วัฒนธรรมการใช้ภาษา ตัวอย่าง

วัฒนธรรมในการใช้ภาษา

วัฒนธรรมในการใช้ภาษา หมายถึงการใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคล เนื่องจากสังคมมนุษย์มีขนบธรรมเนียมประเพณี เพื่อเป็นระเบียบที่จะปฏิบัติร่วมกัน ในการใช้ถ้อยคำก็เช่นเดียวกันจะต้องมีระเบียบเพื่อยึดถือร่วมกัน และให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งเราจะเห็นได้จากการที่ประเพณีไทยนิยมถือความลดหลั่นทางชาติวุฒฺ วัยวุฒฺและคุณวุฒิ ลักษณะการใช้ถ้อยคำจึงต้องสอดคล้องกับความนิยมของสังคมไทย ซึ่งต้องรู้จักการใช้ถ้อยคำในเรื่องต่อไปนี้ คือ กาลเทศะของบุคคลในการพบปะการติดต่อประสานงาน การขอความช่วยเหลือ และคำพูดที่คำนึงถึงความรู้สึกผู้ฟัง โดยมีลักษณะการใช้ถ้อยคำดังนี้

1.การใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลในการพบปะ

คำทักทายในการพบปะนั้น แต่ก่อนเราใช้ทักกันว่า "ไปไหนมา" แต่ในปัจจุบันนี้เราใช้คำว่า "สวัสดี" ซึ่งพระยาอุปกิตศิลปสารได้บัญญัติใช้เมื่อ พ.ศ. 2480

ในการใช้ภาษาทักทายในการพบปะกันนั้น เรามีการใช้ภาษาที่แตกต่างกันไปตามฐานะของบุคคล 2 ระดับคือ

1.1 บุคคลที่ต่างระดับกัน

บุคคลที่ต่างระดับกันในที่นี้หมายถึงผู้น้อยกับผู้ใหญ่ ซึ่งเป็นผู้ที่ต่างกันด้วย ชาติวุฒิ วัยวุฒิและคุณวุฒิอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง การทักทายกันนั้นผู้น้อยควรทำความเคารพด้วยการยกมือไหว้แสดงมารยาทอันดีงามก่อน แล้วจึงกล่าวคำว่า "สวัสดีครับ (ค่ะ)" ก็เพียงพอแล้ว ผู้ใหญ่ก็จะกล่าวคำ "สวัสดี" ตอบ ถ้ามีความสนิทสนมกันมากผู้ใหญ่ก็อาจตอบว่า "สวัสดีพ่อคุณ" แล้วผู้น้อยจะถามถึงสุขภาพบ้าง เช่น "ท่านสบายดีหรือครับ" ไม่ควรใช้คำที่สนิทสนมเกินควร เช่น กล่าวว่า "แหมท่านดูกระชุมกระชวยอยู่นะครับ" คำกระชุ่มกระชวยนี้แม้ว่าจะมีความหมายตามนัยพจนานุกรมว่ามีอาการกระปรี้กระเปร่า ซึ่งใช้กับผู้ที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงและดูท่าทางว่ามีอายุอ่อนกว่าวัยก็ตาม แต่คำนี้ดูจะเป็นคำที่ถือเอาความสนิทสนมเกินควร ฉะนั้น เราจึงควรใช้คำว่า "ท่านยังสมบูรณ์เหมือนเดิมหรือแข็งแรงเหมือนเดิม" จะดีกว่า

ในการพบปะกันระหว่างผู้น้อยกับผู้ใหญ่นั้น ผู้น้อยควรระมัดระวังถ้อยคำในการสนทนา คือ

1.1.1 อย่าใช้คำห้วนหรือกระด้าง ซึ่งดูจะเป็นการไม้ให้ความเคารพ เช่น คำอุทานว่า โอ๊ย! วุ้ย! หรือคำพูดห้วนๆ เช่น เปล่า ไม่มี ไม่ใช่ ไม่รู้ ฯลฯ ซึ่งเราควรจะพูดว่า มิได้ หามิได้ หรือ ไม่ทราบ จะดีกว่า

1.1.2 ฝึกพูดคำรับให้เป็นนิสัย เมื่อผู้ใหญ่ถามเราควรตอบรับด้วยคำลงท้ายว่า "ครับ" "ค่ะ" หรือ "ขอรับ" อยู๋เสมอ ซึ่งถ้าไม่ลงท้ายด้วยคำรับแล้วจะดูเป็นการตอบแบบห้วนๆ และขาดหางเสียง

1.1.3 ไม่ควรใช้คำแสลงหรือคำคะนองซึ่งเกิดตามยุคสมัย เช่น คำว่า สน (สนใจ) นิ้ง (ดี) เจ๋ง (แจ่มชัด แน่นอน)

1.2 บุคคลที่เสมอกัน

บุคคลที่เสมอกันนี้ หมายถึง บุคคลที่เสมอกันด้วยชาติวุฒิ วัยวุฒิ และคุณวุฒิ อย่างใดอย่างหนึ่งหรือทุกอย่าง ในการทักทายก็ควรกล่าวคำว่า "สวัสดี" และฝ่ายใดจะทักทายก่อนก็ได้ ถ้าอยู่ในที่ชุมชนก็ควรสำรวมกิริยามารยาทและระมัดระวังคำพูดในการสนทนา ไม่ควรใช้คำพูดที่แสดงถึงความสนิทสนมจนเกินไป เพราะในที่สนทนานั้นมีผู้อื่นอยู๋่ด้วย ไม่ได้อยู่กัน 2 ต่อ 2 หรือเฉพาะกลุ่มเพื่อนที่สนิทสนมกันเท่านั้น ดังนั้นในการพบปะกับบุคคลที่เสมอกันจึงต้องควรหลีกเลี่ยงการพูดคำหยาบ คำสาบาน คำห้วน และคำสแลง นอกจากนั้นควรใช้คำสรรพนามแทนตัวเองว่าผมหรือดิฉัน แทนคำสรรพนามที่แสดงความสนิทสนมกันเกินไป

2. การใช้ถ้อยคำติดต่อประสานงามหรือขอความช่วยเหลือ

หลักใหญ๋ของการใช้ถ้อยคำเพื่อติดต่อประสานงานหรือการขอความช่วยเหลือ ก็เหมือนกับการใช้ถ้อยคำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและบุคคลในการพบปะดังกล่าวมาแล้ว แต่การใช้ถ้อยคำในการติดต่อประสานงานหรือขอความช่วยเหลือนั้น เราควรระมัดระวังเกี่ยวกับความสุภาพในการพูดจา ถึงแม้จะอยู่ในฐานะสูงหรือมีหน้าที่การงานสูงกว่าก็ตาม เราไม่ควรใช้สรรพนามว่า อั๊ว ลื้อ หรือใช้คำเป็นทำนองคำสั่ง แต่ควรใช้สรรพนามที่ก่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ทำงาน โดยอาจใช้คำสรรพนามว่า ผม พี่ หรือน้องก็ได้ เพราะสังคมไทยเป็นสังคมที่นับถือกันแบบเครือญาติอยู๋แล้ว เช่น เราจะให้พนักงานพิมพ์ดีดพิมฑ์งานของเรา เราไม่ควรบอกว่า "เอาเรื่องนี้ไปพิมพ์หน่อย อย่าให้ผิดอีกนะ แล้วอย่าไถลไปไหนล่ะ ทำงานให้เสร็จก่อนเที่ยงนะ อั๊วจะเข้าประชุม" ซึ่งคำพูดเหล่านี้จะไม่ก่อให้เกิดกำลังใจแก่ผู้ทำงาน เราควรใช้คำพูดที่นุ่มนวลกว่า คือ "คุณสนิทกรุณาพิมพ์เรื่องนี้ให้หน่อยเถอะ ให้ว่างจากงานเสียก่อนก็ได้นะ แต่ผมจำเป็นต้องใช้ประกอบในการประชุมบ่ายโมงนี้ ถ้าจะให้เสร็จก่อนได้ก็ดี ขอบใจมาก" หรือเราจะพูดว่า "น้องตอนนี้เหนื่อยไหม พี่วานพิมพ์เรื่องนี้ให้หน่อยเถอะ พี่จำเป็นต้องใช้ในการประชุมบ่ายโมงนี้เสียด้วยซี ช่วยหน่อยเถอะน้อง"

ถ้าหากเป็นการติดต่อประสานงานกับบุคคลที่เราไม่เคยรู้จักมาก่อน ความชัดเจนเกี่ยวกับคำพูดเป็นเรื่องสำคัญมาก เราอาจต้องเท้าความเดิมบ้าง เพราะผู้ที่เราไปติดต่อย่อมมีงานมาก และอาจเกิดเป็นความสับสนในเรื่องต่างๆ เช่น เราจะต้องกล่าวว่า "กระผมนาย....................เป็นเลขานุการคุณ....................ผู้จัดการบริษัท....................ครับ ท่านให้ผมมาเรียนถามในเรื่องรถยนต์ที่ท่านติดต่อกับบริษัทเมื่ออาทิตย์ที่แล้วครับ

3. การใช้ถ้อยคำที่คำนึงถึงผู้ฟัง

คนไทยเรามีคำพังเพยอยู๋บทหนึ่งว่า "ให้รู้้จักเอาใจเข้ามาใส่ใจเรา" ซึ่งแสดงว่าคนไทยมีวัฒนธรรมที่ดีงามในอันที่จะคำนึงถึงผู้อื่นเสมอ ถ้อยคำภาษาของไทยไม่เพียงแต่จะสื่อความหมายเท่านั้น ยังมีรสและให้ความรู็สึกอีกด้วย เช่นคำว่า "โกหก" เป็นคำที่มีความหมายค่อนไปทางคำหยาบและคำด่า เราควรใช้คำแทนว่า พูดเท็จ พูดไม่จริงหรือพูดปด เป็นต้น นอกจากนี้เราต้องระมัดระวังในการใช้คำพูดด้วย เพราะคำบางคำจะทำให้ผู้ฟังเข้าใจผิดได้ เช่น ประโยคที่ว่า "คุณตาป่วยมานานแล้วเมื่ออาทิตย์ก่อนท่านต้องเข้าโรงพยาบาล เราคาดหวังกันว่า เจ็บคราวนี้ท่านจะอยุ่ได้ไม่นาน" คำว่า คาดหวัง ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่า ผู้พูดต้องการให้คุณตาตายเสียที ฉะนั้นเราจึงควรใช้คำคาดหวังซึ่งให้ความหวังไปในทางที่ดี เช่น "น้องเก๋เป็นคนที่ขยันดูหนังสืออย่างสม่ำเสมอ พวกพี่ๆ คาดหวัง กันว่าน้องเก๋คงจะสอบได้ที่ 1 อีกเช่นเคย"

รวมความว่า การพูดหรือการใช้ถ้อยคำนั้นเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง เพราะเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าผู้พูดมีวัฒนธรรมสูงต่ำเพียงใด ดังบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า

        อันพูดนั้นไม่ยาก        ปานใดเพื่อนเอย
ใครที่มีลิ้นอาจ                   พูดได้
สำคัญแต่ในคำ                  ที่พูด นั่นเอง 
อาจจะทำให้ชอบ               และชัง 
                       - ประมวลสุภาษิต พระราชนิพนธ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

ข้อควรคำนึงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำ
การใช้ถ้อยคำในการสนทนากับบุคคล ในการพบปะ การขอความช่วยเหลือหรือเพื่อคำนึงถึงความรู้สึกของผู้ฟังที่ดี เราควรรู้จักการใช้คำเหล่านี้ให้เหมาะสมกับโอกาส คือ
1. ขอบใจ  ผู้ใหญ่ใช้กับผู้น้อย เมื่อผู้น้อยทำประโยชน์หรือช่วยเหลือ
2. ขอบคุณ ใช้กับผู้เสมอกัน เมื่อผู้นั้นได้ช่วยเหลือเรา
3. ขอบพระคุณ ผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่ เมื่อผู้ใหญ่ได้ช่วยเหลือหรือทำประโยชน์ให้
4. ขอโทษ ผู้ใหญ่ใช้กับผู้น้อย เมื่อผู้ใหญ่ทำผิดพลาด
5. ขออภัย ใช้กับผู้เสมอกันหรือผู้ใหญ่ เมื่อเราทำผิดพลาด
6. ขอประทานอภัย ผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่ เมื่อเราทำผิดพลาด
7. ครับ ค่ะ ใช้กับบุคคลทั่วไป เป็นคำรับ
8. ขอรับ ผู้น้อยใช้กับผู้ใหญ่ เป็นคำรับ
9. จ้ะ ผู้ใหญ้ใช้กับผู้น้อย เป็นคำรับ

คำเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ให้เป็นนิสัย เพราะเป็นการแสดงวัฒนธรรมของผู้ใช้ และในบางกรณีก็ทำให้เกิดความสงบขึ้นในสังคมด้วย เช่น ถ้าเราทำผิดพลาดโดยไม่เจตนาแล้วรีบกล่าวว่า "ขออภัยครับ ผมไม่ได้เจตนาจริงๆ" ผู้ที่ฟังหรือผู้เสียกายก็จะคลายอารมณ์โกรธได้บ้าง

เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

ความสัมพันธ์ระหว่างภาษากับวัฒนธรรม

ภาษากับวัฒนธรรมมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ซึ่งพอจะกล่าวได้ดังนี้

1. ภาษาเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง

เพราะภาษาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น มีการเรียนรู้ ถ่ายทอด และเจริญงอกงาม

2. ภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม

บรรดาวัฒนธรรมสาขาต่างๆ นั้น นับว่าภาษาเป็นวัฒนธรรมที่สำคัญที่สุด เพราะภาษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรมสาขาต่างๆ ให้สืบทอดและเจิญงอกงามต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีภาษา การสืบทอดวัฒนธรรมจะเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่สามารถที่จะสื่อความหมายกันให้เข้าใจได้แจ่มชัด

3. ภาษาสะท้อนให้เห็นถึงประวัติความเป็นอยู่ของมนุษย์ในอดีตหรือวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ

เพราะถ้อยคำภาษา เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นตามความจำเป็นของสังคมนั้นๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกัน จึงกล่าวได้ว่าถ้อยคำบางคำเป็นประวัติวัฒนธรรมของชาติ เช่นคำว่า นาฬิกา มีนัยมาจากภาษาบาลีว่า นาฬิเกร แปลว่า มะพร้าว ทั้งนี้เพราะโบราณเรามีวิธีนับเวลาโดยใช้กะลามะพร้าวเจาะรูแล้วนำไปลอยน้ำ เมื่อจมครั้งหนึ่งๆ ก็เรียกว่านาฬิกาหนึ่ง ต่อมาเรามีนาฬิกาอย่างปัจจุบันซึ่งเราเรียกว่านาฬิกากล แต่ก็กร่อนเป็นนาฬิกาในกาลต่อมา

4. ภาษาเป็นเครื่องบ่งชี้วัฒนธรรมของผู้ใช้

ถ้อยคำในภาษามีระดับและนอกจากสื่อความหมายแล้วยังสื่อความรู้สึกได้อีกด้วย อย่างเช่นคำใช้แทนชื่อภาษาไทย ที่เรียกว่าคำสรรพนามก็มีมาก เช่น ฉัน ผม เกล้ากะผม กระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า ดิฉัน หม่อมฉัน ท่าน คุณ ใต่้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เป็นต้น คำกริยาแสดงอาการกินก็มีมาก เช่น กิน รับประทาน ฉัน เสวย เป็นต้น เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่าภาษาเป็นเครื่องแสดงระดับวัฒนธรรมของผู้ใช้ เพราะคำเหล่านี้ไม่ได้บอกเฉพาะความหมายเท่านั้น ยังบอกถึงความรู็สึก อารมณ์ และระดับการศึกษาของผู้ใช้ด้วย ดังมีคำกล่าวว่า "สำเนียงส่อภาษา กริยาส่อสกุล" หมายความว่า ภาษา กิริยา พฤติกรรมของผู้ใช้เป็นเครื่องบ่งบอกวัฒนธรรมของผู้นั้นว่าสูงต่ำเพียงใด

5. ภาษาเป็นเครื่องอบรมจิตใจและความประพฤติของผู้ใช้ให้มีความละเอียดอ่อน

ในภาษาไทยเรามีการใช้คำราชาศัพท์ สำหรับบุคคลที่เป็นเจ้านาย พระราชาและราชวงศ์ พระสงฆ์และสุภาพชน โดยใช้ภาษาสำหรับการปฏิบัติภารกิจแต่ละอย่างแตกต่างไปจากภาษาที่สามัญชนใช้ เช่น พระสงฆ์จะใช้คำว่า ฉัน แทนคำว่า กิน ใช้คำว่า จำวัด แทนคำว่า นอน พระราชาใช้คำว่าเสวยแทนคำว่า กิน ใช้คำว่า บรรทม แทนคำว่า นอน เป็นต้น ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์และพระราชาจะปฏิบัติกิจเหล่านี้เช่นเดียวกับชาวบ้านไม่ได้ ก่อนที่พระสงฆ์จะฉันอาหาร ก็ต้องมีผู้ประเคนให้เสียก่อน เวลาจะจำวัดก็ต้องจำวัดบนที่นอนที่ไม่ได้บรรจุด้วยนุ่นหรือสำลี พระราชาเวลาจะเสวยก็ต้องเสวยด้วยอาการสำรวม เวลาจะบรรทมก็ต้องบรรทมในที่มิดชิดไม่ประเจิดประเจ้อ ดังนั้นจึงเป็นการแสดงให้เห็นว่าจิตใจและความประพฤติของคนเรานั้นสามารถควบคุมได้โดยภาษา

เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

ลักษณะของวัฒนธรรม

กล่าวโดยสรุป วัฒนธรรมมีลักษณะดังนี้
1. เป็นมรดกของสังคม หมายถึง สิ่งที่คนแต่ก่อนสั่งสมหรือประพฤติโดยที่เห็นว่าดี ว่ามีประโยชน์ร่วมกันและถ่ายทอดต่อมา
2. เป็นวิถีชีวิต หมายถึง เป็นแนวทางหรือคติในการดำรงชีวิต หรือให้ชีวิตดำเนินร่วมกันได้ด้วยความราบรื่นและผาสุก
3. เป็นประเพณี หมายถึง การสืบต่อกันมานาน โดยที่สังคมนั้นรักษาไว้ให้เจริญงอกงาม

การจัดประเภทหรือเนื้อหาของวัฒนธรรมนั้นแบ่งกันหลายวิธี ดังเช่น
1. แบ่งตามลักษณะความสัมพันธ์ต่อการดำเนินชีวิต แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ
1.1 คติธรรม (Moral Culture) ได้แก่ วัฒนธรรมทางศีลธรรมและทางจิตใจ ซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้ผาสุกร่วมกัน
1.2 เนติธรรม (Legal Culture) ได้แก่ วัฒนธรรมทางกฎหมาย หรือขนบประเพณีซึ่งมนุษย์อยู่รวมกันจำเป็นต้องมีกฎระเบียบปกครอง และการกระทำบางอย่าง แม้กฎหมายไม่ได้ห้ามและขนบธรรมเนียมประเพณีที่สืบทอดกันมาก็เป็นเกณฑ์กำหนดวัดความดีความชั่วได้
1.3 วัตถุธรรม (Material Culture) ได้อแก่วัฒนธรรมทางวัตถุ เช่น เครื่องแต่งกาย บ้านเรือน และวัตถุทางศิลปกรรมทั้งหลาย
1.4 สหธรรม (Social Culture) ได้แก่ วัฒนธรรมทางสังคม คือวัฒนธรรมในการติดต่อเกี่ยวข้องกับบุคคลในสังคม เช่น มารยาทในการพูด มารยาทในการเข้าสังคม เป็นต้น

2. แบ่งตามผลิตภัณฑ์ทางความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 วัฒนธรรมอุปนัย (inductive) ได้แก่ วัฒนธรรมในด้านความสามารถในสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ เครื่องมือ เครื่องจักรกล ความรู็และวิธีการทางวัทยาศาสตร์
2.2 วัฒนธรรมสุนทรียะ (Aesthetic) ได้แก่วัฒนธรรมในด้านความงดงาม ศิลปะ ซึ่งได้แก่ ศิลปกรรม ระเบียบการติดต่อในสังคม ภาษาและวรรณคดี
2.3 วัฒนธรรมแบบบริรักษ์ (Control) ได้แก่วัฒนธรรมในด้านการควบคุมกลุ่มชน ให้อยู่ในสังคมได้ด้วยดี ได้แก่ กฎหมาย ข้อบังคับ ศีลธรรม

3. แบ่งตามลักษณะที่มาใหญ่ๆ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
3.1 วัฒนธรรมทางวัตถุ ได้แก่ปัจจัยสี่และวัตถุต่างๆ อันอำนวยความสะดวกสบายทางกาย
3.2 วัฒนธรรมทางจิตใจ ได้แก่ สิ่งที่ประเทืองในทางปัญญาและจิตใจ อันได้แก่ ศาสนา ศิลปะ กฎหมาย ระเบียบประเพณี ภาษาและวรรณคดี

เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

ความหมายของวัฒนธรรม

คำว่า "วัฒนธรรม" มีรูปศัพท์มาจากคำบาลีและสันสกฤต คำว่า วัฒน มาจากภาษาบาลี คือ วฑฺฒน ส่วน ธรรม มาจากภาษาสันสกฤต คือ ธรฺม หากเขียนตามรูปศัพท์บาลีทั้งหมดก็เป็น วฑฺฒนธมฺม หรือเขียนตามรูปสันสกฤตเป็น วรฺธนธรฺม วัฒนธรรมมีความหมายตามศัพท์ว่า ธรรมเป็นเหตุให้เจริญ หรือ ธรรมคือความเจริญ

คำว่าวัฒนธรรมนีเ บัญญัติจากภาษาอังกฤษว่า culture เดิมพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงบัญญัติว่า พฤติกรรม โดยทรงประสงค์ให้เป็นรูปศัพท์สันสกฤตทั้งหมด แต่คำนี้ไม่ติดใช้ในภาษาและต่อมาทรงเปลี่ยนเป็นวัฒนธรรม ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ทุกวันนนี้ คำว่า วัฒนธรรม มีใช้เป็นหลักฐานทางราชการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2483 โดยมีประกาศใช้พระราชบัญญัติบำรุงวัฒนธรรมแห่งพุทธศักราช 2483 แต่มิได้หมายความว่าเดิมเราไม่มีวัฒนธรรม เรามีวัฒนธรรมนานแล้ว เพียงแต่เราเรียกต่างกันไปตามลักษณะของวัฒนธรรม เช่น เรียกว่า ประเพณี มารยาท ความเคยชิน จรรยา การช่าง เป็นต้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้นเป็นการกล่าวถึงความหมายของวัฒนธรรมอย่างกว้างๆ

ความหมายของวัฒนธรรมตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมแห่งชาติ พุทธศักราช 2485 ได้กำหนดความหมายไว้ว่า "วัฒนธรรม ความหมายว่า ลักษณะที่แสดงถึงความงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียวก้าวหน้าของชาติ และศีลธรรมอันดีของประชาชน" ซึ่งเป็นความหมายที่มุ่งในทางปฏิบัติ

โดยสรุป วัฒนธรรม หมายถึง "ผลิตผลของส่วนรวมที่มนุษย์ได้เรียนรู้มาจากคนแต่ก่อนสืบทอดจนมาเป็นมรดกของสังคม ซึ่งสังคมนั้นยอมรับและรักษาให้เจริญงอกงาม" หรืออีกนัยหนึ่ง "วัฒนธรรมก็คือสิ่้งที่กำหนดกฏเกณฑ์ที่มนุษย์ในส่วนรวมสร้างขึ้นมา เพื่อประโยชน์หรือเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษญ์ในสังคมนั้นๆ ดังนั้นจึงสำแดงออกมาเป็นพฤติกรรมทั้งความคิด การกระทำ สืบทอดกันไม่ขาดสาย และเป็นการแสดงซึ่งบุคลิกลักษณะประจำชาติ

เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

ความหมายของภาษา

คำว่า "ภาษา" พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 ได้ให้ความหมายไว้ว่า คือ เสียงหรือกิริยาอาการที่ทำความเข้าใจกันได้ คำพูด ถ้อยคำที่ใช้พูดกัน โดยปริยาย หมายถึง คนหรือชาติที่พูดภาษานั้นๆ เช่น นุ่งห่ม และแต่งตัวตามภาษา หรือหมายความว่า มีความรู้ความเข้าใจ

ตามนัยแห่งพจนานุกรมนั้น เป็นความหมายของภาษาในวงกว้าง คือ หมายถึง สื่อต่างๆที่ทำให้สามารถสื่อสาร ทำความเข้าใจกันได้

การสื่อสารทำความเข้าใจกันนี้มีหลายวิธี เช่น

1. ใช้กิริยาอาการ หรือ ท่าทาง เรียกว่า ภาษาใบ้ หรือ ภาษาท่าทาง

2. ใช้เสียงเปล่งออกมาเรียกว่า ภาษาพูด

3. ใช้เขียนเป็นรูปหรือเป็นเครื่องหมาย เรียกว่า ภาษาภาพ

4. ใช้สิ่งของเพื่อมุ่งให้เกิดการสื่อความหมาย เรียกว่า ภาษาวัตถุ

5. ใช้เขียนเป็นตัวหนังสือเพื่อสื่อความหมาย เรียกว่า ภาษาเขียน

นอกจากนั้นเราอาจแบ่งภาษาตามลักษณะของการรับรู้ได้ 3 ประเภท คือ

1. จักษุภาษา คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจทางสายตา เช่น การพยักหน้า การโบกธง ตัวหนังสือ เป็นต้น

2. โสตภาษา คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจทางหู เช่น เสียงพูด เสียงนกหวีด เสียงระฆัง เป็นต้น

3. สัมผัสภาษา (บางท่านเรียก ผัสสภาษา) คือ ภาษาที่แสดงให้เข้าใจกันทางสัมผัส เช่น ตัวหนังสือของคนตาบอดที่ใช้นิ้วสัมผัส ซึ่งเป็นตัวหนังสือที่ทำไว้นูนๆ เรียกว่า อักษรเบรลล์

อย่างไรก็ตาม "ภาษา" ยังมีความหมายในวงแคบ คือหมายถึง เสียงพูดที่มีระเบียบและมีความหมาย ซึ่งมนุษย์ใช้ในการสื่อความคิด ความรู้สึก และในการที่จะให้ผู้ที่เราพูดด้วยทำสิ่งที่เราต้องการและแทนสิ่งที่เราะพูดถึง

ดังนั้นภาษาจึงประกอบด้วยเสียงพูดและความหมาย โดยมีเสียงเป็นอาการภายนอกและความหมายเป็นอาการภายใน และทั้งเสียงพูดและความหมายนี้ต้องสัมพันธ์กัน จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ จึงทำให้ผู้พูดและผู้ฟังเข้าใจตรงกัน และผู้ฟังก็สามารถโต้ตอบได้

นักภาษาศาสตร์มีความเป็นตรงกันว่า ภาษาที่แสดงออกด้วยเสียงพูดหรือคำพูดเท่านั้น จึงจะเป็นภาษาที่แท้จรอง สำหรับเครื่องสื่อความหมายอย่างอื่นๆนั้น ไม่สามารถนับได้ว่าเป็นภาษา แม้จะเป็นอาการที่เกือบจะเป็นสากลที่พอจะเข้าใจกันทั่วไปได้บ้าง แต่ก็ไม่มีระบบหรือระเบียบที่แน่นอนและไม่ได้เป็นเสียงอีกด้วย

ส่วนนักมานุษยวิทยาลงความเห็นว่า มนุษย์เท่านั้นที่มีภาษา สำหรับสัตว์ถึงแม้จะร้องได้และเข้าใจกันได้บ้าง ก็เป็นเพียงการแสดงอารมณ์ เช่น ความกลัว ความดีใจ ความโกรธ จึงถือเป็นสัญญาณ (sign) และถือเป็นสัญชาตญาณ คือ รู้เอง เป็นเอง และไม่มีการเปลี่ยนแปลง งอกงาม เมื่อร้อยปีเป็นอย่างไร ปัจจุบันก็เป็นเช่นนั้น หรืออย่างนกแก้ว นกขุนทองที่สามารถร้องเป็นภาษาของมนุษย์ได้ แต่นกขุนทองก็ไม่สามารถเอาคำอื่นไปแทนคำหนึ่งคำในประโยคเพื่อให้โต้ตอบกันได้ เราจึงถือว่านกแก้ว นกขุนทองเลียนภาษาของมนุษย์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวหนังสือจะเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูด แต่ตัวหนังสือก็มีระบบ กฎเกณฑ์แทนเสียงพูดได้เกือบจะสมบูรณ์ เราจึงถือว่าตัวหนังสือมีความสำคัญเท่ากับเสียงพูด และเมื่อกล่าวถึงภาษาก็มักจำกัดวงอยู่เฉพาะภาษาพูดและภาษาเขียนเป็นสำคัญ

กล่าวโดยสรุปได้ว่า "ภาษา" มีทั้งความหมายกว้างและความหมายแคบ
ความหมายกว้าง ภาษา หมายถึง สื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่ก่อให้เกิดความเข้าใจ
ความหมายแคบ หมายถึง เสียงพูดที่เปล่งออกมาเข้าใจตรงกัน โต้ตอบกันได้ และมนุษยฺเท่านั้นที่มีภาษา
ภาษามนุษย์จะต้องมีการเรียนรู้ มีการสอนกันสืบต่อมา และมีความเจริญวิวัฒนาการเป็นลำดับ ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้มนุษย์มีความเจริญ และมีความเป็นอยู่ดีกว่าสัตว์

เอกสารอ้างอิง
ประจักษ์ ประภาพิทยากร และคณะ. ภาษากับวัฒนธรรม. พิมพ์ครั้งที่ 9. นนทบุรี: ไทยรุ่มเกล้า. มปท. (เอกสารอัดสำเนา)

วัฒนธรรมในการใช้ภาษามีอะไรบ้าง

๑. การใช้ภาษาให้ถูกวัฒนธรรม ๑. ใช้ถูกตามแบบแผนของภาษาไทย ๒. ใช้คำสุภาพ หลีกเลี่ยงคำหยาบคาย หรือหยาบโลน ๓. ใช้คำพูดที่สื่อความหมายแจ่มแจ้ง ไม่กำกวม ๔. ใช้ภาษาที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจดีระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจในหมู่คณะ

ภาษามีความสําคัญอย่างไร ยกตัวอย่าง

1.มนุษย์สามารถใช้ภาษาในการติดต่อทำความเข้าใจกันได้ กล่าวคือ สามารถใช้ภาษาแสดงความต้องการทางร่างกายและจิตใจด้วย 2. มนุษย์ใช้ภาษาเป็นกิจกรรมสำคัญและจำเป็นในการดำรงชีวิต 3. ภาษาเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้และฝึกฝน โดยเน้นการฝึกฝนที่ถูกวิธีเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตในประจำวัน

ภาษาถิ่นสะท้อนวัฒนธรรมอย่างไร

1. ภาษาถิ่นเป็นวัฒนธรรมส่วนหนึ่งที่ควรศึกษา เพราะการศึกษาภาษาถิ่นจะช่วยให้เข้าใจ สภาพสังคมและวัฒนธรรมของกลุ่มชนได้ทางหนึ่ง ภูมิปัญญาของชาวบ้านด้านต่าง ๆ เช่น เพลงกล่อม เด็ก นิทาน ปริศนาค้าทาย ชื่อบุคคล ชื่อพืชและชื่อสัตว์ชื่อสิ่งของเครื่องใช้ชื่ออาหารเครื่องดื่ม บทสวด ในพิธีกรรม และวรรณกรรมท้องถิ่นต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่ ...

องค์ประกอบใดบ้างที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมในการใช้ภาษา

๗.องค์ประกอบที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมในการใช้ภาษา ได้แก่ อายุและประสบการณ์ ความใกล้ชิด เพศ โอกาส อาชีพ การอบรมเลี้ยงดูและ การศึกษา ตำแหน่งและฐานะทางสังคม และ สภาพภูมิศาสตร์ ๘.ระดับของภาษา เพื่อความสะดวกในการใช้ภาษาให้ถูกกาลเทศะ จึงขอแบ่งภาษาออกเป็น ๓ ระดับ คือ ภาษาปาก ภาษากึ่งแบบแผน และภาษาแบบแผน