ผู้พิการทางการได้ยิน ขับรถได้ไหม

ใบขับขี่ "คนหูหนวก" สะท้อนสิทธิ "คนพิการ” เข้าไม่ถึง เพราะความกลัว หรือ...?

เขียนวันที่

วันเสาร์ ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 10:28 น.

ผู้พิการทางการได้ยิน ขับรถได้ไหม

การขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนนแยกไม่ได้ว่ามีคนตาบอดหรือคนปกติใช้ถนนร่วมกันด้วยหรือไม่

นี่คือคำถามที่ค้างคาใจของใครหลายคน !!

เพราะแม้กฎหมายของกรมการขนส่งทางบกจะให้สิทธิคนพิการในการอนุญาตให้ทำใบขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ เพื่อเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป

แต่ในข้อเท็จจริงจะมีคนพิการสักกี่คนที่ตระหนักในสิทธิตามกฎหมายที่ตนพึงควรได้ โดยเฉพาะผู้พิการทางหู หรือที่เรียกกันว่า "คนหูหนวก"

มีข้อมูลจากฐานทะเบียนกลางคนพิการ สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ(พก.) ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้พิการทางหู จำนวน 196,272 คน จำนวนนี้มีเพียง 4,330 คนเท่านั้น ที่สามารถฝ่าด่านเข้าไปสอบใบขับขี่จนได้รับใบอนุญาตขับรถจากกรมการขนส่งทางบก หรือคิดเป็นร้อยละ 2.204

ขณะบางส่วนที่เหลืออีกถึงร้อยละ 97.796 ยังไม่พบข้อมูลว่าพวกเขาได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับคนปกติโดยทั่วไปหรือไม่

@@ คนหูหนวกเปิดใจผ่านล่าม "กลัว”ปมปัญหาเข้าไม่ถึงสิทธิ

"จิราวรรณ เหล่าสมบัติ" ครูพี่เลี้ยงศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9 จ.ขอนแก่น วัย 52 ปี ลักษณะภายนอกเฉกคนปกติทั่วไป

แต่ความจริงแล้ว “ครูจิราวรรณ” เป็นผู้บกพร่องทางการได้ยินหรือหูหนวกมาแต่กำเนิด และถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของคนหูหนวกที่ประสบปัญหาที่เกือบเข้าไม่ถึงสิทธิการทำใบขับขี่ เพราะความไม่รู้และความกลัว ในตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่เธอต้องอาศัยความชำนาญในการขับขี่รถจักรยานยนต์ในชีวิตประจำวันหลบเลี่ยงตำรวจจราจรตามเส้นทางทางถนนด้วยเหตุเพราะไม่มีใบขับขี่เหมือนกับเพื่อนคนหูหนวกอีกหลายคน

ผู้พิการทางการได้ยิน ขับรถได้ไหม

สภาพการจราจรบนท้องถนนที่คนปกติจะต้องใช้ร่วมกับคนพิการทางหู 

"วรพล ธุลีจันทร์" หรือ "ครูโต้ง" ครูประจำศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 9 จังหวัดขอนแก่น ในฐานะล่ามภาษามือ อธิบายถึงสิ่งที่ครูจิราวรรณพยายามสื่อสารว่า ตำรวจขอนแก่นตั้งด่านตรวจถี่มาก ดังนั้นเวลาเดินทางจึงต้องคอยขับขี่หลบเลี่ยง และหากถ้าหลบไม่พ้นก็จะถูกเรียกขอดูใบขับขี่

ครูจิรวรรณ บอกว่า ทุกครั้งที่จำเป็นต้องขับกรถได้พยายามแสดงตัวให้ตำรวจจราจรทราบว่า เป็นคนหูหนวก ตำรวจก็จะปล่อยไป แต่ตำรวจบางนายก็จะซักถามขับรถไปไหน มีใบขับขี่หรือไม่ พอสื่อสารกันไม่ได้ก็ปล่อยๆ ไป เป็นอย่างนี้หลายครั้ง จึงรู้สึกกลัวตำรวจจราจร เพราะถูกเรียกตรวจบ่อยๆ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าคนหูหนวกสามารถไปทำใบขับขี่ได้ ก็จะคอยขับรถหลีกเลี่ยงเส้นทางเพื่อหนีตำรวจตลอดเวลา”ครูโต้ง ถ่ายทอดคำบอกเล่าจากภาษามือ

