เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง

เชื้อราในช่องคลอด (Vaginal Candidiasis)

เชื้อราในช่องคลอด เรื้อรัง

   ชื้อราในช่องคลอด เกิดจากเชื้อราในกลุ่ม แคนดิดา ( Candida) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ย่อย เชื้อที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดการอักเสบของช่องคลอดที่พบบ่อยที่สุด ได้แก่ แคนดิดา อัลบิแคนส์ (Candida albicans) โดยมีรูปร่างเป็นเซลล์กลมๆหรือที่เรียกว่า ยีสต์ ซึ่งโดยปกติเป็นเชื้อที่อยู่ในช่องคลอดโดยไม่ทำให้เกิดโรค แต่ถ้าร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ได้รับยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ เป็นโรคเบาหวาน โรคเอดส์ หรือมีภาวะอับชื้นบริเวณอวัยวะเพศเป็นเวลานานๆ ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นจนก่อโรค

        นอกจากนี้ การใช้ผ้าอนามัยไม่ถูกวิธี คือการใส่แผ่นเดียวเป็นเวลานานๆ ไม่ค่อยเปลี่ยนผ้าอนามัย การใส่กางเกงยีนส์ที่คับแน่น การอยู่ในที่ร้อนชื้นเป็นเวลานาน การฉีดน้ำชำระล้างช่องคลอดและทำความสะอาดไม่ถูกต้อง การที่ช่องคลอดมีความอับชื้น และการใส่กางเกงในที่เปียกหรืออับชื้น ก็จะทำให้เกิดโรคเชื้อราได้ง่ายขึ้นเช่นกัน สามารถถ่ายทอดโรคไปยังคู่นอนได้ และมักพบการติดเชื้อราร่วมกับการติดเชื้อชนิดอื่นๆได้สูง เช่น เริม หรือ เอดส์ เป็นต้น

การได้รับเชื้อ

  1. ภาวะตั้งครรภ์ เนื่องจากในช่วงตั้งครรภ์ ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ปริมาณสารไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งจะถูกย่อยเป็นน้ำตาลกลูโคสในช่องคลอดสูงขึ้น เป็นสาเหตุให้เชื้อรามีการเจริญเติบโตดีขึ้น นอกจากนี้ปริมาณฮอร์ โมนที่สูงขึ้น ก็จะทำให้เชื้อรามีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน
  2. โรคเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคไม่ดี
  3. การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานเกินไป จะไปทำลายเชื้อต่างๆที่ทำให้เกิดภาวะสมดุลของเชื้อราในช่องคลอด ทำให้เชื้อราเพิ่มปริมาณมากขึ้น
  4. การรับประทานยาสเตียรอยด์ เพราะจะลดภูมิคุ้มกันต้านทานโรค
  5. ผู้ป่วยที่มีโรคภูมิคุ้มกันต้านทานบกพร่อง หรือโรคเอดส์
  6. การใส่กางเกงที่คับมากและอยู่ในที่ที่มีอากาศร้อนชื้น
  7. ภาวะที่คู่นอนมีการติดเชื้อรา

อาการ

        ผู้ที่เป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด จะมีอาการคัน มีตกขาวลักษณะข้นมีสีขาวหรือสีเหลืองนวลเหมือนนมบูด มีกลิ่น ผนังช่องคลอดมีลักษณะบวมแดง มีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศและภายในช่องคลอด บางครั้งอาจพบอาการบวมแดงที่บริเวณอวัยวะเพศร่วมด้วย บางครั้งช่องคลอดจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง เปื่อยยุ่ย เป็นขุย หรือมีลักษณะเป็นฝ้าขาว ผิวแตกเป็นร่อง มีอาการแสบเวลาถ่ายปัสสาวะ และเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ อาจมีสีหรือกลิ่นที่ผิดปกติ และมีอาการคันที่รุนแรงตามมา

การป้องกัน

  1. ทำความสะอาดให้ถูกวิธี เช่น ทำความสะอาดจากช่องคลอดไปทางทวารหนักเพื่อป้องกันไม่ให้อุจจาระเลอะเข้ามาทางช่องคลอดแล้ว 
  2. ไม่ควรสวนล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น เพราะจะไปล้างความเป็นกรดในช่องคลอดทิ้งไป
  3. ใช้ผ้าอนามัยแผ่นบางแล้วเปลี่ยนทิ้งบ่อยๆในช่วงที่มีสิ่งคัดหลั่งออกทางช่องคลอดมากกว่าปกติ
  4. ไม่ควรกินยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อ เพราะจะทำลายแบคทีเรียที่มีอยู่ประจำในช่องคลอด
  5. ฝ่ายชายควรทำความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศทุกครั้งก่อนมีเพศสัมพันธ์ และถ้าภรรยาเป็นเชื้อราก็ต้องทายารักษาเชื้อราพร้อมๆกับภรรยาด้วยเสมอ
  6. ถ้ารู้สึกมีตกขาวผิดปกติ โดยเฉพาะถ้ามีตกขาวเป็นก้อนคล้ายตะกอนนม ไม่ว่าจะมีอาการคันหรือไม่ ก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาแต่เนิ่นๆ

การรักษา

  1. ใช้ยาฆ่าเชื้อรา อาจจะเป็นยาสอดทางช่องคลอดกลุ่ม imidazole derivatives หรือยารับ ประทานกลุ่ม Ketoconazole, Polyene antibiotics หรือ Itraconazole นอกจากนี้ สามารถใช้ยาทาเฉพาะที่เพื่อบรรเทาอาการคันร่วมด้วยได้
  2. รักษาปัจจัยเสี่ยงหรือปัจจัยเสริมต่างๆที่พบร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน หรือโรคอื่นๆที่ต้องรับประทานยาปฏิชีวนะเป็นเวลานานๆ
  3. ต้องรักษาคู่นอนร่วมด้วยเสมอ
  4. ในรายที่รักษาไม่หายหรือเป็นเรื้อรัง พยายามตรวจหาโรคเอดส์ หรือโรคเบาหวานด้วยเสมอ

ภาวะเชื้อราในช่องคลอด เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยของการอักเสบในช่องคลอด โดยผู้หญิง 3 ใน 4 คนเคยติดเชื้อราในช่องคลอดอย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตและหลายคนติดเชื้ออย่างน้อยสองครั้ง ภาวะเชื้อราในช่องคลอดทำให้เกิดอาการบวม คันและระคายเคือง รวมถึงมีตกขาวออกจากช่องคลอดได้

ภาวะเชื้อราในช่องคลอดไม่ถือว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์เพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อรา เชื้อราที่พบได้บ่อยที่สุดคือเชื้อ Candida Albicans รองลงมาคือเชื้อ Candida Grabata เพราะเป็นเชื้อที่สามารถยึดติดกับเซลล์บุช่องคลอดได้ดี

  • อาการของภาวะเชื้อราในช่องคลอด
  • เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์
  • การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด
  • สาเหตุเกิดจากอะไร
  • ป้องกันได้อย่างไร
 

อาการของภาวะเชื้อราในช่องคลอด

อาการของภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดมีตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง บางคนอาจไม่แสดงอาการผิดปกติใดๆ ถึงแม้จะติดเชื้อก็ตาม อาการที่พบได้มีดังนี้

  • คันและระคายเคืองบริเวณช่องคลอดหรือภายในช่องคลอด
  • มีอาการบวมบริเวณอวัยวะเพศ
  • รู้สึกแสบร้อนขณะมีเพศสัมพันธ์หรือปัสสาวะ
  • มีผื่นแดงบริเวณอวัยวะเพศ
  • มีตกขาวเป็นสีขาวครีมข้น ไม่มีกลิ่น บางครั้งอาจมีลักษณะเป็นน้ำได้เช่นกัน

ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะติดเชื้อราที่ซ้ำซ้อนหากมีอาการดังต่อไปนี้

  • มีอาการบวม แดงคันที่รุนแรงจนทำให้เกิดแผลและเจ็บปวดบริเวณช่องคลอด
  • มีการติดเชื้อรา 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี
  • ติดเชื้อราสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่ Candida Albicans
  • กำลังตั้งครรภ์
  • เป็นโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม
  • มีระบบภูมิคุ้มกันต่ำเพราะโรคบางชนิด เช่น ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี
 

เมื่อไหร่ที่ควรพบแพทย์

  • มีภาวะติดเชื้อราในช่องคลอดเป็นครั้งแรก เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้เป็นโรคอื่นที่ร้ายแรงกว่านั้นและต้องใช้วิธีการรักษาที่แตกต่างออกไป เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ หรือโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้งก่อนที่จะซื้อยามารักษาเอง
  • ติดเชื้อราในช่องคลอด 4 ครั้งหรือมากกว่าต่อปี แพทย์อาจต้องให้ยาต้านเชื้อรานานอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรค นอกจากนี้การติดเชื้อราบ่อยครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคเบาหวานหรือโรคอื่นๆ ได้
 

การวินิจฉัยภาวะเชื้อราในช่องคลอด

แพทย์จะทำการวินิจฉัยโดยการซักประวัติผู้ป่วย เช่น เคยมีประวัติเกิดการติดเชื้อราหรือมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อนหรือไม่ ตรวจภายในและตรวจดูความผิดปกติของลักษณะภายนอก หลังจากนั้นแพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากช่องคลอดเพื่อนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการ

สาเหตุเกิดจากอะไร

การติดเชื้อราในช่องคลอดเกิดจากอะไร

  • การใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน ซึ่งทำลายเชื้อแบคทีเรียดีในช่องคลอด ทำให้เกิดการติดเชื้อราในช่องคลอด
  • ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น จากการตั้งครรภ์ การรับประทานยาคุมกำเนิดที่มีปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงหรือการรักษาด้วยฮอร์โมนบำบัด
  • โรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุม ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ไม่ได้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดมีความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดมากขึ้น
  • ระบบภูมิต้านทานต่ำ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้รับการบำบัดด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์
 

ป้องกันได้อย่างไร

การปฏิบัติตัวตามหลักสุขอนามัยช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อราในช่องคลอดได้

  • รับประทานอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการที่สมดุล
  • รับประทานโยเกิร์ตหรืออาหารเสริมที่มีแลคโตบาซิลลัส ซึ่งช่วยรักษาสมดุลของความเป็นกรดด่างในช่องคลอด
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าลินินหรือผ้าไหม รวมถึงสวมกางเกงและกางเกงชั้นในที่ไม่รัดแน่นจนเกินไป
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด เพราะเป็นการนำเชื้อแบคทีเรียดีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อออกจากร่างกาย
  • ไม่ใช้ยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็น
  • ไม่สวมใส่เสื้อผ้าเปียกชื้นเป็นเวลานาน เช่น ชุดว่ายน้ำหรือชุดออกกำลัง
  • ไม่ใช้แผ่นอนามัยและเปลี่ยนผ้าอนามัยอย่างสม่ำเสมอขณะมีประจำเดือน เพื่อไม่ให้เกิดความอับชื้น
 

  เรียบเรียงโดย พญ. ปรียานาถ กำจรฤทธิ์   ศูนย์สูติ-นรีเวช  โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์

รายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ:

  • ศูนย์สูติ-นรีเวช
    8.00-20.00  (BKK Time)
    Hot line tel. +66 63 189 3406

    20.00-8.00 (BKK Time)
    เบอร์ Contact center +662 066 8888 และ 1378