แผนแม่บทชุมชนมีความเป็นมาอย่างไร

แผนแม่บทชุมชนมีความเป็นมาอย่างไร

             การพัฒนาประเทศกับปัญหามักมาคู่กันเสมอ   เมื่อเกิดปัญหา  กระบวนการแก้ปัญหามักมองกันคนละมุม  ขาดความเคารพซึ่งกันและกัน  โดยเฉพาะภาครัฐและภาควิชาการมักไม่เคยไว้วางใจในแนวทางการทำงานของภาคประชาชนเลยสักครั้ง     แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะระบุ   และตอกย้ำเรื่องในเรื่องของการมีส่วนร่วม    แต่ในทางปฏิบัติถ้าไม่เหลืออด  เหลือทนภาครัฐและภาควิชาการ  จะไม่เลือกภาคประชาชนขึ้นไปพูดคุยหรือ สอบถามกันแบบเป็นเรื่องเป็นราว
             ในทำนองเดียวกัน  ภาคประชาชนก็ยังขาดกระบวนการเรียนรู้ในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง  การมองปัญหา  การแก้ปัญหา  ยังเป็นลักษณะแก้ผ้าเอาหน้ารอด   เมื่อคนในพื้นที่หนึ่งประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหา  ทุกคนก็เอาอย่างกัน  แบบไม่ลืมหูลืมตา
             ร่องรอยที่พอเหลือให้เห็นคือความล้อเหลว  ซ้ำแล้วซ้ำเล่า  ภาครัฐเองก็พยายามให้ประชาชนเป็นไปในแบบที่ตนเองต้องการให้ได้  โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะคิดอย่างไร  ไม่เข้าใจในความหลากหลายของพื้นที่  วิถีชีวิต หรือถ้าสอบถามรัฐเองก็มักมีคำตอบอยู่แล้ว  เมื่อประชาชนคิดไม่ตรงกับรัฐ  ก็มองว่าเขาโง่  คิดไม่เป็น  ไม่มีวิสัยทัศน์ไปโน่น
             แม้ว่าวันนี้คำตอบของงานพัฒนาชุมชนบานล่าง   จะอยู่ที่การใช้แผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  โดยยกพื้นที่ ที่ประสบความสำเร็จมาบอกเล่าต่อสังคม  เช่นที่บ้านไม้เรียง  แต่ถ้ามองลึกลงไปจะพบว่า  บ้านไม้เรียงได้พัฒนากระบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชน  โดยคนในพื้นที่  ลุกขึ้นมาจัดการของตัวเอง   โดยเริ่มที่เรื่องยางพารามีราคาตกต่ำ  การถูกเอารัดเอาเปรียบจากคนกลาง  และพัฒนามาเป็นกระบวนการการแก้ปัญหาด้วยตัวของชุมชนเอง
             แต่ถ้ารัฐยังมองการแก้ปัญหาแบบสูตรสำเร็จ   และบอกว่าต้องนี้ถึงจะใช่  โดยไม่ใช้มิติของความแตกต่าง  ความหลากหลาย    การเคารพความคิดเห็นของคนในพื้นที่     การแก้ปัญหาสังคม ความยากจนที่รัฐบาลทุกรัฐบาลอยากเห็น  คงเป็นเรื่องที่อยู่ไกลเกินเอื้อมถึง
             การใช้แผนแม่บทชุมชนเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหา  ต้องเริ่มที่ ภาครัฐต้องยอมรับความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนเสียก่อน  แล้วไปหนุนเสริมการจัดกระบวนการ  ที่เป็นไปเพื่อเอื้อให้พี่น้องประชาชน  ลุกขึ้นมาจัดการตัวเองให้ได้
             ถ้ามองขบวนการจัดทำแผนแม่บทชุมชนให้มีชีวิต  ของเครือข่ายแผนแม่บทชุมชน  ๔  ภาค  มีการถอดบทเรียนการจัดทำแผนอยู่ประมาณ  ๑๐  ขั้นตอน

