เพลงพื้นบ้านภาคใต้ เพลงฮูลู

เสียง “บานอ” (เครื่องดนตรีประเภทกลองชนิดหนึ่ง นิยมเล่นในหมู่ชาวไทยมุสลิม) สร้างจังหวะคึกคัก ไล่รับกับเสียงฆ้อง ลูกแซ็ก และเครื่องดนตรีอื่นๆ เรียกความสนใจจากผู้ชมให้ขยับล้อมวงเข้ามาชมการแสดง ผสานเสียงเอื้อนทำนองเพลงภาษามลายูจากนักร้องทั้งสาวและหนุ่มที่ตรึงทั้งโสตและสายตาให้ผู้ชมยากจะตัดใจเดินจากไปได้

เช่นเดียวกับบทสนทนาตอบโต้ระหว่างนักแสดง 2 ฝ่าย ที่ทั้งปรารภ สัพยอกหยอกล้อ ไปจนถึงชิงไหวชิงพริบอย่างไม่มีใครยอมใคร เรียกรอยยิ้มและเสียงหัวเราะจากผู้ชมจนไม่มีใครยอมทิ้งพื้นที่หน้าเวทีไปไหน แม้เวลาจะผ่านช่วงดึกถึงค่อนรุ่งแล้วก็ตาม

“ดิเกร์ฮูลู” เป็นการละเล่นพื้นบ้านของชาวไทยมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีจุดเริ่มต้นมาจากกลอนสวดขอพรของชาวไทยมุสลิม คำว่า “ดิเกร์” มาจากภาษาอาหรับว่า ดิเกร์อาวัล หรือดิเกร์อาวา หมายถึง บทสวดหรือการขับร้อง ส่วน “ฮูลู” เป็นภาษามาเลย์ หมายถึง เหนือหรือจุดเริ่มต้น รวมความหมายถึงการแสดงเพลงสวดในเทศกาลสำคัญของชาวมุสลิม

เชื่อว่า “ดิเกร์ฮูลู” มีที่มาจากพ่อค้าชาวเปอร์เชียที่ล่องเรือเข้ามาค้าขายพร้อมกับนำศาสนาอิสลามเข้ามาเผยแพร่ในดินแดนที่เป็นประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซียในปัจจุบัน ชาวมลายูพื้นเมืองได้นำเอาทำนองมาดัดแปลงพร้อมแต่งเนื้อร้องเป็นภาษาพื้นเมืองร้องเล่น ก่อนจะพัฒนาเป็นการละเล่นอย่างเป็นเรื่องเป็นราว มีการแบ่งผู้เล่นเป็น 2 ฝ่ายแต่งกายสวยงาม มีการร้องโต้ตอบกันไปมา โดยใช้ปฏิภาณ ไหวพริบ ประดิษฐ์คารมออกโต้กัน บางครั้งก็ชวนกันพูดเรื่องตลกเฮฮาหรือประยุกต์เรื่องราวการสนทนาให้เข้ากับงานแสดงในโอกาสต่างๆ จนกระทั่งกลายเป็น “ดีเกร์ฮูลู” ที่ฮิตติดลมในพื้นที่ภาคใต้อย่างยากจะหามหรสพใดเทียบ

มะดารี สาและ (ชื่อการแสดง เปาะเต๊ะห์ กูแบอีแก) ในวัย 48 ประธานชมรมศิลปินพื้นบ้าน จังหวัดนราธิวาส “เปาะเต๊ห์ะ” คือหนึ่งในนักแสดงผู้สืบทอดศิลปะการแสดงพื้นบ้านอย่างดิเกร์ฮูลู

“ผมเกิดพ.ศ.2510 สมัยนั้นผมอยู่อำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส แต่ก่อนเด็กๆ บ้านผมมีสวนยาง ทุกวันผมก็กรีดยาง แม่อยู่สวนยาง ก็ร้องเพลงอยู่ในสวนยาง ผมก็ฟังมาตลอด ตอนนั้นเพลงหนุ่มนาข้าว สาวนาเกลือดังมาก ผมก็เอาเพลงนั้นมาแต่งเป็นภาษามลายู เรียกว่าชอบการร้องเพลงการแสดงนี่มาตั้งแต่เด็กๆ”

