ภาวะกลั้นปัสสาวะผิดปกติพบมากในช่วงวัยใด

เมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ ระบบต่าง ๆ ในร่างกายก็จะเสื่อมสมรรถภาพไปตามธรรมชาติ ทำให้เกิดสภาวะผิดปกติต่าง ๆ ตามมา ซึ่งหนึ่งในนั้นคือประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลงของกระเพาะปัสสาวะ เราจึงอยากพาทุกคนมาทำความเข้าใจและรู้จักวิธีการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะลำบาก

แค่ไหนถึงเรียกว่าภาวะกลั้นปัสสาวะลำบาก?

                โดยปกติแล้วคนจะเริ่มรู้สึกหน่วง ๆ อยากเข้าห้องน้ำเมื่อมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะประมาณครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ถึงขั้นปวดและบีบตัวจนอยากเข้าห้องน้ำทันที จะยังสามารถทนได้เมื่อไม่มีจังหวะได้เข้าห้องน้ำ แต่คนที่มีสภาวะกระเพาะปัสสาวะผิดปกติจะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยเกือบทุกชั่วโมง แม้แต่ตอนกลางคืนก็ไม่สามารถหลับได้เต็มอิ่มเพราะต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน เพราะกระเพาะปัสสาวะจะบีบตัวแม้จะมีน้ำยังไม่เต็มกระเพาะก็ตาม แต่ปริมาณที่ขับถ่ายออกมาจะน้อยสวนทางกับอาการปวด ซึ่งคนที่มีอาการนี้จะต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที เพราะอาจจะกลั้นไม่อยู่จนปล่อยราดออกมาได้

                ในกลุ่มของผู้สูงอายุ อาการนี้จะมีสาเหตุมาจากความเสื่อมของร่างกายที่ความแข็งแรงของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานลดลง รวมถึงปัจจัยทางเพศ เช่น ผู้ชายสูงอายุอาจมีภาวะต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะมากขึ้น และผู้หญิงจะปวดปัสสาวะบ่อยในช่วงวัยทอง เพราะร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนน้อยลง นอกจากนี้ยังเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาและโรคบางชนิด ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น ซึ่งถ้าหากผู้สูงอายุมีปัญหาปัสสาวะเล็ดบ่อยครั้ง หรือต้องลุกมาเข้าห้องน้ำในตอนกลางคืนบ่อย ๆ จนไม่ได้นอน แปลว่าอาจมีภาวะกลั้นปัสสาวะลำบาก จึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำวินิจฉัยและคำแนะนำในการรักษาเพิ่มเติม

ประเภทของอาการกลั้นปัสสาวะลำบาก

อาการปัสสาวะเล็ดในผู้สูงอายุมีหลายลักษณะและสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมกัน ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 4 อาการดังนี้

1.        Functional Incontinence (ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่ได้ที่เกิดจากความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง) เป็นการปวดปัสสาวะที่ผู้สูงอายุไม่สามารถกลั้นเอาไว้ได้ เนื่องจากสภาพร่างกายหรือปัจจัยภายนอก ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถไปเข้าห้องน้ำได้ทัน เช่น ผู้สูงอายุมีอาการข้ออักเสบ ทำให้ไม่สามารถถอดกางเกงได้ทันเวลา หรือ ผู้สูงอายุมีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว ทำให้เดินไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน การปัสสาวะรดที่นอนในตอนกลางคืน เป็นต้น

2.        Stress Incontinence (ปัสสาวะเล็ด) กรณีนี้จะกลั้นปัสสาวะไม่ได้เมื่อไอ จาม หัวเราะ รวมถึงเมื่อทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง โดยอาการนี้มักจะเกิดจากความแข็งแรงของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานและหูรูดลดลง แม้จะมีปริมาณน้ำอยู่ในกระเพราะปัสสาวะน้อย แต่เมื่อเกิดแรงกดในช่องท้องเล็กน้อยก็อาจทำให้ปัสสาวะเล็ดออกมาได้

3.        Urge Incontinence (ปัสสาวะราด) เป็นอาการปัสสาวะราดโดยไม่รู้ตัว เพราะความรู้สึกปวดปัสสาวะเกิดขึ้นกระทันหันและรุนแรง ทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถกลั้นปัสสาวะหรือไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน การปวดปัสสาวะแบบนี้มักพบในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน รวมถึงผู้ป่วยต่อมลูกหมากโตเรื้อรัง ที่เกิดจากการที่มีน้ำตกค้างในกระเพาะปัสสาวะเป็นจำนวนมากจนล้นออกมาเอง

4.        Overflow Incontinence (ปัสสววะเล็ดราด) เป็นอาการปัสสาวะเล็ดออกมาเล็กน้อยหลังปัสสาวะเสร็จแล้วเพราะปัสสาวะไม่สุด โดยอาจจะเป็นผลมาจากท่อปัสสาวะตีบหรือเส้นประสาทที่ควบคุมการปัสสาวะผิดปกติ รวมถึงการที่กระเพาะปัสสาวะเต็มอยู่ตลอดด้วยสาเหตุบางอย่าง พบมากในผู้หญิงที่ถุงน้ำบริเวณท่อปัสสาวะมีปัญหา และผู้ชายที่มีต่อมลูกหมากโต

วิธีการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะลำบาก

1.        งดสุรา กาแฟ และเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

2.        ลดการดื่มน้ำประมาณ 2-4 ชั่วโมงก่อนเข้านอนเพื่อลดการปวดเข้าห้องน้ำตอนกลางคืน

3.        บริหารกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการฝึกขมิบ เพื่อให้มีแรงกลั้นปัสสาวะและสามารถควบคุมการถ่ายปัสสาวะได้ดีมากขึ้น

4.        ทำความสะอาดอวัยวะขับถ่ายให้สะอาดเพื่อป้องกันการติดเชื้อ

5.        หมั่นสังเกตอาการและจดบันทึกปริมาณน้ำที่ดื่มในแต่ละวันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม

6.        ปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของอาการและรักษาให้ตรงจุด

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่คนในครอบครัวควรให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะส่งผลต่อสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของผู้สูงอายุโดยตรง การเข้าใจและรู้จักวิธีการดูแลผู้ที่มีอาการเหล่านี้ จะช่วยให้ผู้ใหญ่ในครอบครัวใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขมากขึ้น

สำหรับลูกค้ากรุงไทย-แอกซ่าประกันชีวิตสามารถเข้ารับการตรวจเช็คอาการเบื้องต้นได้ที่ Symptom Checker ผ่านแอปพลิเคชัน Emma by AXA ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ //www.krungthai-axa.co.th/th/emma-by-axa

กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ บำบัดได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ อาจรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วยที่ประสบปัญหา เนื่องจากต้องเข้าห้องน้ำบ่อยกว่าคนทั่วไป หรืออาจต้องเข้าทันทีที่ปวด ขณะที่คนปกติสามารถกลั้นไว้ก่อนได้ไม่จำเป็นต้องเข้าห้องน้ำทันที นอกจากนี้ในคนที่กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จะมีการขับถ่ายต่อครั้งในปริมาณน้อย แต่ขับถ่ายบ่อยจนกลายเป็นปัญหา ทั้งยังพบว่าในบางรายมีปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือราดออกมาบ่อยครั้ง ซึ่งควรได้รับการรักษา โดยในการรักษาปัจจุบันก็มีอยู่หลายวิธีด้วยกัน นอกเหนือไปจากการผ่าตัด

หลักการของปัสสาวะ

ไตกรองของเสีย ➞ ท่อไต ➞ เก็บในกระเพาะปัสสาวะ ➞ เมื่อถึงระดับหนึ่ง ➞ ส่งกระแสประสาทไปยังต่อมใต้สมอง ➞ รู้สึกปวดปัสสาวะ

คนปกติจะขับถ่ายปัสสาวะปริมาณ 400-600 มิลลิลิตร/ครั้ง

คนที่มีปัญหากลั้นปัสสาวะไม่อยู่ จะขับถ่ายปัสสาวะน้อยกว่า 400-600 มิลลิลิตร/ครั้ง

สาเหตุของอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

  • การบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
  • การอักเสบติดเชื้อที่กระเพาะปัสสาวะหรือทางเดินปัสสาวะ
  • ช่องคลอดหย่อน
  • หูรูดไม่แข็งแรงหรือเสื่อม
  • เยื่อบุรอบท่อปัสสาวะบางฝ่อ
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • การใช้ยาบางชนิด
  • ปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว
  • เครื่องดื่มคาเฟอีน

การรักษา

  • ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม (ลดเครื่องดื่มคาเฟอีน, หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำก่อนนอน, ไม่กลั้นปัสสาวะซึ่งทำให้ติดเชื้อ)
  • ควบคุมน้ำหนัก
  • รักษาอาการท้องผูก
  • รักษาด้วยยา
  • ขมิบช่องคลอด (เป็นการบริหารกล้ามเนื้อ)
  • ใช้อุปกรณ์พยุง (รักษาอาการช่องคลอดหย่อน)
  • เลเซอร์ (รักษาเยื่อบุรอบท่อปัสสาวะบางฝ่อ)

ข้อมูลจาก
อ. นพ.คมกฤช เอี่ยมจิรกุล
สาขาวิชาอนามัยการเจริญพันธุ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

คลิกชมคลิปรายการ “การบำบัดภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่โดยไม่ต้องผ่าตัด : พบหมอรามา ช่วง Big Story” ได้ที่นี่

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก