ศาสนา ที่ รุ่งเรือง ของ ภาคใต้ ก่อน ศตวรรษ ที่ 19 คือ

ในบรรดารัฐโบราณบนคาบสมุทรไทย เห็นจะไม่มีรัฐใดจะมีขนาดพื้นที่กว้างขวาง และมีบทบาทสำคัญทั้งการค้า การปกครอง และการศาสนา โดยเฉพาะศาสนาพราหมณ์เท่าเทียม “รัฐตามพรลิงค์”

“ตามพรลิงค์” (Tambralinga)  เป็นชื่อรัฐโบราณที่สำคัญรัฐหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่บนคาบสมุทรไทย เป็นที่รู้จักในหมู่นักเดินเรือและผู้เผยแผ่ศาสนามาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 5 เป็นต้นมาในชื่อ “กมลี” บ้าง “ตามพรลิงค์”  บ้างและ “ตันหม่าหลิง” บ้าง พัฒนาจากสถานีทางการค้าทางทะเลจนเติบโตเป็นรัฐ ซึ่งมีระบบทางการเมืองการปกครองที่ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมจากอินเดีย จนกลายเป็น “รัฐ” ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 และมีอำนาจเหนืออาณาบริเวณคาบสมุทรไทยทั้งหมด จนกระทั่งพุทธศตวรรษที่ 20 จึงรวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย

อาณาเขตของรัฐตามพรลิงค์ครอบคลุมพื้นที่ตอนบนของคาบสมุทรไทย ตั้งแต่บริเวณจังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนครศรีธรรมราชของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งในเอกสารโบราณของจีนเรียกว่า “เตี่ยนซุน”หรือ“ตุ้นซวิ่น” ดร.อมรา ศรีสุชาติ[1] อธิบายว่าน่าจะอยู่ตั้งแต่จังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง มาถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี  และตอนบนของจังหวัดนครศรีธรรมราช คือแถบอำเภอขนอม และอำเภอสิชล มีอ่าวเป็นส่วนโค้งเว้ายื่นไปในทะเล มีภูเขาโผล่ขึ้นมาจากทะเล ซึ่งตรงกับบริเวณเกาะสมุย  เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราชปัจจุบัน

มานิต  วัลลิโภดม[2] อธิบายว่าพัฒนาการของรัฐตามพรลิงค์หลักฐานชัดเจนในสมัยกึ่งประวัติศาสตร์จากเอกสารโบราณที่ชื่อ “คัมภีร์มหานิทเทศ” ซึ่งแต่งขึ้นเป็นภาษาบาลี  คัมภีร์ดังกล่าวมีชื่อ “กะมะลิง” ต่อมาในพุทธศตวรรษที่ 11 รัฐนี้มีความสัมพันธ์ทางด้านการเมือง  เศรษฐกิจและการค้ากับดินแดนอันมีหลักฐานปรากฏชัดเจนสองแห่ง คือชวาภาคกลาง  และอินเดียภาคใต้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์กับราชวงศ์โจฬะในอินเดียภาคใต้ ซึ่งสืบเนื่องต่อจนถึงพุทธศตวรรษที่ 16 ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 26 (จารึกเขาพระนารายณ์  จังหวัดพังงา)

ในพุทธศตวรรษที่ 15 เอกสารจีนเรียกรัฐนี้ว่า “ตันหม่าหลิง” บทบาทและความสำคัญของตามพรลิงค์ผูกพันกับสภาพการค้าในคาบสมุทรอยู่มาก  ไม่เพียงแต่เฉพาะทางฝั่งตะวันออกซึ่งอยู่ในเส้นทางผ่านของการค้าของจีนและอินเดียเท่านั้น  หากแต่ยังเป็นจุดที่มีความสำคัญในแง่ของการค้าอีกด้วย  เพราะสินค้าจากบริเวณ “ตามพรลิงค์” กลายเป็นที่ต้องการของประเทศที่ทำการค้าด้วย เช่น จีนซึ่งต้องการไม้เนื้อหอมจากดินแดนแถบนี้ รศ.ดร.ปรีชา นุ่นสุข[3] อธิบายว่าเป็นโอกาสสำคัญที่ “ตามพรลิงค์” ใช้ความได้เปรียบด้วยฐานะทางเศรษฐกิจการค้านี้ไปส่งเสริมอำนาจการควบคุมทางทะเลด้วย

ในราวพุทธศตวรรษที่ 15 เป็นช่วงแห่งความขัดแย้งระหว่างอำนาจทางการเมืองที่สำคัญในภูมิภาคนี้  เมื่อพวกทมิฬมีอำนาจขึ้นทางฝั่งตะวันออกของอินเดีย   และอำนาจทางทะเลทางภาคตะวันตกของอินเดียก็เพิ่มมากขึ้น  เป็นเหตุให้สองฝ่ายต่างแข่งขันกัน  ประกอบกับราชวงศ์ซ้องหรือซุ่ง (Sung) สามารถรวมแคว้นต่างๆในจีนได้ จึงเปิดเส้นทางการค้าออกสู่ทะเลจีนใต้อีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตาม  ด้วยเหตุที่พวกโจฬะมีอำนาจในภูมิภาคแถบนี้ จึงสามารถควบคุมช่องแคบมะละกาได้เมื่อพุทธศตวรรษที่ 16 ผลทางตรงในการแข่งขันซึ่งกันและกันครั้งนั้น ทำให้รูปแบบของการเดินเรือค้าขายเปลี่ยนแปลง ภาคตะวันออกของคาบสมุทรไทยจึงความสำคัญต่อการค้ามากกว่าเดิม  เพราะเป็นแหล่งเอื้ออำนวยในการค้าขายกับจีน   ขณะเดียวกันดินแดนภาคตะวันออกที่อยู่ในเส้นทางข้ามคาบสมุทร ก็ยังคงมีความสำคัญอยู่

ในราวพุทธศตวรรษที่ 16 ขอมเริ่มให้ความสนใจต่อฝั่งตะวันออกของคาบสมุทร อันเป็นส่วนหนึ่งในการขยายอำนาจของตนทางตะวันตกของอาณาจักรในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 เห็นได้จากโบราณวัตถุซึ่งแสดงถึงอิทธิพลของศิลปะขอมบนคาบสมุทรไทยตั้งแต่ช่วงเวลานี้มาก  เส้นทางการค้าที่พวกขอมใช้น่าจะเป็นเส้นทางเรือที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว  คือจากฝั่งจามตัดเข้าอ่าวไทยไปยังเกาะ สมุยในคาบสมุทร ถือได้ว่าความสำคัญของเส้นทางนี้มีต่อรูปแบบของการค้า  เป็นความสัมพันธ์ที่เกี่ยวข้องกับตามพรลิงค์โดยตรง ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15 เมื่อขอมเริ่มทวีความสนใจออกมาทำการค้า แต่ต่อมาก็เกิดภาวะชะงักงันในกลางพุทธศตวรรษที่ 16 เมื่อสิ้นสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1

ขณะเดียวกันในพุทธศตวรรษที่ 16  ตามพรลิงค์เริ่มมีอำนาจในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น กล่าวคือเมื่อโจฬะเริ่มเสื่อมอำนาจ กษัตริย์วิชัยพาหุที่ 1 แห่งลังกาก็พยายามสร้างความสัมพันธ์กับอาณาจักรพุกามสมัยพระเจ้านรปติสิทธู  โดยนิมนต์ภิกษุจากพม่าไปชำระคัมภีร์พระพุทธศาสนาที่ลังกา พุกามเองก็เคยแผ่อำนาจเข้าคอคอดกระ ทำให้พวกโจฬะต้องกวาดล้างอิทธิพลแถบนี้อีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ.1600   ในขณะที่ฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรยังมีความสัมพันธ์ทางการค้ากับจีนอยู่  ดังที่ได้ค้นพบเครื่องถ้วยจีนอายุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง (Tang) ถึงราชวงศ์ซ้องและหยวน (Sung-Yuan) สภาพเช่นนี้จึงทำให้ตามพรลิงค์ขยายตัวทางเศรษฐกิจ และสามารถส่งทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนได้เมื่อ พ.ศ. 1610

ล่วงมาประมาณ พ.ศ.1673-1719 ตามพรลิงค์ได้อยู่ในขอบเขตอิทธิพลของลังกาและพุกาม เมืองที่เป็นศูนย์กลางของตามพรลิงค์ระยะนี้คือ“กรุงศรีธรรมาโศก”ตามที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 35 (จารึกดงแม่นางเมือง) พ.ศ.1710 อันเป็นจารึกมคธและภาษาขอม กล่าวถึงราชาจากกรุงศรีธรรมาโศกกัลปนาถวายที่ดินอุทิศให้ผู้ซึ่งเป็นที่เคารพ คำว่า “ศรีธรรมาโศก” สัมพันธ์กับเรื่องราวของรัฐตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชอยู่มาก จากศิลาจารึกหลักที่ 24 ดร.วินัย  พงศ์ศรีเพียร[4] ให้ความเห็นว่าสะท้อนให้เห็นภาพทางการเมืองของรัฐตามพรลิงค์ชัดเจน  พร้อมกับการเกิดขึ้นของพระเจ้าจันทรภาณุแห่ง  “ปัทมวงศ์” ตามพรลิงค์วิวัฒนาการเป็นรัฐที่มีอำนาจทางการเมืองสูง สามารถส่งกำลังไปตีลังกาสองครั้ง แม้จะพ่ายแพ้กลับมา แต่อำนาจของพระองค์เหนือรัฐดังกล่าวก็ยังปรากฏอยู่ในหน้าประวัติศาสตร์

เมืองท่าสำคัญที่ปรากฏขึ้นในรัฐตามพรลิงค์ในพุทธศตวรรษที่ 17-18 ดร.อมรา ศรีสุชาติ[5] ให้ความเห็นว่าน่าจะมีอยู่หลายแห่งทางฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ แหล่งหัวมีนา ใกล้คลองท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช(อยู่ใกล้กับเมืองพระเวียง) ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นศูนย์กลางการปกครองหรือเมืองสำคัญของรัฐ “ตามพรลิงค์” และวัดหรัง อำเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช ส่วนเมืองท่าฝั่งตะวันตกน่าจะอยู่ที่แหล่งกันตัง จังหวัดตรัง  ส่วนเมืองท่าฝั่งอันดามันไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในแหล่งใดแหล่งหนึ่ง  ที่ชัดเจนพอที่จะกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งเมืองท่าที่อาหรับเรียก “กลาฮ์” แต่น่าจะเคลื่อนลงมาทางใต้แถบจังหวัดตรังถึงจังหวัดสตูล เพราะพบแหล่งท่าเรือโบราณอยู่หลายแห่ง

ในบรรดาเมืองท่าร่วมสมัยเดียวกันนี้ แหล่งเมืองท่าที่หัวมีนา  ดูจะเฟื่องฟูที่สุดในการเป็นสถานีการค้ากับจีน และยังคงมีบทบาทการเป็นพ่อค้าคนกลางที่ขายแก่เรือชาติอื่นๆ  แหล่งเมืองท่าของรัฐตามพรลิงค์ในช่วงนี้ ดร.อมรา ศรีสุชาติ[2]  ให้ความเห็นว่ามิได้มีบทบาทเป็นเมืองท่าค้าขายเพียงอย่างเดียว  แต่เป็นแหล่งยุทธศาสตร์ที่พระเจ้าจันทรภาณุใช้ในการยกทัพเรือไปโจมตีศรีลังกาในพุทธศตวรรษที่ 18 อย่างไรก็ดี ในศตวรรษต่อมา เมืองท่าเหล่านี้ก็กลายมาเป็นแหล่งที่กองทัพเรือจากภายนอกยกมาขึ้นฝั่งเพื่อโจมตีเมืองต่างๆ บนคาบสมุทรบ้าง   เช่น กรณีกองทัพจากชวา หรือกองทัพของอุชงคตนะจากปลายเกาะสุมาตรายกมาโจมตีรัฐตามพรลิงค์ เป็นต้น

ในด้านศิลปวัฒนธรรม ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 11-14 ดินแดนคาบสมุทรไทยและคาบสมุทร  มลายูตอนเหนือ โดยเฉพาะตามพรลิงค์ได้รับอิทธิพลจากอินเดียอย่างมาก ส่งผลให้ศาสนาพราหมณ์ซึ่งฝังรากมั่นคง ดังเห็นได้จากการพบโบราณวัตถุสถานมากกว่าที่ใดในคาบสมุทรไทย รวมทั้งชื่อรัฐ “ตามพรลิงค์” ก็ได้สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเป็นผลมาจากศาสนาพราหมณ์  มีการขยายตัวของชุมชนตามแหล่งที่เหมาะสมทางภูมิศาสตร์ ซึ่งต่อมาได้เจริญเติบโตขึ้นเป็นเมืองท่าชายฝั่งตะวันตกและตะวันออกของคาบสมุทรไทยในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 11-14 ซึ่งเป็นผลประโยชน์จากการควบคุมดูแลทางการค้าทางทะเลอันเป็นเศรษฐกิจหลักของรัฐนี้

ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17-18 ตามพรลิงค์เริ่มมีฐานะเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเมือง การปกครอง และศิลปวัฒนธรรมบนคาบสมุทรไทยทั้งฝ่ายตะวันตกและตะวันออกที่เกี่ยวพันกับรัฐตามพรลิงค์เสมอ  ต่างกันแต่เพียงมากบ้างน้อยบ้างเท่านั้น ครั้นพุทธศตวรรษที่ 18 สามารถปกครองแหลมมลายูตอนเหนือทั้งหมด   จัดเครือข่ายเป็น “เมือง 12 นักษัตร” ซึ่งแต่ละเมืองก็ให้ถือตราสัตว์ประจำเมืองกำกับไว้  ในช่วงศตวรรษดังกล่าวตามพรลิงค์ได้เปลี่ยนชื่อรัฐเป็น “นครศรีธรรมราช”มีความสัมพันธไมตรีกับรัฐไทยตอนบน คือสุโขทัย และมีสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรกับประเทศศรีลังกา เป็นการสัมพันธ์ทางเครือญาติและศาสนา  ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคตินิยมทางพระพุทธศาสนา  และเป็นผลให้ลัทธิเถรวาทจนเจริญรุ่งเรือง  และสามารถประดิษฐานมั่นคงแผ่กว้างไปทั่วดินแดนภาคใต้ตอนบน

“ตามพรลิงค์” ถือเป็นรัฐหรืออาณาจักรทางพุทธศาสนาและเศรษฐกิจของผู้คนในสังคมบนคาบสมุทรไทยที่โดดเด่นยิ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มิใช่เพียงเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์เป็นที่ต้องการของตลาดโลก หรือสามารถผลิตสินค้าได้ตามกระแสความต้องการของตลาดสากลเท่านั้น แต่ยังมีการบริหารจัดการในการสร้างระบบเมืองท่าเครือข่าย และระบบการจัดการธุรกิจแบบพ่อค้าคนกลางที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังมีการพัฒนาการยุทธนาวีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างจริงจังโดยเฉพาะในช่วงที่พระเจ้าจันทรภาณุเป็นกษัตริย์ของอาณาจักรนี้

เหนืออื่นใด ตามพรลิงค์ยังถือเป็นผู้นำในการส่งเสริมวัฒนธรรมพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทให้ประดิษฐานอย่างมั่นคงและยั่งยืนยาวนานบนคาบสมุทรไทย รวมทั้งบนดินแดนภาคพื้นทวีป ซึ่งมีส่วนสำคัญที่ทำให้หลักปรัชญาของพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทที่บ่มเพาะงอกงามในดินแดนเอเชียใต้ มาเจริญรุ่งเรืองแพร่หลายอยู่ในประเทศไทยและดินแดนข้างเคียง  ความเจริญรุ่งเรืองนี้  นอกจากมีส่วนในการสร้างสรรค์วิถีชีวิต และแนวคิดในศาสนาแล้ว ยังเป็นแรงบันดาลใจสำคัญที่ก่อให้เกิดการรังสรรค์ศิลปกรรมที่งดงามจนตกทอดเป็นมรดกภูมิปัญญาของประชาชาติที่มีอารยธรรมสูงไม่แพ้ที่ใดในโลก

อย่างไรก็ดี ก่อนสิ้นสุดพุทธศตวรรษที่ 19 รัฐบริเวณลุ่มเจ้าพระยารุ่งเรืองขึ้น มีศูนย์กลางอำนาจที่กรุงศรีอยุธยา   พระเจ้าอู่ทองยกทัพแผ่อำนาจลงมาทางใต้ และรวบรวมนครศรีธรรมราชไว้ในขอบขัณฑสีมา ดำรงสถานะเป็น “หัวเมืองเอก” ของราชอาณาจักรอยุธยา ประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองและมีอิสระในการปกครองตนเองของนครศรีธรรมราชยืนยาวไม่นานนัก เพราะในช่วงเวลานั้นเป็นเวลาของการรวบรวมบ้านเมืองเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในท้องที่ภาคกลาง โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้นำตั้งแต่ก่อน พ.ศ.1893 อันเป็นปีสถาปนากรุงศรีอยุธยาอย่างเป็นทางการ

ศาสนา ที่ รุ่งเรือง ของ ภาคใต้ ก่อน ศตวรรษ ที่ 19 คือ

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาเถรวาทบนคาบสมุทรไทย

กล่าวโดยสรุป  หลักฐานประวัติศาสตร์และหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบบนคาบสมุทรไทย และในดินแดนประเทศข้างเคียง  จึงแบ่งยุคสมัยของรัฐตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราชได้เป็นสี่สมัยดังนี้

สมัยแรก  เป็นช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 5-10 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มแรกที่ดินแดนบนคาบสมุทรไทยได้รับอิทธิพลจากอินเดีย ทั้งด้านความเชื่อ ศาสนา ประเพณี กฎหมาย ภาษาและวรรณกรรม ดังปรากฏในเอกสารของอินเดีย ขณะเดียวกันก็มีเอกสารของจีนที่ระบุชื่อเมืองที่มาค้าขาย  เอกสารโบราณของจีนและอินเดียได้สะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้นชุมชนหลายแห่งบนคาบสมุทรไทยได้พัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าหรือศูนย์กลางทางการค้าในระบบเครือข่ายการค้านานาชาติ โดยเฉพาะเมือง “กะมะลิง” หรือ     “ตะมะลิง” หรือ “ตามพรลิงค์”(Tambralinga) ซึ่งชื่อนี้ปรากฏในเอกสารโบราณของอินเดียตั้งแต่เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 7

สมัยที่สอง เป็นช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการของรัฐนี้ผูกพันแนบแน่นกับการค้าและความรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย อันเป็นศาสนาที่มีบทบาทอย่างสำคัญต่อพัฒนาการของรัฐ แม้ว่าในสมัยนี้พระพุทธศาสนาจะมีบทบาทอยู่ควบคู่กับศาสนาพราหมณ์อยู่บ้าง  แต่ก็ไม่ได้มีบทบาทที่โดดเด่นเท่าศาสนาพราหมณ์  แม้แต่ในช่วงที่พระพุทธศาสนาลัทธิมหายานเจริญสูงสุดในรัฐ คือในระหว่างกลางพุทธศตวรรษที่ 14 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 15 ก็ตาม ร่องรอยความเจริญของศาสนาพราหมณ์ก็ยังปรากฏอยู่ในรัฐนี้  ตั้งแต่พื้นที่ตอนบนจนถึงลุ่มทะเลสาบสงขลาซึ่งเป็นพื้นที่ตอนกลางของรัฐ

สมัยที่สาม เป็นช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 17-19 ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการของรัฐแห่งนี้ได้ผูกพันอยู่กับพระพุทธศาสนาลัทธิเถรวาท ซึ่งได้รับอิทธิพลจากศรีลังกา เรียกกันว่า“ลัทธิลังกาวงศ์”หรือ“นิกายลังกาวงศ์” ซึ่งเป็นศาสนาที่มีบทบาทสำคัญต่อรัฐตามพรลิงค์ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 16 เป็นต้นมา ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งแต่พม่าไปจนถึงอินโดนีเชีย ให้การยอมรับและมุ่งมั่นที่จะเอาแนวทางของลัทธิลังกาวงศ์เป็นเครื่องนำทางและแรงบันดาลใจ ครั้นในพุทธศตวรรษที่ 17-18 อิทธิพลของพุทธศาสนาจากศรีลังกาจึงได้ตั้งมั่นในดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สองแห่งคือ รัฐพุกาม(Pagan) ของประเทศพม่า และรัฐตามพรลิงค์ (Tambralinga) ของประเทศไทย

สมัยที่สี่ เป็นช่วงเวลาราวพุทธศตวรรษที่ 20-ปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่พัฒนาการของรัฐนี้ได้ผูกพันกับอำนาจรัฐไทย  ซึ่งมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี  พระเจ้าอู่ทองปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้เริ่มต้นขยายขอบวงของอำนาจลงมายังคาบสมุทรไทย  จนมีอำนาจเหนือนครศรีธรรมราชต่อเนื่องไปถึงคาบสมุทรมลายู  และเมื่อล่วงมาถึงรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอก ขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาสืบมา  และเมื่อศูนย์อำนาจเปลี่ยนเป็นธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์ นครศรีธรรมราชก็หลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทยสืบมาจนปัจจุบัน

“ตามพรลิงค์” หรือ “นครศรีธรรมราช” ในปัจจุบันแม้มิได้เป็นรัฐอิสระและปกครองตนเองอย่างอดีตก็จริง แต่จุดเด่นทางประวัติศาสตร์ของการเป็นที่ตั้งพระพุทธศาสนาเถรวาทลังกาวงศ์เป็นแห่งแรกก่อนที่แห่งใดบนผืนทวีป ยังได้รับการกล่าวถึงอยู่ตลอดมา ทั้งที่เห็นเป็นรูปแบบพระสถูปทรงลังกาขนาดใหญ่ และเข้าใจถึงความหมายและความสำคัญดังที่ปรากฏในตำนาน     พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชโดยไม่สิ้นสูญ