การสร้างบรรยากาศในองค์การ

การสร้างบรรยากาศในองค์การ

เมื่อพูดถึงงาน เรามักจะนึกถึงความเบื่อหน่ายและตึงเครียด การทำงานและรับมือกับความเครียดทุกๆ วันไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วทำอย่างไรถึงจะไม่ให้ความเครียดและความกดดันจากงานมาเบียดเบียนชีวิตส่วนตัวได้บ้างล่ะ? ก็การสร้างบรรยากาศที่ดีในที่ทำงานยังไงล่ะ ที่เป็นสิ่งสำคัญต่อสุขภาพจิตของคุณ ทั้งยังนำมาซึ่งความสำเร็จต่อตัวเองและองค์กรได้อีกด้วย

บทเรียนสำคัญที่สุดที่องค์กรชั้นนำมากมายได้เรียนรู้ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่มีความสุข จะทำให้พนักงานเกิดความรักในองค์กรและทำให้พวกเขาสร้างสรรผลงานออกมาได้ดีเยี่ยมยิ่งขึ้น นี่คือกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จของบริษัทอย่าง Google  Apple รวมไปถึง SAS องค์กรซอฟท์แวร์ยักษ์ใหญ่ด้าน Business Analytics ล้วนปรับใช้

และนี่คือเหตุผล 10 ข้อ ว่าทำไมการสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีต่อพนักงานจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อองค์กรธุรกิจได้

1. ความสุขมักเพิ่มขึ้นแบบทวีคูณ

เมื่อเรามีความสุข ผู้คนรอบข้างก็จะรู้สึกมีความสุขตามไปด้วย คนที่ทำงานอย่างมีความสุขและเพลิดเพลิน สามารถรังสรรค์งานที่ยอดเยี่ยมและยังทำให้เพื่อนร่วมงานอยากเอาเป็นแบบอย่างด้วย

2. ความสุขทำให้พนักงานประสบความสำเร็จ

พนักงานที่ชอบงานของตัวเองจะทำงานได้ดี มีความสุข และประสบผลสำเร็จมากกว่า หากส่งเสริมให้ทั้งนายจ้างและลูกจ้างมีความมั่นใจและมีศักยภาพในการทำงานมากพอ

3. พนักงานที่มีความสุขมักมีทัศนคติที่ดี

พนักงานที่ไม่มีความสุขในการทำงานมักจะมีทัศนคติไม่ค่อยดีนัก ประสิทธิภาพในการทำงานและความคิดสร้างสรรค์ก็จะลดลงด้วย ในทางตรงกันข้ามกับพนักงานที่มีความสุข คนเหล่านี้จะมีทัศนคติที่ดีในการทำงาน จึงทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จได้มากกว่า

4. เครียดน้อยลง…ก็ทำงานได้ดีขึ้น

พนักงานที่มีความเครียดมักไม่มีสมาธิในการทำงาน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อการทำงาน แต่ถ้าคุณหาวิธีคลายความเครียดและวิตกกังวลได้ ประสิทธิภาพการทำงานก็จะสูงขึ้นทันตาเห็น

5. สังคมที่ทำงานดีทำให้พนักงานกล้าเสี่ยงขึ้น

ธุรกิจคือการกล้าได้กล้าเสีย กล้าเสี่ยงเพื่อผลตอบแทนที่ดีกว่า พนักงานที่มีความสุขกับงานก็มีแนวโน้มจะกล้าทำงานที่มีความเสี่ยงมากกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุขเช่นกัน

6. พนักงานที่มีความสุขมักจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

พนักงานที่มีความสุขและเต็มที่ในการทำงานจะเต็มใจช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานและช่วยงานโปรเจ็คมากกว่าและพวกเขาก็พร้อมที่จะขอการสนับสนุนจากคนอื่นด้วยเมื่อจำเป็น

7. พนักงานที่มีความสุขมักไม่กลัวความผิดพลาด

บรรยากาศการทำงานที่ดีทำให้พนักงานยอมรับและเรียนรู้ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแทนที่จะกลัวการทำพลาด ความผิดพลาดเป็นบทเรียนสำคัญที่อาจนำไปสู่ความสำเร็จแบบไม่คาดฝันได้ แต่คนที่กลัวการทำผิดพลาดก็มักพลาดโอกาสสำคัญๆ ในการได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน

8. ตัวอย่างที่ดีมีค่ามากกว่าคำสอน

ผู้บริหารที่มีความสุขกับงานอย่างแท้จริงและส่งต่อความสุขนั้นให้กับเหล่าพนักงานในทีม ทำให้พวกเขาเกิดความเชื่อมั่น ทุ่มเท และรักในองค์กร  ผู้นำควรจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกน้อง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมากต่อความสำเร็จไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านใดก็ตาม

9. ความสุขก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงทุกๆ องค์กรธุรกิจ พนักงานที่ทำงานอย่างมีความสุขมักมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาและนำพาธุรกิจของคุณไปสู่ความสำเร็จได้

10. ใครๆ ก็อยากทำงานกับคนที่มีความสุข

การทำงานอย่างเพลิดเพลินและมีความสุขทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างและนายจ้างดีขึ้น พนักงานที่อารมณ์ดีมักจะเต็มใจที่จะทำงานร่วมกันเพื่อประโยชน์ของบริษัทด้วยความภักดี และยังทำงานเป็นทีมได้อย่างดีเยี่ยมด้วย ซึ่งเป็นหัวใจหลักในการสร้างความสำเร็จแก่บริษัท

แม้การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานและมีความสนุกไปกับงานจะไม่ใช่เรื่องง่ายนัก แต่เชื่อเถอะว่า หากคุณลองนำมาปรับใช้สักครั้ง มันย่อมให้ผลที่คุ้มค่าอย่างแน่นอน

Source: Inc-asean

จาก ChulaPedia

Organizational Climate

ความหมายของบรรยากาศในองค์กร หรือ Organizational Climate

Climate หมายถึง ความรู้สึกของบุคลากรภายในองค์กรต่อปัจจัยต่างๆ ภายในองค์กรที่ส่งผลต่อการทำงาน หรืออีกนัยหนึ่งคือการรับรู้ของบุคลากรภายในองค์กรต่อสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ถ้าบรรยากาศหรือ Climate ในการทำงานมีความเหมาะสมจะส่งผลต่อการจูงใจบุคลากรภายในองค์กร หมายความว่าถ้าผู้บริหารสามารถที่จะบริหารและดูแลบรรยากาศในการทำงานให้เหมาะสมย่อมจะส่งผลต่อการจูงใจบุคลากรภายในองค์กร เปรียบเสมือนวันที่อากาศดี ท้องฟ้าแจ่มใส ทุกคนย่อมอยากที่จะทำงานให้ได้ผลดีที่สุด แต่ถ้าในองค์กรที่บรรยากาศไม่ดีแล้ว ย่อมทำให้บุคลากรในองค์กรไม่รู้สึกจูงใจที่จะทำงาน ซึ่งก็เปรียบเสมือนองค์กรที่อากาศไม่ดี ท้องฟ้ามืดครึ้มอยู่ตลอดเวลา บุคลากรภายในองค์กรก็อยากที่จะพักผ่อนหลบฝน ไม่มีใครอยากทำงาน

องค์ประกอบของบรรยากาศในองค์กร

1. ด้านโครงสร้าง (Structure) ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโครงสร้างองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่จะพิจารณาว่าบุคลากรรู้สึกว่ามีความชัดเจนในบทบาทและหน้าที่ความรับผิดชอบหรือไม่ ปัจจัยด้าน Structure จะดีถ้าพนักงานมีความรู้สึกว่างานของทุกคนมีความชัดเจน และจะต่ำถ้าบุคลากรมีความรู้สึกว่าสับสนในงานที่ต้องทำและการตัดสินใจที่เกิดขึ้นว่าใครต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

2. ด้านมาตรฐาน (Standards) ครอบคลุมถึงการที่พนักงานมีความภูมิใจในงานที่ทำอยู่ รวมถึงความต้องการที่จะยกมาตรฐานการทำงานให้สูงขึ้น ถ้าระดับของ Standards สูงแสดงว่าพนักงานจะมีการแสวงหาแนวทางในการปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา

3. ด้านความรับผิดชอบ (Responsibility) สะท้อนถึงความรู้สึกของพนักงานว่าสามารถทำงานและรับผิดชอบงานได้โดยอิสระด้วยตนเองหรือไม่ หรืออีกนัยหนึ่งคือการเป็นเจ้านายของตนเอง ไม่ต้องคอยให้ใครมาตรวจซ้ำถึงการทำงานหรือการตัดสินใจที่ได้ทำไป ถ้าระดับของ Responsibility สูงแสดงว่ารู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากองค์กรให้สามารถแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง แต่ถ้าระดับต่ำแสดงว่าการตัดสินใจด้วยตนเองหรือการยอมรับความเสี่ยงมีอยู่ในระดับที่ต่ำ

4. ด้านการได้รับการยอมรับ (Recognition) สะท้อนว่าพนักงานมีความรู้สึกว่ารางวัลหรือผลตอบแทนที่ได้รับเหมาะสมกับงานที่ได้ทำหรือไม่ ถ้าระดับของ Recognition สูงแสดงว่าพนักงานในองค์กรรู้สึกว่ามีความสมดุลระหว่างงานที่ทำไปกับผลตอบแทนที่ได้รับ เมื่อใดก็ตามที่พนักงานรู้สึกว่าผลตอบแทนที่ได้รับนั้นไม่คุ้มกับงานที่ได้ทำลงไป ก็จะส่งผลต่อการจูงใจในการทำงานต่อไปในอนาคต ซึ่งผลตอบแทนในที่นี้ก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะด้านเงินเพียงอย่างเดียว

5. ด้านการสนับสนุน (Support) สะท้อนถึงความรู้สึกที่ไว้เนื้อเชื่อใจและการได้รับการสนับสนุนในกลุ่ม ระดับของ Support จะสูง ถ้าพนักงานมีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของทีมงาน และรู้สึกว่าจะได้รับการช่วยเหลือเมื่อต้องการ ปัจจัยในด้านนี้จะส่งผลโดยตรงต่อขวัญและกำลังใจในการทำงานของบุคลากร เนื่องจากถ้าบุคลากรทราบว่ามีผู้ร่วมงานหรือผู้บังคับบัญชาคอยให้การสนับสนุนอยู่ตลอดเวลา ย่อมส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงาน

6. ด้าน Commitment สะท้อนถึงความภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และความมุ่งมั่นที่จะทำงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขององค์กร ระดับของ Commitment ที่สูงแสดงว่าบุคลากรมีความภักดีต่อองค์กร

ปัจจัยที่ส่งผลต่อบรรยากาศในองค์กรที่สามารถควบคุมและบริหารได้

1. พฤติกรรมของผู้นำ (Leadership Practices) ถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อบรรยากาศขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมและทัศนคติของที่ผู้บริหารที่บุคลากรับรู้ได้

2. การจัดการภายในองค์กร (Organizational Arrangements) เป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอันดับสองต่อจากปัจจัยด้านผู้นำ โดยปัจจัยด้านนี้จะครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการบริหาร การจัดการภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการออกแบบงาน ระบบการให้รางวัลและผลตอบแทน นโยบายและวิธีการในการทำงานต่างๆ ที่ได้มีการกำหนดออกมาเป็นมาตรฐาน รวมถึงสถานที่และทำเลของการทำงานภายในองค์กร

3. กลยุทธ์ (Strategy) บรรยากาศในการทำงาน (Climate) จะได้รับผลกระทบจากกลยุทธ์ขององค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ากลยุทธ์นั้นมีความชัดเจนและมารสื่อสารให้พนักงานได้รับทราบต่อกลยุทธ์นั้น และในขณะเดียวกันการขาดกลยุทธ์ที่ชัดเจนก็ส่งผลต่อบรรยากาศในการทำงาน


อาจารย์ผู้ดูแลบทความ รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้รับผิดชอบบทความ ศูนย์การสื่อสารนานาชาติแห่งจุฬาฯ