แผนพัฒนาหมู่บ้าน กรมการปกครอง

กรมการปกครอง เพิ่มศักยภาพ “คณะกรรมการหมู่บ้าน” จัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านเพื่อรองรับการเชื่อมโยงแผนในระดับพื้นที่ One Plan รุ่นที่ ๓ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔

วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๖๓ ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กรุงเทพมหานคร นายพิริยะ ฉันทดิลก รองอธิบดีกรมการปกครอง เป็นประธานในพิธีเปิดการอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม ) ในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านเพื่อรองรับการเชื่อมโยงแผนในระดับพื้นที่ (One Plan) ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๔ โดยมี นายศักรินทร์ ศรีสมวงศ์ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาการบริหารงานท้องที่ กล่าวรายงาน

กรมการปกครอง จัดอบรมโครงการพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการหมู่บ้านในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงแผนในระดับพื้นที่ โดยถือเป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้กระบวนการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจัดทำแผนและประสานแผนพัฒนาพื้นที่ในระดับอำเภอและตำบล รวมทั้งได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ นำกลับไปต่อยอดไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพของแผนพัฒนาหมู่บ้าน บนพื้นฐานการวิเคราะห์สังเคราะห์องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครอบคลุมทุกมิติของกระบวนการพัฒนา

เดิมการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนในระดับหมู่บ้านนั้นอาจกล่าวได้ว่า ภาครัฐจะเป็นผู้ริเริ่มและดำเนินการทั้งหมด ส่วนประชาชนในระดับหมู่บ้านซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญของประเทศและเป็นผู้ที่ประสบปัญหาจะมีโอกาสได้เข้ามามีส่วนร่วมน้อยมาก แต่เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๗๘ (๒) กำหนดให้รัฐต้องจัดระบบการบริหารราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น

ให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่ แและความรับผิดชอบที่ชัดเจนเหมาะสมแก่การพัฒนาประเทศและสนับสนุนให้จังหวัดมีแผนและงบประมาณ เพื่อพัฒนาจังหวัด เพื่อประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ ประกอบกับพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๕๓/ ๑ กำหนดให้จังหวัดจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดให้สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชาติ และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่นในจังหวัด


นับจากปี ๒๕๕๐ เป็นต้นมา จังหวัดสามารถขอจัดตั้งงบประมาณเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดได้ โดยการจัดทำแผนยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดที่ครอบคลุมทุกมิติและแผนของจังหวัดจะต้อง

  • มีความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศ นโยบายของรัฐบาล และความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น รวมทั้งความต้องการและศักยภาพของประชาชน ความพร้อมของภาครัฐและภาคธุรกิจเอกชนในจังหวัด
  • ประสานและสร้างการมีส่วนร่วม พร้อมเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมในการกำหนดยุทธศาสตร์ การจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัดเพื่อให้เกิดความเห็นพ้องต้องกันในยุทธศาสตร์ของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด และร่วมรับผิดชอบต่อการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ
  • บูรณาการตั้งแต่กระบวนการวางแผน กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ การบริหารตามแผนและยุทธศาสตร์ รวมไปถึงการบูรณาการระหว่างแผ่นงานและแผนงบประมาณ การบูรณาการระหว่างภาครัฐ ภาคท้องถิ่น และภาครัฐกับภาคธุรกิจเอกชน

การที่จังหวัดจะทราบข้อมูลปัญหา ความต้องการและศักยภาพของประชาชนภายในจังหวัดได้ก็ต้องอาศัยกลไกในระดับหมู่บ้าน/ชุมชนเป็นผู้สะท้อนข้อมูลดังกล่าวให้จังหวัดในรูปแบบของแผนงาน/โครงการ ดังนั้น ก่อนจะได้มาซึ่งแผนงาน/โครงการที่เป็นปัญหาความต้องการของหมู่บ้าน ประชาชนในหมู่บ้านก็จะต้องมีการสำรวจข้อมูลของตนเอง ครัวเรือน และหมู่บ้านก่อน เมื่อทราบข้อมูลทั้งหมด แล้วก็จะต้อง

นำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ จัดลำดับความสำคัญของปัญหาแล้วทำเป็น “แผนพัฒนาหมู่บ้าน” ซึ่งกฎหมายกำหนดให้ กม. เป็นกลไกหลักในการบูรณาการจัดทำในหมู่บ้าน เพราะผู้ที่เป็น กม. คือ คนของหมู่บ้านที่รู้ข้อมูล รู้ปัญหา รู้ความต้องการของประชาชนในหมู่บ้านดีกว่าคนอื่นที่อยู่นอกหมู่บ้าน

ในอดีตมีหลายหน่วยงานได้เข้าไปส่งเสริมสนับสนุนให้หมู่บ้านจัดทำแผนชุมชน เช่น กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต. เทศบาล อบจ.) ในพื้นที่ สำนักงานคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) เครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่ตนเอง ๔ ภาค เป็นต้น ซึ่งในบางหมู่บ้านอาจจะมีหน่วยงานลงไปสนับสนุนให้จัดทำแผนชุมชนมากกว่า  ๑ หน่วยงาน แล้วก็จะทำให้หมู่บ้านนั้น ๆ

มีแผนฯ มากกว่า  ๑ แผน ซึ่งแผนดังกล่าวอาจจะยังไม่ครอบคลุมทุกด้านและไม่มีการประสานและเชื่อมโยงเข้ากับแผนฯ อื่นๆ จึงส่งผลทำให้ปัญหาบางปัญหาของหมู่บ้านยังไม่ได้รับการแก้ไข ประชาชนในหมู่บ้านเกิดความเบื่อหน่ายและไม่เห็นความสำคัญของการจัดทำแผนฯ

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวและเพื่อสร้างเอกภาพในการจัดทำแผนฯ ลดปัญหาความซ้ำซ้อน จึงได้มีการกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่  ๑ ๑ พ.ศ. ๒๕๕ ๑ ให้ กม. เป็นกลไกที่ทำหน้าที่ “บูรณาการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้าน”


โดย แผนพัฒนาหมู่บ้าน แบ่งออกเป็น ๕ ด้าน คือ

๑. ด้านเศรษฐกิจ เช่น โครงการ/กิจกรรมที่สามารถเพิ่มรายได้ลดรายจ่าย การใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินชีวิตการประกอบอาชีพเสริมหลังฤดูเก็บเกี่ยว การส่งเสริมและพัฒนาการประกอบอาชีพหลัก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านฝีมือ แรงงาน การเกษตร ค้าขาย เป็นต้น

๒. ด้านสังคมและคุณภาพชีวิต เช่น โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง เช่น การใช้จ่ายนุ่มเฟือย พึ่งพาคนอื่นมากกว่าตนเอง การจัดสวัสดิการของหมู่บ้าน การก่อสร้างหรือซ่อมแซมโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น

๓. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ/ กิจกรรมเกี่ยวกับการเตรียมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การปลูกป่าทดแทน การคัดแยกและจัดการขยะ เป็นต้น

๔. ด้านความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย เช่น โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด การตั้งเวรยามรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน การเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ การหาข่าว การสร้างเครือข่ายแลกเปลี่ยนข้อมูลกับหมู่บ้านข้างเคียง เป็นต้น

๕. ด้านการบริหารจัดการ เช่น โครงการ/กิจกรรมเกี่ยวกับการสร้างกฎกติกาของหมู่บ้าน การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารการตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานต่าง ๆ ของหมู่บ้าน เป็นต้น