กิจการจัดแสดงคอนเสิร์ต

Views / Guest Editors

Guest Editors

ศิลปินนอกมาเปิดคอนเสิร์ตตลอดปี ธุรกิจนี้เฟื่องฟูจริงหรือหลอก

กิจการจัดแสดงคอนเสิร์ต

กิจการจัดแสดงคอนเสิร์ต

เรื่อง: ปิโยรส หลักคำ - บรรณาธิการพ็อกเก็ตบุ๊กดนตรี Music X / Overdrive Guitar Magazine

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีคอนเสิร์ตต่างประเทศมาให้เราเลือกดูกันมากกว่าเดิม มีความหลากหลายของศิลปินและแนวดนตรีมากขึ้น ถือเป็นเรื่องน่ายินดีสำหรับคนรักดนตรี แต่จริงๆ แล้วอะไรคือปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตเติบโตขึ้นในบ้านเรา ทั้งที่ผู้คนบ่นเรื่องเศรษฐกิจไม่ดี ซีดีและงานเพลงลิขสิทธิ์ขายไม่ได้ อีกทั้งผู้สนับสนุนงบสำหรับการจัดคอนเสิร์ตก็ลดลงอย่างต่อเนื่องอีกต่างหาก

ปัจจัยแรกเป็นเรื่องดีในเรื่องร้าย ก็มาจากยอดขายงานเพลงที่ลดลงอย่างต่อเนื่องนั่นแหละครับ หลังหมดยุคซีดีเฟื่องฟู ยอดขายเพลงทางออนไลน์ในทุกรูปแบบไม่สามารถมาชดเชยกันได้เลย ศิลปินจึงจำเป็นต้องขยับตัวออกไปทัวร์คอนเสิร์ตให้มากขึ้น นั่นจึงทำให้เกิดการทัวร์เอเชียเต็มรูปแบบ ที่ก่อนนี้อาจไม่ใช่ตลาดหลักของหลายศิลปินที่เล่นในยุโรป, อเมริกา หรือพ่วงตลาดเพลงใหญ่อย่างญี่ปุ่นไปอีกประเทศก็พอแล้ว ฉะนั้นช่วงเวลานี้ ไม่ว่าจะเป็นตัวแม่ของวงการเพลง หรือศิลปินรุ่นใหม่ใสกิ๊ก ต่างพยายามขยายฐานแฟนเพลง เพิ่มตารางทัวร์คอนเสิร์ตของตัวเองให้มากขึ้น ให้ยาวนานขึ้นเท่าที่จะทำได้

               ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าศิลปินต่างลดค่าตัวลงมาเพื่อให้ได้เล่นโชว์ จริงๆ แล้วค่าตัวในการจัดคอนเสิร์ตพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตลอดด้วยซ้ำ โดยเฉพาะศิลปินระดับท็อปที่การันตีว่ามาเล่นแล้วบัตรขายดีแน่ๆ ยิ่งบวกกับเรื่องของเงินสนับสนุนจากสปอนเซอร์ที่คนทำงานสายบันเทิงจะรู้ดีว่าโดนหั่นงบมาตลอดเช่นกัน เจ้าของงบก้อนใหญ่ๆ ที่ขึ้นโลโก้ในคอนเสิร์ตต่างประเทศเป็นประจำเริ่มจัดกิจกรรมคอนเสิร์ตหรือเทศกาลดนตรีของตัวเอง คอนเสิร์ตนอกที่เรายังเห็นโลโก้อยู่บนโปสเตอร์แบบเดิม เงินจากสปอนเซอร์ที่ได้รับอาจไม่มากเท่ากับเมื่อก่อน หรืออาจแลกมูลค่าเป็นสินค้าเพื่อนำมาจำหน่ายหน้าคอนเสิร์ตแทน นั่นคือความยากลำบากของผู้จัดคอนเสิร์ตในตอนนี้

               สิ่งที่ทำให้คอนเสิร์ตนอกมีให้ชมกันมากขึ้นในบ้านเราในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งมาจากการกำเนิดขึ้นของโปรโมเตอร์หน้าใหม่ๆ ที่ก่อนหน้านี้อาจทำงานเบื้องหลังคอนเสิร์ตหรือเป็นอดีตทีมงานของผู้จัดออกมาทำเอง รวมถึงคนที่ชื่นชอบศิลปินถึงขั้นขยับตัวมาเป็นคนจัดคอนเสิร์ตเช่นกัน ด้วยเพราะโลกออนไลน์ทำให้การติดต่อสื่อสารง่ายขึ้นมาก ผู้จัดหน้าใหม่สามารถส่งเรื่องไปยังเอเจนซี่ของศิลปินที่อยากจัดได้โดยตรง (ในกรณีที่ศิลปินไม่ใช่เบอร์ใหญ่หรือติดสัญญากับผู้จัดรายอื่น) เริ่มจากจัดงานเล็กๆ แล้วค่อยขยับขยายไปเรื่อยๆ และด้วยโลกออนไลน์อีกเช่นกันที่ทำให้ผู้จัดสามารถสื่อสารกับคอคอนเสิร์ตโดยตรง เพื่อทราบว่าศิลปินคนไหนมีแฟนเพลงในบ้านเราเท่าไร คุ้มค่าพอที่จะนำเข้ามาเล่นไหม อีกทั้งยังสามารถโปรโมทงานของตัวเองด้วยค่าใช้จ่ายน้อยกว่าสมัยก่อนที่ต้องซื้อโฆษณาโทรทัศน์, ทำป้ายประชาสัมพันธ์, พิมพ์ใบปลิวจ้างคนไปเดินแจก ซึ่งคงไม่คุ้มค่ากับศิลปินที่มีฐานคนดูระดับไม่ถึงพันคน ทุกวันนี้บางงานในสเกลนี้แทบไม่ต้องใช้งบโปรโมทเลย เนื่องจากแฟนเพลงที่อยากชมศิลปินโปรดช่วยกระจายข่าวกันเองไปในวงกว้างให้ด้วยซ้ำ

               นอกจากผู้จัดหน้าใหม่แล้ว ยังมีโปรโมเตอร์จากต่างประเทศที่เข้ามาเจาะตลาดคอนเสิร์ตเมืองไทยด้วยตัวเอง ทั้งในรูปแบบเป็นผู้จัดเองเบ็ดเสร็จ โดยอาจจะจ้างแค่ทีมประชาสัมพันธ์ของไทยเพื่อดูแลเรื่องสื่อ หรือจ้างบริษัทของไทยดูแลเรื่องต่างๆ ให้ทั้งหมดในคอนเสิร์ตระดับสเกลใหญ่ เมื่อบวกกับผู้จัดรายหลักๆ ของบ้านเราที่มีอยู่เดิม ทำให้ตอนนี้วงการของผู้จัดคอนเสิร์ตที่บ้านเราจึงคึกคักมากๆ

แวดวงคอนเสิร์ตที่แบ่งบานนั้น มาพร้อมเสียงบ่นในเรื่องของราคาบัตรที่แพงขึ้นตามค่าเงิน ไม่ได้ตามค่าเศรษฐกิจ ก็ด้วยเหตุผลเรื่องค่าตัวศิลปินและงบจากสปอนเซอร์ตามข้อมูลที่เล่ามาก่อนหน้านี้ ถึงอย่างนั้นเรายังได้เห็นว่า คอนเสิร์ตที่บัตรราคาแรงก็ยังขายหมดในวันเดียวอยู่เป็นประจำ ในขณะที่บัตรคอนเสิร์ตราคาย่อมเยาบางครั้งจนถึงเวลาจะเริ่มโชว์แล้วก็ยังเหลือบานเบอะ นั่นแสดงให้เห็นว่าราคาไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้คอนเสิร์ตนั้นขายดีหรือไม่ แต่อยู่ที่กึ๋นของคนจัดงานมากกว่าในการที่จะประเมินได้ว่า “ศิลปินไหนที่คนดูพร้อมจะจ่าย และค่าบัตรเท่าไรที่จะมีคนเต็มใจซื้อบัตรอย่างไม่ต้องลังเล”

               ทั้งนี้ทั้งนั้น ภายใต้ภาพที่ดูหอมหวานของการที่จะยืดอกได้ว่าเป็นผู้จัดคอนเสิร์ตต่างประเทศ ฉาบเคลือบไปด้วยความเสี่ยงรอบด้านที่เมื่อเกิดขึ้นแล้วเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้บริษัทถึงกับล้มได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการยกเลิกคอนเสิร์ตจากปัญหาของศิลปินเอง หรือปัญหาจากทางผู้จัดที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขที่ศิลปินเรียกร้องได้ตามสัญญา อีกทั้งปัญหาที่นอกเหนือการควบคุม เช่น เกิดน้ำท่วม, มีเหตุทางการเมือง, สปอนเซอร์ถอนตัวกะทันหัน เงินมัดจำที่จ่ายให้ตัวแทนศิลปินไปแล้วจะไม่ได้คืนในกรณีที่เราผิดสัญญา หรือถึงจะได้คืนถ้าเป็นกรณีที่ฝั่งศิลปินขอยกเลิกเอง แต่ค่าใช้จ่ายที่เราลงไปแล้วอย่างค่าเช่าสถานที่จัดงาน, ค่าลงสื่อประชาสัมพันธ์ และอีกมากมาย ส่วนใหญ่ไม่ได้คืนหรือคืนไม่เต็มจำนวน ยังไม่นับรวมค่าความเสี่ยงจากการจัดงานที่เมื่อก่อนได้สปอนเซอร์มาก็แทบจะอุ่นใจเพราะครอบคลุมค่าจัดงานไปแล้ว ยุคนี้ถ้าไม่ได้งบก้อนใหญ่จริงก็ต้องรอลุ้นจากจำนวนบัตรที่ขายกันเหงื่อตกเลยทีเดียว

               ในฝั่งคนดูคอนเสิร์ตบ้านเราเองก็มีส่วนทำให้วงการนี้เฟื่องฟูเช่นกัน เมื่อเราได้แสดงพลังให้เห็นว่าพร้อมที่จะสนับสนุนศิลปินโปรดด้วยการออกไปดูคอนเสิร์ต ซึ่งแน่นอนว่าถูกกว่าการต้องบินไปชมที่ต่างประเทศ ถึงอย่างนั้นตัวเลือกที่มากขึ้นในคำว่า Live in Bangkok แต่รายได้ของคนดูชาวไทยไม่ได้เพิ่มไปตามจำนวนศิลปินที่เข้ามา หากคอนเสิร์ตจัดหลายงานเกินไปในหนึ่งเดือนก็ต้องเลือกซื้อบัตรแค่งานที่ชื่นชอบจริงๆ ตามกำลังทรัพย์จะอำนวย ถึงจุดหนึ่งถ้ามีผู้จัดนำเสนองานเข้ามามากเกินไป ฟองสบู่วงการคอนเสิร์ตบ้านเราอาจจะแตกได้ ไม่ต่างไปจากแวดวงอื่นๆ ซึ่งในตอนนี้มีคนขายมากกว่าคนซื้อไปเสียแล้ว