กฎกระทรวงฉบับที่ 12 ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

หน้าผลลัพธ์ »  1 | 2 | ประกาศผู้อำนวยการทางหลวงท้องถิ่นเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เรื่อง ห้ามใช้ยานพาหนะที่มีน้ำหนัก น้ำหนักบรรทุก หรือน้ำหนักลงเพลาเกินกว่าที่ได้กำหนดหรือโดยที่ยานพาหนะนั้นอาจทำให้ทางหลวงเสียหายเดินบนทางหลวงท้องถิ่นในเขตความรับผิดชอบของเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา (10/02/2555)
กฎกระทรวง กำหนดหน่วยงานของรัฐที่ไม่ต้องนำประเภทข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลไปลงพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษาตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวารของราชการ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2546 (09/12/2546)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (22/08/2543)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2542) ออกตามความในพ.ร.บ.เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2509 (09/12/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 (20/07/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (09/02/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (09/02/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (09/02/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (09/02/2542)
กฎกระทรวง ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2542) ออกตามความในพระราชบัญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (09/02/2542)

คำสั่งทางปกครองตามกฎหมายกลาง

            คำว่า “กฎหมายกลาง” หากเป็นคำภาษาพูดในทางกฎหมายเรียกว่า “กฎหมายทั่วไป”  ทั้งนี้คำว่า “กฎหมายกลาง” จะใช้เรียกพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 โดยมาตรา 3 กำหนดให้เป็นกฎหมายทั่วไปสำหรับการใช้อำนาจหน้าที่ในทางปกครองของเจ้าหน้าที่ของรัฐเกี่ยวกับ การออกคำสั่งทางปกครอง การที่กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายทั่วไป หมายความว่า หากมีกฎหมายเฉพาะ (กฎหมายที่บัญญัติอำนาจหน้าที่ในการใช้ดุลพินิจในเรื่องนั้น) กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในการออกคำสั่งทางปกครองไว้อย่างไร เจ้าหน้าที่ก็จะต้องปฏิบัติไปตามกฎหมายเฉพาะนั้น เว้นแต่กรณีที่ไม่มีกฎหมายเฉพาะกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติงานไว้ หรือมีกฎหมายเฉพาะ แต่หลักเกณฑ์ของกฎหมายเฉพาะมีลักษณะที่ประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานในการปฏิบัติที่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์หรือมาตรฐานที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะใช้กฎหมายเฉพาะนั้นไม่ได้ แต่จะต้องใช้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 บังคับแก่กรณีนั้น ๆ เช่น ความเห็นคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ 205/2541 กรณี ข้อ 21 ของกฎ ก.พ. ฉบับที่ 18 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ว่าด้วยการสอบสวนพิจารณา (ยังใช้กับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน) มีหลักเกณฑ์ที่ประกันความเป็นธรรม ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 กรณีในการสอบปากคำผู้ถูกกล่าวหา ต้องมาปรากฏตัวต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ผู้นั้นมีสิทธินำทนายความหรือ ที่ปรึกษาของตนเข้ามาในการพิจารณาทางปกครองได้ เป็นต้น

            อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นกรณีของขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งที่กำหนดไว้ในกฎหมายเฉพาะ เจ้าหน้าที่จะต้องใช้กฎหมายเฉพาะนั้น ๆ บังคับแก่ขั้นตอนและระยะเวลาอุทธรณ์หรือโต้แย้งเสมอ แม้ว่าขั้นตอนและระยะเวลาตามกฎหมายเฉพาะจะมีหลักประกันความเป็นธรรมหรือมีมาตรฐานที่ต่ำกว่าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติฯ ก็ตาม ส่วนพระราชบัญญัติการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. ๒๕๕๘ ตามมาตรา 3 ก็เป็นกฎหมายกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งกำหนดขั้นตอน วิธีการในการปฏิบัติราชการ แต่จะเพิ่ม “คู่มือสำหรับประชาชน” ซึ่งเป็นคู่มือในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ผู้รับคำขออนุญาตและเป็นรายละเอียดที่ให้ประชาชนได้รับทราบเกี่ยวกับกระบวนการขั้นตอน รวมถึงระยะเวลาในการอนุญาตที่ปรากฏอยู่ในคู่มือสำหรับประชาชน โดยคู่มือสำหรับประชาชนดังกล่าวอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (๑) หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข (ถ้ามี) ในการยื่นคำขอ (๒) ขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาอนุญาต และ (๓) รายการเอกสารหรือหลักฐานที่ผู้ขออนุญาตจะต้องยื่นมาพร้อมกับคำขอ

            แต่ก่อนที่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจในเรื่องนั้นจะออกคำสั่งทางปกครองจะต้องดำเนินการ ดังนี้                    

            “พิจารณาทางปกครอง” ซึ่งหมายความว่า การเตรียมการและการดำเนินการของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดให้มีคำสั่งทางปกครอง (มาตรา 5) โดยจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองฯ

            “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

            (1) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล ในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียน แต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

            (2) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ลักษณะของ “คำสั่งทางปกครอง” เป็นการสั่งการ ซึ่งได้แก่ ข้อความที่บังคับให้บุคคลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือห้ามมิให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง การอนุญาตให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ หรือการยืนยันสิทธิ ที่มีผลบังคับเฉพาะกรณีใดกรณีหนึ่งหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ จากลักษณะดังกล่าวจะเห็นได้ว่า คำสั่งทางปกครองมีลักษณะเช่นเดียวกับ “กฎ” แต่ขาดคุณลักษณะข้อใดข้อหนึ่งของกฎ คือ ไม่เป็น การบังคับทั่วไป แต่ใชบังคับเฉพาะกรณี และไม่เป็นการบังคับแก่บุคคลทั่วไป แต่ใช้บังคับเฉพาะบุคคล คำสั่งทางปกครองที่ใช้กับบุคคลเฉพาะเรื่องและเฉพาะบุคคล แต่เป็นบุคคลหลายๆ คน ในคราวเดียวกันก็ได้ ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่มีผลเฉพาะเรื่องและเฉพาะบุคคล ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองทั่วไป เพราะ คำว่าเฉพาะบุคคล รวมถึงกลุ่มบุคคลด้วย ซึ่งหมายถึงกลุ่มบุคคลที่ถูกบังคับตามคำสั่งทางปกครองในคราวเดียวกันหลาย ๆ คน แต่ออกคำสั่งทางปกครองครั้งเดียวกัน เช่น คำสั่งสลายการชุมชม สัญญาณไฟจราจร การประกาศผลสอบ การประกาศผลการเลือกตั้ง เป็นต้น

            ดังนั้น คำสั่งทางปกครองจึงมีความหมายสองประการ คือ คำสั่งทางปกครองที่จะต้องวินิจฉัยในเนื้อหาตาม (1) กับคำสั่งทางปกครองที่เป็นไปตามกฎหมาย ตาม (2) คือ กฎกระทรวงและประกาศ ประกอบด้วย

            กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (ยกเว้นมาตรา 30 ไม่ต้องแจ้งสิทธิก่อนออกคำสั่งทางปกครอง) โดยให้คำสั่ง ทางปกครองในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 30 วรรคสอง (6) ได้แก่ (1) การบรรจุ การแต่งตั้ง การเลื่อนขั้นเงินเดือน การสั่งพักงาน หรือสั่งให้ออกจากงานไว้ก่อน หรือการให้พ้นจากตำแหน่ง (2) การแจ้งผลการสอบหรือการวัดผลความรู้หรือความสามารถของบุคคล (3) การไม่ออกหนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางไปต่างประเทศ (4) การไม่ตรวจลงตราหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว (5) การไม่ออกใบอนุญาตหรือการไม่ต่ออายุใบอนุญาตทำงานของคนต่างด้าว (6) การสั่งให้เนรเทศ

            กฎกระทรวง ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2543) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 ให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครอง ได้แก่

            1. การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาหรือให้สิทธิประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้ (1) การสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่า ซื้อ เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์ (2) การอนุมัติสั่งซื้อ จ้าง แลกเปลี่ยน เช่า ขาย ให้เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์ (3) การสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน (4) การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน

            2. การให้หรือไม่ให้ทุนการศึกษา และยังมีคำสั่งทางปกครอง ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งทางปกครอง ที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่ง ดังต่อไปนี้ (เหตุผล คือ มาตรา 37 คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วย และเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย (1) ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ (2) ข้อกฎหมายที่อ้างอิง (3) ข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจ)

            (1) คำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิของคู่กรณี เช่น การไม่รับคำขอ ไม่อนุญาต ไม่อนุมัติ ไม่รับรอง ไม่รับอุทธรณ์ หรือไม่รับจดทะเบียน

            (2) คำสั่งทางปกครองที่เป็นการเพิกถอนสิทธิ เช่น การเพิกถอนใบอนุญาต เพิกถอนการอนุมัติ เพิกถอนการรับรอง หรือเพิกถอนการรับจดทะเบียน

            (3) คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ

            (4) คำสั่งทางปกครองที่เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์

            (5) คำสั่งยกเลิกการสอบราคา การประกวดราคา หรือการประมูลราคาที่มีผู้ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการดำเนินการดังกล่าวแล้ว

            ตามที่กล่าวมาแล้ว การพิจารณาทางปกครองและคำสั่งทางปกครองมีความแตกต่างกันในทางปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากการพิจารณาทางปกครอง เจ้าหน้าที่จะต้องมีความเป็นกลางและไม่มีสภาพร้ายแรง (ตามมาตรา 13 และมาตรา 16) จะต้องใช้หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการพิจารณาเพื่อคุ้มครองรับรองสิทธิของคู่กรณี เช่น สิทธิในการมีทนายความหรือที่ปรึกษา (มาตรา ๒๓) สิทธิในการแต่งตั้งผู้ทำการแทน (มาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕) สิทธิในการได้รับคำแนะนำและได้รับแจ้งสิทธิในกระบวนพิจารณา (มาตรา ๒๗) สิทธิในการได้รับแจ้งผลกระทบต่อสิทธิ (มาตรา ๓๐) สิทธิในการตรวจดูเอกสารของเจ้าหน้าที่ (มาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๒) สิทธิในการได้รับทราบเหตุผลของคำสั่งทางปกครอง (มาตรา ๓๗) สิทธิในการได้รับแจ้งสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งทางปกครอง (มาตรา ๔๐) เป็นต้น แล้วจึงดำเนินการออกคำสั่งทางปกครองต่อไป โดยหลักในการตรวจสอบความชอบของคำสั่งทางปกครองประกอบด้วย (1) อำนาจของเจ้าหน้าที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ (2) ขั้นตอน วิธีการอันเป็นสาระสำคัญในการออกคำสั่งทางปกครองชอบหรือไม่ และ (3) ดุลพินิจในการออกคำสั่งทางปกครองชอบหรือไม่

            กรณีศึกษา การพิจารณาทางปกครอง (ยังต้องดำเนินการต่อไป)

            1. คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยไม่ร้ายแรง เป็นขั้นตอนที่ผู้บังคับบัญชาอาจดำเนินการก่อนที่จะมีคำสั่งลงโทษทางวินัยต่อไป เพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอและมีโอกาสโต้แย้งหรือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาและแสดงพยานหลักฐาน คำสั่งดังกล่าวเป็นการพิจารณาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๑๖/๒๕๕๑)

            2. กรมการปกครองมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง ยังต้องดำเนินการสอบสวนและพิจารณาต่อไป เป็นการพิจารณาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๔๙/๒๕๕๒)

            3. สรุปผลการสอบสวนของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้ นาย ก. รับผิดทางละเมิดเต็มจำนวน เป็นการพิจารณาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๔๕/๒๕๕๑)

            4. หนังสือของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินที่ชี้มูลความผิดนาย ก. โดยให้ดำเนินการทางวินัย อาญา และละเมิด เป็นการพิจารณาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๑๒/๒๕๕๑)

            5. มติของคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดที่เห็นชอบให้นาย ข. ไปประจำที่สำนักงานเลขานุการคณะกรรมการพนักงานส่วนตำบลจังหวัดเป็นเพียงกระบวนการพิจารณาซึ่งเป็นขั้นตอนภายในก่อนที่จะมีคำสั่งทางปกครองย้ายนาย ข. ต่อไป มติดังกล่าวยังมิได้มีสถานะทางกฎหมายออกสู่ภายนอกอันจะมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของนาย ข. เป็นการพิจารณาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๓/๒๕๕๕)

            6. หนังสือของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งให้ประธาน กกต. ประจำจังหวัดดำเนินการเพิกถอนประกาศ กกต. เรื่อง ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และจัดให้มีการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลใหม่ เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในของหน่วยงานทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ฟ.๖/๒๕๕๔)

            กรณีศึกษา คำสั่งทางปกครอง

            1. การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงของอธิบดีกรมที่ดินในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลที่อยู่ข้างเคียงที่ดินดังกล่าว จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๔๓๒/๒๕๕๔)

            2. คำสั่งให้เพิกถอนและแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ในหนังสือ น.ส. ๓ ก. ที่นายอำเภอแจ้งให้ผู้ขอออกเอกสารสิทธิ น.ส. ๓ ก. เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสิทธิของผู้ครอบครองที่ดิน คำสั่งดังกล่าวจึงเป็นคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๔/๒๕๕๕)

            3. หนังสือที่มหาวิทยาลัยของรัฐไม่อนุญาตให้นาย ก. เข้าใช้ที่ราชพัสดุในความครอบครองของมหาวิทยาลัยเป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะ เป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายในการปกครอง ดูแล บำรุงรักษา ใช้ และจัดหาผลประโยชน์จากที่ราชพัสดุดังกล่าว อันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิและหน้าที่ของบุคคล จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำสั่งทางปกครองสูงสุด ที่ ๑๕๕/๒๕๕๕)

            4. มติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ให้ นาย ก. ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สิน ในฐานะที่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง ซึ่งหากไม่ปฏิบัติตามอาจได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ กำหนดไว้ มติดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของผู้ฟ้องคดี จึงมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๖๐/๒๕๕๕)

            5. คำสั่งกรมการปกครองที่อายัดทรัพย์สินบัญชีเงินฝากของนาย ก. ชั่วคราว ๒ บัญชี เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิของนาย ก. จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๖๗๖/๒๕๔๗)

            6. คำสั่งนายอำเภอที่ปฏิเสธการออก น.ส. 3 ก. ให้แก่ราษฎรผู้ยื่นคำขอ เป็นคำสั่งทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๒๔๕/๒๕๕๑)

            7. หน่วยงานความมั่นคงสั่งเนรเทศนาย ก. สัญชาติพม่า เนื่องจากเป็นบุคคลอันตรายต่อสังคม เป็นคำสั่งทางปกครอง ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 (๖) ส่วนข้ออื่น ๆ เป็นการพิจารณาทางปกครอง

            8. คำสั่งของหน่วยงานที่ไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ผู้ฟ้องคดี มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์อันมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิในการที่จะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนของผู้ฟ้องคดี จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๓๐/๒๕๕๐ และคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๒๕/๒๕๕๐)

            9. คำสั่งลงโทษไล่ผู้ฟ้องคดีออกจากราชการ เป็นคำสั่งที่มีผลกระทบต่อสิทธิและหน้าที่ของผู้ถูกลงโทษ จึงเป็นคำสั่งทางปกครอง ตามมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๗๘/๒๕๕๐)                              

            ข้อสังเกต

            1. คำสั่งของจังหวัดในฐานะผู้ว่าจ้างไม่ขยายระยะเวลาก่อสร้างให้แก่นาย บ. ผู้รับจ้าง ตามสัญญาจ้างขุดลอกคลองแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิตามสัญญา (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๑๘/๒๕๕๑)

            2. หนังสือองค์การบริหารส่วนตำบลที่แจ้งให้ผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นเพียงหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้ขอปฏิบัติตามเท่านั้น ซึ่งหากผู้ขอฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามก็อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายต่อไป หนังสือดังกล่าวจึงมิได้มีผลกระทบโดยตรงต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของนาย ข. จึงมิใช่คำสั่งทางปกครองตามความในมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุด ที่ ๑๑๙/๒๕๕๕)

            3. หนังสือกรมการปกครองแจ้งเตือนให้นาย ก. ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนทางละเมิดภายใน ๗ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือดังกล่าว หากพ้นกำหนดแล้ว กรมการปกครองจะใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับนาย ก. โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของนาย ก. เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ดังกล่าวต่อไป มีลักษณะเป็นเพียงหนังสือเตือนให้นาย ก. นำเงินไปชำระตามคำสั่งกรมการปกครองภายในระยะเวลาที่กำหนด อันเป็นขั้นตอนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดก่อนที่เจ้าหน้าที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองต่อไปเท่านั้น จึงไม่เป็นคำสั่งทางปกครอง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.๑๕๐/๒๕๕๔)

            4. หนังสือแจ้งเตือนจากนายอำเภอให้ผู้บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ออกจากที่ดินที่บุกรุก ภายในกำหนด 30 วัน นับแต่ได้รับหนังสือ ตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติลักษณะปกครองท้องที่ พระพุทธศักราช 2457 หากไม่กระทำตาม ผู้ถูกฟ้องคดีจะดำเนินการตามกฎหมายแพ่งและอาญาต่อไปเท่านั้น ไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง แต่เป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินเท่านั้นและเป็นหนังสือแจ้งเตือน และกฎหมาย มิได้บัญญัติให้ผู้ถูกฟ้องคดีมีอำนาจเข้าไปบังคับจัดการให้บุคคลออกจากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากที่ดินสาธารณสมบัติของแผ่นดิน หรือใช้มาตรการบังคับทางปกครองในกรณีดังกล่าวได้ แต่จะต้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ที่ อ.639/2557)

แบบทดสอบ เรื่องที่ 1 คำสั่งทางปกครอง

หากแบบทดสอบไม่แสดงผลคลิกที่นี่

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก