การคลี่คลายของสงครามเย็น

สงครามเย็น from Pannaray Kaewmarueang

นายมิคาอิล กอร์บาชอฟ เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในศตวรรษที่ 20 เขาเป็นผู้นำคนสุดท้ายที่เป็นสักขีพยานการล่มสลายของสหภาพโซเวียตที่ยืนยงมานานเกือบ 70 ปี มีพื้นที่มหาศาลครอบคลุมเอเชียและยุโรปตะวันออก

การล่มสสายของสหภาพโซเวียตไม่ใช่สิ่งที่เขาประสงค์ ตอนที่เริ่มแผนปฏิรูปในปี 1985 สิ่งที่เขาต้องการคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และยกเครื่องการเมืองเสียใหม่

แต่ความพยายามของเขากลับกลายเป็นต้นตอของเหตุการณ์มากมายที่นำมาสู่จุดสิ้นสุดของการปกครองภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ ไม่เพียงแต่ในสหภาพโซเวียต แต่รวมถึงรัฐบริวารอื่น ๆ ด้วย

นายกอร์บาเชฟ เกิดวันที่ 2 มี.ค. 1931 ในเมืองสตัฟโรปอล ทางตอนใต้ของรัสเซีย พ่อแม่ของเขาทำงานในพื้นที่การเกษตร ตัวเขาในวัยเด็กช่วยงานพ่อแม่ รวมถึงเคยเป็นคนบังคับเครื่องเก็บเกี่ยวนวดด้วย

เขาศึกษาจบมหาวิทยาลัยแห่งมอสโกในปี 1955 ซึ่งขณะนั้นเขาเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แล้ว

คำบรรยายภาพ,

เขาเติบโตมาในพื้นที่ชนบททางใต้ของรัสเซีย

เมื่อเขากลับภูมิลำเนาในสตัฟโรปอลพร้อมภริยา ไรซา เขาก็ไต่เต้าขึ้นมามีบทบาทต่อพรรคคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคอย่างรวดเร็ว

นายกอร์บาชอฟเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวรุ่นใหม่ของพรรค ที่ทนไม่ได้กับผู้นำพรรคที่แก่ชรา และยึดติดกับแนวความคิดเดิม ๆ

ในปี 1961 เขาเป็นเลขาธิการสันติบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์ และกลายเป็นผู้แทนเข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ได้สำเร็จ

บทบาทในฐานะผู้บริหารด้านการเกษตรเปิดโอกาสให้เขาได้ริเริ่มนำนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาใช้ และเมื่อประกอบกับสถานะของเขาภายในพรรค ส่งผลให้เขากลายเป็นผู้ทรงอิทธิพลของภูมิภาคบ้านเกิด

จนถึงปี 1978 เขาเดินทางไปมอสโกในฐานะเลขาธิการด้านเกษตรของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ และต่อมาอีกเพียง 2 ปี เขาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกโปลิตบูโร หรือคณะกรรมการบริหารพรรคคอมมิวนิสต์

ในสมัยที่ นายยูริ อันโดรปอฟ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ กอร์บาชอฟเดินสายเยือนต่างประเทศบ่อยครั้ง รวมถึงการเดินทางเยือนกรุงลอนดอน ของสหราชอาณาจักร ในปี 1984 และหารือกับนายกรัฐมนตรีมาร์กาเร็ต แทตเชอร์

ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซี นางแทตเชอร์ยอมรับว่า รู้สึกเห็นความหวังถึงอนาคตความสัมพันธ์กับโซเวียต

"ฉันชอบกอร์บาชอฟ...เราทำธุรกิจด้วยกันได้" นางแทตเชอร์ กล่าว

คำบรรยายภาพ,

นายกฯ มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ชื่นชอบกอร์บาชอฟ

จึงไม่แปลกที่เป็นที่คาดการณ์ว่า นายกอร์บาชอฟจะสืบทอดอำนาจต่อจากอันโดรปอฟ ซึ่งภายหลังถึงแก่อสัญกรรมในปี 1984 แต่กลับกลายเป็น นายคอนสแตนติน เชอร์เนนโก ที่ขึ้นเป็นเลขาธิการพรรคฯ แทน

แต่ในเวลา 1 ปีต่อมา นายเชอร์เนนโกก็ถึงแก่อสัญกรรม ทำให้นายกอร์บาชอฟ ซึ่งถือเป็นสมาชิกโปลิตบูโรที่อายุน้อยที่สุด ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคฯ ต่อ และถือเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนแรก ที่เกิดหลังการปฏิวัติปี 1917 โดยถูกมองว่าเป็นผู้นำเลือดใหม่

การแต่งกายที่มีสไตล์ของนายกอร์บาชอฟ ท่าทีเปิดกว้าง และเป็นคนตรง ถือว่าสวนทางเลขาธิการพรรคฯ คนก่อน ๆ อย่างสิ้นเชิง ส่วนภริยาของเขา ไรซา ก็มีภาพลักษณ์เหมือนสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของอเมริกา มากกว่าภริยาของเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์

ภารกิจแรกในฐานะผู้นำโซเวียต คือการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ใกล้ล่มสลาย

นายกอร์บาชอฟเข้าใจว่าจำเป็นต้องปฏิรูปเศรษฐกิจจากฐานรากของตัวพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อทำให้แผนปฏิรูปประสบผลสำเร็จ

การปฏิรูปเหล่านี้ เรียกกันว่า "เปเรสตรอยคา" (perestroika) ซึ่งหมายถึงการปรับปรุงและการปรับโครงสร้าง และ "กลัสนอสต์" (glasnost) ซึ่งหมายถึง การเปิดกว้างและเสรีภาพในการพูด

นายกอร์บาชอฟไม่ได้ต้องการแทนที่ระบบเศรษฐกิจที่ควบคุมโดยรัฐ ด้วยตลาดเสรี โดยเขาปราศรัยยืนยันถึงจุดนี้ต่อผู้แทนพรรคในปี 1885 ว่า "พวกคุณอาจมองว่าตลาดเสรีคือ ตัวช่วยชีวิตเศรษฐกิจ แต่เพื่อนร่วมชาติเอ๋ย คุณไม่ควรไปคิดถึงตัวช่วย แต่คิดถึงเรือ และเรือลำนั้นคือ สังคมนิยม"

อาวุธอีกอย่างของเขาเพื่อจัดการกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ คือ ประชาธิปไตย และสมัยของกอร์บาชอฟ ได้เกิดการเลือกตั้งครั้งแรกขึ้น เพื่อเลือกสมาชิกสภาประชาชน

การผ่อนคลายระบอบที่เจ้าระเบียบและกดขี่ กลับสร้างรอยร้าวในหมู่เชื้อชาติที่หลากหลายที่ประกอบรวมกันเป็นสหภาพโซเวียต และนำไปสู่การจลาจลใหญ่ในคาซัคสถานในเดือน ธ.ค. ปี 1986

นายกอร์บาชอฟต้องการยุติสงครามเย็น โดยเขาประสบความสำเร็จในการเจรจาและบรรลุสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลางกับประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐฯ

นายกอร์บาชอฟได้รับเสียงชื่นชมในการยุติสงครามเย็น และหยุดยั้งภัยคุกคามจากการเผชิญหน้าทางอาวุธนิวเคลียร์ ด้วยการปรับปรุงความสัมพันธ์กับชาติตะวันตก

ทว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจจากการปรับปรุงความสัมพันธ์นี้ ก็ทำให้พลเมืองโซเวียตได้ตระหนักว่าชีวิตของพวกเขาย่ำแย่เพียงใดเมื่อเทียบกับคนประเทศอื่น ๆ

นายกอร์บาชอฟได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในต่างประเทศ แต่กลับเผชิญเสียงวิจารณ์ในประเทศของตัวเอง

คำบรรยายภาพ,

นายกอร์บาชอฟแผ้วทางสู่การสิ้นสุดสงครามเย็น

แต่กระนั้น บททดสอบที่ท้าทายที่สุดมาจากเหล่าประเทศที่ถูกสหภาพโซเวียตผนวกรวมอย่างไม่จำยอม

นโยบายเปิดกว้างและผลักดันประชาธิปไตยของนายกอร์บาชอฟ ทำให้ประเทศเหล่านี้เรียกร้องเอกราช ซึ่งในช่วงแรกเริ่มนั้น เขาตัดสินใจใช้กำลังทหารเข้ากำราบ

