งาน วิจัย เกี่ยว กับ ฝุ่น ละออง

วารสารสิ่งแวดล้อม

ENVIRONMENTAL JOURNAL

  1. หน้าแรก
  2. ฉบับที่ 3 กรกฎาคม-กันยายน 2564

บทความ: ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในอาคารและสถานศึกษา

การอ้างอิง: ศิลาลักษณ์ โกรฟ, รักจิต กัลยาณะธรรม, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ, ณัฏฐา ฐานีพานิชสกุล. (2564). ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในอาคารและสถานศึกษา. วารสารสิ่งแวดล้อม, ปีที่ 25 (ฉบับที่ 3).


บทความ: ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ในอาคารและสถานศึกษา

ศิลาลักษณ์ โกรฟ 1, รักจิต กัลยาณะธรรม 2, สุทธิรัตน์ กิตติพงษ์วิเศษ 1,2, ณัฏฐา ฐานีพานิชสกุล 3 
1 หลักสูตรสิ่งแวดล้อม การพัฒนาและความยั่งยืน (Environment Development and Sustainability) บัณฑิตศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


งาน วิจัย เกี่ยว กับ ฝุ่น ละออง

PM 2.5 กับสถานการณ์โรคระบบทางเดินหายใจ
มลพิษทางอากาศนับเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมอันดับต้น ๆ ของประเทศมาแล้วกว่าศตวรรษ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยเฉพาะผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ปอดและถุงลมปอด ซึ่งเป็นอวัยวะในการแลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจน และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด ซึ่งการรับสัมผัส PM2.5 ในระยะยาวอาจนำไปสู่สาเหตุการเกิดมะเร็งปอดได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อสภาพความเป็นอยู่และรูปแบบการใช้ชีวิตของประชาชนผู้รับสัมผัสอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2563) ได้รายงานผลแนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน จากสถานีตรวจวัด 16 แห่ง ระหว่างวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2561 ถึง 20 มกราคม พ.ศ. 2563  ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่าจำนวนของผู้ป่วยที่มีอาการทางระบบทางเดินหายใจมีแนวโน้มสัมพันธ์กับความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศ โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ได้แก่ เดือน พฤศจิกายน ธันวาคม มกราคม และมีแนวโน้มลดลงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นต้นไป (รูปภาพที่ 1) ขณะเดียวกัน ข้อมูลของสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย อ้างอิงข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (2549) ยังได้รายงานระดับอันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน และ 10 ไมครอน (PM10) ที่ส่งผลต่อการเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในระยะสั้นลง 1.2 – 5.0% โดยประมาณ (ตารางที่ 1) 

งาน วิจัย เกี่ยว กับ ฝุ่น ละออง

รูปภาพที่ 1 แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยและค่าเฉลี่ยปริมาณฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัด 16 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล
ที่มา: กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (2563)

ตารางที่ 1 อันตรายของฝุ่นละอองขนาดเล็กต่อร่างกายมนุษย์ที่ความเข้มข้นต่าง ๆ โดยองค์การอนามัยโลก 

PM10 (µg/m3) PM2.5 (µg/m3) ผลกระทบต่อร่างกายมนุษย์
150 75 เพิ่มอัตราการเสียชีวิตระยะสั้น 5.0%
100 50 เพิ่มอัตราการเสียชีวิตระยะสั้น 2.5%
75 37.5 เพิ่มอัตราการเสียชีวิตระยะสั้น 1.2%
50 25 ระดับที่กำหนดไว้ใน Air Quality Guideline

ที่มา: สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย (2559)

PM2.5 ภายในอาคารและสถานศึกษา
ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5  มิใช่เพียงเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมที่พบในพื้นที่กลางแจ้งภายนอกอาคารเท่านั้น หากแต่พื้นที่ในอาคารยังตรวจพบฝุ่นละออง PM2.5  จากการถ่ายเทของอากาศจากภายนอกเข้ามาสู่ภายในอาคารผ่านช่องประตู หน้าต่าง หรือการเปิดเข้า-ออกของประตู ทั้งนี้ จากการศึกษาของ Ji และ Zhao (2015) พบความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างความเข้มข้นของ PM2.5  ภายนอกและภายในอาคาร กล่าวคือ หากสภาพแวดล้อมของภายนอกอาคารนั้น ๆ มีค่าความเข้มข้นของ PM2.5   สูง จะส่งผลให้ระดับ PM2.5  ที่ตรวจพบในพื้นที่อาคารมีค่าสูงไปด้วย และส่งผลกระทบต่อผู้อาศัย หรือบุคลากรที่ทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันอยู่ในพื้นที่อาคารดังกล่าว บุคคลเหล่านี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจาก PM2.5  อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ รูปภาพที่ 2 แสดงความแตกต่างของสีแผ่นกรองอากาศ (Air Filter) ของเครื่องปรับอากาศในห้องขนาด 45 ตารางเมตรที่ใช้แล้ว (ระยะเวลาการใช้งานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน) ในช่วงเดือน สิงหาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เทียบกับสีของแผ่นกรองอากาศใหม่ที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า คราบฝุ่นที่ติดอยู่บนแผ่นกรองอากาศมีปริมาณมาก แม้ว่าจะมีการเปิดเครื่องปรับอากาศเพื่อใช้งานเพียง 8 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งเป็นระยะเวลาการทำงานทั่วไปในแต่ละวัน (Office Hour) โดยไม่ได้เปิดใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารและผลกระทบทางสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นจากการรับสัมผัสทางการหายใจตลอดระยะเวลาการใช้งานอาคาร

งาน วิจัย เกี่ยว กับ ฝุ่น ละออง

รูปภาพที่ 2 แสดงความแตกต่างของ (a) สีของแผ่นกรองอากาศของเครื่องปรับอากาศที่ผ่านการใช้งานแล้ว ในช่วงเดือน สิงหาคม ถึงเดือน พฤศจิกายน พ.ศ.2563 (ระยะเวลาใช้งานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน) กับ (b) แผ่นกรองอากาศแผ่นใหม่ที่ยังไม่ได้ใช้งาน

สำหรับปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่อาคารของสถานศึกษาเป็นประเด็นที่เริ่มได้รับความสนใจในการศึกษาวิจัย อาทิ Rovelli และคณะ (2014) ได้วิจัยเกี่ยวกับคุณภาพอากาศภายในห้องเรียน พบอนุภาค PM2.5 ขนาดเล็กภายในห้องเรียนที่มีความสัมพันธ์กับการปนเปื้อนของ PM2.5 ภายนอกอาคาร ส่งผลให้นักศึกษาและบุคลากรในสถานศึกษาเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 เนื่องจากต้องใช้เวลาในสถานศึกษาทั้งภายนอกอาคารและภายในอาคารประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน นักศึกษาของสถาบันศึกษาของประเทศไทยโดยปกติแล้วต้องมีการเปลี่ยนห้องเรียน เปลี่ยนอาคารเรียนในการเรียนแต่ละสาขาวิชาของตน การเดินทางระหว่างการเปลี่ยนชั้นเรียนระหว่างอาคารจึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น บุคลากรในสถานศึกษา เช่น อาจารย์ เจ้าหน้าที่ธุรการ งานเอกสารต่าง ๆ ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในห้องทำงาน หากห้องทำงานไม่มีประสิทธิภาพในการควบคุม PM2.5 เท่ากับว่าบุคลากรทางการศึกษาเหล่านี้ได้มีความเสี่ยงต่อการรับสัมผัส PM2.5 ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลงานวิจัยด้าน Indoor Air Pollution โดยเฉพาะข้อมูลสถานการณ์ รวมไปถึงความเชื่อมโยงของกิจกรรมและแหล่งกำเนิดที่ส่งผลต่อการตรวจพบฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ในอาคาร 

ตารางที่ 2 งานวิจัยด้านฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ภายในอาคาร

กรณีศึกษา (เมือง: ประเทศ)

สรุปผลวิจัย อ้างอิง
Queensland: ออสเตรเลีย ความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กในอาคารมีความสัมพันธ์กับภายนอกอาคารอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งมีแนวโน้มว่ามาจากการปล่อยมลพิษจากการจราจร Guo และคณะ (2010) 
Rome: อิตาลี ผลการวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นละออง (Chemical Composition) ที่พบทั้งภายในและนอกอาคารเรียนของ 3 โรงเรียนในกรุงโรม ประเทศอิตาลี พบองค์ประกอบทางเคมีของฝุ่นส่วนใหญ่มาจากกิจกรรมการเผาไหม้ การจราจร เป็นต้น Tofful และคณะ (2014) 
Barcelona: สเปน ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ภายนอกอาคารมีค่าสูงเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ภายในอาคาร และการจราจรเป็นแหล่งกำเนิดหนึ่งของฝุ่นละอองภายในบริเวณโรงเรียน Rivas และคณะ (2014) 
Northeastern: สหรัฐอเมริกา ผลการศึกษาสถานการณ์และแหล่งกำเนิด PM2.5 ภายในอาคารของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน (Inner-City Schools) พบ 6 แหล่งกำเนิดหลักของฝุ่น PM2.5 จากภายนอกอาคาร ได้แก่ 1. สารมลพิษอากาศทุติยภูมิ (Secondary Pollution: ร้อยละ 41) 2. ยานยนต์ (Motor Vehicles: ร้อยละ 17) 3. การเผาไหม้ชีวภาพ (Biomass Burning: ร้อยละ 15) 4. อนุภาคที่มีองค์ประกอบแคลเซียมเป็นหลัก ซึ่งพบได้จาก ฝุ่นจากถนน ปูนซีเมนต์ที่เสื่อมสภาพ ฝ้าบุผนังที่ผุกร่อน เป็นต้น (Calcium (Ca)-Rich Particles: ร้อยละ 12) 5. ฝุ่นจากดิน (Soil Dust: ร้อยละ 6) และ 6. ละอองในอากาศจากทางทะเล (Marine Aerosols: ร้อยละ 4). Carrion และคณะ (2019) 
Kuala Lumpur: มาเลเซีย ผลการศึกษาการรับสัมผัสฝุ่นและ PM2.5 ของเด็กนักเรียนทั้งจากการสัมผัสจากภายในและภายนอกอาคารเรียนพบว่า กิจกรรมของนักเรียนทั้งภายในและภายนอกห้องเรียน ล้วนแต่ส่งผลต่อการรับสัมผัสฝุ่นและ PM2.5 อาทิ การเพิ่มขึ้นฉับพลันของ PM2.5  เวลา 10:00 ซึ่งเป็นช่วงระหว่างพักเรียน และระหว่างการเดินออกจากห้องเรียนของนักเรียน อีกทั้งยังพบค่า PM2.5 สูงสุดเมื่อเวลา 10:30 ซึ่งเป็นเวลาที่นักเรียนเดินกลับเข้าห้อง เป็นต้น  Othman และคณะ (2019) 
Pathumwan: ไทย ประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสสาร Polycyclic Aromatic Hydrocarbons (PAHs) ที่เคลือบบนอนุภาคฝุ่น PM2.5 ทางการหายใจของคนที่อาศัยในย่านที่พักอาศัยในตัวเมืองชั้นในของกรุงเทพมหานคร Parnnarong, K. (2014) 
Selangor: มาเลเซีย คนที่ทำงานในพื้นที่ที่มีค่า PM2.5  สูงกว่า 53.88 µg/m3 มีแนวโน้มการเกิดภาวะ Sick Building Syndrome สูงประมาณ 7 เท่า เมื่อเทียบกับคนทำงานในพื้นที่ที่ค่า PM2.5  น้อยกว่า 53.88 µg/m3 Zamani และคณะ (2013) 
Barcelona: สเปน ห้องเรียนที่มีที่ตั้งและทิศทางของหน้าต่างที่ตั้งอยู่ฝั่งเดียวกับถนนและย่านจราจร พบค่า PM2.5 สูงกว่าห้องเรียนที่มีหน้าต่างและรับอากาศจากฝั่งตึกเรียนอื่นหรือทางสนามเด็กเล่น Amato และคณะ (2014)
Barcelona: สเปน ปัจจัยที่มีผลต่อระดับ PM2.5 ในอาคาร ได้แก่ การเปิดปิดหน้าต่าง ประเภทของหน้าต่าง อายุของอาคาร เป็นต้น  Rivas และคณะ (2015)
Northeast States: สหรัฐอเมริกา  การวิจัยด้าน Modeling Indoor Particulate Exposures in Inner-City School Classrooms ของโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในเขตเมืองชั้นใน พบว่า ระดับมลพิษภายนอกมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมภายในอาคาร โดยเฉพาะ อนุภาคจำพวก Black Carbon ที่แทรกซึมเข้ามาในโรงเรียนและห้องเรียน  Gaffin และคณะ (2017) 
Beijing: จีน  การศึกษาและประเมินคุณภาพอากาศภายในอาคารของห้องเรียนระดับประถมศึกษา พบว่า ถึงแม้ว่าจะมีการปิดหน้าต่างและประตูของอาคารเรียนแล้ว แต่ระดับความเข้มข้นของ PM2.5 ในอาคารยังคงสูงถึงร้อยละ 60 -70 ของปริมาณ PM2.5 ภายนอกอาคาร  Hou และคณะ (2015)
Bangkok: ไทย ระดับ PM2.5  ที่วัดได้ภายในอาคารมีความเข้มข้นสูงกว่าภายนอกอาคาร เนื่องจากมีแหล่งกำเนิด PM2.5 เช่น ร้านค้า ร้านอาหาร เป็นต้น ในขณะที่ผลศึกษาพบว่าค่า PM2.5 ภายในหอพักพยาบาลมีค่าน้อยกว่าด้านนอกอาคาร สาเหตุอาจเนื่องมาจากไม่พบแหล่งกำเนิด PM2.5 ในบริเวณใกล้เคียง Tsai และคณะ (200)
Athens: กรีซ ผลวิจัยตรวจพบค่าฝุ่นละอองสูงในพื้นที่โรงยิมที่มีการเข้าใช้บริการในสถานศึกษา ในขณะที่พบค่าฝุ่นละอองในระดับที่ต่ำในบริเวณห้องสมุด  Diapouli และคณะ (2008) 
Urban Areas: อินเดีย การศึกษาสถานการณ์ของฝุ่นละอองในห้องเรียนที่มีการระบายอากาศทางธรรมชาติ (Naturally Ventilated Classrooms) ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เมือง พบว่าทั้ง PM2.5 และ PM10 ในอาคารเรียนมีค่าสูงกว่านอกอาคารในช่วงวันธรรมดาเนื่องจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในอาคาร  Goyal และคณะ (2011)
Mountain West: สหรัฐอเมริกา ค่าฝุ่นละอองในห้องเรียนมีค่าสูงกว่าที่ตรวจพบในบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง สาเหตุอาจเนื่องมาจากห้องเรียนมีผู้เข้าใช้ต่อปริมาณพื้นที่มากกว่าพื้นที่ส่วนกลาง 

Eriandson และคณะ (2019)


ในส่วนของประเทศไทย กรมอนามัย ได้นำเสนอคู่มือแนวทางลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพจากฝุ่น PM2.5  สำหรับสถานศึกษา โดยมีเนื้อหา 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 คือ การเตรียมความพร้อมระหว่างเปิดภาคเรียน และส่วนที่ 2 คือ แนวทางการปฏิบัติระหว่างเปิดภาคเรียน โดยเนื้อหาส่วนที่ 1 ยึดกรอบแนวทางทั้ง 6 มิติ อ้างอิงจากโครงการเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติและองค์กรภาคี ดังรายละเอียดต่อไปนี้

มิติที่ 1 ความปลอดภัยจากการลดและป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 อาศัยการ 1) ทำความสะอาดแหล่งสะสมฝุ่น 2) ระบายอากาศในห้อง 3) จัดสภาพแวดล้อมเพื่อป้องกันฝุ่น เช่น ปลูกต้นไม้ดักจับฝุ่นละออง กำหนดพื้นที่ในการป้องกันไม่ให้เกิดฝุ่น PM2.5 เป็นต้น 

มิติที่ 2 การเรียนรู้ อาศัยแนวทาง 1) การให้ความรู้เกี่ยวกับ PM2.5  แก่นักเรียน นักศึกษา 2) บูรณาการกิจกรรมส่งเสริมพัฒนาในการเรียนการสอน 3) ประชาสัมพันธ์เรื่องการป้องกันตนเอง

มิติที่ 3 ครอบคลุมความรู้ให้ทั่วถึง ทั้งนักเรียนนักศึกษาที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและการเรียนรู้รวมถึง นักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ห่างไกล ประกอบด้วย 1) จัดหาสื่อการเรียนรู้โดยคำนึงถึงข้อจำกัดของผู้เรียน 2) ปรับปรุงแบบการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับบริบท

มิติที่ 4 สวัสดิภาพและการคุ้มครอง ประกอบด้วยกิจกรรม 1) การจัดเตรียมแผนรองรับด้านการเรียนการสอนในช่วงที่ PM2.5  ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ 2) เฝ้าระวังสุขภาพของนักเรียนนักศึกษา 3) เตรียมความพร้อมของห้องพยาบาล

มิติที่ 5 นโยบาย ประกอบด้วย 1) การกำหนดนโยบายและมาตรการและให้ทำตามอย่างเคร่งครัด 2) การจัดอบรมครูและบุคลากรในสถานศึกษาให้มีความรู้ความเข้าใจ 3) กำหนดบทบาทและหน้าที่ให้ครูในด้านการพยาบาลเกี่ยวกับ PM2.5 4) แต่งตั้งแกนนำอาสาสมัครช่วยดูแลสุขภาพ จากนักเรียน นักศึกษา 5) ให้ความรู้ความเข้าใจกับผู้ปกครองของนักเรียนนักศึกษา 6) ประเมินการเตรียมพร้อม เพื่อเตรียมตัวก่อนเกิดปัญหา PM2.5  7) เตรียมความพร้อมระบบการกำกับและติดตามการการดำเนินงาน

มิติที่ 6 การบริหารการเงิน ประกอบด้วย 1) การพิจารณาการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม 2) จัดหาวัสดุอุปกรณ์ป้องกันฝุ่น PM2.5  เช่น หน้ากากป้องกันฝุ่น เป็นต้น

ส่วนที่ 2 แนวทางการปฏิบัติระหว่างเปิดภาคเรียนในระยะเกิดสถานการณ์ คือ ในช่วงที่ฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 50 µg/m3 ประกอบด้วยแนวทางหลัก 4 ด้าน ดังนี้ 1) แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้บริหารสถานศึกษาหรือผู้อำนวยการศึกษา ครอบคลุมการประกาศนโยบายการปฏิบัติและกำหนดการดำเนินงาน รวมถึงพิจารณาการปิดสถานศึกษา ในกรณีที่ค่าความเข้มข้นของ PM2.5  มีมากกว่า 91 µg/m3 ติดต่อกัน 3 วัน หรือหาก PM2.5  มีค่ามากกว่าหรือเท่ากับ 151 µg/m3 หรือลักษณะสภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่มีลักษณะเปิดโล่ง รวมไปถึงหากสถานการณ์ด้านสุขภาพของนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจาก PM2.5 จำนวน 10 คนขึ้นไป 2) แนวทางปฏิบัติสำหรับครูหรือผู้ดูแลนักเรียนนักศึกษา ติดตามสถานการณ์ PM2.5 ผ่านทุกช่องทาง ดูแลสุขภาพทั้งตนเองและเด็กในความดูแล ป้องกันตนเองทั้งในด้านของสถานที่และการดูแลส่วนบุคคล 3) แนวทางการปฏิบัติสำหรับนักเรียนนักศึกษาหรือแกนนำนักเรียนนักศึกษา ใส่หน้ากากและเลี่ยงกิจกรรมนอกอาคาร สังเกตอาการตนเอง ทำความสะอาดห้องเรียน แกนนำติดตามสถานการณ์ในทุกช่องทาง ให้ความรู้ เฝ้าสังเกตดูแลความเรียบร้อยของเพื่อนนักเรียน นักศึกษา เป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติตนเองเพื่อป้องกัน PM2.5 4) แนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ปกครอง ติดตามสถานการณ์ในทุกช่องทาง ดูแลเด็กโดยเฉพาะระหว่างที่มีกิจกรรมการเรียนการสอนนอกอาคาร จัดหาหน้ากากให้เด็ก และสังเกตอาการบุตรหลานจากผลกระทบจากปัญหา PM2.5

สรุปและอภิปราย
ฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมสำคัญของประเทศไทย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยเพิ่มมากขึ้น รวมถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ภายในกลุ่มอาคารที่มีการใช้งานในรูปแบบเฉพาะเจาะจง เช่น สถานศึกษา และโรงเรียน รวมถึงอาคารทั่วไป ยังคงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่รอการแก้ไข ในการแก้ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 อย่างยั่งยืนต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชน แนวทางการออกข้อกำหนดบทกฎหมายที่เฉพาะเจาะจงกับปัญหาอาจเป็นหนึ่งแนวทางที่สามารถสนับสนุนการแก้ปัญหา แต่อย่างไรควรดำเนินการควบคู่กับการสร้างความตระหนักรู้ด้านฝุ่นละออง PM2.5 ให้แก่ประชาชนเพื่อการจัดการปัญหาอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ในสถานศึกษาและอาคารทั่วไปอย่างยั่งยืน ต้องอาศัยความร่วมมือของหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษา รวมไปถึงบทบาทด้านกฎหมายที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาดังกล่าว โดยเฉพาะการควบคุมและบรรเทาปัญหาตามสาระที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมของชาติ พ.ศ.2535 พระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 เป็นต้น นอกจากนี้ ระบบการประเมินและมาตรฐานการบ่งชี้อาคารสีเขียว (Green Building) ควรคำนึงถึงรูปแบบและแนวทางการจัดการคุณภาพอากาศภายในอาคารที่ยั่งยืน เป็นรูปธรรม และสนับสนุนให้มีการจัดทำฐานข้อมูลความเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพจากการรับสัมผัสมลสารอากาศภายในอาคารของผู้ใช้งานและผู้อยู่อาศัยอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง


กิตติกรรมประกาศ 
บทความวารสารฉบับนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากกองทุนรัชดาภิเษกสมโภช จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง  CU-SEI Joint Research Cluster Proposal Transdisciplinary Research to Support SDG Implementation


งาน วิจัย เกี่ยว กับ ฝุ่น ละออง


เอกสารอ้างอิง
Amato, F., Rivas, I., Viana, M., Moreno, T., Bouso, L., Reche, C., ... & Querol, X. (2014). Sources of indoor and outdoor PM2. 5 concentrations in primary schools. Science of the Total Environment, 490, 757-765.
Carrion-Matta, A., Kang, C. M., Gaffin, J. M., Hauptman, M., Phipatanakul, W., Koutrakis, P., & Gold, D. R. (2019). Classroom indoor PM2. 5 sources and exposures in inner-city schools. Environment international, 131, 104968.
Diapouli, E., Chaloulakou, A., Mihalopoulos, N., & Spyrellis, N. (2008). Indoor and outdoor PM mass and number concentrations at schools in the Athens area. Environmental monitoring and assessment, 136(1-3), 13-20.
Erlandson, G., Magzamen, S., Carter, E., Sharp, J. L., Reynolds, S. J., & Schaeffer, J. W. (2019). Characterization of Indoor Air Quality on a College Campus: A Pilot Study. International journal of environmental research and public health, 16(15), 2721.
Gaffin, J. M., Petty, C. R., Hauptman, M., Kang, C. M., Wolfson, J. M., Awad, Y. A., ... & Coull, B. A. (2017). Modeling indoor particulate exposures in inner-city school classrooms. Journal of exposure science & environmental epidemiology, 27(5), 451-457.
Goyal, R., & Khare, M. (2011). Indoor air quality modeling for PM 10, PM 2.5, and PM 1.0 in naturally ventilated classrooms of an urban Indian school building. Environmental monitoring and assessment, 176(1-4), 501-516.
Guo, H., Morawska, L., He, C., Zhang, Y. L., Ayoko, G., & Cao, M. (2010). Characterization of particle number concentrations and PM 2.5 in a school: Influence of outdoor air pollution on indoor air. Environmental Science and Pollution Research, 17(6), 1268-1278.
Hou, Y., Liu, J., & Li, J. (2015). Investigation of indoor air quality in primary school classrooms. Procedia Engineering, 121, 830-837.
Othman, M., Latif, M. T., & Matsumi, Y. (2019). The exposure of children to PM2. 5 and dust in indoor and outdoor school classrooms in Kuala Lumpur City Centre. Ecotoxicology and environmental safety, 170, 739-749.
Parnnarong, K. (2014). HEALTH RISK ASSESSMENT OF INHALATION EXPOSURE TO PAHs ADSORBED ON PM2. 5 AT RESIDENTIAL AREAS LOCATED IN THE INNER CITY OF BANGKOK (Doctoral dissertation, Chulalongkorn University).
Rivas, I., Viana, M., Moreno, T., Pandolfi, M., Amato, F., Reche, C., ... & Querol, X. (2014). Child exposure to indoor and outdoor air pollutants in schools in Barcelona, Spain. Environment international, 69, 200-212.
Rivas, I., Viana, M., Moreno, T., Bouso, L., Pandolfi, M., Alvarez-Pedrerol, M., & Querol, X. (2015). Outdoor infiltration and indoor contribution of UFP and BC, OC, secondary inorganic ions and metals in PM2. 5 in schools. Atmospheric Environment, 106, 129-138.
Tofful, L., & Perrino, C. (2015). Chemical composition of indoor and outdoor PM2. 5 in three schools in the city of Rome. Atmosphere, 6(10), 1422-1443.
Tsai, F. C., Smith, K. R., Vichit-Vadakan, N., D OSTRO, B. A. R. T., Chestnut, L. G., & Kungskulniti, N. (2000). Indoor/outdoor PM 10 and PM 2.5 in Bangkok, Thailand. Journal of Exposure Science & Environmental Epidemiology, 10(1), 15-26.
Zamani, M. E., Jalaludin, J., & Shaharom, N. (2013). Indoor air quality and prevalence of sick building syndrome among office workers in two different offices in Selangor. American Journal of Applied Sciences, 10(10), 1140.

เอกสารดาวน์โหลด

ej_2564_3_1

สารบัญ