อัตราแลกเปลี่ยน นํา เข้า ส่งออก

ประเทศญี่ปุ่นนับว่าเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยมาอย่างยาวนาน ในปี พ.ศ. 2550 ญี่ปุ่นและไทยมีการทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย – ญี่ปุ่น (Japan – Thailand Economic Partnership Agreement หรือ JTEPA) โดยทั้งสองฝ่ายได้ทำข้อตกลงร่วมกันในการเปิดเสรีสินค้า บริการ และการลงทุนให้แก่กันและกัน ส่งผลให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นก็ยิ่งเพิ่มขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยน นํา เข้า ส่งออก

จากสถิติในปี พ.ศ. 2559 ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 3 ของไทย โดยการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่าถึง 20,563.05 ล้านดอลลาร์ สรอ. ซึ่งคิดเป็น 9.55% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดของไทยในปี พ.ศ. 2559 เลยทีเดียว ในขณะเดียวกันไทยเป็นตลาดส่งออกลำดับที่ 6 ของญี่ปุ่น โดยการส่งออกจากญี่ปุ่นมาไทยคิดเป็น 4.25% ของมูลค่าการส่งออกรวมทั้งหมดของญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2559

ในการส่งออกและนำเข้าสินค้า สื่อกลางในการเทียบระหว่างสกุลเงินที่แตกต่างกันของผู้นำเข้า และผู้ส่งออก เพื่อชำระค่าสินค้าก็คือ อัตราแลกเปลี่ยน นั่นเอง

โครงการวิจัย “บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น” ของ ผศ. ดร.พิสุทธิ์ กุลธนวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ศึกษาและวิเคราะห์บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น โดยพิจารณาอัตราแลกเปลี่ยนทวิภาคี (Bilateral Exchange Rate) 3 ประเภท ได้แก่ บาท/ดอลลาร์ สรอ. บาท/100 เยน และเยน/ดอลลาร์ สรอ. ซึ่งการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนทั้งสามประเภทที่แตกต่างกันจะส่งผลต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่แตกต่างกันด้วย

ในกรณีของไทย – ญี่ปุ่น เมื่อมีการส่งออกสินค้าจากไทยไปญี่ปุ่น ผู้ส่งออกไทยรับชำระค่าสินค้าด้วย 3 สกุลเงินหลักได้แก่ สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. สกุลเงินเยน และสกุลเงินบาท แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตั้งแต่ พ.ศ. 2540 สกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ถูกนำมาใช้ในการชำระสินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นลดลง คาดว่าเกิดจากประเทศที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางการเงินในปี พ.ศ. 2540 พยายามหันไปใช้สกุลเงินอื่นนอกเหนือจากสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ในการทำธุรกรรมระหว่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงที่เกิดจากการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. และส่งผลให้สกุลเงินเยนมีบทบาทในการชำระสินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมากขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการขยายตัวส่งผลให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นทั้งในภาพรวม การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และสินค้าเกษตรกรรมก็จะเพิ่มขึ้นตามด้วย

อัตราแลกเปลี่ยน นํา เข้า ส่งออก

หากเราลองทบทวนความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลต่อการค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าและการส่งออก เมื่อสกุลเงินในประเทศอ่อนค่าลง (อัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้น) ทำให้ปริมาณการส่งออกของประเทศนั้นสูงขึ้น เพราะสินค้าส่งออกของประเทศนั้นมีราคาถูกลงโดยเปรียบเทียบในสายตาชาวต่างประเทศ ในทางกลับกัน เมื่อสกุลเงินในประเทศแข็งค่าขึ้น (อัตราแลกเปลี่ยนลดลง) ปริมาณการส่งออกจะลดลง เพราะสินค้าส่งออกของประเทศนั้นมีราคาแพงขึ้นในสายตาชาวต่างประเทศที่นำเข้าสินค้านั้น เช่นเดียวกับในกรณีที่การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินเยนนั้นส่งผลทางบวกต่อการส่งออกไทยไปญี่ปุ่น โดยอัตราแลกเปลี่ยนในรูป บาท/100 เยน มีผลต่อการส่งออกไทยไปญี่ปุ่นในภาพรวมและหมวดสินค้า อีกทั้งทำให้การส่งออกของไทยหมวดสินค้าเกษตรกรรมไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ JTEPA มีผลบังคับใช้ ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินเยนทำให้การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นลดลง

ในทางกลับกัน งานวิจัยนี้กลับมีสิ่งที่น่าสังเกต คือ การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. และ เงินเยนเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อาจส่งผลทางลบต่อการส่งออกไทยไปญี่ปุ่น หากกำหนดราคาสินค้าส่งออกของไทยในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เนื่องจากเงินบาทและเงินเยนมีแนวโน้มอ่อนค่าหรือแข็งค่าเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. พร้อมกัน ดังนั้น แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. จะทำให้ราคาสินค้าส่งออกของไทยลดลงในรูปดอลลาร์ สรอ. แต่ถ้าผู้นำเข้าญี่ปุ่นต้องจัดหาเงินดอลลาร์ สรอ. มาเพื่อชำระค่าสินค้า โดยผู้นำเข้าญี่ปุ่นนำเงินเยนไปแลกเป็นเงินดอลลาร์ สรอ. ผู้นำเข้าญี่ปุ่นก็ต้องใช้เงินเยนมากขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนว่าสินค้าส่งออกของไทยมีราคาเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. ก็อาจทำให้สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นที่กำหนดราคาในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. มีราคาเพิ่มขึ้น จึงทำให้ปริมาณการส่งออกในภาพรวมของไทยไปญี่ปุ่นลดลง ในขณะที่การแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อาจส่งผลทางบวก คือทำให้การส่งออกไทยไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นได้

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ ผู้อ่านอาจพอทราบแล้วว่าอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลอย่างไรต่อการนำเข้าและส่งออก และจากกรณีศึกษาบทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น ทำให้เราทราบว่า แม้ในทางทฤษฎี การอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. จะทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวอาจไม่เป็นจริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่ผู้ส่งออกไทยกำหนดราคาสินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. เมื่อเงินบาทและเงินเยนอ่อนค่าเทียบกับดอลลาร์ สรอ. พร้อมกัน กลับส่งผลให้ปริมาณการส่งออกในภาพรวมของไทยไปญี่ปุ่นลดลง ข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ อาจเป็นนัยสำคัญที่ทำให้ผู้ส่งออกจำเป็นต้องพิจารณาในการกำหนดราคาสินค้าส่งออก เพราะการอ่อนค่าของเงินบาทเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. พร้อมกับการอ่อนค่าของสกุลเงินของประเทศคู่ค้าเทียบกับเงินดอลลาร์ สรอ. อาจส่งผลทางลบต่อการส่งออกของไทยไปประเทศคู่ค้า และสำหรับผู้ส่งออกที่กำหนดราคาในรูปสกุลเงินดอลลาร์ สรอ. ก็มีความจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศคู่ค้าด้วย เช่น ในกรณีสินค้าส่งออกไทยไปญี่ปุ่น ผู้ส่งออกต้องพิจารณาการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในรูป เยน/ดอลลาร์ สรอ. ประกอบการกำหนดราคาสินค้าส่งออกไปญี่ปุ่นด้วย

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “บทบาทของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น”

หัวหน้าโครงการ : ผศ. ดร.พิสุทธิ์ กุลธนวิทย์

สนับสนุนโดย : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

เรียบเรียง กมลพรรณ แดงเปี่ยมกราฟิก ณปภัช เสโนฤทธิ์พิสูจน์อักษรและตรวจทาน จินตนา ธรรมวงษ์