ส่วนการก้าวเข้าสู่วงการแสดงดิเกร์ ฮูลู เปาะเต๊ะห์บอกว่า เกิดจากชาวบ้านและเยาวชนในหมู่บ้านต้องการจะมีคณะดิเกร์ฮูลู จึงได้รวมตัวกันซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม จนมั่นใจว่าออกงานได้ จึงได้เริ่มรับงานแสดงเรื่อยมา

"ชาวบ้านแถวนั้น เยาวชนแถวนั้นเขาชอบ เขาอยากให้มีคณะดิเกร์เล่นกัน ก็เลยหาอุปกรณ์ หาเครื่องดนตรีมา พอครบอุปกรณ์ก็ทำคณะเล็กๆ ซ้อมกัน ซ้อมร้องเพลง ซ้อมตีบานอ ซ้อมการร่ายรำ การเล่นดนตรี ซ้อมอยู่เป็นเดือนกว่าจะออกงานได้ พอแถวหมู่บ้านมีงานแต่งเขาก็จะมาบอกว่ามีงานแต่งนะ จะให้ไปแสดง เรื่องค่าตัว ค่าแรงเราไม่ได้ระบุว่าต้องเท่าไหร่ ไปแสดงก่อน พอแสดงจบชาวบ้านดูแล้วชอบ ก็เลยมีอีกหลายๆ คนเชิญไป กว่าจะมีชื่อเสียงก็ใช้เวลาอยู่

“ดิเกร์เป็นการละเล่นพื้นบ้านจริงๆ นะ สมัยก่อนเวลามีงานแต่งก็จะคิดกันว่าจะหานักร้องที่ไหนมาร้อง เอาคนเสียงเพราะๆ มาร้อง หาคนมาเล่นดนตรี เอาอุปกรณ์มาตี ร้องเพลงอวยพรให้บ่าวสาว จนกลายเป็นการเล่นดิเกร์สืบทอดกันมา สมัยก่อนไม่มีเวที เล่นบนบ้านเลย สมัยก่อนเล่นกันจริง โต้ตอบกันจริง แพ้ก็แพ้จริง สมัยนี้เน้นสร้างความสุข ความบันเทิง ความสามัคคี ซึ่งการเล่นดิเกร์มันมีบทเพลง มีการสนทนาที่ใส่เนื้อหาเข้าไปได้”

จากเด็กสวนยางที่เล่นดิเกร์ยามว่าง ผ่านมาหลายงานหลายอาชีพ ก่อนที่เปาะเต๊ะห์จะหันมายึดการแสดงดิเกร์ ฮูลู เป็นอาชีพหลักตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา

“ใจมันชอบน่ะ ชอบร้องเพลง ชอบแต่งเพลง เพราะดิเกร์เป็นศิลปะของบ้านเรา เมื่อก่อนทำงานก่อสร้าง ทำงานไปก็ร้องเพลงไป ตอนหลังมาแสดงดิเกร์เต็มตัว ตอนแรกๆ พาคณะดิเกร์ไปแสดงเฉยๆ ยังไม่ได้หัดเขียนเพลง ไม่ได้วางแผน ไม่ได้ออกอัลบั้ม พอมาปี 2550 เริ่มออกอัลบั้มเป็นวีซีดี บันทึกการแสดงไว้เป็นวิดีโอ ทำเองหมด แต่งเพลงเอง เล่นเอง ทำเอ็มวีเอง กำกับเอง ออกมา 10 กว่าชุดแล้ว”

ด้าน ปาตีหย๊ะ เจ๊ะแน (ชื่อการแสดง พาตียะห์ ดังดุ๊ก) หญิงสาวผู้ขับขานบทเพลงในการแสดงดิเกร์ฮูลู เธอเล่าว่า เข้าสู่วงการตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ถึงตอนนี้ก็แสดงมากว่า 20 ปีแล้ว

“เล่นมาตั้งแต่เด็ก ที่เข้ามาเล่นก็เพราะว่าบ้านญาติเป็นนักแสดงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร มีคณะที่บ้าน ก็ซ้อมกันที่บ้านเลย เราอยู่กับตรงนั้นมาก็เลยอยากลอง ก็เลยขึ้นบนเวทีไปซ้อมกับเค้าด้วย ตอนแรกอยากลองดูเฉยๆ คิดว่าให้เล่นก็คงไม่ได้ เพราะการจะร้องจะเล่นให้ตรงกับจังหวะบานอก็ยากเหมือนกัน ก็ฝึกอยู่นานพอสมควรกว่าจะเป็นอาชีพได้ แต่เราชอบไปแล้วก็เลยตั้งใจเล่นเป็นอาชีพไปเลย ตอนนั้นยังเรียนอยู่เลย เรียนไปร้องไป บางวันไปร้องถึงสว่างกลับมาก็แต่งตัวไปเรียนต่อ เรียกว่ารักเลยงานนี้ รักมาก เพราะเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เราเคยเห็น เคยเล่นมาตั้งแต่เด็กๆ”

เปาะเต๊ะห์ อธิบายว่า เวลาออกไปแสดงจะมีเครื่องดนตรีหลายชนิด ที่ขาดไม่ได้คือ บานอทั้งเล็กใหญ่ โหม่ง ฉิ่ง ลูกแซ็ก ฯลฯ พอขึ้นเวทีก็จะมีการเล่นเพลงเปิดการแสดงเป็นการโหมโรง มีการกล่าวขอบคุณเจ้าของงาน ตามด้วยการแสดงขับร้องเพลงพื้นบ้านภาษามลายู

“แต่ละงานเราจะแต่งเนื้อเพลงขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับงานที่ไปแสดง งานแต่งเราก็จะแต่งเพลงเกี่ยวกับการแต่งงาน งานวันพ่อ ตามรอยพ่อ 5 ธันวามหาราษฎร์ก็แต่งเพลงวันพ่อ ระยะเวลาการแสดงก็แล้วแต่งาน ในคณะจะมี 2 ทีม มีนักร้อง 8 คน นักร้องสาว 4 นักร้องชายกับหัวหน้าคณะอีก 4 คน คนตีอุปกรณ์อีก 2 ทีมนี้จะเล่นเหมือนประชันโต้ตอบกัน บางทีก็เล่นติดต่อกัน 3 - 5 ชั่วโมง หรือตั้งแต่ดึกจนเกือบสว่างก็มี”

ที่ขาดไม่ได้สำหรับการแสดงดิเกร์ฮูลู คือบทสนทนาโต้ตอบ ว่ากล่าวกันด้วยโวหาร ที่นอกจากจะสร้างความครื้นเครง ตรึงคนดูให้นั่งอยู่กับที่ไปตลอดการแสดง ยังสามารถสอดแทรกเนื้อหาเพื่อสื่อสาร บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ได้ตรงนี้เช่นกัน

“การแสดงนอกจากมีเพลงแล้วก็ต้องมีเหมือนละครนะ มีการออกมาพูดโต้ตอบกัน ผมจะมีอูเซ็ง (อูเซ็ง อาแซ) เป็นคู่หู อูเซ็งเขาจะเป็นตัวตลก แสดงเป็นคู่หูกัน ถ้าหากว่ามีผมไม่มีอูเซ็ง ก็ไม่สนุกเท่าไหร่ ถ้ามีอูเซ็งไม่มีผมก็เล่นไม่ได้ ไม่เข้าขากัน อูเซ็งเขาเป็นเจ้าตลก เอาตลกแทรกให้ชาวบ้านหัวเราะได้ตลอด นอกจากนั้นถ้าเจ้าภาพมีเนื้อหาอะไรที่จะให้กล่าวในงาน อย่างเป็นงานของหน่วยงานรัฐต้องการให้พูดเรื่องอะไร เราก็เอาเนื้อหาไปแต่งเป็นเนื้อเพลงและกล่าวสด บางทีเราก็แทรกเรื่องการศึกษา ความสามัคคี สมานฉันท์ การต่อต้านยาเสพติด จะแต่งออกมาเป็นเนื้อเพลงให้ชาวบ้านได้รับรู้ มีข่าวสารอะไรก็แทรกเข้าไปในดิเกร์”

ฟาซิยะห์ เสริมว่า “ตอนแรกเริ่มต้นการเล่น ก็ต้องมีการบรรเลงโหมโรงก่อน แล้วต่อไปก็จะเป็นเหมือนการแบ่งทีมโต้วาทีหรือโต้เถียงกัน คุยกันมั่ง เถียงกันมั่ง เล่นยังไงก็ได้ให้คนดูหัวเราะ ต่อจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของนักร้องออกไปร้องเพลง บางคนก็ร้องไปเฉยๆ บางคนก็เล่นให้ตลกด้วย พูดยังไงก็ได้ให้คนดูเค้าหัวเราะ พอจบนักร้องก็จะมีการโต้เถียงกันต่อ สลับกับการร้องเพลงแบบมีการลูกคู่ประสานเสียง มีคนตีกลองช่วยกันร้องด้วย ระยะเวลาก็แล้วแต่ลักษณะของงาน ถ้างานราชการ งานเลี้ยงเริ่มประมาณ 2-3 ทุ่ม งานแต่งเริ่ม 4 ทุ่ม ในคณะแบ่งเป็นทีม จบทีมนึง ต่ออีกทีมนึง กว่าจะเลิกก็ตี 2 ตี 3”

อดไม่ได้ที่จะต้องถามว่า เรื่องของการละเล่นหรือความบันเทิงกับเรื่องของศาสนาไปด้วยกันได้หรือไม่...

“ดิเกร์ไม่ได้ผิดกฎ ศาสนาไม่ห้าม เป็นการแสดง ไม่ได้ทำอะไรให้มันเสียหาย ผมเคยแสดงในปอเนาะ โรงเรียนสอนศาสนาอิสลามก็เคยไปร้อง งานแสดงในมัสยิดก็มี เป็นศิลปะบ้านเรา เนื้อหาเราไม่ได้ว่าใคร เน้นการศึกษา ต่อต้านยาเสพติด เอาเนื้อหามาใช้ได้ประโยชน์ สังคมเขาก็ยอมรับ” เปาะเต๊ะอธิบาย

แม้ว่าปัจจุบันจะมีสื่อบันเทิงหลากหลายรูปแบบมากขึ้น แต่ในพื้นที่ภาคใต้มหรสพพื้นบ้านที่มีอายุยาวนานนับร้อยปีอย่างดิเกร์ฮูลูยังคงความขลังไม่คลาย คณะนักแสดงต่างๆ ยังมีงานแสดงต่อเนื่อง มีบ้างบางช่วงที่งานลดลงตามสภาพเศรษฐกิจและสถานการณ์ในพื้นที่ แต่เรื่องที่จะหายไปเลยนั้นยังมองไม่เห็น

“ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าฝนงานก็น้อยหน่อย จะมีเยอะสุดก็ช่วงที่ว่างานแต่งเยอะๆ งานเลี้ยงเยอะๆ ช่วงที่งานเยอะๆ ก็มีทุกวัน ทั้งงานกลางวัน กลางคืน บางทีวันนึงไปแสดง 2-3 ที่ก็มี เป็นการแสดงที่นิยมมาก ถ้าเป็นงานใหญ่ๆ อย่างงานกาชาดจังหวัดนราธิวาสแสดงแต่ละครั้งคนดูหลายพัน งานเลี้ยง งานแต่งคนจะมาดูเต็มสนาม พูดถึงดิเกร์คนในพื้นที่นราธิวาส ยะลา ปัตตานี เค้าจะชอบมาก บางคนก็ชอบเพราะมีนักร้อง บางคนโดยเฉพาะคนแก่จะชอบดูตลก โดยเฉพาะเปาะเต๊ะกับอูเซ็ง คนชอบมาก มีแฟนคลับเยอะที่สุด” ฟาซิยะห์ อธิบาย

ขณะที่เปาะเต๊ะ เสริมบ้างว่า “สมัยผมแสดงแรกๆ ออกงานเกือบทุกคืน งานตลอดชุกทั้งปี พอมาช่วงหลังๆ 2-3 ปีนี้ก็ไม่ค่อยดี ถ้าคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ก็เหลือประมาณ 70-80 เปอร์เซ็นต์ ปีนี้ก็ถือว่าใช้ได้อยู่ สาเหตุที่งานจะถอยไปหน่อยเพราะเศรษฐกิจกับสถานการณ์บ้านเราด้วย แต่ก็ยังมีงานเรื่อยๆ มีไปเล่นงานแต่ง งานของรัฐ งานของหน่วยงานอบต. มีทุกอย่าง ช่วงหลังเราเข้าไปในเครือข่ายของศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) เป็นศิลปินของศอ.บต.ก็มีงานของศอ.บต. เพิ่มเข้ามา เวลาศอ.บต.ออกหน่วยเคลื่อนที่ก็เอาทีมผมไปแสดง”

ถามถึงพรุ่งนี้ของดิเกร์ฮูลู จะอยู่คู่แดนด้ามขวานไปอีกนานแค่ไหน เปาะเต๊ะมองว่า ศิลปะพื้นบ้านที่อยู่คู่กับคนใต้มานานอย่างดิเกร์ฮูลูยังคงมีอนาคตที่สดใส เพราะไม่ได้มีแต่แฟนคลับรุ่นใหญ่ที่ติดตาม ผู้ชมหน้าใหม่วัยรุ่นที่หันมาสนใจดิเกร์ฮูลูก็มีเพิ่มขึ้นไม่ขาด

“ถือว่าอาชีพนี้ยังพอไปได้ เวลาเราไปแสดงทั้งหน่วยงานราชการ ทั้งชาวบ้านก็ยอมรับ ตอบรับดีมาก คนรุ่นใหม่สนใจมาก สมัยก่อนวัยรุ่น เด็กๆ เขาไม่ชอบ ไม่ฟัง เขาว่าเป็นศิลปะโบราณ แต่พอมาหลังๆ ช่วง 5-6 ปีผ่านมาเหมือนมันดึงดูดหัวใจของวัยรุ่นให้มาสนใจมากขึ้น”

ส่วนหนึ่งคนจะชอบเพราะเราประยุกต์เรื่องราวให้เข้ากับชาวบ้าน เราแต่งเพลงออกมาจะให้มีเนื้อหาตลกๆ เขาฟังแล้วหัวเราะ ฟังแล้วมีความสุข ดูแล้วสบายใจ ได้ยิ้ม ได้หัวเราะ ดิเกร์ฮูลูจึงน่าจะเป็นศิลปะพื้นบ้านที่จะอยู่คู่กับคนใต้ไปอีกนานเปาะเต๊ะสรุป

ลิเกฮูลู ใช้เพลงอะไร

ทำให้ดิเกร์ฮูลูเกือบจะสูญหายไป ในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๑๕ ดิเกร์ฮูลูได้ฟื้นตัวขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเป็นสื่อชาวบ้านให้กับรัฐบาลในการต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ มีการพัฒนาการเล่นโดยได้นำทำนองเพลงอินเดียมาใช้ร้องในมีท่วงทำนองกลอนสดแบบแยกีเกิดขึ้น และนำเพลงวาวบูแลมาใช้เป็นเพลงสุดท้าย ซึ่งยังเป็นธรรมเนียมจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อ

เพลงพื้นเมืองของไทยมีเพลงอะไรบ้าง

รายชื่อเพลงพื้นเมืองต่าง ๆ.
เพลงฉ่อย.
เพลงอีแซว.
เพลงลำตัด.
เพลงปรบไก่.
เพลงกล่อมลูก.
เพลงเรือ.

เพลงใดเป็นเพลงพื้นบ้านของ ภาคใต้

เพลงพื้นบ้านภาคใต้มีค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับภาคอื่นๆ แต่ยังรักษา รูปแบบพื้นเมืองได้มาก นิยมเล่นกันเองตามเทศกาลต่างๆ โดยไม่มีการรับจ้าง แสดง และไม่ถือเป็นอาชีพ เพลงพื้นบ้านภาคใต้ที่สำคัญๆ ได้แก่ เพลงเรือ เพลง บอก เพลงนา เพลงกล่อมนาคหรือแห่นาค และเพลงร้องเรือหรือเพลงชาน้องซึ่ง เป็นเพลงกล่อมเด็ก

เพลงพื้นบ้านภาคใต้นิยมใช้ภาษาใดในการขับร้อง

2. เพลงที่ร้องไม่จำกัดโอกาส ได้แก่ เพลงตันหยง ซึ่งนิยมร้องในงานบวช งานแต่งงาน งานขึ้นปีใหม่ และงานมงคลต่าง ๆ เพลงเด็กที่ร้องกล่อมเด็กให้หลับ และเพลงฮูลู หรือลิเกฮูลู ที่เป็นการร้องคล้าย ๆ ลำตัด โดยมีรำมะนา เป็นเครื่องดนตรีประกอบจังหวะกับบทขับร้องภาษาท้องถิ่นคือภาษามลายูเป็นกลอน โต้ตอบ