การนําภาครัฐสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล

Digital Government เริ่มเห็นเป็นรูปเป็นร่างแล้วที่กรุงเทพฯ

กรุงเทพฯ ได้ดำเนินนโยบาย ‘Open Bangkok’ เปิดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณ การใช้จ่าย และการทำสัญญาต่างๆ เพื่อส่งเสริมความเป็นองค์กรที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ ซึ่งเป็นหนึ่งใน 216 นโยบายที่ผู้ว่าฯ คนใหม่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เคยประกาศไว้ว่าเป็นเรื่องสำคัญอันดับต้นๆ ที่ต้องดำเนินการ

นโยบาย Open Bangkok สำคัญยังไง? มันเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นรัฐบาลเปิด เปิดให้ประชาชนตรวจสอบ เปิดใช้ประชาชนมีส่วนในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของข้าราชการ และเป็นหนึ่งในการดำเนินงานตามแนวทาง ‘Digital Government’

ในช่วง 10 ปีให้หลังมานี้ กระแสการพูดถึง Digital Government เริ่มมาแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่าวก้าวกระโดด ประเทศต่างๆ เริ่มเปลี่ยนกระโจนเข้าสู่ยุค Paperless แล้วย้ายทุกอย่างไปให้บริการบนออนไลน์ เพื่อง่ายต่อประชาชน รวมถึงตัวหน่วยงานรัฐเอง

[แล้ว Digital Government ที่พูดถึงนี่คืออะไร?]

มันคือการที่ภาครัฐนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพในการทำงาน มีการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลา และประหยัดทรัพยากรที่เสียไปโดยไม่จำเป็น ทั้งกระดาษ รวมถึงบุคลากรบางตำแหน่งที่เทคโนโลยีอาจมาทดแทนเพื่อให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น

ตอนนี้หลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยก็วางแผนเพื่อเปลี่ยนผ่านจากสถานะรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Government เพื่อไปเป็นการบริหารผ่านดิจิทัล จนมีการตั้งสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA นับตั้งแต่ปี 2561 จนถึงตอนนี้ไทยไปได้ไกลแค่ไหน กับการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล 

[เส้นทางการพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของไทย]

ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เคยให้สัมภาษณ์กับเราไว้แล้วว่า การเปลี่ยนผ่านไปสู่ Digital Government ของไทยเดินทางมาได้ไกลแล้ว แต่ก็ยังเหลือทางที่ต้องไปอีกยาวไกลเช่นกัน

อย่างที่บอกไป ตอนนี้ไทยเรายังเป็น e-Government ซึ่งในความหมายตรงตัวมันคือ “การนําเทคโนโลยีและการสื่อสารมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการและบูรณาการการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ” นี่คือนิยามตามที่ DGA บอกไว้ แต่อธิบายให้เห็นภาพขึ้นคือ การนำข้อมูลเข้าสู่ระบบออนไลน์ พัฒนาระบบ Backoffice ที่ควรจะใช้แค่ในสำนักงาน ให้ประชาชนเข้ามาร่วมใช้งานได้ด้วย และมีการบูรณาการกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ 

ส่วน Digital Government เป้าหมายคือการนำเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้มันลื่นไหลมากขึ้น และสิ่งที่ตามมาหลังจากกระบวนการเปลี่ยนผ่านนั้นก็คือ ‘Open Government’ หรือการเปิดรัฐบาลเปิดเผย โปร่งใส ตรวจสอบได้ 

ซึ่งประเทศไทยก็มีนโยบายด้านการเปิดข้อมูลตั้งแต่ปี 2558 จนถึงตอนนี้มีข้อมูลที่เปิดเผยไปแล้วกว่า 5,000 ชุด ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ

[รัฐบาลทำอะไรบ้างเพื่อเดินหน้าไปสู่ Digital Government] 

เฉพาะช่วง 10 ปีให้หลังนี้ รัฐบาลพยายามผลักดันกรอบกฎหมาย และทิศทางพัฒนาประเทศไปสู่ระบอบดิจิทัลหลายต่อหลายครั้ง อย่างที่เด่นๆ คือ พ.ร.บ.การบริหารงานและการให้บริการภาครัฐผ่านระบบดิจิทัล พ.ศ.2562 หรือ พ.ร.บ.รัฐบาลดิจิทัล ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 พฤษภาคม 2562

เมื่อกลางปี 2563 ครม.เห็นชอบในหลักการโครงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อให้มีระบบกลาง Cloud Service สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่ปลอดภัย สะดวก รองรับการใช้งาน Big Data ของรัฐ และพัฒนาข้าราชการให้มีความพร้อมด้านดิจิทัล ซึ่งจะมีผลพลอยได้คือประหยัดงบประมาณส่วนของค่าเช่า Cloud ไปได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 59% เลย นอกจากนี้ โครงการ  Cloud กลางภาครัฐยังทำให้ระบบการจัดเก็บข้อมูลของประเทศมีความมั่นคงปลอดภัย เพราะถูกเก็บในระบบที่เป็นมาตรฐานสากล และตั้งอยู่ในประเทศ ป้องกันการรั่วไหลของข้อมูล 

[ระบบราชการดั้งเดิมพรากโอกาสอะไรไปบ้าง]

Opportunity Cost หรือค่าเสียโอกาสแฝงที่เกิดขึ้นจากการทำงานที่ล่าช้าของระบบราชการที่น่าสนใจคือการใช้ทรัพยากรมนุษย์ไม่ตรงจุด และโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

– ทรัพยากรมนุษย์

ในรายละเอียดงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.185 ล้านล้านบาท พบว่า 40% ถูกใช้ไปกับค่าใช้จ่ายข้าราชการและบุคลากรในหน่วยงานรัฐ แต่ในศตวรรษที่ 21 มนุษย์ไม่ต้องทำทุกอย่างเองกับมือ เรามีเทคโนโลยี เรามี AI มีเครื่องมืออีกมหาศาลมาช่วยย่นกระบวนการทำงาน หรืออาจจะถึงกับทดแทนบางตำแหน่งไปเลยก็ว่าได้ 

ระบบการทำงานแบบเดิมเป็นข้อจำกัดที่ทำให้บุคลากรของประเทศเราไม่สามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ ดังนั้นการนำเทคโนโลยีมาผ่อนงานบางประเภท เช่น การประสานงาน และหันไปส่งเสริมให้ราชการทำงานที่เป็นประโยชน์และสร้างสรรค์มากกว่า น่าจะเป็นการปลดล็อกรูปแบบการทำงานแบบเก่า และสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาล

– การแข่งขันทางเศรษฐกิจ

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า เคยพูดถึงปัญหาระบบราชการล้าหลังไว้ว่ามันเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศไปสู่ระบบเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะตกขบวนชาติอื่น 

การพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้มีช่องทางเติบโตขยับขยายมันสำคัญมาก หนึ่งในนั้นคือระบบราชการต้องทันสมัย กรณ์ยกตัวอย่างว่า ถ้ามีสตาร์ทอัพต่างชาติอยากมาลงทุนที่ไทย แต่ต้องมานั่งกรอกเอกสารเป็นพันๆ หน้า สุดท้ายอาจมีส่วนทำให้ตัดสินใจย้ายไปชาติอื่นที่โอกาสเท่าๆ กันได้

การกรอกเอกสารสามารถสะท้อนอะไรได้มากกว่าแค่กระบวนการที่ล่าช้า แต่มันยังแสดงให้เห็นว่าระบบราชการไม่เอื้อให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งในเชิงธุรกิจ ถ้าเกิดความเสียหายใดๆ แล้วไม่สามารถจัดการได้ทันเวลา นั่นอาจหมายถึงจุดจบเลยก็ได้

Government Digital Transformation เป็นการยกระดับภาครัฐไทยสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ที่มีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน มีการทำงานแบบอัจฉริยะ ให้บริการโดยมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่แค่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

อ้างอิงจาก

https://www.forbes.com/sites/forbestechcouncil/2021/03/10/digital-government-in-2021-lessons-from-the-past-year-and-top-trends-for-the-future/?sh=14c2ed773cf8

https://www.thansettakij.com/tech/507380

https://www.dga.or.th/policy-standard/policy-regulation/dga-019/dga-024/dga-027/

https://gnews.apps.go.th/news?news=28472

https://official.bangkok.go.th/page/127?fbclid=IwAR3N1zb1EOMBWlQ71Rwd9AZulFBT_AX5jjESGMAspKNE73kTeG0LOW5PtoU