เธอยังเล่าอีกว่า ต่อมาปี 2549 เธอประสบอุบัติเหตุถูกเฉี่ยวชน และเมื่อกลับจากทำแผลที่โรงพยา บาล จึงเดินทางไปสถานีตำรวจ แต่ทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไม่สามารถจับกุมผู้ที่ขับรถจักรยานยนต์ชนเธอได้เพราะคนหลบขับหนีไปแล้ว โดยห้วงนั้นทั้งบาดเจ็บจากบาดแผลและยังรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับถูกตำรวจสอบถามรายละเอียดเหตุการณ์เพิ่มเติมโดยไม่มีล่าม จึงเห็นว่าการสื่อสารยุ่งยากมากและ ที่สำคัญเธอไม่มีใบขับขี่ จึงได้รับคำแนะนำให้แล้วๆ กันไป

“ตอนนั้นฉันรู้สึกเหมือนถูกซ้ำเติมจากเจ้าหน้าที่ด้วยถึงการไม่ได้รับความช่วยเหลือ แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นก็กลายเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เพื่อนครูซึ่งเป็นคนปกติได้ช่วยหาข้อมูล และทำให้ทราบว่าคนหูหนวกไปทำใบขับขี่ได้เหมือนกับคนปกติ เพื่อนครูเลยแนะนำให้ลองไปทำดู”ครูโต้งถอดคำบอกเล่าของครูจิราวรรณผ่านภาษามือ

@@ ฝ่าด่านสอบใบขับขี่ความเพียรไม่สูญเปล่าของผู้พิการทางหู

ครูจิราวรรณ บอกว่า กว่าจะได้รับอนุญาตให้ไปทำใบขับขี่รถยนต์เธอต้องเดินทางไปติดต่อขอเอกสารและหลักฐานจากโรงพยาบาล และที่สำนักงานกรมการขนส่ง รวมเกือบ 10 ครั้ง กว่าจะสอบผ่านได้ใบขับขี่ เนื่องจากที่สถานีขนส่งฯและโรงพยาบาลไม่มีเจ้าหน้าที่ที่เป็นล่ามให้กับคนพิการ ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลของรัฐกว่าจะได้ใบรับรองแพทย์ก็ต้องเสียเวลาเกือบทั้งวันเพราะเจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจภาษามือ

“ฉันต้องใช้วิธีพิมพ์ข้อความบนโทรศัพท์มือถือ ส่งให้พยาบาล ให้หมอ แล้วก็เขียนบนกระดาษตลอด เขียนไปเขียนมาหลายรอบ แต่ภาษาเขียนของคนหูหนวกกับภาษาของคนปกติ มีความแตกต่างกันอีก เพราะภาษาคนปกติมีถ้อยคำที่ให้รายละเอียดมากกว่า เมื่ออยากถามรายละเอียดมากขึ้นก็จะไม่สามารถสื่อสารกันได้”ครูจิราวรรณ บอกถึงอุปสรรคในการสื่อสารกับคนปกติ

นอกจากปัญหาดังกล่าวข้างต้นแล้วเธอยังบอกผ่านล่ามอีกว่า หลังจากฝ่าด่านแรกได้ก็ต้องพบกับด่านการสอบข้อเขียนซึ่งยากมาก แม้จะอ่านข้อสอบเข้าใจ แต่ไม่สามารถเขียนตอบเป็นภาษาปกติได้ ทำให้สอบหลายรอบแต่กระนั้นก็ไม่ล้มเลิกความพยายาม และได้เดินทางเข้า-ออกขนส่งจังหวัดเพื่อสอบใบขับขี่ประมาณ 10 ครั้ง จึงสอบข้อเขียนผ่าน แล้วไปฝ่าด่านไปสอบภาคปฏิบัติซึ่งสอบเพียงครั้งเดียวก็ผ่าน เนื่องจากขับขี่รถเป็นประจำทุกวันอยู่แล้ว

ครูจิราวรรณ ถือเป็น 1 ในจำนวนคนหูหนวกในกลุ่มร้อยละ 2.204 ของคนหูหนวกทั่วประเทศที่มีใบขับขี่ และถือเป็นเพียง 1 ใน 25 คน ของคนหูหนวกในจังหวัดขอนแก่น ที่สามารถเข้าถึงสิทธินี้โดยนี้ ประสบความสำเร็จในการฝ่าด่านสอบใบขับขี่ได้เมื่อปี 2549

@@ คนหูหนวกขอนแก่นมีใบขับขี่แค่ 25 คนจาก 6 พันคน

นับจากปี 2541 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันมีข้อมูลทะเบียนกลางคนพิการของพก.จังหวัดขอนแก่นจำนวนนับพันคน แต่เฉพาะผู้พิการหูหนวกมีถึง 6,090 คน แต่จำนวนนี้เมื่อตรวจสอบข้อมูลสถิติการดำเนินการออกใบอนุญาตขับรถของกรมการขนส่งทางบก ปรากฏข้อมูลสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบกระบุว่า ตั้งแต่ปีงบ ประมาณ 2544 มาจนถึงวันที่ 31 พ.ค. 2555 ตรวจสอบพบสถิติคนพิการหูหนวกจังหวัดขอนแก่นเข้าสอบได้รับใบขับขี่แล้วเพียง 25 คนเท่านั้น

แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้ผู้พิการทางหูขาดไม่ได้รับการดูแลในเรื่องการสอบใบอนุญาตว่า การควบคุมการสอบคนหูหนวกยากกว่าคนปกติ เนื่องจากปัญหาด้านการสื่อสาร และหากผู้สอบไม่มีญาติหรือล่ามภาษามือมาด้วยจะทำให้ความยากในการสอบเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า

อย่างไรก็ตามการดำเนินการสอบต้องเป็นไปตามระเบียบของกรมการขนส่งทางบก ที่ระบุว่าคนพิการกับคนปกติมีสิทธิเท่าเทียมกัน คือ คนหูหนวกในฐานะผู้ขอรับใบอนุญาตขับขี่หรือผู้ขอต่ออายุใบอนุญาตจะต้องเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการจราจร ต้องผ่านการทดสอบสมรรถภาพทางร่างกาย ทดสอบภาคทฤษฎี(ข้อเขียน) และทดสอบภาคปฏิบัติ(ขับรถ)

ผู้พิการทางการได้ยิน ขับรถได้ไหม

ตำรวจจราจรผู้คุมกฎกติกาบนท้องถนน นอกเหนือจากการขับรถที่ผู้ขับขี่ต้องปฎิบัติตามกฎจราจร

“ผู้พิการจะมีระเบียบปฏิบัติมากกว่าคนปกติ คือ ต้องขับรถให้กรรมการดูทุกครั้งเมื่อมีการต่ออายุใบอนุญาตขับขี่เพื่อเป็นการตรวจสอบสมรรถภาพการขับขี่แต่ไม่ต้องสอบข้อเขียน ซึ่งเป็นกฎระเบียบสำหรับคนพิการโดยเฉพาะของกรมการขนส่งทางบกที่ต้องการให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ขับขี่ และผู้พิการต้องมีใบรับรองแพทย์เฉพาะทางจากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้นมาประกอบการขอใบอนุญาตขับขี่ รวมทั้งในการขอต่ออายุใบอนุญาตเช่นกัน”แหล่งข่าวจากกรมการขนส่งเมืองขอนแก่น กล่าว

เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวยังแนะอีกว่า คนหูหนวกที่เดืนทางมาทดสอบหากไม่สามารถสื่อสารด้วยวาจาและอ่านหนังสือไม่ได้ ควรหาล่ามภาษามือมาด้วยตนเอง เพื่อช่วยแปลข้อสอบแล้วให้ผู้เข้ารับการทดสอบตอบโดยทำเครื่องหมายลงในกระดาษคำตอบ เพื่อให้ผู้ทำการทดสอบบันทึกในกระดาษคำตอบว่า “สอบโดยใช้ล่ามภาษามือ” พร้อมลงนามกำกับไว้เป็นหลักฐาน

สำหรับรถจักรยานยนต์หรือรถยนต์ที่คนหูหนวกใช้ขับ ต้องมีความเหมาะสมกับสภาพร่างกาย และได้จดทะเบียนผ่านการตรวจสภาพจากนายทะเบียนตามกฎหมายแล้วจึงอนุญาตให้ยื่นคำขอได้ ซึ่งต้องติดเครื่องหมายตราสัญ ลักษณ์คนพิการตามประเภทความพิการของตนเองที่ตัวรถให้คนทั่วไปและตำรวจสังเกตเห็น เพื่อสร้างความระมัด ระวังทั้งคนขับที่หูหนวกและบุคคลอื่นที่ใช้รถใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยด้วยเช่นกัน

@@ จนท.ขนส่งฯวอนเห็นใจ”ปลอดภัย” ต้องมาก่อน “สะดวก”

กนก สิริพานิชกร ขนส่งจังหวัดขอนแก่น ระบุว่ากฎหมายเปิดช่องให้คนพิการหลายประเภท รวมถึงคนหูหนวกให้สามารถทำใบขับขี่ได้ ส่วนข้อสงสัยว่าสาเหตุใดที่กรมการขนส่งทางบกฯต้องบังคับคนหูหนวกให้ใช้ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลของรัฐเท่านั้น และปัญหาข้อนี้อาจทำให้คนหูหนวกรู้สึกเป็นความยุ่งยากและทำให้เกิดความรู้สึกไม่เท่าเทียมกับคนปกตินั้น

กนก ชี้แจงว่าในระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการดำเนินการเกี่ยวกับใบอนุญาตขับรถตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์สำหรับคนพิการ พ.ศ. 2541 ระบุผู้พิการต้องมีใบรับรองแพทย์ที่ระบุประเภทความพิการชัดเจน ซึ่งใบรับรองแพทย์ต้องแสดงว่าผู้ขอใบอนุญาตขับขี่ไม่มีโรคประจำตัวอันอาจเป็นอันตรายขณะขับรถ

“คนหูหนวกมองเป็นเรื่องยุ่งยาก ซึ่งเราเข้าใจว่าเพราะการสื่อสารที่ยากลำบาก คนหูหนวกจำเป็นต้องมีล่าม ต้องไปติดต่อโรงพยาบาลทำให้รู้สึกว่ามีอุปสรรคเยอะ จนทำให้รู้สึกว่าทำไมต้องยุ่งยากมากกว่าผู้อื่นนั้น อยากให้เข้าใจตรงกันว่า เพราะคนหูหนวกเป็นผู้พิการและมีข้อจำกัดทางการได้ยิน ซึ่งในทางกฎหมายกรมการขนส่งฯเองย่อมจำเป็นต้องใช้การรับรองทางการแพทย์ที่ออกโดยสถานพยาบาลของรัฐที่เชื่อถือได้เท่านั้น เพราะใบรับรองแพทย์ต้องนำมาใช้อ้างอิงการอนุญาตให้คนหูหนวกสามารถขับขี่ยานพาหนะได้เหมือนคนปกติทั่วไป “เจ้าหน้าที่กรมการขนส่งเมืองขอนแก่น ชี้แจง

และอธิบายต่อว่า ก่อนหน้านี้มีผู้พิการทางหูเดินทางไปขอใบรับรองแพทย์เพื่อนำมายื่นขอทำใบขับขี่ฯแต่แพทย์ปฏิเสธที่จะออกใบรับรองให้ ผู้พิการฯจึงไปขอจากคลินิกเนื่องจากสะดวกและทำได้ง่ายกว่า แต่เมื่อนำมาแล้วทางขนส่งไม่รับต้องกลับไปทำใหม่ จึงอยากชี้แจงว่าให้คนพิการเข้าใจว่า ใบรับรองแพทย์ถือว่าเป็นใบเบิกทางสำคัญในการทำใบขับขี่ ดังนั้นเอกสารรับรองทางการแพทย์จึงต้องมีความน่าเชื่อถือได้อย่างมาก และไม่อาจอนุญาตให้ใช้ใบรับรองจากคลินิกทั่วไปได้

กนก กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันก็จริงแต่ต้องปฎิบัติตามกรอบกฎหมาย เพราะสิทธิคนหนึ่งอาจไปกระทบสิทธิของคนอื่น หากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น สังคมอาจตั้งคำถามว่าคนหูหนวกไม่ได้ยินเสียง แล้วจะมีข้อผิดพลาดอันเกิดจากการไม่ได้ยินจนทำให้เกิดปัญหาการขับขี่รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์หรือไม่ ซึ่งคนขับรถเป็นไม่ใช่คนที่จะถูกเสมอไป ต้องอยู่ที่ความถูกต้องของกฎจราจร การดำเนินการอย่างเชื่อถือได้ ก็น่าจะเป็นเป็นสิ่งที่ดีที่สุดกับทุกคน ซึ่งถือเป็นการดูแลสังคมให้มีความปลอดภัยร่วมกัน ไม่ใช่เอาความสะดวกเป็นที่ตั้ง

“สิ่งที่น่ากังวลในขณะนี้ก็คือ คนที่ขับรถได้ซึ่งเป็นคนหูหนวก คงไม่ได้มีเพียงเท่าตัวเลขผู้ทำใบขับขี่ไปแล้ว แต่ยังมีคนหูหนวกที่ใช้ยวดยานพาหนะบนท้องถนนที่ไม่มีใบขับขี่ ซึ่งเราไม่ทราบตัวเลขชัดเจนว่า คนจำนวนนั้นขาดการเข้าถึงสิทธินี้อีกจำนวนเท่าใด หัวใจสำคัญของปัญหานี้ ไม่ได้มีเฉพาะคนหูหนวกเท่านั้นที่ต้องใช้รถใช้ถนนร่วมกันกับคนปกติ ดังนั้นการที่คนหูหนวกเข้าถึงสิทธินี้ในจำนวนน้อย จึงเป็นปัญหาที่น่าเป็นห่วง”กนกให้ข้อคิด

การเข้าถึงสิทธิในการทำใบขับขี่ของคนพิการทางหูในเขต จ.ขอนแก่น น่าจะเป็นมุมสะท้อนเล็กๆให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่เกิดขึ้นซึ่งควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และถือเป็นประเด็นสาธารณะที่ไม่ได้เป็นเรื่องของกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่งอีกต่อไป

เพราะไม่ว่า จะเป็นคนพิการหรือคนปกติทุกชีวิตต่างก็ต้องใช้ถนนบนเส้นทางเดียวกัน

--------------------

หมายเหตุ :ข่าวและสารคดีเชิงข่าวในโครงการ "พัฒนาทักษะทางวิชาชีพให้แก่บุคลากรในวิชาชีพสื่อมวลชน" โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

หูหนวก ขับรถสาธารณะได้ไหม

ผู้เข้ารับการทดสอบที่มีหรือไม่มี เครื่องช่วยฟังหรือไม่ก็ตาม ไม่ใช้ใบอนุญาตขับรถคนพิการ (ใช้ใบอนุญาตปกติ) ทดสอบสมรรถภาพของร่างกายด้านปฏิกิริยา สายตาทางลึก สายตาทางกว้าง ตาบอดสี ขอใบรับรองแพทย์จากแพทย์เฉพาะทาง (โสต ศอ นาสิกแพทย์) ยืนยันว่ามิได้เป็นคนหูหนวกหรือหูตึง อบรม สอบข้อเขียน สอบขับรถ

คนพิการสามารถขับรถได้ไหม

การทำใบขับขี่ของคนพิการ มีขั้นตอนไม่ต่างจากการทำใบขับขี่ปกติ แต่ต้องได้รับการพิจารณาและคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ก่อน ส่วนการต่ออายุใบขับขี่ ผู้ขับขี่จะต้องสอบใหม่ทุกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าสามารถขับรถได้ตามปกติ ไม่มีปัญหาแต่อย่างใด

คนพิการขาขับรถได้ไหม

ผู้พิการสามารถทำใบขับขี่ได้ หากไม่พิการหนักมากจนส่งผลต่อการขับรถ ก็ถือว่าเป็นผู้ที่สามารถขับรถได้อย่างปลอดภัย สามารถทำใบอนุญาตขับรถได้ สำหรับการทำใบขับขี่คนพิการ แม้จะมีข้อแตกต่างอยู่บ้าง แต่ขั้นตอนส่วนใหญ่ก็เหมือนการทำใบขับขี่ทั่วไป ตั้งแต่การเตรียมเอกสารไปจนถึงการสอบขับรถ ดังนี้

เป็นใบ้สอบใบขับขี่ได้ไหม

นอกจากนี้เจ้าของโพสต์ยังชี้แจงเกี่ยวกับความปลอดภัยในการใช้บริการว่า "คนพิการหูหนวกก็สามารถทำใบขับขี่ได้ อยู่ที่การพิจารณาของแพทย์และเจ้าหน้าที่ เช่น คนนี้อาจจะหูหนวกในระดับที่ยังพอได้ยินเสียงแตรบ้าง"