พรบ.การทํางานของคนต่างด้าว 2551

สรุปสาระสำคัญ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521

พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ( เริ่มใช้บังคับวันที่ 22 กรกฎาคม 2521) ได้กำหนดไว้ว่า
คนต่างด้าวจะทำงานได้เมื่อได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมการจัดหางานหรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมายเท่านั้น

      คนต่างด้าว หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย

      ทำงาน
หมายถึง การทำงานโดยใช้กำลังกายหรือความรู้ด้วยประสงค์ว่าจ้างหรือประโยชน์อื่นใด
หรือไม่ก็ตาม

พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่คนต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในราชอาณาจักร ดังต่อไปนี้

     1. บุคคลในคณะผู้แทนทางทูต
     2. บุคคลในคณะผู้แทนทางกงสุล
     3. ผู้แทนของประเทศสมาชิก และพนักงานขององค์การสหประชาชาติ และทบวงการชำนาญพิเศษ
     4. คนรับใช้ส่วนตัว ซึ่งเดินทางจากต่างประเทศเพื่อมาทำงานประจำอยู่กับบุคคลในข้อ 1, 2, 3
     5. บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจตามความตกลงที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ
     6. บุคคลซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจเพื่อประโยชน์ในทางการศึกษา วัฒนธรรม ศิลปการกีฬา หรือกิจการอื่น (พระราชกฤษฎีกากำหนด ให้คนต่างด้าวซึ่งปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจบางประการในราชอาณาจักรไม่ต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว
พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2522)
    7. บุคคลซึ่งรัฐบาลอนุญาต ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่หรือภารกิจอย่างหนึ่งอย่างใด

คนต่างด้าวที่มีสิทธิขออนุญาตทำงานได้ในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

      1. คนต่างด้าวทั่วๆ ไป (ตามมาตรา 7) หมายถึง

       

1. คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักร
       2. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ( NON -IMMIGRANT VISA) เช่น
เข้ามาทำธุรกิจหรือเข้ามาศึกษา

     2. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยการ ส่งเสริมการลงทุน หรือตามกฎหมายอื่น
ที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับคนต่างด้าวในลักษณะเดียวกัน เช่น พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรม (ตามมาตรา 10)

    

3 . คนต่างด้าวตามมาตรา 12 หมายถึง คนต่างด้าว 4 ประเภท คือ

       1. คนต่างด้าวที่ถูกเนรเทศตามกฎหมายว่าด้วยการเนรเทศ ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้ไปประกอบอาชีพ ณ ที่แห่งใด แทนการเนรเทศหรือ
อยู่ในระหว่างรอการเนรเทศ
       2. คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับการอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออก
นอกราชอาณาจักร เช่น พวกญวณอพยพ , ลาวอพยพ , เนปาลอพยพ , พม่าพลัดถิ่น หรือคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2539 เป็นต้นไป
       3. คนต่างด้าวที่เกิดในราชอาณาจักร แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย ตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 หรือ
ตามกำหนดอื่น เช่น บุคคลที่เกิดภายหลังวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว มีผลบังคับใช้
       4. คนต่างด้าวโดยผลของการถูกถอนสัญชาติ ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 337 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515

การยื่นคำขออนุญาตทำงาน

      

1. คนต่างด้าวที่ยังไม่ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงาน ให้ปฏิบัติดังนี้

       1.1. ติดต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศที่คนต่างด้าวอาศัยอยู่ เพื่อขอคำแนะนำและขออนุญาตเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ( NON-IMMIGRANT VISA)

       1.2. ให้นายจ้างในราชอาณาจักรยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานแทน (แบบ ตท. 3) และเมื่อได้รับแจ้งการอนุญาตแล้ว คนต่างด้าวจึงเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อรับใบอนุญาตและทำงานได้

     

2. คนต่างด้าวเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรแล้ว คนต่างด้าวที่ประสงค์จะทำงาน ต้องปฏิบัติดังนี้

        2.1. คนต่างด้าวที่จะขออนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือตามกฎหมายอื่น เช่น พระราชบัญญัตปิโตรเลียม พระราชบัญญัติการนิคมอุตสาหกรรม ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตทำงาน (แบบ ตท. 1) ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่เข้ามาในราชอาณาจักรหรือ 30 วัน นับแต่วันที่ทราบการได้รับอนุญาตให้ทำงานตามกฎหมายนั้น ๆ โดยในระหว่างขอรับใบอนุญาตให้ผู้ยื่นคำขอทำงานไปพลางก่อนได้ ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท (มาตรา 35)

        2.2. คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรหรือได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง โดยมิใช่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว หรือผู้เดินทางผ่าน และไม่เป็นบุคคลที่ขาดคุณสมบัติ หรือต้องห้ามตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด จะทำงานได้ต่อเมื่อได้รับ ใบอนุญาตทำงานแล้วเท่านั้น โดยยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานตามแบบ ตท. 2 ( มาตรา 7, 11) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 34)

คุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม

     

กำหนดโดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามและเงื่อนไข ของคนต่างด้าว ซึ่งจะขอรับใบอนุญาตทำงาน ลงวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2522 มีดังนี้

     1. มีความรู้และความสามารถในการทำงานตามที่ขอรับใบอนุญาต ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ไม่เป็นผู้เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อน วัณโรคในระยะอันตราย โรคเท้าช้างในระยะปรากฏอาการอันเป็นที่รังเกียจแก่สังคม โรคติดยาเสพติดให้โทษอย่างร้ายแรง หรือโรคพิษสุราเรื้อรัง ไม่เคยต้องโทษจำคุกในความผิดตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง หรือกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว ภายในระยะเวลาหนึ่งปีก่อนวันขอรับใบอนุญาต

     

2. คนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองเพื่อทำงานอันจำเป็นและเร่งด่วน มีระยะเวลาการทำงานไม่เกิน 15 วัน จะทำงานได้เมื่อได้มีหนังสือแจ้งให้อธิบดี หรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมายทราบ (มาตรา 7) งานอันจำเป็นและเร่งด่วน ออกโดยระเบียบกรมการจัดหางานว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2537 ลงวันที่ 30 พฤษภาคม 2537 จะอนุญาตให้ คนต่างด้าวทำงานในหมวดอาชีพต่าง ๆ แต่ไม่เกิน 15 วัน ดังนี้

        งานบริหารงานและวิชาการ งานด้านเทคนิค งานจัดหางานต่างประเทศ งานเบ็ดเตล็ด งานที่อธิบดี หรือเจ้าพนักงานซึ่งอธิบดีมอบหมาย เห็นควรรับแจ้งเป็นกรณีพิเศษตามความจำเป็นในขณะนั้น

     

3. คนต่างด้าวตามมาตรา 12 ส่วนใหญ่เป็นการขออนุญาตตามมาตรา 12 (2) คือ คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักร โดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และอยู่ในระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร ต้องปฏิบัติดังนี้

       3.1 กรณีประสงค์จะทำงานภายในเขตจังหวัด ให้ยื่นคำขอตามแบบ ตท. 8 พร้อมบัตรอนุญาตออกโดยกระทรวงมหาดไทย

       3.2 กรณีขออนุญาตออกนอกพื้นที่ คนต่างด้าวต้องยื่นขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ตนอยู่ เพื่ออนุญาตออกนอกเขตจังหวัด และหากจะทำงานคนต่างด้าวจะต้องขอรับใบอนุญาตทำงาน (แบบ ตท. 8) จึงจะทำงานได้

     

ปัจจุบันรัฐมนตรีได้ออกประกาศกำหนดงานที่ให้คนต่างด้าวตามมาตรา 12 ทำงานได้รวม 27 อาชีพ และให้คนต่างด้าวสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ที่เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ซึ่งได้รับอนุญาตให้ ้ประกันตัวจากพนักงาน เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2543 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2543 และอยู่ระหว่างรอการส่งกลับออกนอกราชอาณาจักร จำนวน 106,684 คน ทำงานได้เฉพาะงานกรรมกร ในพื้นที่ 37 จังหวัด 18 ประเภทกิจการ

ระยะเวลาการอนุญาต

     1. คนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว (NON-IMMIGRANT VISA) จะพิจารณาให้ตามความจำเป็น แต่ไม่เกิน 1 ปี และให้มีอายุเท่าระยะเวลาที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรในขณะออกใบอนุญาต

     2. ใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือตามกฎหมายอื่น (มาตรา 10) จะได้รับอนุญาตตามระยะเวลาซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอนุญาต

     3. ใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว ตามมาตรา 12 ซึ่งสามารถทำงานได้ 27 อาชีพตามที่รัฐมนตรีกำหนดมีระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี

     4. กรณีคนต่างด้าวได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ให้มีอายุสามสิบวันนับแต่วันออกใบอนุญาต

หลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต

     1. เป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและการจ้างงาน หรือไม่

     2. กิจการนั้นส่งเสริมการนำรายได้เข้าประเทศหรือไม่ เช่น กิจการส่งออก หรือการ ท่องเที่ยว

     3. มีการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาใช้ และถ่ายทอดให้คนไทย

     4. เป็นงานที่คนไทยยังทำไม่ได้หรือขาดแคลน

     5. ไม่เป็นอาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 จำนวน 39 อาชีพ

     6. ปฏิบัติตามระเบียบกรมการจัดหางาน ว่าด้วยหลักเกณฑ์ในการพิจารณาคำขออนุญาตทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2537


คนต่างด้าวผู้ใดฝ่าฝืนทำงานต้องห้าม 39 อาชีพ หรือคนต่างด้าวตามมาตรา 12 ถ้าทำงานนอกเหนือจากกำหนด 27 อาชีพ มีความผิด จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การต่ออายุใบอนุญาต

      1. คนต่างด้าวจะต้องยื่นเรื่องขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ

      2. ถ้าหากคนต่างด้าวยื่นภายในกำหนดเวลาแล้ว สามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนกว่านายทะเบียนจะแจ้งผลการพิจารณาต่อใบอนุญาตหรือไม่อนุญาต

      3. การต่ออายุใบอนุญาตจะได้รับการพิจารณาครั้งละไม่เกิน 1 ปี กรณีคนต่างด้าวทำงานเมื่อใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว โดยไม่ได้ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุหรือได้ยื่นคำขอแล้วแต่นายทะเบียนมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ ใบอนุญาต และมิได้อุทธรณ์ หรืออุทธรณ์แล้วแต่รัฐมนตรีมี คำวินิจฉัยไม่อนุญาต มีความผิดจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

สิทธิการอุทธรณ์

      เมื่อยื่นขอรับใบอนุญาตทำงานและไม่ได้รับอนุญาต หรือไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต หรือไม่อนุญาตให้ทำงานอื่น หรือไม่ให้ เปลี่ยนท้องที่ หรือสถานที่ทำงาน ผู้ขอมีสิทธิอุทธรณ์ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้ทราบคำสั่งไม่อนุญาตเมื่อได้รับอุทธรณ์แล้ว ให้ผู้รับอุทธรณ์นำส่งคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ( รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งตามมาตรา 24, 25, 26, 27, 28, 29) ภายใน 15 วันโดยคณะกรรมการฯ ต้องพิจารณาเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ภายใน 15 วัน และให้รัฐมนตรีวินิจฉัยคำอุทธรณ์ภายใน 30 วันคำวินิจฉัยของรัฐมนตรีให้เป็นที่สุดการขอรับใบอนุญาตทำงานในการยื่นคำขอรับ ใบอนุญาตทำงานการขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานการขอรับใบแทนใบอนุญาตทำงานและการขออนุญาตเปลี่ยนการทำงานหรือเปลี่ยนท้องที่ หรือสถานที่ในการทำงานให้ยื่นคำขอ ณ จังหวัดที่เป็นที่ตั้งสถานที่ทำงาน หรือสำนักงานของคนต่างด้าวผู้ยื่นคำขอ ดังนี้

      1. ในเขตกรุงเทพมหานคร ให้ยื่น ณ กองงานคนต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ศูนย์ควบคุมแรงงานต่างชาติ หรือศูนย์บริการวีซ่า แล้วแต่กรณี

      2. เมื่อใบอนุญาตทำงานชำรุดในสาระสำคัญหรือสูญหาย ต้องยื่นขอใบแทนใบอนุญาตภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ทราบการชำรุด หรือสูญหาย (มาตรา 19) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 36

      3. เมื่อเลิกทำงานต้องคืนใบอนุญาตทำงานให้แก่นายทะเบียนในท้องที่จังหวัดที่ตั้งสถานที่ทำงานภายใน 7 วัน นับแต่วันเลิกทำงาน (มาตรา 20) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 35

      4. ต้องทำงานตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากประสงค์จะทำงานอื่น หรือเปลี่ยนท้องที่ หรือสถานที่ในการทำงานต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนก่อน (มาตรา 21) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามาตรา 38

      5. คนต่างด้าวที่ได้รับการขยบายระยะเวลาการทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือตามกฎหมายอื่นต้องแจ้ง ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการขยายระยะเวลา (มาตรา 14) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 500 บาท ตามมาตรา 36

      6. ก่อนใบอนุญาตสิ้นอายุ และประสงค์จะทำงานต้องยื่นตำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานต่อนายทะเบียนก่อน โดยผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตสามารถทำงานไปพลางก่อนได้จนกว่านายทะเบียน จะมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ต่ออายุ (มาตรา 15) ผู้ฝ่าฝืนทำงานเมื่อใบอนุญาตสิ้นอายุแล้ว มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 37

      7. กรณีการเปลี่ยน ชื่อ นามสกุล สัญชาติ ที่อยู่อาศัยของคนต่างด้าว หรือชื่อสถานที่ทำงาน ต้องยื่นคำร้องขอแก้ไขโดยไม่ชักช้า

นายจ้างที่จะจ้างคนต่างด้าวทำงานต้องปฏิบัติดังนี้

      1. ห้ามรับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน หรือรับคนต่างด้าวเข้าทำงานที่มีลักษณะงานหรือเงื่อนไขต่างไปจากที่กำหนดไว้ใน
ใบอนุญาต ( มาตรา 22) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 39

      2. นายจ้างที่รับคนต่างด้าวเข้าทำงานหรือให้ย้ายไปทำงานที่อื่นนอกจากที่ระบุไว้ในใบอนุญาตหรือออกจากงานต้องแจ้ง
นายทะเบียน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่เข้ารับทำงาน หรือย้ายออกจากงาน หรือย้ายออกจากงาน (มาตรา 23) ผู้ฝ่าฝืนมีโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท ตามมาตรา 40

สรุปสาระสำคัญ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 322 พ.ศ. 2515 ในส่วนที่ว่าด้วยคนต่างด้าวประเภทตลอดชีพ

      พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 มาตรา 43 มีสาระสำคัญว่าใบอนุญาตทำงานที่ออกให้ตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 322 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ให้ใช้ต่อไปได้ตราบเท่าที่ใบอนุญาตยังไม่สิ้นอายุและผู้รับใบอนุญาตยังทำงานที่ได้รับอนุญาตนั้น และมาตรา 46 กำหนดว่าบรรดาพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และประกาศหรือคำสั่งของรัฐมนตรีหรืออธิบดี หรือใบอนุญาตซึ่งออกหรือสั่งโดยอาศัยอำนาจตามประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 322 เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับบทแห่งพระราชบัญญัติการทำงาของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ให้ใช้บังคับได้ต่อไปและให้ถือเสมือนเป็นพระราชกฤษฎีกา กฎกระทรวง และประกาศหรือคำสั่งของรัฐมนตรีหรืออธิบดี หรือใบอนุญาตที่ออกตามพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ตามบทเฉพาะกาลของพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521 ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 322 พ.ศ. 2515 กรณี ข้อ
10(1) คนต่างด้าวซึ่งมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองและทำงานอยู่ก่อนวันที่ 13 ธันวาคม 2515 สามารถใช้ใบอนุญาตทำงานได้ตลอดชีวิตของคนต่างด้าวนั้น เว้นแต่คนต่างด้าวจะเปลี่ยนอาชีพใหม่ การขอเปลี่ยนหรือเพิ่มสถานที่ทำงานหรือท้องที่การทำงาน ให้ใช้แบบคำร้องของการเปลี่ยนแปลงรายการ ตท. 6 ( ใบแทนใบอนุญาตทำงาน)
ตท. 7 ( การเปลี่ยนหรือเพิ่มสถานที่ทำงานหรือท้องที่การทำงาน)ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2521

* ข้อมูลจาก กรมการจัดหางาน