พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ

19 ม.ค.65-ท่ามกลางภัยจากโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ชาวโลกต้องตื่นตระหนกกับภัยพิบัติธรรมชาติที่น่าสะพรึงกลัวเมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา การปะทุภูเขาไฟใต้ทะเลบนเกาะที่ชื่อ ‘ฮุงกา ตองกา–ฮุงกา ฮาอาปาย’ ทำให้ประเทศตองกากลางมหาสมุทรแปซิฟิกถูกปกคลุมไปด้วยเถ้าถ่านภูเขาไฟ และได้รับความเสียหายอย่างหนัก การระเบิดนี้ยังก่อให้เกิด ‘สึนามิ’ ความสูง 1.5-2 เมตร ซัดเข้าชายฝั่งตองกาและอีกหลายประเทศต่อมา

เสียงกึกก้องดังไกลไปถึงนิวซีแลนด์ที่อยู่ห่างออกไปกว่า 2,383 กิโลเมตร ในเวลาต่อมาไม่นาน คลื่นมวลอากาศนี้จึงเดินทางมาถึงน่านฟ้าประเทศไทยที่อยู่ห่างกว่า 1 หมื่นกิโลเมตร ซึ่งสามารถตรวจวัดได้โดยสถานีตรวจวัดสภาพท้องฟ้าของ NARIT หรือสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซิดนีย์ มอร์นิง เฮรัลด์ เปรียบว่าการประทุดังกล่าวมีความรุนแรงเท่ากับระเบิดฮิโรชิม่า 1,000 ลูก ทั้งนี้ดาวเทียมสำรวจ GOES West ได้จับภาพวินาทีระเบิดของภูเขาไฟไว้ได้

รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ ผู้เชี่ยวชาญแผ่นดินไหว คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ภูเขาไฟใต้น้ำเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติโลก พื้นที่บริเวณเกิดเหตุภูเขาไฟปะทุใต้ทะเล ประเทศตองกาในมหาสมุทรแปซิฟิก แถบนี้เป็นแนวบริเวณที่เรียกว่า ‘วงแหวนแห่งไฟ’ (Ring of Fire) ยาวกว่า 40,000 กิโลเมตรซึ่งเป็นแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกกันอยู่ ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวและมีภูเขาไฟใต้น้ำภายในวงแหวนไฟ ที่ยังคุกกรุ่นอยู่ลอดเวลา จนทำให้เกิดเป็นเกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกขึ้นมา โดยเหตุการณ์ภูเขาไฟตองกาปะทุใต้ทะเลนี้ นับว่ารุนแรงสุดในรอบ 30 ปี นับจากการระเบิดของภูเขาไฟพินาตูโบเมื่อปี 2534 ทางด้านตะวันตกของเกาะลูซอน ประเทศฟิลิปปินส์ โดยเป็นการปะทุขึ้นอย่างรุนแรงหลังจากที่หลับใหลมานานกว่า 600 ปี คงจำกันได้ว่ามีผู้เสียชีวิตกว่า 800 คนและอีก100,000 คนกลายเป็นคนไร้ที่อยู่อาศัย

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ

สำหรับภูเขาไฟตองกาปะทุ ส่งผลให้ภูเขาไฟพ่นควัน เถ้าถ่าน แก๊สและไอน้ำสูงจนสามารถเห็นได้จากภาพถ่ายดาวเทียม และเกิดคลื่นยักษ์ที่พัดผ่านแนวชายฝั่งในเมืองนูกูอาโลฟาเมืองหลวง ทำให้น้ำท่วมถนนเลียบชายฝั่ง บ้านเรือนเสียหาย และเกิดสึนามิเคลื่อนที่เข้าหาฝั่งของเกาะ Tongatapu ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศตองกา ศูนย์เตือนภัยสึนามิ ออกคำเตือนให้ระวังเกิดสึนามิซัดชายฝั่งหลายประเทศริมฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเมื่อเวลา 11.27 น. (15 ม.ค) ตามเวลาประเทศไทย ได้เกิดคลื่นสึนามิเคลื่อนตัวเข้าหาชายฝั่งหลายๆ ประเทศรอบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยมีความสูงคลื่นประมาณ 0.1- 1.2 เมตร เช่น ที่ฟิลิปปินส์ 0.20 เมตร ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และชิลี 1.0 -1.2 เมตร แต่ไม่เกิดสึนามิที่ทุ่นที่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน ประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนและนักท่องเที่ยว 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง ภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และสตูล ไม่ต้องกังวล ส่วนจังหวัดชายฝั่งทะเลอ่าวไทยก็ไม่มีผลกระทบเช่นกัน

สึนามิจากภูเขาไฟที่ปะทุใต้น้ำ หากเทียบกับสึนามิที่เกิดจากแผ่นดินไหว มีความแตกต่างกัน เนื่องจากหากเป็นแผ่นดินไหวเครื่องมือตรวจวัดแรงสั่นสะเทือนจะสามารถประเมินขนาดแผ่นดินไหวและออกคำเตือนสึนามิได้ดีกว่า ซึ่งจะทราบได้ว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดเท่าไหร่ และมีโอกาสในการเกิดสึนามิได้หรือไม่ และหากเกิดภัยพิบัติสึนามิขึ้น จะสามารถระบุแนวชายฝั่งที่น่าจะถูกคลื่นสึนามิซัดเข้าชายฝั่งได้ดีกว่า และประกาศเตือนภัยได้ทัน แต่สำหรับภูเขาไฟที่ปะทุใต้น้ำแล้วก่อให้เกิด สึนามิ นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นน้อย ไม่ได้เกิดบ่อย ทำให้การประเมินเตือนภัยสึนามิทำได้ยากและล่าช้ากว่าเพราะยังขาดข้อมูลแบบจำลองในการคาดการณ์ผลกระทบ ส่วนลักษณะของลาวาใต้ทะเล จะเหมือนกันกับภูเขาไฟระเบิดบนบก และจะมีแผ่นดินไหวขนาดเล็กร่วมด้วย และการไหลออกมาใหม่ของลาวาและการประทุที่เกิดขึ้นอย่างรุนแรงน่าจะส่งผลให้ภูมิทัศน์โดยรอบเปลี่ยนไป ล่าสุดมีรายงานจากภาพถ่ายดาวเทียมคาดว่าบางส่วนของเกาะ ‘ฮุงกา ตองกา–ฮุงกา ฮาอาปาย’ ที่ตั้งของภูเขาไฟหายไป รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมบริเวณใกล้เคียงด้วย เช่น ภูเขาไฟมีการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และไนโตรเจนออกไซด์ เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำและออกซิเจน จะเกิดเป็นฝนกรด การกัดเซาะชายฝั่ง แนวปะการังที่ถูกทำลาย เป็นต้น

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ

จากจุดเกิดเหตุ บริเวณที่คาดว่าน่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประเทศตองกา ซึ่งอยู่ห่างประมาณ 60 กิโลเมตร อาจจะถูกปกคลุมด้วยเถ้าลาวา ทำให้การสื่อสารกับโลกภายนอกเป็นไปด้วยความยากลำบาก ส่งผลให้การช่วยเหลือจากต่างชาติเป็นไปอย่างล่าช้า แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์ครั้งนี้แล้ว หลายประเทศเริ่มมีการยกเลิกการยกระดับการเตือนที่จะเกิดสึนามิออกแล้ว และอยู่ระหว่างการเฝ้าระวัง แต่ยังไม่สามารถทราบได้แน่ชัดว่า จะเกิดเหตุการณ์อย่างไรต่อไป คาดว่าการประทุของภูเขาไฟคงมีต่อเนื่องไปอีกสักช่วงเวลาหนึ่ง แต่คงไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าจะรุนแรงกว่าเดิมหรือไม่

รศ.ดร. ธีรพันธ์ อรธรรมรัตน์ กล่าวสรุปท้ายว่า หากเปรียบเทียบกับสึนามิที่เกิดขึ้นในมหาสมุทรอันดามันในปี 2547 ที่ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศไทยโดยครั้งนั้นมีสาเหตุจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใต้ทะเล หากเกิดขึ้นในปัจจุบันการส่งสัญญาณเตือนภัยเราสามารถทำได้ดีขึ้นกว่าเดิมแน่นอน แต่สำหรับสึนามิที่เกิดจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดครั้งนี้ ทำให้การออกคำเตือนได้ยากกว่า ส่วนความสูงของคลื่นสึนามิจากภูเขาไฟใต้ทะเลระเบิดตองกามีระดับต่ำว่าคลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ใต้ทะเล ในอนาคตนานาประเทศควรจะศึกษาและทำฐานข้อมูลภูเขาไฟใต้ทะเลมากยิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ลดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ
พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ
เถ้าถ่านจากภูเขาไฟใต้ทะเลพ่นปกคลุมเมืองและชายฝั่งในตองก้า

พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดแผ่นดินไหว ภูเขาไฟปะทุ สึนามิ

Tagsตองกาภูเขาไฟใต้ทะเลสึนามิ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คาดไทยเจอภาวะ 'ลองโควิด' หลายแสนคน บี้รัฐเร่งให้ความรู้ประชาชน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 358,062 คน ตายเพิ่ม 859 คน รวมแล้วติดไป 610,172,672 คน เสียชีวิตรวม 6,503,423 คน

ผู้ว่าฯ เผยคนภูเก็ตตื่นคำ 'นิโคบาร์' สั่งเตรียมพร้อมรับมือสึนามิ!

ผู้ว่าฯ ภูเก็ตสั่งเตรียมพร้อมรับภัยสึนามิ หลังชาวภูเก็ตผวาคำว่า 'นิโคบาร์-แผ่นดินไหวในทะเล' ปภ.ภูเก็ต เผย เตรียมฝึกซ้อมอพยพหนีภัย 20 ก.ค.นี้

แผ่นดินไหวขนาด 6.3 เขย่าชายฝั่งไต้หวัน

ญี่ปุ่น ยกเลิกเตือนภัยสึนามิในพื้นที่ 2 จังหวัดแล้ว หลังเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 7.3

เพจเฟซบุ๊ก สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ประกาศเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2565 เวลาประมาณ 05.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นได้ประกาศยกเลิกการเตือนให้ระวังคลื่นสึนามิในพื้นที่ จ.ฟุคุชิมะและมิยากิแล้ว

เกิดแผ่นดินไหวขนาด 6.2 นอกชายฝั่งตองกา

สำนักสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐตรวจพบแผ่นดินไหวขนาด 6.2 นอกชายฝั่งของตองกาเมื่อเวลา 13.40 น.วันพฤหัสบดีของไทย ยังไม่มีรายงานความเสียหาย

ตองกาเผยสึนามิสูง 15 เมตรกวาดหายทั้งหมู่บ้าน

รัฐบาลตองกาออกแถลงการณ์เป็นครั้งแรกนับแต่เกิดภัย "พิบัติที่ไม่เคยพบพานมาก่อน" เผยภูเขาไฟปะทุเมื่อวันเสาร์ก่อคลื่นยักษ์สูง 15 เมตรกวาดกลืนหายทั้งหมู่บ้าน ประชากรทั้งประเทศได้รับผลกระทบ