เจ้าหนี้ประจานลูกหนี้ผิดกฎหมายไหม

อย่างไรก็ตามลูกหนี้ทุกคนมีสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย ดังนั้นเจ้าหนี้จะต้องทวงถามหนี้กับลูกหนี้อย่างสุภาพชน ให้เกียรติ ละเว้นการประจานดูหมิ่นให้ลูกหนี้เกิดความเสื่อมเสียและอับอาย เพื่อปกป้องสิทธิของลูกหนี้ กฎหมายจึงกำหนด ข้อห้ามต่าง ๆ ในเรื่องการทวงหนี้ไว้อย่างชัดเจน

ถ้าเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้ามจะมีผลอย่างไร?

ทั้งนี้หากพบว่าเจ้าหนี้ทวงหนี้ฝ่าฝืนข้อปฏิบัติในการทวงหนี้ข้างต้น ถือว่ามีความผิด ประชาชนสามารถแจ้งร้องเรียนเอาผิดได้ โดยคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้สามารถมีคำสั่งให้หยุดการกระทำดังกล่าว หากฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับได้

หากเจ้าหนี้ละเมิดข้อห้าม เราควรทำอย่างไร?

อย่างไรก็ตามหากลูกหนี้หรือประชาชนสามารถร้องเรียนได้ที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ที่มีตั้งแต่ระดับประเทศ และระดับจังหวัด หรือที่ว่าการอำเภอและสถานีตำรวจ ในท้องที่ เพื่อแจ้งการกระทำความผิดได้และนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 คุ้มครองสิทธิของลูกหนี้

และตาม พ.ร.บ. นี้ ถ้าเจ้าหนี้ทวงถามหนี้ที่เป็นเท็จ (มาตรา 12) หรือผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม (มาตรา 13) จะได้รับโทษที่หนักขึ้นด้วย สุดท้ายนี้ ทีมงานของธนาคารแห่งประเทศไทย พร้อมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับลูกหนี้ เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเอง เรียกได้ว่าจะต้องศึกษากันไว้ให้ดีเพราะอาจเป็นประโยชน์ต่อตัวท่านเองถ้าถูกทวงหนี้ไม่เป็นธรรม

ดังนั้น การทวงหนี้โดยการขู่ว่าจะฟ้องศาลอันเป็นการประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง เข้าข่ายเป็นการละเมิดข้อห้ามตามกฎหมายการทวงถามหนี้ เจ้าหนี้หรือผู้ที่ทวงถามหนี้ ถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

นอกจากนี้ หากเป็นการโพสต์ทวงถามหนี้อันเป็นการประจานลูกหนี้ หรือทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ก็เข้าข่ายมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 เพราะเป็นกรณีที่ผู้กระทำมีเจตนาจะส่งข้อมูลให้แก่บุคคลจำนวนมาก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท

ยิ่งไปกว่านั้น หากได้ทวงหนี้โดยการนำภาพของลูกหนี้มาโพสต์ลงโซเชียลมีเดียในลักษณะที่เป็นการประจานลูกหนี้ ทำให้ได้รับความอับอาย เสียชื่อเสียง อาจเข้าข่ายเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ผู้กระทำก็อาจมีความผิดตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท อีกทั้งยังอาจเข้าข่ายเป็นการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับความยินยอม และน่าจะทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหาย ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565 มาตรา 79 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 500,000 บาท

สรุปความได้ว่า การขู่ลูกหนี้ว่าจะฟ้องศาลสามารถทำได้ ถ้าทำโดยสุจริตอยู่ภายในกรอบที่กฎหมายให้อำนาจ แต่หากปรากฏว่าเป็นการขู่ว่าจะฟ้องศาลอันมีลักษณะเป็นการประจานลูกหนี้ ทำให้ลูกหนี้เสียชื่อเสียง เช่นนี้ก็เข้าข่ายผิดกฎหมายหลายข้อหาดังที่ได้กล่าวมา

พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558

มาตรา 11 ห้ามผู้ทวงถามหนี้กระทําการทวงถามหนี้ในลักษณะดังต่อไปนี้
(1) การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง หรือการกระทําอื่นใดที่ทําให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายชื่อเสียง หรือทรัพย์สินของลูกหนี้หรือผู้อื่น

(2) การใช้วาจาหรือภาษาที่เป็นการดูหมิ่นลูกหนี้หรือผู้อื่น

(3) การแจ้งหรือเปิดเผยเกี่ยวกับความเป็นหนี้ของลูกหนี้ให้แก่ผู้อื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทวงถามหนี้ เว้นแต่เป็นกรณีตามมาตรา 8 วรรคสอง (2)

(4) การติดต่อลูกหนี้โดยไปรษณียบัตร เอกสารเปิดผนึก โทรสาร หรือสิ่งอื่นใดที่สื่อให้ทราบว่าเป็นการทวงถามหนี้อย่างชัดเจน เว้นแต่กรณีการบอกกล่าวบังคับจํานองด้วยวิธีการประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งเจ้าหนี้ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้โดยวิธีการอื่น หรือกรณีอื่นใดตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด

(5) การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ หรือชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้บนซองจดหมายในการติดต่อลูกหนี้ที่ทําให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อเพื่อการทวงถามหนี้ เว้นแต่ชื่อทางธุรกิจของผู้ทวงถามหนี้ไม่ได้สื่อให้ทราบได้ว่าเป็นผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้

(6) การทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการประกาศกําหนด
ประมวลกฎหมายอาญา

มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษรกระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

มาตรา 16 วรรคหนึ่ง ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติม หรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2565
มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ห้ามมิให้ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคลใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล โดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่เป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมได้โดยได้รับยกเว้น ไม่ต้องขอความยินยอมตามมาตรา 24 หรือมาตรา 26

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2845/2556 การฟ้องคดีต่อศาลตามปกติย่อมเป็นการกระทำโดยชอบ เพราะเป็นการที่จำเลยใช้สิทธิของตนทางศาลอันเป็นสิ่งที่กฎหมายอนุญาต การใช้สิทธิเช่นนี้ไม่เป็นการผิดกฎหมายเว้นแต่จะปรากฏว่าจำเลยกระทำโดยไม่สุจริต

การที่โจทก์เคยร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยข้อหาข่มขู่ ขู่เข็ญให้เกิดความกลัว ดูหมิ่นซึ่งหน้าและปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และร้องเรียนจำเลยต่อผู้บังคับบัญชาจำเลยในเรื่องเดียวกัน ย่อมมีมูลทำให้จำเลยเข้าใจได้ว่าโจทก์หมิ่นประมาทจำเลย จึงได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นในความผิดฐานหมิ่นประมาท มิใช่เป็นกรณีที่จำเลยปั้นเรื่องขึ้นฟ้องโจทก์แต่อย่างใด แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องโดยเห็นว่าการกระทำของโจทก์ไม่เป็นการหมิ่นประมาทจำเลยก็ยังไม่พอฟังว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิอันไม่สุจริตอันจะเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์

คำพิพากษาฎีกาที่ 3527/2532 จำเลยทำสัญญาประนอมหนี้กับโจทก์ที่สถานีตำรวจ โดยโจทก์พูดว่าให้เอาเงินมาใช้เสีย ถ้าไม่ใช้จะฟ้องและติดตะราง พวกของโจทก์พูดว่า “ใช้เสียน้อยเอยถึงคราวจำเป็นแล้วถ้าไม่ใช้จะถูกฟ้องติดตะราง” พนักงานสอบสวนก็พูดด้วย ผู้ใหญ่ใช้เสียเรามีวินัยอยู่มิฉะนั้นจะเป็นโทษอาญานะ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เป็นเรื่องที่โจทก์กับพวกขู่ว่าถ้าจำเลยไม่ใช้เงินโจทก์จะฟ้องเอาผิดกับจำเลยทางอาญา อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลโดยสุจริตเป็นการขู่ว่าจะใช้สิทธิตามปกตินิยม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1739/2523 เดิมห้างโจทก์กับบริษัทจำเลยที่ 1 ติดต่อค้าขายกันมาหลายปี โดยโจทก์ซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์เลิกซื้อสินค้าจากจำเลยที่ 1 และยังค้างชำระค่าสินค้าจำเลยที่ 1 อยู่ จำเลยที่ 1 ได้ทวงถามโจทก์ให้ชำระหนี้หลายครั้งแล้ว โจทก์ไม่ชำระ จึงได้มีประกาศโฆษณาลงในหนังสือพิมพ์ข้อความว่า ให้โจทก์จัดากรชำระหนี้ที่ค้างจำเลยที่ 1 ภายใน 7 วัน มิฉะนั้น จะดำเนินการตามกฎหมาย ดังนี้ แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในฐานะกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 และส่วนตัว เป็นผู้จัดให้มีการประกาศข้อความดังกล่าวก็ตาม ข้อความที่ประกาศนั้นก็เป็นเรื่องคำเตือนให้ลูกหนี้ชำระหนี้ ซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิที่จะกระทำได้ตามกฎหมาย ทั้งข้อความที่ประกาศก็ไม่มีข้อความใดที่เป็นการใส่ความโจทก์ โดยประการที่น่าทำให้เสียชื่อเสียงหรือถูกดูหมิ่น การกระทำของจำเลยทั้งสอง จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 846/2505 ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความที่จำเลยตีพิมพ์โฆษณานั้น อ่านแล้วได้ความว่า โจทก์ร่วมโกงเอาเงินของนายก๋องที่ฝากซื้อปืนไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย จึงเป็นข้อความที่อาจทำให้โจทก์ร่วมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชังดังศาลชั้นต้นวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยสู้คดีว่าจำเลยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทเพราะเป็นการเสนอข่าวติชมด้วยความเป็นธรรมนั้นศาลฎีกาเห็นว่าจำเลยจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวได้ต่อเมื่อได้กระทำโดยสุจริตเสียก่อน แต่ตามพยานหลักฐานในสำนวนปรากฏว่า จำเลยกับโจทก์ร่วมไม่ถูกกัน โจทก์ร่วมและจำเลยเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดยเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ด้วยกัน มีความคิดเห็นไม่ตรงกันและเคยมีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาแล้ว โดยจำเลยกล่าวหาโจทก์ร่วมต่อผู้ใหญ่และบุคคลอื่น ๆ ไปในทางที่โจทก์ร่วมเสียหาย มาในครั้งนี้นายก๋องมอบเรื่องให้จำเลยซึ่งเป็นทนายความทวงหนี้และจัดการฟ้องร้องให้ จำเลยกลับฉวยโอกาสเอาเรื่องนี้ไปตีพิมพ์โฆษณาและยังใช้คำว่า ส.ส. ซึ่งหมายความถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอยู่อีก ทั้ง ๆ ที่โจทก์ร่วมไม่ได้เป็นแล้ว แสดงให้เห็นว่าจำเลยไม่ได้กระทำโดยสุจริต ดังนั้น จำเลยจึงยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่ากรณีเข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นฟ้องด้วย พิพากษากลับให้บังคับคดีลงโทษจำเลยตามศาลชั้นต้น.