เริ่มจาก  ๑.  ค้นหาแกนนำและองค์กรท้องถิ่น
                 - สร้างทีมงานที่ริเริ่มขบวนการจัดทำแผนแม่บท    และสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนร่วมกัน
                 - โดยใช้วิธีการทำงาน  ที่ขึ้นอยู่กับคนในพื้นที่นั้น ๆ
                 - บางพื้นที่  ที่มีแกนนำพร้อม  มีองค์กร กลุ่มในพื้นที่    ที่มีศักยภาพอยู่แล้ว  คงเริ่มที่นัดรวมตัวคุยกัน  เมื่อคุยกันไปเรื่อย  ๆ ก็จะได้ประเด็น   พยายามปรับประเด็นให้ดี  ไม่นานก็จะได้ทิศทางร่วม
                 - การเริ่มควรเริ่มที่ตนเองก่อน  ว่าอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง   แล้วค่อย ๆ หาเพื่อน
                 - พื้นที่ไหนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้าใจบทบาทของแผนแม่บทชุมชน  ก็อาจขึ้นขบวนการทำงานได้เร็วกว่าพื้นที่ ที่ขาดความพร้อม   พื้นที่ไหนภาคประชาชนเข้มแข็งก็ลุกขึ้นมานำขบวน  พื้นที่ไหนผู้นำท้องที่เข้มแข็งก็ออกนำขบวน   แต่โดยที่สุดการเคลื่อนงานต้องเดินไปพร้อม ๆ กันทั้งภาคประชาชน  ผู้นำท้องที่  ท้องถิ่น

๒. จุดประกายความคิด
                 - โดยเริ่มที่วงพูดคุยเล็ก  ๆ ก่อน เมื่อหลายคนมีการพูดถึง     จึงเปิดประเด็นเพื่อหาคนมาทำงานร่วม   นำประเด็นปัญหาต่าง ๆ วิกฤติที่เกิดขึ้นในชุมชนมาหารือกัน     สร้างความหวังที่จะอยู่รอดร่วมกัน
                 - การตระหนักถึงปัญหาต่าง  ๆ  ร่วมกัน    กระตุ้นให้ชุมชนหันมาสมนใจเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น (ปัจจุบันส่วนใหญ่มักมอง  เรื่องไกลตัว  ชื่นชมเรื่องราวภายนอก)
                 - ขยายแนวคิดการพึ่งพาตนเอง  เมื่อได้แนวร่วมแล้ว  อาจมีการทำเวทีพูดคุยกัน โดยเชิญผู้ที่มีส่วน  เกี่ยวข้องมาคุย  (การทำเวทีครั้งแรกมีความสำคัญมาก  ต้องช่วยกันกำหนดหลักเกณฑ์ให้ดี  บนหลักการให้ทุกคนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง


๓.  ศึกษาประวัติชุมชน
                 -  เพื่อดูสิ่งที่ดีดี  รอบตัว  ใกล้บ้าน ของดีดีในชุมชน  ทำให้ผู้คนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของชุมชน
                 - เกิดการรักชุมชนของตนเอง  ในลักษณะเป็นเจ้าของร่วมกัน  เชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่น   ให้ทุกคนเห็นคุณค่า  ได้แนวร่วมเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ
                 -  ช่วยกันย้อนประวัติศาสตร์ชุมชน  จะทำให้เห็นทุนของชุมชนอย่างหลากหลาย  ที่ซ่อนอยู่ในชุมชน
                 -  ทุนคน  ทรัพยากร  อาชีพ  ประสบการณ์การทำงาน  วัฒนธรรม  วิถีชีวิต   เงิน


๔.  สำรวจ  รวบรวมข้อมูล
                 -  กำหนดประเด็นที่อยากรู้ร่วมกัน  เพื่อเก็บข้อมูล  เช่น  ข้อมูลครัวเรือน  หนี้สิน  การทำมาหากิน
                 -  มีเวทีพูดคุย (วงเล็ก  วงใหญ่  ตัวบุคคล)  แบบสอบถาม  มีบันทึกการทำงานไว้ทุกครั้ง
                 -  การเก็บข้อมูลครัวเรือน  ต้องทำให้ทุกครัวเรือนเห็นคุณค่าของการทำข้อมูลครัวเรือน
                 -  การใช้จังหวะ  เวลา  ในการจัดเก็บข้อมูลกับชุมชน  มีความสำคัญ  จะได้ข้อมูลที่ดี  ชัดเจน  มีประโยชน์ 


๕.  วิเคราะห์  สังเคราะห์ข้อมูล
                -  การช่วยกันดูข้อมูลที่ทุกคน  ทุกครัวเรือนเก็บขึ้นมา
                -  มาช่วยกันจัดหมวดหมู่  ทำความเข้าใจในข้อมูลที่ชัดเจน    การรวบรวมข้อมูลในทุกแง่มุม  แล้วนำกลับคืนมาในชุมชน
                -  ในเวทีระดับหมู่บ้านจะได้ทิศทางการทำงานในระดับหมู่บ้าน   ในเวทีระดับตำบล  จะได้ทิศทางการมีส่วนร่วมของผู้นำท้องที่  ท้องถิ่น
                -  ใช้วิธีการเปิดประเด็นข้อมูล  และช่วยกันหาทางออก  โดยใช้หลักการที่ว่าปัญหาของใคร  คนกลุ่มนั้น  ต้องช่วยกันแก้  ใครถนัดงานด้านไหน  มอบให้เป็นผู้รับผิดชอบงานตามที่เขาถนัด
                 -  ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงก็ใช้พลังเสริมจากภายนอก


๖.ยกร่างแผนแม่บทชุมชน
                -  เมื่อมีข้อมูลแล้ว  ทุกคนเกิดการรับรู้ร่วมกัน  ขบวนการกำหนดแนวทางจะเริ่มขึ้น   และมีทิศทางด้วยการกำหนดกันเอง  กลายเป็นแผนงานในที่สุด
                 -  เกิดกระบวนการแก้ปัญหาแบบกลุ่มปัญหา  มีเจ้าภาพ เจ้าของเรื่องราวที่แท้จริง
                 -  ได้แผนงานที่แก้ได้ในระดับตัวเองทันที
                -  ได้แผนงานในระดับที่จัดการกันเองในระดับชุมชน
                -  ได้แผนงานที่ต้องร่วมกับภายนอก  (ท้องถิ่น  ภาคีพัฒนา)
                -  แผนงานที่ต้องอาศัยภายนอกทั้งหมด


๗.  ประชาพิจารณ์แผนแม่บทชุมชน
                -   เวทีสภาหมู่บ้าน  ชุมชน  ตัวแทนแต่ละกลุ่มกิจกรรมข้าร่วมด้วยช่วยกัน  พิจารณาถึงความเป็นไปได้    ความถูกต้องตามเจตนาของผู้คนในพื้นที่นั้น ๆ
                -  มีเวทีระดับหมู่บ้าน  เวทีระดับตำบล
                -  ความเหมาะสมในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ    การจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเรื่อง  กำหนด   ช่วงเวลา      ความเหมาะสม  วิธีการที่จะทำให้แผนประสบความสำเร็จ
                -  การแก้ระเบียบ  กฎเกณฑ์  ให้เหมาะสมกับการทำงาน


๘.  นำแผนไปสู่การปฏิบัติ
                -  นำแผนไปสู่การปฏิบัติ  โดยมอบให้ตัวแทนแต่ละเรื่อง  แต่ละกิจกรรมที่เขาต้องการ  นำไปบริหารจัดการด้วยตนเอง
                -  ใช้ทุนในชุมชนทุกทุนที่มีอยู่มาช่วยกัน  โดยเฉพาะทุนทางสังคม  บุคลากร  วัฒนธรรม  ประสบการณ์   วิถีชีวิต  เงิน

๙.  ทบทวนปรับปรุง
                -  ปรับปรุงได้ตลอดเวลา  เมื่อนำแผนแปลงสู่การทำงาน  อาจติดขัด  เจอปัญหา  ให้ใช้วิธีการปรับแผน  โดยอาจใช้เวทีกลุ่มหรือชุมชนช่วยตัดสินใจ
                -  การตัดสินใจยังเน้นการมีส่วนร่วมเป็นสำคัญ

๑๐.  ประเมินผล  สรุปบทเรียนการทำงาน
                -  เป็นการสรุปการทำงาน  ว่าประสบความสำเร็จ  หรือล้มเหลว  ว่าเป็นเพราะอะไร  มีการแก้ไขแล้วเป็นอย่างไรบ้าง
                -  ดูว่าแผนชุมชนที่นำมาปฏิบัติแล้ว  ทุกคนมีความสุขหรือไม่
                -  ชุมชนได้อะไรบ้างกับการแก้ปัญหา  ด้วยแผนชุมชน
                -  ถอดเป็นชุดประสบการณ์ความรู้  เพื่อเป็นข้อมูลในการทำงานต่อไป
             เวทีเล็ก  เวทีใหญ่  การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น    ความคิดเห็นที่หลากหลาย  มีคุณค่าต่อการทำงาน  การเคารพความคิดเห็นของกันและกัน  มีความสำคัญมาก  การให้กำลังใจในการทำงาน  การรอคอยผลของงานอย่างอดทน  การเรียนรู้ร่วมกัน  มีส่วนสำคัญที่จะทำให้แผนแม่บทชุมชนมีชีวยิต  ประสบความสำเร็จได้  เมื่อแผนนำไปสู่การปฏิบัติการจริง  ปัญหาจะได้รับการแก้ไข  ความอยู่เย็นเป็นสุข   จะกลัมคืนสู่ชุมชนและสังคมไทยอย่างแน่นอน ถ้าถามว่าเมื่อไรเล่า    คำตอบอยู่ที่ว่าวันนี้คุณพร้อมที่จะลุกขึ้นมาจัดการตัวเองหรือยังต่างหาก

ชาติชาย  เหลืองเจริญ
บ้านจำรุง
๑  กันยายน  ๒๕๔๘