ตลาดกลางในย่านชุมชนในสมัยสุโขทัย

  Princess Maha Chakri Sirindhorn Anthropology Centre
Ethnic Groups Research Database


   Record

 
Subject มอญ,พม่า,สุโขทัย,ความสัมพันธ์,ประวัติศาสตร์
Author พรพรรณ เลาหศิรินาถ
Title ความสัมพันธ์ของมอญ พม่า และสุโขทัย ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 19-20
Document Type วิทยานิพนธ์ Original Language of Text ภาษาไทย
Ethnic Identity - Language and Linguistic Affiliations ออสโตรเอเชียติก(Austroasiatic)
Location of
Documents
ห้องสมุดศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร
(เอกสารฉบับเต็ม)
Total Pages 279 Year 2519
Source กรุงเทพฯ : ภาควิชาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร
Abstract

แม้ว่าในตำนานหรือนิยายปรัมปรา ได้กล่าวถึงความเป็นมาของชนชาติพม่าว่า มีมาตั้งแต่พุทธกาลก็ตาม นักประวัติศาสตร์ลงความเห็นกันว่า ประวัติศาสตร์ที่แท้จริงของพม่านั้น เริ่มต้นอย่างแท้จริงในสมัยพระเจ้าอโนรธา (Anawrahta พ.ศ. 1587-1620) ในพงศาวดารจีน ได้กล่าวถึงชนชาติพม่าว่า พม่าเป็นกลุ่มชนที่ได้อพยพมาจากตอนใต้ของจีนในพุทธศตวรรษที่ 2 หลังจากนั้นก็ตกอยู่ในอำนาจของพวกน่านเจ้า เมื่อได้รับอิสระจากน่านเจ้าแล้ว ก็ได้อพยพลงมาตามลุ่มแม่น้ำอิระวดี แล้วเข้ายึดภาคกลางของพม่า โดยได้ตั้งเป็นอาณาจักรเล็ก ๆ ในภาคกลางของพม่า เรียกว่า อาณาจักรตัมบาดิปะ (Tambadipa) ในพุทธศตวรรษที่ 14 หลังจากสิ้นสุดของราชวงศ์ศรีเกษตรแล้ว พม่าก็ได้ตั้งเมืองพุกามขึ้นในกลางพุทธศตวรรษที่ 18 คือ ในระหว่างสมัยพระเจ้านรถิหปเต (Narathihapate พ.ศ.1797-1830) อาณาจักรพุกามเริ่มอ่อนแอลง ทั้งนี้ เพราะพระองค์ไม่ได้ใส่ใจในการปกครอง มองโกลได้พุกามเป็นเมืองขึ้นใน พ.ศ. 1827 อาณาจักรพุกามหลังจากนั้น ได้แตกแยกออกเป็นเมืองเล็กเมืองน้อย รวม 6 เมืองด้วยกัน และเมื่อพระเจ้าฟ้ารั่วหรือมะทะโก (Wareru พ.ศ. 1830-1844) ได้ครอบครองหัวเมืองมอญไว้ในอำนาจได้ทั้งหมด เมืองมอญจึงกลายเป็นเมืองที่เข้มแข็งที่สุด สำหรับความเป็นมาของมอญนั้น มอญทางภาคกลางของประเทศไทย คือ อาณาจักรทวาราวดี อาจจะมีศูนย์กลางอยู่ที่นครปฐม อู่ทอง หรือ ลพบุรีก็ได้ ปัจจุบันเชื่อกันว่า ศูนย์กลางเมืองทวาราวดี คือ แถบพระปะโทน นครปฐมเป็นศูนย์กลางอาณาจักรและศูนย์กลางทางพุทธศาสนา ทั้งประติมากรรมและสถาปัตยกรรม และอาณาจักรของมอญนี้คงมีความเจริญรุ่งเรืองมาก จึงปรากฏอิทธิพลของศิลปกรรมแบบทวารวดีมีอยู่ทุกภาคในไทย รวมทั้งในแถบพม่าตอนใต้ด้วย ในพงศาวดารพม่ากล่าวว่า มอญได้สร้างเมืองสะเทิมขึ้น ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 เมืองสะเทิมเป็นเมืองใหญ่ของพม่าตอนใต้ หลังจากได้รับเอาพุทธศาสนาจากอินเดียแล้ว เมืองมอญก็มีความเจริญมากขึ้น จนเป็นเหตุให้พระเจ้าอโนรธายกกองทัพมาตีเมืองสะเทิมในพุทธศตวรรษที่ 16 จนเมืองสะเทิมตกเป็นเมืองขึ้นของอาณาจักรพุกามในที่สุด นอกจากเสถียรภาพทางการปกครองของสุโขทัยจะไม่มั่นคงแล้ว ทางเศรษฐกิจก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะช่วยให้สุโขทัยมีเสถียรภาพในทุกๆ ด้านดีขึ้นได้ ทำให้สุโขทัยประสบปัญหาในการหาทางออกสู่ทะเล เมื่อเป็นเช่นนี้พ่อค้าไปมาระหว่างสุโขทัยกับตลาดภายนอกก็ลดลง ดังนั้น สุโขทัยจึงต้องหาเส้นทางออกสู่ทะเลใหม่ สำหรับเส้นทางการค้าระหว่างสุโขทัยกับเมาะตะมะเป็นเส้นทางที่ได้ใช้เป็นเส้นทางการค้ากันมาตั้งแต่โบราณและเมืองเมาะตะมะ มีอาณาเขตด้านหนึ่งติดทะเล พ่อขุนรามคำแหงคงเล็งเห็นผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่เมืองเมาะตะมะจะอำนวยให้กับสุโขทัย ดังนั้น พระองค์ได้แผ่ขยายอำนาจเข้าครอบครองเมืองมอญด้วยระบบการทูต คือ ให้ความสัมพันธ์ในฐานะเครือญาติ สำหรับความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา ศิลปและวัฒนธรรมของมอญ พม่า และสุโขทัยนั้น ถ้าจะกล่าวอย่างกว้าง ๆ แล้ว อินเดียเป็นจุดรวมแห่งศาสนา ศิลป และวัฒนธรรมของมอญ พม่าและสุโขทัย เนื่องจากสุโขทัยมีความสัมพันธ์อันดีกับ มอญ พม่า ทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และศาสนา ทั้งโดยตรงและทางอ้อม คือ มีความสัมพันธ์โดยทางตรงกับอาณาจักรมอญ และมีความสัมพันธ์โดยทางอ้อมกับพม่าโดยผ่านทางมอญ อิทธิพลทางด้านศิลปวัฒนธรรมและศาสนาก็ย่อมจะถ่ายทอดถึงกันได้ (หน้า 202-206)

