งานชักชวนโฆษณา

บริษัท ไทยเว็บ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
2/152 ซอยเพชรเกษม 114 แขวงหนองค้างพลู เขตหนองแขม จังหวัดกรุงเทพมหานคร 10160
เลขประจำตัวผู้เสียภาษี : 0105553027232
Tel : 02-810-8300 (จ.-ศ.08.30 - 17.30 น.) , 085-8213121 (24 ชม.) Fax : 02-810-8301
Email : (ฝ่ายขาย) (ฝ่ายบริการลูกค้า)

นักการตลาด

ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการวิเคราะห์ เพื่อการวางกลยุทธ์ในการแข่งขันทางการตลาด เพื่อให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เหนือคู่แข่งขันทางการค้า โดยอยู่ในกรอบของจรรยาบรรณและจริยธรรม

ลักษณะของงานที่ทำ

คาดการณ์ สถานการณ์ มองและวิเคราะห์ก่อนการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ขององค์กรและการแข่งขันของคู่แข่งขัน วางกลยุทธ์ แผนการตลาดของสินค้าในระดับชุมชนท้องถิ่น ให้ผสมผสานกับระดับโลกได้ ต้องมีวิสัยทัศน์ในการตลาดศตวรรษที่ 21 และในเวลาเดียวกันก็ต้องหาทางบริการถึงกลุ่มเป้าหมายลูกค้าอย่างทั่วถึง โดยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีที่มีอยู่ช่วยในการส่งข้อมูลข่าวสาร นอกเหนือจากส่วนประสมทาง การตลาด 4 Ps คือ Product Planning, Pricing, Place/Physical Distribution , Promotion and Advertising โดยนำข้อมูลจากทุกหน่วยงานในองค์กร คือฝ่ายวิจัย พัฒนาผลิตภัณฑ์ (R&D) ฝ่ายการเงินและฝ่ายการผลิต มาช่วยในการวางแผนกลยุทธ์การตลาด โดยต้องยึดหลักการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคมากที่สุดเพื่อให้หันมาสนใจซื้อสินค้าหรือร่วมมือด้วย ในการวางสินค้าตัวใหม่ซึ่งควรจะต้องเป็นนวัตกรรมจากวัตถุดิบในประเทศโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยในการลดต้นทุนการผลิต 

นักการตลาดในระดับต้นจะทำงานในตำแหน่งต่างๆ ในฝ่ายการตลาดเพื่อเรียนรู้ถึงภาพตลาดโดยรวมเช่น วางแผนกิจกรรมส่งเสริมการขาย ประชาสัมพันธ์สู่กลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ส่งจดหมายหรือ วารสารการขาย หรือจัดทำไดเร็คเมล์สู่กลุ่มลูกค้าทั้งขายตรงและออกร้านขายในงานเทศกาลต่างๆ จัดนิทรรศการส่งเสริมการแสดงสินค้า ทำการส่งเสริมสินค้าร่วมกับ ผู้ค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า จัดข้อมูลรวบรวมรายชื่อลูกค้า ทำหน้าที่ลูกค้าสัมพันธ์เก็บข้อมูลในตลาดและประสานงานกับฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ก่อนสรุปรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ 

นักการตลาดต้องรู้ว่าปัจจัยอะไรที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า เพื่อจะได้นำข้อมูลเหล่านี้มาวิเคราะห์และช่วยประกอบการวางแผนกลยุทธ์การตลาดให้ดีและรัดกุมยิ่งขึ้น ต้องวิเคราะห์ตลาดเกี่ยวกับความจำเป็นและความต้องการขอผู้บริโภคและพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป 

ปัจจุบันองค์กรธุรกิจต่างๆ ต่างร่วมมือกันเป็นพันธมิตรทางธุรกิจอย่างไม่มีขีดจำกัดระยะทางและเวลาการผลิตและสั่งสินค้าย่นเข้าด้วยความเร็วของอินเทอร์เน็ต ดังนั้น อุปสงค์และอุปทานที่ซับซ้อนของตลาดและผู้บริโภค โดยจะใช้กระบวนการขั้นตอนในการวางแผนการตลาด ดังนี้ 

1. วางแผนการตลาด ทั้งกลยุทธ์ระยะสั้นและระยะยาว 

2. วิเคราะห์และวิจัยหากลุ่มเป้าหมายเพื่อคาดการณ์เกี่ยวกับการผลิตสินค้า กระบวนการผลิต งบประมาณที่ต้องใช้ และผลกำไรที่ควรจะได้ 

3. ปรับแผนงานและเสนอขออนุมัติจากผู้บริหาร 

4. วางแผนกิจกรรมการขายและปฏิบัติตามแผนงานการขายในด้านราคา วิธีการขาย ช่องทาง การขาย และการใช้สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ 

5. บริหารการขายและการสั่งซื้อจากลูกค้า 

6. ควบคุมดูแลการนำแผนกลยุทธ์ไปปฏิบัติ เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมาย ที่ตั้งไว้ 

