ปัญหาหลักทางการบริหารของกรุงเทพมหานครปัญหาการมีส่วนร่วมทางการ บริหาร

ปัญหาหลักทางการบริหารของกรุงเทพมหานครปัญหาการมีส่วนร่วมทางการ บริหาร

ขณะนี้มีเสียงเรียกร้องจากคนกรุงเทพฯ เป็นจำนวนไม่น้อย ให้รีบมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันเสียที หลังจากที่ห่างหายไปนานนับจากปลายปี พ.ศ. 2559 ก็กว่า 5 ปีเต็มแล้ว ทำให้รัฐบาลอยู่เฉยไม่ได้และกำลังจะให้จัดการเลือกตั้งประมาณกลางปีนี้ ดังนั้น วันนี้เราลองมาทบทวนความรู้และปัญหาเกี่ยวกับ “กรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นเมืองขนาดใหญ่ระดับมหานคร (Metropolitan) ที่มีความโดดเด่นแห่งหนึ่งในโลก เช่น ใหญ่เป็นอันดับที่ 73 ของโลก เป็นเมืองดีที่สุดของโลกอันดับที่ 37 และเคยเป็นเมืองอันดับ 1 ที่ผู้คนเคยมาเยือนมากที่สุดในโลก เป็นต้น

กรุงเทพมีประวัติความเป็นมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมเป็นหมู่บ้านตำบลที่เรียกว่า “บางกอก” ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ไม่ไกลจากปากน้ำที่ออกสู่ทะเล จึงค่อย ๆ เจริญกลายเป็นเมืองท่าและเมืองหน้าด่านสำคัญ จนเมื่อปี พ.ศ. 2325 ได้มีการก่อสร้างเป็นเมืองใหม่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและสถาปนาเป็นราชธานี โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี นับจากนั้นเป็นต้นมากรุงเทพ ก็มีวิวัฒนาการเติบโตเรื่อยมาจวบสองร้อยสี่สิบปีแล้ว ในทางการจัดระเบียบการปกครองได้มีการปรับปรุงมาจนถึง พ.ศ. 2514มีการรวมจังหวัดกรุงเทพ จังหวัดธนบุรี เป็น “จังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี” บริหารซ้อนกันทั้งราชการภูมิภาคและราชการส่วนท้องถิ่น ต่อมา พ.ศ. 2515 ได้รวมจังหวัดนครหลวงกรุงเทพธนบุรี องค์การบริหารนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เทศบาลนครหลวง และสุขาภิบาลทุกแห่งในเขตนครหลวงกรุงเทพธนบุรี เข้าเป็นองค์กรเดียวกันเรียกว่า “กรุงเทพมหานคร”  แต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 และที่แก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายฉบับ จนถึงฉบับล่าสุด คือ ฉบับ พ.ศ. 2528 ได้ทำให้กรุงเทพมหานครกลายเป็นการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีฐานะเป็นนิติบุคคล มีการแยกอำนาจบริหารออกจากอำนาจนิติบัญญัติโดยให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน เป็นหลักการถ่วงดุลที่ออกแบบให้ฝ่ายบริหารเข้มแข็ง(Strong Executive) แต่ทั้งนี้ กรุงเทพมหานครยังคงอยู่ใต้การกำกับดูแลของรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยสอดคล้องกับหลักความเป็นรัฐเดี่ยว (Unitary State) 

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ในฐานะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีพื้นที่รับผิดชอบ 1,569 ตารางกิโลเมตรมีประชากรในทะเบียนบ้าน ประชากรแฝง และแรงงานต่างด้าว รวมกันไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน กทม.มีภาระหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดไม่น้อยกว่า 40 อย่าง โดยมีหน่วยงานรองรับภารกิจเป็นระดับสำนักซึ่งเป็นงานฝ่ายอำนวยการ 17 สำนัก และสำนักงานเขตซึ่งเป็นงานฝ่ายปฏิบัติการ 50 เขต มีโรงเรียนในสังกัด 437 แห่ง โรงพยาบาล 10 แห่ง สถานีดับเพลิงและกู้ภัย 37 แห่ง โรงขนถ่ายขยะและโรงกำจัดขยะ 6 แห่ง โรงบำบัดน้ำเสีย 20 แห่ง มีข้าราชการกรุงเทพมหานคร ครู บุคลากรทางการศึกษา ลูกจ้างประเภทต่าง ๆ รวมกันทั้งหมดเกือบ 100,000 คน มีงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ประมาณ 7.9 หมื่นล้านบาท 

กรุงเทพมหานครตามประสาเมืองหลวงขนาดใหญ่ย่อมต้องมีปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันหรือในอนาคตอยู่ไม่น้อย ซึ่งอาจจะไล่เรียงดูได้ ดังนี้

1)ปัญหาด้านผังเมือง จากอดีตถึงปัจจุบันกรุงเทพฯเป็นศูนย์กลางแทบจะทุกอย่างของประเทศ ทำให้กลายเป็นเมืองโตเดี่ยว ผูกขาดความเจริญ ผู้คนหลั่งไหลมาทำงานและอยู่อาศัย การขยายตัวของเมืองเป็นไปอย่างไร้ทิศทาง การใช้ที่ดินไม่มีประสิทธิภาพ กฎหมายผังเมืองตามไม่ทัน มีการบุกรุกแม่น้ำลำคลองและที่สาธารณะอยู่ทั่วไป ส่งผลถึงทัศนียภาพของเมือง 

2) ปัญหาการจราจรเกิดรถติดและการไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร สถิติอุบัติเหตุทางถนนนับว่าสูงมาก แม้จะเป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นด้วย เช่น ตำรวจ หรือกรมการขนส่งทางบก แต่ กทม. ก็มีส่วนรับผิดชอบ ในการสร้างถนนหนทางตรอกซอกซอย และดูแลทางเท้า รวมทั้งป้ายสัญญาณต่าง ๆ 

3) ปัญหาน้ำท่วม ทั้งที่เกิดจากน้ำฝน น้ำเอ่อล้นจากแม่น้ำเนื่องจากน้ำเหนือไหลมาหรือน้ำทะเลหนุน รวมทั้งการทรุดตัวของพื้นดินและการกัดเซาะของน้ำทะเล 

4) ปัญหามลภาวะ(1) ขยะมูลฝอยกว่า 10,000 ตันต่อวันและน้ำเสียเนื่องจากมีคลองใน กทม.กว่า 1,100 คลอง (2) อากาศเสีย ทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์จากยานพาหนะและกาซอื่น ๆ จากโรงงาน รวมทั้งฝุ่นผงที่ลอยมาจากการเผาซากพืชในบางพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง 

5) ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สถิติอาชญากรรมในกทม.มีประมาณ 2-3 หมื่นคดีต่อปี ที่น่าเป็นห่วง คือ คดียาเสพติด คดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ รวมทั้งยังมีปัญหาไฟไหม้อาคารอยู่บ่อยครั้ง 

6) ปัญหาสุขภาวะและคุณภาพชีวิต ถ้าไม่นับโรคอุบัติใหม่อย่างโรคโควิด-19 กรุงเทพฯ ก็ยังมีโรคภัยไข้เจ็บอยู่ไม่น้อย เช่น โรคท้องร่วง โรคไข้เลือดออก และโรคจากการดำเนินชีวิตในเมือง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหืด โรคอ้วน ต้องเร่งรัดการรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้เจริญหูเจริญตา การเพิ่มจำนวนและพื้นที่สวนสาธารณะให้เข้าเกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการบริหารจัดการปัญหาผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาสในสังคม เช่น คนจรจัดและคนไร้บ้าน 

7) ปัญหาอำนาจหน้าที่ตามระเบียบกฎหมายและการทับซ้อนพื้นที่ในการบริหารจัดการกับหน่วยราชการอื่นและรัฐวิสาหกิจ ทำให้อำนาจในการบริหารจัดการของ กทม.มีจำกัด ไม่อาจแก้ไขปัญหาต่าง ๆ อย่างมีเอกภาพได้ อีกทั้งงบประมาณก็ยังไม่เพียงพออีกด้วย ตัวอย่างจากการเป็นหนี้บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รถไฟฟ้า BTS) 

8) ปัญหาการมีส่วนร่วมของพลเมืองตามหลักปรัชญาของการปกครองท้องถิ่นผู้ว่าฯ และผู้อำนวยการเขต ดูจะอยู่ห่างไกลไม่ใกล้ชิดกับคนในพื้นที่เหมือนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่น ๆ ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่น้อย 

9) ปัญหาทางการเมือง ในกรณีที่ผู้ว่าฯ มาจากพรรคการเมืองฝั่งตรงข้ามกับพรรครัฐบาล การสนับสนุนและการประสานงานอาจจะไม่สู้ราบรื่นนัก อันเป็นธรรมชาติของการต่อสู้ทางการเมือง

เมื่อเมืองแห่งนี้มีความสำคัญแต่มีปัญหารอการแก้ไขอยู่มากมาย การเลือกตัวผู้ที่จะมาเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครจึงต้องใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจเป็นพิเศษ  อย่าเลือกเพียงเพราะ “ชอบ” แต่ต้องเลือกเพราะ“ใช่” ด้วย  กรุงเทพฯ ถึงจะมีโอกาสเป็นเมืองแห่งเทพสมกับชื่อมหานครแห่งนี้      

เวทีพิจารณ์นโยบายสาธารณะ
พงศ์โพยม วาศภูติ
กลุ่มนโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

ปัญหาหลักทางการบริหารของกรุงเทพมหานครปัญหาการมีส่วนร่วมทางการ บริหาร

ปัญหาหลักทางการบริหารของกรุงเทพมหานครปัญหาการมีส่วนร่วมทางการ บริหาร