Focus

ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับ ความเป็นมาของอาณาจักรมอญ พม่า และความสัมพันธ์ของมอญ พม่ากับสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง-พระเจ้าลิไท

Ethnic Group in the Focus
Language and Linguistic Affiliations

พม่าประกอบไปด้วยหลายเชื้อชาติและภาษารวมแล้วมากกว่า 100 ภาษา ใช้ภาษาพม่า เป็นภาษาราชการ (หน้า 14) มอญเป็นชื่อที่ใช้เรียกตัวเอง ภาษาที่ใช้เป็นภาษาถิ่น แบ่งเป็น 3 ถิ่น คือ ภาษาถิ่นมะตะบัน ภาษาถิ่นมอญเมียน และภาษาถิ่น เย (Martaban, Monlmein, ye) (หน้า 55)

Study Period (Data Collection)
History of the Group and Community

พงศาวดารพม่า กล่าวว่า ประวัติศาสตร์พม่าเริ่มมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล พระเจ้าอภิราชาเป็นกษัตริย์จากกรุงกบิลพัสดุที่ประเทศอินเดีย ได้ยกทัพผ่านมาทางเมืองมณีปุระ (กะแซ) เป็นเมืองที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิระวดี แล้วได้ตั้งเมืองกะโก้ง ในพระราชพงศาวดารพม่ากล่าวว่า เป็นเมืองแรกสุดที่ชาวพม่าได้ตั้งขึ้น แล้วได้สืบราชสมบัติกันต่อมาหลายชั่วกษัตริย์ จะขอกล่าวเพียงพระมหากษัตริย์ในสมัยพุกาม (พ.ศ. 1587-1830) - พระเจ้าอโนรธา (Anawrahta พ.ศ. 1587-1630) พระองค์เป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกของพม่าสมัยพุกาม และเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกที่ได้แผ่ขยายอาณาเขตออกไปได้อย่างกว้างขวาง - พระเจ้าสอลู (Sawlu พ.ศ. 1620-1627) พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโนรธากับพระอัครมเหสีพระเจ้าจันชิตถา (Kyanzitha พ.ศ. 1627-1655) ในพระราชพงศาวดารฉบับมณเฑียรแก้ว ได้กล่าวถึงประวัติของพระองค์ว่า เนื่องจากพระองค์มีเชื้อสายมอญ ดังนั้น อิทธิพลต่าง ๆ ของมอญจึงปรากฏในพม่ามาก ภาษามอญเป็นที่นิยมใช้กัน จารึกของพระองค์ที่โปรดให้สลักขึ้นเป็นจารึกภาษามอญเป็นส่วนมาก พระองค์ทรงมีนโยบายการปกครองเกี่ยวกับการรวมเชื้อชาติเผ่าต่างๆ ให้เป็นชาติเดียวกันและพยายามแสดงให้ชนทุกเผ่าเห็นว่าต่างก็เป็น ชาวพม่าด้วยกัน - พระเจ้าอลองสิตถู (Alaungsithu พ.ศ. 1655-1710) ในพระราชพงศาวดารฉบับมณเฑียรแก้ว กล่าวถึงพระองค์ว่า พระองค์ทรงโปรดปรานการท่องเที่ยวไปในแดนไกลโดยทางเรือ ล่องลงมาตามลำแม่น้ำอิรวดีมายังเมืองมอญ แล้วได้สร้างที่พำนักที่เมืองบาสแซง (Bassein) - พระเจ้านรถู (Narathu พ.ศ. 1710-1713) พระเจ้านรเถนขะ (Naratheinhka พ.ศ. 1713-1716) ในพระราชพงศาวดารฉบับมณเฑียรแก้ว ได้กล่าวว่าตลอดระยะเวลาของพระองค์ประชาชนอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขทั้งธัญญาหารก็อุดมสมบูรณ์ - พระเจ้านรปติสิตถู (Narapatisithu พ.ศ. 1716-1753) ในรัชกาลของพระองค์เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ พระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรมประชาชนนิยมชมชอบในพระองค์มาก ทรงโปรดให้สร้างเขื่อนเพื่อกักกันน้ำในการเพาะปลูก และขุดคลองเพื่อระบายน้ำ - พระเจ้าธิโลมินโล (Htilominlo พ.ศ.1753-1777) พระองค์ทรงฝักใฝ่พระพุทธศาสนาปฏิบัติราชกิจ อันเกี่ยวกับศาสนามาตลอด และยังทรงส่งเสริมด้านวรรณคดีและการแต่งไวยากรณ์ภาษาบาลีอีกด้วย - พระเจ้าจาชวา (Kyazwa พ.ศ. 1777-1793) เมื่อครองราชย์แล้วทรงพระนามอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าธรรมราชา (Dhammaraja) - พระเจ้าอุชานะ (Uzana พ.ศ. 1793-1797) พระเจ้าอุชานะสิ้นพระชนม์ในการคล้องช้างที่เมืองดาละ - พระเจ้านรถิหปเต (Narathihapate พ.ศ. 1797-1830) เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์พุกาม ในสมัยของพระองค์ต้องประสบกับความยุ่งยาก ในอาณาจักรและการรุกรานของพวกมองโกล (หน้า 24-47) ประวัติศาสตร์ชาติมอญก่อน พ.ศ. 1600 ความเป็นมาของชนชาติมอญในพม่าใต้ ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าอพยพมาจากทิศทางใด ถ้าจะยึดเอาตามพงศาวดารจีนตามที่ Taw Sein Ko ได้กล่าวไว้ว่า ชนชาติมอญเป็นเผ่าหนึ่งที่อาศัยอยู่แถบตอนใต้ของประเทศจีน แต่นานเท่าไรแล้ว มิได้มีหลักฐานปรากฏชัดเจน อีกความเห็นหนึ่ง เชื่อว่าพวกมอญได้อพยพเข้ามาสู่อาณาจักรพม่าสมัยโบราณตั้งแต่พุทธกาลใน ขณะที่ชนเผ่ามอญตกอยู่ในความคุ้มครองของพวกน่านเจ้า พวกมอญคงได้อพยพเข้ามาทางเหนือของพม่า เพื่อเข้ายึดครองแถบสมบูรณ์อู่ข้าวอู่น้ำของพม่าเหนือ และเมื่อพม่าได้อิสระจากพวกน่านเจ้าแล้ว ก็ได้อพยพลงมาตามลำน้ำอิระวดีแล้วยึดเอาอู่ข้าวอู่น้ำจากพวกมอญ มอญสู้ไม่ได้จึงได้อพยพลงมาตามลุ่มน้ำอิระวดี และคงมีมอญบางกลุ่มอาศัยปะปนกับพวกพม่า