ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

ภูมิสถาปัตย์คืออะไร มีสอนที่ไหนบ้าง

อัพเดท 06/07/2021 | โพสต์ 05/01/2021 | by

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

หลายๆคนคงจะรู้จักสถาปัตย์กันแล้วว่าคืออะไร แต่ถ้าถามว่าภูมิสถาปัตย์คืออะไรล่ะ เชื่อว่าคงมีอีกหลายคนที่ยังไม่รู้

ในบทความนี้ ทางแมทติพลายจะพาคุณผู้อ่านไปรู้จักกับภูมิสถาปัตย์ว่าคืออะไร และมีมหาวิทยาลัยไหนที่เปิดสอนด้านนี้บ้าง เอาล่ะ ถ้าคุณผู้อ่านพร้อมแล้ว เราไปดูกันเลยค่ะ

ภูมิสถาปัตย์คืออะไร

ภูมิสถาปัตย์ (อ่านว่า พู-มิ-สะ-ถา-ปัด) คือศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน ออกแบบ บริหารจัดการ และดูแลอนุรักษ์พื้นที่บริเวณสิ่งปลูกสร้างและพื้นที่ธรรมชาติ

พูดแบบง่ายๆก็คือ ภูมิสถาปัตย์จะเน้นการออกแบบพื้นที่ภายนอก อย่างเช่น การออกแบบสวน สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ พื้นที่บริเวณที่อยู่อาศัย สถานศึกษา โรงแรม ห้าง อาคารต่างๆ ตลอดไปจนพื้นที่บริเวณถนน และพื้นที่ในธรรมชาติ

ทั้งนี้ คำว่า “ภูมิสถาปัตย์” จะเป็นคำที่เอาไว้เรียกแบบสั้นๆ ซึ่งถ้าเป็นภาษาทางการ เราจะใช้คำว่า “ภูมิสถาปัตยกรรม” หรือ “ภูมิสถาปัตยกรรมศาสตร์” แทน

สำหรับภาษาอังกฤษ เราจะเรียกภูมิสถาปัตย์ว่า landscape architecture และจะเรียกภูมิสถาปนิกว่า landscape architect

ภูมิสถาปัตย์ต่างจากสถาปัตย์อย่างไร

ความต่างระหว่างภูมิสถาปัตย์และสถาปัตย์ก็คือ ภูมิสถาปัตย์จะเน้นการออกแบบพื้นที่ภายนอก ส่วนสถาปัตย์จะเน้นการออกแบบอาคารและสิ่งปลูกสร้าง

แม้ว่าจะมีจุดเน้นที่ต่างกัน แต่หลายๆครั้ง ภูมิสถาปนิกและสถาปนิกก็ต้องทำงานร่วมกัน เนื่องจากหลายๆโปรเจคจะมีเนื้องานที่ครอบคลุมทั้งตัวอาคารและพื้นที่บริเวณรอบด้วยนั่นเอง

ภูมิสถาปัตย์จบมาทำงานอะไร

เมื่อเรียนจบภูมิสถาปัตย์แล้ว เราจะสามารถทำงานเป็นภูมิสถาปนิกได้ (บางที่บางตำแหน่งอาจต้องสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพให้ได้ก่อน) โดยอาจเลือกทำงานในหน่วยงานรูปแบบต่างๆ อย่างเช่น

  • บริษัทที่ขายสินค้าหรือบริการที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ เช่น พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ออกแบบภูมิทัศน์ รับเหมา จัดสวน ขายไม้ประดับ ทำ green wall และ green roof
  • หน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจที่มีเนื้องานที่เกี่ยวข้องกับภูมิทัศน์ เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมศิลปากร
  • หน่วยงานด้านการศึกษาและการวิจัย (ส่วนใหญ่จะต้องศึกษาต่อถึงระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก) เช่น มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย
  • รับจ้างอิสระ เช่น รับออกแบบ รับให้คำปรึกษา
  • ธุรกิจส่วนตัว ตามแต่ความถนัดและช่องทางโอกาสที่มี

แล้วภูมิสถาปนิกได้เงินเดือนเท่าไร

เงินเดือนของภูมิสถาปนิกนั้นค่อนข้างมีความหลากหลาย ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง องค์กร และประสบการณ์/ความสามารถของเรา ซึ่งถ้าเป็นระดับเริ่มต้น เงินเดือนมักจะเริ่มที่ตั้งแต่ 15,000 บาทขึ้นไป

ภูมิสถาปัตย์มีที่ไหนบ้าง

ตัวอย่างมหาวิทยาลัยในไทยที่เปิดสอนด้านภูมิสถาปัตย์ในระดับปริญญาตรี (หลักสูตรภูมิสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต) ก็อย่างเช่น

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (หลักสูตร 5 ปี)
  • มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (หลักสูตร 5 ปี)
  • สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (หลักสูตร 5 ปี)
  • มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (หลักสูตร 4 ปี)
  • มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (หลักสูตร 5 ปี)
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ (หลักสูตร 5 ปี)

เป็นยังไงบ้างคะกับข้อมูลเกี่ยวกับภูมิสถาปัตย์ ทีนี้คุณผู้อ่านก็คงจะทราบกันแล้วว่าภูมิสถาปัตย์คืออะไร และมีสอนที่ไหนบ้าง สำหรับบทความนี้ ทางแมทติพลายต้องขอตัวลาไปก่อน ไว้เจอกันใหม่ค่ะ

เมื่อกล่าวถึงงานออกแบบฟื้นฟูพัฒนาเมือง หนึ่งในสิ่งสำคัญพื้นฐานส่วนที่ขาดไม่ได้นั่นคืองานจัดการผืนแผ่นดินและที่ว่าง  บทบาทสำคัญของภูมิสถาปนิกที่เข้ามาช่วยพัฒนาเมือง วันนี้ The Urbanis พามาส่องโครงการออกแบบที่ผสมผสานศาสตร์ของภูมิสถาปัตกรรมได้อย่างลงตัว โดยคุณธัชพล สุนทราจารย์ ประธานและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แลนด์สเคปคอลลาโบเรชัน จำกัด จากการบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปีที่ 5 ในหัวข้อ “Collaboration of Landscape Architects in multidisciplinary design projects”

ภูมิสถาปัตยกรรม ความเกี่ยวข้องระหว่าง คน วัฒนธรรม และธรรมชาติ 

เมื่อกล่าวถึงวิชาชีพภูมิสถาปัตยกรรม ศาสตราจารย์กิตติคุณเดชา บุญค้ำ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาฯ ตั้งแต่ปี 2520 ได้เคยให้นิยามไว้ว่า ภูมิสถาปัตยกรรมเป็นวิชาชีพด้านการออกแบบและวางแผนกายภาพที่เป็นทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปะ เช่นเดียวกับสถาปัตยกรรมและการผังเมือง 

ภูมิสถาปัตยกรรมนำปัจจัยทางศิลปะ ธรรมชาติ วิศวกรรมศาสตร์ และสังคมวิทยา มาบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดผืนแผ่นดินและที่ว่าง เพื่อความปลอดภัย ความผาสุกและสวัสดิภาพของมนุษย์ โดยยึดหลักการพิทักษ์ผืนแผ่นดิน 

คุณธัชพล เล่าว่า เมื่อเราพูดถึงภูมิสถาปัตยกรรม เราจึงนึกถึงการจัดการสิ่งที่อยู่ระหว่างสถาปัตยกรรมกับธรรมชาติ เป็นการนำองค์ความรู้ต่างๆ มาช่วยทำให้ คน วัฒนธรรม และธรรมชาติ อยู่ร่วมกันได้

หากกล่าวถึงแกนธรรมชาติ องค์ประกอบสำคัญที่นักภูมิสถาปัตยกรรมต้องมีความรู้และคำนึงถึงในการออกแบบ นั่นคือความเข้าใจองค์ประกอบของธรรมชาติและการทำงานร่วมกับหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ ประกอบไปด้วย (1) ความเข้าใจบริบทของพื้นที่ เพื่อจะตอบได้ว่าการออกแบบอะไรที่มันจะตอบโจทย์ที่ดินผืนนี้ ซึ่งไปเกี่ยวข้องกับสิ่งพื้นฐานของงาน นั่นคือ (2) ดิน สภาพเป็นอย่างไร มีข้อจำกัดอะไร ต้องรู้โครงสร้าง ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับดิน (3) น้ำ จะต้องทราบถึงการจัดการน้ำที่หลากหลาย ทั้งในเรื่องของวิทยาศาสตร์ทางน้ำ ระบบชลประทานในสวน สระน้ำ คุณภาพน้ำ และการบำบัดน้ำ ที่ทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และวิศวกร (4) ต้นไม้ มีต้นไม้ชนิดไหนที่เหมาะสม ควรใช้พืชพรรณแบบไหน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกับนักพฤกษศาสตร์ นักนิเวศวิทยา รุกขกร ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับป่า (5) ความยั่งยืน ซึ่งจะต้องมีการพัฒนาให้เป็นไปตามมาตรฐาน LEED และทำงานร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความเข้าใจในด้านนี้

ภูมิสถาปัตยกรรม กับธรรมชาติ

คุณธัชพลอธิบายว่า ภูมิสถาปนิกนั้นสามารถเข้าไปช่วยจัดการและออกแบบสิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้กับมนุษย์ โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติและน้ำ ดังนี้

1. โครงการพาสาน (Pasan) เมืองนครสวรรค์ ปี 2019

เป็นโครงการในระดับเมือง ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของชาวเมืองนครสวรรค์ เป็นอาคารสัญลักษณ์ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแนวคิดการออกแบบสถาปัตยกรรมโครงการพาสานนี้ ต้องการออกแบบให้แสดงถึงความเป็นจุดหมายตาของเมือง ในโครงการนี้ภูมิสถาปนิกเข้ามาช่วยออกแบบพื้นที่เพื่อขับเน้นปรากฏการณ์ต่างๆ ทางธรรมชาติให้เห็นผู้คนที่เข้ามาใช้งานสามารถเห็นสิ่งเหล่านี้ และสอดคล้องแก่วัฒนธรรม เป็นหนึ่งในงานที่เล่นกับแม่น้ำ มีการออกแบบสถาปัตยกรรมให้ผสานร่วมกับบริบทพื้นที่ให้ได้มากที่สุด โดยอาคารพาสานนี้จะเป็นอาคารที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุม ซึ่งมีแม่น้ำสองสีไหลมารวมกัน มีการออกแบบที่ทำให้เห็นปรากฎการณ์ทางธรรมชาติของแม่น้ำต่างๆ ผ่านการเดินชมบนอาคารจากจุดเริ่มต้นเดินไปสุดทางแล้วจะมองเห็นปรากฏการณ์แม่น้ำสองสี มีการออกแบบที่คำนึงถึงระดับน้ำ ที่เมื่อน้ำขึ้นแล้วยังเปิดพื้นที่ให้เรือสามารถสัญจรลอดผ่านอาคารไปได้

การทำงานของภูมิสถาปนิกในโครงการนี้มีการคำนึงและออกแบบเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำกัดเซาะ โดยให้เหลือพื้นที่ริมฝั่งไว้เพื่อให้เทศบาลได้จัดกิจกรรมประเพณีแห่มังกรร่วมกับชาวเมืองนครสวรรค์ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบอาคารให้เกิดความสอดคล้องไปกับฤดูกาลน้ำต่างๆ จึงได้การศึกษาระดับน้ำที่จะลดลงและท่วมมากที่สุด ในรอบ 50 ปี โดยพบว่า ระดับน้ำจะสูงมากที่สุดในทุกๆ 10 ปีโดยเฉลี่ย สูงสุดในปี 2554 ที่ระดับน้ำ 26.87 เมตร และเมื่อฤดูกาลที่ระดับน้ำต่ำที่สุด ตัวอาคารจะอยู่สูงกว่าระดับน้ำถึง 9 เมตร กล่าวคือมีการออกแบบอาคารให้สามารถอยู่กับฤดูกาลของน้ำได้ แม้ว่าในทุกๆ 10 ปี น้ำจะท่วม แต่อาคารก็ยังสามารถอยู่ได้ในระยะปลอดภัย รวมทั้งมีการออกแบบรูปทรงผืนดินให้เหมาะสมแก่การไหลเวียนของน้ำ ออกแบบรูปร่างของผืนดิน กำหนดระดับความชันเพื่อให้น้ำไหลผ่านได้ ส่วนด้านใต้อาคารก็มีการออกแบบพื้นที่จัดกิจกรรมและนิทรรศการ โดยพัฒนาลานตรงกลางให้เป็นลานชุมชน ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ก็เป็นหนึ่งในงานพัฒนาเมืองของภูมิสถาปนิกที่มีการนำองค์ความรู้ต่างๆ เข้ามาแทรกแซงการออกแบบและพัฒนาเมือง ที่ทำให้คนรับรู้ว่าเราต้องอยู่กับน้ำ และเราสามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันได้

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการพาสาน

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม
ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

ลานกิจกรรมในโครงการพาสาน

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

2. โครงการป่าในกรุง (PTT Metro Forest) ถนนสุขาภิบาล 2 ปี 2015

เป็นโครงการในระดับย่าน โครงการส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการปลูกป่า ขนาดกว่าสิบไร่ในเมือง ส่วนสำคัญของโครงการนี้แท้จริงคือการสร้างแหล่งเรียนรู้และแสดงนิทรรศการเชิงนิเวศ เนื่องจากว่า ผู้คนไม่รู้ว่าการปลูกป่านั้นปลูกแบบไหน ด้วยวิธีการอย่างไร และจะยั่งยืนแค่ไหน จึงจัดทำเพื่อแสดงให้เห็นว่าการปลูกป่านั้นทำอย่างไรและยั่งยืนได้อย่างไร โครงการนี้มีการปลูกป่ากว่า 10 ไร่ มาจากพื้นที่รกร้างเดิมที่พยายามเปลี่ยนให้เป็นปอดของผู้คน มีการพยายามสร้างระบบนิเวศขึ้นมา โดยมีภูมิสถาปนิกทำงานร่วมกับศาสตร์อื่นๆ ได้แก่ ผู้ว่าจ้าง หรือ ปตท. วิศวกร วิศวกรโครงสร้าง สถาปนิก สถาปนิกออกแบบภายใน ผู้ออกแบบแสงไฟ ที่ปรึกษาด้านพลังงานและอาคารสีเขียว ผู้รับเหมาก่อสร้างงานส่วนงานภูมิทัศน์นุ่ม (Soft scape)โดยมีที่ปรึกษาหลักที่สำคัญ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านระบบนิเวศป่าไม้ หรือการทำป่า และด้านการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรม ทั้งนี้การออกแบบและการจัดการดังกล่าว พยายามที่จะทำให้ผืนดินกลับมามีระบบนิเวศที่ดีให้ได้ผ่านการออกแบบ รูปทรงผืนดิน ดิน และน้ำ โดยมีการวางแผนและออกแบบการปลูกป่าไปถึงอนาคตใน 30 ปีข้างหน้า แบ่งการเจริญเติบโตของป่าในเมืองออกเป็น 4 ช่วง ตั้งแต่ หลังการจัดทำเสร็จ หลังปลูก 3 ปี 10 ปี และ 30 ปี โดยในระยะ 3 ปีแรกจะยังคงมีทางเดินโดยรอบอยู่ด้านบน และหลังจาก 10 ปีขึ้นไป ทางเดินจะถูกปกคลุมไปด้วยป่าไม้ที่เริ่มมองไม่เห็นทางเดิน ซึ่งเป็นแนวคิดของการจัดทำ

นอกจากนี้ยังมีการวางแผนการจัดการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใน 38 เดือน เริ่มจากเดือนแรก ผืนดินนั้นเต็มไปด้วยขยะ สองเดือนถัดมาเริ่มมีการเข้าไปจัดการเอาดินที่มีคุณภาพสูงเข้ามา มาสู่เดือนที่ 5-6 จึงมีการขุดน้ำและการจัดการน้ำ การไหลเวียนของน้ำ จนกระทั่งเดือนที่ 38 เริ่มมีการปลูกป่า เกิดความเขียวขจีขึ้นในพื้นที่ ทั้งหมดจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมกับองค์กร รวมไปถึงประชาชนภาคอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องในระหว่างการจัดทำโครงการ เมื่อเสร็จสิ้น ภายในโครงการเต็มไปด้วยระบบนิเวศใหม่ที่เกิดขึ้น มีการย้ายเข้ามาของสัตว์ต่างๆ มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการเรียนรู้เชิงนิเวศ ไม่ว่าจะเป็นการเดินเล่นชมธรรมชาติ ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติ เป็นต้น

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการป่าในกรุง

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

3. โครงการศูนย์แห่งความสุข (Happiness Center) ลำปาง ปี 2013

เป็นโครงการในระดับชุมชน ที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายด้านความปลอดภัยและการส่งเสริมชุมชน เนื่องจาก บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) มีคลังน้ำมันทั่วประเทศไทย ซึ่งยังไม่มีการควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินโดยรอบพื้นที่ดังกล่าว ต่อมามีการขยายตัวของเมือง การเข้ามาอยู่อาศัยเกิดเป็นชุมชนขึ้นโดยรอบ จึงมีการคำนึงความปลอดภัยของชุมชนในเรื่องการเกิดอุบัติภัย จึงได้เกิดการพัฒนาพื้นที่เขตกันชนขึ้นมา ภูมิสถาปนิกจึงเข้าไปพัฒนาสวนสาธารณะและศูนย์แห่งความสุขขึ้นมา ภายในมีการจัดการระบบบำบัดน้ำ การเพิ่มพื้นที่หน่วงน้ำเพื่อรองรับอุทกภัย รวมถึงการออกแบบพื้นที่น้ำให้เป็นพื้นที่ระยะปลอดภัยของชุมชน เพื่อป้องกันเหตุไฟลุกลามจากการเกิดไฟไหม้  และมีการออกแบบพืชพรรณต่างๆ โดยรอบเพื่อส่งเสริมสุขภาวะของคนในชุมชน ตลอดจนการออกแบบพื้นที่จัดกิจกรรม ที่สามารถให้คนในชุมชนเข้ามาทำกิจกรรมและมีส่วนร่วมได้ ซึ่งการจัดทำโครงการก็จะมีการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม ระบบการบำบัดน้ำ วิศวกรรมโครงสร้าง ผู้เชี่ยวชาญด้านปลูกป่านิเวศ

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการศูนย์แห่งความสุข 

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

ภูมิสถาปัตยกรรม กับมนุษย์

คุณธัชพลอธิบายว่า ภูมิสถาปนิกนั้นนอกจากจะเข้าไปช่วยจัดการกับส่วนที่เป็นธรรมชาติและน้ำแล้ว ยังเข้าไปช่วยกำหนดสภาวะน่าสบาย สุนทรียภาพและส่งเสริมสุขภาวะที่ดีให้กับมนุษย์ โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับมนุษย์ ดังนี้

1. โครงการเมกา ฟู้ดวอล์ค (Mega Foodwalk) เมกาบางนา ปี 2018

โครงการในระดับย่าน หนึ่งในพื้นที่ของโครงการห้างสรรพสินค้าเมกาบางนา ที่มีโจทย์ท้าทายสำหรับภูมิสถาปนิก ว่าจะทำอย่างไรในเชิงกายภาพให้คนมีสภาวะที่น่าสบายได้ โดยบริบทพื้นที่นั้นเชื่อมต่อเส้นทางสัญจรซึ่งเป็นวงแหวนขนาดใหญ่ในโครงการ เป็นการพัฒนาพื้นที่โซนอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage) เพิ่ม เนื่องจากพื้นที่เดิมไม่พอ โซนดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ภายนอกกลางแจ้ง (Outdoor) ดังนั้น โจทย์คือทำอย่างไรให้คนที่เดินเล่นอยู่ในศูนย์การค้าที่มีแอร์ สามารถเดินเชื่อมต่อเข้ามายังโซนอาหารและเครื่องดื่ม เข้ามาใช้พื้นที่ได้โดยที่มีสภาวะน่าสบายเพียงพอ ไม่รู้สึกร้อน ด้วยการคำนึงถึง 3 ปัจจัย ได้แก่ (1) อุณหภูมิ (2) ความชื้น และ (3) ระบบถ่ายเทอากาศ ผ่านการกำหนดและออกแบบพื้นที่ภูมิทัศน์นุ่ม (Soft scape) ออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเจริญเติบโตของต้นไม้ให้หยั่งรากจนถึงดิน พืชพรรณไม้ ช่องระบายอากาศ ช่องรับแสง รูปแบบหลังคา การเล่นกับระบบน้ำ ออกแบบให้น้ำมีวิธีกระเด็นในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างสภาวะน่าสบายให้เกิดขึ้นในพื้นที่

นอกจากนี้ยังมีการออกแบบให้กลุ่มลูกค้าทั้งหมดที่เป็นเด็ก ครอบครัว ผู้พิการ ทุกคนสามารถเดินวน หรือเชื่อมต่อกับทางเดินซึ่งเป็นทางลาดที่มีการไล่ระดับขึ้นไปชั้นอื่นๆได้ กล่าวคือ นอกจากออกแบบให้เกิดสภาวะน่าสบายแล้วยังออกแบบให้ในแต่ละส่วนของภูมิทัศน์นุ่ม มีความต่างระดับ สามารถเชื่อมโยงพื้นที่ทำกิจกรรมต่างๆ ให้คนเข้ามาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจ

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการเมกา ฟู้ดวอล์ค 

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

2. โครงการออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมภายใน สำนักงานใหญ่อนันดา (Ananda Development Headquarter) ถนนพระราม 4 ปี 2015

โครงการในระดับภายในอาคาร หนึ่งในงานออกแบบภูมิสถาปัตยกรรมภายในอาคารที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะคน โจทย์คือต้องการให้พื้นที่ภายในอาคารมีสภาพแวดล้อมและอากาศที่ดีสำหรับพนักงาน ส่วนสำคัญที่ต้องคำนึงถึงนั่นคืออากาศที่อยู่ภายในห้องนั้นจะมีมลพิษที่เกิดขึ้น การคลายตัวของสารจากเครื่องซีร็อกซ์ และสารคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากคน ทั้งนี้ต้นไม้ นั้นมีส่วนช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และสารพิษอื่นๆ ที่อยู่ในห้องทำงาน โดยจากข้อมูล ในสำนักงานมีพนักงาน 774 คน ใช้ทำงานเวลา 7.2 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยในนั้น จึงได้ทำการศึกษาพรรณไม้ที่สามารถอยู่ในสภาพแสงที่ค่อนข้างมืดในสำนักงานได้ และศึกษาพรรณไม้ที่ช่วยสร้างอากาศที่ดีจากการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่คน 1 คน สร้างขึ้นมา ได้ข้อสรุปว่า การเลือกใช้หมากเหลือง 4 ต้น จะช่วยให้อากาศที่ดีสำหรับคนหนึ่งคน ส่วนลิ้นมังกรอยู่ที่ 6 ต้นต่อคน และพลูด่างอยู่ที่ 8 ต้นต่อคน โดยพบว่าในพื้นที่ 100 ตารางเมตร ควรมีต้นไม้เหล่านี้อยู่ที่ 11 ต้น

จากการศึกษาพืชพรรณและการกำหนดพื้นที่สีเขียวดังกล่าว จึงได้ทำการออกแบบร่วมกับผู้ใช้งาน ได้ผลลัพธ์ออกมาว่าจะมีการออกแบบทั้งที่นั่งแบบขั้นบันไดที่มีสีเขียวแทรก (Townhall) เป็นส่วนที่มีต้นไม้แบบหมุนเวียนเกิดขึ้นในรูปแบบแนวตั้ง มีการเจาะรูรับแสงสำหรับต้นไม้ มีสวนแนวตั้ง (Green wall) มีการออกแบบแสงไฟให้เหมาะสมกับสภาพการเจริญเติบโตของพืช ภายในพื้นที่ดังกล่าวยังมีการจัดแดชบอร์ดที่บอกข้อมูลว่ามีค่า คาร์บอนไดออกไซด์ ออกซิเจนเท่าไหร่ หากค่าคาร์บอนไดออกไซด์ตกมากเกินไป ก็จะมีระบบที่หมุนเวียนอากาศจากข้างนอกเข้ามาเสริม และในส่วนของพื้นที่นั่งทำงาน จะมีการออกแบบกระถางต้นไม้ติดมากับชุดโต๊ะทำงานที่มีการกำหนดจำนวนต้นให้เหมาะสมกับจำนวนคนที่มานั่งทำงาน 

จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานของภูมิสถาปนิกในงานที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ จะมีการคิดเหตุและผลของการใช้ชีวิตของมนุษย์เป็นหลักสำคัญ ทั้งการคำนึงถึงในเรื่องของสภาวะน่าสบาย สภาพแวดล้อมทางกายภาพที่ดี คุณภาพอากาศภายในอาคาร รวมไปถึงการออกแบบสุนทรียภาพของธรรมชาติกับมนุษย์

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการออกแบบพื้นที่ภายในสำนักงาน อนันดา 

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

ภูมิสถาปัตยกรรม กับวัฒนธรรม

คุณธัชพลอธิบายว่า วัฒนธรรมนั้นมีขอบเขตกว้างขวาง อาจข้องเกี่ยวกับเรื่องวิทยาการ สังคมเมือง ภูมิทัศน์เมือง งานศิลปะ และการใช้ชีวิต โดยได้ยกตัวอย่างโครงการที่มีความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรม ดังนี้

1. โครงการเมกา พาร์ค (Mega Park) เมกาบางนา ปี 2018

โครงการในระดับย่าน หนึ่งในโครงการพัฒนาของเอกชนที่สะท้อนไลฟ์สไตล์ของผู้เข้ามาใช้งาน เป็นงานออกแบบพื้นที่สวนสาธารณะสำหรับผู้คนในละแวกบ้านให้เข้ามาใช้งานห้างสรรพสินค้าเมกา บางนา มีการใช้กระบวนการศึกษาความต้องการของผู้ใช้งาน กลุ่มลูกค้า ว่าเป็นใครเข้ามาบ้าง เข้ามาทำอะไร เพื่อเข้ามาช่วยออกแบบการใช้งานที่เหมาะสม ซึ่งกลุ่มที่มักเข้ามาใช้งานจะเป็นกลุ่มครอบครัว เด็ก คนในละแวก โดยมีการออกแบบรองรับสำหรับทุกคน เชื่อมต่อเส้นทางสัญจรในชั้นอื่นๆ ของห้างสรรพสินค้า ออกแบบรูปร่างผืนดินเพื่อรองรับโปรแกรมทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งรูปแบบกระฉับกระเฉงและผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็น เส้นทางปั่นจักรยานธรรมชาติ ทางเดินเล่น ลานน้ำพุ ลานกิจกรรม สไลเดอร์ บ้านต้นไม้ ทางเดินยกระดับชมต้นไม้ รวมไปถึงการเลือกพืชพรรณที่มีลักษณะดึงดูดแมลงเข้ามา เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ของเด็กๆ 

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการเมกา พาร์ค

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

2. โครงการสะพานเขียว (Green Bridge) ชุมชนโปโลและร่วมฤดี ปี 2021

โครงการในระดับเมือง หนึ่งในโครงการฟื้นฟูพัฒนาเมืองของกรุงเทพมหานคร เชื่อมเมือง เชื่อมย่าน ผสานชุมชนกว่า 300 ครัวเรือน 3 ศาสนา ที่มีการทำงานร่วมกับหลายฝ่ายทั้งสถาปนิกผังเมือง ภูมิสถาปนิก สถาปนิก และนักออกแบบแสงไฟ เป็นการเพิ่มโครงข่ายการสัญจรด้วยการเดินเท้าในระดับเมือง และเป็นจุดหมายตาแห่งใหม่เพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนเมืองและการท่องเที่ยว ตัวสะพานมีความยามประมาณ 1.2 กิโลเมตร โดยการทำงานภูมิสถาปนิก คือการเข้าช่วยขับเน้นบทบาทของการเป็นเส้นทางสีเขียวที่เชื่อมต่อในระดับเมือง (Urban Green linkage) ที่เชื่อมต่อระหว่างสวนลุมพินีและสวนเบญจกิติ โดยมีกระบวนการศึกษาจากศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) ที่ศึกษาโครงข่ายการสัญจรว่าจะทำอย่างไรให้เป็นเมืองที่เดินได้เดินดี จึงได้มีการมาคิดต่อในภาพรวมว่าจะทำอย่างไรให้การออกแบบมีความสอดคล้องกับเครือข่ายสีเขียวในแนวแกนตะวันตกและตะวันออกของเมือง หรือการเชื่อมต่อจากสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา สามารถเกิดเครือข่ายสีเขียวมาจนถึงถนนรัชดาภิเษก ในงานส่วนนี้มีการออกแบบพื้นที่ทางสัญจรให้มีความเข้ากันกับบริบทชุมชนโปโล และชุมชนซอยร่วมฤดี 

ตัวสะพานมีความกว้าง 7-8 เมตร มีการออกแบบเลนจักรยาน เลนวิ่ง เลนทางเดิน และพื้นที่สีเขียว 2.3-3.3 เมตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้งานในเมืองอย่างนักวิ่ง ภายใต้แนวคิดการออกแบบสำหรับทุกคน แนวคิดกรีนคาโนพี สร้างร่มเงาสีเขียว มีความปลอดภัยควบคุมทางเข้า-ออก มีความสะอาด ความสว่าง และความปลอดภัยจากอาชญากรรม มีการออกแบบจุดรอยต่อซึ่งเป็นบันไดขึ้นสะพาน ด้วยการทำทางลาดเข้าไปทุกจุด มีการออกแบบมุมมอง อัฒจันทร์ชมวิว ลานอเนกประสงค์ ที่อยู่ระหว่างมัสยิดอินโดนีเซีย และโบสถ์พระมหาไถ่ จุดชมวิว จุดเปลี่ยนถ่ายระดับการสัญจร รวมถึงการกำหนดพืชพรรณต่างๆ จุดที่ให้ร่มเงามีการวิเคราะห์ว่าตรงไหนควรจะใช้ไม้เลื้อย จุดทำกิจกรรมก็วิเคราะห์ว่าตรงไหนควรที่จะใช้พืชพรรณสร้างสีสัน สร้างชีวิตชีวาให้กับคนในชุมชน ตลอดจนเนรมิตรสุนทรียภาพให้แก่เมือง ซึ่งทั้งหมดเป็นที่ต้องการของชุมชนอันเนื่องมาจากการจัดทำกระบวนการมีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่ ร่วมกับชุมชนที่หลากหลายทั้ง พุทธ คริสต์ อิสลาม 

กล่าวได้ว่าโครงการสะพานเขียวเป็นหนึ่งในตัวอย่างของโครงการพัฒนาที่มีการร่วมมือกันระหว่างหลายศาสตร์ และสะท้อนบทบาทของงานภูมิสถาปัตยกรรมที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเมือง

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

โครงการสะพานเขียว 

ที่มาภาพ: http://landscapecollaboration.com/

ท้ายที่สุดนี้ ตัวอย่างงานทั้งหมด ที่คุณธัชพล ภูมิสถาปนิก ได้มีโอกาสเข้ามาเล่าให้เราฟังถึงกระบวนการออกแบบในงานภูมิสถาปัตยกรรมและการทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ นี้ สะท้อนให้เห็นได้ว่างานภูมิสถาปัตยกรรมนั้นเป็นงานที่ใช้องค์ความรู้ ความเข้าใจอย่างมากต่อมนุษย์ วัฒนธรรมและธรรมชาติ ในการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการจัดการผืนแผ่นดินและที่ว่าง หลากหลายขนาด ตั้งแต่ระดับเมืองไปจนถึงระดับภายในอาคาร เพื่อสร้างความสมดุลของสิ่งแวดล้อม และความผาสุกของมนุษย์ สะท้อนให้เห็นได้ว่างานภูมิสถาปัตยกรรมนั้นมีบทบาทเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งในงานฟื้นฟูและพัฒนาเมือง ที่จะต้องตอบสนองการใช้ชีวิตร่วมกันอย่างหลากหลายมิติทั้งในปัจจุบันและอนาคต

การบรรยายสาธารณะโลกรอบสถาปัตยกรรมผังเมือง ปี 5 เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเรียน Professional Practices ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง ดำเนินการโดยความร่วมมือระหว่าง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC-CEUS) ร่วมด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) Thai PBS และ The Urbanis

ฟังย้อนหลังทางเพจ UDDC- Urban Design and Development Center


Contributor

ตัวอย่างงานภูมิสถาปัตยกรรม

สถาปนิกผังเมือง ที่เชื่อว่า “เมืองหล่อหลอมคน ผู้คนนั้นเป็นอะไรก็ตามที่เมืองนั้นเป็น” วิถีชีวิตและสภาพแวดล้อมที่ดีนั้นเกิดขึ้นได้ ด้วยการร่วมกันผลักดันการพัฒนาและออกแบบเมืองให้เกิดความหลากหลาย