สงครามการค้า จีน สหรัฐ สรุป

เป็นเวลากว่า 2 ปี ที่จีนกับอเมริกาเกิดความตึงเครียดทางการค้าและเศรษฐกิจจากสงครามการค้า หรือ Trade war ที่มีระหว่างกัน ภายใต้การนำของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเมื่อ 9 พฤศจิกายน 2016

ต้องยอมรับว่ากระแสของโดนัลด์ ทรัมป์ ในจีน ณ ตอนนั้นมาแรงมาก ผู้คนโดยเฉพาะโลกออนไลน์ต่างพากันจับตามองการเลือกตั้งในครั้งนั้น ซึ่งกระแสมีทั้งชอบในความตรงไปตรงมา และลูกบ้าลูกชนที่มีเยอะของทรัมป์  ไปจนถึงฝ่ายที่ไม่ชอบ

แต่พอมาถึงขณะนี้คงต้องบอกว่ากระแส ‘ยี้’ ทรัมป์ในจีนมีมากกว่าความ ‘ชอบ’ หรือรู้สึกเฉยๆ เสียแล้ว เพราะหลายนโยบายที่ทรัมป์ทำต่อจีน คนจีนมองว่ามันช่าง ‘แสนเจ็บปวด’ โดยเฉพาะนโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน และการแบนสินค้าจีนอย่าง ZTE และ Huawei

แล้วทำไมทรัมป์จึงออกนโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนจนเกิดเป็นสงครามการค้า?

นโยบายหลักของ ทรัมป์ที่แสดงออกชัดเจนตั้งแต่ตอนเลือกตั้ง คือ “อเมริกาต้องมาก่อน” (America First) เพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของอเมริกา ทรัมป์มองว่า ตลอดหลายปีที่ผ่านมาสหรัฐอเมริกาตกอยู่ในภาวะ ‘ขาดดุลการค้า’ กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับจีน เม็กซิโก และประเทศสหภาพยุโรป  เนื่องจากมูลค่าการส่งออก ค่อนข้างน้อยหากเทียบกับมูลค่าสินค้านำเข้าจากนอกประเทศ และยิ่งจีนเริ่มก้าวมาสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกแข่งกับอเมริกา ยิ่งทำให้อเมริกาหวั่นว่าจะเสียดุลไปมากกว่านี้

ตั้งแต่ราวต้นปี 2017 ทรัมป์จึงเริ่มออกมาเคลื่อนไหวตามแบบฉบับของเขาผ่านทางโลกโซเชียลและการแถลงของรัฐบาลอเมริกาว่า เขาจะไม่ปล่อยให้อเมริกาขาดดุลการค้าอีกต่อไป จะต้องมีมาตรการมาแก้ไขปัญหาตรงนี้ โดยมุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนเป็นหลัก เพราะจีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ ราคาสินค้าถูก และยังนำเอาประเด็นสินค้าปลอม สินค้าไม่มีคุณภาพของจีนมาเป็นเหตุผลที่ต้องมีการปฏิรูปการค้าระหว่างสองประเทศเสียใหม่

จุดเริ่มต้นแรกของสงคราม ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2018 ทรัมป์ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าสินค้าประเภทเหล็กและอะลูมิเนียมจากต่างประเทศรวมถึงจีน ซึ่งในครั้งนั้น แม้ว่าไม่มีการเจาะจงเก็บภาษีนำเข้าเหล็กจากจีนประเทศเดียว แต่ทั่วโลกต่างตั้งข้อสังเกตว่า สงครามการค้าจีนและอเมริกาได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว

และแล้วมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อภายในเดือนมีนาคม 2018 เดือนเดียวกับที่ทรัมป์เพิ่งขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม เขาได้ออกมาประกาศตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าจีน เพิ่มภาษีนำเข้าเป็น 25% คิดเป็นมูลค่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อลดการขาดดุลทางการค้า โดยประเทศจีนก็ออกมาตอบโต้ด้วยมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอเมริกาในอัตรา 15-25% เช่นกัน เป็นการประกาศศึกการค้าของสองยักษ์ใหญ่อย่างชัดเจน

ตั้งแต่การตั้งกำแพงภาษีครั้งแรก จนถึงครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศต่างๆ ทั่วโลกล้วนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ มีการเรียกร้องให้จีนและอเมริกาตกลงกันให้ได้ ทั้งจัดคณะคุยกันในจีนและอเมริกา รวมถึงในการประชุม G20 ที่ประเทศอาร์เจนตินาเมื่อปลายปี 2018 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่ามีการสงบศึกชั่วคราวประมาณ 90 วัน ก่อนอเมริกาจะจุดไฟสงครามรอบใหม่ที่หนักกว่าเดิม ท่ามกลางความรู้สึกของคนทั่วโลกว่า “ทำไมถึงย้อนแย้งเหลือเกิน เดี๋ยวพร้อมสงบศึก เดี๋ยวพร้อมก่อศึก เหมือนยังเคลียร์กับตัวเองไม่ได้”

เพราะรอบนี้นอกจากตั้งกำแพงภาษี เพิ่มอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน 25% มูลค่ามหาศาล 3.25 แสนล้านดอลลาร์ ทรัมป์ยังเดินหน้าตัดตอนอนาคตการเป็นผู้นำเทคโนโลยีสื่อสารของจีนด้วยการประกาศขึ้นบัญชีดำ Huawei บริษัทอุปกรณ์ไอทีรายใหญ่และเป็นความหวังพาจีนสู่มหาอำนาจเทคโนโลยี 5G

พัฒนาและส่งออก ‘เทคโนโลยีจีน’ หนึ่งในคีย์สำคัญของนโยบาย Made in China 2025 ที่อเมริกาไม่ปลื้ม

อเมริกาตั้งข้อกล่าวหาว่า Huawei ขโมยข้อมูลสำคัญด้านทรัพย์สินทางปัญญาของบริษัทอเมริกามาโดยตลอด เช่น กรณีระบบหุ่นยนต์ของ T-fone รวมถึงข้อหา อุปกรณ์ของ Huawei ติดตั้งระบบดักจับข้อมูลและส่งไปให้รัฐบาลจีน ตลอดจนการจับกุมลูกสาวผู้ก่อตั้ง Huawei ในข้อหาลอบทำการค้ากับอิหร่าน ประเทศที่อเมริกาคว่ำบาตร (มีการตั้งข้อหาหนักอื่นๆ อีก ได้แก่ การฉ้อโกงสถาบันการเงิน ให้ข้อมูลเท็จแก่สถาบันการเงิน กรณีลอบทำการค้ากับอิหร่าน และข้อหาให้โบนัสกับพนักงานเพื่อขโมยข้อมูลเทคโนโลยีสำคัญของอเมริกา)

อเมริกาพยายามกีดกันทางการค้าของ Huawei ในอเมริกาและประเทศพันธมิตรมาโดยตลอด—ช่วงเวลาเดียวกับเริ่มสงครามการค้า หรือประมาณ 2 ปีก่อน—แต่สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นวิบากกรรมที่หนักหนามากครั้งหนึ่งของ Huawei เพราะทรัมป์เอาจริง คือ ขึ้นบัญชีดำ Huawei (รวมบริษัทลูก) และกดดันให้บริษัทอเมริกาและพันธมิตรพร้อมใจกันแบน ไม่ทำการค้ากับ Huawei อาทิ Google ประกาศยุติความร่วมมือ Android กับ Huawei รวมถึง ARM บริษัทเจ้าของผลิตชิปมือถือรายใหญ่ของโลก ที่แม้จะไม่ใช่บริษัทสัญชาติอเมริกา (ถือเป็นบริษัทในเครือ Softbank ของญี่ปุ่น) แต่ก็ออกมาแบนตามคำสั่งของอเมริกาด้วย ทำให้ Huawei ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีผลิตชิปของ ARM มาผลิตชิปซีพียูบนอุปกรณ์ของ Huawei ได้อีกต่อไป

แน่นอนว่าทางรัฐบาลจีนออกมาตอบโต้อเมริกาโดยทันที โดยมุ่งเน้นไปที่ให้อเมริกาทบทวนดูใหม่ว่า การกระทำในครั้งนี้จะส่งผลดีต่ออเมริกาและนานาประเทศจริงหรือไม่? ทางรัฐบาลจีนขอปกป้องสิทธิของผู้ประกอบการจีนและต่อสู้ตามหลักของกฎหมาย ในส่วนของ Huawei บริษัทจีนที่กำลังโดนอเมริกาโจมตีหนัก ออกมาตอบโต้เช่นกันในจุดยืน “Made in China” กล่าวคือ ทาง Huawei เองมีการเตรียมแผนผลิตเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทุกส่วนด้วยตนเองมาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้ง ระบบปฏิบัติการบนมือถือ Hongmeng  ที่ซุ่มพัฒนาตั้งแต่ 2012 เพื่อมาใช้แทนที่ Android และการผลิตชิปแทนการนำเข้าจากบริษัทผลิตชิปในอเมริกา โดยรัฐบาลจีนประกาศยกเว้นและปรับลดภาษีครึ่งหนึ่งแก่บริษัทจีนผู้ผลิตชิปและซอฟต์แวร์เพื่อสนับสนุนและกระตุ้นให้ผลิตมากขึ้น

ไม่ใช่ครั้งแรกของแบรนด์จีนที่โดนอเมริกาและบริษัทในอเมริกาขึ้นบัญชีดำ

ย้อนกลับไปเมื่อปี ZTE บริษัทผู้ผลิตมือถือและอุปกรณ์สื่อสารในจีนรายใหญ่ของจีน โดนอเมริกากล่าวหาในกรณีคล้ายๆ กับ Huawei คือถูกกล่าวหาว่าผลิตภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของอเมริกา มีการติดตั้งระบบ ‘สอดแนม’ รวมถึงในปี 2017 บริษัท ZTE ละเมิดมาตรการคว่ำบาตรประเทศเกาหลีเหนือและอิหร่านด้วยการส่งสินค้า ZTE ไปขายในสองประเทศนี้ ซึ่งอเมริกาชี้แจงว่า ให้โอกาส ZTE ในการแก้ไขปัญหาแล้ว โดย ZTE ก็เหมือนจะแก้ โดยยอมจ่ายค่าปรับให้แก่อเมริกา พร้อมกับลงโทษผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดในครั้งนั้น แต่ต่อมาอเมริกาพบข้อเท็จจริงบางอย่างว่า ทาง ZTE ยังคงมีการสนับสนุนผู้บริหารและพนักงานกลุ่มนั้นด้วยการให้โบนัส สื่อให้เห็นว่าข้อมูลที่ทางบริษัทจีนชี้แจงเป็นข้อมูลเท็จ

ในเดือนมีนาคม 2018 สหรัฐอเมริกาจึงตัดสินใจประกาศขึ้นบัญชีดำ พร้อมสั่งให้บริษัทอเมริกาเลิกทำการค้ากับ ZTE เป็นเวลา 7 ปี ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อทั้งตัวบริษัท ZTE เอง และบริษัทอเมริกา อย่างบริษัท Qualcomm ผู้จำหน่ายชิป Snapdragon แก่ ZTE มาเป็นเวลานาน

ปัญหา ZTE ในครั้งนั้นทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ไอทีของจีนรายนี้เป๋ไปเลยเหมือนกัน เพราะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการทำธุรกิจในอเมริกาเพียงอย่างเดียว การขายในประเทศจีน—ประเทศบ้านเกิดของตนเอง—ก็ต้องหยุดขายชั่วคราว เนื่องจากประสบปัญหาอุปกรณ์ในการผลิตที่บางส่วนต้องใช้ของบริษัทอเมริกา แต่โดนแบนทำให้ใช้ไม่ได้ ซึ่งตอนนั้นมีข่าวหลุดออกมาจากวงใน ZTE ว่า มูลค่าความเสียหายจากการโดนอเมริกาแบนสูงถึง 2 หมื่นล้านหยวน หรือประมาณ 1 แสนล้านบาท

การแก้ปัญหาของ ZTE ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาของบริษัทเท่านั้น แต่ถือเป็นปัญหาระดับชาติ

เพราะอย่างที่มีการพูดอยู่เสมอว่า ZTE เป็นหนึ่งในหัวหอกสำคัญของการนำพาเทคโนโลยีจีนออกไปสู่ภายนอกตามนโยบาย Made in China 2025 ทางรัฐบาลจีนได้มีการเจรจากับรัฐบาลอเมริกาถึงการยกเลิกแบน ZTE  ซึ่งในที่สุดจีนและอเมริกาบรรลุข้อตกลงยกเลิกแบน ZTE ในเดือนมิถุนายนปีเดียวกัน โดยมีรายละเอียดคือ

“ZTE ยอมเสียค่าปรับ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (พร้อมเงินประกัน 400 ล้านดอลลาร์เพื่อยืนยันว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีก) และเปลี่ยนบอร์ดบริหารเป็นชุดใหม่ภายใน 30 วัน รวมถึงความยินยอมให้รัฐบาลอเมริกาส่งทีมไปเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวทางธุรกิจของบริษัท”

ข้อตกลงดังกล่าวนี้เป็นข้อตกลงที่เข้มและเคี่ยวมากของพญาอินทรี  แต่พญามังกรอย่างจีนก็ยอมรับข้อตกลง เพื่อให้เดินหน้าดำเนินธุรกิจเทคโนโลยีจีนต่อไปได้ แต่มีการรายงานออกมาจากฝั่งอเมริกาว่า ทรัมป์และรัฐบาล ยังไม่วางใจต่ออุปกรณ์เทคโนโลยีจากจีน 100%  ยังคงสั่งให้มีข้อจำกัดและระมัดระวังการใช้อุปกร์ ZTE และ Huawei ในหน่วยงานราชการอย่างต่อเนื่อง

ไม่รู้ว่าปัญหาสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จะจบลงเช่นไร  Huawei และ จีนจะดีลกับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อยกเลิกแบนเหมือนที่เคยทำกับ ZTE ได้หรือไม่  แต่ที่รู้คือ เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบในวงกว้าง (เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยและ ญี่ปุ่นต่างออกแถลงการณ์ได้รับผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศตนเอง จากกรณีอเมริกาและจีนทำสงครามการค้าต่อกัน) ก็หวังว่า จีนกับอเมริกาจะมองเห็นทางสว่างในเร็ววัน เพราะสงครามไม่ว่าจะสงครามแบบไหน ย่อมมีการสูญเสียและผลกระทบที่มิอาจประเมินค่าได้เสมอ

Illustration by Waragorn Keeranan

You might also like

Share this article