ความเห็นทั้งสองดูยังไม่เป็นที่ยอมรับ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ให้ความเห็นว่าถ้าถือเอาตามศิลาจารึกแล้ว ศูนย์กลางของมอญอยู่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-13 แล้วจึงได้ย้ายไปที่พม่าปัจจุบันความเป็นมาของมอญในภาคกลางของไทยถ้าประมาณเอาเรื่องราวของมอญจากจารึกที่พบในไทย ก็อาจกล่าวได้ว่าพวกมอญหรือทวารวดีน่าจะเป็นกลุ่มชนที่อยู่ตอนกลางของไทยก่อนแล้ว จึงได้ขยายขึ้นไปทางเหนือและเข้าสู่เมืองสะเทิมในที่สุด เนื่องจากลักษณะตัวอักษรที่จารึกด้วยภาษามอญโบราณนั้นเก่าสุด พบที่แถบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาภาคกลางของไทย ซึ่งมีอายุเก่าไปถึงพุทธศตวรรษที่ 12 และ14 แต่กลับไม่พบลักษณะตัวอักษรเช่นนี้ในพม่าใต้หรือเมืองมอญในพม่า ดังนั้นความเห็นของ G.H. Luce ที่กล่าวว่า เมืองศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมของมอญนั้นน่าจะอยู่ที่เมืองไทย และเมืองไทยนั้นครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองมอญ ก็อาจจะเป็นคำกล่าวที่ถูกต้อง (หน้า 55-66) ประวัติศาสตร์การตั้งเมืองและพระมหากษัตริย์ของมอญ การตั้งเมืองสะเทิม เชื่อกันว่าเมืองสะเทิมคือ สุวรรณภูมิ ในศิลาจารึกกัลยาณีกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชได้ส่งพระโสณและพระอุตตระเถระ มาประดิษฐานพระพุทธศาสนายังแคว้นสุวรรณภูมิ เพื่อประดิษฐานพระพุทธศาสนาในรามัญประเทศ เมืองสะเทิมเดิมชื่อรากษนคร (Raksapura) เป็นเมืองที่ได้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏแน่ชัด มักถูกรุกรานจากพวกชนพื้นเมือง เช่น กะเหรี่ยง และพวกรากษซึ่งได้แก่พวกมลายันที่มีศูนย์กลางแห่งวัฒนธรรมอยู่ที่สุมาตรา ได้มายึดเอาแถบชายฝั่งเมืองสะเทิมเป็นที่ทำกิน และมักรุกรานเมืองสะเทิมบ่อยครั้ง จึงปรากฏป้อมคูเมืองเพื่อป้องกันการรุกรานจากทางใต้ เมืองสะเทิมเมื่อตั้งขึ้นเป็นเมืองแล้ว เป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองมาก เพราะเมืองสะเทิมเป็นเมืองที่ติดต่อค้าขายระหว่างอินเดียใต้กับดินแดนส่วนต่าง ๆ รอบ ๆ การตั้งเมืองพะโค (Pegu) เมืองพะโค เป็นเมืองของพวกมอญพื้นเมืองเดิมไม่ปรากฏชัดว่าได้ตั้งเป็นเมืองขึ้นตั้งแต่เมื่อไหร่ ชื่อเดิมของเมืองพะโค คือ Orissa แล้วเปลี่ยนมาเป็น Pegu เมืองพะโคตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำพะโค เป็นเมืองที่สามารถออกสู่ทะเลอันดามันได้ มอญที่อพยพมาทางใต้ได้เข้าไปในแถบเมืองสะเทิม และก็คงมีบางกลุ่มได้ถอยลงมาทางตะวันออกอยู่แถบริมฝั่งทะเลทั่วไปทั้งแถบเมืองพะโคและบริเวณอื่นๆ เมืองพะโคแต่เดิมคงเป็นชายทะเล จึงปรากฏข้อความต่างๆ ในพงศาดารกล่าวถึงพวกพ่อค้าอินเดียเดินทางผ่านเมืองและแถบชายฝั่งทะเลอันดามัน เพื่อจะไปค้าขายยังสุวรรณภูมิ ในพงศาวดารมอญพม่าได้กล่าวถึงเมืองพะโคว่า เคยเป็นน้ำมาก่อนแล้วได้ตื้นเขินขึ้น ในระหว่างที่มอญได้เข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองพะโคนั้น คงมีชายแดนด้านใต้จรดทะเลอันดามัน การตั้งเมืองเมาะตะมะ (Mataban) เมืองเมาะตะมะเป็นเมืองที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองสะเทิม ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในพระราชพงศาวดารฉบับมณเฑียรแก้ว ในสมัยพระเจ้านรถิหปเตว่า เมืองเมาะตะมะเป็นเมืองขึ้นของเมืองพุกาม เจ้าเมืองแห่งเมืองเมาะตะมะเกิดการกบฎ และถูกอำมาตย์ชะเถกัน(Yazatheingyan) ปราบได้และตั้งให้อลิมามาง (Aleimma) เป็นเจ้าเมืองครองเมืองเมาะตะมะตั้งแต่นั้นมา (หน้า 76-84) อาณาจักรสุโขทัยและพระมหากษัตริย์สุโขทัยในอดีตนั้น เกิดขึ้นในภาคกลางตอนเหนือของประเทศไทยในปัจจุบัน โดยได้ตั้งขึ้นเป็นอาณาจักรใน พ.ศ.1762 มีพ่อขุนศรีอินทราทิตย์เป็นต้นวงศ์ กลุ่มชนชาติเข้ามาก่อตั้งอาณาจักรคงอพยพมาจากทางตอนเหนือของไทยและร่นลงมาทางใต้ เนื่องจากถูกรุกรานจากกลุ่มชนอื่นแล้วลงมาก่อตั้งอาณาจักรในพุทธศตวรรษที่ 18 จากจารึกหลักที่ 2 ศิลาจารึกวัดศรีชุม กล่าวถึงพ่อขุนที่กล้าหาญ 2 ท่าน คือ พ่อขุนผาเมืองเจ้าเมืองราด และพ่อขุนบางกลางหาวเจ้าเมืองบางยาง ได้ร่วมกันขจัดขอมสมาดโขลญลำพง เจ้าเมืองขอมออกไปได้แล้วก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยขึ้น และพ่อขุนผาเมืองได้พระราชทานพระนามศรีอินทราทิตย์แก่พ่อขุนบางกลางหาว พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสุโขทัยมีอยู่ 9 พระองค์ พระมหากษัตริย์ที่ครองสุโขทัย เป็นพระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยทศพิธราชธรรมนับถือพุทธศาสนา และทำสงครามกับอาณาจักรข้างเคียงเพื่อป้องกันสุโขทัยให้รอดพ้นจากอันตราย อาณาจักรสุโขทัยนับว่ามีความเจริญสูงสุด และมีอาณาเขตกว้างขวางที่สุดในสมัยพระเจ้ารามคำแหง (หน้า 89-92)

Economy

สภาพเศรษฐกิจของสุโขทัยสมัยพ่อขุนรามคำแหง อาณาจักรสุโขทัยเป็นอาณาจักร ที่ไม่มีความอุดมสมบูรณ์ทางเศรษฐกิจมากนัก ทั้งนี้ เนื่องจากอำนาจอันแท้จริงของอาณาจักรสุโขทัยมีอยู่เพียงหัวเมืองลูกหลวง 4 เมือง คือ ศรีสัชชนาลัย สองแคว สระหลวง ชากังราว เท่านั้น และการปกครองก็ยังเป็นแบบนครรัฐ ไม่สามารถขยายอำนาจออกไปครอบคลุมดินแดนใกล้เคียง จึงทำให้มีเนื้อที่เพาะปลูกน้อย สุโขทัยหาทางออกทะเลยาก นอกจากอาณาจักรสุโขทัยจะมีเสถียรภาพทางการเมืองไม่มั่นคงแล้ว สภาพเศรษฐกิจของสุโขทัยก็ไม่อยู่ในฐานะที่จะสร้างให้ สุโขทัยมีความมั่นคงได้ กล่าวคือ แม้ว่าอาณาจักรสุโขทัยในสมัยพ่อขุนรามคำแหง จะมีอาณาเขตกว้างใหญ่เพียงใดก็ตามอาณาเขตที่เป็นของเมืองสุโขทัยที่แท้จริง ได้แก่ ย่านใจกลางของสุโขทัย บริเวณที่มีอาณาเขตทิศเหนือจรดแนวเขาพลึง ทิศตะวันออกจรดกับแนวทิวเขาเพชรบูรณ์ ทิศใต้จรดนครสวรรค์ และทางตะวันตกจรดเทือกเขาตะนาวศรี บริเวณที่กล่าวนี้เป็นที่ราบกว้างเกือบเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสแม้ว่าจะมีแม่น้ำไหลผ่าน 4 สาย ได้แก่ แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำน่าน แม่น้ำปิง แม่น้ำยม แต่เนื่องจากย่านใจกลางอยู่ในเขตที่ดินเปลี่ยนแปลง จึงทำให้เป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์เพียงส่วนที่ราบตะวันออก อันเป็นดินที่เกิดจากการสะสมของแม่น้ำเท่านั้น ส่วนทางตะวันตกเป็นแหล่งที่ไม่ค่อยอุดมสมบูรณ์ ดินแดนทางตอนเหนือแม้ว่าจะเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ แต่เนื่องจากมีบึงธรรมชาติและที่ราบลุ่มมาก เมื่อถึงฤดูฝนน้ำจะเอ่อท่วมทำให้เกิดความเสียหายในไร่นามาก นอกจากนั้น ในย่านใจกลางอาณาจักรไม่สามารถใช้น้ำได้สะดวก ทั้งนี้เนื่องจากแม่น้ำสายเล็ก ๆ เช่น ลำน้ำแม่ลำพันคลองเสาหอ และลำน้ำฝากระดาน ไม่สามารถใช้ในการคมนาคมได้ดี เพราะเป็นลำน้ำขนาดเล็กและคดเคี้ยวมากการค้าสมัยโบราณมักใช้เส้นทางน้ำเป็นทางคมนาคม เมื่อย่านใจกลางเมืองไม่สามารถติดต่อกันได้สะดวก จึงทำให้ผู้คนเข้ามาค้าขายไปมาน้อย เพื่อเสริมความมั่นคงให้กับประเทศ พระองค์ทรงมีนโยบายเกี่ยวกับการค้า คือ 1. ชักชวนให้ประชาชนที่อื่นเข้ามาทำกินในสุโขทัยมากขึ้น 2. การแผ่อาณาเขตไปถึงเมืองมอญ 3. การค้ากับต่างประเทศ หน้า (141-148) การค้าขายระหว่างสุโขทัยกับมอญเมืองท่าทางพม่าตอนใต้นั้น เป็นเสมือนตลาดกลางการค้าของมอญและสุโขทัย เมื่อมะกะโทสามารถแผ่อาณาเขตเข้าไปถึงเมืองพะโค เมืองท่าใหญ่แห่งนี้ก็คงจะได้เป็นเมืองท่าที่สำคัญ ในการส่งสินค้าของสุโขทัยอีกเมืองหนึ่งด้วยสินค้าที่พ่อค้ามอญหรือพ่อค้าพม่า อาจจะมีการลักลอบทำการค้ากัน โดยส่งผ่านพ่อค้ามอญส่งออกขายสู่ตลาดนอกซึ่งอาจจะหมายถึง สินค้าที่มอญพม่าส่งเข้าไปขายยังสุโขทัยด้วย อาจแบ่งเป็นประเภทได้ดังนี้ คือ 1. สินค้าประเภทฟุ่มเฟือย ได้แก่ เครื่องประดับทำด้วยทองเงิน และเพชร พลอยต่าง ๆ 2. สินค้าประเภทบริโภค ปลาแห้งหรือปลาเค็ม งาปิ เป็นอาหารประจำวันของคนมอญพม่า เกลือ เกลือเป็นสินค้าออกของมอญ ทั้งนี้เนื่องจากมอญนิยมทำเป็นอาชีพแทบทุกครัวเรือน นอกเหนือจากการกสิกรรมและการประมง 3. สินค้าที่มอญซื้อจากต่างประเทศ แล้วนำเข้ามาขายยังกรุงสุโขทัย สินค้าที่ใช้ในกิจพิธีทางศาสนาและสินค้าฟุ่มเฟือย ได้แก่ เครื่องแก้ว ภาชนะชนิดต่าง ๆ ไม้หอม กำยาน ไม้หอมชนิดต่าง ๆ เพชรพลอยจากลังกา พม่า ผ้าแพรไหมและชนิดอื่น ๆ จากจีนและอินเดียความสัมพันธ์ของพม่าและสุโขทัยทางด้านการค้า เมืองท่าของพม่าตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโนรธา จนถึงสมัยพระเจ้านรถิหปเต คือ เมืองท่าบาสแซง ทั้งนี้เพราะเมืองท่าบาสแซงเป็นเมืองท่าที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำอิรวดี สะดวกในการคมนาคมจากเมืองพุกามออกสู่ทะเล พม่าจึงมิได้มีการค้าติดต่อกับสุโขทัยแต่อย่างใด (หน้า 158-163)

Political Organization

ความสัมพันธ์มอญ พม่ากับสุโขทัยในด้านการเมือง ในสมัยพ่อขุนรามคำแหง - สมัยพระเจ้าลิไทเหตุการณ์ในพม่าในสมัยพระเจ้านรถิหปเต (พ.ศ. 1797-1830) รัชกาลสุดท้ายของพม่าสมัยพุกาม ปีที่พระเจ้านรถิหปเตขึ้นครองราชย์นั้น ตรงกับอาณาจักรสุโขทัยหลังจากประกาศอิสระภาพแล้ว 34 ปี ดังนั้น ต้นรัชกาลของพระเจ้านรถิหปเต จึงตรงกับรัชกาลของพ่อขุนบางเมืองพ่อขุนรามคำแหงที่ขึ้นครองราชย์ ในปี พ.ศ. 1822 ไม่มีหลักฐานใดที่จะกล่าวถึง ความสัมพันธ์ของสุโขทัยในสมัยพ่อขุนบานเมือง กับประเทศใดในทางการเมืองยกเว้นในศิลาจารึกหลักที่ 1 เหตุที่ทำให้อาณาจักรพุกาม มิได้มีความสัมพันธ์กับอาณาจักรสุโขทัยเนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบ ที่เกิดขึ้นภายในเมืองพุกามหลายประการด้วยกัน คือ 1. เหตุการณ์ไม่สงบภายในประเทศ 2. พระมหากษัตริย์มิได้ตั้งอยู่ในทศพิธราชธรรม 3. การรุกรานจากศัตรูภายนอก 4. การรุกรานของพวกมองโกล (หน้า 96-103) สินชัย กระบวนแสง ได้กล่าวถึงการปกครองของอาณาจักรสุโขทัยว่า เป็นการปกครองแบบนครรัฐ โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางแห่งการปกครองอยู่ที่เมืองหลวงลักษณะการปกครองแบบนครรัฐนี้ จะใช้ได้เฉพาะอาณาจักรขนาดเล็กเท่านั้น แต่จะประสบความล้มเหลวเมื่ออาณาจักรนั้นกว้างขวางมากขึ้น เพราะห่างไกลจากศูนย์กลางการปกครอง ดังนั้นเมื่อแรกตั้งอาณาจักรสุโขทัยยังมีขนาดเล็กมิได้ประสบความยุ่งยากในการปกครองแต่อย่างใด เพราะหัวเมืองเหล่านั้นตั้งอยู่ในละแวกเมืองหลวงมิได้ห่างไกลกันมากนัก มาในสมัยพระเจ้ารามคำแหง ซึ่งมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล จึงทำให้ประเทศประสบความยุ่งยากในการปกครอง พระราชอำนาจคงมี แต่เมืองหัวเมืองชั้นใน ซึ่งได้แก่ เมืองรายรอบสุโขทัยทั้ง 4 ทิศ คือ นครชุม (กำแพงเพชร) เชลียง (ศรีสัชนาลัย) สองแคว (พิษณุโลก) และสระหลวง (พิจิตร) ส่วนหัวเมืองชั้นนอกอันได้แก่ เมืองพระยามหานครหัวเมืองประเทศราชพระองค์มีพระราชอำนาจแต่เพียงในนามเท่านั้น (หน้า123) ความสัมพันธ์ของสุโขทัยกับมอญทางด้านการเมือง มอญยอมเป็นเมืองออกต่อสุโขทัย มาตั้งแต่ต้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงแล้ว เชื่อกันว่าเมื่อสิ้นพ่อขุนรามคำแหงแล้วความจงรักภักดีของมอญก็สิ้นลงไปด้วย อย่างไรก็ดี สาเหตุแห่งความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยกับมอญนั้นอาจมีด้วยเหตุหลายประการ คือ ได้กล่าวมาแล้วว่าสภาพบ้านเมืองในสมัยพ่อขุนรามคำแหง สุโขทัยมิได้มีความเข็มแข็งเพียงพอในการที่จะทำให้สุโขทัยมีอำนาจทางการทหารได้ ดังนั้น เหตุผลประการหนึ่งของความสัมพันธ์ระหว่างสุโขทัยและเมืองมอญคือ เพื่อให้เมืองมอญเป็นกำลังในยามสงคราม พ่อขุนรามคำแหงมีนโยบายต่างประเทศที่ดีทรงพยายามที่จะหาหัวเมืองประเทศราชทั้ง 4 ทิศ เพื่อป้องกันอาณาจักรสุโขทัยให้รอดพ้นจากอันตรายทั้งปวง พระองค์ได้ใช้ระบบการปกครองแบบระบบเครือญาติ ซึ่งเป็นวิธีการเดียวที่จะทำให้สุโขทัยและหัวเมืองมอญเป็นเหมือนทองแผ่นเดียวกัน (หน้า 133-135)

Belief System

สุโขทัยได้รับอิทธิพลทางศาสนาและความเชื่อถือซึ่งถ่ายทอดให้กันได้เป็นธรรมดา ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ศาสนาพราหมณ์ในสุโขทัยมิได้รับโดยตรงจากอินเดียแต่รับมาทางกัมพูชา มอญเป็นต้นแบบแห่งพุทธศาสนาหินยานอย่างเถรวาท และวัฒนธรรมประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ได้ให้อิทธิพลต่อพม่า ทำให้พม่าได้กลายเป็นศูนย์กลางทางศาสนาไป และพุทธศาสนาจากพม่าก็ได้แผ่เข้ามาสู่สุโขทัย ศาสนาพราหมณ์ในสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลมาจากกัมพูชามีมากเท่ากับการที่สุโขทัยรับพุทธศาสนามาจากพม่า ประเพณีของมอญ พม่าและสุโขทัย อันเนื่องมาจากศาสนา ประเพณีของมอญและพม่าทั้งทางศาสนาพุทธ และศาสนาพราหมณ์นั้น มีปรากฏในจารึกและเขียนไว้เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์น้อยมาก แต่ก็ถือว่าเป็นประเพณีที่ได้กระทำสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จึงได้เลือกเขียนเฉพาะประเพณีที่มีกล่าวไว้ในพงศาวดารพม่า ประเพณีอันเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ของมอญและพม่านั้น ไม่ปรากฏว่าได้กระทำเป็นพิธีทางศาสนา แต่พวกพราหมณ์จะเข้ามาเกี่ยวข้องในประเพณีหรือพิธีต่าง ๆ มากมาย เช่น วันปีใหม่ ทั้งทางมอญและพม่า ศาสนาพราหมณ์จะมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องบ้าง การทำพิธีทางศาสนาพราหมณ์ที่ชัดเจนก็คงจะเป็นประเพณีรดน้ำดำหัวของพม่าในวันปีใหม่ ซึ่งเป็นพิธีที่ทำมาแต่โบราณกาล ประเพณีทางศาสนาของสุโขทัยที่มีกล่าวไว้ในจารึก ได้แก่ 1.พิธีเข้าพรรษา 2.พิธีออกพรรษา 3. พิธีกรานกฐิน มอญพม่าและสุโขทัยในพุทธศตวรรษที่ 18 ต่างก็เป็นอาณาจักรที่นับถือพุทธศาสนาอย่างลังกาวงศ์ ประเพณีต่างๆ ทางศาสนาจึงมีความคล้ายคลึงกัน แม้ว่าศาสนาพราหมณ์จะมีความสำคัญต่อราชสำนักมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมอญและพม่า สำหรับสุโขทัยนั้นตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนางนพมาศก็จะเห็นว่าศาสนาพราหมณ์ มีบทบาทในด้านประเพณีของชาวสุโขทัยเช่นกัน ทั้งนี้เพราะสุโขทัยเจริญขึ้น ในขณะที่กัมพูชามีอำนาจอย่างมาก และกัมพูชาเป็นอาณาจักรที่นับถือศาสนาพราหมณ์อย่างแน่นแฟ้นมานานแล้ว ก็ย่อมจะแผ่อิทธิพลทางศาสนามายังสุโขทัยบ้าง (หน้า 178-185)

Education and Socialization
Art and Crafts (including Clothing Costume)

ศิลปกรรมสมัยสุโขทัย จากข้อความในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงซึ่งได้กล่าวถึงอาณาเขตของอาณาจักรสุโขทัย แสดงให้เห็นว่าสุโขทัยมีอาณาจักรเพื่อนบ้านทางทิศเหนือ คือ อาณาจักรล้านนา ทางตะวันตก คือ อาณาจักรพุกาม ทางใต้ คือ อาณาจักรศรีวิชัย ทางตะวันออก คือ อาณาจักรกัมพูชา อาณาจักรเพื่อนบ้านสุโขทัยเหล่านี้ต่างก็เป็นอาณาจักรที่มีมาก่อนสุโขทัย และได้รับอิทธิพลทางด้านศิลปและวัฒนธรรมจากอินเดียเป็นเวลานานแล้ว นับตั้งแต่อินเดียได้เริ่มเผยแพร่ศาสนา ศิลป และอารยธรรม ออกสู่ดินแดนแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 6 ส่วนสุโขทัยมีอำนาจขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นเวลาที่อาณาจักรเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า และศรีวิชัย กำลังเสื่อมลง แต่อิทธิพลทางศิลปสมัยต่าง ๆ ของอินเดียที่มีต่ออาณาจักรเพื่อนบ้านเหล่านั้นยังคงหลงเหลืออยู่หรืออาจจะถูกดัดแปลงให้เข้ากับศิลปของตนก็ได้ พระพุทธรูปสมัยสุโขทัยได้รับอิทธิพลของมอญ คือศิลปแบบทวารวดี เช่น พระพุทธรูปที่พบที่ วัดสะพานหิน ส่วนอิทธิพลของขอมในศิลปสุโขทัย ได้แก่ พวกเทวรูปต่าง ๆ พระพุทธรูปของสุโขทัยที่ได้รับอิทธิพลทางทวารวดีนั้น เป็นพระพุทธรูปแบบก่อนสุโขทัย ในหนังสือ Buddhist Art in Siam ได้เปรียบเทียบพระพุทธรูปแบบคลาสิคชั้นสูง (Classic Period) กับพระพุทธรูปแบบทวาราวดีว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายประการ เช่น หมวดพระเกศาบนพระเศียร และพระเกตุมาลาในพระกรรณยาว ลวดลายบนฝ่าพระหัตถ์และฝ่าพระบาท พระองค์ไม่แสดงลักษณะทางเพศ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสัญลักษณ์ของ "มหาบุรุษลักษณะ" พระพักตร์แสดงถึงสมาธิ พระเนตรปิดครึ่งหนึ่ง และทรงแย้มพระโอษฐ์นิดๆ ขอบพระโอษฐ์เป็นเส้นสลักเป็นรอนอยู่โดยรอบ ไม่มีไรพระเกศา ผ้าจีวรไม่มีริ้ว บางแนบสนิทกับพระองค์ สำหรับพระพุทธรูปสุโขทัย ประทับยืนก็ทรงห่มคลุมคล้ายกับพระพุทธรูปแบบทวาราวดีและบายน สถาปัตยกรรมสุโขทัยกับสถาปัตยกรรมของพม่า สถาปัตยกรรมของสุโขทัยที่มีลักษณะใกล้เคียงกับศิลปพม่าสมัยพุกาม อาจแบ่งออกเป็นลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือลักษณะมรฑปที่มีประตูเป็นซุ้มทรงสูง เช่น พระมณฑปที่วัดศรีชุม (ดูรูป 18) มณฑปวัดพระพังทองหลาง และมณฑปวัดซ่อนข้าว เป็นต้น มีลักษณะของมณฑปเป็นสี่เหลี่ยมทรงสูง มีทางเข้าออกทางเดียว ซึ่งทางเข้าออกนั้นส่วนมากจะหันไปทางทิศตะวันออก ตรงทางเข้านั้นทำเป็นประตูซุ้มทรงสูงเช่นที่วัดศรีชุม ทรงมณฑปตั้งอยู่บนฐาน 3 ชั้นซ้อนลดหลั่นโดยลำดับสองข้างของประตูซุ้ม ทำเป็นเสาหลอกติดกับฝาผนังสามชั้น เพื่อรองรับซุ้มหน้าบันตอนบนลักษณะทรงมณฑปที่มีประตูเป็นซุ้มทรงสูงนั้น เคยปรากฏในสถาปัตยกรรมวิหารปยูที่ศรีเกษตร คือ วิหารเบเบ (Bebe) (ดูรูป19) หรือวิหารเซกูตะวันออก วิหารเลมเยถนา (ดูรูป 20) และวิหารยะหันดะคู (Yahanda - gu) วิหารเหล่านี้คงสร้างขึ้นในศรีเกษตร ประมาณ พ.ศ. 1000-1200 ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ กล่าวว่าลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนี้ พม่าได้รับสืบต่อมาจากสถาปัตยกรรมของปยู เช่น หอพระปิฎก (Pitakattajk) และมณฑปที่วิหารอภัยทน(Abeyadana) ก็ได้สร้างขึ้นในพุกามระหว่าง พ.ศ. 1600 -1700 นอกจากนั้น การทำซุ้มประตูเป็นวงโค้งโดยการเรียงอิฐเป็นวงโค้งก็เป็นเอกลักษณ์ของสถาปัตยกรรมของปยู ลักษณะซุ้มประตูเช่นนี้ก็ปรากฏในศิลปแบบสุโขทัย เช่น ลักษณะซุ้มประตูที่มณฑปวัดตระพังทองหลาง วัดสวนแก้วอุทยานน้อย หรือวัดซ่อนข้าว ลักษณะของหน้าบัน ที่ประกอบไปด้วยวงโค้งหลายวงต่อกัน และมีใบระกาหรือฝักเพกาประดับอยู่บนโค้งด้านบนสุด ลักษณะของหน้าบันเช่นนี้ปรากฏชัดในสถาปัตยกรรมพม่า เช่น นันทเจดีย์หรือวัดนากยน (Nagayon) นอกจากนี้ ยังได้พบรูปจำลองอาคารที่รูปพระบาทวัดศรีชุม มีลักษณะเป็นรูปอาคารที่คล้ายคลึงกับหอปิฏกไตร ของพระเจ้าอโนรธา ที่เมืองพุกาม(ดูรูป 27) (หน้า 186-201)

Folklore

ตำนานการตั้งเมืองของมอญ การตั้งเมืองสะเทิมในนิทานรามาธิบดีกถา ซึ่งได้จารึกไว้บนใบลานไม่ทราบว่าจารึกขึ้นเมื่อใด ได้กล่าวถึงการตั้งเมืองสะเทิมว่า เมืองสะเทิมนั้นได้สร้างขึ้นโดยบุตรฤษีซึ่งอาศัยอยู่ที่ภูเขาแครงนาค ชื่อว่า สุริยกุมาร พระอินทร์ได้ลงมาช่วยสร้างเมืองสะเทิมและอภิเษกให้เป็นพระมหากษัตริย์ครองเมืองสะเทิม การตั้งเมืองพะโค ในพงศวดารพม่าได้กล่าวว่า เมืองพะโคสร้างขึ้นในปี 1116 พระโอรสวิมลกุมารและสมละกุมารได้ครองราชสมบัติที่เมืองพะโคเป็นปฐมกษัตริย์ ทรงพระนามว่า พระเจ้าสักรทัตที่ 1 และพระเจ้าสักรทัตที่ 2 (หน้า 68-74)

Ethnicity (Ethnic Identity, Boundaries and Ethnic Relation)

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในสหภาพพม่า เป็นชนชาติหลายเผ่าหลายภาษา พวกพม่า และพวกฉานนับถือพุทธศาสนา แต่พวกชาวเผ่าบางกลุ่มยังคงนับถือภูตผีปีศาจอยู่ เช่น พวกวา (Was) (หน้า 14) ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเมืองมอญปัจจุบัน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพม่าตอนใต้ ประกอบไปด้วยชาวกระเหรี่ยง ไทยใหญ่ มอญ พม่า ชาวอินเดีย และชาวจีน (หน้า 53)

Social Cultural and Identity Change
Map/Illustration

รูปภาพ: เจดีย์ทิซองที่เมืองสะเทิม (Tizaung pagoda, Thaton) (หน้า 264) ชินตะมินดะที่เมืองสะเทิม (Hsindat myindat, Thaton)(หน้า264) พระวิษณุบรรทมบนอนันตนาคราชจากเมืองสะเทิม (Stone Sculpture of Visnu from Thaton) (หน้า265) พระพรหมพนมมือจากเมืองสะเทิม (Bhrama four faces from Thaton) (หน้า265) หอพระปิฎกไตรที่เมืองพุกาม (Pitakattaik, Pagon) (หน้า266) เจดีย์ชเวชะยันที่เมืองพุกาม(Shwezayan pagoda,Thaton) (หน้า266) เทวาลัยแน๊ตลองจองที่เมืองพุกาม (Nat Hlaung Kyaung temple, Pagan) (หน้า267) วัดปะโตโสมระเมืองพุกาม(Patothomya temple, Pagon) (267) พระพุทธรูปทวาราวดีในสุโขทัย(268) วัดกู่กุด จังหวัดลำพูน (หน้า 268) วัดพระยืน จังหวัดลำพูน (หน้า 269) เจดีย์บุพยะพุกาม (Bupaya pagoda, Pagan) (หน้า 269) สถูปแบบมยินปะกัน (Stupa of Myinpagan School, Pagan) (270) เจดีย์ชเวซันดอที่พุกาม (Shwesandaw temple, Pagan) (หน้า270) วิหารนันทปัญญาที่พุกาม (Nandawannya temple, Pagan)(หน้า271) วิหารชเว กุงกีที่พุกาม (Shwe-gu-gyi temple, Pagan) (หน้า 271) วิหารอภัยทนที่พุกาม (Abiyadana temple, Pagan)(หน้า272) วัดศรีชุม จังหวัดสุโขทัย (หน้า 272) วิหารเบเบ(Bebe temple)(หน้า 273) วิหารเลมเยถนา(Lemyethna temple)(หน้า 273) หน้าบันวงโค้งวัดถินกันยน(Thinganyon temple, Minnanthu, pagan)(หน้า 274) หน้าต่างด้านทิศใต้ของวัดนากยน (Nagayon temple, pagan) (หน้า 274) เจดีย์รายบางองค์ของเจดีย์วัดเจ็ดแถว อ. ศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (หน้า 275) เจดีย์วัดป่าสัก อ.เชียงแสน จังหวัดเชียงราย (หน้า 275) วัดนางพญา อ.ศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (หน้า 276) สถูปปยักสะ ขเวกุ (Hypatsa Shwe-gu Stupa) (หน้า 276) พระพุทธบาทจำลอง พบที่โลกานันทเจดีย์ (Lokanadazwdi, Pagan) (หน้า 277) สถูปบากยนปอดอมู (Nagayon Paw-daw-mu stupa) (หน้า278) เจดีย์วัดช้างล้อม อ.ศรีสัชชนาลัย จังหวัดสุโขทัย (หน้า278) แผนที่: แผนที่แสดงอาณาจักรแรกเริ่มของชนชาวพม่าที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในสหภาพพม่า (หน้า 5) แผนที่แสดงเมืองต่างๆ ที่ตั้งขึ้นก่อนสมัยพุกาม(หน้า 6) แผนที่แสดงอาณาจักรพุกาม(พ.ศ. 1587-1830) (หน้า 7) แผนที่ประเทศพม่า (หน้า 8) แผนผังแสดงราชวงศ์พุกาม(พ.ศ. 1587-1830)(หน้า 9) แผนที่ประเทศรามัญ (มอญ) (หน้า 48) แผนที่จังหวัดสุโขทัย (หน้า 87) แผนที่แสดงอาณาจักรพุกามในครอบครองของอาณาจักรไทยใหญ่ (ฉาน) (หน้า 94) แผนที่แสดงเส้นทางการติดต่อระหว่างสุโขทัยกับมอญ (หน้า 140)

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก