แนวโน้ม การขายสินค้าออนไลน์ในอนาคต

แนวโน้ม การขายสินค้าออนไลน์ในอนาคต

เพราะ COVID-19 เป็นตัวเร่งที่ทำให้ตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทยเติบโตขึ้นมหาศาล ภายในปี ค.ศ.2020 ปีเดียวก็โตมากถึง 80% KKP Research โดยกลุ่มการเงินเกียรตินาคินภัทร จึงคาดการณ์ว่า ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือช่วง ค.ศ.2025 อี-คอมเมิร์ซไทยจะเติบโตเพิ่มจาก 3 แสนล้านบาทในปัจจุบัน ทะยานสู่ 7.5 แสนล้านบาท ครองตลาดค้าปลีกมากถึง 16% จากภาพรวมทั้งหมด

ขนาดตลาดของอี-คอมเมิร์ซไทยวันนี้เป็นรองแค่เพียงอินโดนีเซียเท่านั้นในอาเซียน แต่ในแง่มูลค่าใช้จ่ายต่อผู้ใช้งานยังตามหลังสิงคโปร์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจคือ อี-คอมเมิร์ซในอาเซียนจะโตได้มากขึ้นกว่านี้อีกในอนาคตจาก 3 ปัจจัย คือ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 80% ของประชากร, การใช้มือถือและโซเชียลมีเดียเข้มข้นของเจเนอเรชั่น Y และ Z และ การชำระเงินออนไลน์ที่แพร่หลายในภูมิภาค ซึ่งตอนนี้ประเทศไทยมีการใช้บริการธนาคารผ่านมือถือสูงสุดเป็นอันดับ 1 และการชำระเงินผ่านมือถือสูงสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก

โอกาสของอี-คอมเมิร์ซยุค COVID-19

ในยุคโรคระบาดสินค้าที่ขายดีคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหาร และสุขภาพ ส่วนสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว (การจองตั๋ว ที่พัก เครื่องบิน) ชะลอตัวอย่างรุนแรง

โดยตัวเลขการเติบโตและหดตัวมากที่สุด ของหมวดสินค้าคือ

– ตลาดท่องเที่ยวและเดินทาง -43%

– สินค้าอาหารและสุขภาพ +74%

ซึ่งในยุคล็อกดาวน์ KKP Research มองว่า เป็นโอกาสที่ธุรกิจค้าปลีกขนาดกลางและย่อมที่มีหน้าร้านควรเริ่มสร้างรอยเท้าดิจิทัลบนช่องทางและแพลตฟอร์มที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยงธุรกิจ และเป็นการปรับกลยุทธ์การขายสู่ช่องทางออนไลน์ รวมถึงขยายการเติบโตต่อในอนาคตได้ในเวลาเดียวกัน

เตรียมตัวขายของบนอี-คอมเมิร์ซ ต้องทำอย่างไรบ้าง?

แน่นอนว่าเมื่อเทรนด์การค้าออนไลน์มาแรง และหลายหน้าร้านต้องปรับตัวมาขายออนไลน์เพื่อความอยู่รอด ทั้งในด้านการแข่งขันกับคู่แข่ง และการต่อกรกับโรคระบาด ซึ่งระยะหลังการขายบนอี-คอมเมิร์ซเริ่มได้ไม่ว่า Shopee หรือ Lazada ต่างได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก

คำแนะนำของเกียรตินาคินภัทร สำหรับผู้ที่ปรับตัวมาเป็นแม่ค้า พ่อค้าออนไลน์ จึงมีดังนี้

‘การขายของออนไลน์แข่งขันราคาสูง’ เพราะมีการขายของซ้ำๆ กันมาก จึงเกิดการเปรียบเทียบราคาได้ง่าย การตั้งราคาและเข้าร่วมโปรโมชั่นของแพลตฟอร์ม เช่น การส่งฟรี หรือ cashback จึงสำคัญมาก และสินค้าที่ขายต้องมีทุนต่ำเพื่อให้ยังมีส่วนต่างกำไรเหลือ

‘รักษาคะแนนรีวิว’ คะแนนรีวิวสะท้อนความเชื่อมั่นของร้านค้า การสื่อสารกับลูกค้าโดยตรงทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจในการซื้อสินค้า และทำให้ลูกค้ากลับมาให้คะแนนรีวิวร้านและสินค้า

‘ระวัง ค่าธรรมเนียมผู้ขายอาจลดกำไรเหลือไม่มาก’ บนแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ ผู้ขายต้องจ่ายค่า fee ของร้านค้า ไม่ว่าจะค่าธรรมเนียมการขาย ค่าธรรมเนียมธุรกรรม และค่าธรรมเนียมการเข้าร่วมส่งเสริมการขาย ซึ่งอยู่ที่ 10–12% ของราคาสินค้า หรือสูงกว่านั้น ดังนั้นการตั้งราคาต้องคำนึงถึงส่วนต่างกำไรที่มากกว่าตัวเลขค่าธรรมเนียมดังกล่าว

‘การจัดการหลังบ้าน’  เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะการขายออนไลน์มีส่วนต่างกำไรต่ำ และต้องเน้นเรื่องของจำนวนให้มากพอ ดังนั้นเมื่อต้องขายจำนวนชิ้นเยอะๆ การใช้บริการศูนย์บริการด้านพัสดุครบวงการ จึงเป็นหนึ่งทางเลือกที่ช่วยให้การจัดการคลังและการจัดส่งสะดวก และประหยัดทุนได้ในระยะยาว

‘เก็บหลักฐานการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ทางการชำระภาษี’ การค้าออนไลน์ก็เป็นธุรกิจที่ต้องเสียภาษีเหมือนธุรกิจอื่นๆ โดยต้องยื่นแบบภาษีสองครั้งสำหรับครึ่งปีแรกและทั้งปี โดยในระยะเริ่มต้นหากยอดขายไม่มาก ก็สามารถหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา 60% ของรายได้จากการขายได้ หรือจะหักตามค่าใช้จ่ายจริงก็ได้ แต่หากมีรายได้เกิน 1 ล้านบาทต่อปี ก็สามารถชำระด้วยอัตรา 0.5% ของรายได้ออนไลน์ได้ ซึ่งการค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ยอดมักชำระผ่านออนไลน์ ดังนั้นผู้ขายต้องเก็บข้อมูลหลักฐานให้ครบถ้วนเพื่อลดภาระทางภาษีให้ได้มากที่สุด

5 ปีข้างหน้ากับโอกาสของธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอี-คอมเมิร์ซ

KKP Research บอกด้วยว่า การมาถึงของอี-คอมเมิร์ซ คือสัญญาณของการหมดเวลายุคปลาใหญ่กินปลาเล็ก และเป็นยุคของ ‘ปลาไว’ ซึ่งในวันนี้จนถึงอีก 5 ปีข้างหน้า จับตาดูธุรกิจเหล่านี้เอาไว้ เพราะจะเป็นธุรกิจที่ขาขึ้นอย่างยิ่งจากการได้รับประโยชน์ตลาดค้าออนไลน์

คลังสินค้า (warehoue) ความต้องการพื้นที่ของคลังสินค้าจะขยายตัวสูงขึ้น แม้ว่าใน ค.ศ.2020 ความต้องการคลังสินค้าจะหดตัวลงราว 3% จากปีก่อนหน้า แต่เชื่อได้เลยว่า ในอนาคตการเติบโตของค้าปลีกออนไลน์จะทำให้ธุรกิจคลังสินค้าเป็นที่ต้องการอย่างมาก โดยเฉพาะคลังสินค้าที่ให้บริการครบวงจร ศูนย์กระจายสินค้า และห้องเก็บความเย็น

ขนส่ง (logistics) ธุรกิจที่เป็นกระดูกสันหลังของการค้าปลีกออนไลน์ เป็นธุรกิจที่เติบโตอย่างมาก โดย ค.ศ.2014–2019 จำนวนการขนส่งพัสดุในไทยเติบโตมากถึง 92% ต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการเติบโตธุรกิจขนส่งทั่วโลกที่โตเพียง 4.2% และมีการคาดการณ์ว่า ธุรกิจขนส่งของไทยจะยังสามารถโตได้อีกราวปีละ 30% ตลอด 3 ปีจากนี้ ซึ่งจำนวนผู้เล่นที่เพิ่มขึ้นบวกกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความต้องการของค้าปลีกออนไลน์ จะช่วยซัพพอร์ตกันและกัน ทำให้เติบโตไปด้วยกัน

บรรจุภัณฑ์ (packaging) เป็นอีกหนึ่งธุรกิจสำคัญที่จะโตไปพร้อมกับค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งตอนนี้ไทยเป็นประเทศส่งออกบรรจุภัณฑ์รายใหญ่ที่สุดของอาเซียน ทำให้โอกาสในธุรกิจประเภทนี้มีแนวโน้มโตต่อใน 4–5 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพราะปัจจุบันบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตในไทยเกือบ 80% ผลิตมาจากพลาสติก ซึ่งสวนกระแสเทรนด์เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ทั่วโลกรณรงค์

ธุรกิจดิจิทัลที่เกี่ยวเนื่องกับอี-คอมเมิร์ซ โดยเฉพาะสื่อโฆษณาออนไลน์ ซึ่งในรอบ 5 ปีที่ผ่านมาขยายตัวก้าวกระโดด 21% ต่อปี จนใน ค.ศ.2020 คิดเป็น 23% ของมูลค่าสื่อโฆษณาทั้งหมด โดยมากกว่า 50% ของโฆษณาออนไลน์ไทยอยู่บนเฟซบุ๊กและยูทูบ ซึ่งเติบโตไปพร้อมกับการเข้าถึงโซเชียลมีเดียของประชากรไทย (ซึ่งประเทศไทยมีการขายออนไลน์บนโซเชียลมีเดียมากถึง 40% จากค้าปลีกออนไลน์ทั้งหมดด้วย) ทั้งนี้ในระยะถัดไป เกียรตินาคินภัทรมองว่า การโฆษณาบนช่องทางอี-มาร์เก็ตเพลส จะเติบโตมากขึ้น

อีกประเด็นน่าสนใจ KKP Research บอกด้วยว่า ปัจจุบัน อี-คอมเมิร์ซในไทยที่ได้รับความนิยม มี 2 เจ้าใหญ่ๆ ด้วยกัน ได้แก่ Shopee และ Lazada ซึ่งมีผู้ใช้งานทิ้งห่างแพลตฟอร์มรายอื่น และด้วยการแข่งขันที่สูงในสมรภูมินี้เพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด และต่อยอดไปสู่โอกาสธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้โดยรวมแล้ว แม้ ‘รายได้’ ของธุรกิจแพลตฟอร์มจะขยายตัวมาก แต่ยังคงมีแนวโน้มขาดทุนต่อเนื่องจากการทุ่มงบโฆษณา และการร่วมอุดหนุนการขาย ดังนั้นจึงประเมินว่า ท้ายที่สุดจะเหลือธุรกิจแพลตฟอร์มที่สามารถทำกำไรได้เพียงไม่กี่ราย และอาจจะมีผู้ชนะเพียงเหลือรายเดียว เหมือนที่จีนมี Alibaba และอเมริกามี Amazon เป็นผู้นำตลาดทิ้งห่างคู่แข่งที่เหลือ

อ้างอิงข้อมูลจาก

advicecenter.kkpfg.com

Share this article