การนําแนวคิดของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ระดับชุมชน

เศรษฐกิจพอเพียงกับทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ

      เศรษฐกิจพอเพียงและแนวทางปฏิบัติของ ทฤษฎีใหม่ เป็นแนวทางในการพัฒนาที่นำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเอง ในระดับต่าง ๆ อย่างเป็นขั้นตอน โดยลดความเสี่ยงเกี่ยวกับความผันแปรของธรรมชาติ หรือการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ โดยอาศัยความพอประมาณและความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี มีความรู้ ความเพียรและความอดทน สติและปัญญา การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และความสามัคคี

     เศรษฐกิจพอเพียงมีความหมายกว้างกว่าทฤษฎีใหม่โดยที่เศรษฐกิจพอเพียงเป็นกรอบแนวคิดที่ชี้บอกหลักการและแนวทางปฏิบัติของทฤษฎีใหม่ในขณะที่ แนวพระราชดำริเกี่ยวกับทฤษฎีใหม่หรือเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาภาคเกษตรอย่างเป็นขั้นตอนนั้น เป็นตัวอย่างการใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียงในทางปฏิบัติ ที่เป็นรูปธรรมเฉพาะในพื้นที่ที่เหมาะสม

     ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ อาจเปรียบเทียบกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งมีอยู่ 2 แบบ คือ แบบพื้นฐานกับแบบก้าวหน้า ได้ดั้งนี้

     ความพอเพียงในระดับบุคคลและครอบครัวโดยเฉพาะเกษตรกร เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบพื้นฐาน เทียบได้กับทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ที่มุ่งแก้ปัญหาของเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลแหล่งน้ำ ต้องพึ่งน้ำฝนและประสบความเสี่ยงจากการที่น้ำไม่พอเพียง แม้กระทั่งสำหรับการปลูกข้าวเพื่อบริโภค และมีข้อสมมติว่า มีที่ดินพอเพียงในการขุดบ่อเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าวจากการแก้ปัญหาความเสี่ยงเรื่องน้ำ จะทำให้เกษตรกรสามารถมีข้าวเพื่อการบริโภคยังชีพในระดับหนึ่งได้ และใช้ที่ดินส่วนอื่น ๆ สนองความต้องการพื้นฐานของครอบครัว รวมทั้งขายในส่วนที่เหลือเพื่อมีรายได้ที่จะใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ไม่สามารถผลิตเองได้ ทั้งหมดนี้เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันในตัวให้เกิดขึ้นในระดับครอบครัว

     อย่างไรก็ตาม แม้กระทั่ง ในทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 1 ก็จำเป็นที่เกษตรกรจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนราชการ มูลนิธิ และภาคเอกชน ตามความเหมาะสม

    ความพอเพียงในระดับชุมชนและระดับองค์กรเป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 2 เป็นเรื่องของการสนับสนุนให้เกษตรกรรวมพลังกันในรูปกลุ่มหรือสหกรณ์ หรือการที่ธุรกิจต่าง ๆ รวมตัวกันในลักษณะเครือข่ายวิสาหกิจ

     กล่าวคือ เมื่อสมาชิกในแต่ละครอบครัวหรือองค์กรต่าง ๆ มีความพอเพียงขั้นพื้นฐานเป็นเบื้องต้นแล้วก็จะรวมกลุ่มกันเพื่อร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้แก่กลุ่มและส่วนรวมบนพื้นฐานของการไม่เบียดเบียนกัน การแบ่งปันช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามกำลังและความสามารถของตนซึ่งจะสามารถทำให้ ชุมชนโดยรวมหรือเครือข่ายวิสาหกิจนั้น ๆ เกิดความพอเพียงในวิถีปฏิบัติอย่างแท้จริง

     ความพอเพียงในระดับประเทศ เป็นเศรษฐกิจพอเพียงแบบก้าวหน้า ซึ่งครอบคลุมทฤษฎีใหม่ขั้นที่ 3 ซึ่งส่งเสริมให้ชุมชนหรือเครือข่ายวิสาหกิจสร้างความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ในประเทศ เช่น บริษัทขนาดใหญ่ ธนาคาร สถาบันวิจัย เป็นต้น

     การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในลักษณะเช่นนี้จะเป็นประโยชน์ในการสืบทอดภูมิปัญญา แลกเปลี่ยนความรู้ เทคโนโลยี และบทเรียนจากการพัฒนา หรือร่วมมือกันพัฒนา ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ประเทศอันเป็นสังคมใหญ่อันประกอบด้วยชุมชน องค์กร และธุรกิจต่าง ๆ ที่ดำเนินชีวิตอย่างพอเพียงกลายเป็นเครือข่ายชุมชนพอเพียงที่เชื่อมโยงกันด้วยหลัก ไม่เบียดเบียน แบ่งปัน และช่วยเหลือซึ่งกันและกันได้ในที่สุด

" … ขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะให้เมืองไทยพออยู่พอกิน
มีความสงบและทำงานตั้งอธิษฐาน ตั้งปณิธาน
ในทางนี้ ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพอกิน
ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่มีความความพออยู่พอกิน มีความสงบ
เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้
เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ …
ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้มีความคิดและมีอิทธิพล
มีพลังที่จะทำให้ผู้อื่น ซึ่งมีความคิดเหมือนกัน
ช่วยกันรักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำพอควร
พออยู่พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่งคุณสมบัตินี้จากเราไปได้
ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวรที่จะมีคุณค่าอยู่ตลอดกาล "

พระราชดำรัสเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนพรรษา 23 ธันวาคม 2542

ความหมายและความเป็นมาของเศรษฐกิจพอเพียง

      เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy) หมายถึง  การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยยึดหลักความพอดี  พอประมาณ  ซื่อตรง  ไม่โลภมาก  และไม่เบียดเบียนผู้อื่น  ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางหลักคำสอนในพระพุทธศาสนา

เศรษฐกิจพอเพียง  (Sufficiency  Economy)

            เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงมีพระราชดำริชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย  โดยมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม  ซึ่งมักจะประสบปัญหาความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ  ฝนตกไม่สม่ำเสมอ   เกิดภาวะแห้งแล้งทั่วไป  ทำให้การทำเกษตรกรรมไม่ได้ผลผลิตดีเท่าที่ควร  พระองค์จึงมีพระราชดำริที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และยกระดับพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรในภาคเกษตรกรรมให้เกิดความพออยู่พอกินและสามารถพึ่งพาตนเองได้

            พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชวินิจฉัย  ค้นคว้า  สำรวจ  รวบรวมข้อมูล  แล้วทำการทดสอบเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำ  ที่ดิน  พันธุ์พืช  เพื่อให้เกษตรกรสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในพื้นที่ของตนเอง   โดยตั้งเป็น  “ทฤษฎีใหม่”  ใช้หลักการบริหารจัดการที่ดินและน้ำเพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประโยชน์สูงสุด  อันเป็นการพัฒนาการเกษตรแบบพึ่งพาตนเอง  โดยการผสมผสานกิจกรรมพืช  สัตว์  และประมง ให้เกิดการพัฒนาแบบยั่งยืน  โดยทำการเกษตรในลักษณะเศรษฐกิจพอเพียง  เพื่อให้เกิดความ  “พออยู่พอกิน”  พระองค์จึงนำทฤษฎีดังกล่าวไปทดลองที่วัดมงคลชัยพัฒนา  ตำบลห้วยบง  และตำบลเขาดินพัฒนา  อำเภอเฉลิมพระเกียรติ  จังหวัดสระบุรี  ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี

            ต่อมาในช่วง พ.ศ. 2540  ประเทศไทยได้ประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ  เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรง  ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน  ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ประกอบอาชีพในภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม  ผู้ประกอบการหลายแห่งได้ปิดกิจการลง  ทำให้ประชาชนตกงานเป็นจำนวนมาก  ก่อให้เกิดปัญหาการว่างงานอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงได้ทรงพระราชทานพระราชดำริ เรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางใหม่ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา  โดยนำหลักการและวิธีการที่ใช้ในภาคเกษตรกรรมมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการและดำเนินชีวิตของประชาชนชาวไทยให้รู้จักการดำเนินชีวิตอยู่อย่างพอประมาณ เดินทางสายกลาง  มีความพอดี และพอเพียงกับตนเอง  ดำรงชีวิตแบบพออยู่พอกินและสามารถพึ่งตนเองได้

หลักการเศรษฐกิจพอเพียง

            ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท  โดยคำนึงถึงความพอประมาณ  ความมีเหตุผล  การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรม  ประกอบการวางแผน  การตัดสินใจ  โดยมีหลักพิจารณาอยู่ 5  ส่วน  ดังนี้

             1. กรอบแนวคิด เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น  โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิตดั้งเดิมของสังคมไทย  สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลา  และเป็นการมองโลกเชิงระบบที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา  มุ่งเน้นการรอดพ้นจากและวิกฤต  เพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา

            2. คุณลักษณะ  เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกระดับ  โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลาง  และการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน

           3. คำนิยาม ความพอเพียงจะต้องประกอบด้วย 3  คุณลักษณะพร้อม ๆ กัน  ดังนี้

                       3.1  ความพอประมาณ  หมายถึง  ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น  เช่น  การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ

                     3.2  ความมีเหตุผล  หมายถึง  การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล  โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง  ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ

                    3.3  การมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี  หมายถึง  การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น  โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

            4.  เงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน  กล่าวคือ

                            4.1  เงื่อนไขความรู้   ประกอบด้วย  ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน  ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกัน  เพื่อประกอบการวางแผน และความระมัดระวังในขั้นปฏิบัติ

                              4.2  เงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย มีความตระหนักในคุณธรรม  มีความซื้อสัตย์สุจริต  และมีความอดทน  มีความเพียร  ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต  ไม่โลภและไม่ตระหนี่

              5.  แนวทางปฏิบัติ/ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการนำปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้  คือ  การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน  พร้อมรับต้องการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน  ทั้งด้าน เศรษฐกิจ  สังคม  สิ่งแวดล้อม  ความรู้และเทคโนโลยี ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ  เพราะจะทำให้เกิดผลดีต่อประชาชน  ชุมชน  และสังคมประเทศชาติ  ดังนี้

                          1.  ความสำคัญของครอบครัวสมาชิกในครอบครัวดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข  เพราะปฏิบัติตามหลักพออยู่พอกิน  พอใช้  ส่งผลให้ไม่ยากจน  ไม่มีหนี้สิน  มีเงินออม  และพึ่งตนเองได้

                         2.  ความสำคัญต่อชุมชนมีการรวมกลุ่มสร้างงานและอาชีพและนำทรัพยากรของชุมชนมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ  เกิดความสามัคคีในหมู่คณะ  สมาชิกในชุมชนร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

                          3.  ความสำคัญต่อสังคมประเทศชาติทำให้สังคมเข้มแข็ง  ผู้คนมีอาชีพที่และรายได้ที่มั่นคง  สมาชิกในสังคมร่วมกันสืบทอดภูมิปัญญาและพัฒนาเศรษฐกิจตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง

ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กับการประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

            เศรษฐกิจพอเพียงสามารถประยุกต์ใช้ได้ทุกระดับ  ทุกสาขา  ทุกภาคของเศรษฐกิจ  ไม่จำเป็นจะต้องจำกัดเฉพาะแต่ภาคเกษตร หรือภาคชนบท  แม้แต่ภาคการเงิน  ภาคอสังหาริมทรัพย์และการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ  โดยมีหลักการที่คล้ายคลึงกันคือ  เน้นการปฏิบัติอย่างพอเพียง  มีเหตุมีผล  และสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเองและสังคม

1.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคเกษตรกรรม

            เมื่อปี  พ.ศ. 2538  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานแนวคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้เกษตรกรนำไปปฏิบัติเพื่อยกฐานะและชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น  เรียกว่า  การเกษตรทฤษฎีใหม่  หรือ  ทฤษฎีใหม่  ซึ่งมีหลักปฏิบัติ  3  ขั้น  ดังนี้

        ขั้นที่  1  ผลิตอาหารเพื่อบริโภค

            แนวพระราชดำริทฤษฎีใหม่  เน้นให้เกษตรกรสร้างความมั่นคงทางอาหารแก่ครอบครัวตนเองก่อน  โดยทำนาข้าวเพื่อเก็บไว้กินตลอดปี  เหลือจากการบริโภคจึงขาย โปรดเกล้าฯ ให้ทดลองทฤษฎีใหม่ในที่ดินส่วนพระองค์  ณ  วัดมงคลชัยพัฒนา  อำเภอเมือง จังหวัดสระบุรี  จำนวน 15  ไร่  โดยแบ่งพื้นที่เป็น  4  ส่วนตามอัตราส่วน  30 : 30 : 30 : 10  เน้นการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ  ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจของการเกษตรทฤษฎีใหม่  ดังนี้

                        ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ขุดสระน้ำไว้ใช้สอยและเลี้ยงปลา

                        ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ทำนาข้าว

                        ร้อยละ  30  ของพื้นที่        ปลูกไม้ยืนต้น  พืชไร่  พืชสวนครัว

                        ร้อยละ  10  ของพื้นที่        ปลูกบ้าน  โรงนาเก็บอุปกรณ์ โรงเลี้ยงสัตว์

            ขั้นที่  2 รวมตัวจัดตั้งกลุ่ม  ชมรมหรือสหกรณ์

            เกษตรกรจะพัฒนาไปสู่ระดับพออยู่พอกินพอใช้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  มีรายได้จากผลผลิตเพิ่มมากขึ้น  โดยร่วมมือจัดตั้งเป็นกลุ่ม  ชมรม  หรือ สหกรณ์  ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจร่วมกัน  ดังนี้

                    (1)  ด้านการผลิต  มีการรวมตัวจัดตั้งเป็นกลุ่มแม่บ้าน  ชมรม  หรือสหกรณ์  ผลิตสินค้าหรือบริการของชุมชนเพื่อหารายได้ช่วยเหลือครอบครัวอีกทางหนึ่ง  เช่น  งานหัตถกรรม

                    (2)  ด้านการตลาด  ร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองในการจำหน่ายผลผลิตให้ได้ราคาดี  ไม่พึ่งพ่อค้าคนกลาง

                    (3)  ด้านสวัสดิการและชีวิตความเป็นอยู่   มีการจัดตั้งกองทุนให้สมาชิกกู้เงินยามฉุกเฉิน  เพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกันยามเจ็บไข้ได้ป่วย  เกิดอุบัติเหตุ  หรือประสบภัยธรรมชาติต่าง ๆ

          ขั้นที่  3  ร่วมมือกับองค์กรหรือภาคเอกชนภายนอกชุมชน

            เป็นขั้นพัฒนากลุ่ม  ชมรม  หรือสหกรณ์ให้ก้าวหน้า  โดยกู้เงินจากแหล่งเงินทุนภายนอกชุมชนมาลงทุนขยายกิจการ  เช่น  ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร  (ธกส.)  บริษัทน้ำมัน  ฯลฯ  หรือขอความช่วยเหลือด้านวิชาการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน

            เป้าหมายของขั้นที่  3  คือ  พัฒนากิจการสหกรณ์  จัดตั้งและบริหารโรงสีข้าวของชุมชน  ปั๊มน้ำมันของชุมชนให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น  พัฒนาคุณภาพของเกษตรกรให้อยู่ดีกินดี  จำหน่ายผลผลิตได้ราคาสูง  ไม่ถูกกดราคา  ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์การเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคต่าง ๆ ในราคาถูก  เป็นต้น

            ทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  จะเกิดประโยชน์ต่อเกษตรกรผู้นำไปปฏิบัติ  ดังนี้

            (1) การพึ่งตนเอง ทฤษฎีใหม่เน้นให้เกษตรกรผลิตพืชผลข้าวปลาอาหารให้มีเพียงพอสำหรับใช้บริโภค ภายในครอบครัวก่อน  ส่วนที่เหลือจึงนำไปขายในตลาดเป็นรายได้ของครอบครัว  เกษตรกรรู้จักพึ่งตนเองและเลี้ยงครอบครัวได้  มีอาหารกินตลอดปี  และไม่มีภาระหนี้สิน

            (2)  ชุมชนเข้มแข็ง ทฤษฎีใหม่เน้นการรวมกลุ่มของเกษตรกร  เพื่อร่วมมือกันทำงานเพื่อเพิ่มพูนรายได้  เช่น  แปรรูปผลผลิตเป็นอาหารสำเร็จรูป  การทำสินค้าหัตถศิลป์ ฯลฯ  ช่วยให้ครอบครัวเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น  เป็นผลให้เศรษฐกิจของชุมชนเข้มแข็งตามมา

           (3)  ความสามัคคี ทฤษฎีใหม่เน้นความสามัคคีในหมู่คณะ  สนับสนุนให้เกษตรกรในท้องถิ่นช่วยเหลือและร่วมมือซึ่งกันและกัน  ทั้งในด้านอาชีพ  ถ่ายทอดความรู้  และพัฒนาความเจริญให้ท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ เช่น  อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม   สืบสานภูมิปัญญา และวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่น  เป็นต้น

2.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในภาคอุตสาหกรรมการค้า  และการบริการ

            หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับธุรกิจเอกชน  ทั้ง     ภาคอุตสาหกรรม  การค้า  และการบริการ  ดังนี้

1)  ความพอประมาณ  ผู้ประกอบการควรยึดแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

                (1)  พอประมาณในการผลิต   ไม่ผลิตสินค้ามากเกินความต้องการของผู้บริโภคจนเหลือล้นตลาด  ถือเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน  และทรัพยากรในการผลิต

                (2)  พอประมาณในผลกำไร  ไม่ค้ากำไรเกินควรจนผู้บริโภคเดือดร้อน  ไม่กดราคารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร  มีการแบ่งปันผลกำไรส่วนหนึ่งไปพัฒนาคุณภาพฝีมือแรงงานและองค์กรของตน  รวมทั้งคืนกำไรสู่สังคม  โดยตอบแทนช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ

2)  ความมีเหตุผล  แนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

                (1)  มีเหตุผลในการพัฒนาองค์กร  โดยให้ความสำคัญต่อการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรในองค์กร ทั้งพนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงาน  ตัดทอนรายจ่ายที่ไม่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาคุณภาพสินค้า และเพิ่มปริมาณผลผลิต  เป็นต้น

                (2)  มีเหตุผลในการจัดสวัสดิการให้พนักงาน  ลูกจ้าง  และผู้ใช้แรงงานอย่า

3)  การมีภูมิคุ้มกันที่ดี  ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญและนำไปปฏิบัติ  ดังนี้

                (1)  ติดตามข่าวสาร  และสถานการณ์ต่าง ๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งอาจมีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของตน  เช่น  ความผันผวนทางเศรษฐกิจ  การเมือง  และความเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติ  เป็นต้น  เพื่อให้สามารถตัดสินใจบริหารองค์กรธุรกิจของตนได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและลดความเสี่ยงให้เหลือน้อยที่สุด

                (2)  การกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อดำเนินธุรกิจหรือขยายกิจการ ต้องดูตามกำลัง  ฐานะของตน  ไม่ทำ อะไรเกินตัว มิฉะนั้นอาจเกิดความเสียหายได้

                (3)  มีเงินออมหรือเงินเก็บเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียน  โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กซึ่งต้องพึ่งตนเองให้มากที่สุด  ควรจัดสรรผลกำไรส่วนหนึ่งเป็นเงินออมเพื่อให้มีใช้จ่ายเป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการ

4)  เงื่อนไขความรู้คู่คุณธรรม  มีแนวทางปฏิบัติ  ดังนี้

                (1)  ดำเนินธุรกิจภายใต้คุณธรรม  เช่น  ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค  รักการให้บริการแก่ลูกค้า  และเอาใจใส่พนักงาน  โดยจัดอบรมด้านคุณธรรมเป็นระยะ ๆ

                (2)  มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อม  ไม่ทำให้เกิดปัญหามลพิษในแหล่งน้ำ  ดิน  อากาศ  ฯลฯ  และมีส่วนร่วมกับชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม  เช่น   สนับสนุนกิจกรรมลดภาวะโลกร้อนกับโรงเรียนในชุมชน

3.  การประยุกต์ใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสำหรับนักเรียนและประชาชนทั่วไป

          นักเรียนและประชาชนทั่วไปควรยึดหลักปฏิบัติตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว  ดังนี้

                (1)  พึ่งตนเองมีจิตสำนึกที่ดีในการใช้จ่ายเงิน  รู้จักประหยัด  ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ไม่ฟุ้งเฟ้อหรือใช้จ่ายฟุ่มเฟือย  ไม่หลงใหลกับวัฒนธรรมบริโภคนิยมทางวัตถุ  และมีวินัยในการ   ออมเงิน  เป็นต้น

                (2)  ขยันหมั่นเพียรในการประกอบอาชีพสุจริตเพื่อเพิ่มพูนรายได้ให้ตนเองและครอบครัว  หรือรู้จักหารายได้ระหว่างเรียนเพื่อแบ่งเบาภาระของผู้ปกครอง

                (3)  ใฝ่ศึกษาหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอเพื่อพัฒนาทักษะ  ความสามารถ และประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ  เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและเพียงพอต่อการดำรงชีพ