เรื่องเล่า เศรษฐกิจ พอ เพียง ของครู ภาษาไทย

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล SCBF “เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร” คำถามนี้คงตอบไม่ยาก เพราะคนไทยส่วนใหญ่คงตอบได้ ว่าเป็น “หลักคิด” และ “หลักการทรงงาน” ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงพระราชทานแก่ปวงชนชาวไทย และแผ่ขยายพระมหากรุณาธิคุณสู่นานาชาติทั่วโลกได้น้อมนำไปปฏิบัติด้วย ... แต่เชื่อไหมว่าจะดีขึ้นไปอีก ถ้าคนไทยทุกคนบอกได้ว่า “เศรษฐกิจพอเพียงมีใจความสำคัญอย่างไร และมีคุณค่าต่อชีวิตของพวกเขาอย่างไรบ้าง” และจะให้ “ดีสุดๆ” เมื่อคนไทยรู้แล้วยังน้อมนำหลักคิดนี้ไปสู่การประพฤติปฏิบัติจนเป็นนิสัยด้วย!!! จึงเป็นที่มาของหลากหลายโครงการจากภาคส่วนต่างๆ ที่ร่วมกันเผยแพร่หลักคิด ตลอดจนแนวทางการใช้ชีวิตอย่างพอเพียงสู่สังคมในวงกว้าง หนึ่งในนั้นคือ “การขับเคลื่อนสู่สถานศึกษา” เพื่อเพาะพันธุ์ “ต้นกล้าแห่งความพอเพียง” ลงในเนื้อในตัวของเยาวชน — อนาคตของชาติ ดำเนินการโดย โครงการพัฒนาเยาวชนโดยการเรียนรู้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หนึ่งในภาคีขับเคลื่อนฯ ของกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในการสนับสนุนให้คุณครู และ ผู้บริหารโรงเรียน ในฐานะ "แม่พิมพ์ของชาติ" ได้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ตลอดจนสามารถออกแบบและจัดการเรียนรู้ให้ลูกศิษย์ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง เพื่อเติบโตเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศ ล่าสุด ได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ดูงานให้กับผู้บริหารและคุณครูที่ผ่านการคัดเลือก เรื่องเล่า “บทเรียนความสำเร็จในการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อจัดการการเรียนรู้ ปีที่ 2” ขึ้นช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา วัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้บริหารและคุณครูหัวใจพอเพียงทั้ง 27 ท่านได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จในการใช้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อนำกลับไปปรับใช้ที่โรงเรียน ตลอดจนได้มาเรียนรู้เทคนิคการถอดบทเรียน และการเขียนเรื่องเล่าเพื่อให้ได้ตัวอย่างการใช้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในการจัดการการเรียนรู้เพื่อการเผยแพร่ ขณะเดียวกัน โครงการเรื่องเล่าฯ ยังมีเป้าหมายให้กำลังใจและเสริมสร้างเครือข่ายครูหัวใจพอเพียงให้ขยายผลทั่วประเทศ เรื่องเล่าดีๆ เริ่มจาก คุณครูประทีป เมืองงาม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต้นเกด อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เล่าว่า ตัวครูเองเป็นคนเพชรบุรีโดยกำเนิด มีภูมิลำเนาที่ อ.ชะอำ ซึ่งใกล้กับพื้นที่โครงการตามพระราชประสงค์หุบกะพง ในวัยเด็กครูประทีปจึงมีโอกาสขี่จักรยานไปเฝ้าดูพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมาปฏิบัติพระราชกรณียกิจที่หุบกระพงอยู่บ่อยครั้ง ทำให้ได้เห็นภาพพระราชกรณียกิจที่ทรงมีพระราชประสงค์ให้ปวงชนชาวไทยอยู่ดีกินดีมาแต่เด็กๆ เมื่อเติบใหญ่ เข้ามาประกอบอาชีพเป็นครู และได้ศึกษาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงเห็นข้อดีของการน้อมนำมาสู่การประพฤติปฏิบัติกับตนเอง และที่สำคัญได้ตั้งปณิธานที่จะนำหลักคิดนี้ไปสอนให้แก่เด็กนักเรียนด้วย "วิธีการสอนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแก่นักเรียนทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ทำแล้วเห็นผลมากที่สุด คือ ให้นักเรียนลงมือทำงาน เสร็จแล้วก็นำมาวิเคราะห์ ว่างานนั้นๆ สำเร็จได้เพราะใช้หลัก 3 ห่วง 2 เงื่อนของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างไรบ้าง และผลที่เกิดขึ้นใน 4 มิติ (เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม) คืออะไร วิธีนี้เมื่อทำบ่อยๆ เข้า นักเรียนเองก็จะมีทักษะเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ต่อจากนั้นจึงให้นักเรียนได้วิเคราะห์ว่าเขามีความพอเพียงในชีวิตประจำวันอย่างไรบ้าง เช่น อ่านหนังสือ เล่นฟุตบอล แม้กระทั่งการนอน วิธีนี้จะเป็นการเริ่มต้นจากสิ่งใกล้ตัว เข้าใจง่าย เมื่อนักเรียนเข้าใจแล้ว เขาก็จะเกิดทักษะนำไปประยุกต์ใช้กับเรื่องอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง" คุณครู ศนิ มีพูล คุณครูกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนวัดหางไหล จ.พิษณุโลก ก็มีเรื่องเล่าพอเพียงน่าสนใจไม่แพ้กัน ครูเล่าว่า การปลูกฝังเศรษฐกิจพอเพียงแก่นักเรียน เราต้องทำให้นักเรียนเห็นเป็นตัวอย่าง ซึ่งดีกว่าคำสอน ประสบการณ์ของตัวครูเองคือ เด็กนักเรียนมีนิสัยทิ้งขว้าง ใช้ของสิ้นเปลือง ใช้ของยังไม่หมดก็โยนทิ้งแล้ว จึงนำเรื่องหลอดยาสีพระทนต์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาเป็นสื่อการสอน “ตอนนั้น นักเรียนของเรามีนิสัยฟุ่มเฟือย เราอยากชี้ให้เขาเห็น เริ่มจากเอาหลอดยาสีฟันที่ครูเองใช้จนแบนเรียบแล้วเอามาให้เด็กดู เด็กเห็นก็หัวเราะเยาะว่าคุณครูงกจัง ครูก็อธิบายครูไม่ได้งกนะ แล้วถามเขาต่อว่าหลอดยาสีฟันในมือครูนี้มันหมดแล้วหรือยัง นักเรียนบอกว่าหมดแล้ว เลยตัดหลอดยาสีฟันออกเป็นสามท่อนให้เขาดู ทำให้เด็กๆ เห็นว่าจริงๆ แล้วยังมียาสีฟันเหลืออยู่พอสมควร จึงได้เล่าประสบการณ์ให้เด็กนักเรียนฟังว่าครูเองเคยไปอบรมต่างจังหวัดแล้วยาสีฟันหมด ดึกแล้วออกไปซื้อไม่ได้ เลยลองตัดหลอดยาสีฟันให้เป็นสามส่วน ปรากฏว่ายังมียาสีฟันเหลืออีกมาก ครูใช้ได้อีกตั้ง 6-7 ครั้งถึงจะหมดจริงๆ เมื่อเด็กๆ เขาเห็นอย่างนี้แล้ว เขาก็เริ่มได้คิด ครูจึงนำภาพหลอดสีพระทนต์ของในหลวงมาให้เด็กดู แล้วบอกเขาว่า นี่เป็นหลอดสีพระทนต์ของในหลวง เด็กก็ทึ่ง ขนาดพระมหากษัตริย์ของเรา ท่านยังใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ทิ้งขว้างข้าวของ แล้วเราจะฟุ่มเฟือยกันได้อย่างไร การสอนครั้งนั้นจึงเริ่มทำให้เด็กตระหนัก จากนั้นเราสังเกตเห็นว่านักเรียนเริ่มปรับเปลี่ยนนิสัยมารู้จักความพอเพียงมากขึ้น” อีกตัวอย่าง คุณครูวีระ ทองทาบวงศ์ คุณครูสอนภาษาไทยจากวิทยาลัยการอาชีพเกาะคา จ.ลำปาง ก็มีอีกเรื่องเล่าการเป็น “ครูเพื่อศิษย์” ที่น่าสนใจ เพราะมีปณิธานเปลี่ยนภาพความรุนแรงของเด็กอาชีวะให้เป็นเด็กดีมีคุณภาพ ด้วยแนวทาง "คิดบวกทำบวก" “ปัญหาที่หยิบมาทำคือ เรื่องเด็กกินน้ำแล้วทิ้งแก้วไม่เป็นที่ เป็นภาระแม่บ้านต้องคอยมาตามเก็บ จึงคิดว่าเราจะต้องหาวิธีการให้เด็กแก้ปัญหาเรื่องขยะให้ได้ เลยนำหลักจิตวิทยาวัยรุ่นมาจับ สร้างไอดอลให้เขาเอาเป็นแบบอย่าง ชวนนักเรียนชมรมคนดี ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กจิตอาสามาทำกิจกรรมเก็บขยะแล้วขายขยะเอาเงินไปทำบุญ เริ่มทำทุกๆ สัปดาห์ เด็กเอาขยะไปขาย ได้กองทุนทำบุญเดือนหนึ่งๆ ราว 500 บาท อย่างวันวาเลนไทน์ที่ผ่านมาก็ไปทำบุญเลี้ยงอาหารกลางที่โรงเรียนสอนเด็กตาบอด นักเรียนกลับกันมาก็ตาแดงร้องไห้ทุกคน โรงเรียนทำกิจกรรมนี้มาเป็นปีที่ 4 แล้ว มีการคัดเลือกเด็กทุกปี ต้องเกรด 2.5 ขึ้นไป เพื่อไม่ให้กระทบการเรียน และเด็กต้องถือศีล 5 ให้ได้ เพื่อที่เราจะได้แต่คนที่พร้อมทั้งด้านการเรียนและการทำกิจกรรมจริงๆ แล้วไม่ว่าเขาจะไปเจออะไร สิ่งภายนอกที่ไม่ดีก็จะเข้ามากระทบเขาไม่ได้ เมื่อเขาทำดีกลับมา เราก็ติดเข็มและให้การยกย่องเขา" ครูวีระเล่าและว่า จากนั้นจึงเชื่อมโยงให้นักเรียนคิดวิเคราะห์กิจกรรมที่ทำกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงอย่างละเอียด ทำให้เด็กนักเรียนเห็นและอธิบายได้ว่าสิ่งที่เขาทำสอดคล้องกับความพอเพียงอย่างไร คือมี “ความพอประมาณ” เราต้องรู้ว่าจะเก็บขยะเท่าไร่จึงจะเรียกว่าพอดี นักเรียนให้ “เหตุผล” ได้ว่าเก็บขยะไปทำไม มี “ภูมิคุ้มกัน” คือ ไม่ทำคนเดียว แต่ชวนเพื่อนทำ เราจะได้ทำกันได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืน รวมถึงต้องมี “ความรู้” ก่อนลงมือทำ รู้จักชนิดของขยะและวิธีการเก็บ จะขนส่งอย่างไร และจะขายที่ไหน สุดท้ายที่การมี “คุณธรรม” ฝึกฝนเรื่องความเสียสละ ทนต่อสายตาของเพื่อนๆ ที่ไม่เข้าใจและหัวเราะเยาะ กล้าก้มลงเก็บขยะที่เขาโยนทิ้งลงบนพื้น ส่งผลดีถึงสิ่งแวดล้อมที่โรงเรียนดีขึ้น เกิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี เป็นการสร้างกลุ่มเพื่อนกัลยาณมิตร และอีกจุดหนึ่งที่ต้องเน้นย้ำสอนเด็กๆ บ่อยๆ คือทำให้เขารู้ว่า “เราทำดีแล้วเราจะต้องไม่ท้อถอย” ทั้งนี้ นอกจากจะมีการเสวนาแลกเปลี่ยนเรื่องเล่ากันแล้ว กิจกรรมตลอด 5 วันครั้งนี้ ผู้บริหารและคุณครูหัวใจพอเพียงทั้ง 27 ท่านยังได้ร่วมกิจกรรมเสริมศักยภาพเพื่อเติมเต็มภาพหลักคิดเศรษฐกิจพอเพียงให้ชัดเจนขึ้นโดยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการศึกษา ตลอดจนคณะวิทยากรจากโรงเรียนเพลินพัฒนา, การศึกษาดูงานภูมิปัญญาช่างสิบหมู่ภายในงานพระนครคีรี เมืองเพชร 2554 การเยี่ยมชมและเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมกับการอนุรักษ์แบบชุมชนมีส่วนร่วมที่พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน การศึกษาดูงานที่วัดใหญ่สุวรรณาราม วัดเกาะแก้วสุทธาราม ตลอดทั้งการศึกษาดูงานอย่างใกล้ชิด ณ พื้นที่โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยมี ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ให้เกียรติเป็นวิทยากร เชื่อมโยงให้เห็นภาพการนำหลักการทรงงานมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และการใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชนบนวิถีทางของความพอเพียง ดร.ปรียานุช พิบูลสราวุธ หัวหน้าโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กล่าวถึงผลที่คาดหวังจากกิจกรรมครั้งนี้ว่า ผู้ที่ผ่านกระบวนการเรื่องเล่าฯ จะมีความชัดเจนขึ้นในหลักคิด และสามารถจัดการเรียนการสอนได้ตรงตามเป้าหมาย ตัวครูและผู้บริหารเองได้ประโยชน์จากการมาพบปะเพื่อนใหม่ที่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้เรียนรู้จากวิทยากรและการศึกษาดูงาน และท้ายที่สุดจะเป็นกำลังสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงในพื้นที่เขตการศึกษาของตนต่อไปได้ “เมื่อครูและผู้บริหารสถานศึกษาพอเพียงมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง และ ได้รับประโยชน์จากการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้กับชีวิตของตนเองแล้ว ยังจะเป็นผู้ที่ช่วยเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจนั้นแก่เพื่อนครูอื่นๆ ให้เป็นครูที่มีความรู้ความเข้าใจตามไปด้วย ทั้งนี้เพื่อให้ภายในปี 2556 โรงเรียนจำนวน 1 ใน 4 ของทั่วประเทศจะเป็นสถานศึกษาพอเพียงที่มีคุณภาพตามเป้าหมายของกระทรวงศึกษาธิการ และเกิดศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงด้านการศึกษาขึ้นในทุกพื้นที่เขตการศึกษา อย่างน้อยพื้นที่ละ 1 แห่งด้วย” ดร.ปรียานุช กล่าว สุดท้ายที่ คุณปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างการสอดแทรกหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในห้องเรียนกับการพัฒนาการเรียนการสอนให้นักเรียนมีทักษะการใช้ชีวิตท่ามกลางสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21 (21st Century Learners) ว่า สังคมในปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่สังคมในศตวรรษที่ 21 ซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ครูจึงเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังให้นักเรียนมีทักษะในด้านต่างๆ เพื่อพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงนั้น ผ่านการออกแบบการเรียนรู้ให้นักเรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ พร้อมลงมือปฏิบัติ มีความสามารถสร้างความรู้ใหม่เป็นของตนเอง ตลอดจนมีทักษะประยุกต์ใช้ความรู้นั้นๆ ในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ “ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง คือ หลักคิด หลักในการทำงาน ที่สามารถพัฒนาตัวผู้เรียนให้มีความพร้อมรับต่อความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในศตวรรษดังกล่าวได้ โดยมีข้อดีข้อหนึ่งที่เหนือกว่าทฤษฎีทางตะวันตกอย่างมาก ตรงที่หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมีเรื่องราวของคุณธรรมและจริยธรรมกำกับด้วย” คุณปิยาภรณ์กล่าวปิดท้าย ด้วยความร่วมแรงร่วมใจในอันที่จะเผยแพร่หลักคิดนี้เอง “เศรษฐกิจพอเพียง” จึงไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องไกลตัวแต่อย่างใด แต่เป็นหลักการดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย ได้น้อมนำไปประพฤติปฏิบัติ จนเป็นนิสัย เพื่อสร้างสรรค์ให้ชีวิตของพวกเราทุกคน อยู่เย็น เป็นสุข และมั่นคง นั่นเอง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก