ซีเอ็ด สมัครงาน ผู้สูงอายุ 2565

โลกออนไลน์ได้มีการแชร์ภาพ การรับสมัครงานของร้านหนังสือ ซีเอ็ดบุ๊คเซ็นเตอร์ ที่รับผู้สูงอายุเข้าทำงาน ถือว่าเป็นอะไรที่แตกต่างและสร้างการเห็นคุณค่าผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย แม้วัย50-60ปี จะเป็นวัยเกษียณ แต่ยังสามารถทำงานได้ และเป็นวัยที่มีประสบการณ์มากมาย หากผู้สูงอายุท่านใดสนใจ สมัครงานสามารถเข้าไปสมัครตามข้อมูลที่ให้มาได้เลยครับ 

 

คุณทราบหรือไม่ว่าเมื่อปี 2558 ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จากข้อมูลข่าวรายงานว่า  สหประชาชาติ ระบุว่า ประเทศใดมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป ในสัดส่วนเกินร้อยละ 10 ของประชากรทั้งประเทศ ถือว่าประเทศนั้นก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society และจะเป็น"สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ"(Aged Society) เมื่อสัดส่วนประชากรที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20

โดยตัวเลขของประเทศไทย โดยที่เมื่อสิ้นปี 2558 จำนวนประชากรในประเทศไทยอยู่ที่ 65,203,979 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 10,569,021 คน หรือ คิดเป็นร้อย 16.2 ของประชากรทั้งหมด แปลว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และคาดการณ์ว่าในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมประชากรสูงวัยแบบสมบูรณ์ โดยมีผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี เกิน 20% ของจำนวนประชากรทั้งหมด

คิดยกกำลัง 2 กับ COMMENTATORS : ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเร็วที่สุดในอาเซียน (1 ธ.ค. 57)

เราพร้อมที่จะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุกันแล้วหรือยัง???

โดยประชากรผู้สูงอายุ ปี 2565 นั้นมีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 0.5% แบ่งเป็น

  • “ผู้สูงอายุวัยต้น” ช่วงอายุ 60-69 ปี จำนวน 6,843,300 คน คิดเป็น 56.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด
  • “ผู้สูงอายุวัยกลาง” ช่วงอายุ 70-79 ปี มีจำนวน 3,522,778 คน คิดเป็น 29.1% และ
  • “ผู้สูงอายุวัยปลาย” อายุ 80 ปีขึ้นไป จำนวน 1,750,121 คน คิดเป็น 14.4%

ด้วยจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น และหลายคนยังมีไฟในการทำงาน มีศักยภาพอย่างเต็มเปี่ยม "กรุงเทพธุรกิจ" ได้รวบรวม "อาชีพผู้สูงอายุ" ที่เหมาะสบกับผู้สูงอายุ สามารถยืดหยุ่นกับเวลา งานหนักหรืองานเบาก็สามารถทำได้ ใช้เวลาว่าง ทำได้ทั้งที่บ้านหรือสถานที่ใกล้ๆ ให้ได้เลือก เริ่มด้วย

อาชีพ-ธุรกิจที่เหมาะกับสูงอายุ รายได้ดี ชีวิตมีความสุข ทำงานที่บ้าน ทำงานออนไลน์  แก้เบื่อแก้เหงา

1.ปลูกผักหรือทำสวน
ผู้สูงอายุหลายคนชอบการปลูกผัก ทำสวน เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะได้อยู่กับธรรมชาติ ได้ใช้แรงเป็นการออกกำลังกายยืดเส้นยืดสายไปด้วยในตัว ซึ่งผลผลิตที่ได้มา ก็สามารถนำมากินเองโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อ ถ้าผลผลิตเหลือ ก็สามารถเอาไปขายตามท้องตลาด หรือฝากขายตามร้านสะดวกซื้อ

2.ทำอาหารหรือทำขนมขาย
ผู้สูงอายุบางท่านมีฝีมือในการทำอาหาร ชอบทำให้ลูก ๆ หลานๆ กินเป็นประจำอยู่แล้ว ลองหันมาทำอาหารหรือขนมขาย แบ่งปันความอร่อยให้คนนอกบ้านบ้าง ก็ดีไม่น้อยนะคะ ยิ่งในยุคสมัยนี้ มีช่องทางการขายมากมาย ทั้งร้านค้าออนไลน์ ช่องทางเดลิเวอรี่ หรือจะเปิดร้านขายที่บ้าน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

  • 9 เทคนิค "การนอนหลับ" เคล็ด (ไม่) ลับ
  • "ผู้สูงวัย" ดูแลมวลกล้ามเนื้อ อย่างไรให้แข็งแรง
  • 7 เรื่องกินดี บำรุงสมอง เพื่อสุขภาพที่ดีของ "คุณแม่"
  • "ธนาคารเวลา" เมื่อวันที่ "ออมเวลา" อาจมีค่าไม่น้อยกว่า "ออมเงิน"
  • 15 ส.ค.นี้ "เงินสงเคราะห์ผู้สูงอายุ" โอนเข้า "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ"                       

3.เป็นที่ปรึกษาให้องค์กร
ผู้สูงอายุที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ก็อาจจะเป็นที่ปรึกษาให้กับองค์กรต่าง ๆ เนื่องจากความรู้และประสบการณ์ที่มีมากมาย หลายองค์กรจึงนิยมเชิญผู้สูงอายุที่เกษียณอายุการทำงานไปเป็นที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยในการตัดสินใจต่าง ๆ

4.ธุรกิจปล่อยเช่าอสังหาริมทรัพย์ 

เหมาะสำหรับคนที่มีที่ดิน บ้านพัก ห้องแถว คอนโด ที่ไม่ได้พักอาศัยสามารถนำมาปล่อยเช่าเพื่อหารายได้ยิ่งที่พักอยู่ในทำเลที่ดียิ่งได้ราคาสูง หรือใครที่มีที่พักอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวก็สามารถเปิดเป็นโฮมสเตย์ ได้เช่นเดียวกัน 

5.รับสอนพิเศษ หรือติวเตอร์ ทั้งรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ 

สำหรับอาชีพการสอนพิเศษในปัจจุบันสามารถเลือกสอนพิเศษได้หลากหลายรูปแบบทั้งการสอนตามสถาบันกวดวิชา หรือการรับสอนเสริมตามโรงเรียนทั่วไป ไปจนถึงอีกหนึ่งรูปแบบการสอนอย่างการสอนออนไลน์ที่ให้คุณสามารถเลือกสอนได้อย่างหลากหลาย ไม่เพียงแค่วิชาทางด้านวิชาการเท่านั้น ความรู้ทั่วไป ความรู้เฉพาะทาง หรือความรู้สำหรับการประกอบอาชีพ เช่น การทำอาหาร การซ่อม งานประดิษฐ์ การวาดภาพ การสอนดนตรี ก็สามารถทำได้

6.งานฝีมือหรืองานศิลปะ
ผู้สูงอายุท่านใดที่มีความชื่นชอบ หรือมีฝีมือในเรื่องของงานศิลปะ เช่น วาดรูป เครื่องปั้น ทอผ้า แกะสลัก หากลองนำงานศิลปะเหล่านี้ไปวางขาย ก็ช่วยสร้างรายได้ได้ดี

7.นักลงทุน
เหมาะสำหรับผู้สูงอายุที่มีเงินเก็บอยู่แล้ว และอยากให้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ก็อาจจะลงทุน ซื้อสลากหรือ พันธบัตรรัฐบาล ฝากประจำต่าง ๆ ก็ดีนะคะ แต่วิธีนี้ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญหรือศึกษารายละเอียดดี ๆ ให้รอบคอบก่อนการลงทุนนะคะ

8.ถ่ายภาพขาย
คนรักการถ่ายภาพ ลองนำภาพถ่ายเหล่านั้น มาขายบนเว็บไซต์ออนไลน์ เช่น Shutterstock Dreamstime Fotolia เพราะนอกจากจะได้รายได้ดีแล้ว ยังได้ทำงานอดิเรกที่ชอบ และยังได้ท่องเที่ยวไปหาไอเดีย หรือสถานที่ถ่ายรูปต่าง ๆ ช่วยแก้เบื่อแก้เหงาได้ด้วย

9.ขายของออนไลน์
ในยุคนี้ คนหันมานิยมซื้อของบนช่องทางออนไลน์กันมากมาย เพราะสะดวกและประหยัดเวลา ผู้สูงอายุอาจจะลองใช้ช่องทางออนไลน์นี้ขายสินค้าดู ไม่ต้องเสียค่าแผง หรือเหนื่อยกับการยืนขายทั้งวัน เพราะแค่นั่งอยู่ที่บ้านก็สามารถขายได้

10.นักเขียนหรือนักแปล
ผู้สูงอายุที่มีความชื่นชอบในการเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิต หรือชื่นชอบที่จะแบ่งปันความความรู้ ความสนใจ ลองนำสิ่งเหล่านั้น มากลั่นกรองเป็นตัวหนังสือดูสิคะ แล้วอาจจะเผยแพร่ผ่านบล็อก เว็บไซต์ หรืออาจจะส่งสำนักพิมพ์ ผู้สูงอายุสามารถทำได้
 

11.เปิดบ้านพักโฮมสเตย์
หากบ้านมีพื้นที่เหลือ ไม่รู้จะทำอะไรดี หรือมีบ้านพักตากอากาศที่ว่าง ไม่ค่อยได้ไปพักผ่อนบ่อย ๆ ลองหันมารีโนเวทให้เป็นบ้านพักโฮมสเตย์ก็ดีไม่น้อยนะคะ โดยเฉพาะหากเป็นบ้านที่ตั้งอยู่ในแหล่งท่องเที่ยว นอกจากจะไม่ต้องออกแรงอะไรมากแล้ว ยังได้กำไรมากมายอีกด้วย

12.รับแปลงาน แปลภาษา ล่าม 

อาชีพนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความรู้และความสามารถทางด้านภาษา เพราะคุณสามารถรับงานแปลภาษา หรือแปลงาน ที่ต้องอาศัยความละเอียดรอบคอบและประสบการณ์ในการแปลภาษา เพื่อให้ได้ภาษาที่สละสลวยมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้หากคุณเป็นคนที่ชื่นชอบการออกไปข้างนอก คุณอาจมองหาอาชีพล่าม นอกจากคุณได้ใช้ความรู้ด้านภาษาแล้วยังได้พบปะผู้คนอีกด้วย 

ตรวจสอบสิทธิและสวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ

ปัจจุบันมีสิทธิและสวัสดิการผู้สูงอายุอยู่ไม่น้อย ผู้สูงอายุ หรือลูกหลายสามารถศึกษาสิทธิและสวัสดิการที่พึงได้รับ เพื่อช่วยลดหย่อนค่าใช้จ่ายบางอย่าง และช่วยเหลือผู้สูงร่วมด้วย

1.สิทธิบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ช่วยเรื่องค่ารักษาพยาบาลยามป่วย อีกทั้งการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข จะมีช่องทางเฉพาะที่จัดไว้อำนวยความสะดวกและรวดเร็วแก่ผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ อีกทั้งผู้สูงอายุที่เป็นผู้ป่วยติดเตียง สามารถใช้สิทธิของบัตรทอง เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้านได้อีกด้วยค่ะ

2.เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จะช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามช่วงอายุ ดังนี้ 

อายุ 60 -69 ปี 

  • รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 600 บาท/เดือน 
  • รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 100 บาท/เดือน 
  • รวมเป็น 700 บาท/เดือน 

อายุ 70 -79 ปี 

  • รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 700 บาท/เดือน 
  • รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 150 บาท/เดือน 
  • รวมเป็น 850 บาท/เดือน 

อายุ 80 -89 ปี 

  • รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 800 บาท/เดือน 
  • รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 200 บาท/เดือน 
  • รวมเป็น 1,000 บาท/เดือน 

อายุ 90 ปีขึ้นไป 

  • รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1,000 บาท /เดือน 
  • รับเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่ม 250 บาท/เดือน 
  • รวมเป็น 1,250 บาท/เดือน

3.ลดหย่อนราคาค่าโดยสารระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งผู้สูงอายุ จ่ายแค่ครึ่งราคาจากราคาค่าโดยสารเต็ม ส่วนเครื่องบินยังได้รับส่วนลดสูงสุด 35% (เฉพาะบางสายการบิน) อีกด้วย

4.สิทธิในการฝึกอาชีพ ซึ่งทางภาครัฐ ได้เปิดหลักสูตรทักษะประกอบอาชีพต่าง ๆ กว่า 100 หลักสูตร เพื่อเพิ่มทักษะให้ผู้สูงอายุ สามารถนำไปต่อยอดเป็นอาชีพได้ เช่น ทักษะการใช้โซเชียลมีเดียบนโลกออนไลน์สำหรับผู้สูงอายุ หลักสูตรการทำขนมไทย เป็นต้น

5.เที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และอุทยานแห่งชาติของหน่วยงานรัฐฟรี ให้ผู้สูงอายุสามารถท่องเที่ยวได้โดยที่ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายเลย

อย่างไรก็ตาม ผู้สูงอายุที่จะได้รับสิทธิและสวัสดิการเหล่านี้ จะต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย ซึ่งในสิทธิและสวัสดิการต่าง ๆ มีรายละเอียดและข้อตกลงที่แตกต่างกันไป โดยสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กรมกิจการผู้สูงอายุ

ตลาดแรงงานที่ต้องการผู้สูงอายุเข้าทำงานมากที่สุด

ข้อมูลจากกรมการจัดหางาน ระบุว่า ตลาดแรงงานสำหรับผู้สูงอายุที่ธุรกิจบริการและค้าปลีกต้องการมากที่สุดมี 5 อันดับ ได้แก่

  1. แนะนำการขายสินค้า
  2. จัดเรียงสินค้า
  3. ประชาสัมพันธ์
  4. แม่บ้าน ช่างเทคนิค
  5. งานบริการต่าง ๆ

โดยผลตอบแทนที่ผู้สูงอายุจะได้รับนั้น คณะกรรมการค่าจ้างกำหนดอัตราผลตอบแทนผู้สูงอายุเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ คือ

  1. ไม่ต่ำกว่า 45 บาท/ชั่วโมง
  2. ทำงานไม่เกิน 7 ชั่วโมง/วัน และไม่เกิน 6 วัน/สัปดาห์ 

สมัครลงทะเบียนผู้สูงอายุ เพื่อหางาน อยากทำงาน

หากผู้สูงอายุที่บ้านของทุกคน มีความต้องการหางานทำ กรมกิจการผู้สูงอายุได้รวบรวมช่องทางการรับสมัครงานผู้สูงอายุ มีดังนี้ 

1. กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน จัดทำระบบขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป)

โดยมีช่องทาง ดังนี้

ศูนย์บริการจัดหางานเพื่อคนไทย Smartjob Center กรุงเทพมหานคร

  • เขตที่ 1 ดุสิต ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระนคร สัมพันธงวงศ์ 02-223-2684-5
  • เขตที่ 2 จตุจักร ดอนเมือง บางซื่อ บางเขน หลักสี่ 02-910-1183-4
  • เขตที่ 3 ดินแดง พญาไท ราชเทวี ห้วยขวาง 02-617-6566-70
  • เขตที่ 4 บางรัก ปทุมวัน ยานนาวา สาทร บางคอแหลม 02-211-7558, 02-211-7607
  • เขตที่ 5 คลองสาน ธนบุรี บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ บางพลัด 02-437-5147 ,02-437-5855
  • เขตที่ 6 ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา บางแค ภาษีเจริญ หนองแขม 02-422-3915-17
  • เขตที่ 7 จอมทอง ทุ่งครุ บางขุนเทียน บางบอน ราษฎร์บูรณะ 02-427-4113 ,02-427-5432
  • เขตที่ 8 คลองเตย บางนา ประเวศ พระขโนง วัฒนา สวนหลวง 02-398-7019 ,02-398-7447
  • เขตที่ 9 คันนายาว บางกะปิ ลาดพร้าว วังทองหลาง บึงกุ่ม 02-510-3602 ,02-509-7945
  • เขตที่ 10 คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง สะพานสูง หนองจอก สายไหม 02-540-7005-7008

ลงทะเบียนผ่านเว็บไชต์

- ตู้งาน (Job Box)

- สายด่วน 1506

2. ตามนโยบายประชารัฐเพื่อสังคม มีสถานประกอบการให้ความร่วมมือรับผู้สูงอายุเข้าทำงาน

บิ๊กซี (โครงการพี่ใหญ่ไฟแรง)

  • คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • สุขภาพแข็งแรงมุ่งมั่นในการทำงาน
  • มีใจรักงานบริการ
  • สามารถทำงานเป็นกะได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-655-0666

โลตัส (โครงการ 60 ยังแจ๋ว)

  • คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 60 ปีขึ้นไป

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-797-9000

ซีเอ็ด (โครงการ 60 ปีมีไฟ)

  • คุณสมบัติผู้สมัคร ชาย/หญิง อายุ 50 ปีขึ้นไป
  • วุฒิการศึกษา ม.3 ขึ้นไป
  • มีใจรักงานบริการ ชอบทำงานร้านหนังสือ

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร 02-739-8555 ต่อ 8641 หรือ 08-6325-3354

3. หากผู้สูงอายุ (อายุ 60 ปีขึ้นไป) ต้องการประกอบอาชีพอิสระ

สามารถกู้ยืมเงินทุนประกอบอาชีพของกองทุนผู้สูงอายุ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท

  • การกู้ยืมรายบุคคล รายละไม่เกิน 30,000 บาท
  • การกู้ยืมรายกลุ่ม กลุ่มละไม่น้อยกว่า 5 คน กลุ่มละไม่เกิน 100,000 บาท

โดยการกู้ยืมเงินทุนเพื่อประกอบอาชีพสำหรับผู้สูงอายุทั้งรายบุคคลและรายกลุ่ม ต้องชำระเงินคืนเป็นรายงวดทุกเดือน ระยะเวลา 3 ปี โดยไม่คิดอกเบี้ย

ติดต่อกองทุนผู้สูงอายุส่วนกลาง

  • ติดต่อ : กลุ่มกองทุนผู้สูงอายุ กรมกิจการผู้สูงอายุ
  • ที่ตั้ง : กองทุนผู้สูงอายุ อาคารพิชเยนทรโยธิน ชั้น 1 ภายในบริเวณสถานสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านราชวิถี ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร 10400
  • โทรศัพท์ : 0 2354 6100

ส่วนภูมิภาค

  • ติดต่อ : ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด

หากมีข้อสงสัย กรุณาโทรติดต่อกลุ่มเสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่าย กองส่งเสริมศักยภาพผู้สูงอายุ โทร 02 642 4337-9 ต่อ 317 ในวัน เวลาราชการ

ดูแลตัวเองอย่างไร? เมื่อเข้าสู่สูงวัย

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยผู้สูงอายุ พลังกำลัง ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงวัย ดังนั้น นอกจากเรื่องของการทำงานแล้ว อีกสิ่งที่สำคัญมากๆ คือ การดูแลสุขภาพร่างกายของตนเอง โดยวิธีการดูแลตนเองที่ง่ายและสามารถทำได้ทุกวัน อาทิ

  • ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน แต่อย่าออกกำลังกายที่หนักเกินไป เพราะจะส่งผลเสียมากกว่าผลดีควรออกกำลังกายเบา ๆ จะดีต่อสุขภาพ เช่น โยคะ เดินเร็ว ไทเก๊ก
  • มีอารมณ์ดี ยิ้มแย้มแจ่มใส หลีกเลี่ยงความเครียด 
  • รับประทานอาหารการกิน พยายามกินอาหารให้ครบถ้วนเพียงพอต่อร่างกาย และกินอาหารที่มีประโยชน์ 
  • ควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อลดความเสี่ยงและป้องกันโรคที่อาจเกิดขึ้นได้ 

อ้างอิง: กรมกิจการผู้สูงอายุ ,กรมการจัดหางาน

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก