สถิติและวิทยาการข้อมูล จุฬา

สถิติและวิทยาการข้อมูล จุฬา

รวมสาขาที่เปิดสอนและค่าเทอมในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมรีวิวการใช้ชีวิตและการเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยจากรุ่นพี่

กลับมาพบกับบทความ “รุ่นพี่ชี้แนะ!” กันอีกเช่นเคยนะคะ วันนี้น้องๆ ที่สนใจเรียนสายบัญชี/บริหารห้ามพลาดโดยเด็ดขาด เพราะพี่โบว์จะพาไปทำความรู้จักกับ “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”กันค่ะ เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในคณะในฝันของคนที่ชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์หรือชอบคำนวณเลย และแน่นอนว่าพี่ก็ได้พารุ่นพี่มารีวิวทั้งการเรียนและการใช้ชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัยให้น้องๆ กันเหมือนครั้งก่อนๆ จะน่าสนใจขนาดไหนไปดูกัน!

รุ่นพี่ชี้แนะ! รีวิว คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียนอะไรบ้าง?

"คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี" เป็นอีกคณะหนึ่งที่น้องๆ ให้ความสนใจกันเป็นอย่างมาก ครั้งนี้พี่จึงพารุ่นพี่จากคณะนี้มารีวิวให้น้องๆ ฟังกัน แต่ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกันก่อนว่าคณะนี้มีความเป็นมายังไง มีกี่สาขา และมีค่าธรรมเนียมการศึกษาเท่าไร จากนั้นจึงจะไปต่อกันที่ช่วงรีวิว ซึ่งต้องขอแจ้งไว้ก่อนว่าการรีวิวในครั้งนี้เป็นประสบการณ์ส่วนบุคคลในช่วงเวลาหนึ่ง และเป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งให้น้องๆ นำไปประกอบการตัดสินใจเข้าศึกษาต่อค่ะ รวมถึงเป็นข้อมูลเสริมให้น้องๆ ที่เพิ่งติดคณะนี้หรือมหา’ลัยนี้ด้วย

ทำความรู้จัก “คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2481 โดย จอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งเป็นอธิการบดีในตอนนั้น โดยแรกเริ่มเป็นแผนกวิชาการบัญชีและแผนกวิชาพาณิชยศาสตร์ สังกัดคณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จากนั้นจึงสถาปนาเป็นคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2486 จนถึงทุกวันนี้ค่ะ

เพิ่มเติมคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 1 ของไทยด้าน Accounting and Finance และ Business and Management Studies โดย QS World University Rankings by Subject 2022 ติดต่อกัน 9 ปีซ้อน!!

หลักสูตรที่เปิดสอน/อัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาระดับปริญญาตรีต่อภาคการศึกษา

หลักสูตร สาขาวิชา ค่าธรรมเนียมการศึกษา บัญชีบัณฑิต (บช.บ.) การบัญชี 21,000 บาท สถิติศาสตรบัณฑิต (สต.บ.) สถิติและวิทยาการข้อมูล การประกันภัย เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อธุรกิจ บริหารธุรกิจบัณฑิต (บธ.บ.) การจัดการเพื่อเป็นผู้ประกอบการธุรกิจ ระบบสารสนเทศทางการจัดการ การจัดการโลจิสติกส์ระหว่างประเทศ การธนาคารและการเงิน การตลาด การจัดการธุรกิจระหว่างประเทศ (นานาชาติ) 105,000 บาท การบัญชี (นานาชาติ) ดูอัตราค่าธรรมเนียมการศึกษาเพิ่มเติม

รีวิวจาก พี่เอิง นิสิตคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี สาขาวิชาการธนาคารและการเงินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลักสูตรที่เรียนเป็นยังไงบ้าง และทำไมถึงเลือกเรียนคณะนี้?

เราเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต 4 ปี สาขาการธนาคารและการเงิน จริงๆ ตอน ม.ปลาย ก็ไม่รู้ว่าอยากเรียนอะไร แต่ชอบคณิตก็เลยตัดสินใจเลือกคณะที่เกี่ยวกับคณิตศาสตร์ แล้วเห็นว่าคณะนี้โด่งดังในมหาลัยนี้และได้รับการรับรองมาตรฐานด้วยก็เลยเลือก ตอนนั้นเราเข้ามาในรอบ 3 ใช้คะแนน GAT กับ PAT 1 ค่ะ

ส่วนตัวคิดว่า จุฬาฯ เข้ายากไหม?

ส่วนตัวคิดว่า จุฬาฯ เป็นมหา’ลัยที่เข้ายากอยู่นะคะ เพราะคนก็อยากเข้าเยอะ แล้วคนที่เข้าได้ก็จะคะแนนสูงๆ ทั้งนั้นเลย แต่ถ้าเราพยายามที่จะเข้ามาเรียนจริงๆ ก็ไม่น่าเกินความสามารถของใครหลายๆ คน (แล้วคิดว่าเรียนยากไหม?)ถ้าเราชอบก็เรียนไม่ยาก แต่สำหรับเราก็อาจจะยากนิดนึง เพราะก็ไม่ได้เก่งอะไรมากมาย จริงๆ ตอนนี้หวังแค่ว่าพอเรียนจบจะสามารถนำความรู้ตรงนี้ไปทำงานในอนาคตได้

พูดถึงการเดินทางไปเรียนและการเดินทางภายในมหา’ลัยหน่อยค่ะ

สามารถเดินทางไปเรียนด้วย BTS, MRT หรือรถเมล์ก็ได้ค่ะ ส่วนการเดินทางในมหา’ลัยเรามีรถป๊อบคอยรับส่งนิสิตอยู่ทั่วมหา’ลัยเลย หรือโดยทั่วไปจะรู้จักกันในคำว่า ปอพ. (ปรับอากาศพิเศษ) โดยส่วนใหญ่นิสิตที่อยู่ในมหา’ลัยหรือรอบๆ มหา'ลัยที่มีรถป๊อบผ่านก็จะขึ้นกัน เพราะเป็นบริการจากทางมหา’ลัยที่ไม่เสียค่าใช้จ่ายค่ะ

  • ดูรายละเอียดการเดินทางในรั้วมหา’ลัยเพิ่มเติม

รายละเอียดของหอพักนิสิต

หอพักภายในมหา’ลัย

  • ตึกพุดซ้อน
  • ตึกจำปา
  • ตึกจำปี
  • ตึกพุดตาน
  • ตึกชวนชม
  • ดูอัตราค่าที่พักและรายละเอียดของหอในเพิ่มเติม

หอพักภายนอกมหา’ลัย

  • หอพักพวงชมพู (U-Center)
  • หอพักเรือนวิรัชมิตร (CU I-House)
  • หอพักบริเวณใกล้เคียงจุฬาฯ
  • ดูรายละเอียดหอพักนิสิตเพิ่มเติม

กิจกรรมรับน้องเป็นยังไงบ้าง?

เท่าที่เห็นที่ผ่านมาเขาก็จะให้ทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น Freshy Gamesที่เป็นการแข่งกีฬาของปี 1 ซึ่งไม่ได้บังคับให้มาเข้าร่วม แต่ด้วยสถานการณ์โควิดก็ทำให้ปีเราไม่ได้จัดกิจกรรมนี้ แล้วบางกิจกรรมก็ต้องรับน้องผ่านออนไลน์แทน โดยจะมีให้เล่นเกมผ่าน Zoom และมีให้เลือกสายรหัสซึ่งเขาจะนัดไปกินข้าวกันบ้าง หรืออย่าง รับน้องก้าวใหม่จุฬาฯที่จะมีบ้านรับน้องให้เลือกเข้ากันตามความชอบ แต่ถ้าบ้านนั้นเต็มเขาก็จะสุ่มให้ บางบ้านมีเล่นบัดดี้บัดเดอร์ด้วย นอกจากนี้ก็จะมี CBS Nightที่เพิ่งผ่านไป เป็นการจัดคอนเสิร์ตแบบออนไซต์ตอนช่วงเย็นๆ จนถึงช่วงกลางคืนบริเวณคณะเรา สามารถติดตามทางออนไลน์ได้

การจับสายรหัสเป็นยังไงบ้างคะ?

ตอนปีเราพี่ให้สุ่มเลือกจากตัวเลขว่าเราจะได้พี่รหัสเป็นคนไหน แต่ได้ยินมาว่าหลังจากปีเราเขาสุ่มสายรหัสให้เลย พี่ก็จะพาไปกินข้าวบ้าง บางสายพี่ก็จะรีวิววิชาที่ต้องลงในเทอมถัดไปให้ หรือแบ่งปันชีตที่พี่เคยเรียนให้ค่ะ ซึ่งบางทีถ้ารุ่นน้องน้อยกว่าก็อาจจะรวมพี่ 2-3 คนต่อน้อง 1 คน

อาหารการกินทั้งในและนอกมหา’ลัยเป็นยังไงบ้างคะ?

ในมหา’ลัยเราก็คิดว่าราคายังโอเคอยู่ เพราะเป็นราคาสำหรับนิสิต แต่นอกมหา’ลัยราคาอาหารอาจจะแพงหน่อย เพราะพื้นที่แถวนั้นต้องใช้จ่ายเยอะ ถ้าร้านในมหา’ลัยที่แนะนำของคณะเราก็ต้องก๋วยเตี๋ยวต้มยำที่ซุ้มเลยค่ะ ><

ระหว่างรอเรียนคาบต่อไป เด็กจุฬาฯ ชอบไปไหนหรือทำอะไร?

บางทีก็จะกินข้าวแถวๆ คณะหรือภายในมหา’ลัย หรืออาจจะไปแถวห้างพวกจามจุรี สามย่าน หรือแถวบรรทัดทองที่อยู่ใกล้ๆ แล้วกลับมาให้ทันเวลาเรียนค่ะ

พูดถึงบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในมหา’ลัยหน่อยค่ะ

ถ้าแถวคณะเราต้นไม้จะเยอะหน่อย แต่ในวันที่อากาศร้อนๆ ถ้าใต้ตึกไม่เปิดพัดลมก็อบอ้าวเลยค่ะ แต่ถ้าพอมีลมบ้างเราก็ยังพอนั่งได้ แล้วใต้ตึกจะมีเครื่องออกกำลังกายให้ด้วย ส่วนสัตว์แถวคณะเราไม่ค่อยเห็นเลย แต่คณะอื่นพอเห็นอยู่ เช่น แมว ที่คณะอักษรศาสตร์

กลุ่มเพื่อนๆ เป็นยังไงบ้างคะ?

ตั้งแต่เจอกันวันแรกเพื่อนก็เป็นกันเอง มีถามว่าเรียนเซคไหนแล้วเข้าไปเรียนพร้อมกัน พอเลิกคลาสก็อาจจะชวนไปกินข้าวต่อบ้าง เฮฮาไปไหนไปกันค่ะ

แล้วอาจารย์ที่คณะล่ะคะ?

อาจารย์ก็ตั้งใจสอน และมีการเตรียมเนื้อหาก่อนสอนมาอย่างดี ถ้าเราไม่เข้าใจตรงไหนสามารถถามได้เลย สำหรับอาจารย์บางท่านถ้าเราไม่เข้าใจก็เมลไปหาและทิ้งเบอร์โทรไว้ได้ด้วย อาจารย์จะโทรกลับมาอธิบายให้เราฟังค่ะ

จุดเด่นของหลักสูตร พี่เอิงคิดว่าแตกต่างหรือโดดเด่นจากที่อื่นยังไงบ้างคะ?

เท่าที่เห็นเราคิดว่าหลักสูตรและวิชาที่เรียนคล้ายๆ กันเลย ยกเว้นวิชาศึกษาทั่วไปซึ่งกำหนดมาว่าเราต้องลงเรียนกี่ตัวและลงยังไงบ้าง เขาจะจัดวิชาเป็นหมวดหมู่ไว้ให้ แล้วเราก็เลือกเรียนวิชาที่สนใจในแต่ละหมวดหมู่ให้ครบตามที่หลักสูตรกำหนดได้เลย (เรียนมากกว่าที่หลักสูตรกำหนดได้ แต่สำหรับคณะเราต้องขอเปลี่ยนเกรดที่ออกเป็น S/U)

การลงทะเบียนเรียนเป็นยังไงบ้าง?

ตอนปี 1 เทอม 1 จะมีจัดกลุ่มไว้ให้ว่าต้องลงวิชาพวกนี้ เราก็กรอกรหัสกลุ่มแล้วกดยืนยันได้เลย แต่ปีอื่นจะลงเองทั้งหมด โดยมีแค่แนวทางการลงทะเบียนวิชาต่างๆ ในแต่ละเทอมให้ในหลักสูตร แล้วแต่ว่าเราจะลงตามนั้นไหม แต่ส่วนใหญ่ก็จะลงตามนั้นกัน

พูดถึงความพิเศษของคณะ/สาขานี้หน่อยค่ะ

  • ถ้าเป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิตจะใช้ชื่อภาษาอังกฤษเป็น Chula Business Schoolโดยเฉพาะ เพราะเป็นหลักสูตรที่ได้รับการรับรองมาตรฐานระดับโลก AACSB
  • บริษัทจําลอง จุฬากรณ์มหาวิทยาลัย (CBA)คือ บริษัทที่เปิดและจัดตั้งขึ้นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้นิสิตตั้งแต่ชั้นปีที่ 1-4 สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานได้ เช่น ตำแหน่ง SP, SMD, ACC, FIN, SCM, IS, IBC, HR, SPJ, CM, CE ที่ควบคุมการทำงานต่างๆ ในบริษัท โดยคนที่บริหารงานในบริษัทจะเป็นนิสิตทั้งหมดและมีอาจารย์เป็นที่ปรึกษา สำหรับคนที่สมัครในตำแหน่ง SP หรือ Sales Professional ส่วนใหญ่จะเป็นปีหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกหาประสบการณ์ได้ทุกคนเลย ส่วนตำแหน่งอื่นๆ นอกจาก SP ก็จะรับเฉพาะปี 2 เท่านั้นค่ะ
  • ในสาขาการธนาคารและการเงินจะมีห้องปฏิบัติการทางการเงินให้ เรียกได้ว่าเป็นแห่งแรกของเอเชียแปซิฟิคและแห่งเดียวในประเทศไทย มีคอมพิวเตอร์ให้ใช้งานถึง 50 เครื่อง สิ่งที่แตกต่างจากห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ทั่วไป คือ นอกจากมีโปรแกรมมาตรฐานยังมีซอฟต์แวร์ทางการเงินจากผู้ให้บริการระดับโลกเช่น รอยเตอร์ส บลูมเบิร์ก มอร์นิ่งสตาร์ ฐานข้อมูลทางการเงินต่างๆ สำหรับการศึกษา ค้นคว้า และวิจัย เช่น Datastream SDC Platinum WRDS ข้อมูลการซื้อขายหลักทรัพย์จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย นอกจากนี้ยังมีซอฟต์แวร์ประมวลผลทางสถิติได้แก่ STATA, SAS และซอฟต์แวร์จำลองการซื้อขายหลักทรัพย์ได้แก่ FTS และ Rotman Trading Simulations

ถ้าไม่เก่งเลขจะเรียนได้ไหม?

จริงๆ ก็เรียนได้ แต่พอเข้ามาก็ต้องใช้เลขเยอะหน่อย อย่างการเงินที่เราเรียนจะเจอเลขจนจบการศึกษาเลย เพราะด้วยความที่เรียนเกี่ยวกับการเงินก็ทำให้มีวิชาที่ต้องคำนวณหรือใช้สูตรเยอะ แต่ในบางสาขาที่ไม่ใช่การเงินก็อาจจะเจอแค่วิชาแกนที่หลังจากนั้นอาจจะไม่เจออีกเลยค่ะ

พูดถึงการเรียนโดยภาพรวมในแต่ละชั้นปี

หลักสูตรจะให้เราเรียนอยู่ที่ 138 หน่วยกิต ประกอบด้วย วิชาทั่วไป 33 หน่วยกิต วิชาแกน 51 หน่วยกิต วิชาเฉพาะ 48 หน่วยกิต และวิชาเสรี 6 หน่วยกิต

ปี 1ก็จะเรียนวิชาศึกษาทั่วไปกับวิชาแกนก่อน โดยในแต่ละเทอมต้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษอย่างน้อย 1 ตัว นอกจากนี้เราต้องเรียนวิชาแกนที่เป็นวิชาพื้นฐานทั้ง 5 สาขาในหลักสูตรบริหารธุรกิตบัณฑิต เช่น วิชาแคลคูลัสที่เพิ่มเนื้อหาขึ้นมานิดนึงจากตอน ม.ปลาย วิชาบัญชีพื้นฐาน วิชาการเงินพื้นฐาน วิชาสถิติ วิชาเศรษฐศาสตร์ และวิชาที่เกี่ยวกับการตลาด

ปี 2ก็จะเรียนวิชาแกนและวิชาบังคับของสาขา ตอนนั้นที่เราเรียนจะมีวิชาเทคนิคคณิตศาสตร์สำหรับการเงิน วิชาตลาดการเงินและสถาบันการเงิน และวิชาเศรษฐศาสตร์และการเงินมหภาคค่ะ ถ้าเรียนไปแล้วไม่ชอบสาขาที่เรียน เราสามารถย้ายสาขาก่อนที่จะขึ้นปี 3 ได้ค่ะ

ส่วนปี 3 จะเน้นเก็บวิชาแกนให้หมดกับเรียนวิชาบังคับ และปี 4เก็บวิชาบังคับและวิชาเลือกของสาขาเราให้หมดเลย คณะนี้ไม่บังคับฝึกงาน แต่ส่วนใหญ่จะไปหาที่ฝึกงานกันเอง ซึ่งฝึกงานประมาณ 2-3 เดือน ระหว่างปิดเทอมหลังจบปี 3 กำลังจะขึ้นปี 4

  • ดูหลักสูตรบริหารธุรกิตบัณฑิต สาขาวิชาการธนาคารและการเงิน

ควรเตรียมอุปกรณ์การเรียนอะไรไว้บ้าง?

สำหรับคณะนี้คิดว่าที่จำเป็นที่สุดจะเป็นไอแพดค่ะ เพราะส่วนใหญ่อาจารย์จะส่งไฟล์หรือสไลด์เรียนมาเป็นไฟล์ เราก็เขียนผ่านไอแพดได้เลย แล้วที่ผ่านมาก็จะได้ใช้พวก Excel ในรายวิชาการเงินหรือรายวิชาที่เราต้องทำงบ และใช้โปรแกรม SPSS ในวิชาสถิติ โดยใช้คำนวณและเก็บรวบรวมข้อมูลทางสถิติเพื่อวิเคราะห์ข้อมูล

รูปแบบงานที่ต้องทำส่งเป็นยังไงบ้าง?

มีเป็นงานกลุ่มมากกว่างานเดี่ยว ส่วนใหญ่ให้ทำสไลด์แล้วนำมาพรีเซนต์ ส่วนงานเดี่ยวบางทีอาจารย์จะให้การบ้านมาแล้วกำหนดให้ส่งภายในเวลาที่กำหนด หรือบางทีท้ายคาบก็จะมีให้ควิซและส่งงานในคาบเลย งานที่ให้คำนวณอาจจะเยอะหน่อย (ขึ้นอยู่กับแต่ละวิชา) โดยภาพรวมคิดว่าคะแนนสอบจะเยอะกว่าคะแนนงาน เพราะบางวิชาเก็บคะแนนของงานแค่ 10% ส่วนที่เหลือเป็นคะแนนสอบหมดเลยค่ะ

พูดถึงการสอบและการตัดเกรดหน่อยค่ะ เป็นยังไงบ้าง ยากมั้ย?

รูปแบบข้อสอบจะปนๆ กันไป บางวิชาเป็นช้อยส์หรือข้อเขียนทั้งหมด และบางวิชาก็ผสมกันค่ะ โดยจะสอบจากเนื้อหาในสไลด์บ้างและต้องคำนวณบ้าง บางวิชาโจทย์ยาวเป็นหน้าครึ่ง ใน 1 ข้อจะมีพื้นที่กระดาษคำตอบให้ประมาณ 1 หน้าได้ ส่วนจะกี่ข้อขึ้นอยู่กับอาจารย์ผู้สอนเลยค่ะ ถ้าเป็นช้อยส์ล้วนที่เคยเจอเยอะสุดต้องทำ 120 ข้อ ภายใน 3 ชั่วโมง แล้วบางทีถ้าเป็นข้อเขียนล้วนอาจเจอ 5 ข้อใหญ่ที่มีข้อย่อย 3-4 ข้อภายใน 3 ชั่วโมงค่ะ ส่วนใหญ่จะตัด A ประมาณ 80-85 คะแนน และเกือบทุกวิชาเป็นการตัดเกรดแบบอิงเกณฑ์และอิงกลุ่มผสมกันค่ะ ยกเว้นวิชาภาษาอังกฤษที่จะตัดอิงเกณฑ์อย่างเดียว

ชอบ/ประทับใจวิชาอะไรมากเป็นพิเศษ?

วิชาที่ชอบจะเป็นพวกวิชาศึกษาทั่วไปเพราะได้เลือกเรียนจากความชอบของเราเอง แล้วทำให้เราได้ผ่อนคลายและไม่รู้สึกเครียด เช่น Basic Aromatherapyและ Organic Gardeningเพราะเราสนใจพวกน้ำมันหอมระเหยและต้นไม้อยู่แล้ว คิดว่านำไปประยุกต์กับงานอดิเรกของเราได้ด้วย ส่วนวิชาสาขาที่ชอบจะเป็นวิชาเศรษฐศาสตร์ค่ะ

กระซิบนิดนึง วิชาไหนที่คิดว่าโหดที่สุด!

เท่าที่เรียนมาตอนนี้คิดว่าวิชาเทคนิคคณิตศาสตร์สำหรับการเงินยาก บางส่วนเราเรียนไม่เข้าใจ เพราะเรียนเป็นภาษาอังกฤษ โดยวิชานี้เรียนเกี่ยวกับเวกเตอร์และการหาอนุพันธ์ของเวกเตอร์ ฟังก์ชันหลายตัวแปร กฎลูกโซ่ เมทริกซ์ และอนุพันธ์ขั้นสูงต่างๆ

ได้ทำกิจกรรมอะไรในหลักสูตร/รายวิชาบ้าง?

ในรายวิชาที่ได้เรียนมา อย่างเช่นวิชาสถิติก็จะมีให้จับกลุ่มแล้วเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปออกมาเป็นโปรเจกต์ หรือวิชาการบัญชีบริหารก็จะให้คิดธุรกิจที่อยากทำขึ้นมา แล้วใช้สูตรที่เรียนมาวิเคราะห์กับธุรกิจที่เราคิดขึ้นค่ะ

มีผลงานจากรายวิชาหรือกิจกรรมอะไรที่ชอบ/รู้สึกภาคภูมิใจบ้างไหม?

งานที่ภูมิใจส่วนมากก็จะเป็นงานที่เราสามารถทำสำเร็จได้เอง เช่น งานของวิชา Basic Aromatherapyที่เราต้องวาดรูป และคิดประโยชน์ของสิ่งประดิษฐ์ที่เราสร้างขึ้น

พูดถึงภาพจำของเด็กจุฬาฯ

หลายคนเข้าใจว่าเด็กจุฬาฯ เก่ง เป็นพวกสังคมไฮโซ หรือเป็นพวกที่แข่งขันระดับประเทศ แต่ส่วนตัวคิดว่าก็มีผสมกันไปเหมือนกับทุกมหา’ลัยค่ะ มีทั้งคนที่เก่งและคนที่ไม่ได้เก่งมากเข้ามารวมกัน ส่วนสังคมไฮโซก็อาจจะจริงบ้างในบางกลุ่ม แต่โดยปกติแล้วเด็กจุฬาฯ ก็เหมือนเด็กทั่วไปในทุกมหา’ลัยที่จะช่วยกันเรียนและพากันไปเที่ยวบ้างค่ะ

เรียนจบคณะนี้ไปสามารถจบไปประกอบอาชีพอะไรได้บ้าง?

อาจจะเป็นเจ้าหน้าที่วิเคราะห์สินเชื่อ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ หรือวาณิชธนกิจ แต่ถ้าข้ามไปทำงานสายบัญชีอาจจะยากหน่อย เพราะบางบริษัทไม่เปิดรับ และถ้าสาขาบัญชีมาทำงานด้านการเงินจะมีความเป็นไปได้มากกว่าค่ะ

ส่วนตัววางแผนการทำงานไว้ว่ายังไงบ้าง?

ส่วนตัวคิดว่าถ้าจบไปจะหางานทำดูก่อน และอาจจะต่อ ป.โท ในคณะที่สนใจเพื่อต่อยอดความรู้และส่งเสริมอาชีพที่เราทำค่ะ

สุดท้ายนี้ฝากอะไรถึงน้องๆ หน่อย

สำหรับน้องๆ ที่สนใจ และได้ผ่านเข้าการสอบเข้ามาในคณะนี้แล้ว ก็ขอให้มีความสุขกับสิ่งที่เราได้เลือก ไม่ว่าจะเป็นคณะนี้หรือคณะอื่นๆ ในรั้วจามจุรีนะคะ <3<3

  • ดูรายละเอียดเพิ่มเติม

ขอขอบคุณพี่เอิงมากๆ นะคะที่สละเวลาพักผ่อนอันมีค่าหลังจากสอบเสร็จมาแบ่งปันข้อมูลให้กับน้องๆ กัน ถ้ามีข้อสงสัย ข้อเสนอแนะ หรืออยากแสดงความคิดเห็นอื่นๆ สามารถคอมเมนต์ไว้ด้านล่างได้เลยน้า~ (*^*)!