หลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเมืองอโยธยา

หลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเมืองอโยธยา



        กรุงศรีอยุธยามีชื่อเดิมที่ปรากฏในเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกและตำนานบางเรื่องว่า "กรุงอโยธยา" ซึ่งเป็นการนำชื่อเมืองของพระรามในเรื่องรามเกียรติ์มาใช้ ชื่อกรุงอโยธยาคงจะถูกเปลี่ยนเป็นกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วไปในปัจจุบันนี้ในสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งอยู่ในระยะเวลาตอนปลายของสมัยกรุงศรีอยุธยา อันเป็นสมัยที่หนังสือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เก่าที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้รับการเขียนและคัดลอกกันต่อๆ มา เป็นต้นฉบับตัวเขียนที่เก็บอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ หนังสือพงศาวดารฉบับนี้ก็ได้กล่าวถึงเมืองที่มีชื่อว่า กรุงศรีอยุธยา เอาไว้ด้วย คนรุ่นหลังจึงได้เรียกชื่อนี้กันต่อมาจนถึงปัจจุบัน ความเป็นมาของกรุงศรีอยุธยานั้นปรากฏเป็นเรื่องที่เล่าสืบทอดกันในลักษณะของตำนาน โดยเฉพาะตำนานเรื่องท้าวอู่ทอง จะมีอยู่หลายตำนานและปรากฏในหลายท้องที่ ตำนานท้าวอู่ทองบางเรื่องกล่าวถึงความเกี่ยวข้องกับดินแดนแถบจังหวัดกำแพงเพชร บางเรื่องปรากฏเป็นตำนานของบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางในจังหวัดสุพรรณบุรี เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ เมืองนครศรีธรรมราชก็มีตำนานที่เล่าถึงท้าวอู่ทองกับพระยาศรีธรรมาโศกราช ที่ตกลงรวมดินแดนนครศรีธรรมราชเข้ากับกรุงอโยธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาในหนังสือพระราชพงศาวดาร ตำนานบางเรื่องในหนังสือพงศาวดารเหนือที่รวบรวมจดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงการเป็นเมืองที่มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองที่เก่าแก่ และมีเครือข่ายที่เห็นได้อย่างชัดเจนจากหลักฐานด้านโบราณคดีว่า มีความเกี่ยวข้องกับราชอาณาจักรขอมกัมพูชา         ถ้าไม่คำนึงถึงเรื่องมิติของเวลา ตำนานต่างๆ เกี่ยวกับท้าวอู่ทองและเรื่องในพงศาวดารเหนือสามารถสะท้อนภาพของส่วนต่างๆ ซึ่งประกอบเข้าเป็นกรุงศรีอยุธยาได้ อย่างไรก็ดี เอกสารทางประวัติศาสตร์ที่เป็นพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ที่กล่าวถึงเมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ได้สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเมื่อ พ.ศ.๑๘๙๓ นั้น ได้กล่าวถึงสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีว่าได้ไปครองเมืองลพบุรีอีกทั้งเอกสารที่เป็นจดหมายเหตุของจีนได้เรียกกรุงศรีอยุธยาเมื่อแรกสถาปนาว่า หลอหู ซึ่งเป็นคำเดียวกับที่จีนใช้เรียกเมืองลพบุรีมาก่อนด้วย จึงสันนิษฐานได้ว่า ราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยานั้น มีความสืบเนื่องมาจากเมืองลพบุรีที่เป็นศูนย์อารยธรรมเก่าแก่แห่งที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางมาก่อน และเมื่อได้พิจารณาประกอบกับหลักฐานทางโบราณคดีที่มีการพบที่อยุธยา ได้แก่ เศียรพระพุทธรูปขนาดใหญ่ซึ่งเป็นศิลปะก่อนสมัยอยุธยา ที่วัดธรรมิกราช พระพนัญเชิงซึ่งสร้างก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา พระพุทธรูปทั้งสององค์มีรูปแบบศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะอู่ทองรุ่นแรกที่ได้รับอิทธิพลของศิลปะลพบุรีด้วย ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ชี้อย่างชัดเจนว่า ได้มีการขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาทางใต้บริเวณเกาะเมืองอยุธยา ก่อนที่จะมีการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวง เมื่อพ.ศ. ๑๘๙๓ การขยายตัวของเมืองลพบุรีลงมาที่อยุธยาเมื่อพิจารณาในด้านภูมิศาสตร์เศรษฐกิจก็อาจอธิบายได้ว่า เป็นการขยายที่ตั้งการค้าออกไปใกล้ทะเลเพื่อการค้ากับดินแดนโพ้นทะเล เพราะอยุธยามีลำน้ำเจ้าพระยาซึ่งเรือเดินทะเลใหญ่ในสมัยนั้นสามารถเข้ามาถึงตัวเมืองได้ อีกทั้งที่ตั้งของอยุธยาเป็นที่รวมของแม่น้ำหลายสายคือแม่น้ำลพบุรี แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตั้งของอยุธยาจึงมีลักษณะเป็นชุมทางที่สามารถติดต่อเข้าไปยังแผ่นดินภายในได้หลายทิศทางให้ประโยชน์ในด้านการเป็นแหล่งรวมสินค้าที่ส่งมาจากที่ต่างๆ ได้สะดวก และสามารถเป็นตลาดกลางขนาดใหญ่ในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากับทั้งภายในทวีปและดินแดนโพ้นทะเลได้เป็นอย่างดี การขยายตัวของเมืองลพบุรีมาที่อยุธยานั้นคงจะมีขึ้นตั้งแต่ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘         ด้วยเหตุนี้ การเกิดขึ้นมามีฐานะเป็นศูนย์กลางอำนาจการปกครอง หรือเป็นเมืองหลวงของกรุงศรีอยุธยา จึงไม่เหมือนกับการเกิดขึ้นของเมืองเชียงใหม่และเมืองสุโขทัย เพราะทั้งสองเมืองมีลักษณะของการเป็นบ้านเมืองของผู้นำที่ค่อยๆ รวบรวมบ้านเล็กเมืองน้อยเข้าไว้ด้วยกัน และเติบโตสร้างความเป็นปึกแผ่นของแว่นแคว้นเพิ่มขึ้นๆ จนในที่สุด เมืองซึ่งเป็นที่ประทับของผู้นำของแว่นแคว้นก็ได้กลายเป็นศูนย์กลางของอำนาจการปกครองดินแดนที่รวบรวมเข้ามาได้ ส่วนกรุงศรีอยุธยานั้น เมื่อสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการ ก็เป็นเมืองที่มีพื้นฐานอันเป็นเครือข่ายของเมืองลพบุรีซึ่งเป็นเมืองใหญ่แต่โบราณแล้ว คือ บ้านเมืองในดินแดนภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง บริเวณที่ราบลุ่มน้ำมูลที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมแบบเดียวกันติดต่อไปถึงเมืองพระนครหลวงในกัมพูชา ส่วนเรื่องพระเจ้าอู่ทองในตำนานของเมืองนครศรีธรรมราชได้แสดงให้เห็นว่า เป็นดินแดนที่ได้รับการผนวกเข้ากับอยุธยาก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นเมืองหลวงอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ปรากฏเรื่องราวการรวบรวมดินแดนนครศรีธรรมราชในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาซึ่งเริ่มเล่าเรื่องตั้งแต่เวลาของการสถาปนา แต่กลับปรากฏในบันทึกของชาวยุโรปในสมัยอยุธยาตอนต้นว่า ดินแดนตลอดแหลมมลายูนั้นเป็นของสยาม ซึ่งมีศูนย์กลางเป็นเมืองใหญ่อยู่ที่กรุงศรีอยุธยา         ในพระราชพงศาวดารฉบับที่เขียนในสมัยกรุงศรีอยุธยา มีการกล่าวถึงกษัตริย์องค์ต่อมาหลังจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนากรุงศรีอยุธยาเสด็จสวรรคตว่า มาจากเมืองสุพรรณบุรีด้วยท่าทีที่มีอำนาจแล้วขึ้นเสวยราชสมบัติต่อมาทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราช (ที่ ๑) ได้มีการขยายความในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับที่เขียนในภายหลังว่า กษัตริย์จากสุพรรณบุรีนี้คือ พ่องั่ว ผู้เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แม้ว่าจะเป็นเอกสารที่เขียนขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่เรื่องราวต่อๆมาในพระราชพงศาวดารก็สามารถให้ภาพรวมว่า ในช่วงระยะเวลาแรกแห่งการสถาปนากรุงศรีอยุธยาระหว่าง พ.ศ. ๑๘๙๓ - ๑๙๕๒ นั้น กรุงศรีอยุธยามีกษัตริย์ที่ผลัดกันครองราชบัลลังก์อยู่ ๒ สาย สายหนึ่งคือ สายที่สืบราชตระกูลมาจากสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ผู้สถาปนาเมือง และอีกสายหนึ่งคือราชตระกูลที่มาจากเมืองสุพรรณบุรี การผลัดกันขึ้นสู่ราชบัลลังก์ของทั้ง ๒ ราชตระกูลนั้นเป็นการยึดอำนาจมาจากอีกฝ่ายหนึ่ง ชื่อของเมืองสุพรรณบุรีมีที่มาจากหนังสือพระราชพงศาวดารเช่นเดียวกับชื่อของกรุงศรีอยุธยา เพราะจากเอกสารชั้นต้นที่เป็นศิลาจารึกหรือเรื่องในตำนานบางเรื่องนั้น ชื่อเดิมของเมืองสุพรรณบุรีในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นนั้นคือ เมืองสุพรรณภูมิ ศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงที่เล่าเรื่องราวในสมัยพ่อขุนรามคำแหงก่อนเวลาการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ได้กล่าวถึงชื่อเมืองสุพรรณภูมิรวมอยู่ในกลุ่มเมืองที่อยู่ทางฝั่งตะวันตกของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลาง คือเมืองแพรก (ในจังหวัดชัยนาท) เมืองสุพรรณภูมิเมืองราชบุรี เมืองเพชรบุรี ซึ่งในท้องที่ของเมืองเหล่านี้ล้วนมีโบราณสถานที่มีอายุไม่น้อยกว่าเมืองลพบุรีอยู่ด้วย ดังนั้น การที่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาได้ระบุชื่อเมืองสุพรรณภูมิอยู่รวมกับดินแดนของกรุงศรีอยุธยาในลักษณะของเมืองที่มีอำนาจ ที่เจ้าเมืองสามารถเข้ามาสืบราชบัลลังก์กรุงศรีอยุธยาได้ด้วยนั้น แสดงว่านอกจากการเกิดขึ้นของกรุงศรีอยุธยาจะเป็นการสืบอำนาจต่อจากเมืองลพบุรีโดยการสืบราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ แล้ว ยังประกอบด้วยดินแดนของสุพรรณภูมิที่มีกษัตริย์ต่างราชวงศ์ปกครองสืบทอดกันมาอยู่ด้วยอีกส่วนหนึ่ง         ดินแดนของกรุงศรีอยุธยาจึงมีอาณาเขตที่กว้างขวางครอบคลุมพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ของที่ราบลุ่มแม่น้ำภาคกลางทั้งหมด เป็นราชอาณาจักรที่มีอิทธิพลครอบงำตลอดทั้งแหลมมลายูและพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือการวมตัวกันได้ระหว่างดินแดนที่สืบมาจากเมืองลพบุรีเดิมกับดินแดนของสุพรรณภูมินั้นสาเหตุสำคัญน่าจะมาจากการเป็นเครือญาติที่สืบเนื่องมาจากการสมรสกันของราชวงศ์ทั้งสองพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาบางฉบับที่เขียนขึ้นภายหลัง ที่กล่าวว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ หรือขุนหลวงพ่องั่ว เป็นพี่มเหสีของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ นั้น อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดการรวมตัวกันของดินแดนทั้งสองได้ กลายเป็นราชอาณาจักรที่มีความเป็นปึกแผ่นมั่นคงที่ชาวต่างประเทศเรียกว่า ราชอาณาจักรสยาม โดยมีกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีหรือเมืองหลวง

ในช่วงกว่าครึ่งศตวรรษแรกของการสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรนั้น ดังได้กล่าวแล้วว่า การรวมตัวกันระหว่างสองราชวงศ์ คือราชวงศ์ของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ กับราชวงศ์ของสุพรรณภูมิ ยังไม่ราบรื่นนักดังจะเห็นได้จากการแย่งชิงราชสมบัติกันระหว่างทายาทของทั้งสองราชวงศ์ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ สวรรคต ราชสมบัติตกอยู่กับสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ แห่งสุพรรณภูมิ โดยการยินยอมของสมเด็จพระราเมศวรโอรสของสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ ซึ่งกลับไปครองเมืองลพบุรี แต่เมื่อสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จจากลพบุรีเข้าช่วงชิงราชบัลลังก์จากโอรสของสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๑ ภายหลังจากที่สมเด็จพระราเมศวรได้เสด็จสวรรคตแล้ว โอรสของพระองค์คือสมเด็จพระรามราชาธิราช ก็ได้สืบราชสมบัติต่อไปสมเด็จพระราเมศวรและสมเด็จพระรามราชาธิราช เสวยราชสมบัติกรุงศรีอยุธยาสืบทอดต่อเนื่องกันเป็นเวลาประมาณ ๒๑ - ๒๒ ปี คือระหว่าง พ.ศ. ๑๙๓๑ - ๑๙๕๒

        อยุธยาเป็นเมืองหลวงของสยามเป็นเวลากว่า 400 ปี สถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นโดยพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) เมื่อวันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ.1893 และถูกทำลายโดยกองทัพพม่าในสมัยพระเจ้าเอกทัศน์ เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2310 อยุธยามีกษัตริย์ปกครองทั้งหมด 34 พระองค์ จาก 5 ราชวงศ์ (มีราชวงศ์ อู่ทอง สุพรรณบุรี สุโขทัย ปราสาททอง และบ้านพลูหลวง) มีพุทธศาสนาแบบหินยานเป็นศาสนาประจำอาณาจักร แต่ในขณะเดียวกันก็มีความเชื่อด้านวิญญาณและพระพุทธศาสนาแบบมหายานเจือปนอยู่ด้วย สำหรับในสถาบันกษัตริย์ของอยุธยา ก็ยังใช้พิธีกรรมที่เป็นฮินดูและพราหมณ์เป็นการสร้างอำนาจและความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการผสมระหว่างหลัก “ธรรมราชา” และ “เทวราชา”
ภูมิศาสตร์

หลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเมืองอโยธยา


                 อยุธยาเป็นอาณาจักรที่มีความได้เปรียบทางสภาพภูมิศาสตร์ คือตั้งอยู่ที่บริเวณแม่น้ำ 3 สายมาบรรจบกัน มีแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำลพบุรี ทำให้อยุธยามีสภาพเป็นเกาะมีแม่น้ำล้อมรอบ ถนนรอบเกาะยาวประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การทำการเพาะปลูกข้าวและยังอยู่ใกล้ทะเลพอสมควร ทำให้สามารถทำการค้าต่างประเทศได้โดยสะดวก
ก่อนอาณาจักรอยุธยา

หลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเมืองอโยธยา


                 ในช่วงแต่กลางพุทธศตวรรษที่ 18 ถึงปลายพุทธศตวรรษที่ 19 อาณาจักรไทยได้เกิดขึ้นหลายอาณาจักร เช่น สุโขทัย ล้านนา (เชียงใหม่) ล้านช้าง (หลวงพระบาง) แต่อาณาจักรเหล่านี้ยังมีลักษณะเป็น “แว่นแคว้น” หรือ “เมือง” ที่รวมกันขึ้นมาตั้งเป็นอิสระ ยังมิได้มีอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งมีอำนาจหรือมีลักษณะเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
อยุธยาถือกำเนิดขึ้นมาจากการรวมตัวของเมืองสุพรรณบุรีและลพบุรี ทั้งสองเมืองนี้เป็นศูนย์กลางของอำนาจในวงกำจัดในภาคกลางของประเทศไทย สุพรรณบุรีมีอำนาจทางซีกตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเมืองเก่าหลายเมืองรวมอยู่ในกลุ่มนี้ เช่น นครชัยศรี (นครปฐมเดิม), ราชบุรี, เพชรบุรี ส่วนลพบุรีก็มีอำนาจทางซีกตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา
ทั้งสุพรรณบุรีและลพบุรีมีมรดกทางประวัติศาสตร์สืบเนื่องมาจากสมัยทวารวดี และอยู่ภายใต้อิทธพลของขอม (เขมร) จากเมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ (สมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 - สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7)
อาณาจักรอยุธยา

หลักฐานใดที่แสดงให้เห็นถึงร่องรอยเมืองอโยธยา

 

                เมื่อปี พ.ศ. 1893 พระเจ้าอู่ทองได้สถาปนาอยุธยาขึ้น โดยตั้งขึ้นในเมืองเก่า “อโยธยา” ที่มีมาก่อน และเป็นเมืองที่อยู่ระหว่างกลางของสุพรรณบุรีและลพบุรี ประวัติศาสตร์ช่วงแรกของอยุธยา เป็นเรื่องของการแก่งแย่งชิงอำนาจของ 2 ราชวงศ์ คือ ราชวงศ์อู่ทองและราชวงศ์สุพรรณบุรี (อันเป็นฝ่ายของพระเชษฐาหรือพระอนุชาของมเหสีของพระเจ้าอู่ทอง) และจบด้วยชัยชนะของฝ่ายสุพรรณบุรีในสมัยของพระเจ้าอินทราชาธิราชที่ 1 ดังนั้นในครึ่งหนึ่งของประวัติศาสตร์อยุธยา (ก่อนเสียกรุงให้พม่าครั้งที่ 1) ที่มีกษัตริย์จาก 2 ราชวงศ์ รวม 17 พระองศ์นั้น จะมีกษัตริย์จากราชวงศ์อู่ทอง 3 พระองศ์คือ พระรามาธิบดีที่ 1 พระราเมศวร และพระรามรามาธิราช
                ในช่วงแรกของอาณาจักรอยุธยา มีความพยายามที่จะยึดอาณาจักรของขอมที่เมืองพระนครหลวงหรือกรุงศรียโสธรปุระ ซึ่งมีการทำสงคราม 3 ครั้งใหญ่ อันเป็นผลทำให้อาณาจักรขอมอ่อนอำนาจลงและต้องย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่พนมเปญ ในขณะเดียวกันอยุธยาก็พยายามแผ่อำนาจไปทางเหนือ เข้าครอบครองอาณาจักรสุโขทัยได้สำเร็จ ส่วนทางใต้อยุธยาก็ได้เมืองนครศรีธรรมราช
การขยายอำนาจของอยุธยาทำให้เกิดการแย่งชิงอำนาจเหนือเชียงใหม่และอาณาจักรมอญ (ในพม่าตอนล่าง) ความพยายามของอยุธยาที่จะมีอำนาจเหนือเชียงใหม่และมอญนี้ ก็ทำให้มีการขัดแย้งกับพม่าเป็นประจำ อันทำให้อยุธยาถูกทำลายลงในปี พ.ศ.2310 (เสียกรุงครั้งที่ 2)
การปกครอง
                ระบบการปกครองของอยุธยาเป็นระบบ “ราชาธิราชผสมกับศักดินา” กล่าวคือกษัตริย์มีอำนาจสูงสุด แต่ก็ยังมีการแบ่งชนชั้นปกครองเป็น พระมหากษัตริย์-ขุนนาง-พระสงฆ์-ราษฎร ออกเป็นหมวดหมู่อย่างชัดเจน มีการเกณฑ์แรงงาน “ไพร่” และการเก็บอากร “ส่วย” เป็นผลิตผลและตัวเงิน พระเจ้าแผ่นดินทรงผูกขาดการค้ากับต่างประเทศ
การแบ่งชนชั้นของความเป็นเจ้าและขุนนาง มิได้มีการแบ่งตายตัวทั้งนี้เพราะการสืบราชสมบัติ บางครั้งขุนนางก็สามารถขึ้นมายึดอำนาจตั้งราชวงศ์
ใหม่ได้ ดังจะเห็นในกรณีของขุนวรวงศาธิราช หรือในกรณีของราชวงศ์ปราสาททองและราชวงศ์บ้านพลูหลวง
สำหรับราษฎรทั่วไปนั้น ออกแบ่งออกเป็น “ไพร่” โดยต้องมีสังกัดขึ้นกับ “มูลนาย” อย่างแน่นอน มีการแบ่งเป็น “ไพร่หลวง” และ “ไพร่สม” (ไพร่หลวงขึ้นตรงต่อพระเจ้าแผ่นดิน ไพร่สมขึ้นเจ้าหรือขุนนาง) ไพร่ทั้งสองแบบมีหน้าที่ที่จะต้องถูกเกณฑ์แรงงานทำงานให้กับนายของตน และถูกเกณฑ์เป็นทหารเมื่อเวลามีสงคราม นอกจากนี้ยังมี “ไพร่ส่วย” ซึ่งเป็นไร่ที่เอาผลิตผลมาเสียภาษีแทนการเกณฑ์แรงงาน ไพร่แบบนี้จะเป็นราษฎรที่อยู่ห่างไกลออกไปและอยู่ในพื้นที่ที่มีผลิตผลจากป่าหรือจากแผ่นดิน
ตำนาน
                ตำนาน คือหนังสือที่เป็นผลงานทางด้านประวัติศาสตร์ของไทยที่เก่าแก่ที่สุดควบคู่กับ “พงศาวดาร” โดยทั่วไปตำนานแบ่งเป็น 3 ลักษณะ คือ
1.เป็นเรื่องราวของวงศ์ตระกูลหรือตัวบุคคล
2.เป็นเรื่องราวของการสร้างบ้านสร้างเมือง
3.เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาหรือพุทธสถาน
             ดังนั้นตำนานก็เป็นเสมือนผลงานทางประวัติศาสตร์ที่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับบ้านเมืองหรือผู้ปกครองเป็นหลักฐานที่อ้างถึงสิทธิอันชอบธรรมในการเป็นผู้ปกครองที่สืบทอดกันมาโดยบรรพบุรุษ
             ตำนานที่เป็นที่รู้จักกันก็มีเช่น ตำนานมูลศาสนา เขียนเป็นภาษาไทยยวน เนื้อหาของตำนานนี้เป็นเรื่องราวของพุทธศาสนาที่กำเนิดขึ้นในอินเดียและเผยแพร่เข้ามาในประเทศไทย
ตำนานอื่นๆที่มีความสำคัญในลักษณะเดียวกันนี้ก็มี เช่น จามเทวีวงศ์ ชินกาลมาลีปกรณ์ ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช และตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพราหมณ์เมืองนครศรีธรรมราช
พงศาวดาร
             พงศาวดาร คือหนังสือที่เป็นประวัติศาสตร์ไทยที่เก่าแก่ที่สุดควบคู่กับ “ตำนาน” พงศาวดารมาจากคำ 2 คำ คือ พงศ์ และ อวตาร โดยพงศาวดารจะเขียนเป็นภาษาไทย งานเขียนของนักปราชญ์ประจำราชสำนัก พงศาวดารจึงเป็นงานเขียนที่เน้นให้ความสำคัญของพระมหากษัตริย์
             พงศาวดารมักจะพบในงานเขียนของอาณาจักรอยุธยา ซึ่งสะท้องให้เห็นถึงอำนาจของอาณาจักรซึ่งมีลักษณะการรวมอำนาจไว้ที่ศูนย์กลางที่เมืองหลวงและองค์มหากษัตริย์ เช่น พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับหลวงประเสริฐ, พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ, พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับสมเด็จพระนพรัตน์, พระราชพงศาวดารกรุงสยาม ฉบับบริติชมิวเซียม, พงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา