วิกฤต ต้ม ยํา กุ้ง ค่าเงินบาท

เมื่อ 24 ปีก่อน...เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ที่ช่วง 10 ปี ก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ถูกขนานนามว่าเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย

พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกฯ คนที่ 22 ของประเทศไทย กล่าวในรายการความจริงไม่ตาย ตอน วิกฤตต้มยำกุ้ง ออกอากาศเมื่อ 24 มิ.ย. 63 ทางไทยพีบีเอส ถึงวินาทีลงนามลอยตัวค่าเงินบาทในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ว่า

“เมื่อก่อนถึงเตือนเขา ว่าถ้าปล่อยค่าเงินให้ลอยแบบนี้ หวังว่าจะมีเงินเข้ามา ไม่มีทางที่จะสำเร็จได้...เพราะมันไม่ใช่ของเรา มันต้องเป็นเงินของเรา ถึงจะใช้ในการลงทุนได้ อันนี้มันฝากไว้กับอนาคตที่มันไม่แน่นอน มีคนหวังจะมาโจมตี เพื่อหวังผลประโยชน์มหาศาล” 

โดยเล่าว่าต่อว่า “เป็นสิ่งที่ผมต่อต้านมาโดยตลอด แต่ทั้งผู้ที่รับผิดชอบของผม หรือของรัฐบาลต่อมาก็ดีก็มีความเห็นตรงกันว่ามันต้องลอย”

วิกฤต ต้ม ยํา กุ้ง ค่าเงินบาท

เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย ? ย้อนไปดูการเติบโตของธุรกิจไทย

  • หลังปี 2530 เริ่มนโยบาย เปิดเสรีทางการเงิน
  • ปี 2533 ไทยรับพันธะสัญญาข้อที่ 8 ของ IMF เปิดเสรีทางการเงินของไทยสู่สากล
  • ปี 2536 รัฐบาลอนุมัติให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถจัดตั้งกิจการวิเทศธนกิจ (BIBF) 

การเปิดเสรีทางการเงินเต็มรูปแบบ ทำให้ธนาคารไทยสามารถกู้เงินต่างประเทศ มาปล่อยกู้ในประเทศได้อย่างเสรี ผลของการเปิดเสรีทางการเงิน ทำให้เงินสามารถไหลเข้าออกประเทศอย่างสะดวก ไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราการแลกเปลี่ยน เพราะไทยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนแบบคงที่ คือ 25 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วถึง 8.6% ต่อปี ธนาคารเห็นช่องทางทำกำไรอย่างรวดเร็ว ด้วยการกู้เงินจากต่างประเทศมาปล่อยกู้ภายในประเทศ ซึ่งสร้างกำไรมหาศาลแก่ธนาคาร เนื่องจากดอกเบี้ยที่ได้จากต่างประเทศ ถูกกว่าดอกเบี้ยภายในประเทศ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตผู้บริหารสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เล่ากับรายการความจริงไม่ตาย ตอน วิกฤตต้มยำกุ้งว่า การเปิดเสรีทางการเงิน นำมาสู่การเติบโตเศรษฐกิจอย่างมาก แต่การเปิดเสรีทางการเงินที่ไม่มีการกำกับดูแลที่ดี หรือการเปิดเสรีทางการเงิน ที่ระบบทางการเงินไม่พร้อม ทั้งเอกชนและภาครัฐไม่พร้อม 

“เหมือนเงินมันทะลักเข้ามา ถ้าเราไม่มีวิธีการจัดการ เงินที่ทะลักเข้ามาก็เกิดปัญหาในอนาคต”

วิกฤต ต้ม ยํา กุ้ง ค่าเงินบาท

ด้าน ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ อดีตนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ.2540 เล่าว่า ในตอนนั้น ดอกเบี้ยถูก “ก็กู้ดอกเบี้ยถูก ไปคืนดอกเบี้ยแพง”

“พอเป็นอย่างงี้เงินมันก็ไหลเข้ามา เกิดภาวะที่ว่า กู้เงินเกินตัว พอเศรษฐกิจเริ่มมีปัญหา ฟองสบู่เริ่มแตก แล้วช่วงนั้นมีบริษัทเยอะแยะในตลาดหุ้น ที่อยู่ในหมวดอสังหาริมทรัพย์ หลายโครงการยังไม่ได้สร้างเลย เขาเรียกขายกระดาษ”

เมื่อเงินกู้ได้มาง่าย ผู้ประกอบการไม่ได้นำเงินไปลงทุนในกิจการ มักจะเอาไปเก็งกำไรอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน หรือซื้อหุ้น เพราะทำให้รวยเร็ว และง่าย นำไปสู่สภาวะฟองสบู่ เนื่องจากเงินที่กู้มา ไม่ได้เกิดการนำไปทำธุรกิจจริง ๆ แต่เกิดจากการเก็งกำไรมากกว่า ทำให้ตลาดหุ้นเฟื่องฟู การที่ราคาสินทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้น ถูกปั่นราคาแย่งซื้อ ทำให้ราคาเพิ่มเกินความจริง 

ช่วงปี 2538-2539 เศรษฐกิจไทยที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง กลับหยุดชะงักลงและส่งสัญญาณอันตราย โดยในปี 2538 มีเซียนหุ้นคนหนึ่ง ใช้อาวุธปืนยิงตัวตายเพื่อประท้วงตลาดหลักทรัพย์ ปี 2539 เศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกติดลบเป็นครั้งแรก เมื่อศักยภาพของประเทศลดลง นักลงทุนเริ่มจ่ายหนีไม่ได้ วิกฤตเงินกู้เริ่มลุกลามกลายเป็นวิกฤตต้มยำกุ้ง ที่มีจุดแตกหัก เมื่อมีการโจมตีค่าเงินบาท

หลังตัดสินใจลอยตัวค่าเงินบาท ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ผลในครั้งนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตทางเงินของประเทศครั้งใหญ่ และอาจเรียกได้ว่าเข้าใกล้สภาวะล้มละลายทางเศรษฐกิจ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย อดีตผู้บริหารสถาบันการเงิน พ.ศ.2540 เล่ากับรายการความจริงไม่ตาย ตอน วิกฤตต้มยำกุ้ง ออกอากาศเมื่อ 24 มิ.ย. 63 ว่า 

“การที่เราถูกบีบให้เปลี่ยนแปลงนโยบาย มันจะเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์เยอะมาก พอเปลี่ยนแล้วเงินบาทก็ไหลลงไปเรื่อย ๆ จาก 25 บาท ไหลไปต่ำสุด 56 บาท ถ้าใครกู้เงินต่างประเทศถามว่าเจ๊งหรือไม่ ต้องเจ๊งแน่นอน ต่อให้เก่งยังไงก็เจ๊ง” เพราะจำนวนหนี้เพิ่มขึ้นหลายเท่าในเวลาไม่กี่เดือน “มันก็เจ๊งอย่างเดียว”

วิกฤต ต้ม ยํา กุ้ง ค่าเงินบาท

ความจริงไม่ตายพาไปดูตึกสาธรยูนิค ทาวเวอร์ ตึงร้างกลางกรุงริมแม่น้ำเจ้าพระยาย่านสาธร ความสูงกว่า 50 ชั้น เป็นอนุสรณ์สถานจาก วิกฤตต้มยำกุ้ง ปี 2540 สาทร ยูนิค ถือว่าโครงการที่ประสบความสำเร็จ เงินลงทุนทั้งหมดเป็นจำนวนเงินมากกว่า 1,800 ล้านบาท ในตอนนั้น อย่างไรก็ตาม หลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ สถาบันการเงินหลายแห่งที่ปล่อยกู้ ได้ปิดตัวลง สาทร ยูนิค ถูกตัดเงินที่ใช้ในการกู้ไปโดยปริยาย และกลายเป็นตึกร้างในปัจจุบัน 

หลังจากมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาท ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อสถาบันการเงิน มี 58 ไฟแนนซ์ประกาศปิดตัว ธนาคารของไทย 6 แห่งหายไปจากระบบ หากไม่ปิดอย่างถาวร ก็ถูกควบกลืนจากทุนต่างประเทศ ประเทศไม่เงินทุนสำรองหลงเหลือ เงินบาทไร้ราคา

ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เล่าว่า “ธนาคารพาณิชย์ หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เรียกว่า NPL มันสูงถึง 50% เพราะฉะนั้นแบงก์มันเจ๊งแน่นอน หมายถึงลูกหนี้ 100 คน เจ๊ง 50 คน แล้วตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากสูงมาก 16% ดีที่แบงก์กรุงเทพฯ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์เป็นแบงก์ใหญ่ พอเป็นแบงก์ใหญ่ ตอนนั้นต้องเพิ่มทุน ต่างประเทศเชื่อถือก็เอาแบงก์ใหญ่ก่อน แบงก์กลางแบงก์เล็ก...ก็เลยเจ๊ง”

วิกฤต ต้ม ยํา กุ้ง ค่าเงินบาท

เกิดวิกฤตครั้งใหญ่ขนาดนี้ โดยไม่มีใครรู้มาก่อน ? 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อธิบายว่า ก่อนปี 40 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ขาดดุลการค้า และขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมาตลอด ทั้งยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ ซึ่งเงินบาทแข็งค่าเกินความเป็นจริง ยิ่งทำให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากยิ่งกว่าที่ควรจะเป็น “พอเริ่มการปะทุขึ้นของระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการแก่ไขปัญหาสถาบันการเงิน ถือว่ามีความผิดพลาดทางนโยบาย” 

“ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องความไม่มีประสิทธิภาพของนโยบาย ส่วนหนึ่งก็เป็นปัญหาเรื่องความฉ้อฉลในระบบของสถาบันการเงิน เป็นช่องของนักลงทุนต่างชาติ เริ่มโจมตีค่าเงินบาท”

“เงินบาทที่กำหนดเอาไว้ 25 บาท ต่อดอลลาร์ เขาก็มองเห็นอยู่แล้วว่า มันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะโดยด้วยตัวแปรทางเศรษฐกิจ...เงินบาทจะต้องอ่อนกว่านี้ และควรเปลี่ยนอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัว แบบมีการจัดการตั้งนานแล้ว”

พ่อมดการเงิน จอร์จ โซรอส ผู้บริหารกองทุน Hedge Fund ถูกพูดถึงว่าเป็นคนโจมตีค่าเงินบาทประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เล่าว่า ก่อนหน้ามาโจมตีค่าเงินบาท จอร์จ โซรอส โจมตีค่าเงินประเทศอื่นมาก่อน ได้แก่ ค่าเงินปอนด์ที่ประเทศอังกฤษ และสร้างกำไรมหาศาล “เขามองว่าค่าเงินปอนด์แข็งไป เขาก็ซื้อดอลลาร์ ขายปอนด์” นอกจากนั้นยังเคยโจมตีค่าเงินของรัสเซีย ก่อนจะมาประเทศไทย

“แต่ความผิดมันอยู่ที่ตัวเราเอง คือรัฐบาลไทยในขณะนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น ที่ทำไมขายดอลลาร์หมด ทั้ง ๆ ที่รู้ว่า เงินบาทจะมีค่า หรือไม่มีค่า มันอยู่ที่ทุนสำรอง” ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณกล่าวกับรายการ

หลายคนเชื่อว่า ความผิดพลาดร้ายแรงคือการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เอาเงินทุนสำรองเกือบ 40,000 ล้านบาท ไปพยุงค่าเงินจนหมด และทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ภายใต้ภาวะอันตราย  ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ ให้ความเห็นว่า “เงินบาทไทยแข็งเกินไป ส่งออกไม่ได้ แต่นำเข้าเยอะ เพราะสินค้านำเข้ามันถูก ส่งออกแพงเพราะเงินบาทแข็ง เขาจึงมาโจมตีค่าเงินบาท”

“คำว่าโจมตี คือขายบาท ซื้อดอลลาร์” 

เมื่อเกิดปัญหาวิกฤต ไทยจำเป็นต้องประกาศลดค่าเงินบาท เพราะไม่มีเงินทุนสำรองเหลือ ประเทศไทยต้องไปขอกู้เงินกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ราว 1.45 หมื่นล้าน​ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2540 เพื่อนำมาเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ

“เราไม่ได้โตด้วยตัวเอง เราโตด้วยการนำเข้า” ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ให้ความเห็นว่า “เราโตจากการพึ่งพิง เราโตจากการที่ค่าแรงมันต่ำ กดคนส่วนใหญ่ของประเทศ ให้รับค่าแรงต่ำ ๆ เพื่อจะดึงดูดการลงทุน เพราะฉะนั้นคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยได้อะไร”