โครงการทํางานต่างประเทศ 2022

หลาย ๆ คนที่สนใจเรียนต่อหรือทำงานต่างประเทศ อาจเคยได้ยินชื่อโครงการเหล่านี้อยู่บ้าง เอ แล้วแต่ละโครงการแตกต่างกันอย่างไร เราสามารถสมัครโครงการไหนได้บ้าง แล้วโครงการไหนเหมาะสมกับเรามากที่สุดล่ะ วันนี้ conNEXT จึงได้รวบรวม 6 สิ่งที่ควรรู้มาฝาก จะมีอะไรบ้าง ตามมาดูกัน

โครงการทํางานต่างประเทศ 2022

คืออะไร: คือโครงการระยะสั้นสำหรับนิสิตนักศึกษาในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน จุดประสงค์ คือ เพื่อเรียนรู้ชีวิตความเป็นอยู่ แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทยกับวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ เกิดการพัฒนาภาษา และได้เรียนรู้โลกแห่งการทำงานจริง

สรุปง่าย ๆ คือ ทำงานเป็นหลัก เที่ยวเป็นรองนั่นเอง

ใครสามารถเข้าร่วมโครงการได้บ้าง: นิสิตนักศึกษาระดับปริญญาตรี-โท อายุตั้งแต่ 18–28 ปี

ประเภทวีซ่าและระยะเวลา: วีซ่าประเภท J1 ระยะเวลาสูงสุด 4 เดือน และหลังวีซ่าหมดอายุ สามารถอยู่เที่ยวต่อได้อีก 30 วัน แต่ห้ามทำงานเด็ดขาด

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ:

  • เลือก agency ที่ดีและน่าเชื่อถือ
  • สอบวัดระดับภาษาอังกฤษ (คะแนนที่ได้มีผลต่อการเลือกงาน)
  • เลือกงานที่สนใจ
  • สอบสัมภาษณ์กับผู้จ้างงาน
  • สอบขอวีซ่า

*จะเห็นว่าทักษะภาษาอังกฤษสำคัญมาก เป็นตัวตัดสินว่าเราจะเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่

ทำงานอะไรได้บ้าง: งานบริการต่าง ๆ ที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก เช่น งานสวนสนุก โรงแรม ร้านอาหาร หรือร้านค้าต่าง ๆ

สิ่งที่ควรรู้: WAT มีข้อดีมาก เช่น ได้ฝึกภาษา ท่องเที่ยว เรียนรู้การทำงาน ออกไปใช้ชีวิต พบเจอผู้คนใหม่ ๆ ทำให้เราเติบโตขึ้น แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น งบประมาณที่ไม่แน่ชัดว่าต้องใช้จ่ายกับอะไรบ้าง เอกสารมีเงื่อนไขยุ่งยาก ค่ารักษาพยาบาลที่มีจำกัด ประกันอุบัติเหตุที่ไม่คุ้มครองในเหตุการณ์บางอย่าง ดังนั้น ก่อนเดินทาง ควรศึกษาเงื่อนไขในเอกสาร รวมถึงกฎหมายและค่าครองชีพของประเทศที่จะไปอย่างละเอียด

Work and Study 

คืออะไร: คือวีซ่านักเรียนนั่นเอง ปกติเมื่อนักเรียนเดินทางไปเรียนที่ประเทศต่าง ๆ จะได้วีซ่าที่สามารถทำงานและเรียนไปด้วยได้ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียนมาก เพราะจะได้ฝึกการแบ่งเวลาและใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ประเทศที่นักเรียนสามารถทำงานและเรียนไปด้วยได้ เช่น สหราชอาณาจักร แคนาดา ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้

สรุปง่าย ๆ คือ เรียนเป็นหลัก ทำงานเป็นรองนั่นเอง

ใครสามารถเข้าร่วมโครงการได้บ้าง: บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป

ประเภทวีซ่าและระยะเวลา: 

-วีซ่าประเภท Student Visa ระยะเวลาแล้วแต่จะกำหนด แต่สูงสุด 4 ปี นอกจากนี้ แต่ละประเทศอนุญาตให้นักเรียนมีชั่วโมงทำงานแตกต่างกัน เช่น

-วีซ่านักเรียนอังกฤษ (Tier-4 Student Visa) อนุญาตให้นักเรียนทำงาน Part-Time ได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงเปิดเทอมและไม่จำกัดเวลาในช่วงปิดเทอม

-วีซ่านักเรียนนิวซีแลนด์อนุญาตให้นักเรียนทำงานได้ไม่เกิน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และทำ full-time ได้ในวันหยุดราชการ

-วีซ่านักเรียนออสเตรเลียอนุญาตให้ทำงานได้ไม่เกิน 40 ชั่วโมงต่อ 2 สัปดาห์ (14 วัน เริ่มนับตั้งแต่วันจันทร์) ในช่วงเปิดเทอม และทำงานได้ไม่จำกัดเวลาในช่วงปิดเทอม

-วีซ่านักเรียนสิงคโปร์อนุญาตให้นักเรียนทำงานได้ไม่เกิน 16 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในช่วงเปิดเทอมแบบไม่ต้องมี work pass แต่ต้องเป็นนักเรียนที่ลงเรียนแบบ full-time กับสถาบันที่ทางการกำหนด หรือเป็นผู้ที่ถือ Student Pass โดยสถาบันที่ทางการรับรองให้ทำงานพิเศษได้ทั้งหมด 24 แห่ง (ดูรายชื่อสถาบันได้ที่ Ministry of Manpower)  

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ:

  • เลือกเมือง โปรแกรม และสถาบันที่สนใจ จากนั้นกรอกใบสมัคร และสอบวัดระดับภาษา
  • เมื่อชำระค่าโครงการแล้ว จะได้รับเอกสารตอบรับจากสถาบันเพื่อใช้ประกอบการยื่นวีซ่า
  • เตรียมเอกสารและทำการยื่นวีซ่า
  • เดินทางเข้าร่วมโครงการ ณ ประเทศนั้น ๆ

ทำงานอะไรได้บ้าง: เราสามารถหางานได้เองหรือโรงเรียนอาจมีบริการช่วยเหลือเรื่องการหางาน งานมีหลากหลายตั้งแต่งานพาร์ทไทม์ทั่วไปจนถึงงานที่ตรงตามหลักสูตรการเรียน

สิ่งที่ควรรู้: ข้อดีคือได้เรียนภาษาแบบจริงจัง ได้เพื่อน แต่เนื่องจากเรียนเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายจึงค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม ยังได้เงินจากการทำงาน

Work and Holiday 

คืออะไร: คือโครงการแลกเปลี่ยนที่สนับสนุนให้เยาวชนไทยได้ออกไปเรียน ทำงาน และท่องเที่ยว เป็นเวลา 1 ปี เพื่อเปิดโลกทัศน์ สามารถปรับตัวและเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง หาประสบการณ์การทำงาน ฝึกฝนการใช้ภาษาอังกฤษ และได้เรียนรู้การใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น เยาวชนสามารถเลือกไปได้ 2 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ (โครงการ Work and Holiday Visa (WHV) ไทย — ออสเตรเลีย และ โครงการ Working Holiday Scheme (WHS) ไทย — นิวซีแลนด์)

สรุปง่าย ๆ คือ เป็นการผสมผสานระหว่าง เรียน ทำงาน และท่องเที่ยว

ใครสามารถเข้าร่วมโครงการได้บ้าง:

  • อายุ 18–30 ปี (อายุต้องไม่เกิน 31 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ยื่นขอวีซ่า)
  • จบปริญญาตรีขึ้นไป
  • มีหลักฐานทางการเงินเป็นบัญชีออมทรัพย์ของผู้สมัครเอง (5,000 AUD สำหรับประเทศออสเตรเลีย และ 7,000 NZD สำหรับประเทศนิวซีแลนด์)
  • มีหลักฐานแสดงทักษะภาษาอังกฤษ (IELTS 4.5 หรือเทียบเท่า)

ประเภทวีซ่าและระยะเวลา: วีซ่าเพื่อท่องเที่ยวและทำงาน ระยะเวลา 1 ปี

ขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการ:

  • ลงทะเบียนออนไลน์เพื่อรับ Username และ Password ผ่านเว็บไซต์ของกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) www.dcy.go.th
  • รอกดโควตาเพื่อขอหนังสือรับรองคุณสมบัติเพื่อประกอบการขอวีซ่าออนไลน์ ขั้นตอนนี้ต้องแข่งขันกันว่าใครจะกดได้เร็วที่สุดเพราะมีผู้สมัครเป็นจำนวนมากทำให้โควตาเต็มเร็วเป็นประจำทุกปี
  • ยื่นเอกสารเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติกับทาง ดย.
  • รับหนังสือรับรองคุณสมบัติ และนำไปยื่นวีซ่ากับสถานทูต
  • เมื่อได้วีซ่าแล้วต้องเดินทางภายใน 1 ปี และอายุของวีซ่าจะนับจากวันที่เดินทางถึงประเทศนั้น ๆ ต่อไปอีก 1 ปี

ทำงานอะไรได้บ้าง: ผู้ที่ได้รับเลือกเข้าโครงการต้องดำเนินการหางาน ที่พัก หรือสถานที่เรียนด้วยตนเอง งานมีหลากหลายตั้งแต่งานพาร์ทไทม์ทั่วไปจนถึงงานออฟฟิศ

สิ่งที่ควรรู้: เนื่องจากไม่ใช่วีซ่าทำงาน แต่เป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีประสบการณ์ใช้ชีวิตในต่างประเทศที่หลากหลาย จึงห้ามทำงานที่เดียวเกินระยะเวลาที่กำหนด หากเกินถือว่าทำผิดกฎหมาย

  • นิวซีแลนด์ ห้ามทำงานประจำที่เดียวเกิน 3 เดือน
  • ออสเตรเลีย ห้ามทำงานประจำที่เดียวเกิน 6 เดือน

และสามารถเข้าเรียนโดยไม่เกิน 3 เดือนสำหรับนิวซีแลนด์ และ 4 เดือนสำหรับออสเตรเลีย

เป็นอย่างไรกันบ้างกับทั้ง 3 โครงการ หากใครสนใจโครงการไหนก็เตรียมตัวหาข้อมูลให้ดี ฝึกภาษาให้แม่น เก็บเงินให้พร้อม แล้วลุยกัน! ประสบการณ์แบบนี้ไม่ได้มีมาบ่อย ๆ นะ

อ้างอิง:

  • U.S. Embassy and Consulate in Thailand
  • Department of Children and Youth
  • Department of Children and Youth
  • Australian Embassy, Thailand
  • University of Cambridge
  • Immigration New Zealand
  • Australian Department of Home Affairs