มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีกี่มาตรฐาน อะไรบ้าง

ที่มาข้อมูล : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๕๐). สารานุกรมวิชาชีพครู เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ พรรษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์ สกสค. ลาดพร้าว.

--------------------------------------------

     ทุกวิชาชีพย่อมต้องมีมาตรฐานของวิชาชีพนั้นๆ เพื่อวัดหรือประมาณค่าผู้ปฏิบัติการวิชาชีพตามมาตรฐานด้านความรู้ ทักษะ และประสบการณ์วิชาชีพ ซึ่งมาตรฐานด้านความรู้ก็ดี มาตรฐานด้านประสบการณ์และทักษะวิชาชีพก็ตามจะต้องถูกกำหนดขึ้นโดยองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพของแต่ละวิชาชีพ ดังตัวอย่าง เช่น อาชีพด้านกฎหมายก็มีสภาทนายความ อาชีพด้านสถาปัตยกรรมที่มีสถาปนิกสมาคมอาชีพทางด้านการแพทย์ก็มีแพทยสภา อาชีพด้านการพยาบาลก็มีสมาคมการพยาบาล หรืออาชีพด้านการศึกษาก็มีคุรุสภา เป็นผู้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพของตนตามความมุ่งประสงค์ดังกล่าวข้างต้น การที่องค์กรด้านวิชาชีพต่างๆ ได้กำหนดให้มีมาตรฐานวิชาชีพของตน ถือเป็นภาระหน้าที่เพื่อความมุ่งประสงค์ในการรักษา ส่งเสริม และพัฒนาอาชีพของตนให้มีมาตรฐานสูงที่สุด โดยให้ผู้ปฏิบัติการ ผู้รับบริการ ผู้เกี่ยวข้องและสาธารณชนได้เห็นความสำคัญของการอาชีพนั้นๆ และเพื่อให้การอาชีพนั้นๆ สามารถคงอยู่ได้ด้วยความมีคุณค่า เป็นที่ยอมรับนับถือและได้รับการยกย่อง

     อย่างไรก็ดีการที่แต่ละวิชาชีพจะมีมาตรฐานโดยยึดที่มาตรฐานความรู้ มาตรฐานประสบการณ์และทักษะในการวิชาชีพเท่านั้น ย่อมไม่เป็นการเพียงพอ แต่ละวิชาชีพยังจะต้องมีอีกมาตรฐานที่สำคัญนั่นก็คือ มาตรฐานการประพฤติปฏิบัติตนของผู้ประกอบอาชีพแต่ละอาชีพด้วย ซึ่งย่อมหมายถึงมาตรฐานการประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของวิชาชีพของตน ซึ่งประกอบด้วยจริยธรรม คุณธรรม ความดี ความงาม รวมทั้งค่านิยมที่ส่งเสริมการพัฒนาวิชาชีพ ด้วยเหตุนี้มาตรฐานวิชาชีพทุกๆ สาขาย่อมจะมีองค์ประกอบสำคัญต่อไปนี้อยู่ด้วยเสมอ กล่าวคือ มาตรฐานความรู้ และทักษะ มาตรฐานในสมรรถนะที่ประกอบการวิชาชีพได้จริง และมาตรฐานทางด้านความประพฤติและปฏิบัติตน

     สำหรับวิชาชีพทางการศึกษานั้น คำว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษามีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะการศึกษาเป็นทั้งการสร้าง การพัฒนา รวมทั้งการเสริมให้บุคคลมีคุณภาพ มีศักยภาพ ที่จะเป็นพลเมืองที่มีคุณค่าของชุมชน สังคม และประเทศ หากมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไม่มีมาตรฐาน หรือมาตรฐานต่ำก็ย่อมเป็นตัวบ่งชี้ชัดเจนว่า ระบบการศึกษาจะสร้างหรือพัฒนาประชาชนให้มีคุณภาพที่จะมีชีวิตที่ก้าวหน้าและเป็นสุขได้ยากลำบาก ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา จะมีสมาคมวิชาชีพด้านการศึกษาดูแลเรื่องมาตรฐานการอาชีพของครู และของผู้บริหารที่เรียกว่า "Professional Standard Boards" (KY: Education Professional Standards Board Website: available at file://G:\ProfStand10.htm) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษานั้นมีความสำคัญ นอกจากนั้นก็จะมีคณะกรรมการวิชาชีพทางการศึกษาในแต่ละเขต แต่ละท้องที่ และแต่ละรัฐ เพื่อความพยายามให้ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาได้ปฏิบัติหน้าที่ให้ถึงมาตรฐานขั้นต่ำของวิชาชีพ เป็นต้น ส่วนมาตรฐานวิชาชีพการศึกษาของประเทศไทย ก็ได้ถูกกำหนดขึ้นโดยคุรุสภา ซึ่งการกำหนดมาตรฐานดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาค้นคว้าทั้งในรูปของการวิจัย และใช้ประโยชน์ผลการวิจัย การศึกษาเอกสารการประชุมสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการ และอื่นๆ เพื่อประมวลข้อมูลมากำหนดเป็น “มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา” เช่นนี้เป็นต้น

     มาตรฐานวิชาชีพ หมายถึง จุดมุ่งหมายหลักที่จะสร้างแนวทางปฏิบัติรวมทั้งส่งเสริมให้มีการปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพและจรรยาบรรณของวิชาชีพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในวิชาชีพของผู้ปฏิบัติ เพื่อให้การปฏิบัติงานอาชีพมีคุณภาพสูงสุด (CIPD-Professional Standards: available at, file://G:\ProfStand11.htm) โดยความหมายดังกล่าว วิชาชีพใดๆ ย่อมให้บริการแก่สาธารณชน หรือองค์กรต่างๆ โดยต้องอาศัยความรู้ความชำนาญเฉพาะ โดยมีมาตรฐานในการประกอบอาชีพที่ผู้ประกอบวิชาชีพจะต้องได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติอย่างเพียงพอก่อนที่จะประกอบอาชีพ

     วิชาชีพที่มีมาตรฐาน จึงได้รับการยกย่องให้เป็นวิชาชีพชั้นสูงเพราะผู้ประกอบวิชาชีพ นอกจากต้องมีความรู้และทักษะในวิชาชีพแล้ว ยังต้องมีความรับผิดชอบสูง เพราะเกี่ยวข้องกับผู้รับบริการและสาธารณชน จึงต้องมีการควบคุมการประกอบวิชาชีพเป็นพิเศษ เพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อผู้รับบริการและสาธารณชน โดยผู้ประกอบวิชาชีพต้องประกอบวิชาชีพด้วยวิธีการแห่งปัญญา ได้รับการศึกษาอบรมมายาวนานเพียงพอ มีอิสระในการใช้วิชาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ และมีจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องมีสถาบันวิชาชีพหรือองค์กรวิชาชีพที่เป็นแหล่งกลางในการสร้างสรรค์และจรรโลงวิชาชีพด้วย สำหรับความหมายของคำว่า มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา มีความหมายที่เป็นอาชีพขั้นสูงเช่นเดียวกับอาชีพชั้นสูงอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก ทนายความ พยาบาล และอื่นๆ แต่ที่มีความต่างที่สำคัญก็เพราะมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาเป็นข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะและคุณภาพที่พึงประสงค์ ที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องประพฤติปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดคุณภาพในการประกอบวิชาชีพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้แก่ผู้รับบริการจากวิชาชีพได้ว่า เป็นบริการที่มีคุณภาพ และตอบสังคมได้ด้วยว่า การที่กฎหมายให้ความสำคัญกับวิชาชีพทางการศึกษา และกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุมโดยต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั้น เนื่องจากเป็นวิชาชีพที่มีลักษณะเฉพาะ ต้องใช้ความรู้ ทักษะ และความเชี่ยวชาญในการประกอบวิชาชีพตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๖ มาตรา ๔๙ ได้กำหนดมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาไว้ ๓ ด้านคือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ๒๕๔๘ : ๔) เช่น มาตรฐานวิชาชีพครูมีความหมายครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ คือ

๑. มาตรฐานความรู้และประสบการณ์วิชาชีพครู มาตรฐานข้อนี้ ประกอบด้วย มาตรฐาน ๒ ส่วน ได้แก่

     มาตรฐานความรู้ หมายถึง ข้อกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพครู มีคุณวุฒิทางการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง โดยต้องมีสาระความรู้และสมรรถนะตามมาตรฐานในเรื่องต่อไปนี้

  • ภาษาและเทคโนโลยีสำหรับครู
  • การพัฒนาหลักสูตร
  • การจัดการเรียนรู้
  • จิตวิทยาสำหรับครู
  • การวัดและประเมินผลการศึกษา
  • การบริหารจัดการในห้องเรียน
  • การวิจัยทางการศึกษา
  • นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา
  • ความเป็นครู

     มาตรฐานประสบการณ์วิชาชีพ ผู้ประกอบวิชาชีพครูจะต้องผ่านการฝึกทักษะและสมรรถนะของวิชาชีพครูในด้านการปฏิบัติการสอน รวมทั้งทักษะและสมรรถนะด้านการสอนสาขาวิชาเฉพาะในสถานศึกษาตามหลักสูตรปริญญาทางการศึกษาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑ ปี และผ่านเกณฑ์การประเมินปฏิบัติการสอนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการคุรุสภากำหนด ดังนี้

  • การฝึกปฏิบัติวิชาชีพระหว่างเรียน
  • การฝึกปฏิบัติการสอนในสถานศึกษาในสาขาวิชาเฉพาะ

๒. มาตรฐานการปฏิบัติงาน มีความหมายครอบคลุมมาตรฐานย่อยๆ ของการปฏิบัติงาน ๑๒ ประการด้วยกัน คือ

  • ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ
  • ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่างๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้เรียน
  • มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ
  • พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
  • พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ
  • จัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้เรียน
  • รายงานผลการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนได้อย่างมีระบบ
  • ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน
  • ร่วมมือกับผู้อื่นในสถานศึกษาอย่างสร้างสรรค์
  • ร่วมมือกับผู้อื่นในชุมชนอย่างสร้างสรรค์
  • แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
  • สร้างโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ในทุกสถานการณ์

๓. มาตรฐานการปฏิบัติตน หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับความประพฤติของผู้ปฏิบัติวิชาชีพครู จะต้องประพฤติปฏิบัติตามจรรยาบรรณของมาตรฐานวิชาชีพครู ๕ ประการดังต่อไปนี้

  • จรรยาบรรณต่อตนเอง
  • จรรยาบรรณต่อวิชาชีพ
  • จรรยาบรรณต่อผู้รับบริการ
  • จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมประกอบวิชาชีพ
  • จรรยาบรรณต่อสังคม

     โดยพื้นฐานและแนวความคิดความเชื่อของการมีมาตรฐานวิชาชีพ มิใช่มีไว้เพื่อมุ่งในการควบคุมหรือกำกับผู้ประกอบวิชาชีพเท่านั้น หากแต่ยังมีพื้นฐานของความคิดความเชื่ออีกบางประการคือ

  • เป็นมาตรการของการให้ความสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบวิชาชีพเพื่อสามารถพัฒนา ผู้ประกอบวิชาชีพเป็นทั้งรายบุคคลและเป็นกลุ่มบุคคล
  • เป็นมาตรการที่ทำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสามารถเลื่อนตำแหน่งงานวิชาชีพ เพิ่มคุณวุฒิ คุณภาพ คุณสมบัติรวมทั้งทักษะและเจตคติในการประกอบวิชาชีพ
  • เป็นมาตรการที่จะเพิ่มมาตรฐานในระดับวิชาชีพที่ทำอยู่ในด้านความรู้ความเข้าใจและสมรรถนะของบุคคลให้มีความเป็นมืออาชีพในวิชาชีพยิ่งขึ้น เป็นต้น

     มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษานั้น นอกจากเป็นมาตรฐานวิชาชีพที่ต้องประกอบวิชาชีพเพื่อบริการต่อสาธารณชนตามบริบทของวิชาชีพชั้นสูงทั่วไปแล้ว ยังต้องมีการปฏิบัติการวิชาชีพที่เกี่ยวกับบทบาทสำคัญต่อสังคมและความเจริญของประเทศที่สำคัญด้วยคือ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา, ๒๕๔๘: ๑)

  • สร้างพลเมืองดีของประเทศ โดยให้การศึกษาขั้นพื้นฐานที่ประเทศต้องการ
  • พัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เพื่อสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
  • สืบทอดวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของชาติ จากคนรุ่นหนึ่งไปยังคนอีกรุ่นหนึ่ง เพื่อรักษาความเป็นชาติไว้ให้มั่นคงและยาวนาน

     จากแนวคิดพื้นฐานดังกล่าว จึงก่อให้เกิดมีมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาขึ้นทั้งที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพครู มาตรฐานวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และมาตรฐานวิชาชีพที่ควบคุมอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง เช่น มาตรฐานวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เป็นต้น


     เป็นไปเพื่อให้มีการรักษามาตรฐานวิชาชีพ เพื่อคงความสำคัญของวิชาชีพ ทุกวงการวิชาชีพจึงมีกลยุทธ์ในการใช้และปฏิบัติตามมาตรฐานวิชาชีพในรูปแบบและวิธีการที่ต่างๆ กัน ขึ้นกับแต่ละสถาบัน องค์กร สมาคม หรือสภาวิชาชีพต่างๆ ตัวอย่างเช่นที่ The Royal College of Anaesthetists ประเทศอังกฤษ (The Royal College of Anaesthetists, available at, mhtml; //G:\ProfStand12.ht) ได้เน้นที่มาตรฐานวิชาชีพของตน ในการบริการที่ให้ผู้เรียนและสังคมที่ดีที่สุด ทั้งในระดับการบริการภายในและภายนอกสถาบัน ภาควิชาและหน่วยงานต่างๆ เช่น การสร้างหน่วยงานเป็นลักษณะคลินิคที่ให้บริการที่หลากหลาย มีการตั้งหน่วยงานให้คำปรึกษาสาขาวิชาการต่างๆ นอกสถาบันทั่วประเทศ เพื่อให้บริการเชิงของการเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสำนักประเมินคุณภาพได้ประเมินให้เป็นสถาบันที่ได้รับการยกย่องเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๖ จึงกล่าวได้ว่าการประยุกต์ใช้มาตรฐานวิชาชีพ ย่อมขึ้นกับความต่างของวิชาชีพ ความต่างของขอบเขตการใช้มาตรฐานด้วย 

      สำหรับการใช้มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาก็ย่อมมีความต่างกันเช่นที่กล่าวข้างบนนี้เช่นกัน นอกนั้น ยังต้องขึ้นกับแนวความคิดความเชื่อของการกำหนดและการใช้มาตรฐานวิชาชีพที่มีความต่างระดับการศึกษา เช่นระดับอนุบาลศึกษา ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานการศึกษา ระดับการอาชีวศึกษา และระดับการอุดมศึกษาเป็นต้น อย่างไรก็ดีในฐานะที่คุรุสภามีความเกี่ยวข้องกับครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรอื่นทางการศึกษาทั่วประเทศ ก็ได้มีการดำเนินการหรือปฏิบัติการตามมาตรฐานวิชาชีพแล้วอย่างต่อเนื่องตามกฎหมาย กล่าวคือ ครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษา และบุคลากรทางการศึกษาอื่นที่กฎกระทรวงกำหนดให้เป็นวิชาชีพควบคุม ที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพภายใต้บังคับแห่งข้อจำกัดและเงื่อนไขของคุรุสภาดังนี้ (มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา : สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา ๒๕๔๘ : ๓)

  • ต้องได้รับใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพ โดยยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพตามที่คุรุสภากำหนด ผู้ไม่ได้รับอนุญาต หรือสถานศึกษาที่รับผู้ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าประกอบวิชาชีพควบคุมในสถานศึกษา จะได้รับโทษตามกฎหมาย
  • ต้องประพฤติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณของวิชาชีพ รวมทั้งต้องพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำรงไว้ซึ่งความรู้ความสามารถ และความชำนาญการตามระดับคุณภาพของมาตรฐานในการประกอบวิชาชีพ
  • บุคคลผู้ได้รับความเสียหายจากการประพฤติผิดจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพ มีสิทธิกล่าวหา กรรมการคุรุสภา กรรมการมาตรฐานวิชาชีพ และบุคคลอื่นมีสิทธิกล่าวโทษผู้ประกอบวิชาชีพที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณได้
  • เมื่อมีการกล่าวหาหรือกล่าวโทษ คณะกรรมการมาตรฐานวิชาชีพอาจวินิจฉัยชี้ขาดให้ยกข้อกล่าวหา/กล่าวโทษ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใช้ใบอนุญาต หรือเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ และผู้ถูกพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตไม่สามารถประกอบวิชาชีพต่อไปได้

----------------------------------------------------------------------------------

สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา. (๒๕๔๘). มาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษา. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.

CIPD-Professional Standards, available at, file://G:\Prof.Stand11.htm.

KY:Education Professional Standards Board Website, available at, file://G:\ProfStand10.htm.

Seagal, William E. and Anna V. Wilson. (1998). Introduction to Education: Teaching in Diverse Society. New Jersey : Prentice-Hall.

เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู มีกี่ข้อ

ในปี พ.ศ. 2533 คุรุสภาได้ก าหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูขึ้น ประกอบด้วยเกณฑ์ 4 เกณฑ์ คือ 1) รอบรู้ 2) สอนดี 3) มีคุณธรรมจรรยาบรรณ และ 4) มุ่งมั่นพัฒนา ต่อมาในปี พ.ศ. 2537 คุรุสภาได้ พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูให้เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น โดยก าหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูขึ้นใหม่มี 11 ข้อ (11 มาตรฐาน) และกระทรวงศึกษาธิการได้รับ ...

เกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครู คืออะไร

หมายถึง ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะ หรือการแสดงพฤติกรรมการปฏิบัติงานและการพัฒนางาน ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา รวมทั้งผู้ต้องการประกอบวิชาชีพทางการศึกษาต้องปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดผลตามวัตถุประสงค์ และเป้าหมายการเรียนรู้หรือการจัดการศึกษา รวมทั้งต้องฝึกฝนพัฒนาตนเองให้มีทักษะ หรือความชำนาญสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มาตรฐานวิชาชีพครูมีความสําคัญอย่างไร

ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูนั้นมีความสำคัญอย่างมากกับการรักษามาตรฐานทางการศึกษา เพราะการถือเป็นใบอนุญาตที่รับรองความพร้อมของบุคคลในการปฏิบัติหน้าที่ครูผู้สอน ซึ่งช่วยการันตีให้ผู้รับบริการมีความมั่นใจว่าได้รับบริการจากบุคคลที่มีทักษะ ความรู้ และความสามารถ โดยตรงตามสายงาน ไม่ได้แอบอ้างหรืออุปโลกน์ขึ้นมา ซึ่งนอกจากจะได้รับ ...

มาตรฐานวิชาชีพครูมีอะไรบ้าง

มาตรฐานที่ 1 ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาวิชาชีพครูอยู่เสมอ.
มาตรฐานที่ 2 ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดกับผู้เรียน.
มาตรฐานที่ 3 มุ่งมั่นพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพ.
มาตรฐานที่ 4 พัฒนาแผนการสอนให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง.
มาตรฐานที่ 5 พัฒนาสื่อการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพอยู่เสมอ.