การจดทะเบียนได้มาโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

การครอบครองปรปักษ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 “บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลา10 ปี ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์” ที่ดินที่จะถูกครอบครองปรปักษ์ได้ จะต้องเป็นที่ดินของผู้อื่นที่มีหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ (โฉนดที่ดิน, โฉนดแผนที่, โฉนดตราจองตราจองที่ตราว่าได้ทำประโยชน์แล้ว แต่ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จะถูกครอบครองปรปักษ์ไม่ได้ คงมีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น แต่กรณีหากมีการเปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นโฉนดที่ดินย่อมต้องนับระยะเวลาตามกฎหมายว่าด้วยการครอบครองปรปักษ์ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382

อ้างถึงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 299/2560

การร้องขอให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองปรปักษ์ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น เป็นการโต้แย้งเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่น ซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะมีได้แต่ในที่ดินที่มีโฉนดเท่านั้น จึงจะถือว่าผู้ร้องขอมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นเจ้าของได้ ที่ดินที่มีเอกสารสิทธิเป็นอย่างอื่น เช่น หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ที่ผู้ครอบครองมีเพียงสิทธิครอบครองนั้น ไม่สามารถร้องขอครอบครองปรปักษ์ได้ ที่โจทก์บรรยายฟ้องตอนแรกว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์และภริยาโดย ส. ยกให้ขณะที่ดินมีเอกสารสิทธิเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) จึงเป็นการบรรยายถึงที่มาแห่งการเข้าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ว่า โจทก์ได้สิทธิในการครอบครองที่ดินพิพาทมาอย่างไร หากเป็นการครอบครองโดยอาศัยสิทธิผู้อื่น มีการบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือหรือไม่ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่ถือว่าการครอบครองของโจทก์เป็นการปรปักษ์ต่อเจ้าของเพราะที่ดินพิพาทยังมิได้มีการออกโฉนดที่ดิน ต่อเมื่อที่ดินพิพาทมีการเปลี่ยนจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นโฉนดที่ดินแล้ว ผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินย่อมมีกรรมสิทธิ์แสดงความเป็นเจ้าของในที่ดินพิพาทได้ การครอบครองปรปักษ์จึงจะต้องเริ่มต้นนับระยะเวลาตั้งแต่นั้น ตามหลักเกณฑ์ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382

ผู้ที่ครอบครองครบตามเงื่อนไขทั้งห้าข้อดังกล่าวก็ได้กรรมสิทธิ์  และถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ครอบครองเป็นที่ดิน ก็ต้องเป็นที่ดินที่มีโฉนดจึงจะครอบครองปรปักษ์ได้หากเป็นที่ดินไม่มีโฉนดเช่นที่ดินเป็น นส. 3 หรือ นส.3 ก. จะครอบครองปรปักษ์ไม่ได้

ท่านที่สนใจ ศึกษาเพิ่มเติมได้ตามกฎหมายและคำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์

1.คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ฎีกาที่ 13969/2558  บุคคลจะได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นที่ดินนั้นจะต้องเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์เสียก่อน  จึงจะถูกอ้างการครอบครองปรปักษ์ได้  ที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองแม้จะมีเจตนาครอบครองอย่างเป็นปรปักษ์ก็หาได้ไปซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นสิทธิคนละประเภทกับสิทธิครอบครองที่มีอยู่แต่เดิมไม่  เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดิน น.ส.3 ก.  ที่มีเพียงสิทธิครอบครอง  โจทก์จึงไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินพิพาทได้

2.คำพิพากษาศาลฎีกาที่  9788/2553 การครอบครองที่ดินของผู้อื่นจนได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 นั้น ผู้ครอบครองต้องครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี การที่จะพิจารณาว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของหรือไม่ จึงต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์แห่งการเข้ายึดถือครอบครองอยู่อาศัยของจำเลยในที่ดินพิพาทว่าเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของหรือไม่

ที่ดินของโจทก์มีผู้บุกรุกเข้าไปปลูกบ้านอยู่อาศัยจำนวนมากจนเป็นชุมชนแออัด สถาพบ้านที่ปลูกอยู่กันอย่างแออัด มีลักษณะไม่แน่นหนาถาวร ใช้สังกะสีและไม้เก่ามาปลูกสร้าง สามารถปลูกสร้างต่อเติมและรื้อถอนได้โดยง่าย สภาพบ้านของจำเลยซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีลักษณะเป็นบ้านชั้นเดียวอยู่ในสภาพไม่แน่นหนาถาวร ฝากั้นด้วยไม้และสังกะสีเก่า หลังคามุงด้วยสังกะสีเก่า มีสภาพต้องซ่อมแซมบ่อย ลักษณะการปลูกสร้างอยู่เบียดเสียดแทรกอยู่กับบ้านหลังอื่น ไม่มีแนวเขตที่ชัดเจน ตัวบ้านไม่มั่นคงแข็งแรง การปลูกสร้างเข้าลักษณะเป็นการปลูกสร้างเพื่ออยู่อาศัยชั่วคราว พร้อมที่จะรื้อถอน ซึ่งการเข้ามาปลูกบ้านในลักษณะนี้เป็นการกระทำโดยพลการ อาศัยโอกาสที่ผู้บุกรุกเข้ามาปลูกสร้างบ้านอยู่ในที่ดินของโจทก์จำนวนมาก จึงยากในการตรวจสอบว่าเป็นบ้านของใคร และแม้บ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีเลขที่บ้านและได้ขอติดตั้งน้ำประปาและไฟฟ้า และจำเลยแสดงแก่บุคคลทั่วไปว่าบ้านดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยเพียงแต่นำบ้านเลขที่เดิมของบิดามารดาของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินที่เช่าอยู่บริเวณใกล้เคียงกับที่ดินพิพาทและอยู่นอกเขตที่ดินของโจทก์ ซึ่งบิดามารดของจำเลยรื้อถอนบ้านไปแล้วมาใช้เป็นเลขที่บ้านของจำเลยที่จำเลยและบิดามารดาของจำเลยบุกรุกเข้ามาปลูกอาศัยในที่ดินพิพาทของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยที่ปิดบังอำพรางให้บุคคลอื่นเข้าใจว่าบ้านของจำเลยที่ปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทมีบ้านเลขที่ 809 ทั้งที่บ้านของจำเลยไม่มีเลขที่ประจำบ้าน ทำให้เจ้าหน้าที่การประปานครหลวงและเจ้าหน้าที่การไฟฟ้านครหลวงหลงเชื่อมาติดตั้งประปาและไฟฟ้าให้แก่บ้านจำเลย ประกอบกับจำเลยไม่เคยอ้างสิทธิในที่ดินพิพาทเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่หรือภาษีโรงเรือนและจำเลยไม่ได้ร้องขอต่อศาลขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ ทั้งที่จำเลยอ้างว่าครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์มาตั้งแต่ปี 2514 แต่จำเลยเพิ่งมาฟ้องแย้งขอแสดงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์เมื่อถูกฟ้องขับไล่คดีนี้ จึงยังไม่แน่ชัดว่าก่อนหน้านี้จำเลยมีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์อย่างเป็นเจ้าของ พฤติการณ์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ จำเลยจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ย่อมไม่อาจยกข้ออ้างว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทและจดทะเบียนรับโอนมาโดยไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่และเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้