เรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร

เรื่องขุนช้างขุนแผนมีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับอะไร

ขุนช้างขุนแผนเป็นสุดยอดวรรณคดีของไทยอีกเรื่องหนึ่งที่โดดเด่นมาก คือเป็นเรื่องไทยพื้นบ้าน และเป็นเรื่องเกี่ยวกับไพร่ฟ้าข้าแผ่นดิน ตัวละครมีความรู้สึกนึกคิดและชีวิตจิตใจเหมือนคนจริงๆ มีดีมีชั่ว มีถูกมีผิด เฉกเช่นปุถุชนทั้งหลาย ถ้าอ่านอย่างไม่มีอคติใดๆ ก็จะทำให้เข้าใจชีวิตคนอื่นในหลากหลายแง่มุม โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดและจิตใจที่เป็นเรื่องเข้าใจยาก เมื่อเข้าใจตัวละครก็จะย้อนเป็นบทเรียนให้เข้าใจชีวิตตัวเอง

นี่เป็นวรรคหนึ่งของนามปากกา “ หนอนสุรา ” ผู้ร่ายคำไว้ในบทคำนำ “ ปรับความเข้าใจวรรณคดีไทย ” ในหนังสือ “ ขุนช้างขุนแผน ฉบับมองคนละมุม ” ซึ่งได้พรรณนาต่อไปอีกว่า วรรณคดีไม่ใช่หนังสือสอนศิลธรรม หน้าที่หลักของมันคือให้ความบันเทิง ส่วนเนื้อหาสาระที่ดีคือการตีแผ่ความรู้สึกนึกคิดของตัวละครผ่านการกระทำ ผ่านเรื่องราวต่างๆ ออกมาให้ท่านผู้อ่านประจักษ์ วรรคดีทั้งโลกต่างมีคุณลักษณะสำคัญฉันนี้

เหตุที่ขุนช้างขุนแผนถูกเหยียดหยามคุณค่าก็มาจากพฤติกรรมจอมเจ้าชู้ของขุนแผน และถูกมั่วลากความยาวไกลไปว่า “ สังคมไทยแต่เดิมกดขี่สตรีเพศ ” เชื่อว่าการมีเมียหลายคนไม่ใช่สิ่งที่ชายไทยส่วนใหญ่พึงมีได้ ไม่ว่ายุคสมัยใด ต้องเป็นชนชั้นขุนนางหรืออย่างน้อยก็ต้องเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นที่มีอันจะกินจึงจะมีได้
หนอนสุราร่ายอีกว่า การอ่านวรรณคดีไทยก็คือการย้อนกลับมาทำความรู้จักตัวเอง ให้เข้าใจตัวเองอย่างถ่องแท้ ไม่พ่ายแพ้ล่องลอยไปตามกระแสโลกาวิบัติ ด้านหนึ่งของขุนแผนคือตัวแทนข้าราชการ ใฝ่ดีที่ทำ งานเพื่อชาติ ด้านหนึ่งของขุนช้างคือตัวแทนผู้เห็นช่องโหว่ของระบบ เอาไว้หาประโยชน์เข้าตัว ส่งผลให้ชีวิตขุน แผนหักเหไปเป็นผู้ต่อต้านระบบอย่างถึงที่สุด แต่เคราะห์กรรมทั้งหลายทั้งปวงไปตกอยู่กับผู้อ่อนแอ ไม่เป็นตัวของตัวเองอย่างนางวันทอง ถ้าเรามองด้านนี้เราจะเห็นว่าแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายร้อยปี เรื่องราวอันเป็นแก่นสารก็ยังไม่เคยเปลี่ยน แล้ววรรคดีไทยจะเฉิ่มเชยหรือเป็นเรื่องพ้นยุคสมัยได้ไฉนหนอ???

ขุนช้างขุนแผนฉบับมองคนละมุมนี้ มี 6 บท หรือรวมความเนื้อหาแล้วมีความยาว 127 หน้า โดยฉากแรกเปิดมาก็ “ เล่าเรื่องย่อให้พอรู้เรื่อง ” นั่นหมายถึงเผื่อคนที่ไม่เคยอ่านมาก่อนจะได้รู้ว่าตัวละครมีใครบ้าง เกี่ยวข้องอะไรกันบ้าง พลายแก้ว(ขุนแผน) ขุนช้าง และนางพิมพิลาไลย(วันทอง) ไปจนถึงจุดจบของตัวละครวันทองถูกประหารชีวิต เนื้อหานั้นมีขมวดไว้เรียบร้อย ส่วนจุดเด่นฉบับมองคนละมุมนั้นเริ่มตั้งแต่บท 2 “ ว่าด้วยสิทธิสตรี ” ไขข้อข้องใจขุนช้างขุน แผนไม่ได้แต่งขึ้นมาเพื่อประณามว่าวันทองเป็นหญิงสองใจ ไม่ได้กดขี่สตรีเพศอย่างที่นักเรียกร้องสิทธิสตรีตะโกนปาวๆ ควรหันมาดู ดูแล้วจะได้เข้าใจ ไม่เข้าใจผิดเรื่องนางวันทองอีกว่าเป็นเพราะถูกสังคมกระทำ
อีกเช่นกัน แก่นของเรื่องตามทัศนะหนอนสุราว่า หลังจากหยิบเสภาเรื่องนี้มาอ่านใหม่อีกครั้ง เกิดคำถามผุดขึ้นในใจว่า ทำไมพ่อของตัวละครเอกทั้งสามต้องตายหมดตั้งแต่ลูกยังเด็ก ผู้เขียนในเวลานั้นต้องการบอกอะไรเรา ทั้งประเด็นใหม่ที่ไม่เคยเห็นมา คือเห็นภาพชัดเจนว่า “ สังคมสมัยนั้นเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมาก ” ไม่เหมือนที่เราเข้าใจผิดกันว่าผู้หญิงสมัยนั้นยืนหยัดด้วยขาตัวเองไม่ได้ ลำแต่จะต้องพึ่งผัวหรือพึ่งลูกชายเสมอ

