การสร้างความกระตือรือร้นในการ ทำงาน

วิธีสร้างความกระตือรือร้นแบบชาวออฟฟิศญี่ปุ่น

เผยแพร่: 3 มิ.ย. 2559 07:51   โดย: MGR Online

การสร้างความกระตือรือร้นในการ ทำงาน

ปกติการทำงานสไตล์ญี่ปุ่นค่อนข้างจะโหดนำ หมายถึง ทุ่มเทอย่างจริงจัง ทำงานก่อนเวลา เลิกงานหลังเวลา ทำงานแบบนี้บางทีผลงานไม่เป็นที่ถูกใจหรือไม่ได้ตามเป้าหมาย ก็อาจเกิดอาการท้อแท้ หรือหมดแรงกระตุ้นได้บ้าง แต่หัวหน้าคงไม่รอให้เราเหนื่อยและท้อแท้ได้นานนัก การงานยังคงต้องแข่งขันและเร่งรีบกันต่อเนื่อง แล้วถ้าเกิดความไม่อยากทำอะไร เกิดเบื่อหน่าย เราควรต้องทำอย่างไร จึงจะดึงพลังงานพลังใจออกมาได้ใหม่ มีวิธีสร้างแรงใจ หาความกระตือรือร้นมาฝาก ดังนี้

1. ให้ทำเฉยๆ หมายถึงไม่ว่าจะเหนื่อยหน่ายท้อแท้แค่ไหน อย่าไปคิดเพิ่ม อย่าไปคิดแง่ร้ายซะทั้งหมด แต่ให้หยุดไปก่อน ให้ปิดสวิตซ์ตัวเอง อยู่ในโหมดเฉยๆ ไว้ก่อน

2. หาเป้าหมายง่ายๆ ให้ลองตั้งเป้าหมายง่ายๆ ขึ้นมาแล้วทำดู ถ้าเราทำสำเร็จก็จะช่วยเป็นจุดกระตุ้นพลังใจเราต่อได้ เช่น วันนี้หลังเลิกงานจะทานผลไม้เพื่อสุขภาพ วันนี้จะวิ่งออกกำลังกาย เป็นต้น ตั้งเป้าหมายง่ายๆ แล้วทำตามที่คิดให้ได้ ถ้าเราทำได้เราจะรู้สึกว่าเรามีสัจจะและทำได้ตามเป้าหมาย พลังใจจะเริ่มฟื้นฟูขึ้นมาได้ แถมยังได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากการออกกำลังกาย และทานผลไม้อร่อยๆ

3. ให้แกล้งทำเป็นมีความสุข บางครั้งคนญี่ปุ่นก็สามารถฝืนยิ้มได้อย่างตรงข้ามกับความรู้สึก เพราะบางครั้งการยิ้มก็ช่วยให้จิตใจเราอ่อนลง เป็นสิ่งหนึ่งที่บอกว่าเรามีความสุข แต่ความจริงแล้วการแกล้งมีความสุขในที่นี้ หมายถึง ให้พยายามคิดว่าตนเองมีความสุข คิดแง่บวกเข้าไว้ อย่างน้อยก็ช่วยให้สถานการณ์ไม่เลวร้ายลง

4. ไม่ควรอิจฉาใคร ตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออก ไม่คิดอิจฉาคนอื่น ไม่คิดแง่ร้าย ถ้าวันที่เราเกิดหมดกำลังใจ จะมีผลทำให้พลังในตัวลดลง ทำให้ความมุ่งสู่เป้าหมายลดลงด้วย ดังนั้นไม่ควรเปรียบเทียบกับคนอื่น และพยายามตัดสิ่งที่ไม่ต้องการออกไป

5. ไม่ควรคิดถึงเรื่องอดีต ว่าอันนั้นน่าจะดีกว่า น่าจะทำแบบนั้นแบบนี้ เพราะไม่มีใครสามารถย้อนหรือเปลี่ยนอดีตได้

6. ในช่วงนั้นๆ อย่าอยู่ใกล้คนที่เฉื่อยเหมือนกัน อย่าพยายามจับกลุ่มคนที่ไม่มีพลังใจหรือหมดความกระตื้อรือร้นเช่นเดียวกับที่เรากำลังเป็น

7. ทำสิ่งที่ตัวเองชอบวันละครั้ง หาสิ่งที่ตัวเองชอบให้เจอ และทำสิ่งที่เราชอบอะไรก็ได้ วันละนิดวันละหน่อย อะไรๆ จะดีขึ้นเอง

8. หาเวลาผ่อนคลาย นิดหน่อยก็ยังดี ควรหาโอกาสพักผ่อนหย่อนใจ อย่าปล่อยให้ตัวเองเคร่งเครียดเกินไป

9. หาแรงกระตุ้นทางแฟชั่นที่ตนชอบ อาจจะชวนเพื่อนๆ ไปเที่ยวสังสรรค์ ช้อปปิ้ง เลือกแฟชั่นที่สนใจ ติดตามแฟชั่นหรือเรื่องที่ชอบ

10. พบเพื่อนคนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับงาน หาเวลาไปพูดคุยกับเพื่อนสนิทคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อนในกลุ่มที่ทำงาน เพื่อย้อนนึกถึงเรื่องสนุกอื่นๆ หรือเรื่องผ่อนคลายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องงาน เพื่อที่เราจะได้ทำเรื่องอื่นๆ บ้าง ไม่จดจ่อกับเรื่องงานจนเกินไป

18 December 2005

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตความแตกต่างระหว่างองค์กรที่พนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงาน กับองค์กรที่พนักงานมีความเฉื่อยชาและขาดความกระตือรือร้นในการทำงานบ้างไหมครับ? ช่วงหลังๆ เราจะพบเห็นองค์กรที่มีลักษณะทั้งสองประการกันพอสมควร ในองค์กรที่พนักงานมีความกระตือรือร้น เราในฐานะลูกค้าก็อยากจะเข้าไปซื้อสินค้าและใช้บริการ ในขณะที่หน่วยงานที่พนักงานมีแต่ความเฉื่อยชาขาดความกระตือรือร้น ก็เป็นสถานที่ๆ เราไม่อยากจะเข้าไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการถ้าไม่จำเป็น มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ The Enthusiastic Employee เขียนโดย David Sirota และทีมงาน ได้นำเสนอข้อมูลจากงานวิจัยของตนเองที่พบว่ามีความสัมพันธ์ที่พบได้อย่างชัดเจนระหว่างการที่พนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงานกับผลการดำเนินงานขององค์กร

            สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนหนังสือเล่มดังกล่างพบก็คือ โดยทั่วไปแล้วพนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงาน หรือเพิ่มเข้างานใหม่ จะมีความกระตือรือร้นในการทำงานอย่างสูง แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้าความกระตือรือร้นดังกล่าวก็เริ่มหมดไปหรือจางหายไป และสิ่งที่ทำให้เจ้าความกระตือรือร้นในการทำงานของพนักงานลดลงก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของผู้บริหารนั้นเอง แสดงว่าในองค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ไม่ดีและไม่เหมาะสมแล้ว จะส่งผลให้ความกระตือรือร้นในการทำงานของพนักงานลดลง ท่านผู้อ่านลองนึกถึงกรณีของท่านเองก็ได้นะครับ เมื่อเราเริ่มเข้าไปทำงานใหม่ๆ จะมีพบว่ามีความกระตือรือร้นในการทำงานสูง อยากจะทำสิ่งต่างๆ และพร้อมที่จะเสนอความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา จนมักจะถูกแซวว่า “เครื่องยังร้อนอยู่” หรือ “ยังไม่พ้นช่วงดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์” หรือ “คนใหม่ไฟแรง” เป็นต้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป เชื่อว่าท่านผู้อ่านหลายๆ ท่านคงจะเกิดอาการ “เครื่องเย็น” หรือ “พ้นช่วง Honeymoon” หรือ “ไฟเริ่มมอด” ที่ความกระตือรือร้นในการทำงานลดน้อยลง ท่านผู้อ่านลองทบทวนดูซิครับว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร?

            ทีนี้ก็มีงานวิจัยที่พบความสัมพันธ์ระหว่างขวัญ กำลังใจในการทำงานของพนักงาน กับความสำเร็จขององค์กร และขวัญ กำลังใจในการทำงานนั้นเป็นผลมาจากนโยบายและแนวทางในการบริหารของผู้บริหาร อีกทั้งขวัญ กำลังใจ จะส่งผลต่อความกระตือรือร้นในการทำงานของพนักงาน พนักงานที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานมักจะเป็นผู้ที่ทำงานหรือใส่ความพยายามเข้าไปในการทำงานมากกว่าที่งานนั้นต้องการจริงๆ เช่น งานชนิดหนึ่งต้องการความพยายามของพนักงาน 100 ส่วน แต่ถ้าพนักงานมีความกระตือรือร้นในการทำงานแล้ว พนักงานผู้นั้นจะใส่ความพยายามลงไปในงานมากกว่า 100 ส่วน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำงานนานกว่าปกติ เพื่อให้งานสำเร็จออกมาอย่างถูกต้อง หรือ การแสวงหาวิธีการใหม่ๆ ในการพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่รอปฏิบัติตามที่ผู้บริหารสั่ง หรือ การคอยกระตุ้นเพิ่มร่วมงานให้ทำงานอย่างเต็มที่ หรือแม้กระทั่งการยินดีต้อนรับต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ มากกว่าการต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

            โดยสรุปเราจะพบว่าพนักงานที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานจะมีแรงจูงใจในการทำงานมากกว่าพนักงานปกติ ในทางกลับกันพนักงานที่ขาดความกระตือรือร้นและมีความรู้สึกเป็นปรปักษ์กับองค์กรก็จะมีแรงจูงใจเช่นเดียวกัน แต่เป็นแรงจูงใจที่จะไม่ทำงานและก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร

            ได้มีความพยายามจากนักวิชาการหลายๆ ท่านในการหาความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรที่พนักงานมีความกระตือรือร้นกับผลประกอบการ นักวิชาการชื่อดังอย่าง Jeffrey Pfeffer ได้ศึกษาในเรื่องนี้แล้วพบว่าองค์กรใดที่มีพนักงานที่มีความกระตือรือร้นในการทำงานจะมีผลิตภาพสูงกว่าองค์อื่นๆ ประมาณ 3-40% นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยออกมาว่าองค์กรที่มีพนักงานที่มีขวัญและกำลังใจที่ดี จะมีผลตอบแทนจากการลงทุนดีกว่าบริษัทที่นำมาเปรียบเทียบจากอุตสาหกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการสร้างโมเดลระหว่างปัจจัยเหล่านี้อีกด้วยนะครับ โดยมีการมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างขวัญและกำลังใจของพนักงาน กับความสำเร็จขององค์กรนั้นเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน จนกลายเป็นวงจรสำคัญ นั้นคือเมื่อพนักงานมีความกระตือรือร้นและ ขวัญกำลังใจที่ดี แล้วจะส่งผลให้ลูกค้ามีความพึงพอใจ ซึ่งนำไปสู่ความสำเรจขององค์กร และจากการที่องค์กรมีความสำเร็จ ก็จะส่งผลให้พนักงานมีขวัญและกำลังเพิ่มขึ้น สุดท้ายก็จะกลายเป็นวงจรที่ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆ

            อย่างไรก็ดีในทำกลับกันวงจรดังกล่างอาจจะเป็นวงจรที่ไม่ดีก็ได้ นั้นคือเมื่อพนักงานไม่มีความกระตือรือร้นและขวัญ กำลังใจ ก็จะทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ส่งผลให้ผลประกอบการที่ไม่ดี และเมื่อผลประกอบการไม่ดี ผู้บริหารก็ต้องหาทางประหยัดค่าใช้จ่ายด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อขวัญและกำลังใจของพนักงาน แล้วสุดท้ายก็กลายเป็นวงจรที่ไม่ดีต่อไปเรื่อยๆ

            ดังนั้นเชื่อว่าทุกองค์กรคงไม่อยากจะให้เกิดวงจรที่ไม่ดีเกิดขึ้นนะครับ แต่คำถามสำคัญก็คือ แล้วอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานเกิดความกระตือรือร้นในการทำงาน? ซึ่งจากหนังสือเรื่อง The Enthusiastic Employee นั้นปัจจัยทางด้านการบริหารที่สำคัญสามประการสำหรับการสร้างความกระตือรือร้น ได้แก่ ความเสมอภาคยุติธรรม การบรรลุผลสำเร็จ และความสนิทสนมไว้วางใจภายในองค์กร ในสัปดาห์หน้าเราจะมาพิจารณาปัจจัยทั้งสามประการโดยละเอียดนะครับว่านำไปสู่ความกระตือรือร้นในการทำงานได้อย่างไร