ต่างชาติ ทึ่ง ตัวหนังสือ ไทย

เวลาฝรั่งไปเจอคนรู้จักในที่ไม่คาดฝัน มักจะทักกันว่า “โลกเล็กนะ (small world)” โดยที่รู้กันอยู่แล้วว่า ขนาดโลกมันไม่ได้เล็กลง จนคนเดินมาชนกันหรอก แต่เป็นเพราะการคมนาคมที่สะดวก คนจึงท่องเที่ยวกันมากขึ้น และผลที่ตามมาคือ การสื่อสาร ที่อาจจะต้องไปเจอภาษาที่ตนไม่คุ้นเคย อย่างเช่น ป้ายตามท้องถนนหนทางต่างๆ ถ้าอ่านไม่ออกก็จะงง ไม่แน่ใจว่าจะไปทางไหนดี

การที่จะให้คนต่างชาติหาทางทำความเข้าใจอักขระภาษาต่างถิ่นเอาเอง คงลำบาก ส่วนมาก เจ้าของภาษาจึงหาทางเขียนให้ต่างชาติเข้าใจ จะง่ายกว่า วิธีการหนึ่งที่นิยมทำกันในหลายประเทศ รวมทั้งไทยเราด้วย คือ “Romanization” หรือการเขียนเป็นอักษรโรมัน จะเรียกว่าเป็นการเขียนทับศัพท์ก็ได้ ขอให้ฝรั่งอ่านอักขระโรมันให้เสียงออกมาคล้ายๆภาษาไทยเป็นใช้ได้ (เหมือนจะให้ฝรั่งร้องเพลงคาราโอเกะเลยนะ)

และเพื่อไม่ให้ลักลั่น ต่างคนต่างเขียน มั่วกันไปหมด ก็ควรจะมีมาตรฐานสักหน่อย หลายคนอาจจะยังไม่รู้ ว่า มาตรฐานบ้านเรานี้ ทำออกมาโดยราชบัณฑิตยสถาน นะครับ และเรียกระบบมาตรฐานที่ใช้เขียนภาษาไทยด้วยอักษรโรมันนี้ว่า Royal Thai General System of Transcription (RTGS)

เรื่อง “หลักเกณฑ์การถอดอักษรไทยเป็นอักษรโรมันแบบถ่ายเสียง” นี้ มีมานานแล้ว โดยมีการประกาศใช้ครั้งแรก ในปี 1932 มีเครื่องหมายกำกับนัวเนียไปหมด ต่อมามีการแก้ไขอีก 3 ครั้ง ในปี 1939, 1968 และปี 1999 คือฉบับปัจจุบัน ซึ่งไม่มีเครื่องหมายกำกับแล้ว

การจะให้ฝรั่งซึ่งมีสระแค่ 5 ตัว มาออกเสียงภาษาไทยที่มีสระเยอะแยะ ก็คงวุ่นพอดู จึงต้องมีการปรับแก้ เป็นระยะๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม ดังนี้ 

• สระอือ จาก⟨ư⟩ตัดเครื่องหมายเป็น⟨u⟩แต่ซ้ำกับอู จึงเติม e เป็น⟨ue⟩

• สระแอ เปลี่ยนจาก ⟨e̩⟩ เป็น ⟨æ⟩ แล้วแยกออกเป็น ⟨ae⟩

• สระเออ  เปลี่ยนจาก ⟨ơ⟩ เป็น ⟨œ⟩ แล้วแยกออกเป็น ⟨oe⟩

• สระอิว เปลี่ยนจาก ⟨iu⟩ เป็น ⟨io⟩ สระลงท้ายด้วย -ว จะใช้ -o หมด

• สระเอียว เปลี่ยนจาก⟨iau⟩เป็น⟨ieo⟩แล้วเปลี่ยนเป็น⟨iao⟩อีกที

ส่วนพยัญชนะ มีตัวเจ้าปัญหาอยู่ตัวเดียว คือ จ.จาน จากเดิมใช้ ⟨č⟩ ต่อมาเติม h เป็น⟨čh⟩แล้วตัดเครื่องหมายออก เป็น⟨ch⟩ อย่างในปัจจุบัน

ที่ว่า จ.จาน เป็นตัวเจ้าปัญหา ก็เพราะ เป็นตัวเดียวที่เราเห็นต่างจากฝรั่ง (อ๊ะ! ฝรั่งก็ทำมาตรฐานอักษรไทยด้วย – ใช่ครับ เป็นมาตรฐาน ISO 11940-2) ที่ตัด h ออก เหลือ ⟨c⟩ ตัวเดียว เพื่อแทนตัว จ.จาน แต่ไทยเราเห็นว่า ตัว c นี้ ไม่มีใครออกเสียงเป็นตัว จ.จาน เลย แต่จะออกเสียงเป็น ค.ควาย หรือ ซ.โซ่ มากกว่า เช่น “con” ไม่มีใครอ่านว่า “จน” และ “cit” ก็ไม่มีใครนึกถึงคำว่า “จิต” แต่จะไปนึกถึงชื่อธนาคารซิตี้แบงก์แทน ดังนั้น ราชบัณฑิตจึงยังคงให้ใช้ ⟨ch⟩ แทนเสียง จ.จาน ตามที่คุ้นเคยต่อไป เช่น “จุฬา = chula, จิตรา = chittra”

เรายอมเป๋จากระบบสัทศาสตร์สากลนี้ไปตัวหนึ่ง เพราะถ้าฝรั่งอ่านออกเสียง จ.จาน เป็น ช.ช้าง เราก็ยังพอฟังรู้เรื่องมากกว่าที่ให้เขาออกเสียงเป็น ค.ควาย หรือ ซ.โซ่

หลักสัทศาสตร์ที่ว่านี้ก็คือ เขาใช้ h เป็นตัวสัญลักษณ์เพื่อแสดงลักษณะเสียงธนิต (เสียงที่มีกลุ่มลมพุ่งตามออกมาในขณะออกเสียง)

ส่วนเสียงที่ไม่มีกลุ่มลมพุ่งตามออกมา เรียกว่า เสียงสิถิล จะไม่มี h ตาม

ดังนั้น…

⟨k⟩จึงแทน ก และ ⟨kh⟩ แทน ข ฃ ค ฅ ฆ

⟨p⟩ แทน ป และ ⟨ph⟩แทน ผ พ ภ

⟨t⟩ แทน ฏ ต และ ⟨th⟩ แทน ฐ ฑ ฒ ถ ท ธ

ด้วยระบบนี้ มาตรฐาน ISO 11940-2 ของฝรั่งจึงใช้ ⟨c⟩ แทน จ และ ⟨ch⟩ แทน ฉ ช ฌ แต่ราชบัณฑิตของไทยเรา ใช้ ⟨ch⟩ อย่างเดียว ด้วยเหตุผลข้างต้น

สรุปว่าอักษร ⟨j q v x z⟩ ไม่มีที่ใช้ รวมทั้งไม่มี c ลอยๆ มีแต่ ⟨ch⟩ = จ ฉ ช ฌ และไม่มี g ลอยๆ มีแต่ ⟨ng⟩ = ง โดยมีอักษรกึ่งสระมาช่วยอีก 2 ตัว คือ อี-ย⟨y⟩ และ อู-ว⟨w⟩ รวมทั้งอักษรกระดกลิ้นอีก คือ ร =⟨r⟩ล ฬ =⟨l⟩ แถมด้วยอักษรเสียงก้อง (โฆษะ) อีก 2 ตัวที่จะไม่ใช้เป็นตัวสะกด คือ บ =⟨b⟩และ ด (รวมทั้ง ฑ เมื่อออกเสียงเป็น ด) = ⟨d⟩

ดังนั้นเมื่อเป็นตัวสะกด จึงใช้แค่ 6 ตัว ง่ายดี คือ …

⟨k⟩ = แม่กก (ก ข ฃ ค ฅ ฆ)

⟨t⟩ = แม่กด (จ ฉ ช ซ ฌ ซ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ด ต ถ ท ธ ศ ษ ส)

⟨p⟩ = แม่กบ (บ ป ผ ฝ พ ฟ ภ)

⟨ng⟩ = แม่กง (ง)

⟨n⟩ = แม่กน (ณ น ร ล ฬ)

⟨m⟩ = แม่กม (ม)

ส่วน แม่เกย แม่เกอว ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องเอา y และ w มาใช้ เพราะเขียนตามเสียงสระอยู่แล้ว

การที่จะเขียนตามเสียงสระอย่างไรนั้น ถ้าไม่อยากจะจำมาก ลองจัดเรียงสระต่างๆ ตามตำแหน่งการอ้าปากมากน้อย และการห่อปากเหยียดปาก จะได้ดังนี้

อี    อือ – อู

เอ – เออ –       โอ

แอ – ออ

อา

i – ue – u

e – oe –        o

ae – o

a

จะเห็นว่า เสียงสระไทยที่ดูว่าเยอะ ที่จริงก็ไม่มากเท่าไหร่ เป็นการประสมกันของสระหลักเท่านั้น สระหลักที่สำคัญคือ a (อา) i (อี) และ o (โอ)

สระประสม 2 เสียง (diphthong)

ลงท้ายด้วย a (อา)

เอีย = อีอา = ia

เอือ = อืออา = uea

อัว = อูอา = ua

ลงท้ายด้วย i (อี)

อูย = อูอี = ui

โอย = โออี = oi

ออย = อออี = oi

เอย = เอออี = oei

อาย (อัย ไอ ใอ) = อาอี = ai

ลงท้ายด้วย o (โอ)

อิว = อีโอ = io

เอว = เอโอ = eo

แอว = แอโอ = aeo

เอา = อาโอ = ao

สระประสม 3 เสียง (triphthong)

เอือย = อืออาอี = ueai

อวย = อูอาอี =uai

เอียว = อีอาโอ = iao

ยังดีนะ ที่ไม่มีใครเขียนสระประสม ครบทั้ง 5 เสียง “ieaou” !

ก็เป็นความพยายามอีกขั้นหนึ่งของราชบัณฑิตยสถาน ในการที่จะให้มีคำอ่านที่เป็นอักษรโรมันซึ่งมีจำนวนตัวอักษรไม่มากนักให้ใกล้เคียงภาษาไทยมากที่สุด โดยยอมที่จะยังไม่แยกความแตกต่างระหว่างสระเสียงสั้นและเสียงยาว ต้องให้คนไทยมาแก้คำพูดของฝรั่งที่หน้างานเอาเอง เวลาที่เขาพูดต่างออกไป เช่น อะ กับ อา ใช้ a เหมือนกัน อิ กับ อี ใช้ i เหมือนกัน เป็นต้น

ชาติหนึ่งที่พยายามเขียนให้รู้ว่าออกเสียงสั้นหรือเสียงยาวคือ ญี่ปุ่น ซึ่งถึงแม้จะมีสระใช้แค่ 5 เสียง คือ อะ อิ อุ เอะ โอะ แต่เขาก็เพิ่มสัญลักษณ์ขีดยาวๆ (dash) ต่อท้ายเข้าไปอีก คือ ⟨–⟩ ได้เป็นสระเสียงยาวคือ อา อี อู เอ โอ

ของเรามีเติมขีดเหมือนกัน แต่ใช้ไม่เหมือนกัน คือใช้เฉพาะกรณีแทนเสียง อ.อ่าง หรือเมื่อตามด้วย ง.งู ⟨ng⟩ เช่น สง่า Sa-nga บังอร Bang-on สําอาง sam-ang

ก่อนหน้านี้ เราไม่ได้ใช้ขีด แต่ใช้เครื่องหมายฝนทอง ⟨’⟩ เช่น Sa’nga, Bang’on, sam’ang เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นขีด ⟨–⟩ เมื่อปี 1999 นี่เอง

หลักของ American Library Association-Library of Congress (ALA-LC) สำหรับห้องสมุดในอเมริกาที่จะทำฐานข้อมูลตำราที่เป็นภาษาที่ไม่ได้ใช้อักษรโรมัน ก็ใช้เครื่องหมาย ⟨’⟩ แทน อ.อ่าง อันเป็นสัญลักษณ์ตัวหยุดเสียง (glottal stop) เช่นเดียวกัน

การใส่เครื่องหมายหยุดเสียง (glottal stop) จะใช้หลักการที่ว่า เสียงจะยาว จนกว่าจะมีเครื่องหมายให้หยุด ตรงข้ามกับการใส่เครื่องหมายยืดเสียงคือขีดของญี่ปุ่น ที่เป็นเสียงสั้น จนกว่าจะมีขีด จึงจะยืดออกเป็นเสียงยาว

เครื่องหมายหยุดเสียง หรือ glottal stop นั้น มีสัญลักษณ์ใน International Phonetic Alphabet (IPA) เป็นเครื่องหมายคำถามที่ไม่มีจุดข้างล่าง คือ ⟨ʔ⟩

เนื่องจากเครื่องหมายนี้ไม่มีในแป้นพิมพ์ตามปกติ ไทยเราจึงใช้เครื่องหมาย ⟨’⟩ ที่เราเคยใช้นานแล้ว และ ⟨–⟩ ที่ใช้ในปัจจุบัน แต่ว่ากันตามจริงแล้ว เราใช้ สำหรับแยกเสียง มากกว่าที่จะใช้เป็นเครื่องหมายหยุดเสียง

ที่ประเทศแคนาดา มีชนเผ่าพื้นเมือง หรือชนกลุ่มน้อย (เดี๋ยวนี้เขามีศัพท์เรียก ฟังดูหรูหราเหมือนเป็นคำวิชาการว่า “กลุ่มชาติพันธุ์”) บริเวณแถบตะวันตกเฉียงเหนือ (Northwest Territories) ซึ่งมีภาษาท้องถิ่นที่เป็นทางการมากถึง 11 ภาษา รวมทั้งภาษา Chipewyan และภาษา  Slavey ทั้งสองภาษาต้องใช้เครื่องหมายหยุดเสียง (glottal stop) ด้วย 

ป้ายชื่อบอกระยะทาง ที่ถนนบางแห่ง ไม่สามารถหาเครื่องหมาย⟨ʔ⟩ ได้ จึงใช้เลขเจ็ด ⟨7⟩ แทน เช่น ป้ายข้างทางอันหนึ่งใน บริติชโคลัมเบีย ของแคนาดา  เขียนว่า …

Squamish

(Skwxwu7mesh)

เมื่อปี 2015 มีสองสาวกลุ่มชาติพันธุ์ ท้าทายรัฐด้วยการตั้งชื่อลูกสาว เป็นภาษา Chipewyan ว่า “Sahaiʔa” และอีกนางหนึ่ง ตั้งชื่อลูกสาวเป็นภาษา Slavey ว่า “Sakaeʔah” รัฐไม่รู้จะลงทะเบียนอย่างไร เพราะไม่มีสัญลักษณ์ดังกล่าวในแป้นพิมพ์ สุดท้ายต้องใช้ขีด hyphen ⟨–⟩ แทน

นี่ถ้ารัฐเขายอมให้คุณเธอใช้เลขเจ็ด ⟨7⟩ แบบชื่อถนนได้ คงจะเท่ดีนะ เพราะแป้นพิมพ์ก็มีเลขเจ็ดใช้ ไม่แน่นะ ถ้ารัฐเขายอมให้ใช้ อาจจะมีคนเลียนแบบทำตาม และอาจจะเลยมาถึงเมืองไทยด้วย ชื่อของรุ่นพี่ที่ผมเคารพท่านหนึ่งคือ “เอกอรุณ” อาจเขียนชื่อตามระบบ “Romanization” ออกมาเป็น

“7ek7arun”

กลายเป็น password ไปซะแล้ว! 

ตอนนี้เป็นฤดูหาเสียงพอดี และเลือกตั้งคราวนี้ไม่มีการจองหมายเลขของแต่ละพรรค ผู้สมัครที่ได้รับหมายเลข 7 อาจจะอยู่พรรคไหนก็ได้ แล้วแต่เขตเลือกตั้ง ดังนั้น เลข 7 ที่ใช้แทนเครื่องหมายหยุดเสียงที่ผมเขียนถึงวันนี้ จึงไม่ได้เจาะจงว่าเป็นพรรคไหน ไม่งั้นผมจะต้องถูกค่อนขอด หาว่าแอบหาเสียงให้พรรคใดพรรคหนึ่งแน่เลย

รอดตัวไป – ฮ่า!

… @_@ …

วัชระ นูมหันต์

10 มีนา 62

_________________

Ref:

http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2542/D/037/11.PDF