ผู้ควบคุมงานก่อสร้าง คือ ใคร

กฎกระทรวง หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครองอาคาร และเจ้าของอาคาร
5 เม.ย. 2561

กระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารออก “กฎกระทรวง กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ ผู้ควบคุมงาน ผู้ดำเนินการ ผู้ครอบครองอาคาร และเจ้าของอาคาร พ.ศ. 2561” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2561 และจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นหกสิบวัน คือตั้งแต่วันที่ 5 มิ.ย. 2561 โดยไม่ใช้บังคับกับการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารที่ได้รับใบอนุญาตหรือใบรับแจ้งตามมาตรา 39 ทวิ ก่อนวันดังกล่าว

กฎกระทรวงฉบับนี้นับว่ามีความสำคัญต่อผู้ที่เกี่ยวข้องในงานก่อสร้างอาคาร ตั้งแต่ต้นธารคือผู้ออกแบบจัดทำรายละเอียดที่จะใช้ในการก่อสร้างซึ่งได้แก่สถาปนิกและวิศวกร ไปจนถึงผู้ดำเนินการก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน รวมไปถึงเจ้าของอาคาร หรือผู้ครอบครองอาคาร เพราะเป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ As-built drawings ซึ่งตามกฎกระทรวงเรียกว่า “แบบแปลนตามสร้าง” ซึ่งจะต้องจัดให้มีสำหรับอาคารบางประเภท-ขนาดด้วย

บทนิยาม

กฎกระทรวงได้ให้บทนิยามของ “ผู้ออกแบบ” ในกฎกระทรวงนี้หมายถึง ผู้ออกแบบงานสถาปัตยกรรม หรือผู้ออกแบบและคำนวณงานวิศวกรรม และ “เจ้าของอาคาร” หมายถึง ผู้มีกรรมสิทธิ์ในอาคารนั้น โดยให้หมายความรวมถึงเจ้าของโครงการที่เป็นผู้ทำสัญญาจ้างก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารด้วย ส่วนบทนิยาม “ผู้ควบคุมงาน” “ผู้ดำเนินการ” และ “ผู้ครอบครองอาคาร” ไม่ได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากมีบัญญัติไว้แล้วในพระราชบัญญัติ ซึ่งสำหรับ “ผู้ดำเนินการ” นั้นหมายถึงผู้กระทำการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารกระทำด้วยตนเอง หรือผู้ซึ่งตกลงรับกระทำการดังกล่าวไม่ว่าจะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม (ผู้รับเหมาก่อสร้าง) และให้รวมไปถึงผู้รับจ้างช่วงด้วย

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ออกแบบ

นอกจากจะมีหน้าที่ที่พึงปฏิบัติคือ “ออกแบบและจัดทำรายละเอียดในการออกแบบที่ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ในการดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารได้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พึงกระทำตามวิชาชีพ” และจะต้อง “รับผิดชอบในส่วนที่เป็นผลต่อเนื่องจากการออกแบบดัดแปลงหรือรื้อถอนอาคารนั้น” แล้ว ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายดังต่อไปนี้ด้วย
– กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายของบุคคล หรือทรัพย์สิน ที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้าง และบริเวณข้างเคียงให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
– กรณีที่เป็นการคำนวณออกแบบโครงสร้างของ อาคารสาธารณะพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ และอาคารประเภทควบคุมการใช้ ถ้าใช้น้ำหนักบรรทุกจรสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด จะต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรแต่ละพ้นที่อาคารไว้ในแบบแปลนโครงสร้างพื้นชั้นต่างๆ ด้วย
– ระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณงานวิศวกรรมระบบความปลอดภัยอื่นๆ ที่มีเกณฑ์สูงกว่าที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนดไว้ในแบบแปลนอาคาร

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ควบคุมงาน

นอกจากจะต้อง “อำนวยการหรือควบคุมการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาคาร ให้เป็นไปตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่พึงกระทำตามวิชาชีพ” ยังกำหนดให้ชัดเจนว่าจะต้อง “อำนวยการหรือควบคุมให้มีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร และบริเวณข้างเคียงให้เป็นไปตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่ผู้ดำเนินการกําหนดไว้”

หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ดำเนินการ

มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามปกติของผู้ดำเนินการเริ่มตั้งแต่ “วางแผนงาน ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว และเสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการดังกล่าวต่อเจ้าของอาคาร” จากนั้น “ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งต่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 39 ทวิ” โดยจะต้อง “ดำเนินการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่เจ้าของอาคารเห็นชอบ และต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ”

นอกจากนั้น ยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่กำหนดไว้เพื่อความปลอดภัยและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ได้แก่
– เสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน ในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารและบริเวณข้างเคียง ตามมาตรการที่ผู้ออกแบบกำหนดต่อเจ้าของอาคารก่อนนำไปดำเนินการ
– จัดทำรายงานการดำเนินการอย่างน้อยเดือนละครั้งและเก็บไว้ ณ สถานที่ดำเนินการตลอดเวลา จนกว่าการดำเนินการดังกล่าวจะแล้วเสร็จ เพื่อให้นายช่างหรือนายตรวจสามารถตรวจสอบได้
– ในกรณีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้างให้เจ้าของอาคารตรวจสอบและส่งมอบแบบแปลนตามสร้างที่ได้ตรวจสอบแล้วให้เจ้าของอาคาร โดยแบบแปลนตามสร้างต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรแต่ละพื้นที่ของอาคารและค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้
– ในกรณีที่เจ้าของอาคารแยกจ้างการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายอาคารตามสาขางานสถาปัตยกรรมหรือวิศวกรรม ผู้ดำเนินการแต่ละรายมีหน้าที่และความรับผิดชอบตามที่ได้รับจ้างและต้องให้ความร่วมมือกับเจ้าของอาคารในการประสานงานและดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงาน

หน้าที่และความรับผิดชอบของเจ้าของอาคาร

สำหรับเจ้าของอาคาร มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการกำกับดูแลในเรื่องต่างๆ ในขั้นตอนของการก่อสร้าง ดังนี้
– กำกับดูแลการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารและการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ประกอบอาคาร รวมทั้งการรื้อถอนและเคลื่อนย้ายอาคาร ให้เป็นไปตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต
– กำกับดูแลการวางแผนงาน ขั้นตอนและวิธีการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารในส่วนของงานถาวร และงานชั่วคราว
– กำกับดูแลการจัดทำรายงานการดำเนินการของผู้ดำเนินการ
– กำกับดูแลการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สินในสถานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารและบริเวณข้างเคียง

ในกรณีที่เป็นอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง หรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารยังมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังต่อไปนี้ด้วย
– จัดให้มีป้ายแสดงความจุจำนวนคนที่มากที่สุดที่สามารถเข้าใช้พื้นที่ในส่วนของอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการชุมนุมคน โดยติดไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน
– จัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร
– จัดให้มีการบำรุงรักษาและทดสอบระบบความปลอดภัยให้พร้อมใช้งาน

การป้องกันภยันตรายในสถานที่ก่อสร้างและบริเวณข้างเคียง

จะเห็นได้ว่า กฎกระทรวงฉบับนี้เน้นในเรื่องของความปลอดภัยในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคาร ดังจะเห็นได้ชัดเจนในหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ในเรื่องของการป้องกันภยันตรายที่อาจเกิดต่อสุขภาพ ชีวิต ร่างกายของบุคคล หรือทรัพย์สินที่อยู่ในสถานที่ก่อสร้างฯ และบริเวณข้างเคียง ซึ่งโดยสรุป แต่ละฝ่ายจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยลำดับดังนี้
– ผู้ออกแบบ กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันภยันตรายฯ ให้เป็นไปตามกฎหมายควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
– ผู้ดำเนินการ เสนอแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการป้องกันภยันตรายฯ ตามมาตรการที่ผู้ออกแบบกำหนด ต่อเจ้าของอาคารก่อนนำไปดำเนินการ
– ผู้ควบคุมงาน อำนวยการหรือควบคุมให้มีการป้องกันภยันตรายฯ ให้เป็นไปตามแผนงาน ขั้นตอน และวิธีการที่ผู้ดำเนินการกำหนดไว้
– เจ้าของอาคาร กำกับดูแลการป้องกันภยันตรายฯ

แบบแปลนตามสร้าง

สำหรับ “แบบแปลนตามสร้าง” กฎกระทรวงกำหนดให้การก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้าย อาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีนั้น แต่ละฝ่ายมีหน้าที่และความรับผิดชอบโดยลำดับดังนี้
– ผู้ดำเนินการต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้างให้เจ้าของอาคารตรวจสอบ ในแบบแปลนตามสร้างต้องระบุค่าน้ำหนักบรรทุกจรของแต่ละพื้นที่ของอาคารและค่ามาตรฐานความปลอดภัยทางวิศวกรรมตามที่ผู้ออกแบบกำหนดไว้ เมื่อเจ้าของอาคารตรวจสอบแล้ว ผู้ดำเนินการส่งมอบให้เจ้าของอาคาร
– เจ้าของอาคาร กำกับดูแลให้ผู้ดำเนินการจัดทำแบบแปลนตามสร้าง
– เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคาร จัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร

งานถาวรและงานชั่วคราว

กฎกระทรวงฉบับนี้ ยังได้กำหนดให้มี “งานถาวร” และ “งานชั่วคราว” โดยให้บทนิยาม ดังนี้
– “งานถาวร” หมายความว่า งานที่ก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายอาคารตามแบบแปลนและรายการประกอบแบบแปลนที่ได้รับอนุญาต หรือแจ้งและดำเนินการตามมาตรา 39 ทวิ
– “งานชั่วคราว” หมายความว่า งานที่สร้างขึ้นชั่วคราวเพื่อประโยชน์ในการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายงานถาวร และหมายความรวมถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์สำหรับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน หรือเคลื่อนย้ายงานถาวร

อย่างไรก็ตาม กฎกระทรวงไม่ได้กำหนดสิ่งใดที่เป็นการแยกแยะความรับผิดชอบในระหว่างงานทั้งสองประเภท ตามกฎกระทรวง ผู้ดำเนินการนั้นมีความรับผิดชอบทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว และเจ้าของอาคารก็มีหน้าที่กำกับดูแลทั้งในส่วนของงานถาวรและงานชั่วคราว ไม่มีข้อกำหนดให้ฝ่ายใดและขั้นตอนใดที่จะต้องรับผิดชอบในงานถาวรหรืองานชั่วคราวอย่างใดอย่างหนึ่ง และไม่ได้กำหนดความรับผิดชอบของผู้ควบคุมงานว่าต้องรับผิดชอบอย่างไรต่องานถาวรหรืองานชั่วคราว

ในประเด็นนี้ ในขั้นตอนการร่างกฎกระทรวงแต่เดิม เคยมีแนวความคิดและความพยายามที่จะแยกแยะระหว่าง ผู้ควบคุมงานของเจ้าของอาคาร และ ผู้ควบคุมงานของผู้ดำเนินการ เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงในโครงการขนาดใหญ่ที่มักจะมีผู้ควบคุมงานแยกกัน โดยผู้ควบคุมงานแต่ละประเภทจะมีความรับผิดชอบแตกต่างกันในงานถาวรหรืองานชั่วคราว แต่แนวความคิดนี้ได้ถูกตัดออกไปในระหว่างการตรวจพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากพระราชบัญญัติควบคุมอาคารบัญญัติเรื่องผู้ควบคุมงานไว้แล้ว ไม่สามารถกำหนดให้มีผู้ควบคุมงานในประเภทที่มิได้ถูกกำหนดในกฎหมายแม่บทได้ จึงทำให้ขีดคั่นของความรับผิดชอบในงานทั้งสองประเภทยังคงลางเลือนอยู่เช่นเดิม

กฎกระทรวงอื่นที่กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบ

กฎกระทรวงฉบับนี้ถือเป็นฉบับหลักที่เป็นการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ดัดแปลง รื้อถอน และเคลื่อนย้ายอาคาร ซึ่งออกใช้บังคับหลังพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ออกใช้บังคับถึงเกือบ 40 ปี โดยใช้เวลาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ไม่น้อยกว่า 10 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมีกฎกระทรวงฉบับอื่นๆ ที่ออกมาก่อนหน้าซึ่งก็มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแทรกเอาไว้เช่นกัน ได้แก่
– กฎกระทรวงกำหนดชนิดหรือประเภทของอาคารที่เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการต้องทำการประกันภัยความรับผิดตามกฎหมายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก (2548) กำหนดให้เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารหรือผู้ดำเนินการสำหรับอาคารของเอกชนบางประเภทต้องจัดให้มีการประกันภัยความรับผิดฯ และแสดงสำเนาตารางกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ อาคารนั้น
– กฎกระทรวงกำหนดคุณสมบัติเฉพาะของผู้ตรวจสอบ หลักเกณฑ์การขอขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ตรวจสอบ และหลักเกณฑ์การตรวจสอบอาคาร (2548) กำหนดให้เจ้าของอาคารซึ่งรวมถึงผู้จัดการนิติบุคคลอาคารชุดมีหน้าที่ในการจัดให้มีและดำเนินการเพื่อตรวจสอบอาคาร รวมทั้งการตรวจบำรุงรักษาอาคารและอุปกรณ์ประกอบของอาคาร
– กฎกระทรวงกำหนดประเภทและระบบความปลอดภัยของอาคารที่ใช้เพื่อประกอบกิจการเป็นสถานบริการ (2555) กำหนดให้ผู้รับอนุญาตตั้งสถานบริการหรือเจ้าของอาคารที่ใช้ตั้งสถานบริการต้องจัดให้มีผู้ดูแลระบบความปลอดภัยและการป้องกันอันตรายของสถานบริการ
– กฎกระทรวงเกี่ยวกับป้ายและสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย (2558) มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดของเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้าย

สิ่งที่ต้องทำตามกฎกระทรวง

เพื่อเป็นการทบทวนถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎกระทรวง มีสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่เดิมอาจไม่ได้ทำหรือละเลยไป ได้แก่
– ผู้ออกแบบและคำนวณวิศวกรรมโครงสร้าง อาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ขึ้นไป หรืออาคารสูง หรืออาคารประเภทควบคุมการใช้ ถ้าหากคำนวณโดยใช้น้ำหนักบรรทุกจรสูงกว่าอัตราที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้ ต้องระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณไว้ในแบบแปลนโครงสร้างพื้นชั้นต่างๆ ด้วย
– ผู้ออกแบบและคำนวณงานวิศวกรรมระบบความปลอดภัยอื่นๆ ถ้าหากคำนวณโดยใช้เกณฑ์สูงกว่าที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดไว้ ต้องระบุค่าที่ใช้ในการคำนวณไว้ในแบบแปลนอาคารด้วย
– ผู้ดำเนินการ ต้องจัดทำรายงานการดำเนินการ อย่างน้อยเป็นรายงานประจำเดือน เก็บไว้ที่สถานที่ก่อสร้างจนกว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จ
– กรณีอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ ผู้ดำเนินการต้องจัดทำแบบแปลนตามสร้าง (As-built drawings) ส่งมอบให้เจ้าของอาคาร
– กรณีอาคารชุมนุมคน อาคารสาธารณะ ที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ อาคารสูง อาคารขนาดใหญ่พิเศษ เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารจะต้องจัดให้มีป้ายแสดงความจุจำนวนคนที่มากที่สุดที่สามารถเข้าใช้พื้นที่ในส่วนของอาคารที่ใช้ประโยชน์เพื่อการชุมนุมคน ติดไว้ในตำแหน่งที่สามารถเห็นได้ชัดเจน (สถาปนิกควรเป็นผู้คำนวณความจุ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการจัดทำป้ายดังกล่าว)
– นอกจากนั้น กรณีอาคารข้างต้น เจ้าของอาคารหรือผู้ครอบครองอาคารจะต้องจัดเก็บแบบแปลนตามสร้างไว้ประจำอาคาร และจัดให้มีการบำรุงรักษาและทดสอบระบบความปลอดภัยให้พร้อมใช้งานด้วย

ดาวน์โหลดกฎกระทรวง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก