นักเรียนจะมีวิธีการเเก้ไขเเละรับมือกับปัญหาภัยพิบัติทางธรณีภาคได้อย่างไร

วิธีเอาตัวรอดยามฉุกเฉิน หรือ ภัยพิบัติ

สภาพอากาศอันเลวร้าย หรือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ (Natural Disaster) ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อไม่ว่าคุณจะอยู่ที่ไหนทั้งพายุไต้ฝุ่น ลมมรสุม แผ่นดินไหว ไฟป่า หรือ น้ำท่วม เหตุการณ์เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่เราไม่อาจจะรู้ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถึงแม้เราอาจจะรู้ได้ในช่วงใกล้ๆ ก่อนเหตุการณ์จะเกิด แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเตรียมตัวได้ทัน ทำได้เพียงแค่นั่งมองสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้าเท่านั้น ในบทความนี้จะมาแนะนำวิธีเอาตัวรอดในยามฉุกเฉิน และลักษณะการเกิดภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ให้เพื่อนๆ รู้จักวิธีเตรียมตัวเพื่อรับมือกันได้มากขึ้นครับ

บทความเกี่ยวกับ แกดเจ็ต อื่นๆ

วิธีเอาตัวรอดจากพายุไต้ฝุ่น (Typhoon Survival Tips)

สำหรับพายุไต้ฝุ่น เฮอร์ริเคน หรือ ไซโคลน เราจะได้ยินเสียงลมกระโชก พัดโบกผ่านต้นไม้และซอกตึกอย่างรุนแรงทำให้เกิดเสียงลมดังมากผิดปกติ สิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวจะพัดปลิวไปตามสายลม ท้องฟ้าจะเริ่มมืดครึ้ม อาจจะมีพายุฝนตามมาด้วยฟ้าผ่า ความรุนแรงของลมพายุจะเพิ่มทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ หากเราอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น

วิธีเอาตัวรอดหากเจอพายุไต้ฝุ่น

  • ก่อนจะเดินทางไปยังต่างจังหวัด หรือ เที่ยวในพื้นที่ไม่รู้จัก ควรเช็คฤดูกาลและสภาพอากาศก่อนเสมอ
  • ตรวจสอบสภาพอากาศในพื้นที่ปัจจุบัน ผ่าน แอปพลิเคชัน, ทีวีท้องถิ่น, หรือ ฟังวิทยุ เป็นต้น
  • หากมีประกาศให้อพยพ ไม่ควรรอช้า ควรเดินทางด้วยสัมภาระที่มีจำนวนน้อยที่สุด
  • ถ้าอพยพไม่ทัน ควรอยู่ในบ้าน หรือ อาคารที่ปลอดภัย อยู่ห่างจากประตู หน้าต่าง ให้มากที่สุด
  • ห้ามออกไปยังพื้นที่โล่งแจ้ง จนกว่าจะมีคำสั่งจากศูนย์เตือนภัย เพราะพายุอาจจะใช้เวลาเป็นวันก่อนที่จะเคลื่อนที่พ้นจนปลอดภัย

วิธีเอาตัวรอดจากแผ่นดินไหว (Earthquake Survival Tips)

ก่อนที่จะรู้ว่ามีแผ่นดินไหว เราอาจจะได้ยินเสียงสั่นสะเทือนบริเวณรอบๆ คล้ายกับเสียงฟ้าผ่าอยู่รอบตัวเรา พื้นดินจะเริ่มค่อยๆ สั่น ขึ้นอยู่กับขนาดและความรุนแรงของแผ่นดินไหว แรงสั่นอาจจะใช้เวลาอยู่สักพัก สิ่งของที่อยู่รอบตัวเราอาจจะโยก สั่นคลอนและเกิดเสียง ส่วนใหญ่จะไม่รุนแรงมาก หากมีระดับความรุนแรงที่ต่ำกว่า 5 ริกเตอร์ แต่เมื่อใดที่มีความแรงมากกว่า 6 ขึ้นไป อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ เราควรเตรียมตัวทันที

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเจอแผ่นดินไหว

  • สิ่งที่ต้องจำหลักๆ คือ "หมอบ กำบัง และ รอ" (Drop, cover, and hold on) ก้มศีรษะให้ต่ำ มองหาที่กำบังใต้โต๊ะ หรือ สิ่งที่แข็งแรง บังให้ทั่วทุกส่วนของร่างกายเท่าที่จะทำได้ รอจนกว่าสถานการณ์จะปลอดภัย
  • อยู่ให้ห่างจากเฟอร์นิเจอร์ ประตู หน้าต่าง สิ่งใดๆ ก็ตามที่อาจจะเคลื่อนไหว ล้ม หรือ หล่นใส่เราได้ สิ่งของต่างๆ เหล่านี้จะทำให้เราบาดเจ็บมากกว่าสิ่งอื่นๆ
  • ห้ามใช้ ลิฟต์ หรือ บันไดเลื่อน หากใช้งานอยู่ให้รีบหนีออกมาเร็วที่สุด
  • อยู่ให้ห่างจากเสาไฟฟ้า โดยเฉพาะในบ้านเมืองเรา ตึกและสิ่งก่อสร้างต่างๆ อาจจะล้มมาทับเราได้
  • หากอยู่ใกล้บริเวณชาดหาย หรือ ทะเล ควรออกห่างให้มากที่สุด หนีไปอยู่บนพื้นที่ๆ สูงกว่าระดับน้ำเพื่อความปลอดภัย

วิธีเอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์สึนามิ (Tsunami Survival Tips)

เมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหว คลื่นยักษ์ขนาดใหญ่ที่เรียกว่า "สึนามิ" (Tsunami) ก็มักจะตามมาด้วย อย่างเหตุการณ์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2547 (ค.ศ. 2004) คร่าชีวิตผู้คนไปมากกว่า 5,000 กว่าคน และบาดเจ็บกับสูญหายอีกเป็นจำนวนมาก เราควรรู้วิธีเตรียมตัวเฝ้าระวังและหาหนทางรับมือเผื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นอีก

วิธีเอาตัวรอดเมื่อเจอกับสึนามิ

  • เตรียมตัวล่วงหน้า หากเราอาศัยอยู่ หรือ กำลังเดินทางไปเที่ยวสถานที่ใกล้ชายฝั่งทะเล ควรหาเวลาศึกษาสภาพภูมิประเทศของแหล่งนั้นๆ ก่อน ว่าเราสามารถเดินทางขึ้นที่สูงด้วยเส้นทางไหนได้บ้าง
  • ถ้าเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ไม่ควรรอให้ทางการประกาศเตือนภัย สึนามิอาจจะซัดถล่มได้ทุกเมื่อ
  • ประกาศเตือนภัยเมื่อไหร่ ควรอพยพโดยทันที ถึงเวลาจะมีเหลือน้อย แต่เราควรหยิบอุปกรณ์ฉุกเฉินสำหรับอพยพติดตัวไปด้วย เพื่อการดำรงชีวิต
  • หนีไปยังพื้นที่สูง แนะนำว่าสูงกว่า 30 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล และห่างจากชายฝั่ง 4-5 กิโลขึ้นไป ยิ่งสูงยิ่งไกลยิ่งดี หากหนีไม่ได้ อาจจะปีนต้นไม้ หรือ ขึ้นไปบนตึกสูง เพื่อความปลอดภัย
  • หากหนีไม่พ้น คลื่นน้ำมาถึงตัวก่อน ให้จับหรือเกาะ สิ่งของอะไรก็ได้ที่สามารถลอยอยู่เหนือพื้นน้ำ
  • ไม่ควรทึกทักเอาเองว่าสถานการณ์สงบ จนกว่าจะมีประกาศจากศูนย์เตือนภัย เพราะคลื่นลูกใหม่อาจจะเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่ถึงชั่วโมง

วิธีเอาตัวรอดจากน้ำท่วม (Flood Survival Tips)

ถึงจะมีหรือไม่มีคลื่นยักษ์สึนามิ เหตุการณ์น้ำท่วมก็สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น ฝนตกติดต่อกันหลายวัน ปริมาณน้ำในแม่น้ำเกินขอบเขตความจุที่รับได้ หรือ เขื่อนรับน้ำเกิดพังทลายเสียหาย ทำให้น้ำปริมาณมากไหลเข้าสู่พื้นที่ชุมชน น้ำท่วมจำเป็นต้องใช้เวลารอระบายน้ำนานอยู่หลายวัน งั้นเรามาดูกันว่าควรเตรียมตัวอย่างไร

วิธีเอาตัวรอดเมื่อน้ำท่วม

  • หากเรารู้ตัวว่าน้ำท่วมกำลังจะมา ควรเตรียมตัวล่วงหน้าและพร้อมอพยพได้ทุกเมื่อ
  • หากมีประกาศเตือนภัย ควรมุ่งหน้าไปยังพื้นที่สูงกว่า นำอุปกรณ์ฉุกเฉินเพื่อดำรงชีวิตติดตัวไปและทิ้งสิ่งของที่ไม่จำเป็นเอาไว้
  • อยู่ให้ห่างจากลุ่มแม่น้ำ คลอง ลำธาร ทะเลสาบ ห้ามเดินทางผ่านทางน้ำ หากจำเป็นควรพกไม้เท้าที่มีความยาวติดตัวไป ใช้สำหรับวัดระดับน้ำและเพื่อความรู้สึกมั่นคงเวลาเดินในน้ำ
  • อยู่บ้าน? สามารถปีนขึ้นไปอยู่บนหลังคาได้ หากหลังคาสูงพอ
  • ไม่ควรลงน้ำ ในขณะที่น้ำท่วมอาจจะเกิดอันตรายได้ หากไฟฟ้ายังไม่ถูกตัด สายไฟที่อยู่ใต้น้ำอาจจะทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าช็อตทำให้เสียชีวิตได้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำดีที่สุด

วิธีเอาตัวรอดจากภูเขาไฟ (Volcano Survival Tips)

ถึงแม้ภูเขาไฟส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นภูเขาไฟที่ดับแล้ว อาจจะไม่มีการปะทุ หรือ อันตรายใดๆ ที่ก่อให้เกิดความรุนแรง เราก็ควรรู้ไว้ว่าอาจจะมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ซึ่งโดยทั่วไปก่อนจะเกิดภูเขาไฟระเบิด จะมีสัญญาณบ่งบอกหลายอย่างเช่น การยกตัวของพื้นดิน การเกิดแผ่นดินไหวเล็กๆ สัตว์ป่ามีพฤติกรรมตกใจกลัว ท้องฟ้า ปริมาณน้ำและธรรมชาติเปลี่ยนแปลง สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนเป็นสัญญาณเตือนภัยของภูเขาไฟระเบิดได้ เมื่อภูเขาไฟระเบิดจะมีของเหลวลาวา ฝุ่นละอองและเถ้าถ่านออกมาจากปล่องภูเขาไฟ สร้างความรุนแรงและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้

วิธีเอาตัวรอดเมื่อภูเขาไฟระเบิด

  • ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสถานที่ๆ เราไปว่ามีความเสี่ยงในการเกิดภูเขาไฟมากแค่ไหน
  • ถ้าเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟปะทุ มีประกาศอพยพ ควรฟังเจ้าหน้าที่และศูนย์แจ้งเตือนภัย
  • ควรอยู่ภายในอาคาร ปิดประตูและหน้าต่างทั้งหมด เถ้าที่เกิดจากภูเขาไฟเป็นอันตรายต่อระบบหายใจ
  • หากอยู่ด้านนอก ควรปีนขึ้นที่สูง เพราะลาวาจะไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า ส่วนเวลาเดินหรือวิ่ง ควรระวังใช้สิ่งของหรือแขนกำบังหัวไว้ ป้องกันเศษหิน เศษลาวา กระเด็นตกมาจากบนฟ้า
  • ควรหาหน้ากากหรือเศษผ้าใส่ป้องกันมลพิษจากเถ้าถ่านและแก๊ส ทางที่ดีควรมีแว่นตาใส่ป้องกันด้วย
  • ใส่เสื้อคลุม เสื้อแขนยาว หรือผ้าที่สามารถคลุมร่างกายเราจากอากาศด้านนอกได้
  • หากเป็นไปได้ควรอพยพออกจากพื้นที่ให้เร็วที่สุด ด้วยยานพาหนะ เพื่อออกห่างจากพื้นที่เสี่ยง

วิธีเอาตัวรอดจากไฟป่า (Wildfire Survival Tips)

ไฟป่าก็เป็นอีกหนึ่งภัยพิบัติใกล้ตัว ที่เราพบเจอได้หลายภาคในประเทศไทย ไม่ว่าจะเกิดจากธรรมชาติหรือน้ำมือมนุษย์เอง ไฟป่าอาจจะเกิดได้จากอากาศแห้ง กิ่งไม้แห้งเสียดสีกัน ฟ้าผ่า เศษหินตกกระทบจนเกิดประกายไฟ เป็นต้น ส่วนการกระทำของมนุษย์อาจจะเกิดจากการจุดไฟ เผาหญ้าแห้ง เมื่อเกิดไฟลุกไหม้ ไฟอาจจะลุกลามอย่างรวดเร็วเป็นวงกว้าง พร้อมควันไฟที่อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อระบบหายใจ หากควบคุมไฟป่าไม่ทัน ก็อาจจะเข้าสู่พื้นที่ชุมชน เราควรมีวิธีรับมือกับปัญหาไฟป่าและไฟไหม้ไว้ด้วย

เมื่อเจอไฟป่าควรทำอย่างไร

  • ทำความเข้าใจการเกิดไฟป่าก่อน ไฟป่ามีผลมาจาก อากาศร้อน พืชแห้งแล้ง และสภาพภูมิประเทศ
  • หากอาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยง "ควรจำว่าฤดูมีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าสูง"
  • เตรียมตัวทุกครั้งในช่วงที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าเพื่อง่ายต่อการอพยพ
  • ทำความสะอาดบริเวณบ้านไม่ให้มีกองใบไม้ หรือ หญ้าแห้งที่ง่ายต่อการติดไฟ
  • นำวัสดุ สิ่งของที่ง่ายต่อการติดไฟและระเบิดออกจากพื้นที่ เช่นถังแก๊ส ถังสี ลังกระดาษ
  • เตรียมสายยาง ถังน้ำ ท่อส่งน้ำที่สามารถจ่ายน้ำได้ตลอดเวลา อย่างต่ำ 5,000ลิตรขึ้นไป สำหรับดับไฟและป้องกันไฟลุกลามโดยเฉพาะ
  • เคลียร์พื้นที่ให้รถดับเพลิง เดินทางและเข้าถึงได้สะดวก ง่ายต่อการจัดการปัญหาไฟลุกลาม

วิธีเอาตัวรอดช่วงไฟไหม้

  • เมื่อเกิดไฟไหม้ ควรมองหาทางหนีไฟ (Fire Exit) ออกมาให้เร็วที่สุด ห้ามใช้ลิฟต์หรือบันไดเด็ดขาด
  • ออกซิเจนลอยอยู่ที่ต่ำกว่าควันไฟ เราควรก้มลงต่ำ หาหน้ากาก หรือ ผ้าชุบน้ำมาปิดจมูก เพื่อป้องกันการสำลักควันไฟระหว่างหนีไฟ
  • หากประตู มีไฟอยู่ทุกหนแห่ง มองหาผ้าคลุม ผ้าขนหนูนำไปชุบน้ำมาคลุมตัวช่วยป้องกันไฟได้
  • ควรมีสติ ไม่ควรแตกตื่น เมื่อตั้งสติได้ให้รีบหาทางหนีออกจากพื้นที่ไฟไหม้โดยเร็ว

วิธีเอาตัวรอดจากดินโคลนถล่ม (Mudslide Survival Tips)

ช่วงฝนตกหนัก พื้นที่ติดภูเขาสูงที่มีดินลาดชันหรือพื้นที่ต่ำแต่มีชั้นดินจำนวนมากอาจเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติดินถล่มได้ การลื่นไถลของชั้นดินมักจะมีน้ำมาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ สังเกตได้จาก สีน้ำในลำธารอาจจะเปลี่ยน ต้นไม้หรือรั้วเริ่มเอียงผิดปกติ กำแพงและชั้นดินจะค่อยๆ พังทลายไหลตามทางลาดและแรงโน้มถ่วง แรงเคลื่อนของดินถล่มนั้นอันตรายไม่ต่างจากน้ำท่วมหรือสึนามิ แต่สิ่งที่เราพอจะทำได้เพื่อเอาชีวิตรอดก็จะมีดังนี้

วิธีเอาตัวหากเจอดินถล่ม

  • เฝ้าระวังสัญญาณ ติดตามข่าวพื้นที่เสี่ยงเกิดเหตุดินถล่ม พร้อมเตรียมตัวอพยพ
  • อยู่ให้ห่างจากสายน้ำลำธาร คลอง หรือ พื้นที่ต่างๆ ที่มีแหล่งน้ำเกี่ยวข้อง
  • ขึ้นไปบนที่สูง วิ่งขึ้นบันได หรือ ชั้นบนของตึกสูง อยู่ห่างจากหน้าผา หรือที่ดินลาดชัน
  • หากอยู่ภายนอก ให้วิ่งหนีออกด้านข้างช่วยให้ปลอดภัยจากทิศทางของดินถล่มมากกว่า
  • เมื่อหนีไม่ทัน ควรหาสิ่งของป้องกันช่วงศีรษะจากการกระแทกของสิ่งที่ไหลตามมา

วิธีเอาตัวรอดจากการติดถ้ำ (Trapped in a cave Survival Tips)

ติดถ้ำ อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่น้อยคนจะได้เผชิญ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอาจจะเจอเหตุการณ์แบบนี้เข้าสักวันก็เป็นได้ หากเราเดินทางไปเที่ยวเข้าในถ้ำลึกแล้วเกิดเหตุการณ์ฝนตกหนักอย่างไม่คาดคิด ระดับน้ำด้านนอกไหลเข้าสู่ถ้ำจนทำให้ไม่สามารถหาทางออกมาได้ เราก็ควรรู้วิธีป้องกันและเอาตัวรอดอย่างระมัดระวังให้มากที่สุด เมื่อเราติดถ้ำขึ้นมาจริงๆ จะได้มีวิธีแก้ไขและรับมือกับปัญหาได้ จนกว่าเราจะหาทางออกมาได้อย่างปลอดภัย

วิธีเอาตัวรอดหากติดอยู่ในถ้ำ

  • ก่อนเข้าถ้ำควรศึกษาเส้นทางเข้า เดินสำรวจและจำลักษณะภายในถ้ำไว้ในกรณีฉุกเฉิน ควรมีเสบียงและอุปกรณ์ฉุกเฉินติดตัวเข้าไปทุกครั้ง
  • หากมีแผนที่ในถ้ำควรนำติดตัวไปด้วยและทำเครื่องหมายตามจุดที่เดินผ่าน (บนกระดาษ)
  • หาทางติดต่อกับเจ้าหน้าที่ดูแลถ้ำ พูดคุยสอบถามความช่วยเหลือจากภายนอกในกรณีฉุกเฉิน
  • พยายามตั้งสติหากเดินหลงทาง ค่อยๆ มองหาเส้นทางที่เคยเดินผ่าน เมื่อเราใจเย็นลดความวิตกกังวลลงได้ เราจะสามารถควบคุมสถานการณ์และเดินหาทางออกได้ง่ายขึ้น
  • หากเดินทางกับเพื่อน ควรอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ป้องกันการพลัดหลงกันระหว่างทาง
  • ใช้สิ่งของที่มีอย่างประหยัด เช่นเสบียงและพลังงานฉุกเฉิน ไม่ควรใช้หมดจนกว่าจะถึงเส้นทางที่ปลอดภัยออกจากถ้ำได้

แนะนำ 8 แกดเจ็ต ยามฉุกเฉิน (8 Recommended Gadgets for Emergency)

นอกเหนือจากวิธีการเอาตัวรอดแล้ว การเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุภัยพิบัติต่างๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญ โอกาสที่เราจะมีชีวิตรอดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับทักษะเพียงอย่างเดียว แต่อุปกรณ์มีประโยชน์ในช่วงภัยพิบัตินั้นก็สำคัญไม่แพ้กัน ดังนั้นเราจะมาแนะนำ 8 แกดเจ็ต (Gadgets) ที่อาจจะช่วยเราได้ในยามฉุกเฉิน จะมีติดบ้าน หรือ ติดกระเป๋า ซึ่ง แกดเจ็ต หรือสิ่งเหล่านี้อาจจะช่วยคุณได้ไม่มากก็น้อย

มือถือสำรอง (Backup Phone)


ขอบคุณภาพจาก : nokia.com, energizeyourdevice.com, samsung.com

คงไม่ดีแน่ถ้ามือถือที่คุณใช้อยู่พังหรือดับไปดื้อๆ ช่วงภัยพิบัติที่คุณต้องการความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นคุณควรมองหามือถือเครื่องสำรองติดไว้สักเครื่อง อาจจะเป็นฟีเจอร์โฟนธรรมดาๆ (Feature Phone) หรือสมาร์ทโฟน (Smartphone) ที่มีคุณสมบัติเหมาะสำหรับการเอาชีวิตรอดได้ โดยรุ่นที่น่าสนใจต่างๆ นั้นก็จะมีฟีเจอร์ดังนี้

  • มีแบตเตอรี่ที่ยาวนาน ใช้งานได้เกิน 10 วัน
  • ทนทานต่อสภาพอากาศ กันน้ำ กันแรงกระแทกได้ดี
  • มี GPS วิทยุยามฉุกเฉิน ไฟฉาย และเป็นแหล่งจ่ายไฟได้

มือถือในตลาดที่พอจะตอบโจทย์แบบนี้ได้ก็จะมี Nokia 3310 (เบาถูก แบตฯ นาน ไม่กันน้ำ), Nokia 800 Tough (กันทุกอย่าง พกง่าย ใช้ได้นาน), Energizer HARD CASE H550S (เหมาะทุกสถานการณ์), และ Samsung Galaxy S7,S8 Active (ซีรีส์ Active เหมาะกับสถานการณ์ลุยๆ) เป็นต้น

ไฟฉาย (Flashlight)


ขอบคุณภาพจาก : anker.com, cleanpng.com, energizer.com

ถึงเราจะมีสมาร์ทโฟนที่เปิดไฟฉายได้ แต่ไฟฉายจริงๆ ก็ยังจำเป็นอยู่ เพราะแบตเตอรี่ที่ใช้งานนั้นมีจำกัด ไฟฉายแบบเฉพาะจะช่วยให้เราเปิดไฟส่องทางในสถานการณ์ที่แสงแดดหรือไฟส่องถึง เราอาจจะมองหาไฟฉายที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม เช่น

  • ไฟฉายแบบกันน้ำได้ (Water Proof)
  • น้ำหนักเบา พกง่าย (Light weight)
  • ไฟฉายระบบปั่นไฟ (Dynamo)
  • ไฟฉายแบบติดหัว (Head flashlight)
  • ชาร์จไฟซ้ำ หรือ เปลี่ยนถ่านได้ (Rechargeable)

แหล่งจ่ายไฟฉุกเฉิน (Backup Generator)


ขอบคุณภาพจาก : anker.com, xiaomi.com, goalzero.com, japanbullet.com

ไฟฟ้าถือเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ช่วยให้อุปกรณ์หลายๆ อย่างในชีวิตประจำวันเรา เช่น สมาร์ทโฟน ไฟฉาย หรือ อุปกรณ์สื่อสารต่างๆ หากเรามีแหล่งจ่ายไฟสำรองที่สามารถใช้งานได้ยามฉุกเฉิน เราก็จะสามารถใช้อำนวยความสะดวกในการเอาชีวิตรอด หรือใช้ขอความช่วยเหลือได้ยาวนานมากขึ้น เช่น

  • แบตเตอรี่สำรอง (Power Bank)
  • แผ่นชาร์จแสงอาทิตย์ (Solar Charger)
  • แบตเตอรี่จ่ายไฟขนาดใหญ่พกพาได้ (Power Generator)
  • เครื่องปั่นไฟด้วยมือหมุน (Hand Generator)

วิทยุฉุกเฉิน (Emergency Radio)


ขอบคุณภาพจาก : sangean.eu, sony.com, motorolasolutions.com

ในช่วงภัยพิบัติที่อันตราย เราไม่ควรไว้วางใจโทรศัพท์มือถือของเราสักเท่าไหร่ เพราะการติดต่อสื่อสาร ฟังข่าวสารที่ได้ผลที่สุดในช่วงภัยธรรมชาตินั้นยังคงเป็นการสื่อสารผ่านคลื่นวิทยุ เราสามารถรับฟังการอัปเดตข่าวสาร ประกาศเตือนภัยผ่านช่องกระจายเสียงวิทยุ หรือ ติดต่อผ่านคลื่นวิทยุสื่อสารภาคพื้นดินแบบสองทาง ได้ตลอดเวลา ดังนั้นเราควรมีวิทยุฉุกเฉินติดไว้สักเครื่องใช้ในยามจำเป็น

ตัวกรองน้ำ (Water Filter)


ขอบคุณภาพจาก : brita.com, lifestraw.com, bellafontes.com, saganpotablewater.com

มนุษย์เราไม่กินอาหารหลายวันก็สามารถมีชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าขาดน้ำเกิน 3 วันอาจจะมีชีวิตรอดได้ยาก เวลาเราเดินทางไกล หรือ จำเป็นต้องอพยพถิ่นฐานช่วงภัยพิบัติ เราควรพกตัวกรองน้ำติดไปด้วย เผื่อเวลาเจอแหล่งน้ำตามที่ต่างๆ เราสามารถกรองน้ำเพื่อดื่มใช้ในยามจำเป็นได้ ตัวกรองน้ำใช้ยามฉุกเฉินก็มีให้เลือกหลายรูปแบบ เช่น

  • ขวดกรองน้ำดื่ม (มีไส้กรองในตัว ถอดเปลี่ยนได้)
  • หลอดดูดน้ำ (มีไส้กรองภายในหลอด ดื่มจากแหล่งน้ำได้)
  • เครื่องกรองน้ำฉุกเฉินสำหรับตั้งแคมป์ (กรองน้ำจำนวนมาก สำหรับหลายคน)

เตาตั้งแคมป์ (CampStove)


ขอบคุณภาพจาก : bioliteenergy.com, coleman.com

เราจำเป็นต้องมีเสบียงอาหารเพื่อประทังชีวิต หากเสบียงหมด เราอาจจะต้องออกหาอาหาร หรือ หาสิ่งที่สามารถรับประทานได้ผ่านการปรุงสุก ดังนั้นเครื่องมือสำหรับมีชีวิตรอดเพื่อทำอาหารก็คงหนีไม่พ้น เตาตั้งแคมป์ ที่เราใช้อุ่นอาหาร ยืดอายุอาหาร หรือ หาวัตถุดิบมาทำอาหารใหม่ได้ ซึ่งเตารูปแบบต่างๆ ก็มี

  • เตาตั้งแคมป์แบบใช้แก๊ส (ใช้กระป๋องแก๊สทั่วไป พกพาได้)
  • เตาแคมป์ปิ้งไฮเทค BioLite CampStove (ใช้ทำอาหาร ผลิตชาร์จไฟผ่าน USB ได้)

ชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First Aid Kit)

หากเจออุบัติเหตุ ภัยพิบัติต่างๆ จนได้รับบาดเจ็บ คงไม่ง่ายที่เราจะเดินทางไปโรงพยาบาล เพื่อหาหมอรักษา ดังนั้นเราควรมีชุดปฐมพยาบาลเบื้องต้นติดตัวไว้สักชุด อาจจะเป็นชุดเล็กๆ หรือ ชุดใหญ่ใส่กล่อง ในกรณีที่มีกันหลายคน เวลาฉุกเฉินเกิดบาดแผลต่างๆ ก็สามารถรักษาเบื้องต้นได้ ภายในชุดอาจจะประกอบไปด้วย

  • ถุงมือ (ป้องกันการสัมผัส และ ติดเชื้อเข้าสู่บาดแผล)
  • ยาล้างแผล (เช่น ยาฆ่าเชื้อ แอลกอฮอล์ เบตาดีน)
  • ผ้าทำแผล (ผ้าก๊อซ ใช้สำหรับปิดพันแผลเพื่อห้ามเลือด)
  • เทปติดแผล (ใช้ติด ผ้าทำแผล ปกป้องรอยแผลได้มิดชิด)
  • พลาสเตอร์ (ใช้ปิดแผลฉุกเฉิน หลังทำความสะอาด)
  • สำลี (ใช้ซับเลือด ทำความสะอาดบริเวณแผล)
  • กรรไกร (ใช้ตัดผ้าก่อนและหลังทำแผล)
  • ผ้าปิดตา (ใช้ป้องกันดวงตา ฝุ่นละออง จากการบาดเจ็บ)
  • ผ้ายืด (ใช้พันกล้ามเนื้อ เพื่อลดอาการบาดเจ็บ อักเสบ)
  • ถุงพลาสติก (ใช้ใส่เศษขยะ สิ่งสกปรกต่างๆ ป้องกันเชื้อ)
  • ยาฉุกเฉิน (เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ เกลือแร่ ยาที่ประจำตัว)

หน้ากากกันฝุ่น / กันควันไฟ (Respirator mask)


ขอบคุณภาพจาก : 3m.com

อากาศยิ่งแย่ลงทุกวัน หากเกิดเหตุการณ์ผิดปกติ เช่นไฟไหม้ หรือ ฝุ่นละอองที่ปกคลุมอาจจะเป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจมากขึ้น เช่น ฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เราพบเจออยู่ ฉะนั้นเราควรมีหน้ากากกันฝุ่น กันควันไฟ ไว้ใส่ในเวลาฉุกเฉิน ใส่เพื่อเดินทางหนีออกจากพื้นที่อันตรายไปยังพื้นที่ปลอดภัยได้ดีขึ้น หน้ากากที่ใส่ได้ก็จะมี

  • หน้ากาก N95 กันฝุ่นละอองขนาดเล็ก
  • หน้ากากกันแก๊ส คลุมทั้งใบหน้า
  • จุกกรองฝุ่นอากาศผ่านจมูก

สรุป

หลังจากที่อ่านบทความทั้งหมดจบแล้ว หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้เพื่อนๆ ได้ไอเดียสำหรับการเตรียมตัวเอาตัวรอดยามฉุกเฉินในภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ ได้มากขึ้น เพราะไม่มีใครรู้ได้ว่าเราจะเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดแบบนั้นเมื่อไหร่ ทักษะวิธีการเอาตัวรอดและสิ่งของที่มีประโยชน์ในช่วงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ขอให้มีสติอยู่เสมอและทุกอย่างจะผ่านพ้นไปได้ด้วยดีครับ

ที่มา : www.techrepublic.com , www.makeuseof.com , www.feetdotravel.com , www.tmd.go.th , www3.epa.gov , www.ananda.co.th , www.khaosod.co.th , www.dmr.go.th , www.bbc.com , www.dmr.go.th , www.bioliteenergy.com , www.bangkokpattayahospital.com , www.flickr.com

กระทู้ที่เกี่ยวข้อง

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก