด้วย
แคว้นใหญ่ ๆ 16 แคว้น คือ
(1) แคว้นอังคะ มีเมืองหลวงชื่อจัมปา
(2) แคว้นมคธ มีเมืองหลวงชื่อราชคฤห์
(3) แคว้นกาสี มีเมืองหลวงชื่อพาราณสี
(4) แคว้นโกศล มีเมืองหลวงชื่อสาวัตถี
(5) แคว้นวัชชี มีเมืองหลวงชื่อเวสาลี , ไพศาลี
(6) แคว้นมัลละ มีเมืองหลวงชื่อกุสินารา , ปาวา
(7) แคว้นเจตี มีเมืองหลวงชื่อโสตถิวดี
(8) แคว้นวังสะ มีเมืองหลวงชื่อโกสัมพี
(9) แคว้นกุรุ มีเมืองหลวงชื่ออินทปัตถ์ , ปัตถะ
(10) แคว้นปัญจาละ มีเมืองหลวงชื่อหัสดินปุระ , กัมปิลละ
(11) แคว้นมัจฉะ มีเมืองหลวงชื่อสาคละ
(12) แคว้นสุรเสนะ มีเมืองหลวงชื่อมถุรา
(13) แคว้นอัสสกะ มีเมืองหลวงชื่อโปตลิ
(14) แคว้นอวันตี มีเมืองหลวงชื่ออุชเชนี
(15) แคว้นคันธาระ มีเมืองหลวงชื่อตักสิลา
(16) แคว้นกัมโพชะ มีเมืองหลวงชื่อทวารกะ
และยังมีแคว้นเล็กแคว้นน้อย 5 แคว้น คือ
แคว้นสักกะ มีเมืองหลวงชื่อ กบิลพัสดุ์
แคว้นโกลิยะ มีเมืองหลวงชื่อ เทวทหะ
แคว้นภัคคะ มีเมืองหลวงชื่อสุงสุมารคีรี
แคว้นวิเทหะ มีเมืองหลวงชื่อ มิถิลา
แคว้นอังคุตราปะ มีเมืองหลวงชื่อ อาปณะ

แผนที่แสดงแคว้นต่าง ๆ ในชมพูทวีป (อินเดียโบราณ)
2. ด้านการปกครอง
ระบบการปกครองของแคว้นต่าง ๆ แบ่งเป็น 2 แบบ คือ
2.1 การปกครองแบบราชาธิปไตยหรือสมบูรณาญาสิทธิราช หมายถึงการปกครองที่มีกษัตริย์เป็นประมุขมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครอง แต่มีปุโรหิตเป็นที่ปรึกษาและยึดอุดมการณ์ ที่จะปกครองโดยธรรมมีรัชทายาทสืบสันติวงค์ แคว้นที่ปกครองด้วยระบบนี้คือ แคว้นมคธ แคว้นโกศล แคว้นอวันตี เป็นต้น
2.2 การปกครองแบบสามัคคีธรรม เป็นการปกครองที่จัดทำโดยรัฐสภา กษัตริย์ไม่มีอำนาจสิทธิ์ขาด ไม่มีตำแหน่งรัชทายาท มีประมุขรัฐสภาดำรงตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดหรือมีคณะกรรมการบริหารซึ่ง เลือกจากหัวหน้าครอบครัวใหญ่ ๆ ในชนบท(เมือง) นิคม(อำเภอ) คาม(ตำบล)ลักษณะการปกครองแบบนี้คล้ายกับการปกครองแบบประชาธิปไตยในปัจจุบัน แคว้นที่ปกครองแบบนี้เช่น แคว้นวัชชี
3. ด้านสังคม
อินเดียในสมัยชมพูทวีปแบ่งชนชั้นเป็น 4 วรรณะคือ
(1) วรรณะพราหมณ์ คือพวกที่ศึกษาคัมภีร์พระเวท มีหน้าที่ทำพิธีกรรมทางศาสนา
(2) วรรณะกษัตริย์ คือพวกเจ้าหรือชนชั้นปกครอง นักรบ มีหน้าที่รักษาบ้านเมือง
(3) วรรณะแพศย์หรือไวศยะ คือประชาชนส่วนใหญ่ที่มีหน้าที่ประกอบอาชีพต่าง ๆ เช่น กสิกรรม พาณิชยกรรม เกษตรกรรม ศิลปกรรม ศิลปหัตถกรรม ต่อมามักจะหมายถึงพ่อค้า
(4) วรรณะศูทร คือพวกกรรมกรผู้ใช้แรงงาน มีหน้าที่รับจ้างทั่วไป
นอกจากนี้ยังมีชนชั้นต่ำอีกประเภทหนึ่งเรียกว่า จัณฑาล ถือว่าเป็นคนนอกวรรณะเพราะกำเนิดมาจาก บิดา มารดา ที่ถือวรรณะต่างกัน พวกนี้จะถูกเหยียดหยามจากวรรณะอื่น ไม่มีสิทธิ ใด ๆ ในสังคม ระบบของอินเดียนี้ถือว่ากำหนดไว้ตายตัวโดยพระผู้เป็นเจ้า คนเกิดในวรรณะใดย่อมมีลัทธิและแนวทางดำเนินชีวิตตามหลักคำสอนที่ได้วางไว้ จะขัดขืนไม่ได้ การเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางสังคม แม้การศึกษาหรือการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ พฤติกรรมเช่นนี้เปลี่ยนไปเมื่อมีพุทธศาสนา เพราะพระพุทธศาสนา เป็นศาสนาที่มุ่งหวังจะช่วยแก้ปัญหาของคนในสังคมทุกระดับและเปิดโอกาสให้คน ทุกวรรณะบวชได้
4. ด้านลัทธิความเชื่อ
คนในสังคมอินเดียสมัยพุทธกาลจะนับถือเทพเจ้าที่อยู่ในศาสนาพราหมณ์ ความเชื่อและแนวทางปฏิบัติจึงอยู่บนพื้นฐานของคำสอนทางศาสนาพราหมณ์ดังนี้
4.1 เชื่อในเรื่องการล้างบาป อินเดียในสมัยชมพูทวีปเชื่อถือเรื่องการล้างบาป โดยเฉพาะในแม่น้ำคงคา ซึ่งถือว่าเป็นแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลมาจากสวรรค์คือภูเขาหิมาลัย เมื่อได้ดื่มหรืออาบจะได้บุญมาก ความชั่วที่ทำไว้ทั้งหมดจะถูกลอยไปกับสายน้ำกลายเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้งกายและ ใจ เมื่อมีพระพุทธเจ้าความเชื่อเหล่านี้ก็จางไป เพราะพระองค์ตรัสว่าการล้างบาปวิธีนี้ ล้างได้แต่กายไม่ได้ล้างใจด้วย
4.2 ความเชื่อเกี่ยวกับโลกและชีวิต2
4.2.1 ความเชื่อเรื่องการเกิดการตาย
(1) เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง
(2) เชื่อว่าตายแล้วเกิดอีกแต่ไม่เหมือนเดิม
(3) เชื่อว่าตายแล้วสูญหายหมด
(4) เชื่อว่าตายแล้วสูญหายส่วนหนึ่ง
4.2.2 ความเชื่อเรื่องสุขและทุกข์
(1) เชื่อว่าสุขทุกข์ เกิดขึ้นเองโดยไม่มีเหตุไม่มีปัจจัย พวกนี้จะไม่ขวนขวายทำความดี รอโชคชะตาแล้วแต่จะเป็นไป
(2) เชื่อว่าสุขทุกข์เกิดจากเหตุและปัจจัย พวกนี้ถือว่าสุขทุกข์เกิดจากเหตุภายนอก จึงนิยมบวงสรวงเซ่นไหว้สิ่งที่คิดว่าจะบันดาลให้เกิด สุขทุกข์ได้ กับพวกที่เชื่อว่าสุขทุกข์มีสาเหตุมาจากกรรม ก็พยายามละเว้นกรรมที่ก่อให้เกิดทุกข์แล้วทำกรรมที่เป็นเหตุให้เกิดสุข
4.2.3 ความเชื่อในการแสวงหาสัจธรรม จากสภาพการแบ่งชั้นวรรณะและความยากจนซึ่งมีการดูหมิ่นเหยียดหยามและเอา เปรียบกัน ทำให้คนบางกลุ่มเกิดการเบื่อหน่ายและมีความทุกข์จึงคิดหาวิธีการต่าง ๆ ที่จะปลีกตัวออกไปหารูปแบบชีวิตแปลก ๆ ด้วยการทรมานตัวเอง ตั้งตนเป็นเจ้าของลัทธิ ถือเพศเป็นผู้แสวงหาทางหลุดพ้น เช่น ปริพาชก ชฎิล สมณะ เป็นต้น

5. ด้านศาสนา
พื้นฐานทางศาสนาของอินเดียในสมัยชมพูทวีป เป็นศาสนาพราหมณ์มีการเชื่อถือเกี่ยวกับการเวียนเกิด เวียนตายของวิญญาณ การแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์ มักจะมีอยู่ 2 ทาง3 คือ
5.1 กามสุขัลลิกานุโยค คือการหมกหมุ่นเสพสุขทางกามารมณ์ โดยถือว่ากามสุขนั้นเป็นเครื่องหลุดพ้น
5.2 อัตตกิลมถานุโยค คือ การทำตนให้ลำบากด้วยการบำเพ็ญตบะรวมทั้งการทรมานตนตามแบบโยคี
ลักษณะประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา
ประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนาหมายถึง การปกครองของพระสงฆ์ โดยพระสงฆ์และเพื่อ พระสงฆ์ ซึ่งเป็นการปกครองที่ประชาชนทุกคนมีสิทธิ เสรีภาพและหน้าที่ต่อบ้านเมืองเท่าเทียมกันเป็นการปกครองโดยใช้หลักเสียง ข้างมาก ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ลักษณะประชาธิปไตยในพระพุทธศาสนา ได้มีมาพร้อมกับพระพุทธเจ้าซึ่งใช้หลักการเดียวกันโดยแฝงอยู่ในแนวปฏิบัติ ของหลักคำสอน ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ ดังนี้
1. พระพุทธเจ้าได้ทรงมอบความเป็นใหญ่ให้แก่พระสงฆ์ ในการทำสังฆกรรมและการมอบอำนาจให้แก่พระสงฆ์ในการทำการอุปสมบท
2. พระพุทธศาสนามีพระธรรมวินัยเป็นประโยชน์สูงสุดเช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมของภิกษุสงฆ์ทุกรูปที่จะต้องถือเป็นเรื่องสำคัญเช่น การปฏิบัติตามศีล 227 ข้อ
3. พระภิกษุในพระพุทธศาสนา มีสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัย เช่น ไม่ว่าคนในวรรณะใดเมื่อมาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วทุกคนเท่าเทียมกันหมด
4. การตัดสินปัญหาที่มีความเห็นแตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ ของภิกษุจะใช้ เยภุยยสิกา คือใช้เสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ตัดสิน
5. ภิกษุทุกรูปมีสิทธิเสรีภาพในการเข้าร่วมประชุมทั้งการแสดงความคิดเห็นที่คัดค้านและเห็นด้วยทุกครั้งไป
6. พระพุทธเจ้ามิได้ใช้อำนาจในฐานะพระศาสดาเข้ามาแทรกแซงในการกระทำต่าง ๆ4 แต่มีการแบ่งอำนาจ คือ พระเถระผู้ใหญ่ปกครองหมู่คณะ โดยมีพระวินัยธร ซึ่งทำหน้าที่ตัดสินคดี (วินิจฉัยอธิกรณ์) เช่นเดียวกับศาล

ที่มาของรูปภาพ:http://www.google.co.th/=img.1.0.0i19/10.139.

แหล่งอ้างอิง
วิถีธรรมวิถีไทย:อาจารย์อมร สังข์นาค, วิทยาลัยเทคนิคนครนายก
หนังสือเรียนรายวิชาพื้นฐานพระพุทธศาสนา ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4:วิทย์ วิศทเวทย์
และ เสฐียรพงษ์ วรรณปก.อักษรเจริญทัศน์,2553.

แบ่งปันสิ่งนี้:

  • Twitter
  • Facebook

Like this:

ถูกใจ กำลังโหลด...