เปล่าเลย ทั้งนางศรีประจันแม่ของนางพิม นางเทพทองแม่ของขุนช้าง ต่างไม่ได้มีฐานะต่ำต้อยกว่าผู้ชายแต่อย่างใด เมื่อผัวตาย ฝ่ายหญิงต้องเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว สังคมก็เปิดโอกาสให้ มิได้รังเกียจเดียดฉันท์ว่าเป็นผู้หญิงแต่ประการใด แม้แต่เรื่องนางทองประศรีก็น่าสนใจ คือนางมีการศึกษาดีมาก ดีขนาดสอนหลานพลายงามจนมีวิชาติดตัวไม่แพ้พลายแก้วผู้พ่อ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่น่าพิจารณา คือเรามักเชื่ออย่างฝังใจว่าสมัยนั้นผู้หญิงห้ามไม่ให้รู้หนังสือ การศึกษาถูกผูกขาดไว้ที่ฝ่ายชายฝ่ายเดียว ส่วนเนื้อหารายละเอียดหญิงอื่นนั้นมีกล่าวถึงอยู่ แต่ถ้าสรุปความตอนนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า สังคมไทยแต่เดิมไม่เคยกีดกันหรือกดขี่สตรีเพศแต่อย่างใด เรื่องนางวันทองได้รับผลแบบนั้นไม่ได้มาจากสภาพสังคม แต่มาจากการกระทำของนางวันทองเองต่างหากกระนั้นก็ตามหนอนสุราได้พรรณนาถึงความเป็นนางวันทองว่า เป็นตัวละครที่น่าสงสารที่สุดในวรรณคดีไทยเท่าที่เคยอ่านมา น่าศึกษาเจาะลึกปมปัญหาจิตใจของเธอยิ่งนัก ดังในบท 3 “ นางวันทองผู้น่าสงสาร ” แต่ในที่นี้จะขอตัดฉับอย่างเร็วไวมาขึ้นสองย่อหน้าสุดท้าย ว่าเหตุการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตที่นางวันทองไม่อาจตัดสินใจได้ จนถูกพระพันวษาบริภาษอย่างรุนแรงว่าเป็นหญิงสองใจ ถ้าย้อนกลับมามองในปัจจุบันจะเห็นว่าเป็นปัญหาที่เลือกยาก ระหว่างความมั่นคงและความหวานชื่นของชีวิต ความรวยกับความรัก เป็นปัญหาหนักอกสำหรับลูกผู้หญิงทุกยุคทุกสมัยมา หนอนสุรารจนาโศกนาฏกรรมของนางวันทองว่า ดูแล้วไม่รู้จะบอกว่าใครเป็นคนผิด เพราะทุกคนที่ทำไปต่างบอกกับตัวเองว่าทำไปด้วยความรักวันทองทั้งนั้น และดูเผินๆ ก็เป็นเช่นนั้นจริง จนทำให้นักวิจารณ์บางท่านโยนความผิดไปให้สังคมสมัยนั้น ซึ่งผมว่าไม่ถูกต้อง เพราะสังคมทุกทุกสมัย ไม่ว่าอดีตปัจจุบันยันอนาคต ต่างมีความบกพร่องของระบบ จะต้องมีผู้เสียเปรียบถูกเอาเปรียบอยู่ร่ำไป ถ้าอย่างนั้นประเด็นนางวันทองผู้น่าสงสารและไม่น่าสงสารอยู่ตรงไหน คงต้องพลิกไปหน้าถัดไปและผู้อ่านต้องตามเอาเองในหนังสือเล่มนี้ เพราะเนื้อหานี้เป็นฉบับย่อนอกจากนี้บท 4 หนอนสุราสาธกเนื้อหา “ กว่าจะมาเป็นขุนแผน ” อ่านแล้วจะเห็นชัดเจนว่าพลายแก้วใจแตก เพราะมีเมียก่อนวัยอันสมควร เรียกว่ายังอยู่ในวัยเรียน คำถามคือว่าทำไมวรรณคดีถึงแต่งเนื้อเรื่องออกมาอย่างนี้ ตอบได้ง่ายมากเพื่อเอาไว้สอนใจคนอ่าน อย่าทำผิดพลาดเหมือนที่พลายแก้วทำ แต่ตัวอย่างนักเรียนใจแตกยังมีให้เห็นมาจนปัจจุบัน เพราะเราอ่านวรรณคดีกันไม่แตก เลยสอนน้องๆ หนูๆ ไม่เป็นแล้วยังมีหน้ามาโทษวรรณคดีอีกว่า “ ชี้นำให้เด็กใจแตก ” แล้วปิดท้ายตอนนี้ด้วย “ ขุนแผนแสนสะท้าน ” รายละเอียดต้องตามเอาเอง เช่นกันบท 5 “ เปลือกนอกของขุนช้างคือตัวตลก ” ตบด้วย “ เบื้องลึกขุนช้างคือนักการเมือง ” และบท 6 ตอนสุดท้าย “ ชนชั้นและทางเลือกของไพร่ ” ซึ่งผู้เขียนให้แง่มุมให้มองได้หลายแง่ เฉกเช่นชีวิตคนจริงๆ ทั้งขุนช้างขุนแผนล้วนเป็นชนชั้นกลาง เช่นกัน ในภาคผนวกมีบทกลอนบางตอน ที่ไม่ใคร่จะมีใครมีต้นฉบับหรือแทบไม่เคยได้เห็นได้ฟัง เพราะทั้งแบบเรียนและวรรณคดีวิจารณ์ รวมไปถึงครูบาอาจารย์มักหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงกลอนตอนนี้ เนื่องจากอ้างว่าเนื้อหาไม่เหมาะกับเยาวชน แต่ผู้เขียนนำมาใส่ เพราะจะได้เห็นชัดถึงนิสัยของตัวละครหลัก เหมือนคำพูดที่ว่า อยากรู้ว่านิสัยที่แท้จริงเป็นเช่นไร ให้ดูตอนเจอสถานการณ์วิกฤติ ฉะนั้นอยากรู้ว่ากลอนบทนี้ร่ายคำอย่างไรก็ต้องพลิกไปเข้าอ่าน
ประโยคเด็ดของหนอนสุราได้ทิ้งโวหารว่า ใครจะมองเห็นมุมไหนไม่เป็นไร เพราะคนเล่าใช้ชื่อฉบับมองคนละมุม และใช่ว่าคนเล่าจะเห็นพ้องกับตัวเองไปทั้งหมด บางเรื่องบางแง่มุมเขียนไปเพราะต้องการยั่วให้แย้ง แต่ไม่ได้ต้องการหาเรื่อง ตรงกันข้ามกลับต้องการให้ท่านผู้อ่านไปหาเรื่อง เอาเรื่องอะไรก็ได้ที่เป็นวรรณคดีมาอ่านกันใหม่ อ่านแล้วลองมองไปในแง่มุมต่างๆ แล้วมานั่งคุยกันถกกัน มรดกของชาติ ภูมิปัญญาอันยิ่งใหญ่ของบรรพบุรุษจะได้ไม่สาบสูญประการสำคัญ ปัจจุบันที่เราอ่านวรรณคดีกันไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือหนักไปกว่านั้นเห็นเป็นเรื่องไม่ควรอ่าน เป็นเพราะถูกครอบงำทางความคิดมานาน เป็นการพ่ายแพ้สงครามวัฒนธรรมอย่างหมดรูป วรรณคดีไทยนั้นเป็นหนึ่งในตัวแทนวัฒนธรรม การเปิดฉากทำสงครามวัฒนธรรม จึงมักเริ่มต้นจากการทำลายคุณค่าวรรณคดีดั้งเดิมของอาณานิคม เพื่อเข้าครอบงำความคิดเป็นปฐม จากนั้นอัดความรู้สึกนึกคิดใหม่เป็นมัธยม แล้วโกยเงินอันอุดมกลับจักรวรรดิไป

หมายเหตุ – โครงการเผยแพร่งานหนังสือวิชาการและวรรณกรรมศูนย์หนังสือจุฬาฯ เนื้อหาโดย..สมุทรจร บูรพา