เพราะเหตุใดการตากเสื้อยืดจึงควรวางพาดบนลาวแทนการตากด้วยไม้แขวนเสื้อ

  • ชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ : ลาวเวียง
  • ชื่อเรียกตนเอง : ลาวเวียง, ลาวกลาง
  • ชื่อที่ผู้อื่นเรียก : ลาวเวียง, ลาวกลาง
  • ภาษาที่ใช้พูดและเขียน : ตระกูลภาษา ไท-กะได, ภาษาพูด ภาษาลาวเวียง
  • มิติทางประวัติศาสตร์ที่มีผลต่อการเรียกชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ :

              ลาวเวียง เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ได้รับการจำแนกอยู่ในกลุ่มชนชาติลาวลุ่ม ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มลาวอื่น ๆ เช่น ลาวครั่ง ลาวพวน และลาวโซ่ง ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ราบต่ำ มีรูปแบบทางเศรษฐกิจในลักษณะพึ่งพาตนเองด้วยวิถีทางการเกษตร เช่น การเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และหัตถกรรม โดยแต่ละชาติพันธุ์จะมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกันออกไป  (จตุพล อังศุเวช, 2555, หน้า 25) โดยคำเรียก ลาวเวียง เป็นเพราะชาวลาวกลุ่มนี้อพยพมาจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คำว่า “ลาว” ไม่ได้แปลว่า คนเฉย ๆ หากแต่หมายความถึง “ชนผู้เป็นนาย” ข้อสังเกตนี้ได้มาจากการพิจารณานามกษัตริย์ของอาณาจักรเงินยาง มีคำว่าลาวนำหน้าทุกพระองค์ เริ่มตั้งแต่ลาวจก ลาวเก้าแก้ว ลาวเลา ลาวตัน เรื่อยลงมาทั้งหมดกว่า 30 ลาว ยุคหลังจึงค่อยเปลี่ยนมาใช้ขุนนำหน้ากษัตริย์ (จิตร ภูมิศักดิ์, 2535, หน้า 386)  

              ลาวเวียง เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่มีการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี มีการโยกย้ายครั้งใหญ่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เหตุครั้งนี้เป็นผลเนื่องจากการก่อกบฏของเจ้าอนุวงศ์ ใน พ.ศ. 2369 เมื่อการต่อสู้สิ้นสุดลงและกรุงเทพฯ ได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงกลับมามากที่สุด เพราะหากให้เวียงจันทน์ตั้งเป็นบ้านเมืองเพื่อช่วยดูแลและเกลี้ยกล่อมหัวเมืองลาวต่าง ๆ ให้สวามิภักดิ์ต่อกรุงเทพฯ นั้น อาจจะไม่มีผู้ที่จะไว้ใจให้ดูแลได้  ทำให้กลุ่มชาวลาวเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เคียงถูกกวาดต้อนส่งลงมาหลายครั้ง จนเกิดเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้น ก่อประโยชน์แก่ส่วนกลางทั้งในด้านการเมืองและเศรษฐกิจ

              ชาวลาวที่ย้ายถิ่นเข้ามาทั้งที่ถูกกวาดต้อนและอพยพ ถูกส่งไปยังเมืองต่าง ๆ ในเขตหัวเมืองชั้นใน ในพื้นที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศเหมือนกับบ้านเกิด โดยอยู่รวมกลุ่มกับชาวลาวที่มาอยู่ก่อน เพื่อง่ายต่อการควบคุมดูแล อีกทั้งหัวเมืองเหล่านี้ยังอยู่ไกลจากแหล่งที่อยู่อาศัยเดิม ทำให้การหลบหนีเป็นไปด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้หัวเมืองชั้นในยังเป็นเมืองหน้าด่าน ดังนั้น เมื่อข้าศึกยกทัพมากลุ่มชนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญในการกั้นไม่ให้ข้าศึกเข้าถึงราชธานีได้อย่างรวดเร็ว  

              พื้นที่หลักที่มีความหนาแน่นของกลุ่มลาวเวียง คือ บริเวณลุ่มน้ำภาคกลาง ได้แก่ ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มน้ำเพชรบุรี โดยกระจายอยู่ในจังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม เพชรบุรีและราชบุรี บริเวณลุ่มน้ำท่าจีน ในจังหวัดสุพรรณบุรี พบชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐานแถบตำบลพิหารแดง อำเภอเมือง บ้านขาม ตำบลพลับพลาชัย บ้านจร้าเก่า ตำบลบ้านโข้ง อำเภออู่ทอง จังหวัดนครปฐม บริเวณวัดคูเวียง ตำบลสัมปทาน อำเภอนครชัยศรี บริเวณลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดราชบุรี พบชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณตำบลเขาแร้ง อำเภอเมือง ตำบลบ้านฆ้อง ตำบลบ้านสิงห์ ตำบลบ้านเลือก ตำบลดอนทราย อำเภอโพธาราม ตำบลกรับใหญ่ ตำบลหนองกบ ตำบลปากแรด ตำบลหนองอ้อ ตำบลท่าผา อำเภอบ้านโป่ง ตำบลจอมบึง ตำบลปากช่อง อำเภอจอมบึง บริเวณลุ่มน้ำเพชรบุรี จังหวัดเพชรบุรี ชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐานบริเวณตำบลสระพัง อำเภอเขาย้อย

              จากการอพยพโยกย้ายและการตั้งถิ่นฐานชัดเจน บนแผ่นดินที่ไม่คุ้นเคย ทำให้ชาวลาวเวียงต้องปรับตัวในระบบการดำเนินชีวิตแบบใหม่ แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความเป็นคนในกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกัน จนสามารถธำรงรักษาวัฒนธรรม ประเพณี บ้านเรือนและภาษาได้อย่างน่าสนใจ

  • อื่น ๆ :

    ตระกูลภาษา

              ภาษาลาวเวียงเป็นภาษาในตระกูลไท-กะได ซึ่งเป็นตระกูลภาษาที่มีความสำคัญมากตระกูลหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้สื่อสารครอบคลุมพื้นที่บริเวณประเทศไทย ลาว เมียนมาร์ แคว้นอัสสัมทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย เวียดนามเหนือ และทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มีการเรียกขานต่างกันไปตามชื่อเผ่าพันธุ์ หรือตามที่ชาติอื่นใช้เรียก เช่น ภาษาชาน (Shan) ในเมียนมาร์ ภาษาไทย (Thai) ในประเทศไทย และภาษาลาว (Laos) ในประเทศลาว ภาษาถิ่นตระกูลไทย ที่ใช้พูดในประเทศไทย นอกจากภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาราชการแล้ว ยังมีภาษาไทยถิ่นอื่นอีกมามาย อันมีกลุ่มที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้แก่ ภาษาลาว (Laos) ที่ใช้กันมากในแถบตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และที่กระจายอยู่ตามจังหวัดต่าง ๆ ในภาคกลางและภาคตะวันออก เช่น จังหวัดลพบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี ชลบุรี และฉะเชิงเทรา เป็นต้น (วรรณา รัตนประเสริฐ, 2528, หน้า 1-2)

    ระบบเสียงและลักษณะภาษาของลาวเวียง เป็นดังนี้        

              - เสียงพยัญชนะมี 20 หน่วย

              - เสียงสระมี 21 หน่วยเสียง

              - เสียงวรรณยุกต์มี 7 หน่วยเสียง

              เมื่อเปรียบเทียบกับภาษาไทยมาตรฐานพบว่า เสียงพยัญชนะ 20 หน่วยเสียง ส่วนมากเป็นเสียงที่ตรงกับภาษาไทย เสียงที่ภาษาไทยกลางแตกต่างจากภาษาลาวเวียงมีอยู่ 3 หน่วยเสียง คือ หน่วยเสียง (ช,ฉ) หน่วยเสียง (ห,ฮ) และหน่วยเสียง (ร) ส่วนหน่วยเสียงที่ภาษาลาวเวียงมีใช้แต่ภาษาไทยกลางไม่มี มีอยู่สองหน่วยเสียง คือ หน่วยเสียง (ญ : ขึ้นจมูก) และเสียง (ห: ขึ้นจมูก) เสียงที่แตกต่างกันในภาษาถิ่นในตระกูลเดียวกัน (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 54)

    การเปรียบเทียบคำลาวเวียงกับคำไทยมาตรฐาน

              ระบบคำของภาษาลาวเวียงมีคำส่วนมากคล้ายกันกับระบบคำในภาษาไทยมาตรฐาน มีที่ต่างกันอยู่ 3 ประเภท คือ คำลงท้าย คำบุรุษสรรพนาม และคำประสม ดังนี้

              คำลงท้ายในภาษาลาวเวียงมีจำนวนน้อยกว่าในภาษาไทยมาตรฐานเพียง 10 คำ ตามการใช้ดังนี้

              คำลงท้ายที่ใช้กับประโยคบอกเล่า มี 6 คำ คือ ซิ นะ เสีย ละ บ้าง เออ ค่ะ ครับ คำลงท้ายที่ใช้กับประโยคปฏิเสธ มี 1 คำ คือ ดอกหรือหรอก คำลงท้ายที่ใช้กับประโยคคำถาม มี 3 คำ คือ ไหม ใช่ไหม ใด การใช้คำลงท้ายในภาษาลาวเวียงส่วนมากไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสังคมและวัฒนธรรมเช่นคำในภาษาไทยมาตรฐาน หากแต่มีเพียงบางคำเท่านั้นที่ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสมแก่บุคคล เช่น ค่ะ/ครับ จะใช้เฉพาะพระเท่านั้น ส่วนคำอื่น ๆ ใช้ได้ทั่วไป

              คำบุรุษสรรพนาม มีจำนวนคำใช้น้อยกว่าคำในภาษาไทยมาตรฐาน ไม่มีคำที่ถือว่าไม่สุภาพ การใช้คำบุรุษสรรพนามต้องคำนึงถึง 3 ประการ คือ ความสนิทสนม ฐานะทางสังคม และความมีอาวุโสมากน้อย  เช่นเดียวกับการใช้คำสรรพนามในภาษาไทยมาตรฐาน แตกต่างกันในการใช้คำที่เป็นคำเดียวกันให้สัมพันธ์กัน 3 ประการ ดังกล่าว เช่น “เรา,ฉัน”  ในภาษาลาวเวียงใช้แทนผู้พูดที่อ่อนอาวุโสกว่า พูดกับผู้ใหญ่ทั้งที่คุ้นเคยและไม่คุ้นเคยและใช้เป็นคำสุภาพ ส่วนคำว่า “เรา” ในภาษาไทยมาตรฐานใช้แทนผู้พูดที่มีอำนาจหรือผู้ใหญ่พูดกับผู้น้อย เป็นต้น

              คำประสมในภาษาลาวเวียง มีคำประสมทั้งที่เหมือนกันและต่างกันกับคำประสมในภาษาไทยมาตรฐาน เปรียบเทียบได้เป็น 3 ประการ คือ

              คำประสมที่ประกอบด้วยคำที่เป็นคำเดียวกันและเรียงคำเหมือนกัน เช่น ข้าวเหนียว

              คำประสมที่ประกอบด้วยคำที่เป็นคำเดียวกันแต่เรียงคำต่างกัน เช่น “ตำส้ม” กับ “ส้มตำ”

              คำประสมที่ประกอบด้วยคำต่างกันและใช้ในความหมายเดียวกัน เช่น “แมงบ่อ” กับ “ลูกน้ำ” (วรรณา รัตนประเสริฐ, 2528, หน้า 173-174)

              ภาษาลาวเวียงที่ยังคงใช้ในปัจจุบันนี้ เช่น ตาเว็น (ดวงอาทิตย์) โซ่น (ตา,ยาย) แข้ว (ฟัน) โถงยาง (ถุงพลาสติก) ผ้าโต่ง (ผ้าถุง) เกิบ (รองเท้า) โส่ง (กางเกง) หางกะเตี่ยว (โจงกระเบน) บักเขียบ (น้อยหน่า) บักสีดา (ฝรั่ง) เข่าแลง (ข้าวเย็น) มื้อสวย (มื้อกลางวัน) ตาหล่าง (ใต้ถุนบ้าน) เบิ่ง (มอง,ดู) เว่า (พูด) เว่าขวน (นินทา) ขี้ดัง (ขี้มูก) ขี้แล่ (รักแร้) แอว (เอว) เหี่ย (เหงื่อ) ขี้หมิ่นหม้อ (ดินหม้อ) กะแหล่ง (ถังตักน้ำ) ฟอย (ไม้กวาด) อู่ (เปล) จี่เจี้ยม (จิ้งจก) มื้อนี้ (วันนี้) มื้ออื่น (วันพรุ่ง) มือฮือ (วันมะรืน) จั่งว่า (เอ ยังไงไม่รู้สินะ) สิไปไส (จะไปไหน) เซาเหนื่อยหรือเซามีแฮง (หยุดพักให้หายเหนื่อย) บ่แม่น (ไม่ใช่) บั้นนึง (เมื่อกี้) เฮ็ดหยัง (ทำอะไร) บักหุ่ง (มะละกอ) บักลอย (บวบ) บักบั้งน้ำ (น้ำเต้า) อีตู่ไทย (ใบกะเพรา) อีตู่ลาว (ใบแมงลัก) สาด (เสื่อ) ขี่สีก (น้ำคลำ) เสี่ย (เสื้อ) ก้องแขน (กำไล) กา (ตรา,ยี่ห้อ) นัว (รสชาติดีพอ) แซ่บ (อร่อย) เส้นแกงร่อน (วุ้นเส้น) หนหวย (รำคาญ) งัว (วัว) ผักขา (ชะอม) ฯลฯ (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 54-55)

    ภาษาพูด                 

              ชาวลาวเวียงใช้ภาษาลาวเวียงพูดสื่อสารกันในครอบครัว ชุมชน และผู้ที่พูดภาษาลาวเวียง แต่ใช้ภาษาไทยกลาง (ไทยมาตรฐาน) ในโรงเรียนและในสถานที่ราชการ ทั้งนี้ไม่พบว่ามีการใช้ภาษาเขียนในการติดต่อสื่อสาร สันนิษฐานว่าเมื่ออพยพมาอยู่ในประเทศไทย ชาวลาวเวียงใช้การสื่อสารด้วยการพูดเป็นหลักจึงไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรหลงเหลืออยู่ (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 54)

     ตัวอักษรที่ใช้เขียน      

              แต่เดิมตัวอักษรลาวได้รับรูปแบบมาจากตัวอักษรสันสกฤต (ตั้งแต่ พ.ศ. 600 เศษ) ต่อมาเมื่อย้ายมาอยู่ในอาณาเขตที่เป็นอาณาจักรลาวจึงได้รับเอาอักษรธรรม ซึ่งเป็นอักษรบาลีหรืออักษรอินเดียอีกประเภทหนึ่งจากมอญและพม่า ผ่านทางล้านนา คือ เชียงใหม่ในสมัยของพระโพธิสารราชเจ้า (ในพ.ศ. 2066) ทำให้อาณาจักรลาวล้านช้างมีอักษรใช้ 2 แบบ คือ ตัวลาวที่ได้มาจากตัวสันสกฤตและตัวธรรมที่ได้ต้นแบบมาจากตัวบาลี สำหรับตัวลาวจะใช้ในราชการบ้านเมือง ส่วนตัวธรรมใช้ในทางพระพุทธศาสนา ทั้งนี้พงศาวดารล้านช้างฉบับดั้งเดิม บันทึกด้วยตัวอักษรลาวหรือที่เรียกกันว่า อักษรไทยน้อย (สิลา วีระวงส์, 2526, หน้า 9)

              มีการค้นพบภาษาเขียนของลาวเวียง จารในสมุดข่อยและใบลานด้วยอักษรไทยน้อย ณ วัดหนองแหน ตำบลหนองแหน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ยังพบอักษรธรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สันนิษฐานว่า เมื่อเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากินในตอนแรก ๆ คงไม่มีผู้รู้หนังสือไทย จนกระทั่งมีวัดเป็นศูนย์รวมชุมชน ผู้มีความรู้ความสามารถในการอ่านเขียนจึงได้จารหนังสือขึ้นด้วยตัวอักษรลาวเวียง เพื่อใช้เทศน์และอ่านให้ฟังในโอกาสต่าง ๆ (วรรณา รัตนประเสริฐ, 2528, หน้า 28)  เอกสารโบราณเหล่านั้นเป็นเรื่องในวรรณคดีที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น มหาชาติ สุทธนู และเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ได้แก่ การฉลองต่าง ๆ เช่น ฉลองศพ ฉลองกฐิน ฉลองดอกไม้ ฉลองบวช ฯลฯ เห็นได้ว่าการศึกษาเรื่องคำในภาษาลาวเวียงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอ่านเอกสารโบราณของลาวเวียงเป็นอย่างยิ่ง (วรรณา รัตนประเสริฐ, 2528, หน้า 3) อย่างไรก็ตาม เมื่อชาวลาวเวียงได้ศึกษาเล่าเรียนในสภาพแวดล้อมที่ใช้อักษรไทยเป็นหลัก จึงทำให้ในปัจจุบันการสื่อสารผ่านการเขียนของชาวลาวเวียงมีเพียงอักษรไทยเท่านั้น

  • เอกสารอ้างอิง :

    เนื้อหาโดย โสภา ศรีสำราญ  นักวิจัยอิสระ

    ปีงบประมาณ 2562 ,  วันที่อัพโหลด ;29 กันยายน 2562 

    เอกสารอ้างอิง 

    • กิตติภัต นันท์ธนะวานิช. (2545). การศึกษามานุษยวิทยาวัฒนธรรมของชุมชนลาวเวียง กรณีศึกษา หมู่บ้านหาดสองแคว ตำบลหาดสองแคว อำเภอตรอน จังหวัดอุตรดิตถ์. นครปฐม: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล.
    • ขจร สุขพานิช. (2513). ถิ่นกำเนิดและแนวอพยพของไทย. กรุงเทพฯ: สยามสมาคม.
    • จตุพล อังศุเวช. (2555). เข้านอก...ออกใน...เรือนไท-ลาว : การปรับตัวของการใช้ที่ว่างภายในเรือนพื้นถิ่นไทยลาว. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด บี.บี. การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์.
    • จารุวรรณ เชาว์นวม. (2542). นิทานเมืองลาว : ลักษณะเด่นและความสัมพันธ์กับสังคม. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • จิตร ภูมิศักดิ์. (2535). ความเป็นมาของคำ สยาม ลาวและขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ. กรุงเทพฯ: ดวงกมล.
    • เจ้าพระยาทิพากรวงศ์. (2506). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
    • ชนิดา ตั้งถาวรสิริกุล. (2541). สื่อสัญลักษณ์ผ้าลาวเวียงจันทน์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • ณัฐพจน์ โพธิ์เจริญ. (2558). การสืบทอดและอนุรักษ์ดนตรีของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง ตำบลดอนคา อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี . มหาสารคาม: มหาวิทยามหาสารคาม.
    • นิตินันท์ พันทวี. (2544). การศึกษาพิธีกรรมท้องถิ่นในฐานะทุนวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนาชุมชน: กรณีศึกษาพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญอีสาน. กรุงเทพฯ: จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย .
    • บังอร ปิยะพันธุ์. (2541). ลาวในกรุงรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย.
    • พรรษา สินสวัสดิ์. (2521). ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ กับหัวเมืองเวียงจันทน์ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (พ.ศ.2367-2370). กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • ภีรนัย โชติกันตะ. (2531). นิยายปรัมปราเรื่องแถน: วิเคราะห์ความเชื่อตามพงศวดารล้านช้าง. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
    • มนตรี ตราโมท. (2524). ดนตรีไทยสมัยอยุธยา ชุมนุมดนตรีไทย. กรุงเทพฯ: สยามการพิมพ์.
    • มานะชัย วงศ์ประชา. (2556). พาขวัญ พานบายศรี. กรุงเทพฯ : บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • รัชฎา สุขแสงสุวรรณ. (2547). ผ้าไทคั่ง ไทเวียง. กรุงเทพฯ: ภูมิปัญญา.
    • วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ. (2559). พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี . กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.
    • วรรณา รัตนประเสริฐ. (2528). คำและลักษณะคำในภาษาลาวเวียงในจังหวัดฉะเชิงเทรา. กรุงเทพฯ: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร.
    • วรรณา วุฒฑะกุล และ ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา. (2536). ผ้าทอกับวิถีชีวิตชาวไทย. กรุงเทพฯ: กรมส่งเสริมวัฒนธรรม.
    • วันดี พินิจวรสิน. (2555). ลาวเวียง. In อ. ป. และคณะ, รายงานสรุปผลการวิจัย ตั้งแต่ พ.ศ. 2552-2555 โครงการวิจัย "การศึกษาแบบองค์รวมของการปรับตัวในบริบทที่ใหญ่ที่แตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ ไท-ลาว ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลางของประเทศไทย" (หน้า 95-135). กรุงเทพฯ: หจก.มาสเตอร์เพรส.
    • วันดี พินิจวรสิน. (2555). สองสถาน...บ้าน-เรือนลาวเวียง. กรุงเทพฯ: อุษาคเนย์.
    • ศรีศักร วัลลิโภดม. (2538). แอ่งอารยธรรมอีสาน แฉหลักฐานโบราณคดีพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
    • ศิราพร ณ ถลาง. (2539). การวิเคราะห์ตำนานสร้างโลกของคนไท. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
    • สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ. (2505). พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ เล่ม 2. กรุงเทพฯ: คลังวิทยา.
    • สัจจา ไกรศรรัตน์. (2555). โครงการศึกษา แนวทางการนำวัฒนธรรม 8 ชาติพันธุ์จังหวัดราชบุรีมาใช้เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว. ราชบุรี: มหาวิทยาลัยราชภัฏหมู่บ้านจอมบึง.
    • สิลา วีระวงส์. (2526). ประวัติหนังสือลาว. เชียงใหม่: สถาบันวิจัยสังคม.
    • สิลา วีระวงส์. (2539). ประวัติศาสตร์ลาว. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน.
    • สุชาวดี โหมกลาง. (2554). การศึกษาแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ปลาร้าจากภูมิปัญญาพื้นบ้านของชุมชนลุ่มน้ำมูลเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงพาณิชย์. มหาสารคาม: มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
    • สุวิทย์ ธีรศาศวัต. (2541). ประวัติศาสตร์ลาว 1779-1975. ขอนแก่น: ภาควิชาประวัติศาสตร์และโบราณคดี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น .
    • อรศิริ ปาณินท์. (2554). การปรับตัวในบริบทใหญ่ที่แตกต่างของกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง. หน้าจั่ว: ว่าด้วยสถาปัตยกรรม การออกแบบ และสภาพแวดล้อม, หน้า 201-223.
    • อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย. (2551). ซ่อนไว้ในสิม ก-อ ในชีวิตอีสาน. ฮ.เฮือน, หน้า 223-231.

