พระพุทธศาสนา สอนเรื่องความรัก ความเมตตา อยู่ในหลักธรรมใด

พรหมวิหาร 4 หรือ พรหมวิหารธรรม หนึ่งในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา เป็นคำสอนที่เรียบง่าย สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันเพื่ออยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขได้ อีกทั้งยังถือเป็นธรรมะที่ผู้นำควรยึดถือปฏิบัติสำหรับการบริหารองค์กร ซึ่งจะสามารถสร้างความสุขในสังคมการทำงานได้มากยิ่งขึ้น

พรหมวิหาร 4 คืออะไร มีอะไรบ้าง?

พรหมวิหาร 4 คือ หลักคุณธรรมที่ทำให้ผู้ประพฤติปฏิบัติตามเป็นผู้ประเสริฐ ซึ่งคำว่า "พรหมวิหาร" มีความหมายว่า ธรรมอันเป็นที่อยู่ของพรหม การยึดถือหลักธรรมดังกล่าวจะทำให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข โดยเชื่อว่ามนุษย์จะประเสริฐได้ก็ต่อเมื่อมีคุณธรรม พรหมวิหาร 4 ประกอบด้วยหลักธรรม 4 ข้อ ได้แก่ 

1. เมตตา
ความหมาย : ความปรารถนาให้ผู้อื่นเป็นสุข มีความปรารถนาดีมอบให้ผู้อื่น รวมถึงมีเมตตาต่อสัตว์
2. กรุณา
ความหมาย : ความปรารถนาที่จะช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มีความสงสาร และเห็นใจผู้อื่นที่ประสบทุกข์
3. มุทิตา
ความหมาย : ความปีติยินดีเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ไม่อิจฉาริษยา ร่วมชื่นชม และยินดีกับความสำเร็จของผู้อื่น 
4. อุเบกขา
ความหมาย : ความวางเฉย วางใจเป็นกลาง ไม่ซ้ำเติมคนที่กำลังทุกข์ หรือเพลี่ยงพล้ำ

พรหมวิหาร 4 หลักธรรมสำหรับผู้นํา  

พรหมวิหาร 4 ยังเป็นตัวอย่างของหลักธรรม ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้สำหรับผู้ปกครอง ผู้นำ และหัวหน้างานหน่วยต่างๆ ได้ เนื่องจากหากนำหลักพรหมวิหาร 4 มาบริหารองค์กร และบุคลากรแล้ว นอกจากจะทำให้ทุกคนทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความสุข ยังช่วยให้บรรยากาศในสถานที่ทำงาน น่าทำงานยิ่งขึ้นอีกด้วย โดยสามารถยกตัวอย่างพรหมวิหาร 4 ที่ใช้เป็นธรรมะประจำใจสำหรับการบริหารงาน ดังนี้ 

1. เมตตา : หัวหน้าเอาใส่ใจ ดูแล สนับสนุนการทำงานของลูกน้อง ให้คำแนะนำด้วยความเมตตา และปรารถนาดี สร้างบรรยากาศความสุขด้านการทำงาน
2. กรุณา : หากการทำงานเกิดอุปสรรค หัวหน้าควรสอบถามปัญหา ชี้แนะแนวทางแก้ไข ไม่ปล่อยให้ลูกน้องแก้ปัญหาอย่างโดดเดี่ยวเพียงลำพัง
3. มุทิตา : เมื่อลูกน้องประสบความสำเร็จในเรื่องงาน หรือเรื่องต่างๆ ควรแสดงความยินดีด้วยความจริงใจ เพื่อให้ลูกน้องเห็นถึงความใส่ใจที่มีต่อพวกเขา
4. อุเบกขา : การรู้จักวางตัวเป็นกลาง ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในการบริหารงาน ไม่เอนเอียง ให้ความช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกัน 

อานิสงส์ของพรหมวิหาร 4

หลวงพ่อฤาษีลิงดํา แห่งวัดท่าซุง ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวพุทธให้ความนับถือ เคยให้โอวาทเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักพรหมวิหาร 4 ไว้ในหนังสือโอวาทหลวงพ่อวัดท่าซุง ว่าสามารถให้อานิสงส์แก่ผู้ปฏิบัติเป็นความสุขถึง 11 ประการ ได้แก่

1. นอนหลับเป็นสุข
2. ไม่มีอารมณ์ขุ่นมัว
3. ฝันเห็นแต่สิ่งมงคล
4. เป็นที่รักของมนุษย์ เทวดา และภูตผี
5. สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง
6. ห่างไกลจากอันตรายของเพลิง อาวุธ และยาพิษ
7. จิตใจเป็นสมาธิ
8. ใบหน้าผ่องใส
9. มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ 
10. บรรลุมรรคผลไม่ชาตินี้ก็ชาติหน้า (ตามความเชื่อคติพุทธ)
11. มีศีลที่บริสุทธิ์

พรหมวิหาร 4 ไม่ได้เป็นหลักธรรมที่เข้าใจยาก หรือซับซ้อนอะไรเลย หากแต่เป็นหลักปฏิบัติทั่วไปในชีวิตประจำวัน หากปรับเปลี่ยนทัศนคติ และหมั่นสร้างนิสัยความเมตตาปรารถนาดีต่อผู้อื่นเป็นประจำ ทุกคนก็สามารถมีพรหมวิหาร 4 ในใจได้เช่นกัน

วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

เผยแพร่: 13 ก.พ. 2557 14:59   โดย: ก้องเกียรติ พุทธรักษ์ขิต

 คลิกที่นี่ เพื่อฟัง สารคดีร้อยธรรม ตอน วันแห่งความรักในพระพุทธศาสนา

ก้องเกียรติ พุทธรักษ์ขิต

วันแห่งความรัก ที่รู้จักกันดีในปัจจุบันนั้น ทุกคนมักจะคุ้นเคยกับวันวาเลนไทน์ ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญสำหรับคนหนุ่มสาว ที่ต่างฝ่ายจะเตรียมมอบของขวัญพิเศษ หรือแสดงความรักต่อกันในวันนี้ โดยหวังว่า จะได้รับความพึงพอใจจากคนที่ตนรัก และเป็นการแสดงความรักเพื่อตอบสนองความปรารถนาองตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งคือ ตามความเชื่อทางคริสต์ศาสนาที่รำลึกถึงนักบุญวาเลนไทน์ ผู้เสียสละชีวติตนเองเพื่อให้คนหนุ่มสาวได้แต่งงานกัน ในอดีตที่เคยห้ามไม่ให้คนหนุ่มสาวแต่งงานกัน เพราะต้องเกณฑ์ชายหนุ่มไปทำสงคราม

ในทางพระพุทธศาสนา หากจะมองเอา วันแห่งความรักที่แท้จริง ก็คงเปรียบได้กับวัน มาฆบูชา ที่มีความสำคัญ เป็นวันจาตุรงคสันนิบาตร คือ เป็นวันเพ็ญเดือน 3 ,มีพระสงฆ์ 1,250 รูปมาประชุมกันโดยไม่ได้นัดหมาย,พระสงฆ์ทั้งหมดเหล่านั้นล้วนได้บบรลุธรรมเป็นอรหันต์รับอภิญญา 6, และเป็นพระสงฆ์ที่พระพุทธองค์เป็นผู้บรรพชาให้

และที่สำคัญมากกว่านั้นคือ พระพุทธเจ้ายังได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ ที่ถือว่าเป็นการวางรากฐานประกาศหลักธรรมไว้ให้กับพุทธศาสนิกชนคนรุ่นหลังได้นำมาศึกษาปฏิบัติ ว่าด้วยเรื่องของ หลักการของพระพุทธศาสนา คือ ละชั่ว ทำดี (ทั้งกาย วาจา ใจ) ทำจิตใจให้ผ่องบริสุทธิ์ผ่องใส เป็นคำสอนที่เป็นไปเพื่อป้องกัน แก้ปัญหาต่างๆ จนนำไปสู่ความหลุดพ้น จากหลักการนี้ จึงเป็นสิ่งที่สะท้อนถึง ความปรารถนาของพระพุทธองค์ที่มุ่งให้มนุษยชาติได้พ้นทุกข์ และนี่คือ ความรักที่แท้จริง

นอกจากนี้ ยังมีหลักธรรมที่สอนให้มนุษย์มีความรักในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ตามแนวทางพระพุทธศาสนา เป็นความรักที่บริสุทธิ์ปราศจากเงื่อนไข ไม่หวังที่จะนำตนเองเป็นศูนย์กลางหรือการสนองความต้องการของตนเองเป็นหลัก แต่กลับมุ่งให้ประพฤติตนเพื่อให้ผู้อื่นพ้นทุกข์จากการที่ต้องมีชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคม และให้เราเป็นที่พึ่งของผู้อื่น ตามหลักของ พรหมวิหาร 4 คือ

เมตตา คือ ความรักที่เกิดจากการมองแง่ดี ปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุข แม้จะไม่ใช่มิตรของตนเอง
กรุณา คือ การช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ขณะที่มีความทุกข์ ด้วยความปรารถนาให้เค้าพ้นทุกข์ที่เขาประสบอยู่ ทั้งทางกายและทางใจ
มุฑิตา คือ การยินดีต่อผู้อื่นเมื่อทำความดี ประสบความสำเร็จ ปราศจากความอิจฉาริษยา
อุเบกขา คือ การปล่อยวาง เมื่อเกิดความรักต่อกันแล้วต้องปล่อยวางและพึงระลึกอยู่เสมอว่า คนเราทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมรับผลแห่งความชั่ว ไม่ควรดีใจหรือเสียใจหรือซ้ำเติม ควรให้โอกาสได้ปรับปรุงตนให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

จากหลักธรรมดังกล่าว หากจะเปรียบน้ำที่บริสุทธิ์ใสเย็นเป็นที่พึ่งพาของสรรพสัตว์ในการดื่มกินดับกระหายร้อนฉันใด หลักธรรมของพระพุทธองค์ก็เปรียบเหมือนเครื่องขัดเกลาดับกิเลสของมนุษย์ ที่ดำรงชีวิตด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ฉันนั้น เพราะฉะนั้น จึงพอสรุปได้ว่า วันมาฆบูชาเป็นวันแห่งความรักที่แท้จริง ที่พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ เราในฐานะพุทธศาสนิกชน พึงนำเอาหลักธรรมนี้ มาน้อมนำสู่ตน เพื่อสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น ได้ตั้งแต่ระดับบุคคลกับบุคคล ไปจนถึงครอบครัว สังคมและประเทศชาติด้วยการละเว้นการทุจริตทั้งปวง และมีความปรารถนาดีมีเมตตาต่อกัน