7. ติดตามประเมินผลจากข้อมูลรายงานประเมินผล ทางคอมพิวเตอร์ 

8. ออกตรวจตลาดเพื่อทำการวิจัย เพื่อพร้อมปรับแผนกลยุทธ์และกลวิธีในการปฏิบัติงานได้ทันท่วงทีและเตรียมการรณรงค์โดยการโฆษณาสินค้าอย่างต่อเนื่อง 

9. วางแผนและทำการเจาะตลาด (Market Penetration) เพื่อเพิ่มยอดขายของผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในตลาดปัจจุบัน หรือชักชวนลูกค้าของคู่แข่งขันให้มาเป็นลูกค้าของตน หรือหาทางให้ผู้ที่ยังไม่ได้เป็นลูกค้ามาทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ของตน

สภาพการจ้างงาน

สำหรับผู้เพิ่งก้าวเข้าสู่อาชีพนักการตลาดจะทำงานอยู่ในส่วนส่งเสริมการตลาดการขาย กิจกรรมส่งเสริมการตลาด ตรวจตลาดเพื่อทำการวิจัย โดยมีค่ายานพาหนะให้ ทั้งนี้แล้วแต่เงื่อนไขสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ มีสวัสดิการให้ตามกฎหมายแรงงาน ส่วนโบนัส และผลประโยชน์อื่นๆ ขึ้นอยู่กับผลประกอบการ สำหรับนักการตลาดที่มีความสามารถในการวิเคราะห์การตลาดและวางแผนการตลาดขององค์กรได้อย่างชำนาญ ค่าตอบแทนจะอยู่ในระดับเดียวกับผู้บริหารระดับสูง

สภาพการทำงาน

การวางแผนการตลาดต้องใช้การออกตรวจตลาดทั่วประเทศ การออกเก็บข้อมูลสำหรับทำการวิจัย การเข้าถึงลูกค้ารายบุคคล และใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารมาผสมผสานกัน ลักษณะการทำงานจะต้องทำงานกันเป็นทีมใหญ่ร่วมกับฝ่ายบัญชี ฝ่ายผลิต ฝ่ายจัดจำหน่าย ฝ่ายขาย ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ปัจจุบันองค์กรมีลักษณะความเป็นนานาชาติมากขึ้นในการวางแผนอาจมีการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษในที่ทำงาน นักวิเคราะห์การตลาดต้องบริหารเวลาเป็นเพื่อติดตามสถานการณ์ทางการตลาดอย่างสม่ำเสมอ อาจต้องทำงานในวันหยุด เพื่อตรวจตลาดและการเจาะตลาดใหม่

คุณสมบัติของผู้ประกอบอาชีพ

1. สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีทางด้านการบริหารธุรกิจ สาขาการตลาด เศรษฐศาสตร์ หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง 

2. มีความสนใจ ในการประเมินสถานการณ์ ทั้งของตนเอง และสถานการณ์ภายนอก 

3. เข้าใจธุรกิจการตลาดและสินค้าในระดับโลก ภูมิภาค และประเทศอย่างถ่องแท้ 

4. เป็นนักสังเกตการสถานการณ์ วิเคราะห์สถานการณ์ ต้องเข้าใจกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ 

5. ต้องรอบรู้ในสินค้าของคู่แข่งขัน 

6. มีความเป็นผู้นำและกล้าตัดสินใจในการ แก้ปัญหา 

7. รู้จักการใช้เทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารการใช้คอมพิวเตอร์ ในการทำงาน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับนักการตลาดรุ่นใหม่ 

8. จัดสรรทรัพยากร บุคลากรให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ 

9. สามารถเดินทางออกตรวจตลาดในต่างจังหวัด และต่างประเทศได้ 

10. ต้องใช้ภาษาอังกฤษได้ดี 

11. กระตือรือร้นมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีประสานงานกับหน่วยงานที่ต้องการ การสนับสนุนแผนการตลาด 

การเตรียมความพร้อมสู่อาชีพ

สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเทียบเท่าตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อเข้าสมัครสอบคัดเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ในคณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด คณะนิเทศศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี หลักสูตรปริญญาตรี ใช้เวลาศึกษาตามปกติ 4 ปี

โอกาสในการมีงานทำ

ปัจจุบันเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการตลาด เจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลและสามารถใช้ทางด่วนข้อมูลข่าวสารได้ จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานอย่างมาก ในยุคของการก้าวเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะขณะนี้การตลาดของโลกส่วนหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่ง ซื้อขายกันอยู่บนอินเตอร์เน็ต ทำให้นักการตลาดต้องวิเคราะห์การตลาดจากข้อมูลการประมวลผลข้อมูลที่ออกมาจากทั้งอินเตอร์เน็ตและคอมพิวเตอร์ของพนักงานขาย (ที่แสดงรหัสของรายการสินค้า ในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และทุกๆ เดือน) ซึ่งพนักงานขายสินค้าจะสั่งสินค้าด้วยระบบเทคโนโลยีอันทันสมัยจากคลังสินค้าที่ใกล้ที่สุดไปส่งให้ลูกค้า ซึ่งอาจอยู่ในบริเวณเดียวกัน หรือข้ามทวีป ดังนั้นต้องคำนึงถึงการให้ข้อมูลของสินค้าให้ผู้บริโภคทราบมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ คุณภาพต้องมาก่อนและราคาต้องย่อมเยาว์ เพราะลูกค้าสามารถทราบข้อมูลต่างๆ เหล่านี้จากโทรศัพท์มือถือพกพา นอกจากนี้ นักวิเคราะห์การตลาดควรจะตระหนักดีว่าการวิเคราะห์วางแผนออกสินค้าตัวใหม่ๆ นั้น จะมีสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคเข้ามาดูแลผลประโยชน์ของผู้บริโภค อีกทั้งกลุ่มองค์กร เอ็นจีโอต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ ที่ตั้งเครือข่ายประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนรายงานข้อมูลในกรณีที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ และเสียประโยชน์จากการซื้อผลิตภัณฑ์ต่างๆ นอกจากนี้ ยังมีเงื่อนไขทางการค้าที่กำหนดโดยองค์การระหว่างประเทศและประเทศคู่ค้า เช่น องค์การการค้าโลก (WTO) และการตัดต่อพันธุกรรมพืช เป็นต้น 

โอกาสความก้าวหน้าในอาชีพ

นักการตลาดในระดับต้นต้องสั่งสมเรียนรู้ประสบการณ์ในหน้าที่ต่างๆ ของแผนกอย่างครบถ้วน ซึ่งต้องรู้และเข้าใจธรรมชาติของตลาดอุปโภคและบริโภค แล้วยังต้องรู้จักธรรมชาติผลิตภัณฑ์สินค้าแต่ละตัว ขององค์กร ต้องมีความคิดในการผลิตสินค้าที่เป็นนวัตกรรม ซึ่งอาจใช้เวลาเรียนรู้ประมาณ 2 - 3 ปี จากนั้นควรเข้ารับการอบรมการทำแผนทางการตลาดและแผนธุรกิจเพื่อให้มีความรู้ ขึ้นเป็นระดับผู้ช่วยผู้จัดการหรือผู้จัดการของแต่ละฝ่าย การเป็นผู้จัดการของทางการตลาดของแผนก หรือเป็นผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดขององค์กรได้ ซึ่งอาจใช้เวลาประมาณ 5 -10 ปี นักการตลาดที่มีความสามารถจะได้รับความก้าวหน้าเป็นกรรมการผู้จัดการในองค์กรธุรกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือหน่วยงานที่มีแม่ข่ายอยู่ในต่างประเทศ

อาชีพที่เกี่ยวเนื่อง

นักประชาสัมพันธ์ พนักงานขาย นักการวิจัยทางการตลาด วิจัยพฤติกรรมผู้บริโภค เจ้าหน้าที่ฝ่าย วางแผนการผลิต ฝ่ายขายโฆษณา ผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ผู้จัดการตราผลิตภัณฑ์

แหล่งข้อมูลอื่น ๆ

หลักสูตรอบรมเพิ่มทักษะทางการตลาดจากสมาคมการตลาดแห่งประเทศไทย เว็บไซต์การหางานต่างๆ และเว็บไซต์หนังสือพิมพ์ การจัดประเภทมาตรฐานอาชีพ (ประเทศไทย)

ตัวอย่างมหาวิทยาลัยและสาขาที่เกี่ยวข้อง

1. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

2. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด

3. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด 

4. มหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด

5. มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาการตลาดระหว่างประเทศ

6. มหาวิทยาลัยทักษิณ คณะเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจ สาขาวิชาบริหารธุรกิจ-การตลาด

7. มหาวิทยาลัยบูรพา คณะการจัดการและการท่องเที่ยว สาขาวิชาการตลาด

8. มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาลัยนานาชาติ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต กลุ่มวิชาบริหารธุรกิจ (การตลาด)

9. มหาวิทยาลัยพะเยา คณะวิทยาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์ สาขาวิชาการตลาด

10. มหาวิทยาลัยแม่โจ้ คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด

11. มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ คณะสังคมศาสตร์ หลักสูตรบริหารธุรกิจบัณฑิต วิชาเอกการตลาด

12. มหาวิทยาลัยศิลปากร คณะวิทยาการจัดการ สาขาวิชาการตลาด

13. มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ สาขาวิชาการตลาด

14. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี คณะบริหารศาสตร์ สาขาการตลาด

15. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ คณะบริหารธุรกิจ วิชาเอกการตลาด 

16. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด

17. มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาลัยนานาชาติ สาขาวิชาการตลาด 

18. มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ คณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิชาการโฆษณา

19. มหาวิทยาลัยรังสิต คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด 

20. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คณะบริหารธุรกิจ สาขาวิชาการตลาด

ที่มา: กองส่งเสริมการมีงานทำ