ระเบียบการลงโทษนักเรียน ล่าสุด

ดร.อำนาจ วิชยานุวัติ เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ในฐานะประธานคณะทำงานด้านกฎระเบียบล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะทำงานด้านกฎระเบียบล้าหลังของสถานศึกษาที่กระทบต่อนักเรียน นักศึกษา ได้หารือถึงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่าด้วยเรื่องการลงโทษนักเรียน พ.ศ.2548 ระบุโทษ ดังนี้

1.ว่ากล่าวตักเตือน

2.ทำทัณฑ์บน

3.ตัดคะแนนความประพฤติ 

4.ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ซึ่งหากพิจารณาอย่างรอบด้านแล้วมองว่าระเบียบฉบับดังกล่าวไม่ได้เป็นการลงโทษที่รุนแรงหรือเกินกว่าเหตุ แต่ที่ผ่านมาการสื่อสารระเบียบฉบับดังกล่าวไปถึงโรงเรียนอาจเกิดจากผู้ปฏิบัติที่ยังไม่เข้าใจเท่าที่ควร หรือผู้ปฏิบัติไม่ได้มีการนำระเบียบนี้มาใช้อย่างจริงจัง

เลขาธิการ สกศ.กล่าวอีกว่า ระเบียบฉบับดังกล่าวมีการใช้มานานแล้วตั้งแต่ปี 2548 ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้มีการปรับแก้ไขระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเรื่องการลงโทษนักเรียน พ.ศ. 2548 ให้มีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยการปรับปรุงระเบียบฉบับนี้ทำให้ระเบียบดังกล่าวมีความสมบูรณ์มากขึ้น เช่น การลงโทษจะต้องลงโทษกับกลุ่มเด็กที่มีพฤติกรรมแบบไหนอย่างไรบ้าง เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการยอมรับขึ้นภายในโรงเรียน ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอให้โรงเรียนได้ออกระเบียบการลงโทษนักเรียนได้เอง โดยให้เปิดรับฟังความเห็นจากนักเรียนและผู้ปกครอง รวมถึงคณะกรรมการสถานศึกษา นอกจากนี้ในการประชุมครั้งต่อไปในวันที่ 9 ธ.ค.นี้ จะหารือถึงระเบียบว่าด้วยเรื่องการปกครองนักเรียน เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก และการคำนึงถึงสิทธิเด็กให้มากขึ้นด้วย.

จากกรณีที่โลกโซเชียลวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางถึงการลงโทษเด็กนักเรียน ที่ดูเหมือนจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน มากกว่าการทำโทษให้เด็กรู้จักสำนึกผิดและเข้าใจว่าตนทำผิดอะไร แถมยังสร้างบาดแผลทางจิตใจให้กับตัวนักเรียนอีกด้วย

ในครั้งนี้ Sanook! Campus เราก็เลยอยากนำเสนอ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา มาให้ได้ศึกษากันว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่ถูกต้องนั้น ควรอยู่ในขอบเขตไหนถึงจะถูกต้อง

 

ระเบียบการลงโทษนักเรียน ล่าสุด

ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ. 2548

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงวางระเบียบว่าด้วยการลงโทษนักเรียนและนักศึกษาไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2548”

ข้อ 2 ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้น

ข้อ 3 ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษา พ.ศ.2543

ข้อ 4 ในระเบียบนี้ “ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษา” หมายความว่า ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการอธิการบดี หรือหัวหน้า ของโรงเรียน หรือสถานศึกษา หรือตำแหน่งที่เรียกชื่ออย่างอื่นของโรงเรียนหรือสถานศึกษานั้น

การกระทำผิด” หมายความว่า การที่นักเรียนหรือนักศึกษาประพฤติฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษา หรือของกระทรวงศึกษาธิการ หรือกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา

การลงโทษ” หมายความว่า การลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำความผิด โดยมีความมุ่งหมายเพื่อการสั่งสอน

ข้อ 5 โทษที่จะลงโทษแก่นักเรียนหรือนักศึกษาที่กระทำผิดมี 4 สถาน ดังนี้

  1. ว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีกระทำความผิดไม่ร้ายแรง
  2. ทำทัณฑ์บน ใช้ในกรณีที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียนหรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา หรือฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา หรือได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้ว แต่ยังไม่เข็ดหลาบ การทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย
  3. ตัดคะแนนประพฤติ ให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน
  4. ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่กระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อ 6 ห้ามลงโทษนักเรียนและนักศึกษาด้วยวิธีรุนแรง หรือแบบกลั่นแกล้งหรือลงโทษด้วยความโกรธหรือด้วยความพยาบาท โดยคำนึงถึงอายุนักเรียนหรือนักศึกษา และความร้ายแรงของพฤติการณ์ประกอบการลงโทษด้วยการลงโทษนักเรียนหรือนักศึกษาให้เป็นไปเพื่อเจตนาที่จะแก้นิสัยและความประพฤติไม่ดีของนักเรียนหรือนักศึกษาให้รู้สำนึกในความผิด และกลับประพฤติตนในทางที่ดีต่อไปให้ผู้บริหารโรงเรียนหรือสถานศึกษาหรือ ผู้ที่บริหารโรงเรียน หรือสถานศึกษามอบหมายเป็นผู้มีอำนาจในการลงโทษนักเรียน นักศึกษา

ข้อ 7 การว่ากล่าวตักเตือน ใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษากระทำความผิดไม่ร้ายแรง

ข้อ 8 การทำทัณฑ์บนใช้ในกรณีนักเรียนหรือนักศึกษาที่ประพฤติตนไม่เหมาะสมกับสภาพนักเรียน หรือนักศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยความประพฤตินักเรียนและนักศึกษา หรือกรณีทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง และเกียรติศักดิ์ของสถานศึกษา / ฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา / ได้รับโทษว่ากล่าวตักเตือนแล้วแต่ยังไม่เข็ดหลาบการทำทัณฑ์บนให้ทำเป็นหนังสือ และเชิญบิดามารดา หรือผู้ปกครองมาบันทึกรับทราบความผิดและรับรองการทำทัณฑ์บนไว้ด้วย

ข้อ 9 การตัดคะแนนความประพฤติให้เป็นไปตามระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการตัดคะแนนความประพฤตินักเรียนและนักศึกษาของแต่ละสถานศึกษากำหนด และให้ทำบันทึกข้อมูลไว้เป็นหลักฐาน

ข้อ 10 ทำกิจกรรมเพื่อให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ใช้ในกรณีที่นักเรียนและนักศึกษากระทำความผิดที่สมควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อ 11 ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้

ประกาศ ณ วันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2548
อดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

กฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา

ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดความประพฤติของนักเรียนและนักศึกษา พ.ศ.2548 ออกตามความใน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้กำหนดความประพฤติที่ต้องห้ามของนักเรียนหรือนักศึกษา ไว้ดังนี้

  • หนีเรียน / ออกนอกสถานศึกษาโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงเวลาเรียน
  • เล่นการพนัน จัดให้มีการเล่นการพนัน หรือมั่วสุมในวงการพนัน
  • พกพาอาวุธหรือวัตถุระเบิด
  • ซื้อ จำหน่าย แลกเปลี่ยน เสพสุราหรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ สิ่งมึนเมา บุหรี่ หรือยาเสพติด
  • ลักทรัพย์ กรรโชกทรัพย์ ข่มขู่ หรือบังคับขืนใจเพื่อเอาทรัพย์บุคคลอื่น
  • ก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกายผู้อื่น เตรียมการหรือกระทำการใดๆ อันน่าจะก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
  • แสดงพฤติกรรมทางชู้สาว ซึ่งไม่เหมาะสมในที่สาธารณะ
  • เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี
  • ออกนอกสถานที่พักเวลากลางคืน เพื่อเที่ยวเตร่หรือรวมกลุ่ม อันเป็นการสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนเองหรือผู้อื่น เป็นต้น