ชุดข้อมูล : แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย

ที่มา:

สุวิไล เปรมศรีรัตน์ และคณะ. (2547). แผนที่ภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • บทนำ :

              ลาวเวียง เป็นชื่อเรียกกลุ่มชนที่มีการย้ายถิ่นฐานจากเมืองเวียงจันทน์ เข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น จำแนกได้เป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอพยพเข้ามาเอง  ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กลุ่มที่สองถูกกวาดต้อนเข้ามาในฐานะเชลยศึก กลุ่มหลังนี้ถูกส่งไปอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศ หรืออดีตหัวเมืองชั้นในต่าง ๆ ได้แก่ ลพบุรี สุพรรณบุรี สระบุรี อยุธยา ราชบุรี นครปฐม มีการกำหนดให้อยู่กันเป็นกลุ่มเฉพาะของเชื้อชาติ โดยตั้งสลับไปกับหมู่บ้านของคนไทย ทั้งนี้การเลือกพื้นที่มักให้มีลักษณะใกล้เคียงกับถิ่นฐานเดิม อย่างไรก็ตาม การตั้งถิ่นฐานของชาวลาวเวียงได้ถูกกำหนดให้ตั้งเป็นหลักแหล่งไม่โยกย้ายไปที่อื่น เพื่อประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การปกครอง และที่สำคัญคือป้องกันการหนีกลับ เนื่องจากเมืองเหล่านี้อยู่ไกลจากบ้านเมืองลาว และเป็นหน้าด่านป้องกันข้าศึกจึงมีผลต่อการสร้างความมั่นคงโดยรวมของไทย แต่เมื่อประชากรของชาวลาวเวียงเพิ่มมากขึ้น ที่ทำกินไม่พอเพียง ชาวลาวเวียงจึงจำเป็นต้องขยายชุมชนออกไปในพื้นที่ใกล้เคียง การขยายถิ่นเพื่อแสวงหาที่ทำกินใหม่เพิ่มเติมเริ่มทำได้คล่องตัวในปี พ.ศ. 2417 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงโปรดให้ยกเลิกระบบไพร่ ทำให้ชาวลาวเวียงมีอิสระในการตั้งบ้านเรือนและทำมาหากิน  

              ชาวลาวเวียงตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ภาคกลางมายาวนานกว่า 200 ปี เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใช้ภาษาลาวในการสื่อสารภายในกลุ่มญาติและเพื่อนพ้อง และประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก จนสังคมเกิดการพัฒนาชาวลาวเวียงจึงต้องปรับตัวตามไปด้วย จากอาชีพทำนาผันเปลี่ยนมาเป็นอาชีพรับจ้าง รับราชการ ค้าขาย เกิดการปรับตัวของชาวลาวเวียง แบ่งเป็น

    การปรับตัวเนื่องจากปัจจัยภายใน

              ยังไม่สามารถเห็นได้เด่นชัดนัก เนื่องจากชาวลาวเวียงส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เริ่มกลายเป็นชุมชนเมือง ใกล้ศูนย์กลางความเจริญทางวัฒนธรรมไทยและวัฒนธรรมสากลที่เข้ามามีบบทบาทในสังคม อย่างไรก็ตามลักษณะเด่นของกลุ่มชนคือ การไม่นิยมขยายตัวออกไปห่างไกล พอใจขยายตัวออกไปรอบ ๆ พื้นที่เดิม ส่งผลให้ลักษณะสังคมและกิจกรรมต่าง ๆ ยังคงไว้ได้บางส่วนและมีความพอใจในความเป็นลาวเวียง

    การปรับตัวจากปัจจัยภายนอก

              ประเด็นแรก การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศของลาวเวียงภาคกลาง ส่วนใหญ่เป็นผลจากการพัฒนาของภาครัฐ เพราะอาชีพดั้งเดิม คือ การทำนา ทำไร่ ทำสวน และเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งเกิดการพัฒนาสาธารณูปโภคหลักของรัฐ คือ การตัดถนนเพชรเกษมหรือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 ช่วงประมาณ พ.ศ. 2493 ทำให้ชุมชนลาวเวียงมีบทบาทมากขึ้นทางการค้าขายและการคมนาคม ทางหลวงแผ่นดินกลายเป็นอุปสรรคต่อการทำนาในพื้นที่ที่ถูกถนนตัดผ่าน เพราะส่งผลต่อวัวควายซึ่งเป็นแรงงานหลัก และถนนยังกลายเป็นคันกั้นน้ำขนาดใหญ่กลายเป็นอุปสรรคต่อการทำนา ทำให้การทำนาลดลง แม้ว่าจะมีโครงการจัดการน้ำชลประทานของกรมชลประทานมาเสริมใน พ.ศ. 2517 ก็ยังไม่สามารถกระตุ้นการทำนาให้เกิดขึ้นได้

              ประเด็นต่อมาที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของชาวลาวเวียงในลุ่มน้ำภาคกลาง โดยเฉพาะลาวเวียงในจังหวัดราชบุรี คือ นโยบายการพัฒนาประเทศอุตสาหกรรมใหม่ ในยุคนายกรัฐมนตรีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ (พ.ศ. 2531-2534) โดยเฉพาะในช่วงภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่แตก (พ.ศ. 2532 - 2533) มีนายทุนมากว้านซื้อที่ดินในตำบลล้านเลือกและตำบลใกล้เคียง ราคาที่ดินขยับตัวสูงขึ้น ชาวบ้านส่วนใหญ่จึงเทขายที่ดินให้แก่นายทุน มีเพียงชาวบ้านส่วนน้อยที่ยังเก็บที่นาเอาไว้ ซึ่งที่นาบางส่วนที่เก็บไว้บ้างก็ทิ้งว่าง บ้างก็ให้เช่าทำนา

              เมื่อการทำนาน้อยลง และที่ดินถูกเปลี่ยน อาชีพทางการเกษตรเปลี่ยนแปลงจากการทำนาเป็นการปลูกข้าวโพดพันธุ์พื้นเมือง  และเลี้ยงสัตว์ประเภทโคนม สุกรและไก่ และเกิดอาชีพใหม่คือ รับจ้างทั่วไป นอกจากนี้ยังมีอาชีพรอง คือ รับราชการ เป็นลูกจ้างตามโรงงานอุตสาหกรรม หรือประกอบธุรกิจส่วนตัว

              การพัฒนาอุตสาหกรรมและการสาธารณูโภคเพื่อการคมนาคมขนส่งของภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลเป็นลูกโซ่ต่อระบบนิเวศ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากเกษตรกรเข้าสู่ภาคบริการและการค้า ส่งผลย้อนกลับไปยัง การปรับเปลี่ยนผังขององค์ประกอบผังชุมชน และหมู่บ้านเพื่อสนองความต้องการของกิจกรรมและการใช้สอยใหม่  ดังเช่น พื้นที่บ้านเลือก อำเภอโพธาราม จังหวัดราชบุรี

              เมื่อลักษณะของสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ชาวลาวเวียงส่วนใหญ่เลิกทำนา ทำให้ความเชื่อและพิธีกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรมข้าวจางหายไป ประกอบกับเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมและสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ทำให้ประเพณีบางอย่างแปรเปลี่ยนในขณะที่บางอย่างสูญหายไป เช่น ประเพณีการเกิด การตายแบบดั้งเดิมจากหายไปจนหมดสิ้น แต่ยังมีประเพณีเก่าแก่และยังคงได้รับการสืบทอดอยู่ เช่น บุญข้าวจี่ สงกรานต์ สารทลาว และออกพรรษา ทางด้านภาษาพูดของชาวลาวเวียงในปัจจุบัน มีการสื่อสารกันเฉพาะในครอบครัวและกลุ่มผู้สูงวัย

              ประเด็นที่สาม การเปลี่ยนแปลงของเรือนและสภาพแวดล้อม มีการเปลี่ยนแปลงรูปทรงภายนอกตามกาลเวลา แต่ลักษณะทางสถาปัตยกรรมยังคงสืบทอดต่อกันมา ซึ่งหากนำไปเทียบกับบ้านเรือนในเขตพระนครหลวงเวียงจันทน์ ซึ่งเป็นเขตเมืองที่เจริญมากของ สปป.ลาว เรือนดั้งเดิมสูญหายไปเกือบหมดสิ้น กลายเป็นรูปเรือนสมัยใหม่แบบเรือนบังกะโล พบเพียงที่บ้านหาดทรายฟอง และบ้านดอนนูนที่ทางรัฐบาลลาวเก็บพื้นที่ไว้เป็นการอนุรักษ์เกษตรกรรม ทำให้เรือนพื้นถิ่นที่ยังก่อสร้างด้วยไม้ และท่วงทีของผังเรือนยังคงเค้าโครงของเรือนเวียงจันทน์ดั้งเดิม สำหรับเรือนลาวเวียงในประเทศไทยมีความเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องและแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น โดยพบว่าเรือนที่มีอายุเกิน 100 ปีส่วนใหญ่เป็นหลังคาจั่วแฝด ส่วนเรือนอายุต่ำกว่า 60 ปี พบความหลากหลายในรูปทรงและรายละเอียดของอาคาร ผังเรือนของเรือนเก่าเกิน 100 ปี มีความคล้ายคลึงกับเรือนไทยภาคกลาง ในขณะที่ผังเรือนกลุ่มอายุน้อย แม้มีการปรับเปลี่ยนแต่ยังคงมีการรักษาแบบแผนดั้งเดิมของชุมชน และมีบางองค์ประกอบเช่น หลังคาจั่วแฝดที่มีการลดหลั่นโครงสร้าง ระเบียงคลุมด้วยหลังคาปีกนกเอียงด้านหน้าอาคาร และหิ้งพระซึ่งสอดคล้องกับเรือนพื้นถิ่นในเขตพระนครหลวงเวียงจันทน์ อย่างไรก็บางองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่สืบทอดมาจากเวียงจันทน์มีแนวโน้มว่าจะเลือนหายไปในอนาคต  (อรศิริ ปาณินท์, 2554, หน้า 212-215)     

  • ประวัติ/ที่มาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

    มิติทางประวัติศาสตร์

              สมัยกรุงธนบุรีเป็นราชธานี อาณาจักรลาวแบ่งออกเป็น 3 อาณาจักรใหญ่ไม่ขึ้นแก่กัน ได้แก่ อาณาจักรหลวงพระบาง มีพระเจ้าสุริยวงศ์เป็นผู้ปกครอง อาณาจักรเวียงจันทน์ มีพระเจ้าศิริบุญสารเป็นผู้ปกครอง และอาณาจักรจำปาศักดิ์ มีพระเจ้าไชยกุมารเป็นผู้ปกครอง อาณาเขตของอาณาจักรทั้ง 3 ครอบคลุมทั้งฝั่งซ้ายและขวาของแม่น้ำโขง ในระยะนั้นอาณาจักรพม่ามีกำลังเข้มแข็งและขยายอาณาเขตมาปกครองเหนือเวียงจันทน์ ต่อมาเมื่ออาณาจักรเวียงจันทน์ทำสงครามกับอาณาจักรหลวงพระบางและได้กองกำลังสนับสนุนจากพม่า ทำให้อาณาจักรหลวงพระบางตกอยู่ภายใต้อำนาจของพม่าใน พ.ศ. 2314 ส่วนอาณาจักรจำปาศักดิ์มาขึ้นกับอาณาจักรธนบุรีใน พ.ศ. 2319 เนื่องจากพระยานางรองเจ้าเมืองนางรองที่ขึ้นกับเมืองนครราชสีมาก่อกบฏและไปขอขึ้นกับอาณาจักรจำปาศักดิ์ ทางเมืองนครราชสีมาจึงแจ้งข่าวมายังกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีสั่งให้ยกกองทัพจากหัวเมืองทางเหนือ นำทัพโดยเจ้าพระยาสุรสีห์ และหัวเมืองภาคกลางนำทัพโดยเจ้าพระยาจักรี ยกทัพไปปราบกบฏ เมื่อกองทัพไทยได้รับชัยชนะ เมืองนางรอง เมืองจำปาศักดิ์ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรจำปาศักดิ์ เมืองโขง เมืองอัตปือ ส่วนเขมรป่าดงได้แก่ เมืองสุรินทร์ สังขะ ขุขันธ์ มาขึ้นกับกรุงธนบุรีด้วย

              ต่อมาเกิดปัญหาขึ้นภายในอาณาจักรของลาว เมื่อพระวออุปราชเมืองเวียงจันทน์มีความขัดแย้งกับเจ้าเมืองเวียงจันทน์ จึงออกมาสร้างเมืองใหม่ เจ้าเมืองเวียงจันทน์ส่งกองทัพไปปราบแต่กลับถูกตีแตกพ่าย แต่พระวอไม่ไว้ใจจึงขอความช่วยเหลือจากกองทัพพม่า แต่พม่าเลือกเข้าข้างเจ้าเมืองเวียงจันทน์ กองทัพพระวอพ่ายแพ้จึงหนีไปอาศัยอยู่เมืองจำปาศักดิ์ ต่อมาเกิดวิวาทกับเจ้าเมืองจำปาศักดิ์ จึงพาไพร่พลมาตั้งมั่นอยู่ดอนมดแดง แขวงอุบลราชธานีแล้วส่งบรรณาการมาขอพึ่งเจ้าเมืองธนบุรี เมื่อเจ้าเมืองเวียงจันทน์รู้ถึงการวิวาทระหว่างพระวอและเจ้าเมืองจำปาศักดิ์จึงส่งกองทัพนำโดยพระยาสุโพมาปราบพระวอและประหารชีวิต เนื่องจากขณะนั้นพระวอเปรียบเสมือนคนในอารักขาของกรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงตั้งเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์ยกกองทัพมาทำศึกกับเมืองเวียงจันทน์ใน พ.ศ. 2321 จนได้รับชัยชนะและได้หัวเมืองลาวทั้งหมด   (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 21-23)

              เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรีเข้าเมืองเวียงจันทน์ได้แล้วจึงจับพระราชบุตร พระราชธิดาของพระเจ้าศิริบุญสาร ตลอดจนพระบรมวงศานุวงศ์ เสนาข้าราชการน้อยใหญ่ กวาดเก็บทรัพย์สินข้าวของทั้งหมดที่มีค่าในพระคลังหลวง พร้อมด้วยพระแก้วมรกตและพระบาง รวมถึงครอบครัวลาวเวียงจันทน์ลงมายังกรุงธนบุรี โดยโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรี เมืองราชบุรี ตามหัวเมืองตะวันตกและเมืองจันทบุรี ส่วนเจ้านายเชื้อกษัตริย์โปรดฯ ให้พำนักอยู่ที่บางยี่ขัน  (สิลา วีระวงส์, 2539, หน้า 151)  โดยมีจุดประสงค์ของการกวาดต้อนชาวลาวเวียงเข้ามา ได้แก่

              ประการแรก เมืองจันทน์มีเมืองเล็กเมืองน้อยมาขึ้นด้วยเป็นอันมาก ทำให้เวียงจันทน์มีทรัพยากรที่เอื้ออำนวยต่อการทำศึกสงคราม ทั้งช้างม้าและเสบียงอาหาร แต่เนื่องจากอยู่ไกลจากกรุงธนบุรี และยังมีภัยจากพม่าที่คุกคามเพื่อต้องการหัวเมืองลาว และจากเวียดนามที่ให้การสนับสนุนพระเจ้าศิริบุญสาร ดังนั้น พระเจ้ากรุงธนบุรีจึงมีนโยบายตัดกำลังนครเวียงจันทน์ให้อ่อนแอลง โดยกวาดต้อนครัวลาวเวียงจันทน์มาหลายหมื่นคน เพื่อทำลายการสร้างเสบียงอาหารจากเรือกสวนไร่นา และป้องกันไม่ให้พระเจ้าศิริบุญสารกลับไปยึดเมืองเวียงจันทน์เป็นที่มั่นได้อีก

              ประการที่สอง พระเจ้ากรุงธนบุรี ต้องการกำลังคนเพื่อทดแทนพลเมืองที่เสียชีวิต จากการสงครามกับพม่าในช่วง พ.ศ. 2310 ดังนั้น พลเมืองชาวลาวจำนวนมากจึงสร้างประโยชน์ทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจ ในทางการเมือง พระเจ้ากรุงธนบุรีสามารถส่งให้แม่ทัพนายกองเกณฑ์ไปเป็นกองกำลังในการป้องกันเมือง ทางด้านเศรษฐกิจ เชลยศึกนับเป็นแรงงานสำคัญในการเพาะปลูกเพิ่มผลผลิตทางด้านเกษตร ทั้งการทำนาและสร้างสาธารณูปโภคต่าง ๆ (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 25-30)  

              การโยกย้ายของชาวลาวเวียงเข้ามาในอาณาจักรไทยเกิดขึ้นอีกครั้งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ในครั้งนี้มีช่วงเวลาที่สำคัญสามช่วง คือ

              ช่วงแรกในพ.ศ. 2325 ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงดำเนินนโยบายปกครองเวียงจันทน์เป็นเมืองประเทศราช จึงแต่งตังเจ้านันทเสน ราชบุตรองค์โตของพระเจ้าศิริบุญสารกลับไปครองนครเวียงจันทน์ และถวายพระนามใหม่ว่า “พระเจ้านันทเสนพรหมลาว” แล้วตั้งเจ้าอินทวงศ์เป็นอุปราช ส่วนเจ้าอนุวงศ์และเจ้าพรหมวงศ์ยังคงถวายตัวรับใช้ต่อ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงสนับสนุนให้เวียงจันทน์เป็นศูนย์กลางในการดูแลความสงบเรียบร้อย รวบรวมผู้คนและเครื่องราชบรรณาการ จากหัวเมืองต่าง ๆ ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาถวาย (พรรษา สินสวัสดิ์, 2521, หน้า 61)  

              ต่อมาใน พ.ศ. 2335 ลาวตำเมืองแถนและลาวเมืองพวนเกิดแข็งข้อต่อนครเวียงจันทน์ พระเจ้านันทเสนจึงยกทัพไปปราบและกวาดต้อนครอบครัวลาวทรงดำและลาวพวนมาถวายที่กรุงเทพฯ (ศรีศักร วัลลิโภดม, 2538, หน้า 288) เพื่อเป็นเงื่อนไขในการขอครัวลาวเวียงจันทน์ที่ถูกกวาดต้อนไปตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีกลับคืนมา แต่ได้รับการปฏิเสธ เป็นเหตุให้พระเจ้านันทเสนก่อการกบฏโดยสมคบกับพระบรมราชาเจ้าเมืองนครพนมติดต่อกับเมืองญวน พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกจึงสั่งถอดถอนพระเจ้านันทเสนออกจากการปกครองเมืองเวียงจันทน์ (สิลา วีระวงส์, 2539, หน้า 169) การที่พระเจ้านันทเสนให้ความสำคัญต่อครอบครัวของลาวเวียงที่เมืองสระบุรีและหาทางนำกลับคืนเมืองเวียงจันทน์ให้ได้ เป็นเพราะการกวาดต้อนครัวลาวเวียงคราวพ่ายแพ้แก่กองทัพกรุงธนบุรี มีผลสะเทือนต่อสถานะเมืองเวียงจันทน์ ถูกลดฐานะลงเป็นเพียงเมืองประเทศราชของกรุงธนบุรี และครัวลาวที่ถูกกวาดต้อนไปจำนวนหลายหมื่นเป็นการบ่อนทำลายเศรฐกิจของเมืองเวียงจันทน์ทางอ้อม เพราะทำให้เมืองเวียงจันทน์กลายเป็นเมืองร้าง ไร่นาไม่มีแรงงานหว่านไถเพาะปลูก จึงไม่สามารถเก็บส่วยอากรตลอดจนไม่มีแรงงานเต็มที่ นอกจากนี้ การที่ครัวลาวและเจ้านายในราชวงศ์ของเวียงจันทน์ถูกกวาดต้อนไปกรุงธนบุรีและเมืองสระบุรี ก่อให้เกิดการพลัดพรากในหมู่ญาติมิตร (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 43)

              ช่วงที่สองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพฯ และเมืองเวียงจันทน์ยังคงดำเนินไปเช่นเดิม แต่ในช่วงเวลานี้เมืองเวียงจันทน์ปกครองโดยเจ้าอินทวงศ์ พระอนุชาของพระเจ้านันทเสน ขึ้นครองราชย์มีพระนามว่า “พระชัยเชษฐา” และให้เจ้าอนุวงศ์เป็นอุปราช การย้ายถิ่นของชาวลาวเวียงในช่วงรัชสมัยนี้ พบเพียงการโยกย้ายของครัวลาวนครพนมเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร และเจ้าเมืองเวียงจันทน์ส่งลาวเมืองภูครังลงมายังกรุงเทพฯ เท่านั้น (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 47)

              ช่วงที่สามตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นช่วงเวลาที่นครเวียงจันทน์ฟื้นตัวขึ้นเป็นบ้านเมืองได้อีกครั้งในฐานะเมืองประเทศราชของกรุงเทพฯ ทั้งยังมีไพร่พล เสบียงอาหาร ช้าง ม้า ซึ่งเป็นพาหนะสำคัญในการทำศึกสงคราม มีหัวเมืองลาวที่ติดต่อกับเขมรและญวนถึง 79 หัวเมือง ส่วนหัวเมืองลาวที่อยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขงทั้งฝ่ายเหนือฝ่ายใต้มีถึง 80 หัวเมือง รวมหัวเมืองลาวที่อยู่ในความดูแลมีถึง 165 หัวเมือง ทำให้มีไพร่พลและเสบียงอาหารเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม ความต้องการเอกราชของเวียงจันทน์และขนย้ายครอบครัวชาวลาวกลับสู่ถิ่นกำเนิด เป็นสิ่งที่เจ้าอนุวงศ์คิดและพยายามอยู่เสมอ กระทั่งใน พ.ศ. 2369 ได้ก่อกบฏไม่ยอมเป็นเมืองขึ้นต่อกรุงเทพฯ ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ อย่างเช่น เจ้าอนุวงศ์ทูลขอแบ่งครอบครัวลาวเวียงจันทน์ที่กวาดต้อนลงมา ตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี และถวายกราบบังคมทูลขอพระราชทานหม่อมละครเล็กไปเป็นครูละครในวังที่นครเวียงจันทน์ พร้อมด้วยเจ้าดวงคำซึ่งเป็นหลานปู่ของเจ้าอนุวงศ์ที่ถูกกวาดต้อนลงมาถวายตัวรับใช้ในสมัยกรุงธนบุรี ประกอบกับความทุกข์ยากลำบากของชาวเวียงจันทน์ที่ถูกเกณฑ์มาใช้แรงงานเช่น ใน พ.ศ. 2326 ที่แรงงานลาวเวียงจันทน์ 5,000 คน ต้องมาสร้างกำแพงเมืองและป้อมรอบพระนคร (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, 2506, หน้า 68-69)   นอกจากนี้เจ้าอนุวงศ์ยังคิดว่าความขัดแย้งระหว่างไทยกับอังกฤษ เกี่ยวกับการติดต่อทำสนธิสัญญาทางไมตรีและขอขยายการค้า กับเรื่องกบฏไทรบุรีที่โดนไทยปราบจนต้องหนีไปอยู่ประเทศอังกฤษ จะประสบความล้มเหลวและนำมาสู่สงครามในที่สุด เพราะหากเกิดสงครามขึ้นจริงไทยคงไม่มีทรัพยากรพอเพียงที่จะรบกับลาวและอังกฤษไปพร้อมกัน (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2505, หน้า 670-682) และจากเหตุการณ์ภายในที่พระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (รัชกาลที่ 3 ) ได้เสวยราชย์แทนพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร (รัชกาลที่ 4 ) ยิ่งทำให้เจ้าอนุวงศ์เชื่อว่าประเทศไทยคงถึงคราวผลัดเปลี่ยนแผ่นดินใหม่และต้องเกิดความวุ่นวายขึ้นในราชบัลลังก์อย่างแน่นอน เจ้าอนุวงศ์จึงมีแผนการโจมตีพร้อมกัน 3 ด้านพร้อมกองทัพ 3 กอง กำลังส่วนแรกให้เจ้าราชบุตร (โย้) เจ้าเมืองจำปาศักดิ์ซึ่งเป็นบุตรของพระองค์ เข้ามาทางเขตอีสานใต้แถบอุบลราชธานี เขมราฐ ยโสธรและศรีสะเกษ กำลังอีกส่วนหนึ่งให้เจ้าอุปราชแห่งเวียงจันทน์ คือ เจ้าติสสะ ซึ่งเป็นอนุชาต่างมารดายกเข้ามาทางเขตอีสานกลางแถบกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด สุวรรณภูมิ และอีสานใต้บางส่วน เช่นสุรินทร์ สังขะและขุขันธ์ ส่วนเจ้าอนุวงศ์คุมทัพหลวงตรงเข้าสู่นครราชสีมาและสระบุรี โดยส่งข่าวกับเจ้าเมืองกรมการต่าง ๆ ตามรายทางว่า ได้รับคำสั่งจากกรุงเทพฯ ให้เกณฑ์กองทัพเมืองเวียงจันทน์ไปช่วยทำศึกกับอังกฤษที่จะยกทัพเรือมาตีกรุงเทพฯ ทำให้กองทัพทั้ง 3 ของเจ้าอนุวงศ์ไม่ได้รับการต่อต้านจากหัวเมืองต่าง ๆ ตามรายทาง จึงสามารถยึดเมืองนครราชสีมา และหัวเมืองบริเวณที่ราบสูงฝั่งขวาแม่น้ำโขงได้ทั้งหมด กองทัพเวียงจันทน์กวาดต้อนครอบครัวชาวลาวกลับเวียงจันทน์เป็นจำนวนมาก ได้แก่ ครัวเมืองนครราชสีมา 18,000 คน ครัวเมืองชัยภูมิ ประมาณ 300 ครัว และครัวเมืองชนบท ประมาณ 200 ครัว ครัวเมืองสระบุรี ประมาณ 10,000 คนเศษ เมื่อความทราบทางกรุงเทพฯ จึงส่งกองทัพแบ่งออกเป็น 3 ทัพ ดังนี้ ทัพหลวง มีสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล เป็นแม่ทัพมุ่งสู่นครราชสีมา แล้วตีขึ้นเหนือไปทางชัยภูมิ ช่องสามหมอ ภูเวียง สู่หนองบัวลำภู กองทัพฝ่ายเหนือ นำทัพโดยเจ้าพระยาอภัยภูธร ยกทัพขึ้นไปตามลำน้ำป่าสักเข้าสู่เพชรบูรณ์ และกองทัพฝ่ายตะวันออก มีพระยาราชสุภาวดีเป็นแม่ทัพ ยกกองทัพมุ่งหน้าสู่ภาคอีสานทางช่องเรือแตก 4 ทัพ มีการเกณฑ์เขมรป่าดงจากสุรินทร์ สังขะ และเขมรจากพระตะบอง (เจ้าพระยาทิพากรวงศ์, 2506, หน้า 53-54) การโต้ตอบของกองทัพไทยทำให้สามารถยึดเอาดินแดนที่เสียไปทั้งหมดกลับคืนมาได้

              ในช่วงพ.ศ. 2371 หลังการสิ้นพระชนม์ของเจ้าอนุวงศ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชประสงค์ให้ทำลายเมืองเวียงจันท์ไม่ให้กลับมาเป็นบ้านเมืองได้อีก จึงรับสั่งให้ตัดต้นไม้ลงให้หมดแล้วจุดไฟเผา คงเหลือเพียงวัดที่ไม่ถูกเผาไหม้ คือ วัดสีสะเกด และล้มเลิกนครเวียงจันทน์ไม่ให้เป็นบ้านเมืองอีกต่อไป (สิลา วีระวงส์, 2539, หน้า 173-174)  และมีพระราชดำริให้สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลและพระยาสุภาวดี กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเวียงจันทน์และหัวเมืองลาวใกล้เวียงจันทน์ลงมาให้มากที่สุด และให้หัวเมืองลาวทั้งหลายที่เป็นเมืองขึ้นของไทยเกลี้ยวกล่อมและกวาดต้อนครัวลาวเวียงจันทน์ที่หลบหนีเข้ามา และจัดส่งมาพักตามเมืองใหญ่ ๆ ก่อนจัดส่งลงมาไว้ที่กรุงเทพฯ นอกจากครัวลาวเวียงจันทน์แล้ว ยังมีครัวลาวเมืองอื่น ๆ อีก ได้แก่ เมืองคำเกิด เมืองคำม่วน เมืองพร้าว เมืองหาว เมืองวาง เมืองกะตาก (ผาบัง) เมืองพิน เมืองนอง เมืองตะโปน เมืองมหาไชยกองแก้ว เมืองชุมพร เมืองพวง เมืองพะลาน เมืองพวน เมืองหนองหาร (สกลนคร)เมืองวังยาว เมืองปะขาว (ผ้าขาว) เมืองพันนา เมืองพันพร้าว และเมืองแป้ง (ข้าวแป้ง) เป็นต้น (สุวิทย์ ธีรศาศวัต, 2541, หน้า 104) เหตุการณ์ครั้งนี้นับได้ว่าส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรและการย้ายถิ่นฐานของประชากรลาวเมืองเวียงจันทน์และลาวเมืองอื่น ๆ เข้ามาในประเทศไทยมากที่สุด เกิดการก่อตั้งเป็นชุมชนชาวลาวเวียงในหัวเมืองชั้นในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น กระจายกันอยู่ตามเมืองต่าง ๆ ได้แก่ เมืองสระบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี เป็นต้น โดยชาวลาวจะอยู่กันเป็นกลุ่มก้อน นิยมเรียกหมู่บ้านว่า “บ้าน” เมืองสระบุรี มีชุมชนชาวลาวเวียงจันทน์อยู่ที่บ้านหนองหอย บ้านไก่เซา บ้านกระเบื้อง บ้านท่าทราย บ้านท่าเรือ บ้านสาวไห้ บริเวณพระพุทธบาท บ้านเขาปถวี เขาแก้ว บ้านอ้อย เมืองราชบุรี มีชุมชนชาวลาวที่บ้านลูกแก เมืองสุพรรณบุรี มีชุมชนลาวเวียงอยู่ที่บ้านหนองกระทุ่ม (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 84-87) นอกจากนี้ยังมีชุมชนชาวลาวครั่ง ลาวเวียง ลาวหลวงพระบาง และลาวพวน ตั้งถิ่นฐานอยู่ในเมืองกาญจนบุรี ลพบุรี นครปฐม โดยกลุ่มชุมชนชาวลาวมักนิยมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่เดิม แต่มีการขยายชุมชนออกเพราะประชากรเพิ่มมากขึ้น ดังเช่น กรณีของเมืองนครชัยศรี สมัยพระบาทสามเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อได้มีการปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นโดยรวมหัวเมืองต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกันเป็นมณฑลเทศาภิบาลใน พ.ศ. 2435  และในพ.ศ. 2441 (ร.ศ. 116) พระยาสุนทรบุรีศรีพิไชยสงคราม ผู้ว่าราชการเมืองนครชัยศรีได้รายงานผลการตรวจราชการตามเขตแขวง และเสนอรายงานการตรวจราชการต่อพระยามหาเทพกระษัตรี สมุหเจ้ากรมพระตำรวจในซ้าย ข้าหลวงเทศาภิบาลสำเร็จราชการมณฑลนครชัยศรี เมื่อวันที่ 17 เมษายน ร.ศ. 116 ในรายงานฉบับดังกล่าว ทำให้ทราบว่า บ้านดอนรวกเป็นบ้านลาว มีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและนายกอง ปกครองราษฎรลาว และมีชุมชนลาวอยู่ที่บ้านรวก บ้านลำเหย บ้านหลวง บ้านหนองกระพี้ บ้านทุ่งผักกูด บ้านทุ่งผีหลวง บ้านโพรงมะเดื่อ หมู่บ้านลาวเหล่านี้ตั้งอยู่ใกล้ ๆ กัน (บังอร ปิยะพันธุ์, 2541, หน้า 104)

              ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 บ้านเมืองเผชิญภาวะสงครามและภาวะเศรษฐกิจถดถอย รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม พยายามรักษาเสถียรภาพของบ้านเมืองด้วยมาตรการต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมความเป็นไทยซึ่งเป็นวัฒธรรมประจำชาติ ภาษาท้องถิ่นได้รับนโยบายชาตินิยม กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีภาษาถิ่นเป็นของตนเองก็ได้รับผลกระทบไปด้วย ในช่วงนั้นพบว่ามีคนลาวในหลายพื้นที่รู้สึกว่าการพูดภาษาลาวไม่สอดคล้องกับวัฒนธรรมประจำชาติและความทันสมัย มีชาวลาวจำนวนไม่น้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พ่อหรือแม่แต่งงานกับคนไทยมาก่อนหน้านี้เริ่มเปลี่ยนมาพูดภาษาไทยและปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตให้สอดคล้องกับความเป็นไทย และผลกระทบที่เกิดแก่ชุมชนได้ตามมาอย่างต่อเนื่องภายหลัง พ.ศ. 2500 เมื่อระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รัฐบาลพัฒนาความเจริญและสร้างทางหลวงจากเมืองใหญ่ไปสู่หมู่บ้านชนบท ส่งเสริมอุตสาหกรรมการเกษตร ชุมชนได้รับความเจริญและเกิดการขยายตัว มีการขยายหมู่บ้านและแยกบ้านไปตามทางหลวงหรือเขตที่มีความเจริญ นับเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งสระบุรี ลพบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ฯลฯ ในขณะเดียวกันวิถีชีวิตค่านิยมและประเพณีก็ถูกปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับความเจริญที่ขยายตัวเข้ามาในชุมชน (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 23)

  • วิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              อาชีพหลักของชาวลาวเวียงแต่ดั้งเดิม คือ การทำเกษตรแบบหาอยู่หากินเพื่อยังชีพ มีรูปแบบลักษณะความผูกพันอยู่กับการเกษตรภายในครัวเรือนและชุมชนเป็นหลัก ได้แก่ การทำนาปลูกข้าว ปลูกพืชไร่บางชนิด เช่น ฝ้าย พริก ข้าวโพด ฯลฯ รวมถึงการปลูกพืชยืนต้นจำพวกไม้ผล เช่น ขนุน กล้วย มะพร้าว เป็นต้น กระบวนการสร้างผลผลิตใช้แรงงานในครัวเรือนและชุมชนเป็นหลัก จะนำออกไปแลกเปลี่ยนหรือขายให้แก่ชุมชนอื่น เพื่อซื้อหรือแลกเปลี่ยนเป็นเครื่องอุปโภคบริโภคที่ผลิตไม่ได้ภายในชุมชน เช่น เกลือ เคียว มีด ถ้วยชาม  ผลผลิตจากการเกษตรโดยเฉพาะข้าว ถือว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถผลิตและสร้างรายได้จากการซื้อหาแลกเปลี่ยนให้กับครัวเรือนและชุมชนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 133)

              ชุมชนลาวเวียงมีลักษณะเป็นชุมชนเกษตรกรรมที่มีผลผลิตหลัก คือ “ข้าว” ซึ่งการเพาะปลูกต้องอาศัยน้ำฝนจากธรรมชาติปีละหนึ่งครั้งเท่านั้น หากปีใดปริมาณน้ำฝนดีการเพาะปลูกข้าวจะได้ผลผลิตดีตามไปด้วย แต่หากปีใดฝนแล้งทิ้งช่วงหรือน้ำท่วมผลผลิตที่ได้จะค่อนข้างต่ำ การผลิตข้าวจึงเป็นการผลิตที่ขึ้นอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของช่วงฤดูกาลที่อิงไปกับเงื่อนไขทางธรรมชาติ ตั้งแต่การเลือกพื้นที่เพาะปลูกไปจนถึงกระทั่งการเก็บเกี่ยว และนำผลผลิตเข้าเก็บสำหรับบริโภคของครัวเรือนและชุมชน แต่ละขั้นตอนของกระบวนการผลิตล้วนมีพิธีกรรมทางการเกษตรสอดแทรกอยู่ ถือเป็นความเชื่ออย่างหนึ่งที่สร้างความมั่นใจในการได้ผลผลิตที่อุดมสมบูรณ์ เพียงพอแก่การยังชีพของสมาชิกในครัวเรือนและชุมชน สามารถจำแนกกระบวนการผลิตข้าวตามสภาพความเหมาะสมของพื้นที่เพาะปลูกได้ 3 วิธี ดังนี้ ข้าวไร่ เป็นวิธีการเพาะปลูกข้าวนาสภาพของไร่ ในพื้นที่ที่น้ำไม่ขัง เพาะปลูกได้ทั้งพื้นที่ราบและพื้นที่ดอน ข้าวไร่อาศัยเพียงน้ำค้างน้ำฝน ข้าวนาดำ เป็นวิธีการเพาะปลูกข้าวโดยอาศัยการเพาะเมล็ดพันธุ์ให้งอกและเติบโตในพื้นที่หนึ่งก่อนแล้วจึงย้ายไปปลูกในอีกพื้นที่หนึ่ง ทำให้สามารถกำหนดระยะห่างของการเพาะปลูกข้าวและควบคุมวัชพืชได้อย่างเหมาะสม ข้าวนาหว่าน เป็นวิธีการเพาะปลูกข้าวที่ต้องอาศัยสภาพพื้นที่เพาะปลูกเป็นที่ราบน้ำท่วมถึงในฤดูฝนเป็นประจำ เมื่อถึงคราวเก็บเกี่ยวชาวลาวเวียงจะอาศัยแรงงานในครัวเรือนเป็นหลัก แต่หากมีไม่เพียงพอจำต้องหาแรงงานในชุมชนเข้ามาช่วย โดยมากจะมีการระดมแรงงานมาช่วยกันใน 2 รูปแบบ คือ เอามื้อเอาแรงแบบลงแรง เป็นรูปแบบของการเอามื้อเอาแรงตามปริมาณของงานที่ทำได้ และ เอามื้อเอาแรงแบบขอแรง เป็นรูปแบบของการระดมแรงงานมาช่วยกันทำงานจนกว่าจะเสร็จ (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 154-155) เมื่อเก็บเกี่ยวข้าวแล้วเสร็จ ชาวลาวเวียงจะนำข้าวมากองรวมไว้ในลานเดียวกัน แล้วแต่ละบ้านจะผลัดเปลี่ยนกันนวด ตกลงวันร่วมกันแล้วจึงทยอยช่วยกันทีละบ้านไปจนครบทุกหลังคาเรือน สมัยก่อนบ้านแต่ละหลังจะเก็บข้าวไว้ในยุ้งของตน เพื่อเก็บไว้กินตลอดปี หากปีใดได้ข้าวใหม่จำนวนมาก ก็แบ่งออกมามาขาย

              เมื่อสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป วิถีของชาวลาวเวียงก็ปรับเปลี่ยนตามไปด้วย เห็นได้จากปัจจุบัน เกิดอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม เช่น การรับราชการ ชาวลาวเวียงเริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงพยายามส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษาสูงขึ้นเพื่อประกอบอาชีพรับราชการ เพราะอาชีพดังกล่าวสามารถสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้กับชีวิต อีกทั้งยังยกฐานะทางสังคมให้กับครอบครัวอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอาชีพค้าขาย ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภคและเครื่องใช้ในครัวเรือน ส่วนการเกษตรก็ขยายเป็นการเกษตรเพื่อการค้าไม่ใช่เพื่อการบริโภคอย่างแต่ก่อน นอกจากนี้ยังมีพืชชนิดอื่น ๆ ที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น เช่น ถั่วเหลือง พริก อ้อย ส้มโอ กล้วย รวมถึงการเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่าย เช่น ไก่ โคนม เป็นต้น การเปลี่ยนแปลงวิถีดำเนินชีวิตแบบดั้งเดิมมาสู่รูปแบบใหม่ ช่วยส่งเสริมผลผลิตจากการเกษตรให้มีมากและส่งเสริมอาชีพให้มีหลากหลายในกลุ่มชาวลาวเวียงมากยิ่งขึ้น

  • ครอบครัวและระบบเครือญาติของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              สถาบันครอบครัวนับเป็นรากฐานสำคัญและเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ แต่เดิมครอบครัวถือเป็นศูนย์รวมของกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งการปกครอง พิธีกรรมทางศาสนา การพักผ่อนหย่อนใจ และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ครอบครัวยังทำหน้าที่ขัดเกลาสมาชิกในสังคมให้เกิดการเรียนรู้ ผ่านการถ่ายทอดประสบการณ์ บุคลิกภาพ ตลอดจนแนวความคิดต่าง ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการพื้นฐานที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในสังคม รูปแบบครอบครัวของชาวลาวเวียงเริ่มจากครอบครัวเดี่ยวไปสู่ครอบครัวขยาย จากครอบครัวที่มีพ่อ แม่ ลูก อาศัยอยู่ร่วมกัน พ่อทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว มีอำนาจหน้าที่ในการตัดสินใจสูงสุด โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจการยังชีพของทุกคนในครอบครัว ส่วนแม่มีหน้าที่หลักคือ รับผิดชอบภายในครัวเรือน ตั้งแต่เลี้ยงดูลูก ๆ หุงหาอาหาร ทำความสะอาดบ้าน นอกจากนี้ยังคอยช่วยแบ่งเบาภาระทางเศรษฐกิจ เช่นการทำนา เป็นต้น ลูก ๆ มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของพ่อแม่ โดยชาวลาวเวียงมักมีการแบ่งหน้าที่อย่างชัดเจนระหว่างลูกสาวและลูกชาย โดยลูกสาวต้องช่วยแม่ในการหุงหาอาหาร ทำความสะอาดเรือน โดยมีแม่เป็นผู้อบรมสอนสั่งตั้งแต่เด็ก ๆ จึงทำให้แม่และลูกสาวมีความสนิทสนมกัน ส่วนลูกชายมีหน้าที่หลักในการช่วยเหลืองานของพ่อในส่วนการดูแลไร่นา ตักน้ำผ่าฟืน เลี้ยงดูวัวควาย รวมทั้งหาปู ปลา กบ เขียดเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร การแบ่งหน้าที่อย่างเป็นระบบทำให้สมาชิกแต่ละคนเกิดความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ช่วยเสริมสร้างความอบอุ่นและผูกพันให้เกิดมากยิ่งขึ้น

              เมื่อลูก ๆ เจริญเติบโตและแต่งงาน ตามประเพณีของชาวลาวเวียง หากลูกสาวคนโตแต่งงานต้องพาลูกเขยเข้ามาอยู่ในครอบครัวของฝ่ายหญิงตามอุดมคติที่เรียกว่า “มาตาลัย” ซึ่งเป็นรูปแบบการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินหลังการแต่งงานกับครอบครัวฝ่ายหญิง โดยลูกเขยจะเข้ามาทำหน้าที่เป็นแรงงานหลัก รับผิดชอบทำงานหนักในไร่นาแทนพ่อตา โดยผลผลิตส่วนใหญ่ยังคงเป็นของพ่อตาและแม่ยาย นอกจากนี้ลูกเขยยังต้องเคารพ เชื่อฟัง และปฏิบัติตามสั่งของพ่อตาแม่ยายอีกด้วย เมื่อมีการแต่งเขยเข้าบ้านครอบครัวของชาวลาวเวียงจึงเกิดเป็นครอบครัวขยายขึ้น หากลูกสาวคนถัดไปแต่งงานและนำสามีเข้ามาอยู่ในครอบครัว ลูกสาวคนโตที่มีครอบครัวอยู่ก่อน จะต้องแยกออกมาปลูกสร้างเรือนใหม่ โดยนิยมสร้างเรือนอยู่ในบริเวณที่ดินของพ่อตาแม่ยาย อย่างไรก็ตาม ครอบครัวใหม่ที่เพิ่งตั้งขึ้นลูกเขยยังต้องรับหน้าที่เป็นแรงงานหลักในการสร้างผลผลิตให้กับพ่อตาแม่ยายและต้องเป็นหัวหน้าครอบครัวในการสร้างฐานะและเลี้ยงดูครอบครัวของตนเองด้วย ในกรณีที่น้องสาวคนสุดท้องแต่งงานและนำสามีเข้ามาอยู่ในบ้าน จะได้รับการคาดหวังให้เลี้ยงดูและปรนนิบัติพ่อแม่ และจะกลายเป็นเจ้าของเรือนในที่สุด ขณะเดียวกันหากลูกชายไปแต่งงาน ก็จะต้องไปอยู่บ้านลูกสะใภ้และเป็นแรงงานหลักให้กับครอบครัวของฝ่ายหญิงที่ไปแต่งงานด้วย จากความสัมพันธ์ผ่านการแต่งงาน ส่งผลให้รูปแบบของคนในครอบครัวเกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นวัฏจักรของครอบครัวเดี่ยวและขยายวนไปเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุวัย (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 187-189) แม้ว่ารูปแบบหลังการแต่งงานของชาวลาวเวียงส่วนใหญ่ ฝ่ายชายจะไปตั้งถิ่นฐานที่บ้านฝ่ายหญิง แต่การสืบสกุลก็ยังนับของทางฝ่ายพ่อเป็นหลัก  

              การสืบทอดมรดกของชาวลาวเวียง มักเกิดในรูปแบบของเครือข่ายความสัมพันธ์ในครอบครัวเป็นหลัก โดยมีมรดกสำคัญได้แก่ ที่ดินทำกิน บ้านพร้อมที่ดิน สัตว์เลี้ยง และอุปกรณ์ในการสร้างผลผลิต โดยเกณฑ์การสืบทอดมรดกจะต้องสัมพันธ์กับจำนวนสมาชิกในครอบครัว เช่น พ่อแม่มีที่ดินทั้งสิ้น 50 ไร่ และมีลูก 5 คน อาจจะจัดการแบ่งให้คนละ 9-10 ไร่ โดยจะเหลือเก็บไว้สำหรับทำกินเองประมาณ 3 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พอเพียงสำหรับพ่อแม่ที่สูงอายุ แต่หากลูกคนใดไม่ได้แยกครอบครัวออกไป ก็จะได้ที่ดินบ้านในส่วนของพ่อแม่เป็นค่าตอบแทนในการดูแล ทั้งนี้การสืบทอดมรดกสามารถเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ กรณีแรกในขณะที่พ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมาประชุมตกลงกัน พ่อแม่ทำหน้าที่แบ่งทรัพย์สินให้อย่างเท่าเทียม กรณีเช่นนี้มักเกิดขึ้นเมื่อลูกสาวต้องการแยกไปสร้างครอบครัวใหม่ ส่วนลูก ๆ ที่ยังไม่แต่งงานยังคงใช้ทรัพย์สินมรดกในส่วนของตนเองร่วมกับของพ่อแม่ สำหรับกรณีที่สอง เป็นการสืบทอดมรดกเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถทำงานได้ หรือคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตลง สมาชิกทุกคนในครอบครัวจะมาประชุมกันและแบ่งทรัพย์สินต่าง ๆ ของพ่อแม่ สำหรับลูกคนใดที่ได้ปรนนิบัติดูแลพ่อแม่จะได้รับทรัพย์สินในส่วนของพ่อแม่ไปด้วย

              ระบบเครือญาติของชาวลาวเวียงแบ่งออกได้เป็น 2 ลักษณะ คือ

              เครือญาติโดยสายโลหิต เป็นความสัมพันธ์ที่เกิดจากการสืบทอดลักษณะทางชีวภาพจากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่ง หรือเรียกว่า การสืบทอดทางพันธุกรรม โดยพี่น้องจะเกิดจากพ่อแม่เดียวกันรวมถึงลูกของพี่น้องที่ร่วมสายโลหิต ลูกหลานจะมีความยำเกรงผู้ใหญ่ ที่ทำหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดู เครือญาติในลักษณะนี้จึงมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดสนิทสนมกัน นิยมตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้เคียงกันมีการไปมาหาสู่และทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

              เครือญาติที่เกิดจากการสมรส เป็นการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว โดยทั้งสองฝ่ายจะเกี่ยวดองเป็นเหมือนญาติพี่น้อง เครือญาติในลักษณนะนี้จะเป็นแหล่งของความช่วยเหลือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ เช่นเดียวกับแบบแรก แต่จะมีความรู้สึกเกรงใจกันมากกว่า  

              อย่างไรก็ตามลักษณะโดยทั่วไปชาวลาวเวียงมักมีความผูกพันเสมือนเครือญาติ ซึ่งอาจสังเกตได้จากสำนึกความเป็นชาติพันธุ์เดียวกัน ผ่านสำเนียงภาษา คำศัพท์ที่ใช้เรียกบุคคลต่าง ๆ ในสังคม เช่น ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง เช่นนี้เป็นต้น  

  • การแต่งกายของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              เสื้อผ้าและการแต่งกาย ถือเป็นวัฒนธรรมทางวัตถุที่สำคัญในการสื่อความหมายของปัจเจกบุคคลและกลุ่มคน อีกทั้งยังเป็นพื้นฐานของการดำรงชีวิต แต่ก่อนทุกครอบครัวจะมีการทอผ้าเพื่อใช้สอย และถ่ายทอดวิธีการทอผ้าให้แก่สมาชิกโดยเฉพาะสมาชิกที่เป็นเพศหญิง โดยแม่หรือยายเป็นผู้ถ่ายทอด ใช้เวลาที่ว่างจากการทำไรไถนา จนสั่งสมเป็นภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น  การทอผ้าเป็นการสืบสานวัฒนธรรมที่ผู้หญิงต้องเรียนรู้ตลอดช่วงอายุ ตั้งแต่วัยเด็ก ผู้หญิงจะได้รับการสั่งสอนเพื่อให้เรียนรู้ถึงทุกขั้นตอนของการทอผ้า ครั้นเมื่อถึงวัยสาว การทอผ้าเป็นเครื่องแสดงถึงความพร้อมของวัยที่จะเริ่มต้นชีวิตครอบครัว ผู้หญิงต้องเตรียมผ้าไว้ใช้สำหรับพิธีแต่งงานของตน เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ต้องทอผ้าเพื่อใช้ในการนุ่งห่มของครอบครัว สำหรับพิธีกรรมต่าง ๆ และแลกเปลี่ยนผลิตผลอื่นที่จำเป็น และมีหน้าที่ถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการทอผ้าในขั้นตอนต่าง ๆ ให้กับลูกหลานของตนเอง (วรรณา วุฒฑะกุล และ ยุรารัตน์ พันธุ์ยุรา, 2536, หน้า 3)  สำหรับชาวลาวเวียงผ้าทอถูกนำมาใช้ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ทั้งประเภท “นุ่ง” ที่ต้องสวม ใส่ พัน โพก และประเภท “ห่ม” ที่เกี่ยวกับนั่ง หนุน อิง และนอน รวมถึงใช้ในงานบุญประเพณีพิธีกรรมต่าง ๆ ผ้าทอในอดีตจึงแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ตามโอกาสการใช้สอย เช่น ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ผ้าทอที่ใช้ในโอกาสพิเศษ และผ้าทอที่ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา

              ผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ชาววลาวเวียง มีแบบแผนเดียวกับชาวลาวครั่ง นั่นคือ เป็นผ้าฝ้ายทอมือ ที่มีความทนทานในการซักทำความสะอาดและสะดวกในการเก็บรักษา รูปแบบการทอใช้วิธีการทอขัดเป็นส่วนใหญ่ แบ่งย่อยออกเป็น ผ้าสำหรับใช้ในบ้าน ยามอยู่กับบ้าน และยามออกนอกบ้าน

              ผ้าสำหรับใช้ในบ้าน เป็นผ้าฝ้ายสีขาวทำผ้าห่อตัวเด็ก ผ้าอ้อม ผ้าห่ม เสื้อผ้าเด็ก หมอนขวาน หมอนน้อย มุ้ง ผ้าปูที่นอน (ผ้าล้อ) ที่นอน  นอกจากนี้ผ้าทอยังเกี่ยวข้องกับการประกอบอาหารชาวลาวเวียงจะใช้ย่ามขนาดใหญ่ หรือ “ถง” ใส่แป้งข้าวเจ้าโม่ แล้วแขวนให้สะเด็ดน้ำเพื่อนำไปทำขนมจีน เรียกว่า “ถงขนมเส้น” สำหรับย่ามขนาดกลางใส่อุปกรณ์การทอผ้า เรียกว่า “ถงใส่เครื่องหูก” ย่ามขนาดเล็กใส่อุปกรณ์ในการกินหมาก เรียกว่า “ถงหมาก” ย่ามจึงเป็นสิ่งของใช้ประโยชน์ของชาวลาวเวียง

              ผ้าที่ชาวลาวเวียงใช้เมื่อยามอยู่นอกบ้าน  แบ่งออกเป็นผ้าสำหรับผู้หญิงและผู้ชาย สังเกตได้จากเครื่องนุ่งห่มที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

              ผู้หญิง แต่งกายด้วยผ้าทอจากผ้าฝ้ายย้อมครามหรือย้อมดำ คอกลมติดคอหรือคอตั้ง ผ่าหน้าติดกระดุมเสื้อ แขนกระบอกหรือแขนยาว หรือเสื้อคอกระเช้า ผ้าห้าตะเข็บหรือใช้ผ้าแถบพันตัวเวลาอยู่บ้าน ซิ่นเป็นฝ้ายมัดหมี่ย้อมคราม โดยนุ่งซ้อนซิ่นที่เป็นฝ้ายขาว เพื่อซับเหงื่อและยืดอายุการใช้งานของซิ่นตัวนอกที่ใช้ในโอกาสพิเศษต่าง ๆ เพราะซิ่นฝ้ายหรือซิ่นมัดหมี่ตีนจกตัวนอกแทบไม่มีการซัก เมื่อใช้เสร็จจะสะบัดแล้วผึ่งในที่ร่มและพับเก็บ

              ผู้ชายแต่งกายด้วยเสื้อกางเกงขาก๊วย ทอขึ้นจากผ้าฝ้ายย้อมครามหรือย้อมจากเปลือกต้นคาง (ดอกสีแดงต้องนำไปหมกโคลนครึ่งวัน จึงจะได้สีแดง) มีผ้าขาวม้าเคียนเอวตอนทำนาไร่ หากอยู่บ้านมักไม่ใส่เสื้อหรือใส่เสื้อผ้าป่านคอกลมแขนสั้นหรือแขนสามส่วน ผ้าขาวม้าซึ่งถือเป็นผ้าสารพัดประโยชน์ของผู้ชายทั้งใช้นุ่ง พาดบ่า เคียนเอว ยังแบ่งออกเป็นหลายชนิด เช่น

              ผ้าขาวม้าตามะกอก (ตาหมากรุก) ใช้เพียงสองสีประกอบกัน เช่น ขาวดำ เรียกว่า ผ้าขาวม้าผ้าป่า เนื่องจากฝ้ายที่นำมาทอมีเนื้อหยาบและห่าง มีผ้าหน้าแคบ แต่ปัจจุบัน ผ้าขาวม้าตามะกอกใช้มากกว่าสองสีในการทอผ้าขาวม้าตาเล็ก มีหลายสี เช่น สีแดง สีส้ม สีเหลือง สีขาว  เป็นต้น ผ้าข้าวม้าไส้ปลาไหล (ตาสะแคง) มีความกว้างแคบกว่าผ้าข้าวม้าทั่วไป ทอเป็นลายริ้วตามทางยาวสลับสี เช่น สีเขียว สีชมพู สีเม็ดมะขาม เป็นต้น ชายหนุ่มนิยมใช้คล้องคอหรือคาดเอวเวลาไปเกี้ยวสาว ชายสูงอายุใช้เป็นผ้าคาดเอวหรือคาดบ่า ผ้าขาวม้าตาหมู่ เป็นการนำลายปลาไหลและตามะกอกมาทอร่วมกัน

              ผ้าสำหรับใช้เมื่อยามออกนอกบ้าน แบ่งออกตามกาลเทศะ ดังนี้

              การแต่งกายในโอกาสพิเศษ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานขึ้นบ้านใหม่ หรืองานมงคลต่าง ๆ ที่มีรูปแบบแตกต่างกันออกไปตามสถานะของการเข้าร่วมงาน ดังนี้

              งานของพวกเรา หมายถึง งานที่หญิงชายได้รับเชิญให้เป็นผู้เข้าร่วมงาน ผู้หญิง แต่งกายโดยสวมเสื้อสีขาวหรือดำที่ตัดจากผ้าฝ้าย แขนกระบอกหรือแขนยาว ปล่อยชายสาบเสื้อ ตั้งแต่คอถึงชายเสื้อขลิบด้วยผ้าแดงหรือด้ายแดง นุ่งซิ่นมัดหมี่ตีนจก ประดับกระดุมเงิน ใส่ต่างหูเงินติดใบหูหรือย้อยลงมา กำไลมือและเท้าเป็นเงินเกลี้ยงกลม นิยมใส่แหวนทุกนิ้ว สะพายย่าม ตัดผมสั้น ส่วนผู้ชายนุ่งผ้าม่วงโรง ผ้าพุ่ง คาดเข็มขัดเงิน นาค ทอง สวมเสื้อสีขาวคอกลมแขนสามส่วน มีผ้าขาวม้าพาดบ่า ใส่แหวนสวมสร้อยคอ

              งานของเรา คืองานแต่งงานหรือกินดองนั่นเอง การแต่งงานในอดีตต้องมีการเตรียมผ้าประเภทต่าง ๆ ที่ใช้ในงานพิธีแต่งงานของบุตรสาว แม่ ย่า ยาย หรือญาติจะเตรียมทอผ้าชนิดต่าง  ๆ มากมายเพื่อใช้ในการประกอบพิธี เริ่มตั้งแต่เตรียมเสื้อผ้าให้บุตรสาวใช้แต่งตัว เช่น ซิ่นมัดหมี่ตีนจก ผ้าตัดเสื้อ ผ้าสไบ ผ้าเช็ดหน้า รวมทั้งผ้าไหว้พ่อแม่ญาติพี่น้องฝ่ายเจ้าบ่าว โดยแบ่งออกเป็นผ้าที่บ่าวสาวเป็นผู้ใช้เอง กับผ้าที่เตรียมไว้สำหรับเป็นของไหว้ สำหรับผ้าของบ่าวสาว ฝ่ายเจ้าสาวนิยมใส่เสื้อสีสด เช่น สีเหลืองดอกคูณ สีหมากสุก ตัดเป็นเสื้อคอตั้งหรือคอกลม แขนกระบอกหรือแขนยาว ผ่าหน้าติดกระดุมเงิน ห่มสไบเฉียง ต่างหูเงิน ใส

  • บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              “บ้าน” และ “เรือน” ในภาษาลาวมีความหมายแตกต่างกันเช่นเดียวกับภาษาไทย ที่ให้ความหมายของ “เรือน” ว่าเป็นหน่วยหรือโครงสร้างที่เป็นที่พักอาศัยของครัวเรือน ในขณะที่ “บ้าน”  นอกจากหมายถึงโครงสร้างที่เป็นที่พักอาศัยแล้วยังรวมบริเวณโดยรอบของพื้นที่พักอาศัยของแต่ละครัวเรือน กลุ่มญาติ และกลุ่มของครัวเรือนที่อยู่รวมกันในลักษณะชุมชน โดยมากมักมีการรวมกันเป็นกลุ่มบ้านหรือชุมชน (วันดี พินิจวรสิน, 2555, หน้า 41)อ้างถึงใน ศรีศักร วัลลิโภดม, 2553; Charpenter & Clement, 1990/มปป.) ตามคติโบราณการเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือนของชาวลาวต้องประกอบด้วย น้ำ นา และโนน โดยโนนมีลักษณะเป็นที่ดอนน้ำท่วมไม่ถึง เหมาะสำหรับสร้างเรือนเพื่อพักอาศัย  ดังนั้น กลุ่มบ้านของชาวลาวจึงตั้งอยู่บนที่ดอนและล้อมรอบด้วยพื้นที่ในการทำนาและเพาะปลูก (อู่ทอง ประศาสน์วินิจฉัย, 2551, หน้า 223)   ชาวลาวเวียงนิยมปลูกเรือนอยู่กันเป็นกลุ่มภายในเครือญาติ ใช้วัสดุเรียบง่ายในท้องถิ่น เช่น นำหญ้าคาทับเป็นตับ เรียกว่า “ไพหญ้า” มุงเป็นหลังคา ฝาบ้านเป็นไม้ขัดแตะ บางหลังอาจทำเป็นฝาแฝก  และเพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดเกี่ยวกับลักษณะความเป็นมาของเรือนลาวเวียง สมควรอย่างยิ่งที่จะย้อนกลับไปศึกษาสภาพของเรือนตั้งแต่อดีตในถิ่นที่อยู่ ณ นครหลวงเวียงจันทน์  

              งานศึกษาเรือนพื้นถิ่นที่มีอายุอยู่ในช่วง 50 – 60 ปี บริเวณเขตพระนครหลวงเวียงจันทน์ ของวันดี พินิจวรสิน (2555 : 45–48) กล่าวถึงลักษณะของเรือนและพื้นที่ใช้สอยไว้ว่า เรือนส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ยกเสาสูง ใต้ถุนเรือนเปิดโล่ง พื้นที่ใช้สอยของเรือน ประกอบด้วย ห้องนอน เซย เรือนครัว และชาน อย่างไรก็ตามยังมีเรือนบางหลังที่มีองค์ประกอบอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น ระเบียง และบันไดที่มีหลังคาคลุม โดยบริเวณระเบียงจะคลุมด้วยเทิบ (หลังคาลาดเอียง) ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านสกัดของเรือน และเป็นที่เชื่อมต่อระหว่างเรือนกับเส้นทางสัญจรของกลุ่มบ้านหรือชุมชน สำหรับห้องนอน (ส้วมนอน) หรือเรือนใหญ่ ส่วนมากจะวางตัวขนานกับแม่น้ำ และหันหน้าเข้าหาทางสัญจรของชุมชน มีประตูเข้า - ออก 2 บาน เชื่อมต่อกับเซย ภายในห้องนอนแบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ พื้นที่ทางเดินและพื้นที่ส่วนบน ส่วนของห้องนอนแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ “ห้องกอย” เป็นส่วนนอนของลูกสาว “ห้องกลาง” เป็นส่วนนอนของพ่อ - แม่ และ “หน้าห้อง” เป็นส่วนที่ตั้งร้านพระ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่สุดภายในเรือน ตั้งอยู่ใกล้กับ “เสาขวัญ” หรือ เสาเอกของบ้าน โดยจะหันออกสู่ประตู เป็นส่วนที่ใช้รับแขกสำคัญของเรือน เช่น พระสงฆ์ และผู้มียศศักดิ์  ส่วนของเซย หรือ พื้นเรือนที่มีลักษณะเหมือนระเบียงมีหลังคาคลุม อยู่ถัดจากห้องนอน และมีระดับต่ำกว่าพื้นห้องนอนประมาณ 15 เซนติเมตร พื้นที่นี้มักใช้เป็นที่ต้อนรับแขก การปิดล้อมบริเวณเซย โดยเฉพาะที่ต่อเนื่องกับภายนอก มีการใช้ราวระเบียงกันตก หรือการใช้ผนังที่มีหน้าต่าง 1-3 บาน สำหรับเรือนครัวอยู่ติดกับตัวเรือนออกไป มีแม่เตาไปซึ่งทำจากไม้กระดานสี่แผ่นมีลักษณะเป็นกระบะสี่เหลี่ยมภายในนำดินเหนียวปนแกลบอัดลงไปจนแน่น ใช้ก้อนหินสามเส้าสำหรับวางหม้อ ห้องน้ำอยู่นอกตัวบ้าน พื้นที่โดยรอบใช้ปลูกพืชผักสวนครัว เลี้ยงสัตว์ เช่น เลี้ยงหมูไว้ข้างเรือน เลี้ยงวัวไว้ใต้ถุนเรือน เลี้ยงเป็ด ไก่ เป็นต้น เล้าข้าวตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของตัวบ้าน โดยมีตัวยุ้งทำจากไม้ไผ่หรือไม้กระดาน ฝาผนังทำจากไม้ไผ่สานยาด้วยขี้วัว ป้องกันไม่ให้ด้านข้างรั่ว หลังคามุมด้วยจากหรือหญ้าคา นิยมกั้นรั้วด้วยไม้ไผ่ทั้งลำผูก (จตุพล อังศุเวช, 2555, หน้า 65)

              ชาวลาวเวียงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกัน สังเกตเห็นได้จาก หากมีการปลูกเรือนขึ้นใหม่ตัวของเรือนแต่ละหลังจะหันหลังคาไปในทิศทางเดียวกันหรือขนานกัน และเรือนที่อยู่ตรงกันข้ามจะมีการหันส่วนที่เป็นหัวนอนของแต่ละเรือนเข้าหากัน นอกจากนี้ในเรือนแต่ละหลัง หรือในกลุ่มที่เป็นเครือญาติกัน มักมีบ่อน้ำบาดาลสำหรับใช้บริโภคในชีวิตประจำวันไว้ร่วมกันอีกด้วย  

              ในแต่ละกลุ่มบ้านนอกจากมีเรือนพักอาศัยและพื้นที่ทำกินแล้ว ยังมีสถานที่สำคัญ อย่างเช่น “วัด” และ “หอผีบ้าน” โดยทั้งสองส่วนนี้มีเหตุผลในการสร้างและตำแหน่งที่แตกต่างกัน กล่าวคือ “วัด” ถูกสร้างขึ้นให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ รวบรวมผู้คนในชุมชนให้เข้ามาร่วมกันทำกิจกรรมอันสะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์และความเชื่อของสังคมนั้น ๆ ในขณะเดียวกันยังทำหน้าที่สร้างเสริมคุณค่าทางวัฒนธรรมในด้านความดีงามอีกด้วย โดยส่วนมากวัดจะสร้างอยู่ในเขตบ้านและสร้างขึ้นจากความภาคภูมิใจ ชาวบ้านจะรวบรวมเงินทองและอุทิศตนเพื่อการสร้างวัด ในขณะที่หอผีบ้านถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่รวมดวงวิญญาณของผู้ตาย ผีเจ้าถิ่นหรือเทวดาอารักษ์ต่าง ๆ และทำหน้าที่ตอบสนองความต้องการทางวัตถุ เช่น อาหาร สุขภาพ และการป้องกัน หอผีบ้านจึงมีหน้าที่ดูแลบ้าน เขตแดน ไร่นาและป่า ดังนั้น ตำแหน่งที่ตั้งของหอผีบ้านจึงอยู่นอกเขตที่อยู่อาศัย ซึ่งชาวบ้านจะไม่นิยมเข้าไปในเขตบริเวณของหอผีบ้าน จะมีเพียงหมอจ้ำผีบ้านหรือเจ้าจ้ำผีบ้านซึ่งเป็นผู้ดูแลหอผีและเส้นไหว้อย่างสม่ำเสมอ (วันดี พินิจวรสิน, 2555, หน้า 41-43)

              หลังจากอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ชาวลาวเวียงได้นำรูปแบบของสิ่งปลูกสร้าง อย่างเช่น “เรือน” เข้ามาด้วย ในช่วงแรกเรือนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากมายนัก ผังพื้นและรูปทรงยังมีลักษณะเป็นเรือนลาว ใต้ถุนเป็นพื้นที่โล่งสำหรับเป็นที่อยู่ของวัว และเก็บอุปกรณ์ทำนา วัสดุที่ใช้สร้างเรือนมีทั้งที่เป็นไม้จริงซึ่งมักเป็นของผู้มีฐานะในชุมชนและเรือนเครื่องผูกทำด้วยไม้ไผ่สำหรับผู้มีรายได้ไม่มากนัก ถึงแม้เรือนลาวเวียงจะสร้างจากวัสดุต่างชนิดตามฐานะของเจ้าของเรือน แต่กลับมีสิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ แผนผังอันเป็นองค์ประกอบหลักของเรือน ประกอบด้วย เรือนนอน ไม้แป้นท่อง ระเบียง นอกชาน เรือนครัว และยุ้งข้าว ในส่วนของเรือนนอนซึ่งเป็นเรือนหลักมีขนาด 3 ช่วงเสา วางตัวตามแนวแกนทิศตะวันออก – ตะวันตก ทั้งนี้เป็นเพราะเรือนลาวถือคติไม่วางขวางตะวัน หน้าบ้านจึงหันไปตามทิศเหนือ – ใต้ ภายในเรือนนอนมีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน คือในเรือนและนอกเปิง เรือนนอนเป็นห้องที่ปิดมิดชิดมีขนาด 2 ช่วงเสา ใช้เป็นห้องนอนของลูกสาว มีประตูเข้าออกจากนอกเปิง นอกเปิงนี้มีลักษณะเป็นห้องว่างบริเวณหน้าห้องในเรือนเป็นที่นอนของผู้เฒ่าผู้แก่ คนภายนอกห้ามเข้าก่อนได้รับอนุญาต หากละเมิดถือว่าผิดผีต้องทำพิธีขอขมา ส่วนนอกเปิงนี้บางครั้งเรียกว่า “ห้องศพ” หรือ “ห้องผี” เป็นพื้นที่ตั้งหิ้งพระ บางบ้านจะมีหิ้งคุณพระ หรือหิ้งผีตั้งอยู่ด้วย ต่อจากส่วนของเรือนอนเป็นพื้นไม้แป้นท่องมีลักษณะเป็นไม้กระดานขนาดใหญ่ ใช้เป็นที่นั่งของพระสงฆ์หรือแขกผู้ใหญ่ ห้ามลูกผู้หญิงไปนั่งหรือนอน โดยเฉพาะลูกเขย เพราะเชื่อว่า จะกลายเป็นคนเกียจคร้าน ไม่รู้จักที่ต่ำที่สูง ส่วนระเบียงจะอยู่ต่ำลงมาใช้เป็นที่นอนของพ่อแม่ ระดับต่ำลงมาจากระเบียงเป็นพื้นนอกชานมีลักษณะเปิดโล่งมักอยู่ทางทิศใต้ จากนอกชานจึงเป็นบันไดลงชั้นล่าง โดยลักษณะบันไดบ้านในอดีตสามารถยกขึ้นเก็บบนเรือนได้ สาเหตุเพื่อป้องกันขโมยและสัตว์ร้ายต่าง ๆ ส่วนครัวเรือนจะอยู่ทางด้านหลังของบ้านในทิศตะวันตก ไม่ติดกับเรือนนอนเพื่อป้องกันควันจากการหุงหาอาหารเข้าไปในตัวเรือน ใกล้ ๆ กับครัวเรือนเป็นที่ตั้งของยุ้งข้าว (วันดี พินิจวรสิน, 2555, หน้า 65-67)

              เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไปที่อยู่อาศัยของชาวลาวเวียงก็มีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยอาคารบ้านเรือนส่วนใหญ่สร้างด้วยการก่ออิฐฉาบปูน และมีรูปแบบตามสมัยนิยมมากขึ้น มีการใช้เสาเรือนเป็นเสาคอนกรีต พื้นใต้ถุนเรือนมีทั้งที่เป็นพื้นดินอัดแน่น กั้นส่วนไว้เลี้ยงสัตว์ และพื้นดาดคอนกรีตใช้เก็บของ ตากผ้า ตั้งแคร่ไม้สำหรับนั่งเล่น พบปะพูดคุยกับเพื่อนบ้าน และพักผ่อนหย่อนใจ (จตุพล อังศุเวช, 2555, หน้า 76)

  • อาหารของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              คงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่า “อาหาร” คือ 1 ในปัจจัย 4 สำคัญสำหรับการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตั้งแต่อดีตนานมา มนุษย์เรียนรู้วิธีการล่าสัตว์ หาของป่า จนสร้างสรรค์นวัตกรรมที่พัฒนาคุณภาพชีวิตด้านการกิน นั่นคือ การทำเกษตรกรรม และต่อยอดการผลิตจนเกิดอัตลักษณ์ของอาหารในแต่ละชุมชน ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุดิบที่แตกต่างกันตามภูมิประเทศและภูมิอากาศ  เช่นเดียวกับกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียงที่มีวิธีการและเทคนิคในการทำอาหารในแบบฉบับเฉพาะ ทั้งนี้ความสำคัญของอาหารนอกเหนือจากสร้างพลังงานให้ร่างกายเพื่อการดำรงชีวิต ยังมีบทบาทสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมต่าง ๆ ของผู้คนในสังคม อาหารจึงไม่ใช่แค่คุณค่าเชิงโภชนาการ แต่มีคุณค่าและความหมายทางสังคมวัฒนธรรมกำกับอยู่ อาจกล่าวได้ว่า อาหารเป็นเอกลักษณ์เฉพาะที่สะท้อนถึงความเป็นพวกเดียวกัน และแสดงความแตกต่างทางวัฒนธรรมระหว่างคนแต่ละกลุ่ม อย่างไรตามเมื่อสังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องผู้คนมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กันมากขึ้น การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางอาหารก็เกิดขึ้นตามมา

              ชาวลาวเวียงพันผูกกับวิถีทางการเกษตรโดยมีอาหารหลักเลี้ยงปากท้อง คือ “ข้าว” เดิมทีชาวลาวเวียงกินข้าวเหนียวเช่นเดียวกับลาวกลุ่มอื่น ๆ แต่เมื่อต้องมาอยู่ในสภาพแวดล้อมและความใกล้ชิดกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่กินข้าวเจ้าเป็นหลัก ส่งผลให้ชาวลาวเวียงปรับตัวให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ ข้าวเหนียวจึงเป็นข้าวที่ชาวลาวเวียงใช้ทำเป็นขนม หรืออาหารที่ไม่ใช่อาหารหลัก สะท้อนให้เห็นว่า ชาวลาวเวียงมีการปรับเปลี่ยนวิถีวัฒนธรรมการกินของกลุ่มตน นอกจากข้าวยังมีอาหารประเภทอื่น ๆ ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ มีปลาร้าเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารคาวแทบทุกชนิด รวมทั้งอาหารที่ได้รับอิทธิพลจากชุมชนคือแกงกะทิประเภทต่าง ๆ แต่ได้นำมาประยุกต์ตามรสนิยมหรือความชอบด้วยการใส่ปลาร้าลงไปในแกง เช่น ป่นปลา แกงลาวหรือแกงเปรอะ แกงผ่าหรือแกงไข่ผ่า เป็นต้น  (สัจจา ไกรศรรัตน์, 2555, p. 80) 

              “ปลาร้า” นับเป็นภูมิปัญญาในการแปรรูปอาหารที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษของชาวลาว เกิดจากกรรมวิธีการนำปลามาหมักกับเกลือและข้าวคั่วหรือรำ เพื่อเก็บไว้กินได้นานปี ส่วนใหญ่นิยมบริโภคกันในครัวเรือน หากมีเป็นจำนวนมากจึงนำไปแลกเปลี่ยนข้าวกับชุมชนอื่น เกิดเป็นวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนปลาร้า ชาวลาวส่วนใหญ่นิยมบริโภคปลาร้ากับข้าวเจ้าและข้าวเหนียว วิธีการทำปลาร้าเริ่มจาก นำปลาน้ำจืดทั้งขนาดเล็กและใหญ่ มาขอดเกล็ดทำความสะอาด เอาไส้ออกทั้งหมดแล้วนำมาล้างด้วยน้ำจนสะอาด นำไปหมักกับเกลือและรำข้าว บรรจุใส่ไหปิดฝาให้สนิททิ้งไว้ประมาณ 1 ปี แล้วจึงนำมาเป็นอาหาร

              นอกจากนี้ยังมีการแปรรูปปลาร้าให้อยู่ในหลายรูปแบบ ทั้งเป็นเครื่องปรุงรส ส่วนประกอบในการปรุงอาหาร และสร้างสรรค์เมนูอาหารเลิศรส เช่น ปลาร้าทอด โดยมากมักเป็นปลาร้าที่ทำจากน้ำจืดขนาดใหญ่ เช่น ปลานิล ปลาช่อน เมื่อหมักได้ตามกำหนดเวลา จึงนำมาทอดให้สุกโรยด้วยหอมเจียว กินกับผักพื้นบ้าน หรือทำเป็นปลาร้าสับทรงเครื่อง โดยนำปลาร้าที่ทำจากน้ำจืดขนาดเล็ก เช่น ปลาสร้อยขาว ปลากระดี่นำมาสับให้ละเอียด แล้วผสมกับเครื่องปรุง ได้แก่ น้ำมะขาม พริกสด พริกป่น ตะไคร้ หัวหอม และใบมะกรูดซอยละเอียด หากต้องการให้ปลาร้าสุกจะนำไปผัดอีกครั้งหนึ่ง แล้วนำไปกินกับผักพื้นบ้าน

              ปัจจุบันการผลิตปลาร้ายังคงสืบทอดองค์ความรู้เดิม แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนไป คือ สูตรการทำปลาร้า มีอัตราส่วนระหว่าง ปลา เกลือ และข้าวคั่วหรือรำคงที่แน่นอน วัตถุดิบในการทำบางอย่าง เช่น ข้าวเบือปลาร้า (ข้าวคั่ว) นิยมทำจากข้าวสารผสมข้าวเปลือก ส่วนรำนิยมใช้ที่คั่วให้สุก และชนิดของปลาร้าเพิ่มขึ้นมา 3 ชนิด คือ ปลาร้าข้าวคั่ว ปลาร้ารำ และปลาร้าผสมข้าวคั่ว และการผลิตยังเพิ่มเป็น 4 ลักษณะ คือ การผลิตเพื่อบริโภคภายในครัวเรือนเท่านั้น การผลิตปลาร้าทั้งเพื่อบริโภคและจำหน่าย การผลิตปลาร้าเพื่อจำหน่ายเชิงธุรกิจ และการรวมกลุ่มผลิตปลาร้าเพื่อจำหน่ายเป็นสินค้าชุมชน (สุชาวดี โหมกลาง, 2554)

              นอกจากปลาร้าจะเป็นอาหารขึ้นชื่อที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวลาวเวียงแล้ว ยังมีอาหารอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น

              ป่นปลา เป็นอาหารประเภทน้ำพริก มีขั้นตอนการทำคือ  นำปลาช่อน ปลาหมอหรือปลานิลมาทำความสะอาดขอดเอาเกล็ดและไส้ออก  ต้มในน้ำเดือด ใส่ปลาร้า เมื่อปลาสุกและเปื่อยแล้ว  แกะเอาแต่เนื้อปลามาตำผสมกับพริกและหัวหอมที่ย่างหรือเผาจนสุก  ใส่น้ำปลาร้าที่ใช้ต้มปลาปรุงรส กินแกล้มกับผักพื้นบ้าน

              แกงลาว หรือแกงเปรอะ เป็นแกงที่นิยมกินกันมากในกลุ่มชนชาวลาว ปรุงจากผักพื้นบ้านและสมุนไพร มีขั้นตอนการเตรียมเครื่องปรุง ดังนี้  นำหน่อไม้สดไปต้มแล้วหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ  จากนั้นนำฟักทองมาหั่นเป็นชิ้นพอประมาณ เด็ดชะอมและใบแมงลัก นำใบย่านางมาคั้นเพื่อนำน้ำไปใช้ นำข้าวเบือที่ได้จากข้าวสารตำละเอียดไปผสมน้ำ เตรียมเครื่องแกง ที่ประกอบด้วย พริกสด หอมแดง ข่า ตะไคร้ กระชาย มาตำให้ละเอียดแล้วจึงเริ่มขั้นตอนการปรุงโดย นำใบย่านางมาต้มให้เดือด ใส่เครื่องแกง แล้วจึงใส่หน่อไม้และผักลงไป ตามด้วยน้ำข้าวเบือ ปรุงรสด้วยน้ำปลาร้า เกลือ เมื่อได้รสชาติถูกปากจึงตักขึ้นมาใส่ภาชนะเพื่อกินเป็นอาหารประจำเรือน

              แกงผ่าหรือไข่ผ่า เป็นพืชน้ำ มีสีเขียวขนาดเล็กคล้ายไข่ปลา พบมากในแหล่งน้ำธรรมชาติที่น้ำไหลเวียน ชาวลาวเวียงจะใช้สวิงช้อนเพื่อนำมาแกง มีขั้นตอนการทำ เริ่มจาก นำผ่ามาล้างน้ำให้สะอาด แล้วนำไปแกงกับพริกแกงที่ประกอบด้วย พริกแห้ง หอม กระเทียม ตะไคร้ ใบมะกรูด ปรุงรสด้วยน้ำปลา ปลาร้า และโรยด้วยใบแมงลัก ปัจจุบันมีการใส่หมูบด หรือกากหมูด้วยเพื่อเพิ่มรสชาติ

              สำหรับอาหารหวานหรือขนม ชาวลาวเวียงมีขนมที่มีลักษณะเฉพาะอยู่หลายชนิด ยกตัวอย่างเช่น ข้าวต้มหัวหงอก ขนมก้นกระทะ แป้งจี่ ข้าวจี่ ขนมข้าวปาดดำ   เป็นต้น (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 55)

  • ประเพณีและเทศกาลสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ชาวลาวเวียงมีประเพณี พิธีกรรมที่สืบทอดและปฏิบัติต่อกันมาอย่างช้านาน จนกลายเป็นแบบแผนในการดำเนินชีวิต แต่ละช่วงของสถานภาพบุคคลตั้งแต่เกิดจนตาย ในแต่ละพิธีกรรมสร้างสมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคมและเป็นที่นิยมในการประพฤติปฏิบัติ โดยส่วนใหญ่ประเพณีเหล่านี้มักประกอบขึ้นเพื่อให้เป็นสิริมงคลและเป็นการสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตที่สัมพันธ์ต่อเนื่องตั้งแต่เกิดจนตาย โดยมีพิธีกรรม ประเพณีสำคัญในรอบปีได้แก่ 

    พิธีใต้หางประทีป

              เป็นพิธีที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ จากความเชื่อตามพุทธประวัติที่ว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ไปโปรดมารดาบนสวรรค์ในระหว่างเข้าพรรษา แล้วเสด็จกลับลงมายังโลกมนุษย์ในวันออกพรรษา สาธุชนต่างปิติยินดีในจริยวัตรของพระพุทธองค์จึงได้ทำพิธีไต้ประทีป ชาวลาวเวียงตลอดจนภิกษุสามเณรต่างจุดประทีปโคมไฟ เพื่อเป็นพุทธบูชาพระพุทธองค์ ชาวลาวเวียงจะร่วมกันจัดวัดสร้าง “ฮ้านประทีป” ขึ้นที่หน้าพระอุโบสถ สร้างด้วยเสาสี่ต้นใช้ไม้ไผ่หรือไม้อื่นได้ตามความเหมาะสม ประดับด้วยต้นกล้วยต้นอ้อยระหว่างเสาสี่ต้น ยกพื้นสูงประมาณหนึ่งเมตร พื้นทำด้วยไม้ไผ่สานขัดแตะตาห่าง ๆ ทำพิธี 3 วันในวันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำและแรม 1 ค่ำ เดือน 11 โดยจะจุดประทีป ธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัยที่ฮ้านประทีป พระสงฆ์ทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ที่ไม่สะดวกที่จะมาทำพิธีที่วัดก็จะไต้หางประทีปที่หน้าบ้านของตนเองจนครบ 3 วันเช่นกัน เมื่อเสร็จพิธีจะมีกิจกรรมรื่นเริงด้วยการละเล่นรำวง ลำแคน ตามวิถีประเพณี (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 27-28)

    พิธีไต้หางพระทายหรือใต้หางพระทราย

              เป็นการบูชาพระทรายในเทศกาลสงกรานต์ พิธีนี้จะเริ่มจากการสรงน้ำพระและแห่ดอกไม้รอบหมู่บ้านในช่วงเย็นเป็นเวลา 3 วัน หลังจากการแห่ดอกไม้แล้วชาวลาวเวียงขนทรายเข้ามาก่อกองทรายหลาย ๆ กองไว้ในบริเวณวัด มีไม้ไผ่ปักไว้เป็นเสากลาง นำดอกไม้ธูปเทียนมาปักไว้รอบกองทรายที่ก่อไว้ จากนั้น พระสงฆ์จะทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ และตามด้วยกิจกรรมรื่นเริง รำวง รำแคน  (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 28)  

    บุญเข้ากรรม

              เกี่ยวกับพระภิกษุต้องอาบัติสังฆาทิเสส ต้องอยู่กรรมจึงจะพ้นอาบัติ ถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ในระหว่างภิกษุเข้ากรรม ญาติ โยม สาธุชน ผู้หวังบุญจะไปร่วมทำบุญบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และฟังธรรม เป็นการร่วมทำบุญระหว่างพระภิกษุ สมาเณร และชาวบ้านกำหนดวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย เรียกอีกชื่อว่า “บุญเดือนอ้าย”

    บุญคูนลาน

              จัดขึ้นที่วัด หรือที่บ้านก็ได้ โดยชาวบ้านจะเอาข้าวมารวมกันแล้วนิมนต์พระภิกษุมาเจริญพระพุทธมนต์  จัดน้ำอบน้ำหอมไว้ประพรม วนด้ายสายสิญจน์บริเวณรอบกองข้าว ตอนเช้ามีการถวายอาหารบิณฑบาต และนำเอาน้ำพระพุทธมนต์ไปรดกองข้าว ถ้าทำที่บ้านเรียกว่า "บุญกุ้มข้าว" กำหนดในเดือนยี่ เรียกอย่างหนึ่งว่า “บุญเดือนยี่” (ณัฐพจน์ โพธิ์เจริญ, 2558, หน้า 70)

    บุญข้าวจี่

              เป็นงานบุญประเพณีของชาวลาวเวียงที่ทำบุญโดยนำข้าวจี่ไปถวายแก่พระสงฆ์ ซึ่งทำในวันขึ้น 15 ค่ำเดือนสาม สาเหตุที่ทำบุญข้าวจี่ในเดือนสาม เนื่องจากเป็นช่วงสิ้นสุดฤดูกาลทำนาชาวนาได้ข้าวขึ้นยุ้งใหม่จึงอยากร่วมกันทำบุญข้าวจี่ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ สำหรับมูลเหตุดั้งเดิมที่มีการทำบุญข้าวจี่ มีเรื่องเล่าตามความเชื่อว่า ในสมัยพุทธกาล นางปุณณะทาสี ได้ทำขนมแป้งข้าวจี่ถวายแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอานนท์เถระ ครั้นถวายแล้วนางคิดว่าพระองค์คงไม่เสวยและอาจเอาไปทิ้งให้สุนัขหรือกากินเพราะอาหารที่นางถวายไม่ประณีตน่ารับประทาน เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบภาวะจิตของนางปุณณะทาสี จึงรับสั่งให้พระอานนท์ปูลาดอาสนะแล้วทรงประทับนั่งฉันท์ ณ ที่นางถวายนั้น เป็นผลให้นางบังเกิดความปีติยินดี และยิ่งได้ฟังพระธรรมเทศนาก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลด้วยอานิสงฆ์ที่ถวายขนมแป้งจี่ ชาวอีสานจึงเชื่อในอานิสงฆ์ของทานดังกล่าวจึงพากันทำข้าวจี่ถวายทานแด่พระสงฆ์สืบต่อมา

              ข้าวจี่ คือ การนำข้าวเหนียวมานึ่งให้สุกแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนทาเกลือ เคล้าให้ทั่วเอาไม้เสียบย่างไฟ เมื่อข้าวสุกเกรียมแล้วชุบทาด้วยไข่ที่ตีแล้วย่างซ้ำกลายเป็นไข่เคลือบข้าวเหนียวเสร็จแล้วถอดไม้ออกนำไปถวายพระภิกษุสามเณรฉันตอนเช้า  (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 33-34)      

    บุญสรงน้ำ (

              ประเพณีวันสงกรานต์ ) เป็นงานบุญประจำปี เชื่อกันว่าจะได้บุญมากเพราะเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยด้วย และมีการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนเชื่อกันว่าจะเป็นสิริมงคลแก่ลูกหลาน ภายในงานมีการร้องรำทำเพลงเกี้ยวพาราสีของผู้ใหญ่ในชุมชมในประเพณีสงกรานต์

    บุญซำฮะ  

              ซำฮะ คือการชำระล้างสิ่งสกปรก รกรุงรังให้สะอาดหมดจด เมื่อถึงเดือน 7 ชาวบ้านจะรวมกันทำบุญโดยยึดเอา "ผาม หรือศาลากลางบ้าน" เป็นสถานที่ทำบุญ ชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ธูปเทียน โอ่งน้ำ ฝ้ายใน ไหมหลอด ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายมารวมกันที่ผามหรือศาลากลางบ้าน ช่วงเย็นนิมนต์พระสงฆ์มาเจริญพระพุทธมนต์  ตอนเช้าถวายอาหาร เมื่อเสร็จพิธีทุกคนจะนำน้ำพระพุทธมนต์  ฝ้ายผูกแขน แห่ทรายของตนกลับบ้าน นำน้ำมนต์ไปรดลูกหลาน ทรายนำไปหว่านรอบบ้าน ฝ้ายผูกแขนนำไปผู้กขอมือลูกหลานเพื่อให้เกิดสวัสดุมงคลตลอดปี ถ้ามีการเจ็บไข้ได้ป่วยต้องมีการสวดถอด   เป็นต้น

    บุญเข้าพรรษา

              กำหนดวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเดือน 8" ในเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์จะต้องบำเพ็ญไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ให้บริบูรณ์  ส่วนคฤหัสถ์ก็จะต้องบำเพ็ญบุญกริยาวัตถุ 3 คือทาน ศีล ภาวนา ให้เต็มเปี่ยม ช่วงเช้าญาติโยมจะนำอาหารมาถวายพระภิกษุ ตอนบ่ายนำดอกไม้ธูปเทียน ข้าวสาร ผ้าอาบน้ำฝน รวมกันที่ศาลาวัด ตอนเย็นญาติโยมพากันทำวัตรเย็นแล้วฟังเทศน์ 

    บุญข้าวประดับดิน

              กำหนดทำบุญในเดือน 9 ภายในงานมีการนำอาหาร และของขบเคี้ยวเป็นห่อ ๆ แล้วนำไปถวายวางแบไว้กับดิน จึงเรียกว่า "บุญข้าวประดับดิน" ชาวบ้านจะจัดอาหารคาว หวาน และหมากพลูบุหรี่ กะว่าให้ได้ 4 ส่วน ส่วนที่ 1 เลี้ยงดูกันในครอบครัว ส่วนที่ 2 แจกให้ญาติพี่น้อง ส่วนที่ 3 อุทิศไปให้ญาติที่ตาย ส่วนที่ 4 นำไปถวายพระสงฆ์ ทำเป็นห่อ ๆ ให้ได้พอควร โดยนำใบตองกล้วยมาห่อของคาว หวาน หมากพลูบุหรี่ แล้วเย็บรวมกันเป็นห่อใหญ่ในระหว่าง เช้ามืดในวันรุ่งขึ้นจะนำห่อเหล่านี้ไปวางไว้บริเวณวัด ด้วยถือว่าญาติพี่น้องจะมารับของที่นั่น (เชื่อกันว่าเป็นวันยมทูตเปิดนรกชั่วคราว ให้สัตว์นรกมารับของทานในระยะหนึ่ง และยังถือว่าเป็นวันกตัญญูอีกด้วย) ตอนเช้านำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปถวายพระ ฟังพระธรรมเทศนา เสร็จแล้วทำพิธีอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว

    บุญข้าวสาก

              นิยมจัดในเดือน 10 โดยการเขียนชื่อลงในพาข้าว (สำรับกับข้าว) เรียกว่าข้าวสาก (สลาก) ญาติโยมจะจัดอาหารเป็นห่อ ๆ แล้วนำไปแขวนไว้ตามต้นไม้ โดยทำกันในตอนกลางวันก่อนเพล เป็นอาหาร คาว หวาน พอถึงเวลา 4 โมงเช้า พระสงฆ์จะตีกลองโฮม (รวม) ญาติโยมจะนำพาข้าว (สำรับกับข้าว) ของตนมารวมกัน ณ ศาลาการเปรียญ เจ้าภาพจะเขียนชื่อลงในกระดาษม้วนลงในบาตร เมื่อพร้อมแล้วหัวหน้า กล่าวนาคำถวายสลากภัต จบแล้วยกบาตรสลากไปให้พระจับ ถูกชื่อใครก็ให้ไปถวายพระองค์นั้น ก่อนจะถวายพาข้าวให้นำพาข้าว 1 พา มาวางหน้าพระเถระ แล้วให้พระเถระ กล่าวคำอุปโลกน์  (ณัฐพจน์ โพธิ์เจริญ, 2558, หน้า 72-77)

    บุญกระยาสารทหรือสารทลาว

              ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เป็นงานบุญประเพณีที่ทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษ ญาติพี่น้องที่ล่วงลับไป แสดงออกถึงความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ รวมทั้งเลี้ยงตอบแทนและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ปกป้องรักษาไร่นา ตามความเชื่อที่สืบทอดกันมาแต่โบราณที่เชื่อว่าเป็นวันที่ยมบาลจะปล่อยวิญญาณและภูตผีปีศาจทั้งหลายจากนรกที่ต้องจองจำอยู่ต่อเนื่องจากผลกรรมที่ตนได้เคยทำไว้ตอนมีชีวิตอยู่ให้มาท่องเที่ยวเยี่ยมเยียนลูกหลานบนโลกมนุษย์ โดยจะเริ่มปล่อยตัวออกจากนรกในทุกวันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 โดยมีจุดประสงค์ให้มารับส่วนบุญกุศลจากลูกหลานญาติพี่น้องที่ได้เตรียมการอุทิศไว้ให้ หลังจากนั้นก็จะกลับไปยังนรก ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 10 และช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะแก่การทำบุญ เนื่องจากในช่วงเดือน 10 นี้ ชาวนาได้หว่านข้าว ปักดำข้าวในท้องนาเรียบร้อยแล้วเป็นช่วงรอเก็บเกี่ยวผลผลิต จึงมีเวลาว่างพอที่จะทำบุญเพื่อเลี้ยงตอบแทนและขอบคุณสิ่งศักดิ์สิทธิ์

              กิจกรรมสำคัญสำหรับประเพณีนี้คือ การกวนกระยาสารทและจัดหาผลไม้ประกอบพิธีบุญ ซึ่งกระยาสารทนี้นอกจากจะกวนเพื่อถวายพระสงฆ์แล้วยังเป็นของฝากนำไปไหว้ญาติผู้ใหญ่ที่อยู่ห่างไกลหรือเพื่อนสนิทมิตรสหายที่เคารพนับถือ ในวันทำบุญชาวลาวเวียงจะแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่สวยงามแบบชาวลาวเวียง นำอาหารคาวหวาน กระยาสารท และผลไม้ต่าง ๆ ไปถวายพระภิกษุสงฆ์ โดยชาวลาวเวียงจะเตรียมกวนกระยาสารทหรือเรียกว่าข้าวตอกแตกก่อนถึงวันทำบุญ 3-4 วัน นอกจากอาหารที่เตรียมสำหรับถวายพระแล้วชาวลาวเวียงจะเตรียมห่อข้าวน้อย (ข้าวแจกข้าวยาย) เพื่อนำไปเลี้ยงผีปู่พ่อแม่ปู่ย่าตายาย เจ้ากรรมนายเวร ผีไม่มีญาติทั้งหลาย โดยหลังจากเสร็จพิธีทำบุญก็จะนำห่อข้าวแจกข้าวยายไปวางไว้ตามต้นไม้ กำแพงวัด หรือเจดีย์บรรพบุรุษ และนำข้าวแจกอีกหนึ่งห่อไปไว้ตามไร่นา เพื่อเลี้ยงเจ้าไร่เจ้านาหรือผีตาแฮก ซึ่งเป็นผีประจำท้องไร่ท้องนา ถือกันว่าเป็นผีที่ปกปักรักษาพืชสวนไร่นา และทำให้ข้าวกล้า เจริญงอกงาม อุดมสมบูรณ์ การทำนาจะได้ผลดี เก็บเกี่ยวได้ผลผลิตมาก (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 40-42)

  • การเกิดของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ชาวลาวเวียงเชื่อว่าขณะตั้งครรภ์ มารดาต้องดูแลครรภ์เป็นอย่างดีโดยเน้นเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ อย่างเช่น ห้ามกินของที่มีรสชาติจัดจ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กที่อยู่ในครรภ์ร้อนเนื้อร้อนตัว ห้ามกินเนื้อวัวควาย เพราะเชื่อว่าจะทำให้เกิดเมือกไขมันติดที่ตัวเด็ก เมื่อคลอดออกมาจะทำให้ทำความสะอาดยาก ห้ามกินสัตว์ที่ฟักไม่เป็นตัวหรือตายขณะอยู่ในท้อง เช่น ไข่ข้าวหรือลูกวัว เป็นต้น เพราะเชื่อว่า จะทำให้ลูกในท้องเสียชีวิตเช่นเดียวกับสัตว์ดังกล่าว นอกจากนี้ผู้เป็นแม่จะต้องละเว้นจากการทำชั่ว รักษาสภาพจิตใจให้ผ่องใส เพราะถือว่าอกุศลต่าง ๆ ที่เกิดจากการกระทำของพ่อแม่จะส่งผลถึงตัวลูกที่อยู่ในครรภ์ นอกจากนี้ยังมีข้อห้ามปฏิบัติอื่น ๆ อีก เช่น ห้ามตำหนิติเตียนหรือเลียนแบบผู้ที่มีสภาพร่างกายพิการ เพราะเชื่อว่าลูกที่คลอดออกมาจะพิการเหมือนคนที่ถูกล้อเลียนไป ห้ามนั่งขวางบันไดขวางประตู เพราะเชื่อว่าลูกที่คลอดออกมาจะมีความบกพร่องทางจิต ห้ามอาบน้ำในเวลากลางคืน เพราะจะทำให้เมื่อคลอดลูกออกมาแล้วมีน้ำคาวปลาออกมามากเกินไป ห้ามไปดูผู้หญิงที่กำลังคลอดลูก เพราะเชื่อว่าเด็กที่อยู่ในครรภ์ชวนกันอยู่ในครรภ์ต่อ ไม่ยอมคลอดออกมาง่าย ๆ ห้ามมองดูสุริยุปราคาหรือจันทรุปราคา เพราะเชื่อว่าเด็กที่คลอดออกมาจะมีผิวพรรณกร้านดำหรือพิการทางสายตา

              เมื่อถึงกำหนดคลอด ผู้เป็นพ่อจะพาหมอตำแยมาที่บ้าน หมอตำแยจะคลำที่ท้อง เพื่อดูว่าเด็กเลื่อนเอาศีรษะลงมาอยู่ในตำแหน่งที่จะคลอดแล้วหรือยัง จากนั้นจะสั่งให้ผู้เป็นสามีของหญิงมีครรภ์จัดเตรียมความพร้อมในการทำคลอด ตั้งแต่ต้มน้ำร้อน เตรียมก้อนถ่านไฟหุงข้าว จนถึงการนำเชือกหรือผ้าขาวม้าไปผูกติดกับขื่อเพื่อทำเป็นบ่วงให้หญิงมีครรภ์ได้จับถ่วงเพื่อโหนตัวขึ้นเมื่อมีอาการเจ็บครรภ์ ในขณะเดียวกันให้เปิดประตูและนำไม้ค้ำยันที่แผงหน้าต่างออกให้หมด เมื่อหญิงมีครรภ์มีอาการเจ็บที่ท้องถี่มากขึ้น หมอตำแยจะให้หญิงมีครรภ์นอนเอนหลังลงแล้วชันเข่าทั้งสองข่างขึ้นพร้อมกับโหนเชือกที่ผูกไว้ ส่วนหมอตำแยจะนั่งให้การช่วยเหลือโดยพูดให้กำลังใจและให้จังหวะในการเบ่ง เมื่อศีรษะของเด็กลงมาอยู่ในบริเวณช่องคลอดแล้ว หมอตำแยก็จะสั่งให้หญิงมีครรภ์ออกแรงเบ่งให้เต็มที่ พร้อมกับใช้มือทั้งสองข้างช่วยกดบริเวณท้องน้อยและบั้นเอวของหญิงมีครรภ์เพื่อให้เด็กคลอดออกมาเร็วขึ้น

              เมื่อเด็กพ้นออกมาแล้ว หมอตำแยจะเอามือบีบเคล้นตรงหน้าท้องของหญิงมีครรภ์ให้แน่นอีกครั้งเพื่อให้รกไหลหลุดออกมาให้หมด หลังจากที่เด็กคลอดออกมาแล้วหมอตำแยจะอุ้มเด็กให้นอนคว่ำหน้าลงแล้วใช้นิ้วชี้ล้วงเอาน้ำคร่ำที่อยู่ในปากของเด็กออกให้หมด ในกรณีที่เด็กไม่ร้องไห้ หมอตำแยจะจับที่ขาทั้งสองข้างแล้วประคองเอาศีรษะของเด็กให้ห้อยลงพร้อมกับใช้ฝ่ามือตีที่ก้นเบา ๆ เพื่อให้เด็กส่งเสียงร้องออกมา จากนั้นนำผ้าชุบน้ำอุ่นเช็ดทำความสะอาดแล้วจึงนำมาสะอาดมาหุ้มตัวเด็กเพื่อปรับอุณหภูมิของร่างกาย เสร็จเรียบร้อยแล้วหมอตำแยจะตัดสายสะดือเด็กโดยใช้ฝ้ายมัดตรงหัวท้ายระหว่างสายสะดือทั้ง 2 จุด แล้วใช้ผิวไม้ไผ่รวกทำการตัดสายสะดือโดยมีก้อนถ่านไฟหุงข้าวหรือหินลับมีดรองรับอยู่ข้างใต้ จากนั้นหมอตำแยจะใช้ขมิ้นผสมดินสอพองมาพอกตรงบริเวณสะดือเพื่อเป็นยาสมานแผลให้สะดือแห้งหลุดเร็วขึ้น ส่วนสายสะอืดที่ถูกตัดขาดจะนำมาผสมคลุกเคล้าให้เข้ากับเกลือแล้วนำมาห่อด้วยใบตองเพื่อป้องกันการส่งกลิ่นเน่าเหม็น แล้วจึงส่งให้ผู้เป็นพ่อนำไปฝังบริเวณใต้บันไดเรือน ตามที่ชาวลาวเวียงบางกลุ่มเชื่อว่า จะทำให้เด็กเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีความรักและห่วงใยในพ่อแม่และถิ่นฐานบ้านเกิด หลังจากนั้นผู้เป็นแม่จะต้องอยู่ไฟเพื่อเป็นการรักษาสภาพร่างกายหลังคลอดเป็นระยะเวลาตั้งแต่ 7 วัน 15 วัน หรือ 21 วัน ซึ่งหากเป็นลูกคนแรกแม่จะต้องอยู่ไฟตั้งแต่ 15 หรือ 21 วัน เป็นอย่างน้อย โดยก่อนอยู่ไฟผู้เป็นแม่จะต้องทำพิธีดับพิษไปเสียก่อน เพื่อป้องกันมิให้เกิดอันตรายจากความร้อนในขณะกำลังอยู่ไฟ โดยหมอตำแยผู้นำในการประกอบพิธีกรรมและเป็นผู้จัดเตรียมเครื่องบูชาอันประกอบด้วย หมาก พลู ยาสูบ เกลือ น้ำ และขันธ์ 5 โดยหมอตำแยจะบอกกล่าวดังนี้

              “สาธุ พระพุทธคุณ พระธรรม พระสงฆ์ ลูกหลานสิมาขออยู่ฟืนอยู่กรรม ขอพ่อก้อนเส้าแม่ก้อนเส้า มารักสมรักษาลูกหลาน อย่าให้มีอันตรายอันใดแก่ลูกหลานนะ นะ”

    เมื่อกล่าวเสร็จ หมอตำแยจะนำเกลือหว่านไปที่เตา 3 ครั้ง แล้วพรมน้ำลงไปที่เตาอีก 1 ครั้ง เป็นอันเสร็จพิธี ผู้เป็นแม่จึงได้เริ่มช่วงเวลาของการอยู่ไฟส่วนใหญ่บนแคร่ไม้ใกล้ ๆ กับกองไฟ 2 กอง กองหนึ่งเพื่อต้มน้ำที่ผสมสมุนไพร เช่น ใบหนาด ไม้แก่นขาม สำหรับไว้อาบ ส่วนอีกกองสำหรับต้มน้ำสมุนไพร เช่น หัวปลีกล้วย ขั้วขนุน แก่นไม้แดง เป็นต้น สำหรับดื่ม

    เมื่อครบกำหนดของการอยู่ไฟ หมอตำแยจะต้องมาทำพิธีออกจากการอยู่ไฟ หรือที่ชาวชาวลาวเวียงเรียกว่า “ออกกรรม” มีการเตรียมของในพิธีประกอบด้วย หมากพลู ยาสูบ น้ำสะอาด และขัน 5 โดยหมอตำแยจะต้องกล่าว ดังนี้

              “สาธุ พระพุทธคุณ พระธรรม พระสงฆ์ พ่อก้อนเส้าแม่ก้อนเส้า ลูกหลานสิมาขอขอบคุณ ขอบคุณ ที่ได้ช่วยรักสมรักษาลูกหลาน บ่ให้มีอันตรายอันใด มื้อนี้ลูกหลานสิได้ขอออกกรรมแล้ว นะ”

    จากนั้นจะเป่าลงไปในไฟ 3 ครั้ง แล้วใช้น้ำที่เตรียมมาลาดลงไปบนกองไฟทั้ง 2 กองเป็นอันเสร็จพิธี หลังจากนั้น เมื่อทารกอายุครบ 1 เดือน พ่อแม่จะจัดทำพิธีโกนผมไฟ เพราะเชื่อว่าศีรษะเป็นของสูงไม่ควรมีสิ่งสกปรกติดออกมาหลังการคลอด จึงต้องโกนผมเก่าทิ้งไปเพื่อให้ผมใหม่ขึ้นมาแทน พิธีกรรมเริ่มขึ้นจากผู้สูงอายุจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย นำน้ำพระพุทธมนต์มาประพรมบนศีรษะเด็ก แล้วจึงใช้มีดโกนกริบที่เส้นผมของเด็ก  จากนั้นพ่อแม่ญาติพี่น้องต่างทยอยกันโกนผมคนละเล็กละน้อยจนกระทั่งเกลี้ยงเกลา ผู้เป็นแม่จึงอุ้มเด็กไปทำความสะอาดร่างกายด้วยการอาบน้ำพระพุทธมนต์ ส่วนผมที่โกนทิ้งนิยมใส่ลงในกระทงเพื่อนำไปลอยน้ำต่อไป (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 215-219)

              ปัจจุบันพิธีการอยู่ไฟของชาวลาวเวียงเกิดการเปลี่ยนแปลงและสูญหาย เนื่องจากความเจริญทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่มีอุปกรณ์การแพทย์ทันสมัยจึงส่งผลให้ประเพณีพิธีกรรมด้านการอยู่ไฟค่อย ๆ สูญหายไป

  • การแต่งงานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ในอดีตการเลือกคู่ของชาวลาวเวียงมีอยู่ด้วยกัน 2 ลักษณะ ดังนี้ ลักษณะแรกพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่เป็นผู้จัดหามาให้ อาจเกิดจากการที่พ่อแม่ทั้งสองฝ่ายรู้จักกันมาก่อน ส่วนลักษณะที่สองเป็นการรักใคร่ชอบพอกันเองระหว่างหญิงชาย ซึ่งมีโอกาสได้พบปะพูดคุยกันในงานประเพณีต่าง ๆ แต่การพบปะพูดคุยสนทนากันระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวต้องอยู่ในสายตาของพ่อแม่ฝ่ายหญิงตลอดเวลา หากการสนทนาเป็นไปได้ดีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายชายจะบอกพ่อแม่ให้ไปสู่ขอฝ่ายหญิง เมื่อพ่อแม่ฝ่ายชายผู้ที่จะมาเป็นคู่ครองเห็นฝ่ายหญิงว่าอยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสม เป็นคนขยันมีน้ำใจกิริยามารยาทเรียบร้อย ทอผ้าฝ้ายผ้าไหมได้เป็นอย่างดี มีความสามารถในการเรือน พ่อแม่ฝ่ายชายจึงส่งเถ้าแก่มาสู่ขอซึ่งมักเป็นผู้หญิงสูงอายุที่คนในหมู่บ้านนับถือ ส่วนพ่อแม่ฝ่ายหญิงจะพิจารณาคุณสมบัติของว่าที่ลูกเขยว่าผ่านการบวชเรียนเป็นพระภิกษุมาครบ 1 พรรษา ปฏิบัติหน้าที่รับราชการทหารหลังถูกหมายเกณฑ์เรียบร้อย อยู่ในวงศ์ตระกูลที่ดี เป็นคนขยันอดทน สามารถเป็นแรงงานของครอบครัวได้ พ่อแม่ของฝ่ายหญิงก็จะตอบรับการทาบทามจากเถ้าแก่

              จากนั้นเถ้าแก่และครอบครัวฝ่ายชายจะเดินทางมาสู่ขอและตกลงค่าสินสอดกับครอบครัวฝ่ายหญิง พร้อมขันหมากที่ใช้ในพิธีสู่ขอซึ่งประกอบด้วย หมากพลู ยาสูบ อย่างละ 9 อัน พร้อมเงิน 4 บาทใส่ไว้ในขันเพื่อมอบให้กับพ่อแม่ฝ่ายหญิงพร้อมกับให้เป็นผู้เรียกร้องค่าสินสอด โดยจะเริ่มตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไปและลงท้ายด้วยจำนวน 4 บาทเสมอ เพื่อเป็นค่าบูชาแก่ผีบรรพบุรุษของครอบครัวฝ่ายหญิง เมื่อตกลงเรียบร้อยแล้วพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายจะนำด้ายสายสิญจน์มาผูกแขนและให้พรกับหญิงสาว ส่วนพ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายหญิงจะผูกแขนให้พรแก่ชายหนุ่ม แล้วพ่อแม่ของฝ่ายชายจึงนำวันเดือนปีเกิดของทั้งคู่ให้พระภิกษุทำการผูกดวงและหาฤกษ์ยามเพื่อจัดพิธีแต่งงานต่อไป ส่วนมากพิธีแต่งงานจะจัดขึ้นที่บ้านของฝ่ายหญิง เพราะตามธรรมเนียมลาวเวียงจะให้ฝ่ายชายเข้ามาอาศัยอยู่ร่วมครอบครัวกับฝ่ายหญิงระยะหนึ่งก่อนแยกออกมาสร้างรอบครัวของตนเอง

              ก่อนถึงวันพิธี พ่อแม่ของฝ่ายหญิงจะใช้เวลาเตรียมงานก่อน 2 วัน วันแรกเป็นการตกแต่งสถานที่และทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อเตรียมต้อนรับญาติและแขกที่มาร่วมงาน มีการเตรียมอาหารทั้งคาวหวาน วันที่สองบรรดาเครือญาติและเพื่อนบ้านมาร่วมกันทำบายศรีสู่ขวัญให้กับคู่บ่าวสาวในพิธีสู่ขวัญ เมื่อถึงวันงานพิธีได้ฤกษ์ยามตามที่กำหนดไว้ พ่อแม่และญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าบ่าวจัดเตรียมขบวนแห่ขันหมากไปบ้านเจ้าสาว ในขบวนขันหมากประกอบด้วย เครื่องขันหมาก 3 ขัน มีขันใส่เงินค่าสินสอด ขันใส่หมากพลูใบเงินใบทอง และขันใส่เหล้าบุหรี่ โดยขันทั้งสามใบจะมีผ้าขาวทำเป็นกรวยครอบไว้เพื่อความเรียบร้อย นอกจากนี้จะมีเสื่อ 1 ผืน หมอน 2 ใบ ผ้าขาวม้า 2 ผืน ขันน้ำ โดยขันใส่เงินค่าสินสอดจะให้ญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายชายเป็นผู้ถือและเดินนำหน้าขบวนแห่ขันหมาก ในขบวนแห่ขันหมากมีการตีกลองยาวร้องเพลงและรำประกอบไปตลอดเส้นทาง โดยมีเจ้าบ่าวเดินตามหลังกลุ่มผู้ร้องรำทำเพลง ถัดลงไปจึงเป็นญาติพี่น้องและบรรดาเพื่อน ๆ ที่มาร่วมงานช่วยถือสิ่งของต่าง ๆ เมื่อเข้าใกล้บ้านเจ้าสาวจึงโห่ร้องเป็นการส่งสัญญาณว่าขบวนขันหมากมาถึงแล้ว

              เมื่อขบวนแห่มาถึงเจ้าบ่าวต้องชำระล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านเจ้าสาว  โดยจะมีน้องชายหรือน้องสาวของเจ้าสาวทำหน้าที่ถอดรองเท้าและล้างเท้าด้วยน้ำที่ผสมขมิ้น จากนั้นญาติพี่น้องของเจ้าสาวจะจูงเจ้าบ่าวขึ้นบ้าน โดยเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมเงินเพื่อใช้สำหรับเป็นค่าเปิดทางของประตูเงินประตูทอง เมื่อพ่อแม่และเครือญาติของฝ่ายเจ้าบ่าวขึ้นมาบนบ้านของเจ้าสาวเรียบร้อยแล้ว จึงนำเครื่องขันหมากไปมอบให้แก่พ่อแม่เจ้าสาว แล้วญาติของทั้งสองฝ่ายนำค่าสินสอดออกมานับเมื่อครบตามจำนวน พ่อแม่ของฝ่ายเจ้าสาวนำเมล็ดถั่วเขียวและข้าวเปลือกโปรยลงที่สินสอด เพราะเชื่อว่าจะทำให้ค่าสินสอดมีจำนวนเงินเพิ่มมากขึ้นเหมือนกับการงอกของเมล็ดพันธุ์ถั่วเขียวและข้าวเปลือก จากนั้นหมอขวัญจึงทำพิธีสู่ขวัญให้คู่บาวสาว โดยจัดให้คู่บ่าวสาวนั่งตรงข้ามกับตนโดยมีเครื่องบายศรีสู่ขวัญคั่นกลาง และรายล้อมด้วยญาติพี่น้อง หมอขวัญเริ่มทำพิธีโดยจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย พร้อมทั้งกล่าวคำอัญเชิญเทวดาเพื่อมาเป็นสักขีพยานในการแต่งงานและคุ้มครองให้เกิดความเป็นสิริมงคลแก่คู่บาวสาว จากนั้นนำสายสิญจน์มาพันรอบเครื่องบายศรี แล้วส่งผ่านไปให้คู่บ่าวสาวก่อนจะส่งผ่านไปสู่ทุกคนที่มาร่วมงาน จากนั้นจึงเริ่มกล่าวบทสู่ขวัญ กล่าวสอนสั่งเกี่ยวกับการปฏิบัติตนในชีวิตคู่และจบด้วยการอวยชัยให้พร หลังจากนั้นหมอขวัญจะนำไข่ต้มที่ที่ผ่าซีกออกด้วยด้วยเส้นด้ายมาทายชีวิตคู่หลังการแต่งงานของบ่าวสาว การทำนายสังเกตุจากลักษณะของไข่แดง หากว่าชีวิตคู่ของบ่าวสาวมีความสุขราบรื่นไข่แดงจะอยู่ตรงพอดี แต่หากไข่แดงเอียงไปข้างหนึ่งข้างใดหมอขวัญมักจะทำนายว่าชีวิตคู่หลังการแต่งงานไม่ราบรื่นนัก จึงต้องนำไข่ต้มอีกใบมาทำนายใหม่ ซึ่งหากผลการเสี่ยงทายออกมาเหมือนเดิม คู่บ่าวสาวต้องทำพิธีสะเดาะเคราะห์หลังพิธีแต่งงานแล้วเสร็จ เมื่อทำนายเสร็จแล้วหมอขวัญจะเลือกเอาไข่ต้มใบหนึ่งมามอบให้กับญาติผู้ใหญ่ของฝ่ายเจ้าสาวเพื่อนำไปป้อนให้กับคู่บ่าวสาว โดยใช้มือขวาป้อนไข่ต้อมครึ่งหนึ่งให้กับเจ้าบ่าว และใช้มือซ้ายป้อนไข่อีกครึ่งหนึ่งให้กับฝ่ายเจ้าสาว

              จากนั้นจึงนำสายสิญจน์ที่อยู่บนยอดของบายศรีมาผูกข้อมือให้กับคู่บ่าวสาวอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงให้พ่อแม่ของเจ้าบ่าวผูกข้อมือให้เจ้าสาว และให้พ่อแม่ของเจ้าสาวผูกข้อมือให้เจ้าบ่าว ซึ่งอาจมีการให้เงินในการผูกข้อมือด้วย เมื่อเสร็จพิธีเจ้าบ่าวรวมทั้งพ่อแม่และญาติจะเดินทางกลับบ้านก่อน รอจนถึงเวลาของพิธีส่งมาตัวมาถึงในตอนหัวค่ำของวันเดียวกัน แล้วญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายจะสลับกันจูงแขนคู่บ่าวสาวเพื่อไปส่งยังห้องหอ ที่ปูนอนไว้เรียบร้อยโดยผู้สูงอายุชายหญิงที่มีครอบครัวอบอุ่น ฐานะมั่นคง เมื่อเข้าไปถึงห้องนอนผู้สูงอายุชายหญิงจะล้มตัวลงนอนก่อนแล้วจึงลุกขึ้นมาให้คู่บ่าวสาวลงไปนอนด้วยกัน จากนั้นพ่อแม่ญาติผู้ใหญ่จึงให้คำอวยพร ให้คู่บ่าวสาวกราบไหว้กันเพื่อแสดงการยอมรับซึ่งกันและกันเป็นอันเสร็จพิธี (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า. 224-228)

              ปัจจุบันพิธีการแต่งงานของชาวลาวเวียงมีการปรับเปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อมทางสังคม เช่น การแต่งงานของคนปรับอายุสูงขึ้นประมาณ 28-35 ปี อันเป็นผลเนื่องมาจากการศึกษาที่ต้องใช้ระยะเวลามากขึ้น อีกทั้งความมีอิสระในการเลือกคู่ครองมักเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายคัดเลือกคนที่ตนพึงพอใจจึงทำให้ช่วงอายุของการแต่งงานขยายออกไปสูงขึ้น

  • การตายและการทำศพของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ในอดีตเมื่อบุคคลในครอบครัวเสียชีวิต ในช่วงแรกชาวลาวเวียงจะไม่ส่งเสียงดังเพราะเชื่อว่าจิตของผู้ตายยังไม่ดับสนิท จากนั้นคนในครอบครัวจะจุดเทียนขี้ผึ้ง 1 เล่ม เพื่อจับเวลาของจิต จนกระทั่งเทียนดับหมดเล่มแล้วจึงถือว่าผู้ตายได้เสียชีวิตลงแล้วอย่างแน่นอน จากนั้นจึงจุดพลุหรือยิงปืนขึ้นท้องฟ้า 1 นัด เพื่อกระจายข่าวให้กับเครือญาติและเพื่อนบ้านได้รับรู้  ลูกหลานจุดตะเกียงตามไว้ที่ปลายเท้าของผู้ตายพร้อมนำผ้าขาวมาคลุมศพไว้และผลัดเปลี่ยนมาเฝ้าตลอดเวลา แล้วจึงนำดอกไม้ธูปเทียนและสุราครึ่งขวดไปบอกกล่าวแก่เจ้าพ่อใหญ่ที่หอศาลประจำหมู่บ้านเพื่อให้รับรู้ว่าสมาชิกในครอบครัวเสียชีวิต พร้อมทั้งขออนุญาตจัดงานศพขึ้น จากนั้นจึงให้สัปเหร่อทำพิธีอาบน้ำศพ เพื่อชำระร่างกายผู้ตายให้สะอาด ใช้น้ำอุ่นที่ต้มจากหม้อดินมาอาบน้ำศพก่อนจะตามด้วยน้ำเย็น เสร็จแล้วจึงเช็ดตัวให้แห้ง ทาผิวศพด้วยขมิ้นชันผสมผิวมะกรูดเพื่อป้องกันกลิ่นไม่พึงประสงค์ จากนั้นจะหวีผมศพโดยญาติของผู้ตาย เริ่มโดยให้หวีทำการจดแบ่งครึ่งตรงกลางศีรษะของผู้ตายแล้วหวีมาข้างหลัง 1 ครั้ง เพื่อเป็นการหวีให้กับผู้ตายได้ไปเกิดใหม่เสร็จแล้วจึงหักหวีออกเป็น 2 ท่อน เป็นการแสดงให้เห็นการเกิดของชีวิตและการสลายไป จากนั้นสัปเหร่อจะนุ่งผ้าให้ผู้ตายโดยใช้ผ้าขาวนุ่งในชั้นแรก แล้วสวมทับด้วยเสื้อขาวและกางเกงหรือผ้าถุงโดยสวมกลับด้าน จากนั้นนำเงินเหรียญพร้อมหมากเจียดกับพลูจีบ 1 คำใส่ไว้ในปากของผู้ตาย สัปเหร่อนำขี้ผึ้งมาปิดหน้าศพ เฉพาะบริเวณตา ปาก และในช่องหูทั้ง 2 ข้าง เพื่อป้องกันน้ำเหลืองในร่างกายของผู้ตาย แล้วจึงนำกรวยดอกไม้ธูปเทียนมาใส่ไว้ในมือของผู้ตาย ในลักษณะของการประนมมือแล้วนำด้ายดิบมาทำเป็นบ่วง 3 บ่วง เพื่อใช้ตราสังให้กับผู้ตาย โดยบ่วงแรกจะใช้สวมคอ เรียกว่า “ห่วงลูกผูกคอ” บ่วงที่สองจะใช้รัดรอบหัวแม่เท้าและข้อเท้าทั้งสองข้างให้ชิดติดกัน เรียกว่า “ห่วงทรัพย์ผูกข้อเท้า” บ่วงที่สามจะมัดที่หัวแม่มือและข้อมือทั้งสองข้างให้ติดกันเรียกว่า “ห่วงภรรยาผูกข้อมือ” แล้วนำผ้าขาว 2 ทบมาผูกศพของผู้ตาย โดยชายผ้าที่อยู่ทางด้านหลังของผู้ตายขมวดเป็นก้นหอยแล้วมัดด้ายดิบทำเป็นเปลาะ ๆ ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาให้ได้ 5 เปลาะ จนถึงชายผ้าที่ขมวดเป็นก้นหอย ส่วนด้ายดิบที่เหลือจะปล่อยเอาไว้ให้ออกมานอกโลง

              จากนั้นบรรดาลูกหลานญาติพี่น้องจะมาช่วยกันอุ้มศพของผู้ตายบรรจุลงในตองกล้วยที่วางซ้อนอยู่บนฟากไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง นำข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวของผู้ตายใส่ลงไปพร้อมกับเครื่องดับกลิ่น เช่น ใบสาเก ใบฝรั่ง ขี้เลื่อยในโลงด้วย ปิดฝาโลงและยกขึ้นมาตั้งยังบริเวณขื่อที่วางพาดอยู่บนเสาประธานตอนกลางของตัวบ้านชั้นบน โดยศีรษะของผู้ตายต้องหันไปทางด้านทิศตะวันตก นำไม้ไผ่ที่ผูกเป็นขั้นบันไดขนาดความกว้างเท่ากับฝาโลงจำนวน 3 ขั้น มาตั้งพาดไว้ทางด้านหลังโลง เพื่อให้วิญญาณของผู้ตายได้ขึ้นไปบูชาพระจุฬามณี สัปเหร่อมาด้ายสายสิญจน์มาผูกมัดล้อมทั่วตัวบ้าน เพื่อป้องกันไม่ให้วิญญาณของผู้ตายเข้าไปรบกวนหรืออาวรณ์กับทรัพย์สินทางโลก

              ตอนค่ำนิมนต์พระสงฆ์จำนวน 4 รูป เพื่อมาสวดพระอภิธรรม เมื่อสวดจบลูกหลานถวายเครื่องไทยธรรมแด่พระสงฆ์ หลังจากพระสงฆ์อนุโมทนาแล้วจึงกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตาย

              เมื่อถึงวันเผาศพ บรรดาญาติมิตรและเพื่อนบ้านจะช่วยกันเคลื่อนย้ายศพลงจากเรือน นำผ้าขาวมาคลุมโลงตั้งขึ้นบนเกวียนเพื่อเคลื่อนย้ายศพไปป่าช้า ในขบวนแห่ลูกหลานของผู้ตายเป็นผู้ถือหม้อไฟ มีลักษณะเป็นหม้อดินที่ใส่ใต้จุดไฟเอาไว้เดินนำหน้าขบวน ตามด้วยพระสงฆ์สามเณรหน้าไฟจูงด้ายสายสิญจน์ที่โยงมาจากเกวียน ตลอดการเดินทางไปป่าช้าลูกหลานของผู้ตายจะหว่านข้าวตอก เพื่อเป็นสัจธรรมให้เห็นว่าเมื่อมนุษย์สิ้นลมหายใจ ก็เหมือนข้าวตอกที่ไม่มีวันงอกเงย เมื่อขบวนแห่ศพมาถึงป่าช้าให้จูงโลงศพเดินเวียนรอบเชิงตะกอนจากซ้ายไปขวาก่อน 3 รอบ แล้ววางโลงศพลงบนเชิงตะกอนโดยให้ศีรษะของผู้ตายหันไปทางทิศตะวันตก แล้วนำเงินเหรียญเท่ากับจำนวนคี่ใส่ลงในเชิงตะกอนเพื่อซื้อที่ให้ผู้ตาย จากนั้นเปิดฝาโลงเพื่อให้พระสงฆ์ทำพิธีล้างหน้าศพด้วยน้ำมะพร้าว จากนั้นลูกหลานและ เครือญาติและผู้ร่วมงานจะนำดอกไม้สดที่เตรียมมาไว้วางตรงฐานเชิงตะกอน  สัปเหร่อจะพลิกศพของผู้ตายให้คว่ำหน้าลง พระสงฆ์จึงทำการสวดพระอภิธรรมพร้อมกับจุดไฟเผา ขณะไฟกำลังลุก ลูกหลานของผู้ตายจะนำผ้าขาวที่คลุงโลงศพขึ้นมาโยนข้ามไปมา 3 ครั้ง เมื่อครบแล้วจึงนำผ้าดังกล่าวไปถวายพระสงฆ์ในพิธีต่อไป

              หลังจากนั้น 3 วันลูกหลานของผู้ตายจะทำพิธีเก็บกระดูก เริ่มจากนำเถ้าจากกองกระดูกมาปั้นแต่งเป็นรูปคนนอนหงายบนผ้าขาว และหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก บนขี้เถ้ากระดูกจะมีเหรียญวางตามจุดต่าง ๆ ของร่างกายให้ครบ 32 ตำแหน่ง เป็นสัญลักษณ์แทนความสมบูรณ์ของร่างกายทั้ง 32 ประการเมื่อไปเกิดใหม่ เสร็จแล้วจึงนิมนต์พระสงฆ์มาสวดบังสุกุลผู้ตาย จากนั้นยกผ้าขาวที่ห่อกระดูกให้หันศีรษะไปทางทิศตะวันออกเพื่อให้พระสงฆ์บังสุกุลเป็น เมื่อเสร็จแล้วลูกหลานจะเก็บกระดูกไว้ในโกศไม้จำลอง ขวดแก้ว หรือห่อด้วยผ้าขาว เพื่อนำมาบรรจุไว้ในเจดีย์หรือนำไปสักการะบูชาที่บ้านต่อไป (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, pp. 230-233)

              ปัจจุบันชาวลาวเวียงยังคงนิยมนำศพของผู้ตายมาจัดบำเพ็ญกุศลที่บ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นสถานที่ที่มีความผูกพันกับผู้ตาย ประกอบกับความสะดวกสบายของแขกผู้มาร่วมงาน และจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป เช่นสภาพบ้านเรือนที่เปลี่ยนจากเรือนเครื่องผูกมาเป็นเรือนเครื่องสับกระทั่งกลายมาเป็นบ้านพักอาศัย 2 ชั้นในลักษณะครึ่งไม้ครึ่งคอนกรีต จึงทำให้การเคลื่อนย้ายโลงศพของผู้ตายเพื่อนำไปทำการฌาปนกิจที่เมรุของวัดแทนการไปเผาที่เชิงตะกอนในป่าช้าอย่างเช่นในอดีตจึงไม่จำเป็นต้องนำมาปฏิบัติอีกต่อไป

  • ประเพณีอื่น ๆ ของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวลาวเวียงที่สืบทอดกันมาตามความเชื่อทางพุทธศาสนาว่า เมื่อลูกชายอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ก่อนมีเหย้ามีเรือนให้บวชเรียนอย่างน้อย 1 พรรษา เพื่อตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ พิธีกรรมการบวชจะจัดติดต่อกัน 3 วัน

              วันแรกคือวันสุขดิบหรือวันเตรียมงาน ในวันนี้บรรดาญาติที่อยู่ห่างไกลจะเริ่มเดินทางมาร่วมงาน ส่วนญาติที่อยู่ใกล้เคียงจะมาร่วมช่วยงานที่บ้านของเจ้าภาพ ทั้งตระเตรียมอาหารและช่วยกันจัดแต่งสถานที่ จัดแต่งเครื่องอัฐบริขาร ห่อเครื่องไทยธรรม ทำผ้าคลุมไตร ตกต่างกรวยถวายอุปัชฌาย์ เตรียมชุดแต่งตัวให้นาค และจัดเตรียมดอกไม้ธูปเทียนสำหรับใช้ในงานพิธี

              วันที่สองช่วงเช้าทำพิธีโกนผมผู้ที่จะบวช โดนเริ่มต้นการกริบผมจากผู้เป็นแม่ เพราะเชื่อว่าแม่เป็นบุคคลสำคัญที่สุดที่เลี้ยงดูบุตรให้เติบใหญ่ จากนั้นจึงตามด้วยพ่อและกลุ่มญาติสนิทโดยจะเรียงลำดับตามความอาวุโส เมื่อกริบเส้นผมครบทุกคนช่างจัดผมจึงจะโกนให้สะอาดเกลี้ยงเกลาอีกครั้ง สำหรับเส้นผมทั้งหมดจะใส่ในใบบัวเพื่อลอยในแม่น้ำต่อไป จากนั้นจะอาบน้ำให้กับผู้ที่จะบวช  เพื่อให้เป็นผู้ที่สะอาดบริสุทธิ์ โดยมีพ่อแม่และกลุ่มญาติช่วยกันราดน้ำฟอกสบู่ถูตัว จากนั้นจึงพาไปเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวโดยนุ่งผ้าไหมผืนยาวสีขาว ไม่สวมเสื้อแต่ห่มผ้าแพรขาวเฉียงพาดไหล่ และใส่กระโจมหรือเทริดซึ่งมีลักษณะคล้ายกับชฎา และเปลี่ยนสถานภาพมาเป็น “นาค” ซึ่งหมายถึงผู้แสวงหาคุณความดี

              จากนั้นเริ่มแห่นาคไปรอบ ๆ หมู่บ้าน ภายในขบวนแห่จะใช้ช้างเป็นพาหนะให้นาคนั่งแทนการเดิน เพราะเชื่อกันตามคติทศชาติชาดกในมหาเสสันดร ซึ่งเป็นชาติที่พระพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญทานบารมีก่อนเสด็จออกผนวช เมื่อจัดเตรียมริ้วขบวนแห่นาคเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตัวแทนของขบวนแห่จะโห่เพื่อเอาฤกษ์เอาชัย 3 ครั้ง แล้วจึงเริ่มเคลื่อนขบวน โดยนาคจะต้องสวมแว่นตาดำ ซึ่งหมายถึง ความมืดมนของนาคที่ยังไม่ได้ผ่านการอบรมสั่งสอนและขัดเกลาจิตใจจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา และต้องสวมเครื่องประดับต่าง ๆ เช่น สร้อยทอง แหวนทอง เข็มขัดเงิน อันเปรียบเสมือนเครื่องประดับชั้นสูงของกษัตริย์ นาคต้องพนมมือถือธูปเทียนอยู่บนหลังช้างตลอดเส้นทางจนถึงวัด โดยขบวนแห่จะนำหน้าด้วยกลองยาว ตามด้วยบรรดานางรำ พร้อมบทเพลงที่ใช้ร้องในขบวนเรียกว่า “เพลงแห่นาค” ซึ่งเป็นเพลงที่มีเนื้อหาคำร้องและท่วงทำนองในลักษณะของการเกี้ยวพาราสีกันระหว่างชายหนุ่มหญิงสาวและผู้ที่เป็นนาค จากนั้นตามด้วยขบวนผู้ถือเทียนเอก กรวยถวายอุปัชฌาย์ ผ้าไตร เครื่องอัฐบริขาร และเครื่องไทยธรรม เมื่อขบวนแห่เดินทางมาถึงวัด นาครับขันธ์ 5 สักการะศาลเจ้าที่ภายในวัด เพื่อบอกกล่าวและแสดงความเคารพและให้เป็นสักขีพยานในการบวชครั้งนี้ จากนั้นนาคจะเดินเข้าโบสถ์เพื่อรับศีล 5 จากกพระอุปัชฌาย์ แล้วจึงเคลื่อนขบวนกลับไปยังบ้านของนาค เมื่อถึงช่วงเวลาเย็นจะเป็นพิธีทำขวัญนาค เริ่มจากหมอขวัญจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัยและกล่าวคำอัญเชิญชุมชนเทวดา จากนั้นจึงเริ่มกล่าวบทสู่ขวัญ แล้วเชิญขวัญของนาคที่ไปอยู่ตามป่าตามเขาให้กลับมาสู่ตัวนาค รวมถึงกล่าวสอนเกี่ยวกับหลักในการประพฤติตนเมื่ออยู่ในเพศบรรพชิต และสุดท้ายกล่าวอวยชัยให้พรกับนาคจึงเป็นการเสร็จสิ้นพิธี