การแตกร้าวสหภาพโซเวียตเริ่มจากสาธาณรัฐบอลติกในทางตอนเหนือก่อน ตามมาด้วย ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ก่อนขยายไปถึงเหล่าพันธมิตรของสนธิสัญญาวอร์ซอของรัสเซีย

สถานการณ์ถึงจุดยอดสุดในวันที่ 9 พ.ย. ปี 1989 ภายหลังประชาชนในเยอรมนีตะวันออก ซึ่งถือเป็นรัฐบริวารของโซเวียตที่สุดโต่งมากที่สุด ได้รับอนุญาตให้ข้ามไปฝั่งเบอร์ลินตะวันตกได้อย่างเสรี

ณ จุดนั้น นายกอร์บาชอฟตัดสินใจไม่ส่งรถถังเข้าแทรกแซง แต่กลับประกาศว่า การรวมชาติของเยอรมนี เป็นกิจการภายในของเยอรมนีเอง

ด้วยเหตุนี้ เขาจึงคว้ารางวัลโนเบลสาขาสันติภาพในปี 1990 ต่อ "บทบาทของเขาที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างตะวันออกและตะวันตก"

พอถึงเดือน ส.ค. ปี 1991 เหล่าผู้นำชาตินิยมในกรุงมอสโกทนต่อการกระทำของนายกอร์บาชอฟไม่ได้อีกต่อไป จัดการรัฐประหารและควบคุมตัวเขา ในช่วงที่กำลังพักผ่อนในทะเลดำ

นายบอริส เยลต์ซิน เลขาธิการพรรคประจำกรุงมอสโก ได้ใช้โอกาสนี้ ยุติการรัฐประหาร จับกุมผู้ประท้วง และถอดอำนาจทางการเมืองของนายกอร์บาชอฟทั้งหมด เพื่อแลกกับอิสรภาพ

คำบรรยายภาพ,

การประท้วงในปี 1991 และการรัฐประหารในปีนั้น ที่เป็นจุดสิ้นสุดอำนาจของนายกอร์บาชอฟ

6 เดือนต่อมา นายกอร์บาชอฟหายไปจากวงการการเมืองพร้อมกับการล่มสลามของสหภาพโซเวียต พรรคคอมมิวนิสต์กลายเป็นองค์กรผิดกฎหมาย ส่วนประเทศเกิดใหม่ คือ รัสเซีย ก็ต้องเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน

ช่วงปีหลังของนายกอร์บาชอฟ

เขาพยายามแสดงความคิดเห็นและมีบทบาทในทางการเมืองรัสเซียและนานาชาติ แต่ชื่อเสียงของเขาในต่างประเทศ กลับมากกว่าความนิยมในประเทศ

เห็นได้จากความพยายามกลับสู่ตำแหน่งผู้นำในการเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย ปี 1996 เขาได้รับคะแนนเสียงไม่ถึง 5%

ช่วงทศวรรษที่ 1990 เขาเข้าร่วมในเครือข่ายวิทยากรสากล และยังติดต่อกับเหล่าผู้นำโลก ทำให้ยังถูกมองเป็นวีรบุรุษสำหรับประชาชนที่ไม่ใช่ชาวรัสเซีย คว้ารางวัลและเกียรติยศไปมากมาย

แต่บทบาททางการเมืองที่หายไป ยังไม่เลวร้ายเท่ากับการเสียภริยาคู่ชีวิต ไรซา ในปี 1999 จากโรคลูคีเมีย

คำบรรยายภาพ,

ภริยาของกอร์บาชอฟ ไรซา (ซ้าย)

ต่อมาวันที่ 30 ส.ค. ปีนี้ (2022) นายกอร์บาชอฟ ได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยวัย 91 ปี ในฐานะผู้นำคนสุดท้ายแห่งสหภาพโซเวียต

ร่างของนายกอร์บาชอฟจะถูกฝังที่สุสานในกรุงมอสโก สุสานเดียวกับที่ฝังร่างของบุคคลสำคัญรัสเซียหลายคน โดยร่างของเขาได้รับการฝังไว้ข้าง ๆ กับสุสานของไรซา ภริยารักของเขา