แบบฝึกทักษะ ฟุตบอล เบื้องต้น

แนวคิด

การเล่นกีฬาฟุตบอลให้เกิดประสิทธิภาพ ผู้เล่นต้องเรียนรู้จนเกิดทักษะพื้นฐานหลายด้านอาทิ การเคลื่อนไหวเบื้องต้น การทำความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล การหยุดหรือบังคับลูก ทักษะเหล่านี้มี
ความละเอียดอ่อน และเป็นพื้นฐานสำหรับเทคนิคการเล่นอื่น ๆ ต่อไป ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนจนชำนาญ และเป็นทักษะที่ต้องการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

การทรงตัว

การทรงตัวเป็นพื้นฐานเบื้องต้นที่มีความสำคัญในการฝึกกีฬาทุกชนิด เพื่อการเคลื่อนไหวได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว สามารถทำให้การเล่นกีฬาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สนุกสนานเร้าใจท่าทางการทรงตัว
ที่ผู้เล่นฟุตบอลควรฝึกหัด มีดังนี้

  1. ทำการทรงตัวและจังหวะการใช้เท้าทั้งบนพื้นดินและในอากาศ
  2. การถ่ายน้ำหนักตัวไปสู่เท้าหลัก เมื่อมีการครอบครองลูก เตะลูกหรือเลี้ยงลูกฟุตบอล
  3. การวิ่งตามแบบของฟุตบอล เช่น วิ่งไปที่มุมสนาม วิ่งหาช่องว่าง วิ่งตัดกันเพื่อหลอกคู่ต่อสู้
  4. การวิ่งซิกแซ็ก เพื่อการหลบหลีกเมื่อเลี้ยงหรือครอบครองลูก

(จังหวะการทรงตัวในการเลี้ยงบอลและหลบหลีกคู่ต่อสู้)

การเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ถอยหลัง ไปทางซ้าย ไปทางขวา

มีวิธีการฝึกดังนี้

  1. ทิ้งน้ำหนักตัวไปสู่ทิศทางที่จะเคลื่อนที่ไป ตาจับอยู่ที่ลูกบอล
  2. เคลื่อนเท้าที่อยู่ในทิศทางที่จะเคลื่อนไป นำไปก่อน แล้วจึงเคลื่อนเท้าอีกข้างหนึ่งตามไปโดยเร็ว เช่น ไปทางซ้ายให้ก้าวเท้าซ้ายนำไปก่อน แล้วก้าวเท้าขวาตามไป
  3. การใช้ปลายเท้าสัมผัสพื้น ช่วยให้การเคลื่อนไหวรวดเร็วขึ้น

การสร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล

พื้นฐานของการเล่นฟุตบอลที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างความสัมพันธ์หรือความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอลเป็นอย่างดี กล่าวคือ การเล่นลูกฟุตบอลต้องสามารถทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ทุกประการ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นลูกแบบใดก็ตาม การที่ผู้เล่นคุ้นเคยกับลูกฟุตบอลจะส่งผลให้การครอบครองบอล การเคลื่อนที่ในลักษณะต่างๆ การควบคุมบังคับทิศทางของลูกฟุตบอลเป็นไปด้วยความแม่นยำ ดังนั้น จึงควรให้ผู้เล่นฝึกความคุ้นเคยให้ชินกับลูกฟุตบอลมากที่สุด

วิธีการสร้างความคุ้นเคยกับลูกฟุตบอล
1. วางเท้าบนลูกฟุตบอลแล้วคลึงด้วยฝ่าเท้าไปมาหน้า – หลัง ซ้าย – ขวา โดยให้อยู่กับที่ ให้ทำทั้งเท้าซ้าย-ขวา
2. ทำเหมือนข้อที่ 1 แต่ให้เคลื่อนที่ไปตามทิศทางต่าง ๆ ด้วย
3. ใช้ฝ่าเท้าตบลูกฟุตบอลให้กระดอนขึ้น-ลง โดยใช้เท้าซ้ายหรือขวาสลับกัน
4. วางเท้าด้านในติดกับข้างลูกฟุตบอล ใช้ข้างเท้าด้านในปาดเหนือลูกมาอีกด้านหนึ่งของลูก ตอนนี้ลูกฟุตบอลจะอยู่ข้างเท้าด้านนอก แล้วใช้เท้าด้านนอกปาดลูกกลับไปอีกด้านตามเดิม แล้วให้ฝึกสลับเท้าด้วย
5. งัดลูกฟุตบอลด้วยปลายเท้าให้ลูกลอยขึ้นในอากาศ หยุดลูกด้วยหลังเท้า หรือฝ่าเท้า
6. งัดลูกฟุตบอลด้วยปลายเท้าให้ลูกลอยขึ้นในอากาศ แล้วเดาะลูกด้วยเท้า เข่า หน้าอก ศีรษะ สลับกัน
7. ทำเหมือนข้อ 6 แต่เคลื่อนที่เป็นระยะทางไกล โดยลูกฟุตบอลไม่ตกถึงพื้น

การหยุดหรือบังคับลูกฟุตบอล

การหยุดลูกได้ดีนั้น ทำให้สามารถที่จะบังคับและควบคุมลูกฟุตบอลให้เคลื่อนที่ไปในลักษณะใดก็ได้ตามต้องการ เช่น การเลี้ยง การส่งลูก การยิงประตู ทำให้ทีมเป็นฝ่ายรุก เพื่อโจมตีฝ่ายตรงข้าม
เราสามารถหยุดลูกฟุตบอลด้วยส่วนใดของร่างกายก็ได้ ยกเว้นแขนและมือทั้งสองข้างคำจำกัดความ

การหยุดลูก หมายถึง การบังคับลูกที่มาในลักษณะต่าง ๆ ทั้งบนพื้นดินและในอากาศให้อยู่ในครอบครองของเรา เพื่อจะได้ส่งลูกต่อไปตามความต้องการ
หลักในการหยุดลูกมีอยู่ 3 ประการ คือ
1. จะใช้ส่วนใดของร่างกายในการหยุดลูก
2. การเคลื่อนตัวเข้าสู่ตำแหน่ง เพื่อหยุดลูกที่ลอยมาหรือกลิ้งมากับพื้น
3. ใช้เทคนิคการผ่อนของร่างกาย เพื่อลดแรงปะทะของลูก

การหยุดลูกด้วยฝ่าเท้า ให้พยายามหยุดลูกฟุตบอลเบา ๆ การใช้ฝ่าเท้าหยุดลูก ให้หยุดลูกที่ส่งเรียดมากับพื้น โดยเปิดปลายเท้าขึ้นปะทะลูกไว้ในครอบครองและให้ฝ่าเท้าสัมผัสส่วนบนของลูกพร้อมที่จะเคลื่อนที่ต่อไป

การหยุดลูกด้วยข้างเท้าด้านใน วิธีนี้สามารถใช้หยุดลูกที่ส่งเรียดหรือต่ำ
1. ใช้ในการควบคุมลูกฟุตบอลให้ตกลงสู่พื้นอย่างประณีต ในขณะที่เคลื่อนไปข้างหน้า
2. วางมุมเท้าเพื่อหยุดลูก โดยการบิดลำตัวทางด้านข้างตามแนวที่ลูกลอยมา ใช้ข้างเท้าด้านในสัมผัสตรงกลางลูก เพื่อผ่อนแรงปะทะ
3. การหยุดลูกใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ข้างเท้าด้านใน ข้อเท้า และพื้นสนาม
4. คาดคะเนจังหวะลูกฟุตบอลกระทบกับเท้าและพื้นดินพร้อม ๆ กัน เพื่อการหยุดลูกไว้อย่างมั่นคง

การหยุดลูกด้วยหลังเท้า วิธีนี้ใช้หยุดลูกฟุตบอลที่ลอยมา ให้งอเข่าและยกเท้าขึ้น เพื่อรับลูกที่กำลังจะตกพื้น ให้ลดขาและเท้าเพื่อผ่อนแรงปะทะ ตาจ้องมองดูลูก ใช้ขาข้างใดข้างหนึ่งเป็นหลักและทรงตัวให้มั่นคง

การหยุดลูกด้วยหน้าขา
ใช้ในกรณีที่ลูกลอยมาสูงกว่าระดับเอว ใช้หน้าขาหยุดลูกไว้โดยให้งอเข่ารับผ่อนแรง โดยลดต้นขาลงแล้วปล่อยลูกตกลงพื้นอยู่กับเท้าเพื่อครอบครองบอล โดยใช้แขนทั้งสองข้างและขาที่ยืนเป็นหลัก
ช่วยในการทรงตัว

การหยุดลูกด้วยหน้าอก
วิธีนี้ใช้รับลูกที่ลอยมา ให้แยกแขนทั้งสองออก ยืดอกรับลูกแล้วปล่อยลูกลงพื้นอยู่กับเท้า โดยการยืนแยกขาออกเล็กน้อย เพื่อการทรงตัว ขณะที่ลูกปะทะกับหน้าอก ให้ย่อตัวและไหล่ทั้งสองข้าง
เพื่อลดแรงปะทะ

การหยุดลูกด้วยศีรษะ
ในกรณีที่ลูกฟุตบอลลอยมาสูงเกินกว่าที่จะรับด้วยหน้าอก ให้ใช้น้าผากรับแทน โดยยื่นศีรษะออกไปเพื่อรับลูก เมื่อรับแล้วให้ดึงศีรษะกลับ แล้วปล่อยให้ลูกลงพื้นอยู่กับเท้า

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับกีฬาฟุตบอล

มารยาทของนักกีฬาที่ควรปฏิบัติ

การเล่นฟุตบอลก็เหมือนกับการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ผู้เล่นจำเป็นต้องมีมารยาทในการเล่น เพื่อให้การเล่นดำเนินไปด้วยดี นอกจากนี้ผู้ดูก็ควรมีมารยาทในการดูเช่นเดียวกัน จึงจะทำให้เกิดผลดีต่อการกีฬาอย่างสมบูรณ์

มารยาทของผู้เล่นฟุตบอลที่ดี

1. มีความรักและความสามัคคีในหมู่คณะ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ช่วยเหลือกัน
2. มีน้ำใจนักกีฬา แสดงการขอโทษเมื่อรู้ว่าตนเองกระทำผิด รู้จักให้อภัยเมื่อเพื่อนผิดพลาดรู้จักแพ้เมื่อตนเองมีความสามารถและฝีมือไม่มากนัก
3. มีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตนตามที่ได้รับมอบหมาย
4. ปฏิบัติตามกฎกติกาการเล่นโดยเคร่งครัด
5. เชื่อฟังการตัดสินของผู้ตัดสิน โดยไม่แสดงกิริยาที่ไม่เหมาะสมแก่ผู้ตัดสินในการตัดสินไม่กระทำการใดๆ อันเป็นการยั่วยุหรือกลั่นแกล้งผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม
6. มีความอดทน เสียสละ
7. กล้าตัดสินใจ แสดงความคิดเห็น และแสดงออกในสิ่งที่ถูกต้อง
8. มีความสุภาพเรียบร้อย ปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบประเพณีที่ดีงาม

(น้ำใจนักกีฬาเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมี)

มารยาทของผู้ชมที่ดี

1. ไม่กล่าวถ้อยคำหรือแสดงกิริยาเยาะเย้ยถากถางผู้เล่นที่เล่นผิดพลาด
2. แสดงความยินดีแก่ผู้เล่นที่เล่นดี เช่น การปรบมือ เป็นต้น
3. ไม่กระทำตัวเป็นผู้ตัดสินเสียเอง เช่น ตะโกนด่าว่ากรรมการ
4. ไม่เชียร์ในสิ่งที่เป็นการส่อเสียดในทางไม่ดีต่อทีมใดทีมหนึ่ง
5. ไม่กระทำสิ่งใดๆ ที่ทำให้ผู้ตัดสินหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ปฏิบัติงานไม่สะดวก
6. ไม่กระทำสิ่งใดๆ อันเป็นการกีดขวางการเล่นของผู้เล่น

การบำรุงรักษาอุปกรณ์

อุปกรณ์แยกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ

1. อุปกรณ์ของนักกีฬาฟุตบอล ได้แก่
          1.1 รองเท้า ต้องเลือกที่ใส่สบาย มีความยืดหยุ่นดี หลังใช้ให้ทำความสะอาดทุกครั้ง ขัดเงาและใช้หนังสือพิมพ์หรือนุ่นยัดไว้เพื่อให้รองเท้าอยู่ทรงสภาพเดิม
          1.2 สนับแข้ง ป้องกันการกระแทกไม่ให้ถูกของมีคมหรือเป็นแผลถลอก
          1.3 เสื้อ ให้ใช้ผ้าที่วับเหงื่อได้ดี ผู้รักษาประตูควรสวมเสื้อแขนยาวป้องกันการเกิดแผลถลอกเวลาล้มหรือพุ่งตัวตัวรับลูกฟุตบอล
          1.4 กางเกง ควรใช้ผ้าที่ทำจากฝ้ายและสวมใส่สบาย เคลื่อนไหวได้อิสระ
          1.5 ถุงมือสำหรับผู้รักษาประตู ป้องกันการลื่นในสภาพสนามแฉะและมีโคลน หลังใช้ต้องทำความสะอาดและผึ่งให้แห้งในที่ร่ม

2. อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล่นฟุตบอล
          2.1 ลูกฟุตบอล ต้องได้รับการยอมรับจาก F.I.F.A. มีน้ำหนักได้มาตรฐาน 396-453 กรัม หากเปียกน้ำ เปื้อนโคลน ต้องทำความสะอาดและเช็ดให้แห้ง
          2.2 ตาข่ายประตู ต้องไม่ขาด หรือมีช่องโหว่ติดตั้งอย่างมั่นคง ใช้แล้วให้เก็บในที่ห่างจากความร้อนและความชื้น
          2.3 ป้ายคะแนน และเลขคะแนน ระวังไม่ให้เปียกน้ำ เพื่อป้องกันการผุ เก็บในที่ห่างจากความชื้น เช่นในที่ร่ม หรือห้องเก็บของ
          2.4 เสาประตู ต้องหมั่นตรวจสอบเวลาฝึกซ้อมหรือแข่งขันต้องอยู่ในสภาพมั่นคง แข็งแรง
          2.5 เข็มปล่อยลมลูกบอล ต้องจัดเตรียมไว้เมื่อเติมลมลูกฟุตบอลมากเกินไปหรือไม่ได้มาตรฐาน
          2.6 ธงมุมสนาม ปักไว้ที่มุมสนาม ใช้แล้วนำมาเก็บให้เรียบร้อย และนำไปปักเมื่อต้องการใช้การบำรุงรักษาสุขภาพ

กฎ กติกา ฟุตบอล

(สนามฟุตบอลและขนาดมาตรฐาน)
กติกาฟุตบอล (อังกฤษ: The Laws of the Game)เป็นกฎและกติกาฟุตบอลสากลที่กำหนดโดยสมาคมฟุตบอล ในปัจจุบันมีทั้งหมด 17 ข้อ ดูแลโดยหน่วยงานไอเอฟเอบี

  • กฎข้อที่ 1: สนามฟุตบอล เป็นสนามหญ้ารูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 100 หลา ยาว 130 หลา และทำเส้นต่างๆ ในสนามเป็นสีขาวมีลักษณะตามภาพ
  • กฎข้อที่ 2: ลูกฟุตบอล เป็นทรงกลม ทำจากหนัง หรือวัสดุอื่นๆ ตามความเหมาะสมที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้เล่น เป็นฟุตบอลเบอร์ 5 มีเส้นรอบวงประมาณ 68-70 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 410-450 กรัม
  • กฎข้อที่ 3: จำนวนผู้เล่นประกอบด้วยทีม 2 ทีม และแต่ละทีมประกอบด้วยผู้เล่นตัวจริงและตัวสำรอง ผู้เล่นตัวจริงจะเป็นผู้เล่นชุดแรกที่ลงสนาม ส่วนผู้เล่นตัวสำรองมีไว้เพื่อสับเปลี่ยนกับผู้เล่นตัวจริงในกรณีที่ผู้เล่น ตัวจริงไม่สามารถเล่นได้หรือกรณีอื่นๆ ตามความเหมาะสมหรือตามแต่ดุลยพินิจของผู้จัดการทีม ผู้เล่นตัวจริงที่ลงสนามต้องมีไม่ต่ำกว่า 7 คน และไม่เกิน 11 คน และหนึ่งในนั้นจะต้องมีผู้เล่นตำแหน่งผู้รักษาประตู 1 คน, ตัวสำรองสามารถมีได้ไม่เกิน 7 คน
  • กฎข้อที่ 4: อุปกรณ์การเล่น ได้แก่ ลูกฟุตบอล (ตามกฏข้อ 2) ใช้สำหรับเล่น 1 ลูก และ เครื่องแบบของนักกีฬาทีมทั้ง 2 ทีมที่ลงแข่งขัน สมาชิกทุกคนในทีมยกเว้นผู้รักษาประตูจะต้องใส่ชุดแข่งขันสีเดียวกัน และทั้ง 2 ทีมจะต้องใส่ชุดแข่งที่มีสีตัดกันอย่างชัดเจน จะใส่ชุดที่มีโทนสีคล้ายกันไม่ได้ (เช่น ทีมหนึ่งใสชุดแข่งสีขาว อีกทีมหนึ่งใส่ชุดแข่งสีเหลือง) ผู้รักษาประตูจะต้องใส่ชุดแข่งที่มีสีไม่ซ้ำกับผู้เล่นทั้ง 2 ทีม และนักกีฬาที่ทำการแข่งขันจะต้องใส่รองเท้า (ในปัจจุบันไม่อนุญาตให้นักกีฬาใช้เท้าเปล่าเล่น) ที่กล่าวมาเป็นอุปกรณ์การเล่นที่ต้องมีในการแข่งขัน ยังมีอุปกรณ์อื่นๆ ที่กติกาไม่บังคับแต่ผู้เล่นมักจะนิยมใช้กัน คือ สนับแข้ง, ถุงมือและหมวกสำหรับผู้รักษาประตู และยังมีอุปกรณ์ปลีกย่อยสำหรับผู้ที่มีปัญหาทางสุขภาพที่สามารถอนุโลมให้ใส่ ในเวลาลงเล่นได้ เช่น แว่นตา (สำหรับผู้ที่ได้รับการผ่าตัดทางตา), หน้ากาก, เฮดเกียร์ เป็นต้น
  • กฎข้อที่ 5: กรรมการ
  • กฎข้อที่ 6: ผู้ช่วยกรรมการ
  • กฎข้อที่ 7: ระยะเวลาการแข่งขัน
  • กฎข้อที่ 8: การเริ่มต้นการแข่งขัน
  • กฎข้อที่ 9: บอลออกนอกสนาม
  • กฎข้อที่ 10: วิธีนับคะแนน
  • กฎข้อที่ 11: การล้ำหน้า

การล้ำหน้า (อังกฤษ: Offside) ในกติกาของฟุตบอล หมายถึง ผู้เล่นที่อยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าเมื่อลูกบอลสัมผัส หรือเล่นโดยผู้เล่นคนหนึ่งในทีมของเขา โดยผู้ตัดสินเห็นว่าเขามีส่วนร่วมกับการเล่นอย่างชัดเจน หรือ เกี่ยวข้องกับผู้เล่นฝ่ายตรงข้าม หรือ อาศัยความได้เปรียบจากการอยู่ในตำแหน่งล้ำหน้าขณะนั้น แต่ไม่ถือเป็นการล้ำหน้า ในกรณีที่เตะจากประตู หรือเตะจากมุม หรือการทุ่ม
สำหรับการกระทำผิดจากการล้ำหน้า จะลงโทษ โดยให้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามได้เตะโทษ โดยอ้อมจากตำแหน่งกระทำผิด

  • กฎข้อที่ 12: ฟาวล์
  • กฎข้อที่ 13: ฟรีคิก
  • กฎข้อที่ 14: ลูกโทษ

การยิงลูกโทษ เป็นการตั้งเตะทำคะแนนในการแข่งขันฟุตบอล โดยลูกฟุตบอลจะอยู่ในตำแหน่งหน้าประตูห่างมาเป็นระยะ 12 หลา (ประมาณ 11 เมตร) โดยมีผู้รักษาประตูคนเดียวเท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งที่ป้องกันได้
ในการแข่งขันฟุตบอลจะมีการยิงลูกโทษสองลักษณะคือ ลักษณะแรกการยิงลูกโทษระหว่างการแข่งขัน เกิดจากที่ผู้เล่นในฝ่ายรับทำฟาล์วผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามภายในเขตประตู โดยผู้ที่ยิงลูกโทษจะมีสิทธิยิงได้หนึ่งครั้งโดยเมื่อยิงเสร็จแล้วจะปล่อย ให้เกมเล่นต่อตามปกติ ในลักษณะที่สองคือการยิงลูกโทษภายหลังจากหมดเวลาการแข่งขัน และทั้งสองฝ่ายมีคะแนนเท่ากัน จะทำการยิงลูกโทษในการตัดสินผู้ชนะ โดยการยิงลูกโทษลักษณะนี้จะ เริ่มต้นโดยผู้ยิงฝ่ายละ 5 คน สลับกันยิงลูกโทษ โดยถ้าไม่สามารถตัดสินกันได้ให้มีการยิงต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ผู้ชนะ
การยิงลูกโทษเกิดขึ้นครั้งแรกจากความคิดของผู้รักษาประตูชาวไอร์แลนด์ วิลเลียม แม็คครูม (William McCrum) ในปี พ.ศ. 2433 (ค.ศ. 1890) โดยได้เสนอไอเดียกับ สมาคมฟุตบอลไอร์แลนด์ และได้มีการเสนอความคิดนี้ต่อให้กับ สมาคมฟุตบอลนานาชาติ ซึ่งมีการรับรองเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2434 และมีการใช้กันในช่วงฤดูกาล 1891-92

Toplist

โพสต์ล่าสุด

แท็ก