              วันที่สามซึ่งเป็นวันสุดท้ายของงานบวช หลังจากรับประทานอาหารเช้าเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มจัดขบวนแห่ ซึ่งเริ่มด้วยกลองยาวเดินนำหน้าเหล่านางรำร้องเพลงและรำกันอย่างครื้นเครงตามด้วยนาคที่นั่งช้าง และพ่อนาคเดินอุ้มบาตรและตาลปัตรมาพร้อมกับแม่นาคที่อุ้มผ้าไตรและญาติพี่น้องที่มาร่วมงานจะช่วยกันถือข้าวของเครื่องใช้ เครื่องอัฐบริขาร เครื่องใช้ไทยธรรม ตามลำดับ เมื่อขบวนแห่เดินทางมาถึงวัดนาคนำขันธ์ 5 มาสักการะศาลเจ้าที่ภายในวัดอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นจึงเดินพร้อมขบวนแห่เวียนทักษิณาวัตร 3 รอบ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อเขตสงฆ์ หลังจากนั้นนาคลงจากหลังช้างมาจุดธูปเทียนบูชาเสมาที่หน้าพระอุโบสถ พ่อแม่และญาติจะมาร่วมกันช่วยอุ้มนาคขึ้นไปส่งที่หน้าพระอุโบสถและผู้มาร่วมงานทุกคนจะพยามแตะหลังนาคต่อ ๆ กันไป ด้วยความเชื่อว่าเป็นการเกาะชายผ้าเหลืองขึ้นสวรรค์ เมื่อถึงหน้าอุโบสถแล้วนาคจึงโปรยทานเป็นการทำงานก่อนสละเพศเป็นบรรพชิต จากนั้นจึงเข้าสู่อุโบสถเพื่อทำพิธีสังฆกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ของคณะสงฆ์ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนจากการเป็นนาคมาสู่การเป็นพพระภิกษุ (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 220-223)

              ปัจจุบันพิธีการบวชยังได้รับการสืบทอดต่อกันมาแต่อาจมีการแปรเปลี่ยนไปตามความเหมาะสมของสภาพทางสังคม เช่น ผู้ที่จะบวชมีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และระยเวลาของการถือเพศบรรพชิตอาจทำเพียง 7 วัน 9 วัน 15 วัน หรือ 1 เดือน หลังจากนั้นจะลาสิกขาบทออกไปประกอบภารกิจของตนเองต่อไป

  • ศาสนาและความเชื่อของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ชุมชนชาวลาวเวียงนับเป็นสังคมอุดมด้วยความหลากหลายทางความเชื่อเช่นเดียวกับสังคมไทยโดยทั่วไป ที่มีทั้งความเชื่ออันเนื่องมาจากพุทธศาสนาและความเชื่อในเรื่องเกี่ยวกับอำนาจเหนือธรรมชาติควบคู่กันไป โดยปรากฏให้เห็นจากการปฏิบัติในประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ ซึ่ง นอกจากจะมีการแบ่งแยกกันตามขอบเขตของความเชื่อแล้ว ในบางประเพณีและพิธีกรรมยังเป็นการดำเนินอยู่ร่วมกันของความเชื่อทั้งสองฝ่ายอย่างกลมกลืน

    ความเชื่อในพระพุทธศาสนา

              ชาวลาวเวียงส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาท ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต โดยทำหน้าที่เป็นกลไกในการกล่อมเกลาโน้มน้าวจิตใจ และสร้างจิตสำนึกในแง่ศีลธรรมจรรยาเพื่อให้เกิดความประพฤติที่ถูกต้องให้กับชาวบ้านมาตั้งแต่ในอดีต ด้วยการนำเอาหลักธรรมคำสั่งสอนสำคัญ ๆ เช่น เบญจศีล เบญจธรรม พรหมวิหาร 4 สังคหะวัตถุ 4 เป็นต้น มาเป็นแนวยึดถือปฏิบัติหรือเป็นตัวกระตุ้นประคับประคองเพื่อให้การดำเนินชีวิตร่วมกันของคนในชุมชน ก่อให้เกิดความสงบสุข ความมีระเบียบเรียบร้อย นอกจากนี้ยังนำเอาหลักธรรม คำสั่งสอนในระดับจริยธรรม ซึ่งเป็นคำสอนที่ว่าด้วยเกณฑ์ในการตัดสินคุณค่าทางจริยธรรมที่เกี่ยวกับความดีความชั่ว ความถูก ความผิด ความควรและไม่ควร มาเป็นแนวยึดถือปฏิบัติเพื่อใช้เป็นหลักหรือแนวทางสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันด้วย เห็นได้จากผู้คนส่วนใหญ่มีแนวคิดพื้นฐานทางจริยธรรมโดยมีความเชื่อว่าสิ่งที่ดีที่สุดในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่คือการมีชีวิตอยู่ด้วยความสุขที่มีปัจจัยต่าง ๆ มาบำรุงชีวิตของตนเองและครอบครัวอย่างเพียงพอ ส่วนจุดมุ่งหมายปลายทางอันสูงสุดของชีวิตคือการพยายามปฏิบัติตนตามหลักอริยมรรค หรือทางอันประเสริฐที่ประกอบด้วยมรรคมีองค์ 8 ประการโดยการเน้นชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่อให้บรรลุถึงอมตภาพที่เรียกว่า "นิพพานหรือความดับสนิทซึ่งความทุกข์" นอกจากนี้ชาวลาวเวียงยังมีความเชื่อเรื่องบุญบาป กรรมเวร นรกสวรรค์ ชาติปางก่อนและชาติหน้า ทำให้ทุกคนพยายามทำความดีโดยการบำรุงศาสนาเช่น ทำบุญกฐิน ตักบาตรในตอนเช้าและวันสำคัญทางศาสนา พฤติกรรมดังกล่าวส่งผลสำคัญในการควบคุมและกำหนดพฤติกรรมของชาวลาวเวียง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างวัดกับชุมชนให้เกิดขึ้น (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 200-201)

    ความเชื่อจากอิทธิพลของศาสนาพราหมณ์

              บายศรีสู่ขวัญ เป็นพิธีกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์ ในสังคมไทยพบร่องรอยว่ามีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา คำว่า “บาย” เป็นภาษาเขมรแปลว่า “ข้าว” ข้าวที่เป็นศรีหรือเป็นศิริมงคลเพื่อเป็นเครื่องสังเวยให้กับเทพ ข้าวจึงเป็นส่วนประกอบในพิธีบายศรีสู่ขวัญตามความเชื่อของพราหมณ์ (มานะชัย วงศ์ประชา, 2556, หน้า 1) ขวัญเป็นคำโบราณที่ใช้มานานและยังเป็นความเชื่อของกลุ่มคนในภูมิภาคเอเชีย ชาวลาวเรียกขวัญว่า “ขวน” โดยเชื่อว่าร่างกายประกอบด้วยสิ่งที่มองเห็นเป็นรูปร่าง และสิ่งที่มองไม่เห็น คล้าย ๆ กับวิญญาณแต่ไม่ใช่วิญญาณ เป็นสิ่งสำคัญที่คน สัตว์ หรือแมกระทั่งสิ่งของบางชนิดต้องมีขวัญ โดยคนคนหนึ่งจะมีเพียงหนึ่งขวัญ ถ้าหากเวลาใดขวัญออกห่างจากร่างกาย จะส่งผลให้คนนั้นมีอาการอ่อนแอ เจ็บป่วยและอาจเสียชีวิตไปในที่สุด โดยเชื่อกันว่าการที่ร่างย้ายจากสถานะหนึ่งหรือย้ายจากที่หนึ่งไปอยู่อีกที่หนึ่งอย่างกะทันหัน เช่น การไปทำงานต่างถิ่น การไปเที่ยวสนุกสนานจนลืมตัว อาจทำให้ขวัญเหินห่างจากร่างได้ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันมิให้ขวัญออกจากร่างกาย หรือให้ขวัญกลับเข้าสู่ร่างเดิม จึงมีพิธีเรียกขวัญ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อรับขวัญ บำรุงขวัญให้กำลังใจ และถือเป็นการอวยพรให้ประสบความสุขความเจริญ (นิตินันท์ พันทวี, 2544, หน้า 153-154)  

              ความเชื่อเรื่องขวัญก่อให้เกิดพิธีสู่ขวัญ โดยชาวลาวเวียงนิยมบายศรีสู่ขวัญทุกช่วงเวลาของชีวิต เช่น        การสู่ขวัญนาค เพื่อเป็นสิริมงคล โดยมุ่งการสอนให้ยึดมั่นในพุทธศาสนา การปฏิบัติตนเมื่อเป็นพระภิกษุ และระลึกถึงคุณบิดามารดา

              การสู่ขวัญแต่งงาน เพื่อให้เกิดความสุขสวัสดิ์โชคดีแก่คู่บ่าวสาว มีความมุ่งหมายเพื่อสอนเกี่ยวกับการครองเรือน แต่เดิมพิธีการสู่ขวัญจะจัดให้เฉพาะคู่บ่าวสาวที่ปฏิบัติตนตามธรรมเนียมไม่ชิงสุกก่อนห่ามเท่านั้น แต่ปัจจุบันปรับเปลี่บนไป โดยสามารถทำพิธีสู่ขวัญให้กับคู่บ่าวสาวในทุกกรณี

              การสู่ขวัญขึ้นบ้านใหม่ จัดขึ้นเมื่อมีการย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่ จัดขึ้นเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลให้กับเจ้าของเรือน ตวามความเชื่อดั้งเดิมที่ว่า ที่ดินและไม้ที่นำมาสร้างบ้านมักมีเจ้าของรักษาอยู่ เมื่อจะเข้าพักอาศัยหรือประกอบกิจกรรมใด ๆ จึงต้องประกอบพิธีที่เป็นสิริมงคลเพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดีทั้งปวง

              การสู่ขวัญโชคชัย เป็นพิธีสู่ขวัญเพื่อสร้างความเป็นสิริมงคลแก่ผู้ที่มาเยือนหรือจากไปตามวาระโอกาสต่าง ๆ เช่น การสู่ขวัญเมื่อมีญาติผู้ใหญ่เดินทางมาจากจังหวัดอื่นเข้ามาเยี่ยมเยียน เป็นต้น

              การสู่ขวัญข้าว มักทำในเดือน 3 ข้างขึ้นตามความเชื่อที่ว่าจะทำให้ “กินบ่บก จกบ่ลง” หมายถึง กินเท่าไรไม่รู้จักหมด ชาวลาวเวียงจะทำพิธีสู่ขวัญข้าว ทำพิธีเปิดเล้า (ยุ้งข้าว) ก่อนนำมากิน เพื่อเป็นสิริมงคล ทำให้ผลิตข้าวในปีต่อไปได้อย่างอุดมสมบูรณ์ไม่เกิดภาวะอดอยาก และเป็นโชคชัยในการทำการเกษตร บูชาพระแม่โพสพ การสู่ขวัญข้าวในแต่ละปีจะมีการจำลองเล้าหรือยุ้งข้าวขึ้นเพื่อประกอบพิธีกรรม โดยมีเครื่องบายศรี อาหารคาวหวาน ไก่ต้ม เหล้าขาว ข้าวเปลือก พืชพันธุ์ต่าง ๆ ยอดกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น การประกอบพิธีบายศรีสู่ขวัญในโอกาสต่าง ๆ ต้องมีหมอสู่ขวัญเป็นผู้ทำพิธี โดยเครื่องบายศรีประกอบด้วย ข้าว ไข่ต้มหรือไข่ขวัญ ขนมหวาน ข้าวต้มมัด น้ำอบ น้ำหอม ธูป เทียน สีผึ้ง (ขี้ผึ้ง) ใบไม้มงคลต่าง ๆ ฝ้ายผูกแขน หมากพลู ยาสูบ บายศรีทำจากใบตองพับให้เป็นรูปสามเหลี่ยมมีมุมแหลมและซ้อนกันซึ่งชาวลาวเวียงจะร่วมมือร่วมใจกันทำโดยมีคติความเชื่อว่าจะไม่กล่าวตำหนิติเตียนว่าบายศรีไม่งามหรือกล่าวคำพูดที่ไม่เป็นมงคล

              ใบไม้มงคลที่ชาวลาวเวียงนำมาใช้เป็นเครื่องประกอบพิธีกรรมที่มีความสำคัญในพิธีบายศรีสู่ขวัญ ถือเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นสิริมงคล ความสุข ความเจริญรุ่งเรือง อธิบายความหมายที่แฝงได้ ดังนี้

              ใบเตย แทนความสดชื่น เพราะเป็นพืชที่มีกลิ่นหอม

              ใบคูณ แทนความยั่งยืน ค้ำคูณ ปลอดภัย

              ใบมะยม แทนความนิยมชมชอบ การยอมรับ

              ใบยอ สัญลักษณ์แทนการยกยอ ชมเชย นับถือ สรรเสริญ

              ใบบัว แทนความบริสุทธิ์ ไม่มีมลทินใด ๆ มาเป็นอุปสรรคในการประกอบพิธี

              ใบเงิน/ใบทอง แทนความร่ำรวย มั่งมีเงินทอง

              หญ้าคา แทนความอดทน ยั่งยืน

              หญ้าแพรก แทนความอดทน

              ใบมะพร้าว แทนความแข็งแรง ยืนยาว (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 29-32)

              คุณค่าในองค์ประกอบของพิธีกรรมบายศรีสู่ขวัญ  4 ประการ ได้แก่ ประการแรกผู้นำพิธีกรรม ผู้ร่วมพิธีกรรม บทสู่ขวัญ วัสดุสิ่งของหรือเครื่องสังเวย เวลาและสถานที่ ในฐานะเป็นสัญลักษณ์สื่อความหมายแห่งความดีงาม ประการที่สองคุณค่าที่เกิดขึ้นต่อตัวบุคคล ได้แก่ สมาธิ ความสบายใจ ความกตัญญูกตเวที ความอ่อนน้อมถ่อมตนมีสัมมาคารวะ และความมีน้ำใจงาม ประการที่สามคุณค่าของพิธีกรรมที่เกิดขึ้นต่อชุมชน ในฐานะเป็นกระจกเงาสะท้อนวัฒนธรรมทางภาษาและให้ความบันเทิงแก่ชุมชน และประการที่สี่ คุณค่าในฐานะของการทำหน้าที่ควบคุมรักษาแบบแผนทางสังคมของชุมชน ขัดเกลาสังคม และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (นิตินันท์ พันทวี, 2544, หน้า ง)

    ความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ

              ก่อนที่พระพุทธศาสนาจะเข้ามาเผยแผ่และมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต ชาวลาวเวียงมีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องของอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นพื้นฐานสำคัญ เมื่อศาสนาพุทธเข้ามาจึงได้ถูกนำเอาความเชื่อในระดับ โลกียะไปผสมผสานให้กลมกลืนเข้ากับความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่ปฏิบัติสืบทอดต่อกันมานานจนก่อให้เกิดเป็นพุทธศาสนาในระดับชาวบ้านขึ้น ซึ่งระบบความเชื่อนี้นับเป็นสิ่งที่มีบทบาทและยังคงมีความสำคัญต่อจิตใจและพฤติกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มของผู้ที่อยู่ในวัยสูงอายุ และกลุ่มผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน ความเชื่อและพิธีกรรมที่ยังคงมีอยู่ในหมู่บ้านชาวลาวเวียง มีลักษณะคล้ายกันกับระบบความเชื่อและพิธีกรรมต่าง ๆ ที่อยู่ในเขตของท้องถิ่นภาคอีสาน แต่อาจมีความแตกต่างกันที่รายละเอียดซึ่งในแต่ละชุมชนได้มีการปรับเปลี่ยนความเชื่อและพิธีกรรมเพื่อให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นของตนเอง คติความเชื่อเรื่องผีเป็นคติความเชื่อที่มีอยู่ในปัจเจกชนแต่ละคนซึ่งพยายามหาคำตอบในปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นผีเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจเหนือธรรมชาติ ที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของมนุษย์  เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม มนุษย์มีความผูกพันกันและได้แสดงพฤติกรรมร่วมกันเกิดเป็นพิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องผี ผีในทัศนคติของชาวบ้านเป็นผีที่มีความสำคัญต่อวิถีการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน ผีเป็นผู้ให้ความหมายหรืออาจกล่าวได้ว่า ผีเป็นผู้วางกฎเกณฑ์ในการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน ผีเป็นสิ่งที่รู้สึกสัมผัสได้อาจจะไม่ใช้ด้วยระบบประสาททั้งห้า หากมันเกิดขึ้นด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธาที่ทำให้เกิดดุลยภาพในสังคมระดับชาวบ้าน แม้แต่ในราชสำนักไทยแต่เดิมพิธีกรรมต่าง ๆ ก็มีความเชื่อเรื่องผี เข้าไปปะปนอยู่มากความเชื่อเรื่องภูติผีนั้นฝังแน่นอยู่กับคตินิยมของคนไทยอย่างแน่นแฟ้นตั้งแต่สมัยอดีต แม้แต่ทางบ้านเมืองก็ยังมีพระราชพิธีเกี่ยวกับความเชื่อเรื่องภูติผีอยู่ไม่น้อย ในรอบปีหนึ่ง ๆ เช่น การเซ่นสรวงพระเสื้อเมืองพระทรงเมืองและหลักเมืองรวมทั้งพิธีสอบสวนคดีความสมัยอดีตโดยใช้พิธีลุยไฟ ดำน้ำ เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ของจำเลยซึ่งพิธีกรรมดังกล่าวเป็นความเชื่อในภูติผีวิญญาณทั้งสิ้น การนับถือผีสางก็ยังนิยมกันอยู่ ปัจจุบันในท้องถิ่นลาวเวียงบางแห่งความเชื่อเรื่องผีก็ยังมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชุมชน

              สำหรับคนลาวเวียง ผีคือวิญญาณของผู้ที่ล่วงลับไปแล้วหรือที่มีอยู่แล้วโดยไม่ทราบว่ามีมาแต่เมื่อใดหรือมีมาอย่างไร ผีเหล่านี้ประกอบด้วยผีประเภทต่าง ๆ เช่น ผีนา ผีป่า ผีเขา ผีบ้านผีหมู่บ้าน ผีปู่ย่าตายาย ผีฟ้า ผีแถน และผีอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งผีที่เกิดจากการกระทำของบุคคล เช่น ผีปอบ ความเชื่อเรื่องผีอันเป็นความเชื่อที่มีมาแต่เดิม ผสมผสานกับความเชื่อในพระพุทธศาสนาจนแทบจะแยกกันไม่ออกว่าพิธีกรรมใดเกิดจากความเชื่อในพระพุทธศาสนาหรือพิธีกรรมใดเกิดจากความเชื่อเรื่องผี ดังเช่น พิธีกรรมเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษของชาวลาวเวียง ที่สะท้อนผ่าน “พิธีเบิกหอบ้าน” ซึ่งเป็นประเพณีที่จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีเพื่อแสดงความเคารพสักการะผีบรรพบุรุษ โดยจะทำพิธีหอผีบรรพบุรุษประจำชุมชน เป็นสื่อสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าชาวลาวเวียงในพื้นที่นั้น ๆ สืบเชื้อสายมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน ชาวลาวเวียงเชื่อว่าผีบรรพบุรุษจะเป็นผีที่ให้ความคุ้มครองชาวบ้านให้อยู่เย็นเป็นสุข ทั้งชาวบ้านที่อยู่ในชุมชนและชาวบ้านที่เดินทางออกไปทำงานนอกชุมชน แต่เดิมนั้นเป็นเพียงพิธีเลี้ยงผีบรรพบุรุษโดยเฉพาะแต่เมื่อได้รับอิทธิพลจากศาสนาพุทธ ชาวลาวเวียงจึงได้นำเอาพิธีทางศาสนาเข้ามาผสมผสาน โดยมีการนิมนต์พระมาสวดมนต์ในพิธี สะท้อนการปสมผสานระหว่าง ผีและพุทธในคราวเดียวกัน

  • พิธีกรรมสำคัญของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              พิธีเบิกหอบ้านจะจัดขึ้นในเดือนเจ็ดของทุกปี เมื่อกำหนดวันที่จะทำพิธีได้แล้วจะนำพระสงฆ์มาสวดมนต์เย็น ณ บริเวณลานหน้าหอบ้าน ชาวลาวเวียงจะมาพร้อมกันในบริเวณลานพิธี ที่จัดที่มีการจัดเตรียม โดยมีขันน้ำสำหรับทำน้ำมนต์และฝ้ายมงคลสำหรับเข้าร่วมพิธีด้วย เพื่อรับการสวดให้เกิดความเป็นสิริมงคลและชาวบ้านจะนำไปไว้บริเวณบ้านเรือนของตน ต่อมาในช่วงเช้า ชาวลาวเวียงทุกหลังคาเรือนจะทำกระทงกล้วยสามเหลี่ยมที่เรียกว่า “กระทงหน้าวัว” พร้อมแต่งเครี่องสักการะบูชาเป็นต้นว่า ข้าวดำ ข้าวแดง แกงส้ม แกงหวาน เมี่ยง หมาก พริกเกลือ ปั้นรูปคนรูปสัตว์ในครัวเรือนของตนใส่ในกระทงนั้นด้วย เพื่อถวายบูชาแก่ท้าวมหาราชทั้งสี่ที่รักษาประจำทิศ เพื่อให้หายทุกข์โศกโรคภัยไม่มีโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน ให้อยู่เย็นเป็นสุข ไม่มีอุปสรรคในการดำเนินชีวิต ตามความเชื่อของชาวลาวเวียงที่ว่า ท้าวทั้งสี่จะนำความอัปมงคลออกไปจากครัวเรือน (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 25-26) ความเชื่อเรื่องผีใจความสำคัญอาจจะไม่อยู่ที่ผีแต่อยู่ที่ “จิตสำนึกของมนุษย์”  ก็เป็นได้ ในปัจจุบันยังพบว่า แม้ชาวลาวเวียง ในตำบลดอนคา หันมานับถือศาสนาพุทธ แต่ชาวบ้านในชุมชนก็ยังเชื่อถือเรื่องของโชคลาภ ดวงชะตา ปีชง จึงทำให้มีการทำสะเดาะเคราะห์ แก้กรรม และเสริมดวงชะตา มีอยู่และนิยมกันในชุมชน โดยจะมีการทำบุญครอบครูรวมด้วยซึ่งจะจัดกิจกรรมต่าง ๆ ภายในวัด และในเทศกาลงานบุญ ประเพณีต่าง ๆ

  • การรักษาของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              แต่เดิมชุมชนลาวเวียงรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามแบบแผนโบราณ เพราะโรคภัยส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากสาเหตุทางธรรมชาติและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไปของหมู่บ้าน เช่น ไข้หวัด ไข้มาลาเรีย ผด ผื่นคัน ชาวบ้านจึงได้สั่งสมความรู้และใช้วิธีรักษาด้วยตัวเอง  โดยการใช้สมุนไพรต่าง ๆ ที่หาได้ตามละแวกบ้านเรือน เช่น สมุนไพรที่ได้จากพืช ซึ่งอาจเป็นส่วนของราก เหง้า ดอก ผล หรือสมุนไพรที่ได้จากสัตว์ เช่น ขน หนัง กระดูกเล็บ สมุนไพรเหล่านี้ชาวบ้านจะนำมาใช้เป็นส่วนผสมเพื่อประกอบตัวยารักษาโรค ผ่านกระบวนการต้ม แช่น้ำ หรือกินสด ขึ้นอยู่กับอาการโรคที่เกิดขึ้นและสรรพคุณทางยาของสมุนไพรแต่ละชนิด แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างหนักหรือมีอาการป่วยเป็นโรคที่เกิดจากความเชื่อต่าง ๆ ชาวบ้านจะไปหาหมอพื้นบ้านที่กระจายตัวอยู่ตามชุมชนต่าง ๆ เพื่อทำการรักษา เช่น

              หมอเป่า เป็นหมอที่ใช้วิธีการรักษาโดยใช้คาถาอาคมเสกเป่าลมในปากหรือเสกเป่าคาถาอาคมใส่วัตถุสิ่งของ เช่น น้ำเปล่า หมากพลู ลงไปในบริเวณที่เกิดโรคของตัวผู้ป่วย โดยโรคที่ทำการรักษาด้วยวิธีเป่า เช่น แมลงสัตว์กัดต่อย คางทูม งูสวัด น้ำร้อนลวก

              หมอน้ำมัน เป็นหมอที่ใช้วิธีการรักษาโดยใช้น้ำมันที่ได้จากพืช เช่น มะพร้าว งาดำ และได้จากสัตว์ป่า เช่น เลียงผา นำมาทาพร้อมกับเสกเป่าคาถาลงไปในบริเวณที่เกิดโรคของตัวผู้ป่วย โรคที่ทำการักษาส่วนมากมักเป็นโรคที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ เช่น กระดูกแขนขาหัก

              หมอยา เป็นหมอที่ใช้สมุนไพรเป็นส่วนประกอบในการรักษาของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ไปจนถึงที่มีอาการของโรคสลับซับซ้อนหรือโรคที่มีความร้ายแรงที่ยาสมุนไพรเพียงชนิดเดียวไม่สามารถที่จะรักษาให้หายได้ จะต้องใช้ยาสมุนไพรหลาย ๆ ชนิดมารวมกัน ซึ่งยาสมุนไพรที่นำมารักษาผู้ป่วยนั้น เรียกว่า ยาชุม เป็นยาที่เกิดจากการนำเอาส่วนต่าง ๆ ของพืชและสัตว์มาเป็นส่วนประกอบในการรักษา และยาสมุนไพรเหล่านั้นจะมีวิธีการใช้ที่แตกต่างกันซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของโรคและอาการของโรค โดยหมอยาจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าโรคใดควรจะใช้ตัวยาและวิธีการรักษาแบบไหน ซึ่งปกติการใช้สมุนไพร มี 3 วิธี คือ การต้ม การฝน และการทา

              หมอตำแย เป็นหมอที่คอยดูแลรักษาเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และคลอดลูก ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงสูงอายุที่มีประสบการณ์ในการคลอดลูกมาแล้ว โดยหมอตำแยส่วนใหญ่จะไม่ใช้คาถาอาคมในการทำคลอดมีเพียงความชำนาญและประสบการณ์ที่ได้ศึกษาหรือเรียนรู้การทำคลอดมาจากหมอตำแยคนอื่น ๆ เท่านั้น

              ต่อมาเมื่อแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีจุดมุ่งหมายต้องการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ชุมชน ทำให้การรักษาพยาบาลแบบแผนสมัยใหม่ได้เข้ามาแทนที่การรักษาโรคภัยไข้เจ็บตามแบบแผนโบราณ

              ปัจจุบันพัฒนาการด้านการรักษาพยาบาล ปัจจุบันหากเป็นอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย บางครอบครัวก็ยังคงใช้สมุนไพรที่หาเก็บได้ในละแวกหมู่บ้านเป็นยารักษา แต่ไม่พบการรักษาด้วย วิธีทางไสยศาสตร์ เนื่องจากผู้ที่รู้วิชาอาคมเสียชีวิตไปหมดแล้ว หากเป็นอาการเจ็บป่วยที่รุนแรง ลาวเวียงจะเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล สถานีอนามัย หรือคลินิกแพทย์ แผนปัจจุบัน การที่ลาวเวียงละทิ้งวิธีการรักษาโรคแบบโบราณแล้วหันมารักษาด้วย  (กิตติภัต นันท์ธนะวานิช, 2545, หน้า 90-92) การแพทย์แผนปัจจุบันนั้นวิเคราะห์ได้ว่ามีสาเหตุมาจากปัจจัยหลายประการดังนี้

              1.ปัจจุบันยาสมุนไพรหายาก

              2.หมอแผนโบราณลดจำนวนลง

              3.ยาแผนปัจจุบันหาซื้อง่ายและให้ผลเร็วกว่ายาสมุนไพร

              4.สถานพยาบาลที่รักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมีจำนวนมาก

              5.สถานพยาบาลที่รักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบันมีอุปกรณ์ในการรักษาที่ทันสมัย และมีบุคลากรที่น่าเชื่อถือ

              6.โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค

  • ดนตรีและศิลปะการแสดงของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              ดนตรีพื้นบ้านเป็นดนตรีที่แต่งขึ้นโดยนักดนตรีพื้นบ้าน เนื้อหาสำนวน และสำเนียงแบบของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น มีการสืบทอดโดยใช้ความจำเป็นหลัก ดังเช่น ดนตรีและบทเพลงพื้นบ้านอีสาน ส่วนใหญ่เกิดจากกิจวัตรประจำวันหรือประจำฤดูกาล เช่น การขอฝน การจับสัตว์น้ำ สัตว์บก การทำไร่ไถนา หรือเกี่ยวกับประเพณีความเชื่อ ตลอดจนสะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนานเพลิดเพลิน เช่น การแห่ การเซิ้ง หมอลำ หมอแคน และการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมประกอบการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน  (มนตรี ตราโมท, 2524, หน้า 50)

              ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 หลังสงครามเจ้าอนุวงศ์สิ้นสุดลงใน พ.ศ. 2370 โปรดเกล้าให้อพยพเชลยศึกชาวลาวไปไว้ตามเมืองต่าง ๆ เช่น ลพบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี นครชัยศรี และพนัสนิคม ชาวลาวที่ถูกกวาดต้อนมาได้นำ “แคน” ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ประจำของชนชาติลาว พร้อมกับศิลปะการขับลำติดตัวมาด้วยเพื่อใช้เครื่องปลอบประโลมใจยามคิดถึงบ้าน ศิลปะดังกล่าวจึงเข้ามาแพร่หลายในสยามตั้งแต่ครั้งนั้น ศิลปะดนตรีและการแสดงของลาวที่สยามเรียกว่า เล่น “แอ่วลาว” หรือ “ลาวแคน” ได้แก่การขับลำที่มีการเป่าแคนประสานเสียง มี “หมอลำ” ทำหน้าที่ขับร้องและออกแบบท่ารำประกอบ และ “หมอแคน” ทำหน้าที่เป่าแคนประกอบเป็นทำนองเพลง  

              แคนจึงถือเป็นอัตลักษณ์เด่นอย่างหนึ่งของชนชาติลาวที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในสยามจนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อการเล่น ""แอ่วลาวเป่าแคน"" ขยายอิทธิพลเป็นอย่างมากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ไม่เว้นแม้แต่ในราชสำนัก โดยพระอนุชาของพระองค์  คือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดการแอ่วลาวเป่าแคนมาก การที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดแอ่วลาวมากยังเป็นเหตุให้รัชกาลที่ 4 ทรงไม่พอพระทัยถึงความนิยมในการเล่นแอ่วลาวเป่าแคนในสมัยนั้น เนื่องจากทรงเห็นว่าชาวไทยพากันละทิ้งการละเล่นของไทย ทรงออกประกาศห้ามมิให้เล่นแอ่วลาว หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคตในปีพ.ศ. 2409 ทรงอ้างด้วยว่า เมืองที่เล่นลาวแคนมาก ๆ ฝนจะแล้ง และทรงคาดโทษผู้ที่เล่นลาวแคนว่าจะจับและให้เสียภาษีเพิ่มอีกหลายเท่า อย่างไรก็ตามแม้ว่า การเป่าแคน การละเล่นแอ่วลาว จะถูกประกาศห้ามมิให้เล่นในครั้งนั้น แต่แคนซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่อยู่คู่ชนชาติลาวกลับมิได้สูญหายไปด้วย ยังคงอยู่คู่ชาวลาวในสยามจนถึงปัจจุบัน พบว่าชาวลาวเวียงส่วนใหญ่เป่าแคนได้ เด็ก ๆ ในชุมชนเติบโตมาพร้อมกับเสียงแคน จากการเป่าแคนประกอบการละเล่นแอ่วลาวตามแบบดั้งเดิม ชาวลาวเวียงได้สืบทอดและส่งต่อวัฒนธรรมนี้เรื่อยมาเป็นเวลากว่าร้อยปี (วรรณพร บุญญาสถิตย์ และคณะ, 2559, หน้า 49-51) ในปัจจุบันชาวลาวเวียงได้ประยุกต์การเป่าแคนจากเดิมที่เป็นการละเล่นหลังเสร็จภารกิจจากการทำไร่ไถนาแล้วมารวมกลุ่มกันร้องรำทำเพลง โดยมีกลองสองหน้า ฉิ่ง ฉาบ แคน กรับ เป็นเครื่องดนตรี เพื่อสร้างความสนุกสนานในชุมชน ให้เข้ากับสังคมสมัยใหม่กลายเป็น “วงแคนประยุกต์”  กลายเป็นความโดดเด่นของชาวลาวเวียง อีกประการหนึ่งเพราะเป็นชุมชนลาวเวียงเพียงแห่งเดียวที่มีการเป่าแคนอย่างจริงจังจนสามารถพัฒนามาเป็นอีกอาชีพปัจจุบันชาวลาวเวียงตำบลดอนคาเป็นเจ้าของวงแคนประยุกต์จำนวนมากกว่า 20 คณะ (วรรณพร บุญญาสถิต และคณะ อ้างจาก สำนักปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนคา, 2558) ถือว่าเป็นตำบลที่มีวงแคนประยุกต์มากที่สุดในประเทศไทยในขณะนี้ และมีชื่อเสียงโด่งดังไปยังจังหวัดอื่น ๆ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางถูกว่าจ้างให้ไปเล่นในงานมงคล เช่น งานบวชงานแต่งงานงานขึ้นบ้านใหม่งานแก้บนงานฉลอง ฯลฯ ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศตลอดทั้งปี

  • เรื่องเล่า/ตำนาน/วรรณกรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

              คนลาวอาศัยอยู่ตามที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงในประเทศลาว เนื่องจากภูมิประเทศในประเทศลาวมีภูเขาสลับซับซ้อน คนลาวจึงเลือกอาศัยบริเวณที่ราบระหว่างช่องเขา หรือที่ราบลุ่มน้ำที่เป็นสาขาของแม่น้ำโขง เช่น ที่ราบลุ่มน้ำทา ที่ราบลุ่มน้ำคาน ที่ราบลุ่มน้ำอู กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ จัดเป็นพวกลาวลุ่ม ตามการจำแนกของรัฐบาลลาวในช่วง พ.ศ. 2493-2518 และด้วยเหตุที่ภูมิประเทศเป็นเทือกเขา กลุ่ม “ลาวลุ่ม” จึงต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจกับคนชาติพันธุ์อื่น ๆ ซึ่งรัฐบาลเรียกว่า “ลาวเทิง” ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ตามเนินเขา และ “ลาวสูง” ที่อาศัยอยู่บนดอย

              พงศาวดารล้านช้าง เล่าประวัติศาสตร์ของชนชาติลาวในลักษณะของนิทานปรัมปรา มีเนื้อหาสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างชาติพันธุ์ของกลุ่มคนในบริเวณกลุ่มชาติพันธุ์นี้ โดยไม่อาจแยกความเป็นมาของชนชาติลาวจากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่มักเล่าให้เห็นการมีประวัติความเป็นมาร่วมกัน โดยมีความเชื่อเรื่องแถน หรือเทวดาที่อยู่บนฟ้า ซึ่งเป็นบรรพบุรุษตระกูลไท-ลาว ที่ปรากฏในเอกสารจีนโบราณ กล่าวถึงบ้านเมืองในดินแดนลาว ชื่อ “เย่ฉาง” (ในพุทธศตวรรษที่ 5-6) หมายถึง ฉาน หรือ สยาม เมื่อตรวจสอบพิจารณาจากสภาพทางภูมิศาสตร์ และหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า ส่วนสำคัญของเย่ฉางมีดินแดนอยู่ในลาวปัจจุบันและยังมีขอบเขตต่อเนื่องไปถึงภาคกลางของเวียดนาม ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของพม่าและตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ในเรื่องบรรพบุรุษของตระกูลไท - ลาวนั้น สันนิษฐานว่าอยู่บริเวณมณฑลกวางตุ้ง ก่อนยุคโจมีอำนาจ และอพยพต่อมาทางทิศตะวันตก จนมาสร้างอาณาจักรเทียน หรือ แถน (Kingdom of Tien) ใต้แม่น้ำแยงซีเกียงในมณฑลกวางสีใกล้กับมณฑลยูนนาน ในพงศาวดารล้านช้างพระยาแถนที่กล่าวไว้ คือกษัตริย์เทียน (King of Tien) บ้านเมืองของพระยาแถนอยู่ตอนบนชาวล้านช้างต้องใช้แพถ่อขึ้นไปตามแม่น้ำนี้ ที่เรียกว่าแม่น้ำโขงในปัจจุบัน (ขจร สุขพานิช, 2513, หน้า 117)

  • ตำนานของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง :

    แถนในพงศาสดารล้านช้าง

              ขุนใหญ่ 3 คน ชื่อปู่ลางเชิง ขุนเด็ก ขุนคาน สร้างบ้านเมืองอยู่ในที่ลุ่มเมืองเชียงดงเชียงทองเวลาได้อาหารก็ไม่เซ่นไหว้บอกกล่าวแก่ผี ผีจึงโกรธบันดาลให้น้ำท่วมบ้านเมือง ขุนทั้งสามต้องต่อแพพาตัวเองและลูกเมียลงอยู่ในแพ จึงรอดชีวิตอยู่ได้ ขุนทั้งสามได้นำแพวนน้ำขึ้นไปเมืองสวรรค์ ไปเฝ้าพระยาแถน ซึ่งประทับอยู่บนสวรรค์ เพื่อฟ้องร้องเรื่องนี้ พระยาแถนจึงให้ขุนทั้งสามและครอบครัวอยู่อย่างสบายบนสวรรค์ แต่พวกนั้นไม่เคยอยู่บนสวรรค์ก็ไม่รู้ จะทำอย่างไรจะเหาะเหินอย่างพวกเทวดาก็ทำไม่ได้ แทนที่จะมีความสุขก็กลับเบื่อหน่าย พากันไปเฝ้าพระยาแถนทูลว่า “ข้อยอยู่เมืองบนบ่แกว่น แล่นเมืองฟ้าบ่เป็น” ขออนุญาตกลับลงมาอยู่เมืองมนุษย์อย่างเดิม พระยาแถนก็อนุญาตให้กลับ แต่ไม่ได้ให้ลงไปเชียงดงเชียงทอง ให้ไปอยู่ที่ตำบลนาน้อยหรือนาน้อยอ้อยหนู และให้ควายลงมาด้วย (มนุษย์จึงใช้ควายไถนาตั้งแต่นั้นมา)  ต่อมาควายตัวนี้ตายลงจึงเกิดต้นน้ำเต้าขึ้นที่ซากของควาย มีผลน้ำเต้าใหญ่ผลหนึ่ง (ชาวอีสานโบราณเรียกว่า น้ำเต้าปุง) เมื่อโตเต็มที่ก็ได้ยินเสียงคนอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก ขุนทั้งสามจึงเอา “เหล็กแดง” (เหล็กที่เผาจนแดง) เจาะเป็นรูเพื่อให้คนออกมา 2 รู คือพวกไทยลมกับไทยลีมีสีผิวเนื้อดำคล้ำ (เนื่องจากถูกรมควันไฟเวลาถูกเหล็กแดงเจาะ) ถือเป็นบรรพบุรุษของพวกข่า ขอม เขมร มอญ ได้ชื่อว่าเป็นชนชาติรุ่นพี่ ต่อมาก็ยังมีคนเหลืออยู่ในผลน้ำเต้าปุงอีกมาก ขุนทั้งสามจึงต้องหาสิ่วมาเจาะใหม่ไห้คนออกเพิ่มอีก 3 รู พวกที่ออกรุ่นหลังหรือรุ่นน้องนี้มาจากรูสิ่วไม่ถูกควันรมจึมีผิวกายขาวกว่า ได้แก่พวก ไทยเลิง ไทยลอ ไทยควาง ซึ่งกลายมาเป็นบรรพบุรุษของคนลาว คนไทย คนญวน ในภายหลัง เมื่อมีคนออกมาจากน้ำเต้าปุงมากมายเช่นนี้ขุนทั้งสามก็พยายามสอนให้ทำไร่ ทำนา ตำหูก (ทอผ้า) สอนให้อยู่เป็นครัว แต่ไม่สามารถปกครองให้สงบเรียบร้อยได้ จึงขึ้นไปอุทธรณ์ต่อพระยาแถน ท่านเลยส่งขุนครูขุนครองลงมาปกครอง แต่ขุนทั้งสองคนนี้กลับ “สร้างบ้านก็บ่เปลือง สร้างเมืองบ่กว้าง สูกินเล้าชุมื้อชุวันนานมาไพร่ฟ้าค้างทุกข์ค้างยากก็บ่ดูนา” ร้อนถึงพระยาแถนอีกครั้งหนึ่งต้องส่งขุนบูฮมหรือบูลม หรือขุนบรม ลงมาพร้อมทั้งให้อาญาสิทธิ์เด็ดขาดด้วย

              เมื่อขุนบรมลงมาครอง มีพลเมืองสมัครเข้ามาอยู่ในความปกครองมากมาย ขุนบรมจึงได้ปรึกษากับขุนนางทั้งหลายว่าทำอย่างไรจึงจะให้คนในปกครอง อยู่กินอย่างมีความสุข จำนวนพลเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว “มากดั่งทรายหลายดั่งน้ำ” ขุนบรมจึงไปวิงวอนขอพระยาแถนอีกและได้รับความช่วยเหลือมาเป็นครั้งสุดท้าย คือ พระยาแถนได้ส่ง แถนแต่ง (พระวิษณุกรรม) ลงมาสร้างบ้านเมืองให้ ทำไร่ทำนาสอนการทอผ้าสอนให้รู้จักพืชพันธุ์ที่เป็นยารักษาโรค เพาะปลูก ทอผ้า เลี้ยงไหม เลี้ยงเป็ดเลี้ยงไก่ ให้แถนกลอนมาสอนแต่งกลอน  ส่งแถนเพลงมาสอนดนตรี ตีฆ้อง ตีกลอง กรับ ปี่พาทย์ พิณ สอนขับร้องฟ้อนรำ นอกจากนี้พระยาแถน ยังได้ส่งนางเทพอัปสรลงมาเป็นชายาขุนบรมสององค์ องค์หนึ่งชื่อ นางแอกแดง อีกองค์หนึ่งชื่อนางยมพาลา เมื่อสร้างสอนสิ่งต่าง ๆ ให้แล้วพระยาแถนก็บอกแก่ขุนบรมว่า ตั้งแต่นี้ไปอย่าให้มนุษย์ขึ้นไปกวนเทพเจ้าอีก นับแต่นั้นมา ชาวล้านช้างก็ไม่สามารถจะลงแพถ่อขึ้นไปเมืองสวรรค์ได้อีก การคมนาคมระหว่างมนุษย์โลกกับเทวโลกก็สิ้นสุดลง

              แต่ขุนบรมก็ “สร้างบ้านแปงเมือง” ให้เจริญก้าวหน้าและขยายตัวออกไปได้มาก “สร้างบ้านก็จึงเปลือง สร้างเมืองก็จึงฮุ่ง” ไพล่พลบ้านเมืองทั้งหลายก็ขยันขันแข็งในการประกอบอาชีพทำมาหากิน ขุนบรมมีโอรสสืบมา 7 องค์ คือ

              คนที่ 1 เกิดจาก นางแอกแดง ชื่อ ขุนลอ

              คนที่ 2 เกิดจาก นางแอกแดง ชื่อ ยี่ผาลาน

              คนที่ 3 เกิดจาก นางแอกแดง ชื่อ สามจูสง

              คนที่ 4 เกิดจาก นางยมพาลา ชื่อ ไสผง

              คนที่ 5 เกิดจาก นางยมพาลา ชื่อ งัวอิน

              คนที่ 6 เกิดจาก นางยมพาลา ชื่อ ลกกลม

              คนที่ 7 เกิดจาก นางแอกแดง ชื่อ เจ็ดเจิง

              เมื่อโอรสทั้ง 7 เติบโต ขุนบรมแบ่งปันทรัพย์สมบัติให้ เริ่มจากแจกอาวุธต่าง ๆ เอางาช้างเบื้องขวามาตัดแบ่งออกเป็น 4 ท่อนให้กับโอรสของนางแอกแดง 4 องค์ เอางาช้างเบื้องซ้ายมาตัดออกเป็น 3 ท่อนให้โอรสของนางยมพาลา 3 องค์ แบ่งปันแก้วแหวนเงินทอง บ่าวไพร่ และให้โอรสทั้ง 7 แยกไปสร้างบ้านเมืองกันเอง และห้ามเด็ดขาดมิให้พี่น้องแย่งราชสมบัติ แย่งบ้านแย่งเมืองกัน เพื่อให้มั่นใจว่าโอรสทั้ง 7 จะปฏิบัติตามคำสั่ง ขุนบรมจึงทำคำสาปแช่งอย่างรุนแรงเอาไว้ ต่อมาเมื่อขุนบรมสิ้น นางแอกแดงและนางยมพาลาก็สิ้นชีพตาม โอรสทั้ง 7 ของขุนบรมจึงแยกย้ายกันไปแบ่งไพร่พลไปกับตน (ภีรนัย โชติกันตะ, 2531, หน้า 62-64) โดยขุนลอไปสร้างเมืองชวา (หลวงพระบาง) ยี่ผาลานไปสร้างเมืองหัวแต (สิบสองปันนา) สามจูสงไปสร้างเมืองแกว (หัวพันทั้งห้าทั้งหก) ไสผงไปสร้างเมืองยวนโยนก (ล้านนา) งัวอินไปสร้างเมืองอโยธยา (อยุธยา) ลกกลมไปสร้างเมืองเชียงคม เจ็ดเจิงไปสร้างเมืองพวน ในแง่นี้ตำนานขุนบรมหรือพงศาวดารล้านช้างสะท้อนให้เห็นว่า ผู้คนที่ออกมารุ่นแรกโดยใช้เหล็กซีเจาะ ซึ่งได้รูเล็กทำให้ต้องเบียดเสียดกันออกมา ผิวกายติดเขม่าควันดำทำให้ผิวคล้ำ คือพวกข่า ขมุ ส่วนผู้คนที่ออกมารุ่นที่สอง โดยการใช้สิ่วเจาะเป็นพวกที่มีผิวขาวกว่า เป็นพวกลาว ไทดำ ไทขาว ไทลื้อ นับว่า ข่า ขมุ ลาว ไท เป็นพี่น้องกัน มีกำเนิดร่วมกัน แต่ในรุ่นต่อ ๆ มาหรือในรุ่นที่สืบเผ่าพันธุ์ใกล้ชิดสนิทกันจริง ๆ ก็เห็นจะมีแต่ไทยกับลาว ซึ่งเห็นได้จากลาวหลวงพระบาง ไทสิบสองปันนา หัวพันทั้งห้าทั้งหก ล้านนา อยุธยา เชียงคม ลาวพวนล้วนเป็นพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน เรียกได้ว่า ไทกับลาวเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นพี่น้องสนิทกัน (ศิราพร ณ ถลาง, 2539, หน้า 22-23)

    ท้าวเจืองตำนานวีรบุรุษของลาว

              ตำนานวีรบุรุษ เป็นนิทานประเภทที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับชีวประวัติของตัวละครเอกตั้งแต่เด็กจนถึงบั้นปลายชีวิตและวีรกรรมต่าง ๆ ชองตัวละครซึ่งมักเป็นวีรกรรมที่ยิ่งใหญ่ และแสดงให้เห็นความเกล่งกล้าสามารถเกินบุคคลทั่วไป อย่างเช่น เรื่องท้าวเจือง ตามนิทานพื้นบ้านของลาวเล่าไว้ว่า

              ท้าวเจือง เดิมชื่อว่าท้าวยี เป็นเด็กขี้เกียจไม่ยอมทำงานเอาแต่ปั้นขี้ผึ้งเป็นฆ้อง เมื่อเขาตีฆ้องมีเสียงดังขึ้นมาว่าเขาจะได้เป็นใหญ่เป็นโตในอนาคต พ่อของท้าวยีจึงเอาน้ำมาราดฆ้องทำให้เปลี่ยนรูปไม่ได้อีกต่อไป ท้าวเจืองเอาฆ้องไปแลกดาบวิเศษชื่อดาบคันไซของลูกพระยาแถน พ่อของท้าวยีไม่พอใจจึงเหวี่ยงดาบเข้าป่า ไม่มีผู้ใดสามารถดึงดาบขึ้นจากพื้นดินได้ แต่ท้าวยีใช้ง่ามท้าวซ้ายดึงดาบขึ้นมาได้อย่างง่ายดาย ชาวบ้านจึงเรียกขานว่า ท้าวเจือง ต่อมาเขาเห็นหน้านางแอวแยวจากดวงแก้วในป่าจึงหลงรักและเดินทางไปหานาง ท้าวเจืองแข่งกินเหล้ากับชาวเมืองของนางแอวแยวชนะจึงได้แต่งงานกับนาง แต่หลังจากประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วก็ต้องประสบกับหายนะโดยการถูกศัตรูลอบทำร้ายด้วยเล่ห์กล จากชาวเมืองของนางแอวแยวยกทัพมารบกับท้าวเจืองแต่แพ้กลับไป จึงแอบสืบความลับว่าท้าวเจืองมี “คุด” (ก้อนหินที่มีในสัตว์หรือต้นไม้ถือเป็นสิริมงคล) ศักดิ์สิทธิ์และเอา “คุด” ไปนึ่งทำให้ท้าวเจิงสลบ บ้านเมืองมืดมิดไปหมด แต่ในที่สุดท้าวเจืองก็ฟื้นคืนชีพขึ้นมาโดยการนำตัวเขาวางบนคานที่ทำจากไม้เฮ้ยน้อยให้คางคกหาม นิทานเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นลักษณะของวีรบุรุษในนิยามของชาวลาวว่า นิยมวีรบุรุษที่มีชาติกำเนิดเป็นสามัญชนธรรมดามากกว่าวีรบุรุษที่มีชาติกำเนิดสูงส่ง ไม่จำเป็นต้องมีความสามารถเก่งกล้าพิเศษ แต่เน้นความมีบุญญาธิการและมีโชคในการพบของวิเศษหรืออำนาจวิเศษช่วยเปลี่ยนให้สถานภาพสูงขึ้น (จารุวรรณ เชาว์นวม, 2542, หน้า 98)        

  • งานวิจัยที่เกี่ยวข้องของกลุ่มชาติพันธุ์ลาวเวียง : งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก