เพลงปลุกใจมีอิทธิพลต่อคนในสังคมอย่างไร

วันก่อน นายกฯ ลุงตู่ คุยถึงเพลงปลุกใจในที่ประชุม ครม.

สืบเนื่องจากช่วงนี้ มีการนำเพลง “บ้านเกิดเมืองนอน” มาทำเวอร์ชั่น 2564 โดยศิลปินดัง กลายเป็นที่กล่าวขานกันในวงสังคม

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่า อยากเสนอให้กระทรวงวัฒนธรรมมาดูในเรื่องนี้ เผื่อรัฐบาลจะทำได้เพลงแบบนี้บ้าง

พล.อ.ประยุทธ์ ได้ฮัมเนื้อเพลงท่อนหนึ่งของเพลง “ดุจบิดามารดร” ร้องว่า “รักชาติ ยอมสละแม้ชีวี...”

พร้อมถามที่ประชุมครม.ว่า รู้หรือไม่ว่าชื่อเพลงอะไร?

บรรยากาศเป็นไปอย่างออกรส

สำหรับเพลงที่นายกฯ ร้องนั้น คือเพลง “ดุจบิดามารดร” เป็นเพลงพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี

เรื่องของเพลงปลุกใจนั้น นับว่าเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งในการบริหารจัดการจิตวิทยาสังคม

ในต่างประเทศ แม้แต่ในสหรัฐอเมริกา ก็มีวิธีสอดแทรกให้ผู้คนเกิดความรู้สึกรักชาติมากมาย โดยเฉพาะหนังฮอลลีวู้ดหลายๆ เรื่อง บางเรื่องรบกับมนุษย์ต่างดาว บางเรื่องก็รบกับผู้ก่อการร้าย ฯลฯ มันก็งานโฆษณาประชาสัมพันธ์ปลุกใจให้คนฮึกเหิมในความเป็น “อเมริกัน” นั่นเอง

ในเมืองไทย ยุคที่มีการใช้เพลงปลุกใจเยอะที่สุด ก็คือยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร

เคยมีงานศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเพลงปลุกใจหลายชิ้น ยกตัวอย่าง เรื่อง “เพลงปลุกใจของวงสุนทราภรณ์ : เครื่องมือโน้มน้าวจิตใจสู่ค่านิยมตะวันตก” - PATRIOTIC SONGS OF SUNTHARAPORN BAND: PERSUASIVE TOOLS TO WESTERN VALUES โดย นิติพรรณ สุวาท ตีพิมพ์ในวารสารวไลยอลงกรณ์ปริทัศน์ (มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์) ปีที่ 9 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2562

มีเนื้อหาที่น่าสนใจบางตอน โดยสรุป ดังนี้

1. สังคมไทยได้รับอิทธิพลจากกลุ่มชาติมหาอำนาจแถบตะวันออกและตะวันตก ตั้งแต่สมัยสุโขทัย อยุธยา ธนบุรี รัตนโกสินทร์เรื่อยมา

ชาติตะวันออกที่มีบทบาทต่อสังคมไทย คือ จีน รวมทั้ง อินเดียด้วยและชาติตะวันตกที่มีบทบาทต่อสังคมไทย ประกอบด้วย โปรตุเกส ฮอลันดา อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น

ส่วนใหญ่มีบทบาทจากความสัมพันธ์ทางการค้า โดยการแลกเปลี่ยนและซื้อขาย ผลิตผลทางการเกษตร

บางกลุ่มมีบทบาทลักษณะการคุกคามเพื่อต้องการครอบครองดินแดน

ผลจากเหตุการณ์ดังกล่าว ได้ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายวัฒนธรรมดนตรีตะวันตกสู่สังคมไทยผ่าน 2 ช่องทาง คือ 1) ทางเศรษฐกิจ โดยอาศัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทางการทูต และ 2) ทางการทหาร จากการที่กองทหารไทยได้เปิดรับระบบทางทหาร ความรู้และยุทโธปกรณ์จากชาติตะวันตกเพื่อพัฒนา และสร้างเสถียรภาพให้กับกองทหารไทย

2. ค่านิยมตะวันตกในสังคมไทย เกิดจากการรับวัฒนธรรมจากชาติตะวันตกสู่สังคมไทย

ประกอบด้วย 2 ลักษณะ คือ บุคคลนอกวัฒนธรรมเป็นผู้นำพา และบุคคลในวัฒนธรรมเป็นผู้นำพา

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ได้สะท้อนให้เห็นการรับค่านิยม จากชาติตะวันตกสู่สังคมไทย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงความคิด วิถีชีวิต และความเชื่อของคนในสังคมไทย จนเกิดพฤติกรรมใหม่และวิถีชีวิตใหม่ของคนในสังคมไทย ภายใต้นโยบาย “รัฐนิยม”

3. วงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีกรมโฆษณาการ ดำเนินบทบาททางสังคมควบคู่กัน

โดยมีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้า และใช้นักดนตรีกลุ่มเดียวกัน

เป็นวงดนตรีลักษณะวงบิ๊กแบนด์ หรือหัสดนตรี สามารถอธิบายได้ดังนี้

1) วงดนตรีสุนทราภรณ์ (นอกราชการ) เป็นวงดนตรีรับจ้างอาชีพ มักบรรเลงเพื่อสร้างบันเทิงตามงานสังสรรค์ บทเพลงเน้นจังหวะสนุกสนานประกอบการเต้นรำและการฟัง

2) วงดนตรีกรมโฆษณาการ (ในราชการ) เป็นวงดนตรีหลักของรัฐบาล ที่มีบทบาทรับใช้สังคม และการตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ด้วยการบรรเลงผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ บทเพลงจึงมีหลายหลาก เช่น เพลงปลุกใจ เพลงสถาบัน เพลงจากวรรณคดี เพลงเยาวชน เพลงเทศกาล และประเพณี เป็นต้น

4. เพลงปลุกใจของวงดนตรีสุนทราภรณ์หรือวงดนตรีกรมโฆษณาการ

ประพันธ์ตามคำสั่งรัฐบาล สำหรับใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์และสื่อสารกับประชาชนผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงกรมโฆษณาการ ด้วยการสื่อเนื้อหาผ่านเนื้อร้องที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และเหตุการณ์สำคัญที่เกี่ยวกับชาติบ้านเมือง เพื่อสื่อและโน้มน้าวให้เกิดเป็นความรู้สึกรักชาติ เสียสละ เชื่อมั่น ศรัทธา เป็นต้น

ในการประพันธ์เนื้อร้องใช้ภาษาและถ้อยคำเป็นสื่อเพื่อปลุกใจ ปลอบใจชักชวน แนะนำบอกกล่าว และอธิบาย สามารถจำแนกได้ 2 ลักษณะ คือ

1) การปลุกใจ เพื่อให้เกิดความ รักชาติเกิดความศรัทธา เกิดความสามัคคี และสร้างจิตสำนึก

2) การสร้างค่านิยม เพื่อให้ปฏิบัติตน ตามค่านิยมของกลุ่มชาติตะวันตกภายใต้นโยบาย “รัฐนิยม” ด้านวัฒนธรรมของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม เช่น การแต่งกาย การปฏิบัติของข้าราชการ การปฏิบัติตนของประชาชน เป็นต้น

ผลจากการโน้มน้าวด้วยเพลงปลุกใจ ได้ส่งผลให้ประชาชนเข้าใจเจตนาของรัฐบาล 2 ประเด็น คือ

1) ด้านสังคม ประชาชนเข้าใจถึงเจตนาเพื่อให้รักชาติบ้านเมืองโดยใช้ความสามัคคีและความเสียสละ เพื่อปกป้องประเทศชาติ รวมทั้งต้องเชื่อมั่นและภาคภูมิใจในความเป็นชาติไทย

2) ด้านวัฒนธรรม ประชาชนเข้าใจถึงเจตนาที่ต้องการให้ประพฤติและปฏิบัติตนตามแบบสากลเพื่อให้สังคมไทยทัดเทียม นานาอารยะจากกรณีนี้ได้ส่งผลให้กลุ่มชาติตะวันตกที่มีแนวโน้มว่ารุกรานประเทศไทย มองว่าสังคมไทยได้ปรับตัวตามและให้ความร่วมมือ จึงก่อเป็นผลดีต่อประเทศชาติในขณะนั้น

นอกจากนั้น ผลพวงจากนโยบายด้านวัฒนธรรมที่มีเจตนาให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ทัดเทียมนานาอารยะ โดยใช้บทเพลงประเภทการส่งเสริมนโยบายด้านวัฒนธรรมของวงดนตรีสุนทราภรณ์ ได้ส่งผลให้ข้าราชการและประชาชนกลุ่มสังคมชั้นสูงได้ปรับพฤติกรรมตามแบบตะวันตกเช่น การแต่งกาย การทักทาย การใช้วัฒนธรรมดนตรีตะวันตก เป็นต้นจนพฤติกรรมใหม่เหล่านั้นได้ส่งอิทธิพลถึงดนตรีในวัฒนธรรมไทย เช่น การแต่งกายตามแบบสากลในวง ดนตรีลูกทุ่ง การผสมผสานวัฒนธรรมทางดนตรี เป็นต้น

5. จากงานวิจัยข้างต้น สะท้อนให้เห็นว่า เพลงปลุกใจในประเทศไทยถูกใช้ได้ผลในยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ยุคจอมพล ป.(ซึ่งก็เป็นหนึ่งในสมาชิกคณะราษฎร) เรืองอำนาจ

ส่วนในยุคปัจจุบัน บริบทสังคม ประเด็นสังคมเปลี่ยนไป แต่จะเห็นว่าบทเพลงก็ยังมีพลัง หากมีการประยุกต์ให้เข้ากับรสนิยมและโจทย์ทางสังคมการเมืองของยุคสมัย

สารส้ม

อิทธิพลของดนตรีมีผลต่อคนในสังคมอย่างไรบ้าง

อิทธิพลของดนตรีกับบุคคลและสังคม ดนตรีถูกสร้างมาสนับสนุนการดาเนินชีวิตของมนุษย์ • ดนตรีช่วยจุดประกายแสงสว่างให้แก่เหตุการณ์สาคัญต่างๆ ทั้งในยามสุขและทุกข์ • ดนตรีช่วยให้บุคคลที่มีอารมณ์ตึงเครียดผ่อนคลายลงได้ • ดนตรีช่วยให้บุคคลมีความภาคภูมิใจในความเป็นหมู่คณะและความเป็นชาติของตน

บทเพลงปลุกใจมีความสำคัญอย่างไร

เพลงปลุกใจ คือ เพลงที่มีท่วงท านองหนักแน่น เร้าใจ ก่อให้เกิดความฮึกเหิม ความสามัคคี รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และร่วมมือร่วมใจป้องกัน รักษา ประเทศชาติให้คงอยู่ตลอดไป

เสียงดนตรีมีอิทธิพลต่อมนุษย์อย่างไร

นักวิทยาศาสตร์พบว่าเสียงดนตรีจะกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายในเรื่อง อัตราการหายใจ การเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต การตอบสนองทางม่านตา ความตึงตัวของกล้ามเนื้อ ส่วนผลทางจิตใจก็คือ ดนตรีสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ สติ ความนึกคิด

ดนตรีมีบทบาทต่อสังคมไทยอย่างไร

1. ดนตรีให้ความสนุกสนาน ผ่อนคลายความเครียด ปลุกเร้าอารมณ์และจิตใจให้มีความสุข มีสุขภาพจิตดี 2. ดนตรีช่วยเสริมสร้างความสามัคคีของคนในสังคมให้มีความรักชาติ ทำให้ชาติเป็นสังคมที่สงบสุข เช่น เพลงปลุกใจ เพลงชาติไทย